ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
This story was widespread among various ethnic groups in Guangxi, Vietnam, Cambodia, Laos, Siam, Burma, China. And from China it spread to Europe during the period of Tang Dynasty. The fairy tale “Cinderella” was thus created. The theme about the heroine’s father with two wives; the first wife, who was the heroine’s mother, died and was reborn as a fish, (turtle or buffalo); the stepmother cruelly mistreated the stepdaughter and killed the fish (the first wife); later the heroine married the prince charming.
***
(๑)
นิทานเรื่องปลาบู่ทองเป็นนิทานที่ชาวจ้วง – ลาว – ไท เล่าถ่ายทอดกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ชาวไทยเรียก “ปลาบู่ทอง” ชาวล้านนาและไทใหญ่เรียก “เต่าน้อย อองคำ” หรือ “นางยีแสงก่อ” (คือนางเอื้อย) หรือ “นางอุทธรา” (คือนางเอื้อย) ทางลาวเรียก “เต่าคำ” ทางจ้วงเรียก “ตาเจี้ย” (นางกำพร้า, ‘ตา’ เป็นคำนำหน้าเรียกหญิงสาว, ‘เจี้ย’ แปลว่า กำพร้า)
นิทานเรื่องนี้แพร่หลายอยู่ในกลุ่มชนชาติต่าง ๆ ในกวางสี, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว, สยาม, พม่า, จีน และจากจีนเผยแพร่ไปถึงยุโรปในยุคราชวงศ์ถัง จนทำให้เกิดเทพนิยาย “ซินเดอเรลล่า” แก่นเนื้อหาของเรื่อง พ่อนางเอกมีเมียสองคน เมียหลวงแม่ของนางเอกตาย เมียหลวงตายแล้วเกิดเป็น ปลา (เต่าหรือควาย) แม่เลี้ยงทำร้ายทารุณลูกเลี้ยง และฆ่าปลา (เมียหลวง) ต่อมานางเอกได้เป็นเมียเจ้าชาย (เรื่องที่ชาวจีนนำนิทานจ้วงไปเขียน จบเพียงเท่านี้) แม่เลี้ยงหลอกนางเอกกลับมาบ้านแล้วฆ่าตาย (นิทานของบางชนเผ่าจบลงเพียงนี้) แม่เลี้ยงส่งลูกสาวตัวเองไปอยู่กับเจ้าชาย แต่ในที่สุดความจริงก็ปรากฏ นางเอกฟื้นชีพได้ครองคู่กับเจ้าชายอย่างมีความสุข
นิทานปรัมปราเรื่อง “ปลาบู่ทอง” นี้ ทางชาวจ้วงในกวางสี เรียกว่า “ตาเจี้ย ตาลูน” “ลูน” แปลว่าลูกคนน้อง (อีสานเรียก “ลูกหล่า”, ทางล้านนายังใช้คำว่า “ลูน”) นิทานเรื่องนี้แพร่หลายมาก เรื่องที่คนจีนนำไปเขียนปรับปรุงนั้น แม่ของนางเอก(ตาเจี้ย) ตายแล้วไปเกิดเป็นปลา แต่นิทานที่แพร่หลายอยู่ในหมู่ชาวจ้วงทุกวันนี้นั้น แม่ของ “ตาเจี้ย” ถูกแม่เลี้ยงซึ่งเป็นแม่มดเสกให้กลายเป็นควาย
ประวัติการถ่ายทอดจากชาวจ้วงสู่วรรณกรรมภาษาจีนมีหลักฐานชัดเจนดังต่อไปนี้
