ตํานานพื้นบ้านในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง (๒)
๓. ตํานานฝ่ายเมืองของอีสานและล้านช้าง
ตํานานฝ่ายเมืองที่บันทึกความสํานึกของชาวอีสานและล้านช้างที่เข้าใจความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ การสร้างสรรพสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาล ตํานานของอีสานและล้านช้างที่ให้ทัศนะเด่นชัด ในเนื้อหาดังกล่าวที่เด่น ๆ มี๔ เรื่องด้วยกัน (อาจจะมีมากกว่านี้แต่ยังสํารวจไม่พบ) คือ (๑) ปฐมมูล (๒) ปฐมกัป หรือตํานานเจ้าแม่โพสพ (๓) นิทานเรื่องขุนบรม (๔) มหากาพย์เรื่องท้าวฮุ่ง (พระยาเจื๋อง)
๓.๑. ปฐมมูล ได้กล่าวถึงบรรพบุรุษคู่แรกของจักรวาล คือ ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี (ปู่สังไกยสา ย่าสังไกยสี) ที่เกิดโดยธรรมชาติ พร้อมกับแผ่นดินที่ลอยอยู่เหนือนํ้า นํ้าอยู่เหนืออวกาศ แผ่นดินแรกเกิดนั้นมีขนาดเล็ก ต้นไม้เล็ก คือ “แผ่นดินท่อรอยไก้ ต้นไม้ท่อลําเทียน” (แผ่นดินเท่ารอยกระจง ต้นไม้เท่าลําเทียน) แผ่นดินเป็นสองส่วน ปู่สังกะสาและย่าสังกะสีอยู่คนละส่วน ต่างคนต่างก็สร้างสรรพสิ่ง สัตว์ในแผ่นดินของตน นานเข้าแผ่นดินเจริญใหญ่จนติดกัน ทั้งปู่สังกะสา ย่าสังกะสีเดินทางไปมาจนพบกัน ต่างก็ดีใจและเล่าความหลังที่ตนได้ปลูกต้นไม้ สร้างสรรพสิ่งต่าง ๆ ทั้งสองอาศัยร่วมกันและสืบสร้างลูกหลานต่อมา โดยสรุปแล้วเป็นความเชื่อท้องถิ่นที่เล่าสืบกันมาก่อนที่อิทธิพลการอธิบายการกําเนิดโลกตามอัคคัญญสูตรของพุทธศาสนาจะเข้ามา แต่สมัยการจดบันทึกตํานานปฐมมูลนี้เป็นสมัยที่ศาสนาพุทธเข้ามาเจริญรุ่งเรืองแล้ว จึงพบว่าการอธิบายโลกจักรวาลตามแนวคิดของอินเดีย คือ เขาพระสุเมรุ ทวีปทั้งสี่ แม่น้ำปัญจมหานที (ยมุนาคงคา อิรวดี สรภู มหิมหานที) แต่ความคิดเรื่องมนุษย์คู่แรกและการกำเนิดโลกยังเป็นแนวคิดและความเชื่อเดิมของท้องถิ่นอยู่ แต่กระนั้นก็ตามการอ้างถึงปลาอานนท์หนุนแผ่นดินก็แสดงให้เห็นการผสมผสานแนวคิดและความเชื่ออยู่ไม่น้อย
เทศะในตำนาน เรื่องเทศะนั้นไม่ได้แยกว่าส่วนใดเป็นเทศะในจินตนาการ หรือเทศะแห่งความเป็นจริงเช่นให้ความสำคัญของเทศะในโลกจินตนาการมากคือ เขาพระสุเมรุ สัตภัณฑ์คีรี ป่าหิมพานต์ และสัตว์ป่าหิมพานต์ ตลอดจนทวีปทั้งสี่ ส่วนเทศะในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นก็ไม่ได้แยกว่าส่วนใดเป็นเทศะตามพุทธประวัติและเทศะในท้องถิ่น จึงกล่าวถึงเกาะลังกา แม่นํ้าอโนมาบ้าง และกล่าวถึงแม่นํ้าโขง แม่นํ้ามูล นํ้าโมงบ้าง
๓.๒. ปฐมกัป ได้กล่าวถึงบรรพบุรุษผู้ให้พันธุ์ข้าว คือ ปู่เยอย่าเยอ และข้าวมีส่วนสำคัญที่จะเลี้ยงชาวพุทธเพื่อให้เป็นผู้สืบศาสนา โดยกล่าวว่า สมัยศาสนาพระกกุสันโธ ข้าวต้นใหญ่มาก มีผลเท่าฟักทอง กลิ่นหอมอบอวล สืบมาจนถึงศาสนาพระโกนาคม มีแม่หม้ายผัวหย่า ๗ คน นางอารมณ์ร้าย วันหนึ่งนางเห็นเมล็ดข้าวจํานวนมากมาอยู่ใต้ถุนบ้านนาง นางเกิดอารมณ์งุ่นง่านใช้ค้อนทุบเมล็ดข้าวพร้อมกับด่าทอเมล็ดข้าว เจ้าแม่โพสพโกรธจึงหนีไปอยู่ป่าไพรสณฑ์ เป็นเหตุให้ขาดข้าว มนุษย์ล้มตายอยู่พันปี มีลูกเศรษฐีคนหนึ่งหลงอยู่ในป่าได้จับปลาใหญ่ตัวหนึ่ง ปลาร้องขอชีวิตโดยแลกกับข้าวปลาจึงไปหาฤๅษีอานนท์ เพื่อช่วยเรียกแม่โพสพให้ ฤๅษีเห็นลูกเศรษฐีมีบุญบารมีและเป็นผู้ที่จะช่วยสืบศาสนาได้จึงเชิญเจ้าแม่โพสพมาและขอร้องให้ไปกับลูกเศรษฐี ลูกเศรษฐีจึงนำข้าวมาปลูกได้อีกครั้งหนึ่ง จึงมีศาสนาพระกัสสปสืบต่อมาถึงศาสนาพระสมณโคดม ข้าวเมล็ดเล็กลงมากกว่าเดิม
