ทองกวาว/จาน  ในมิติทางการแพทย์

ทองกวาว ชาวเหนือเรียกต้นกว๋าว ชาวอีสานเรียก ต้นจาน เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีถิ่นกำเนิดในป่าเขตร้อนของเอเชีย นับแต่อินเดียจนถึงอินโดนีเซีย ในประเทศไทย พบต้นทองกวาวขึ้นเองตามป่าโปร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในภาคกลาง มีให้พบเห็นอยู่บ้าง และแทบไม่พบในป่าธรรมชาติของภาคใต้เลย

ในฤดูฝนและฤดูหนาว ทองกวาวมีใบเขียว ดูกลมกลืนไปกับไม้อื่น ๆ รอบข้าง แต่ในตอนปลายฤดูหนาวต่อต้นฤดูแล้งเมื่อใบไม้ร่วง เป็นช่วงเวลาที่ทองกวาวมีสีสันสวยงามที่สุด โดดเด่นกว่าไม้ต้นอื่น ๆ ข้างเคียง ด้วยดอกสีส้มแดงอย่างที่เรียกว่า สีส้มอินเดีย (Indian orange) เต็มล้นกิ่งที่ปราศจากใบ การเป็นไม้ท้องถิ่นที่มีคนรู้จักดีเช่นนี้ น่าจะหมายถึงการมีคนรู้จักนำเอาส่วนต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายด้วย

แต่ช้าก่อน เนื้อไม้ของทองกวาว ไม่แกร่งพอสำหรับใช้ก่อสร้าง หรือทำเครื่องเรือน ใบ ดอก ฝัก ทั้งอ่อนและแก่ ก็ไม่มีรสชาติที่คนพอใจใช้เป็นอาหาร ร่มเงาก็ไม่มากและไม่มีทั้งปี ซ้ำกิ่งยังเปราะ ไม่เหมาะแก่การปลูกใกล้ที่อยู่อาศัย แต่นอกจากดอกสีส้มแดงที่สวยงามเพียงในบางฤดูแล้ว ธรรมชาติยังชดเชยให้แก่ไม้พื้นถิ่นที่ดูไร้ประโยชน์นี้ ด้วยสรรพคุณทางยามากมายอย่างมหัศจรรย์ยิ่ง ก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นมาช้านาน และต่อเนื่องเป็นองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัย ในยุคสมัยที่ผู้คนเชื่อถือในวิทยาศาสตร์ พอให้นำมาเล่าสู่กันฟังได้

ทองกวาวในฐานะที่เป็นพืชสมุนไพร

การแพทย์พื้นบ้านของไทย  หลายแหล่ง หลายหมอยา ระบุเพียงว่า ใบทองกวาวใช้แก้พิษฝี แก้สิว แก้ปวด ถอนพิษ แก้ท้องขึ้น และแก้ริดสีดวง ดอกใช้ถอนพิษไข้ แก้โรคตาและขับปัสสาวะ เมล็ดขับไส้เดือน แก้ผิวหนังอักเสบ ยางใช้แก้ท้องร่วง โดยไม่มีรายละเอียดวิธีปรุง วิธีใช้ อีกทั้งยังอาจมิได้เป็นการใช้ทองกวาวโดด ๆ เพียงอย่างเดียวด้วย ดังนั้นสรรพคุณตามที่ระบุมานี้ จึงมีประโยชน์เป็นแค่แนวทางชี้นำ ให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อพิสูจน์ฤทธิ์ทางยา และสกัดหาสารออกฤทธิ์เพื่อนำมาใช้เป็นยาแผนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การใช้ทองกวาวเป็นยา กลับมีระบุในการแพทย์อายุรเวทของอินเดียได้อย่างพอเห็นภาพ ทั้งส่วนของพืชที่ใช้ ปริมาณ และวิธีปรุงยา เพื่อรักษาโรคหรือความผิดปกติดังนี้

ใช้รากสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มเอาแต่ส่วนน้ำกิน ๒-๓ ช้อนโต๊ะก่อนนอน ติดต่อกัน ๑ เดือน ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศ รากแห้งบดเป็นผง ใช้ใส่แผลถูกงูกัด และผสมน้ำดื่มแก้พิษงู