วรรณกรรมภาษาจีนที่นำนิทานจ้วงเรื่องนี้ไปเขียนเป็นภาษาจีนเก่าแก่ที่สุดคือเรื่อง 叶限姑娘 “นางเย่เซียน” ในหนังสือ “西 阳 杂 俎” (ซีหยางจ๋าจู่) เขียนโดย ตวนเฉิงสื้อ 段 成 式 (ค.ศ ๘๐๓ – ๘๖๓) ขุนนาง กวี นักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงในยุคราชวงศ์ถัง
(๒)
ตวนเฉิงสื้อ บันทึกไว้ว่า นิยายเรื่องนี้ “หลี่สื้อหยวน 李 士 元” คนรับใช้เก่าแก่ในตระกูลของเขาเป็นคนเล่าให้เขาฟัง “หลี่สื้อหยวน” ผู้นี้ ตวนเฉิงสื้อบอกว่าเป็น “คนทุ่งยงโจว” 邕 州 洞 中 人 ยงโจวปัจจุบันคือบริเวณรอบ ๆ เมืองหนานหนิง (เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วง-กวางสี ในปัจจุบัน) อันเป็นถิ่นฐานของชาวจ้วง
ตรงนี้ขอแก้ความเข้าใจผิดของคนจีนคนไทยสักหน่อย คือชนพื้นเมืองตระกูลภาษาไท-กะได ในกวางสี,กุย้ โจว เรียกเขตปกครองเดิมของพวกเขาว่า “ต้ง” มันคือคำว่า “ท่ง – ทุ่ง” ทุ่งนา นั่นเอง
ชาวจีนฟังคำนี้แล้วเขียนด้วยตัวอักษรจีนว่า 洞 ต้ง แปลว่าถํ้า ทำให้คนจีน (ฮั่น) นึกว่าคนพื้นเมืองทางตะวันออกเฉียงใตอ้ าศัยอยู่ในถ้ำ อย่างเรื่อง “เบ้งเฮ็ก” ในนิยายสามก๊ก เป็นหัวหน้าต้ง (ประมุขแห่งทุ่ง) ก็กลายเป็นประมุขถํ้าไป
บทความภาษาอังกฤษที่กล่าวถึงนิยาย “เย่เซียนกูเหนียง” จึงแปลชื่อคนเล่าเรื่องนี้ว่า หลี่สื้อหยวนผู้อยู่ถํ้า
ตวนเฉิงสื้อ เขียนเรื่อง “นางเย่เซียน” ตามนิทานของชาวจ้วง จนทำให้เรื่องนี้แพร่หลายในสังคมชาวจีน (ฮั่น) ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคริสต์ศตวรรษที่สิบหก มีการพิมพ์เรื่องเย่เซียนกูเหนียงแพร่หลายมาก
Fay Beauchamp ผู้เสนอเรื่อง Asian Origins of Cinderella : The Zhuang Storyteller of Guangxi
เฟย์ บูแชมป์ (Fay Beauchamp) ศึกษาวิจัยเรื่องต้นกำเนิดของเรื่อง “ซินเดอเรลล่า” แล้ว เธอสรุปว่า เรื่องซินเดอเรลล่ามีต้นกำเนิดจากทวีปเอเชียและถิ่นกำเนิดที่มีหลักฐานเป็นข้อเขียนเก่าแก่ที่สุด คือ “นิทานของชาวจ้วง” (Asian Origins of Cinderella : The Zhuang Storyteller of Guangxi) เธอเสนอความเห็นว่า นิทานเรื่องนี้มีต้นตอจากชนชาติจ้วง ในกวางสี แล้วแพร่หลายไปถึงจีนปักกิ่ง จากนั้นแพร่ไปถึงยุโรป ในยุคราชวงศ์ถัง จนเป็นต้นตอของนิทานเรื่อง “ซินเดอเรลล่า”
การรวบรวมเรียบเรียงเขียนเทพนิยายในยุโรปนั้น เริ่มต้นเป็นลํ่าเป็นสันในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ มีการรวบรวมนิทานจากเอเชีย พ่อค้าชาวยุโรป, บาทหลวงเยซูอิต, กะลาสี บุคคลผู้มีอิทธิพลวางรากฐานวรรณกรรมเทพนิยายยุโรปคือ Gion Francesco Straparola, c. ๑๕๕๐, และ Giambattista Basile, c. ๑๖๓๔
เฟย์ บูแชมป์ เชื่อว่า นิทานเรื่อง “นางเย่เซียน” ของ ตวนเฉิงสื้อ แพร่หลายมาถึงยุโรปด้วย