ครั้นเมื่อศาสนาพระศากยมุนี หรือพระสมณโคดม ล่วงได้ ๑๑๑๒ ปี พระยาตนหนึ่งครองเมืองใหญ่ขาดราชธรรม ไม่อยู่ในฮีตบ้านคองเมือง รังแกอาณาประชาราษฎร์ ใจโลภ เป็นเหตุให้ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล พระยาให้สร้างยุ้งฉางหลวง ชาวบ้านอดอยาก มีการนําข้าวมาแลกเงินทอง พริกเกลือ ฯลฯ เจ้าแม่โพสพโกรธมนุษยชาติที่นํานางไปแลกพริกเกลือ จึงหนีกลับไปอาศัยกับพระฤๅษีเป็นเหตุให้ข้าวซึ่งเป็นบริวารหนีไปด้วย มนุษย์อดอยากตายหมด ไม่มีข้าวถึง ๓๒๐ ปี
คงเหลือแต่ปู่เยอย่าเยอ (นัยว่าเคารพบูชาเมล็ดข้าว) ได้เข้าป่าหาผลไม้กิน มาพบพระฤๅษีพระฤๅษีเห็นว่าศาสนาเสื่อมโทรมอย่างมาก ขาดพระสงฆ์สืบต่อ (ศาสนาก็ขาดเขิน บ่อมีสงฆ์ สืบสร้างศาสนาฮ้างเปล่าแปนขนาด) พระฤๅษีจึงคิดที่จะช่วยสืบพระศาสนาจึงเชิญเจ้าแม่โพสพอ้อนวอนให้นางไปกับปู่เยอย่าเยอ แต่เจ้าแม่โพสพไม่ยินยอม เพราะมนุษย์ทําร้ายนางและนําไปแลกพริกและเกลือ ทําร้ายเมล็ดข้าว พระฤๅษีจึงสอนคาถาให้ปู่เยอย่าเยอ (ปัญจะ เอกะ พีชา หะทะยัง มะมะ สวาหุบ) แม่โพสพก็หลงยินยอม
ฤๅษีจึงจับเด็ดปีกหางแม่โพสพ ฤๅษีก็ให้พันธุ์ข้าวสองเฒ่าไป ๙ กํา สองเฒ่าก็นํามาปลูกและทําพิธีไหว้ผีตาแฮกเชิญดวงวิญญาณของแม่โพสพมาอยู่รักษาข้าว ข้าวเจริญงอกงามมากมาย สองเฒ่าจึงแบ่งพันธุ์ข้าวไปเมืองครุฑเมืองนาค เมืองบาดาล เมืองจาตูม (จตุมหาราชิก) และเมืองลังกา ที่เหลือเก็บไว้ที่ชมพูทวีป แบ่งให้คูลา ม่าน แกว ข่า จีน จาม ฮ่อ ลาว ไท ฯลฯ ข้าวที่ปู่เยอย่าเยอได้มานี้เมล็ดเล็กเหมือนปัจจุบัน เพราะเจ้าแม่โพสพยังโกรธมนุษย์อยู่ หลังจากนั้นมนุษย์ก็มีข้าวบริโภคกันสืบมา ปู่เยอย่าเยอสอนลูกหลานให้ทำบุญคุณลาน ทำขวัญข้าวตามฮีตคองโบราณ และเชิญนางเก้ากําและผีตาแฮกให้ช่วยดูแลข้าวเพื่อช่วยสืบศาสนา
ทัศนะและความสํานึก ตํานานเรื่องปฐมกัปมีเนื้อหาเกี่ยวกับความสํานึกของมนุษยชาติต่อสรรพสิ่งแวดล้อม ตระหนักในการรู้คุณอาหาร บรรพบุรุษ ที่จรรโลงพืชพันธุ์ธัญญาหาร คือ ปู่เยอย่าเยอ นอกจากนี้ยังมีความสำนึกว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารย่อมมีจิตใจเฉกเช่นมนุษย์จึงต้องปลอบขวัญทําขวัญในโอกาสสําคัญ ๆ การจรรโลงพืชพันธุ์ธัญญาหารนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เท่านั้น ยังเป็นการจรรโลงพุทธศาสนาให้เจริญยั่งยืนอีกด้วย การกําหนดกาละ (พุทธศักราช) ลอย ๆ นั้น น่าจะมีเรื่องเกี่ยวพันกับการเสื่อมของพุทธศาสนาตามประวัติศาสตร์จริง ๆ เช่น พ.ศ.๑๑๑๒ คงมีวิกฤตการณ์เกิดกับพุทธศาสนาอยู่นานถึง ๓๒๐ ปี (พ.ศ.๑๔๓๒) ฉะนั้นเรื่องในตํานานมักจะใช้สัญลักษณ์แทนเหตุการณ์ที่เป็นจริงอยู่บ้าง เช่น การอธิบายว่ากษัตริย์ (พระยาใหญ่) ไม่อยู่ในราชธรรม น่าจะหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่พุทธศาสนาในอินเดียด้วย ผู้เขียนตำนานได้ เชื่อมโยงเหตุการณ์ของพุทธศาสนามาอธิบายให้เข้ากับ “ความเชื่อท้องถิ่น” ซึ่งเป็นระเบียบวิธีการนําเสนอของตํานานแนวหนึ่ง ส่วนเทศะในตำนานนั้นชี้ให้เห็นว่าชาวพุทธมีทัศนะเป็นสากล ไม่ได้แบ่งเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์
ฉะนั้นสถานที่ในอินเดียและสถานที่ในแถบอุษาคเนย์ จึงปะปนกันจนเป็นเทศะเดียวกัน คือ เป็นสถานที่หรือเทสะตามโลกของชาวพุทธไม่ได้แยกเทศะเด่นชัด
