ด อ ก จ า น (Palasha) “เล็บแดงแห่งกามเทพ”…มิ่งไม้มหามงคล

ด อ ก จ า น (Palasha) “เล็บแดงแห่งกามเทพ”…มิ่งไม้มหามงคล

“ดอกจาน” หรือ “ดอกทองกวาว” ชาวตะวันตกให้ฉายาว่า เปลวไฟในพนา เพราะมีสีแดงร้อนแรงดั่งเพลิง นับเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยม เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน อุดรธานี และอำนาจเจริญ (จานเหลือง) และประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมถึงสีดอกจานคือสีของนิตยสารรายเดือน “ทางอีศาน”


ลักษณะของดอกจานหรือทองกวาว เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางในวงศ์ถั่ว มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ พบทั่วไปในไทย, อินเดีย, บังกลาเทศ, เนปาล, ศรีลังกา, พม่า, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย และทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินโดนีเซีย


ประโยชน์ของต้นจานมีมาก สีของดอกจานใช้ทำสีย้อมผ้าได้สีแดง ลำต้นเมื่อนำมาสับใช้ทำยาง เป็นส่วนผสมของอาหาร เป็นส่วนผสมของสมุนไพรในการช่วยสมานแผล ห้ามเลือด ช่างเย็บหนังในอินเดียใช้เป็นกาว เส้นใยจากเปลือกใช้ทำเป็นเชือก ใช้ใบสดนำมาห่อของ ห่อขนมให้หอมน่ากิน เนื้อไม้เมื่อแห้งจะมีน้ำหนักเบาและหดตัวมาก ใช้ทำกระดานกรุบ่อน้ำ ทำเรือขุดหรือเรือโปงชั่วคราว ใช้กั้นบ่อน้ำ ร่องน้ำ และกังหันน้ำได้


ในแง่ความหมายหรือสัญลักษณ์ของดอกจาน ในวรรณคดีสันสกฤต ดอกจานคือ สัญลักษณ์แห่งฤดูบานใหม่และความรัก เช่น วรรณคดีเรื่อง “คีตะโควินทัม” ของกวี “ชัยเทพ” ได้เปรียบดอกจานราวกับเล็บสีแดงของกามเทพที่เจาะดวงใจของผู้มีรักทุกคน


Harinder Singh Mehboob มหากวีอินเดียชาวปัญจาบ เปรียบต้นดอกจานเป็นสัญลักษณ์แห่งบทกวีของท่าน เป็นต้นไม้ในดวงใจของผู้มีกวีในหัวใจ อาศรม “ศานตินิเกตัน” ของท่านรพินทรนาถ ฐากูร ก็เนืองแน่นไปด้วยต้นดอกจาน ที่เมืองปาลาสี ในแคว้นเบงกอล ก็ได้ชื่อตามต้นไม้นี้ ซึ่งเป็นภาษาเบงกอลว่า Palashi


ต้นดอกจานกับทวยเทพอินเดีย ได้มีการกล่าวถึงต้นดอกจานว่าเป็นภาคหนึ่งขององค์อัคนีเทพ โดยพระนางปารวตี (พระอุมา) ลงโทษสาปพระอัคนีให้กลายเป็นต้นดอกจาน เนื่องจากมารบกวนล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของพระศิวะและพระนาง ดอกปารัช หรือดอกจาน จึงเป็นดอกไม้ที่ใช้นิยมบูชาพระนางปารวตีกันมากอีกชนิดหนึ่ง บางเขตบางแคว้นในอินเดีย ใช้ดอกจานบูชาพระศิวะในเทศกาลศิวะราตรี และบางที่ยังใช้ในพิธีบูชาไฟ (อัคนีโหตร)


ต่อมาในศาสนาฮินดู ดอกจานเป็นสัญลักษณ์ของพระพรหม พระนารายณ์ และพระอิศวร ไม้ต้นดอกจานใช้เป็นฟืนเผาศพ ถือเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อเรื่องการบูชาต้นไม้นี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันความเชื่อนี้ก็ยังคงมีอยู่ เช่น ในอินเดียยังมีความเชื่อที่ว่า หากให้ปลูกดอกจานเจ็ดต้นจะได้เกิดในพรหมโลก และอุทุมพร-จันทรโลก เป็นต้น


ในทางพุทธศาสนา เรียกต้นดอกจานว่า “กิงสุกะ” บางท่านเรียก “โพธิญาณพฤกษา” เพราะเป็นร่มไม้ที่พระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ประทับตรัสรู้


ส่วนความเชื่อแบบไทย คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นดอกจานจะทำให้มีเงินมีทองมาก ควรปลูกทางทิศใต้และปลูกวันเสาร์ เพราะโบราณเชื่อว่า การปลูกต้นไม้เพื่อเอาคุณให้ปลูกวันเสาร์ จะเป็นสิริมงคลยิ่งขึ้น ผู้ปลูกก็ควรจะเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือหรือผู้ที่ประกอบคุณงามความดี เพื่อความเป็นสิริมงคล

(จากนิตยสารรายเดือน”ทางอีศาน” ฉบับ ๒๔ เดือนเมษายน ๒๕๕๗)

Related Posts

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๗)
ทองกวาว/จาน ในมิติทางการแพทย์
จิตแพทย์ ในชาติพันธุ์อีศาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com