(๓)
แก่นเรื่องที่เหมือนกันคือ ซินเดอเรลล่ากำพร้าแม่ แม่เลี้ยงใจร้าย นางเอกมีความซื่อ บริสุทธิ์ เมตตากรุณา ไร้เดียงสา รักเมตตาสัตว์ (ในเรื่องคือปลา, และนานาสัตว์) รักต้นไม้ นางเอกปรากฏกายในงานเลี้ยงของเจ้าชายในชุดสีฟ้าสดใส และสวมรองเท้าทองงดงาม
เย่เซียน – ตาเจี้ย – เอื้อย–ยีแสงก่อ กำพร้าแม่ (พ่อตีเมียหลวงตกนํ้าตาย หรือนางร้ายเป็นแม่มดเสกให้เมียหลวงกลายเป็นควาย) แม่เลี้ยงใจร้ายโหดร้าย (เป็นกระสือ เป็นแม่มด) นางเอกปรากฏกายในงานร้องเพลงประจำปีแล้วได้พบกับลูกชายของประมุขทุ่ง – ต้ง (เดือนสามจีน คือต้นตอของประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ของชนชาติตระกูลไท-กะได ดูนิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๕๖) นางสวมเสื้อสีตองอ่อนอันงดงาม สวมรองเท้าถักด้วยไหมทอง
การถักรองเท้าเป็นประเพณีเก่าแก่ของชนชาติจ้วง รองเท้านับเป็นเครื่องประดับอวดความสามารถของหญิง พวกนางจะถักลวดลายให้งดงามที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อแสดงความสามารถด้านเย็บปักถักร้อย และหญิงจะถักรองเท้ามอบให้ชายที่ตนรักใคร่
หน้าปกหนังสือการ์ตูน “เย่เซียนกูเหนียง”
(๔)
เรื่องย่อ “ตาเจี้ย ตาลูน” (แปลเก็บความจากหนังสือ “เสินกงเป่าเจี้ยน” – 神 弓 宝 剑 (เสินกงเป่าเจี้ยน) ธนูเทพกระบี่วิเศษ – ตำนานชาวจ้วง 中国 民 间 文 艺 出版 社 สำนักพิมพ์ศิลปะพื้นบ้าน นครปักกิ่ง พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ค.ศ. ๑๙๘๕
ในป่ามีนังหมอผีชั่วร้ายคนหนึ่ง (ผู้สื่อสารกับโลกวิญญาณ กับแถน ชาวจ้วงเรียกว่าพ่อหมอ – แม่มด หรือนางเทียม พ่อหมอแม่มดมีความหมายในทางดี ข้าพเจ้าแปลจากภาษาจีนซึ่งใช้คำศัพท์ว่าหมอผี ข้าพเจ้าไม่รู่ว่าภาษาจ้วงเรียกนางร้ายคนนี้ว่าอะไร จึงขอใช้คำว่า “นังหมอผีชั่วร้าย”) เนื่องจากชั่วร้ายมาก ลูกสาวของนางจึงมีใบหน้าเป็นจุดเหมือนฝีดาษ เพราะถูกขนในท้องของนังหมอผีทิ่มแทง (ท้อง ในภาษาจ้วง มีความนัยเหมือนกับคำว่า “ใจ” คิดดีคิดร้ายอยู่ที่ท้อง ชาวจ้วงเชื่อว่าคนที่มีความคิดชั่วร้ายในท้องจะมีขน) นังหมอผีชั่วร้ายรักลูกสาวของนางมาก ดังนั้นจึงเคียดแค้นเด็กสาวที่มีหน้าตาสวยงาม หากได้ข่าวเรื่องเด็กสาวหน้าตาดีอยู่ที่ใด นางจะหาทางไปทำร้ายเด็กสาวนั้น
มีครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ชายป่าครอบครัวนี้มีลูกสาวสวยมาก นังหมอผีชั่วร้ายคิดจะทำร้ายเด็กสาว นางจึงปลอมตัวเป็นคนขอทานไปที่บ้านของครอบครัวนั้น แม่ของเด็กสาวเป็นคนใจดี จึงเลี้ยงข้าวคนขอทานและรับนางไว้ช่วยทำงานในบ้าน วันหนึ่งสองคนขึ้นไปตัดฟืนบนเขา นังหมอผีชั่วร้ายฉวยโอกาสเสกให้แม่ของเด็กสาวกลายเป็นควาย นังหมอผีชั่วร้ายจูงควายกลับบ้าน แล้วโกหกพ่อของเด็กสาวว่า ควายตัวนี้ชนเมียของเขาตกหน้าผาตายเสียแล้ว พ่อบ้านโกรธจะฆ่าควายเสีย แต่นังหมอผีชั่วร้ายบอกว่า หากฆ่าเสีย ควายมันจะพ้นทุกข์เร็วไป สู้เอาไว้ใช้แรงงานหนักให้มันทรมานไมได้ พ่อบ้านจึงเลี้ยงควายไว้ และเอานังหมอผีชั่วร้ายเป็นเมียใหม่
จากนั้นนังแม่เลี้ยงก็กลั่นแกล้งลูกเลี้ยงสารพัดเช่นคราวหนึ่ง นางทำข้าวต้มมัด แต่นางไม่ให้ลูกเลี้ยงกินข้าว นางให้กินของเหลือที่ติดใบตองอยู่ ลูกเลี้ยงเลียกินเศษบนใบตองไปเจ็ดใบ นังหมอผีชั่วร้ายก็ใช้ให้เอาข้าวต้มมัดไปให้พ่อที่หัวนา พร้อมทั้งขู่ว่าห้ามกินข้าวต้มมัดเป็นอันขาด
ลูกสาวเอาข้าวต้มมัดไปให้พ่อ พ่อถามว่าลูกกินหรือยัง นางตอบว่ากินไปเจ็ดใบแล้ว พ่อถามว่าทำไมกินจุอย่างนั้น ว่าแล้วตัวก็กินข้าวต้มมัดจนหมด เมื่อกินหมดแล้ว ลูกสาวจึงเอาใบตองมาเลีย พ่อสงสัยถามว่ากินไปตั้งเจ็ดใบแล้ว ทำไมยังไม่อิ่มอีก ลูกสาวจึงเล่าความจริงให้พ่อฟัง พ่อถึงรู้ความจริง สองคนกอดกันร้องไห้
นังหมอผีชั่วร้ายแอบติดตามมาดู พอเห็นว่าพ่อรู้ความจริงจึงเสกให้พ่อตายอยู่ตรงนั้น จากนั้นนังหมอผีก็นำลูกสาวของนางมาอยู่ในบ้านด้วย ลูกเลี้ยงจึงเรียกว่า “ตาเจี้ย” (กำพร้า) ลูกของนางมาทีหลังจึงเรียกว่า “ตาลูน” นังหมอผีใช้ตาเจี้ยทำงานแทนทุกอย่าง ทั้งตัดฟืน ตักนํ้า เลี้ยงควาย ฉีกปอปั่นด้ายวันละหนึ่งชั่ง ถ้าทำไม่เสร็จกลับมาบ้านก็ไม่ให้ข้าวกิน ทุกวันตาเจี้ยเอาควายไปเลี้ยง แล้วฉีกปอปั่นด้ายไปร้องไห้ไป
ควายนี้เป็นแม่ของตาเจี้ย นางจึงพูดกับตาเจี้ยว่า อย่าร้องไห้เลย ให้เอาเปลือกปอหนึ่งชั่งนี้ให้แม่กิน แล้วแม่จะถ่ายออกมาเป็นด้ายให้ลูก ตาเจี้ยรู้ว่าควายคือแม่ จึงเอาปอให้แม่กิน พอตกเย็นควายก็ชูหางจะถ่าย ตาเจี้ยก็เอาผ้าซิ่นรับไว้เป็นด้ายขาวสดงดงาม
ตาเจี้ยกลับไปบ้านเอาด้ายให้แม่เลี้ยง แม่เลี้ยงเห็นด้ายขาวสดงดงามนัก จึงหาว่านางขโมยคนอื่นมา เฆี่ยนตีตาเจี้ย จนตาเจี้ยต้องยอมบอกเรื่องควายกินปอแล้วถ่ายเป็นด้าย นางแม่เลี้ยงโลภมาก วันรุ่งขึ้นจึงให้ตาลูนไปเลี้ยงควายแทน โดยเอาปอไปสามชั่ง ตาลูนแกล้งร้องห่มร้องไห้ให้ควายกินปอสามชั่งตกเย็นควายหางชี้จะถ่าย ตาลูนรีบเอาซิ่นไปรองรับแต่สิ่งที่ออกมาคือขี้ควายจริง ๆ เมื่อแม่เลี้ยงรู้ก็โกรธฆ่าควายนั้นตาย
ตาเจี้ยไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่นั่งร้องไห้ อีกาบินมาบอกตาเจี้ยว่า ให้เอากระดูกควายไปฝังไว้ใต้ต้นกล้วย ต่อไปนึกอยากได้อะไรก็จะได้ตามปรารถนา