๓.๓. มหากาพย์เรื่องท้าวฮุ่ง (ท้าวฮุ่งหรือเจือง (เจื๋อง)) คือบันทึกวีรบุรุษประจําเผ่าพันธุ์ ที่บันทึกทั้งเรื่องเพียงคนเดียว แสดงให้เห็นวีรกรรมในการสร้างบ้านแปงเมือง รวบรวมนครรัฐหลายแห่งของชน ลาว – ไท ขึ้นเป็นสหพันธ์นครรัฐได้เป็นยุคแรก ๆ ฉะนั้นจึงพบว่าพระยาเจื๋องเป็นวีรบุรุษของตํานานไทหลายสาขา เช่น ไทลื้อเมืองสิบสองปันนา ยอมรับว่าต้นราชวงศ์สืบเชื้อสายมาจากพระยาเจื๋อง ตํานานเมืองน่านยอมรับว่า “พระยาเจื๋องเป็นวีรบุรุษ” รวมทั้งพื้นเมืองเชียงใหม่ยอมรับว่า “พระยาเจื๋อง เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๑๙ และพระยามังรายเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒๕ พงศาวดารล้านช้างมิได้บันทึกไว้รวมอยู่ในราชวงศ์แต่กลับพบต้นฉบับเป็นมหากาพย์สรรเสริญวีรบุรุษเป็นฉบับเอกเทศมีความยาวมากฉบับหนึ่ง”
ทัศนะและความสํานึก ความสํานึกในการบันทึกมหากาพย์เรื่องท้าวฮุ่งนี้ไม่ได้รับอิทธิพลจิตสํานึกทางพุทธศาสนา เรื่องราวจึงเป็นโลกแห่งความจริงมากกว่าโลกในจินตนาการ ฉะนั้นเทศะในตํานานจึงไม่สับสนกับเทศะในอินเดีย หรือเทศะในจินตนาการ เช่น ป่าหิมพานต์ เขาพระสุเมรุ ฯลฯ แต่จะกล่าวถึงเทศะที่เกี่ยวข้องในดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขง แม้ว่าอาจจะเรียนชื่อต่างกับปัจจุบันบ้างก็ตาม ฉะนั้นชื่อบ้านนามเมืองจึงเป็นสถานที่จริง ปรากฏมีจริง ส่วนวีรกรรมของวีรบุรุษอาจจะมีการเสนออภินิหารปะปนไปกับเรื่องจริงบ้าง
๓.๔. นิทานเรื่องขุนบรม (พงศาวดารล้านช้าง) นิทานเรื่องขุนบรม หรือพงศาวดารล้านช้าง เนื้อหาต่อเนื่องกัน แต่ระเบียบการบันทึกอาจจะแบ่งได้ ๒ ตอน คือ ตอนที่เป็นตํานาน และตอนที่เป็นพงศาวดาร นั่นคือตำนานได้แก่ ตอนต้นจนถึงพระยาฟ้าคำเฮียว ตอนที่เป็นพงศาวดารคือตอนพระเจ้าฟ้างุ้มจนถึงสมัยพระเจ้าวิชุล (นิทานขุนบรมราชาพงศาวดารเมืองล้านช้าง พิมพ์รวมเล่มอยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๐)
เนื้อเรื่องตอนต้น กล่าวถึงจักรวาลและชมพูทวีป ตั้งแต่ศาสนาพระกกุสันโธเป็นต้นมา เมื่อสิ้นศาสนาบ้านเมืองก็เศร้าสูญอยู่ระยะเวลานาน พระยาอินทร์ เทวดา ท้าวจตุโลกบาล นางเมขลา จึงพร้อมกันเชิญเทวดามาเป็นท้าวเป็นพระยาให้อยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ สิ้นศาสนาพระโคนาคมและศาสนาพระกัสสปตามลําดับ ครั้นจะถึงศาสนาพระสมณโคดม พระยาแถนก็ได้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่งต่าง ๆ ในพื้นโลก มีนํ้าเต้าปุ้ง ๒ ผล เกิดขึ้นมา และพระยาแถนฟ้าสั่งให้แถนชี แถนสิ่วลงมาเจาะนํ้าเต้าปุ้ง ๒ ลูก เกิดเป็นมนุษย์หลายภาษาหลายเผ่าพันธุ์ (มากดังทรายหลายดังนํ้า) พร้อมทั้งโค กระบือ ช้าง ม้า ฯลฯ และยังกล่าวชื่อบรรพบุรุษสําคัญของเผ่าพันธุ์อีกด้วย คือ เฒ่าเยอ เฒ่าไล แม่ย่างาม แม่มด
ทั้งสี่คนนี้ลงมาจากเมืองฟ้าแบกจกแบกเสียมมาสู้กับผียักษ์ในมนุษยโลกก่อน และขุนครัว ขุนลางเชิงขี่กระบือตามขุนบรมลงมาพร้อมกับมเหสีทั้งสอง พระยาแถนได้ชี้ที่ตั้งชุมชนที่นาน้อยอ้อยหนูเมืองญวน ชาวใต้มีเมืองโยธิยา เมืองพวน เมืองสา นอกจากนี้ยังมีบริวารติดตามมาจากเมืองแถนอีกส่วนหนึ่ง เช่น ขุนธรรมราช ขุนแสง ขุนสาน ขุนพี่ ขุนอินทร์ เป็นต้น บริวารทั้งหมดพระยาแถนได้กำหนดหน้าที่ช่วยเหลือขุนบรมในการสร้างบ้านแปงเมือง ควบคุมไพร่พล ครั้นเฒ่าทั้งสี่สิ้นชีวิตก็กลายเป็นผีเสื้อเมือง ต่อมามเหสีทั้งสองได้ประสูติโอรสทั้ง ๗ คือ ขุนลอ ยี่ผาลาน สามจูสง ไสผง งั่วอินทร์ ลกกลม และเจ็ดเจือง