แม่เลี้ยงและตาลูนใช้ตาเจี้ยทำงานแทนทุกอย่าง และก็ไม่ยอมให้ตาเจี้ยได้ออกไปเที่ยวไหน บางครั้งบ้านย่ามีงานเลี้ยง แม่เลี้ยงก็แกล้งสั่งให้ทำงานที่ยากเย็นให้เสร็จเสียก่อน ถ้าทำเสร็จจึงจะไปบ้านย่าได้ ทุกครั้งอีกาก็จะบินมาสอนวิธีแก้ปัญหาให้
จนถึงวันงานร้องเพลงประจำปี หนุ่มสาวทั้งทุ่งจะมาเที่ยวงานเลือกหาคูกั่น ตาเจี้ยก็อยากไป แต่แม่เลี้ยงก็แกล้งสั่งงานหนักอีก คราวนี้แม้อีกาจะช่วยแนะให้ทำงานเสร็จเร็ว แต่ตาเจี้ยก็ไม่มีเสื้อผ้าชุดใหม่ไม่มีรองเท้าใหม่ใส่ไปงาน อีกาบอกให้ไปขุดเอาที่กอกล้วย ปรากฏว่าขุดได้เสื้อผ้าชุดใหม่สีตองอ่อน และรองเท้าทอง (ถักด้วยไหมทอง)
ตาเจี้ยใส่ชุดอันงดงามเดินไปถึงริมนํ้า นางเดินไปส่องดูเงาตนเองริมลำห้วย (ยังไม่มีกระจก ไม่มีแม้คันฉ่องสำริด เป็นเรื่องที่ดึกดำบรรพ์มาก) พอดีลูกชายของประมุขทุ่งกับคณะขี่ม้ามาถึง ตาเจี้ยรีบหลบไป จนรองเท้าตกลงไปในห้วย นางเสียดายแต่ก็ไม่กล้าออกไปเก็บ
ลูกชายประมุขทุ่งขี่ม้ามาถึงสะพาน ม้าก็ไม่ยอมวิ่งต่อ ตีเท่าไรม้าก็ไม่วิ่ง เขาจึงสั่งให้คนใช้ดูว่ามีอะไรอยู่ในนํ้าหรือไม่ คนใช้เห็นรองเท้าสีทอง ลูกชายประมุขทุ่งจึงสั่งให้เก็บเอามา เขาเห็นรองเท้าสวยงามมาก ใครเป็นเจ้าของย่อมเสียดายมาก เมื่อไปถึงเวทีร้องเพลงเขาจึงเอารองเท้าทองแขวนไม้ไผ่ป่าวประกาศให้เจ้าของมาเอาคืน สาวแก่แม่ม่ายพากันไปขอคืน แต่ก็ต้องทดลองสวมดูก่อน ปรากฏว่าไม่มีใครสวมรองเท้าได้พอดี นังหมอผีให้ตาลูนเข้าไปทดลองสวมดูก็ใส่ไม่ได้
สุดท้ายตาเจี้ยจึงปรากฏกาย ลูกชายประมุขทุ่งเห็นตาเจี้ยงดงามมากก็ชอบพอรักใคร่ ตาเจี้ยก็แสดงรองเท้าอีกข้างที่อยู่กับตน แล้ว รับรองเท้ามาสวมได้พอดิบพอดี นังหมอผีจำได้ว่าเป็นตาเจี้ยจึงเข้าไปอาละวาด ก็ถูกลูกชายประมุขทุ่งห้ามปราม โต้แย้ง
แทนตาเจี้ย ลูกชายประมุขทุง่ ทราบว่าตาเจี้ยเป็นลูกกำพร้าถูกแม่เลี้ยงโหดร้ายทำร้ายมานานก็ยิ่งสงสารสองคนคบหากันไม่นาน ลูกชายประมุขทุ่งก็รับตาเจี้ยเป็นภริยา (เรื่องใน “เย่เซียนกูเหนียง” จบลงเพียงนี้)
นิทานจ้วงบางท้องที่ยังมีเรื่องต่อไปว่า เมื่อตาเจี้ยไปอยูกั่บสามีจนมีลูก สามีขอให้นางกลับไปเยี่ยมบ้าน (เรื่องของทางไทยเล่าว่าแม่เลี้ยงแกล้งหลอกให้เอื้อยกลับบ้านเยี่ยมพ่อ) เมื่อตาเจี้ยกลับไปบ้าน ถูกแม่เลี้ยงผลักตกนํ้าตาย แล้วแม่เลี้ยงส่งตาลูนกลับไปหาลูกชายประมุขทุ่ง เขาสงสัยว่าเป็นตัวปลอมแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ฝ่ายตาเจี้ยตายไปแล้วกลายเป็นนกบินไปหา ลูกชายประมุขทุ่งเปิดกรงไว้แล้วอธิษฐานว่า ถ้าหากนกนี้เป็นตาเจี้ยขอให้บินเข้าไปอยู่ในกรง นกก็บินเข้ากรง เขาเอานกไปเลี้ยงไว้ที่บ้าน แต่ก็ถูกนางลูนจับฆ่าแล้วเอาต้มนํ้า นางลูนสาดนํ้าต้มนกออกไปทางหน้าต่าง ต่อมาที่นั้นงอกต้นไผ่ขึ้นมากอหนึ่ง นางลูนก็ไปตัดแล้วเผาจนตายหมด