ครั้นโอรสเจริญวัย ขุนบรมก็ให้แยกย้ายไปตั้งเมือง พร้อมทั้งแบ่งไพร่พลที่ออกจากผลน้ำเต้าให้ไปเป็นบริวารด้วย ให้ขุนลอไปกินเมืองชะวาลานช้างเชียงดงเชียงทอง ขุนลาน (หรือยี่ผาลาน) ไปกินเมืองห้อวอง ขุนสง (หรือสามจูสง) ให้ไปกินเมืองจุลระณีพรหมทัตราช (บางเล่มว่าเมืองจุลนี – ญวน) ขุนพวง (หรือไสผง) ไปกินเมืองกุมกามโยนกราชละพุนเชียงใหม่ ขุนอินท์ (งั่นอินท์) ไปกินเมืองละโว้โยธิยา ขุนเจ็ดเจืองไปกินเมืองพวนตะวันออก (ข้อสังเกต ขุนลกกลม องค์ที่หก ไม่ปรากฏว่าไปกินเมืองใดในฉบับนี้)
เหตุการณ์ต่อมากล่าวเฉพาะกลุ่มเมืองเชียงดงเชียงทอง และเดินเรื่องให้เห็นการต่อสู้กับชุมชนเดิม คือกลุ่มขุนเค้กขุนคาน อันเป็นเชื้อสายของข่ากังฮางกับนางกางฮีและอธิบายว่าบุญน้อยจึงพ่ายแพ้แก่กลุ่มขุนลอ โดยอ้างว่าเมืองเชียงดงเชียงทองนี้พระฤๅษีเคยหมายกําหนดไว้ที่ภูช้างว่า ผู้ที่จะเป็นท้าวพระยาต้องอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ เพื่อพระยาสัพพัญูเจ้าจะมาโปรดสัตว์ที่เมืองเชียงทองนี้ ขุนลอสืบสันตติวงศ์มาได้ ๗ ชั่วกษัตริย์ก็ถึงสมัยเจ้าฟ้าคําเฮียว
ต่อจากเจ้าฟ้าคำเฮียวก็ถึงรัชสมัยเจ้าฟ้างุ้ม (ในต้นฉบับเขียนว่า “ยาหลวงโงม”) สำนึกในการบันทึกตอนที่สองนี้เปลี่ยนไป นั่นคืออธิบายเหตุการณ์บ้านเมืองลําดับราชวงศ์จนมาถึงพระเจ้าวิชุลราช ซึ่งเนื้อหาจะเน้นเรื่องการฟื้นฟูพระศาสนา ใช้โลกทัศน์ของชาวพุทธในการอธิบายเหตุการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะการสร้างปูชนียวัตถุเพื่อสืบพระศาสนา และการสงครามกับญวนสมัยพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว และมีการฟื้นฟูพระศาสนาเรื่อยมา จนถึงรัชสมัยพระเจ้าวิชุลราช
(ซ้าย) ทุ่งไหหิน เมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวาง สปป.ลาว เป็นภาชนะบรรจุกระดูกคนตาย มีอายุราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว แต่กลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ข่าแจะ ฯลฯ เชื่อว่าเป็น “ไหเหล้าเจือง” เมื่อท้าวเจืองยกทัพมาพักไพร่พลที่นี่ (กลาง) ขุนเจือง ภาพเขียนจากจินตนาการ ปัจจุบันจัดแสดงที่ห้องนิทรรศการก่อนจะเป็นล้านนา หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคําจังหวัดพะเยา (ขวา) หนังสือรวมศัพท์จากเอกสารประวัติศาสตร์ท้าวฮุ่งท้าวเจือง จัดพิมพ์โดยสํานักงานราชบัณฑิตยสภา
**
ทัศนะและความสํานึกในการบันทึกตํานานนิทานเรื่องขุนบรม ในตอนต้นจะเป็นเรื่องกําเนิดโลกตามทัศนะความเชื่อของท้องถิ่น เช่น พระยาแถนสร้างโลก สร้างมนุษย์ และสรรพสิ่ง พร้อมทั้งส่งบุตรมาเป็นผู้ปกครอง คือ ขุนบรมราชา พร้อมทั้งบริวารมาช่วยกันแปงบ้านแปงเมือง สํานึกเรื่องมนุษย์เกิดจากนํ้าเต้าปุ้งก็ดีโอรสขุนบรมทั้งเจ็ดไปครองเมืองก็ดีเป็นการอธิบายถึงชนเผ่าที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และชนชั้นผู้ปกครอง และการอยู่ในศีลในธรรม เป็นการเน้นหลักธรรมของพุทธศาสนา และจะเน้นเรื่องเมืองล่มเพราะผู้ปกครองขาดราชธรรม เมื่อขุนลอยกมาตั้งเมืองที่เชียงดงเชียงทองชี้ให้เห็นว่าศัตรูก็คือญวน และเป็นชาติข้างเคียงที่ต่างภาษา เชื้อชาติ และศาสนา และเห็นว่าเมืองละโว้โยธิยา โยนกละพุนเชียงใหม่ เป็นชนชาติกลุ่มเดียวกัน
ในตอนที่สองนั้นแม้ว่าจะบันทึกเหตุการณ์ของบ้านเมือง แต่สำนึกในการบันทึกนั้นยังให้ทัศนะแบบชาวพุทธ ธรรมเนียมการบันทึกตามแนวศาสนา นั่นคือพระมหากษัตริย์ที่จะเป็นพระยาใหญ่ พระยาหลวงได้ต้องมีบารมีในการฟื้นฟูพุทธศาสนา หรือเกิดมาเพื่อเป็นคู่บุญกับศาสนา จึงมีเรื่องราวศึกสงครามกับญวนอยู่หลายคน และมีเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกับพระยานครหลวงหรือขอมหลวงก็เพื่อบอกถึงการสืบพุทธศาสนาจากเมืองขอม ก่อนที่จะสืบพุทธศาสนาลังกาวงศ์จากเมืองเชียงใหม่ แต่กระนั้นก็ตามเนื้อหาส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องพระมหากษัตริย์ได้ทํานุบํารุงพระศาสนาอย่างไร สร้างอารามสําคัญอะไร เป็นเกณฑ์ในการบันทึก