มียายเฒ่าคนหนึ่งมาเก็บเอาไม้ไผ่ไปปล้องหนึ่งเอาไปเป่าเตาไฟ นางแปลกใจว่าเมื่อออกจากบ้านไปแล้ว ข้าวของเครื่องใช้ถูกเก็บกวาดอย่างดี บ้านช่องก็สะอาดสะอ้าน วันหนึ่งนางจึงแสร้งออกจากบ้านแต่แอบดูอยู่ข้าง ๆ จึงเห็นหญิงนางหนึ่งออกจากปล้องไผ่มาช่วยจัดแจงทำความสะอาดบ้าน แม่เฒ่ารีบเข้าไปจับตัวไว้ ตาเจี้ยจึงอาศัยที่บ้านของแม่เฒ่านั้นต่อไป
วันเทศกาลวันหนึ่ง บ้านลูกชายประมุขทุ่งฆ่าไก่ทำอาหารฉลอง ลูกน้อยถือไก่กำลังจะกิน มีแมวโดดเข้าแย่งไป ลูกชายประมุขทุ่งกับลูกจึงวิ่งไล่แมวไปแมวหนีไปเข้าบ้านแม่เฒ่าผู้นั้น ลูกชายประมุขทุ่งตามเข้าไปจึงพบกับตาเจี้ย จึงพากันกลับบ้าน
ฝ่ายตาลูนก็ไม่กล้าออกจากห้อง แต่พอเห็นตาเจี้ยไม่ดุด่าแสดงความโกรธ นางจึงออกมาพูดคุยดีชมพี่สาวว่าทำไมสวยกว่าตอนก่อนจมนํ้า ตาเจี้ยบอกว่า น้องไม่เห็นหรือว่าข้าวนั้นยิ่งตำมากยิ่งขาวยิ่งผ่อง พี่ตกลงไปนํ้าลึกก็เหมือนอยู่ในครกตำข้าวพอออกมาจึงยิ่งขาวยิ่งผ่อง
เมื่อตาลูนกลับไปอยู่บ้านนังหมอผี นางจึงบอกให้แม่เอานางใส่ครกตำ หวังจะผิวขาวผ่อง นังหมอผีรักลูกเชื่อฟังลูกทุกอย่าง จึงเอาตาลูนใส่ครกตำตาลูนก็ตาย นังหมอผีเห็นลูกสาวตายเลยเสียใจตายอยู่ตรงนั้น
งานเทศกาลของชาวจ้วง จะมีการประโคมมโหระทึก
ชาวจ้วงทำข้าวเหนียวห้าสีบ้านของชาวจ้วง“ลูกช่วง” ชาวจ้วงบ่าวสาวเล่นกันในงาน “วันสามเดือน สาม” งานที่ “ตาเจี้ย” นางเอกไปพบกับพระเอกในนิทานชาวจ้วงรำท่ากบสีเสื้อของชาวจ้วงกับรองเท้าปักของชาวจ้วง ในงานวันสามเดือนสามสาวจ้วงจะมอบรองเท้าปักให้หนุ่มที่ตนชอบพอ
สรุป
“นิทานโบราณ” มีคุณค่ามากในทางมานุษยวิทยา
แค่เรื่องที่นิทาน “ปลาบู่ทอง” “ตาเจี้ย ตาลูน” “เต่าน้อยอองคำ” “นางยีแสงก่อ” “นางอุทธรา” มีเนื้อหาตรงกัน ก็เป็นเรื่องสำคัญแล้ว
เวียดนามและกัมพูชาก็มีนิทานเรื่องราวคล้ายคลึงกันอีกด้วย
หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดพบจากนิยายที่ชาวจีนเขียนในยุคราชวงศ์ถัง ตวนเฉิงสื้อ ผู้เขียนนิยาย “เย่เซียนกูเหนียง” ระบุว่าดัดแปลงจากนิทานของชาวจ้วงแถบ “ยงโจว” (หนานหนิง)
นักวิชาการอเมริกันฟันธงว่า เทพนิยายเรื่อง“ซินเดอเรลล่า” ดัดแปลงไปจากนิยายเรื่อง “เย่เซียนกูเหนียง” (ซึ่งดัดแปลงจากนิทานจ้วง) นั่นคือ ต้นเค้าเรื่องซินเดอเรลล่าก็คือนิทานเรื่องปลาบู่ทองนั่นเอง!