๔. วัฒนธรรมการบันทึกตํานานของภาคอีสาน
กลุ่มชนชาติไทยมีวัฒนธรรมร่วมกันคือ ภาษาธรรมเนียมและศาสนา แต่ก็ยังมีวัฒนธรรมย่อยที่แตกต่างกัน เช่น ภาษาท้องถิ่น จารีตประเพณีท้องถิ่น รวมทั้งตัวอักษรท้องถิ่นด้วย ฉะนั้น ธรรมเนียมการจดบันทึกตำนานแม้ว่าจะมีความสำนึกทางพุทธศาสนาเหมือนกัน แต่ก็ยังมีความเชื่อท้องถิ่นและเหตุการณ์ที่ปรากฏในท้องถิ่น รวมทั้งวีรบุรุษประจำถิ่นที่แตกต่างกัน
จากการศึกษาธรรมเนียมการบันทึกตํานานและเอกสารท้องถิ่นแล้ว อาจจะสรุปได้ว่า ตํานานภาคเหนือ (ล้านนา) และภาคอีสานรวมล้านช้างมีความใกล้เคียงกันมากเมื่อเทียบกับตำนานของภาคกลางและภาคใต้ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุว่าในสมัยที่ชนชาติไทยยังแยกตัวเป็น ๓ อาณาจักรคือล้านนา ล้านช้าง และอยุธยา จะพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างเมืองล้านช้างและล้านนา มีความใกล้ชิดกันในด้านวัฒนธรรม เช่น ภาษาถิ่น อักษรถิ่น รวมทั้งจารีตประเพณีท้องถิ่นอีกด้วย โดยเฉพาะราชวงศ์ทั้งสองอาณาจักรได้ อภิเษกสมรสกันด้วย เช่น เจ้าเชษฐวงศ์ (พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช) เป็นโอรสพระเจ้าโพธิสาลราชแห่งล้านช้าง กับพระราชธิดาแห่งเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น และเคยได้ครองเมืองเชียงใหม่ด้วยเมื่อ พ.ศ.๒๐๘๙
ธรรมเนียมการบันทึกตํานานแม้ว่าจะอยู่ใต้อิทธิพลจิตสํานึกทางพุทธศาสนาก็ตาม แต่เนื้อหาสาระเหตุการณ์ของสังคม ความเชื่อ และวีรบุรุษประจําถิ่นย่อมแตกต่างกันไป โดยเฉพาะชาวอีสานพยายามจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแก่สังคมสมัยอดีต และความเชื่อในพลังลี้ลับของธรรมชาติ ซึ่งเป็นโลกทัศน์ของสังคมยุคสมัยจดบันทึกตํานานดังจะอธิบายต่อไป
๔.๑ กาลเวลาในตํานาน ตํานานเป็นการจดบันทึกย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์สมัยอดีต หรือความเชื่อที่เล่าสืบทอดปากต่อปากกันมา ผ่านยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่ง แม้ว่าจะมีการลําดับเหตุการณ์อย่างเป็นระเบียบ แต่ไม่ได้หมายความว่าระยะเวลาศักราชที่กําหนดอยู่ในเหตุการณ์นั้นจะถูกต้อง เป็นเพียงตัวเชื่อมโยงเหตุการณ์อดีต ปัจจุบัน (สมัยที่สร้างตํานาน) และอนาคต (หรือทํานายอนาคต) แต่ในความหมายของ “ปัจจุบัน” ของตํานานน่าจะยาวนานได้ระยะเวลา ๑๐๐ – ๒๐๐ ปีนั่นคือเป็นเหตุการณ์สําคัญที่สังคมยังจดจําสืบกันมาอย่างดี หากเป็นเหตุการณ์สําคัญสะเทือนขวัญของสังคมย่อมหมายความว่ามีความแม่นยํา จดจําได้ดีหลายชั่วอายุคน เป็นต้น จึงอาจจะสรุปได้ว่า
๑) อดีตของตำนาน คือความเชื่อที่เล่าสืบกันมา หรือเรื่องราวที่ย้อนกลับสู่อดีตด้วยจินตนาการ เช่น มนุษย์คู่แรกของเผ่าพันธุ์ (ปู่สังกะสาย่าสังกะสี) พระยาแถนสร้างโลก สร้างสรรพสิ่งต่าง ๆ
๒) ปัจจุบันของตํานาน คือเหตุการณ์ที่ย้อนกลับอดีต ๑๐๐ – ๒๐๐ ปีเป็นเหตุการณ์สําคัญ ๆ ของสังคมที่ประสบมา เช่น เหตุการณ์สมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม พระเจ้าวิชุลราช (นิทานเรื่องขุนบรมราชา) หรือเหตุการณ์ที่สังคมชาวนาไหว้ผีตาแฮก และทําบุญคูณลานสมัยอดีต (ในเรื่องปฐมกัป หรือตํานานเจ้าแม่โพสพ)