***
นางยีแสงก่อ เมืองปั่น
เมืองปั่น
“นางยีแสงก่อ” เป็นวรรณคดีไทใหญ่ บางคนเขียนว่า นางเยแสงก่อ, นางยี่แสงหก่อ นิทานเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านไทใหญ่ที่โด่งดังแพร่หลายมาก มีเป็นบันทึกภาพการแสดงด้วย (ดูได้จาก YouTube) เรื่องราวตรงกับนิทานพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” ของไทย
หลายท่านทราบอยู่แล้วว่า นิทานพื้นบ้านเรื่อง “ปลาบู่ทอง” แพร่หลายทั่วไปในหมู่ชาวไต, ไท, ลาว
เรื่องปลาบู่ทองของไทย – แม่นางเอกตายแล้วกลายเป็นปลาบู่ทอง
เรื่องนางอุทธราของล้านนา – แม่นางเอกตายแล้วกลายเป็นเต่าคำ
เรื่องเต่าคำของลาว – แม่นางเอกตายแล้วกลายเป็นเต่าคำ
เรื่องนางยีแสงก่อของไทใหญ่เมืองปั่น – แม่นางเอกตายแล้วกลายเป็นเต่า
เรื่องปลาเต่าคำ ของไทใต้คง (ในยูนนาน) – แม่นางเอกตายแล้วกลายเป็นปลาเต่าคำ (เป็นปลาที่เรียกว่าเต่าคำ)
แต่อาจจะยังไม่ทราบว่า นิทานเรื่องนี้ตรงกับนิทานพื้นบ้านของชาวจ้วงในกวางสี ประเทศจีนด้วย
นิทานเรื่องตาเจี้ย (นางกำพร้า) ของชาวจ้วงในกวางสี – ของดั้งเดิมนั้น แม่นางเอกตายแล้วกลายเป็นปลาทอง ต่อมาถูกดัดแปลง แม่นางเอกตายแล้วกลายเป็นควาย
นอกจากนั้นนิทานเนื้อเรื่องคล้ายคลึงกันนี้ก็ยังมีในเวียดนามและกัมพูชา
นิทานเรื่องนี้เป็นหลักฐานเก่าแก่ทางวัฒนธรรมว่า ชนชาติจ้วงในกวางสีเคยมีรากเหง้าวัฒนธรรมร่วมกับชนชาติไท
เจดีย์นางยี่แสงก่อ เมืองปั่น
รูปปั้นเรื่องราวในวรรณคดี “นางยีแสงก่อ”
ชาวไทใหญ่ก็รู้จักนิทานปลาบู่ทองดี แต่รู้จักในชื่อ นางอุทธรา หรือนางยีแสงกอ่ และที่เมืองปั่น (ในรัฐฉานตอนใต้) มีความเชื่อกันจริง ๆ จัง ๆ ว่า “นางยีแสงก่อ” มีตัวจริง เป็นคนเมืองปั่น มีเจดีย์ที่รำลึกเรียกว่า เจดีย์ยีแสงก่อ และชาวบ้านก็ปั้นรูปนางยีแสงก่อไว้อย่างสวยงามด้วย
เมืองปั่นนั้นอยู่ใกล้เขตแดนไทย ถ้าสถานการณ์ในรัฐฉานสงบปลอดภัยและสะดวกสบายขึ้น รับรองว่าเมืองปั่นจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวจากคนไทยมากมายแน่
ผู้เขียนเดาเอานะครับว่า เหตุที่เมืองปั่นมีชื่อเสียงเรื่องของนางยีแสงก่อมาก เพราะเมืองปั่นเป็นเมืองบัณฑิต เมืองศิลปินนักประพันธ์ นักประพันธ์ชาวเมืองปั่นเขียนวรรณคดีเรื่องนี้ไว้ไพเราะงดงามจนเรื่องนางยีแสงก่อกลายเป็นสมบัติคู่บ้านคู่เมือง “เมืองปั่น”