๓) อนาคตของตํานาน คือ การทํานายอนาคต ซึ่งมักจะปรากฏอยู่ในตํานานฝ่ายวัดที่วิตกกังวลว่า พุทธศาสนาจะสั้นกว่า ๕,๐๐๐ ปี
หากเราพิจารณาตํานานฝ่ายวัดที่เน้นการเผยแพร่พุทธศาสนาในดินแดนแหลมทอง จะพบว่าตํานานฝ่ายวัดก็คือเหตุการณ์ในอินเดียสมัยเริ่มต้นศากยวงศ์และการเผยแพร่พุทธศาสนาในอินเดียพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับรอยพระบาทในล้านนาล้านช้าง พร้อมทั้งทํานายว่าต่อไปจะมีพระยาใหญ่ เมืองใหญ่ในที่นั้น ๆ เพื่อที่จะรับการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ส่วนปัจจุบันของตํานานฝ่ายวัดก็คือการเผยแพร่ศาสนาสมัยสุโขทัย ล้านนา (พระยามังรายจนถึงพระเจ้าติโลกราช หรือพระเมืองแก้ว) เนื้อหาสาระตอนที่เป็นปัจจุบันจะตรงกับศิลาจารึก เช่น มูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์ หรือรัตนพิมพวงศ์
๔.๒ วีรบุรุษของเผ่าพันธุ์ เป็นสาระสำคัญของการจดบันทึกตำนานของฝ่ายเมือง เช่น มนุษย์คู่ การกำเนิดมนุษย์ การสร้างโลกและจักรวาล และวีรบุรุษประจําเผ่าพันธุ์ความคิดที่จะอธิบายความเป็นมาของมนุษยชาติและวีรบุรุษประจำเผ่าพันธุ์ ย่อมเกิดขึ้นทุกเผ่าพันธุ์ นั่นคือเมื่อสังคมเจริญได้ระยะหนึ่งมนุษย์เริ่มสงสัยตนเองว่าเกิดมาอย่างไร ใครเป็นต้นกําเนิด ดังเราพบว่าชาวสุโขทัยได้แสวงหาคําตอบ เช่นกัน แต่นักปราชญ์สุโขทัยนั้นได้รับความรู้จากอินเดีย จึงใช้คัมภีร์อินเดียในการไขปัญหาดังปรากฏอยู่ใน “ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” ซึ่งเป็นคัมภีร์หลักของไทยในการอธิบายเรื่องโลก และจักรวาล และการกำเนิดสรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาล
ตำนานภาคอีสานได้อธิบายการกำเนิดโลกและมนุษย์อยู่ ๒ แนว คือแนวที่พระยาแถนสร้างโลก สร้างมนุษย์ในนํ้าเต้าปุ้ง แนวคิดนี้ดูเหมือนจะแพร่กระจายอยู่ในกลุ่มคนไทยอื่น ๆ ด้วย เช่น ไทอาหมมีความเชื่อว่ามนุษย์ เกิดจากผลฟักทอง (หลังจากยุคนํ้าท่วมโลก) ส่วนตํานานเมืองน่านก็ได้กล่าวว่า พระยาภูคาไข่ ๒ ฟองอันเป็นการกําเนิดของขุนนุ่น ขุนฟอง ผู้สร้างเมืองปัว เมืองน่าน แนวคิดเรื่องการสร้างโลกของอีสานอีกแนวหนึ่งก็คือ (เรื่องปฐมมูล) แผ่นดินเกิดเองเป็นแผ่นดินเล็ก ๆ (แผ่นดินเท่ารอยไก่ต้นไม้เท่าลําเทียน ลอยอยู่บนผิวนํ้า มีปู่สังกะสาและย่าสังกะสีเกิดเองอยู่บนแผ่นดินนั้น)
การอธิบายการกําเนิดวีรบุรุษประจําเผ่าพันธุ์ชาวอีสาน ได้อธิบายโดยอ้างพระยาแถนได้ให้โอรสลงมาปกครอง คือ ขุนบรม พร้อมมเหสีและบริวารเมื่อมีโอรสทั้งเจ็ดก็แบ่งไพร่พลให้ไปสร้างบ้านแปงเมืองดังกล่าวแล้ว ส่วนล้านนาเชียงใหม่ได้กล่าวถึงพระยาลวจักรราช เดิมเป็นเทพบุตร พระอินทร์ได้เชิญลงไปปกครองบ้านเมือง หลังจากนางจามเทวีตาวะติงสากายุไวต้องกลับสวรรค์
ส่วนบรรพบุรุษสําคัญคนอื่น ๆ ของชาวอีสาน เช่น ปู่เยอย่าเยอ ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี ปู่สีพี เฒ่าไล แม่ย่างาม แม่ย่ามด ฯลฯ ย่อมมีการเกิดที่พิเศษกว่ามนุษย์นั่นคือ จุติมาจากเมืองแถนบ้าง เกิดเองบ้าง เป็นต้น แสดงให้เห็นการสร้างตํานานที่พยายามอธิบายโดยความเชื่อลี้ลับของธรรมชาติเพื่อให้เกิดศรัทธาและแสดงความชอบธรรมของชนชั้นผู้ปกครองอีกด้วย
ส่วนตํานานวีรบุรุษของภาคกลางนั้น จะมีภูมิกําเนิดแบบมนุษย์แต่มีบุญญาธิการ เช่น พระร่วงวาจาสิทธิ์ ท้าวแสนปม พระยากงพระยาพาน แสดงให้เห็นธรรมเนียมการสร้างตํานานของภาคกลางที่แยกจินตนาการและความเป็นจริงออกจากกัน นั่นคือผู้นำชุมชนนั้นมีภูมิกำเนิดแบบมนุษย์ทั้งหลาย แต่มีอภินิหาร มีอิทธิฤทธิ์ตามบุญญาบารมีที่ศาสนาพุทธได้รับรองเช่นเดียวกับพระพุทธองค์การที่พบว่าภาคกลางมีตํานานวีรบุรุษหลายองค์นั้น อาจจะแสดงถึงการแยกกลุ่มชน แยกความเชื่อในวีรบุรุษก่อนที่จะรวมตัวกันเป็นชนกลุ่มเดียวกันก็เป็นได้
๔.๓. เทศะหรือสถานที่ในตํานาน การบันทึกตํานานไม่ว่าตํานานฝ่ายเมือง หรือตํานานฝ่ายวัดย่อมได้รับอิทธิพลการจดบันทึกตามระเบียบวิธีของพุทธศาสนา ฉะนั้นโลกในจินตนาการแบบคตินิยมของอินเดียจึงเข้ามาปะปนผสมผสานกับโลกที่เป็นจริง เช่น เขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์ ทวีปทั้ง ๔ และพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ย่อมต้องกล่าวถึงไม่มากก็น้อย ส่วนโลกที่เป็นจริงจะพบว่าเทศะในอินเดีย และเทศะในแหลมทองยังสับสนผสมผสานกันนั่นคือชาวพุทธมิได้แยกเทศะในพุทธประวัติและเทศะในแหลมทอง นอกจากนี่ยังพบว่าตำนานของภาคเหนือจำนวนมากได้กล่าวว่าพระพุทธองค์ได้ เสด็จมายังดินแดนภาคเหนือ และทำนายว่าดินแดนเหล่านั้นต่อไป จะเป็นเมืองใหญ่ เช่น ตำนานเมืองฝาง ตำนานเมืองพะเยา ตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่ ส่วนภาคอีสานได้แก่อุรังคนิทาน เป็นต้น นอกจากนี้ในตํานานยังเรียกดินแดนบริเวณประเทศไทยเป็นชมพูทวีป เช่นเดียวกับอินเดีย
๔.๔. ใช้สัญลักษณ์อธิบายเหตุการณ์ การอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่น เมืองล่ม เมืองถูกทำลาย หรือเกิดข้าวยากหมากแพง มักจะอธิบายโดยใช้สัญลักษณ์ทางศาสนามาเป็นแนวเทียบ เช่น ดีงาม – ชั่วช้า บาป – บุญ ซึ่งใช้สีขาวหรือเผือกแทนดีงาม และใช้สีดําแทนความชั่ว เป็นต้น เช่น บ้านเมืองล่มถูกนํ้าท่วมผู้คนตายทั้งเมือง ในเรื่องตํานานสิงหนวัติกุมาร เพราะชาวเมืองพากันกินปลาไหลเผือก (เอียนเผือก) หรือเรื่องผาแดงนางไอ่ (อีสาน) ที่ชาวเมืองพากันกินกระรอกด่อน (เผือก) เมืองล่ม นํ้าท่วม ซึ่งตรงกับแนวคิดทางพุทธศาสนา ที่กล่าวถึงคนชาวเมืองไร้ธรรมะ ทำลายคุณงามความดี แผ่นดินยอมรับน้ำหนักไม่ได้ เมืองจึงล่มบ้าง ธรณีสูบบ้าง ส่วนตํานานสุวรรณโคมคํา (ภาคเหนือ) ได้อธิบายปรากฏการณ์โดยใช้สัญลักษณ์เช่นเดียวกัน กล่าวคือบ้านเมืองเสื่อมศีลธรรม เพราะกษัตริย์ไม่อยู่ในราชธรรม “…พระยากรอมดําเป็นคนอันธพาล หาได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมไม่ มีแต่ตั้งกดขี่ข่มเหงเอาส่วยสาอากรกับราษฎร…” พญานาคผู้เป็นบิดาพาพลพรรคมาควักดินฝังแม่นํ้าขลนที (นํ้าโขง) ลัดไปทางทิศตะวันตกของเมืองสุวรรณโคมคำ เป็นเหตุให้เมืองพังทลาย
ส่วนตํานานอีสานและล้านช้าง อธิบายปรากฏการณ์โดยใช้แนวคิดของพุทธศาสนา เช่น เดียวกัน นั่นคือยึดมั่นในคุณงามความดีกตัญญูรู้คุณสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่ให้ประโยชน์แก่มวลมนุษย์ เช่น การด่าทอเมล็ดข้าว หรือการนําข้าวไปแลกพริกแลกเกลือ เป็นการขาดความเคารพต่อสรรพสิ่งที่มีคุณ นอกจากนี้ยังเน้นให้เคารพผีอาวุโส หรือบรรพบุรุษผู้มีพระคุณต่อชนเผ่า เช่น ปู่เยอย่าเยอ ปู่สีพี เฒ่าไล แม่ย่างาม แม่ย่ามด เป็นต้น เพราะวิญญาณของบรรพบุรุษยังปกป้องรักษาลูกหลาน และเชื้อสายต่อไป ฉะนั้นการนับถือผีปู่ตา (ผีประจำหมู่บ้าน) ผีมเหสักข์หลักเมือง (ผีหลักบ้าน) น่าจะมาได้แนวคิดมาจากตํานานวีรบุรุษประจําเผ่าด้วย
******
อ่านบทความก่อนหน้า
ตำนานพื้นบ้านในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง
.
คอลัมน์ ฮุ่งเฮืองเมืองปราชญ์ นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๘ | กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220
อ้างอิง/ภาพประกอบ
กรมศิลปากร. (๒๕๒๗). จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากรจัดพิมพ์ เนื่องในโอกาสฉลอง ๗๐๐ ปี ลายสือไทย พ.ศ.๒๕๒๖.
______________. (๒๕๑๘). ตํานานมูลศาสนา. กรุงเทพฯ: พิมพแจกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ล.เดชสนทวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๑๘.
______________. (๒๔๘๔). นิทานเรื่องขุนบรม ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๐. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พระจันทร์.
คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์. (๒๕๑๔). ตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์สํานักงานทําเนียบนายกรัฐมนตรี.
ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. แถมสุข นุ่มนนท์. (๒๕๓๔). หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.
ทวี สว่างปัญญากุล, ผู้แปล. (๒๕๒๙). ตํานานเมืองเชียงตุง. เชียงใหม่ : โครงการตารามหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ธิดา สาระยา. (๒๕๒๕). ตํานานและตํานานประวัติศาสตร์กับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: สํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
ธวัช ปุณโณทก. (๒๕๒๙). ความเชื่อพื้นบ้านอันสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในสังคมอีสาน. ใน วัฒนธรรมพื้นบ้าน : คติความเชื่อ. กรุงเทพฯ: โครงการไทยศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
______________. (๒๕๔๔). นิทานพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.
นาฏวิภา ชลิตานนท์. (๒๕๒๔). ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ปรุงศรี วัลลิโภดม ; และคนอื่น ๆ, บรรณาธิการ. (๒๕๒๗). สรุปผลการสัมมนาเรื่องไตรภูมิพระร่วง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากรจัดพิมพ์ เนื่องในโอกาสฉลอง ๗๐๐ ปี ลายสือไทย.
สาร สาระทัศนานันท์. (๒๕๓๐). โบราณคดีและเรื่องน่ารู้ของท้องถิ่น. เลย. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลยและวิทยาลัยครูเลย.
Louis Delaporte. (1998). Treasure From Laos. UK: White Lotus.
สัมภาษณ์นายพงษ์พัฒน์ ประทุมมา ณ ห้องศูนย์ครุศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ, วันพุธที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๙
สัมภาษณ์นายสุริยา บัญญัติ ณ โรงเรียนนครศรีลําดวนวิทยา อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ, วันศุกร์ ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๙
ขอบพระคุณคณาจารย์และผู้ที่ให้ข้อมูลและคําแนะนํา
อ.นันทพร บุญพรหม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
อ.วิวัฒน์วงศ์ บุญหนุน คณะบริหารธุรกิจและการบัญชีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
นายสุริยา บัญญัติ นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู โรงเรียนนครศรีลําดวนวิทยา อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ
นายพงษ์พัฒน์ ประทุมมา นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ สาขาวิชาสังคมศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