ผู้เขียนเชื่อว่า มีผู้ที่มีข้อมูล มีความรู้เรื่องเมืองปั่น (เมืองอื่น ๆ ในรัฐฉาน) อยู่ในภาคเหนือมากมายนะครับ ขอเชิญชวนให้ท่านส่งบทความมาเป็นวิทยาทานในคอลัมน์นี้ “ทางอีศาน” ยินดีเป็นเวทีสื่อสารข้อมูลให้ครับ
เท่าที่ผู้เขียนลองค้นดูแว่บ ๆ ก็เห็นแหล่งผู้รู้เรื่องเหล่านี้ เช่น เฟซบุ๊ก “ลูกฮักนางยี๋แสงหก่อ” (ท่านเขียนมี ห-หีบ นำหน้า)
ขอยกตัวอย่างคำแนะนำเมืองปั่นจากเฟซบุ๊กนี้มาให้อ่านกันครับ
“เมืองปั่น…เป็นเมืองหรือจังหวัดหนึ่งที่มีเจ้าฟ้าปกครองอยู่ทางรัฐฉานภาคใต้ ทรัพยากรธรรมชาติพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่า ในส่วนบริเวณที่เป็นตัวเมืองเป็นที่ราบภูเขาล้อมรอบ…สินค้าสำคัญก็คือข้าว…หอม…กระเทียม และสับปะรด เป็นต้น…
(เมืองปั่นเมืองแห่งนักคิดนักเขียน) เมืองปั่นเมืองแห่งบัณฑิตก็ว่าได้เพราะมีบุคคลผู้ทรงมีความรู้ความสามารถตั้งแต่อดีต…๑…เจ้ากอหลี่ได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นนักคิดกวีเอก…(เจ้าครูหมอไต) ท่านหนึ่งของรัฐฉาน ท่านเป็นนักคิดนักเขียน ได้แต่งตำรับตำราหนังสือไว้มากมาย…๒…จายคิ้ดหม่องเป็นนักร้องลิเกที่มีเสียงไพเราะ ได้รับความนิยมมากมาย…๓…จายมู…ครูสอนห้วยจอย (ครูอาสาบ้านห้วยจอย) ครูมูนี่เรียนจบปริญญาตรี เขาเป็นผู้มีความสามารถมากมาย…คือเป็นทั้งนักการศึกษา นักต่อสู้เพื่อสิทธิ์เสรีภาพ นักแต่งเพลงและร้องเพลงยุคใหม่ เพลงพม่า…เพลงไต ผลงานของเขาที่ปรากฏประจักษ์แก่คนทั่วไป โดยเฉพาะผลงานของเขาได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย เขาสามารถแต่งเพลงจริง ๆ คือสามารถแต่งเพลงเมื่อฟังแล้วเหมือนกับมองเห็นภาพเป็นฉาก ๆ ผลงานเพลงของเขามีทั้งเพลงปลุกจิตสำนึกเรื่องความรักชาติและเพลงรัก และ…อีกสิ่งหนึ่ง…ที่เมื่อพูดแล้วจะนึกถึงเมืองปั่นทันทีนั้นก็คือ (เจ้านางยี่แสงหก่อ) ซึ่งมีประวัติความมาเหมือนละครไทย (เรื่องปลาบู่ทอง) เรื่องนางยี่แสงหก่อนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ ที่เมืองปั่นนี่ หลักฐานที่ปรากฏจนบัดนี้ก็คือ (เจดีย์เจ้านางยี่แสงหก่อ) ซึ่งสร้างมาตั้งแต่อดีต”
ขอบคุณข้อมูลและภาพทั้งหมดจากเจ้าของเฟซบุ๊ก “ลูกฮักนางยี๋แสงหก่อ” มาก ๆ ครับ
จายมู คีตกวีนักต่อสู้ ชาวเมืองปั่นแผนที่รัฐฉาน
ภาพปกโดย ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์
คอลัมน์ เรื่องจากปก
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๔๕
ปีที่ ๔ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๕๙
ฉบับ: ซินเดอเรลล่า คือ ปลาบู่ทอง