เปลือกต้นบดเป็นผง ใส่แผลถูกของมีคม หรือผสมน้ำเล็กน้อยพอกผิวหนังแก้อาการบวม น้ำต้มกับเปลือกต้น กินแก้ไอ บรรเทาอาการหวัด ลดไข้และแก้ประจำเดือนไม่ปกติ

ก้านใบ ใช้เคี้ยวเพื่อกินน้ำบรรเทาอาการไอ หวัดและความผิดปกติของกระเพาะอาหาร

น้ำคั้นจากใบใช้หยอดตาเพื่อรักษาโรคตาแดง ใบแห้งบดเป็นผง ๒ ช้อน ผสมน้ำ ๑ ถ้วย ดื่มวันละครั้ง กินติดต่อกัน ๑ เดือน เพื่อรักษาโรคเบาหวาน

ดอกสดบดในน้ำนมเติมน้ำตาลเล็กน้อย ดื่มวันละ ๓-๔ ช้อน ประมาณ ๑ เดือน ช่วยลดความร้อนในร่างกายและลดไข้ หรือแช่ดอกในน้ำ ๑ คืน  ดื่มน้ำนี้วันละ ๑ ถ้วย รักษาอาการตกขาว และแก้ไขการปัสสาวะเล็ด น้ำคั้นจากดอกสด ใช้กินแก้อาการอสุจิไหล (spermatorrhoea) ซึ่งมีผลสืบเนื่องให้เกิดอาการมึนงงศีรษะ เหงื่อออกมากกว่าปกติ ปวดหลัง สายตาพร่ามัว ใจสั่น นอนไม่หลับ ฯลฯ  กินวันละ ๔ ช้อนชา ก่อนนอนจนกว่าจะหาย น้ำคั้นจากดอกนี้ยังช่วยป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะของผู้ชายอีกด้วย

เมล็ดแห้ง ๒-๓ เมล็ด บดเป็นผง ให้เด็กกินแก้โรคพยาธิลำไส้ทั้งตัวกลมและตัวแบน เมล็ดบดกับน้ำนม กินวันละ ๒ ช้อนโต๊ะ แก้อาการปัสสาวะขัดและช่วยขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เมล็ดบดผสมกับน้ำมะนาวใช้ทาผิวหนัง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด

ยางไม้เป็นยาฝาดสมาน ใช้เจือจางกินแก้อาการท้องเสีย ผอมแห้งแรงน้อย เป็นวัณโรค เลือดตกในกระเพาะหรือไต ตกขาวในสตรี และโรคกลากผิวหนัง และใช้ทาก่อนนอนแก้ส้นเท้าแตก

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของทองกวาว

สรรพคุณของพืชสมุนไพร ตามที่ระบุในการแพทย์พื้นบ้านแต่เพียงอย่างเดียว ย่อมไม่อาจชี้ชัดได้ว่า สามารถรักษาโรคหรือความผิดปกตินั้น ๆ ให้หายได้อย่างน่าพอใจจริงหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ป้ายชื่อต้นไม้และสรรพคุณที่เราเห็นในสวนสมุนไพรทั้งมวล จึงมีความหมายเพียงสามอย่างคือ หนึ่ง ทำให้รู้ว่าคนรุ่นก่อน ๆ รู้จักไม้ต้นนี้ สอง มีการใช้ต้นไม้นี้ในแบบใดแบบหนึ่งเพื่อรักษาโรค และสาม เป็นเครื่องชี้ว่า หน่วยงานหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เป็นเจ้าของสวน เจ้าของป้ายนั้น เห็นคุณค่าของธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวสำหรับข้าราชการหรือหัวหน้างาน ที่รักความก้าวหน้าแล้ว ความหมายสุดท้ายนี้ดูจะมีความสำคัญเป็นที่สุด

แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว สรรพคุณของสมุนไพรเป็นประโยชน์ยิ่งกว่านั้น การได้รู้ว่า มีการใช้พืชสมุนไพรชนิดหนึ่งบำบัดรักษาโรค ถือเป็นมูลเหตุพื้นฐานให้มีการศึกษา วิจัย  เพื่อพิสูจน์ฤทธิ์รักษา ค้นหาสารออกฤทธิ์ ประเมินฤทธิ์ที่อาจเป็นผลข้างเคียง และประเมินความปลอดภัย เมื่อใช้สมุนไพรหรือสารจากสมุนไพร ทั้งระยะสั้นและระยะยาว การได้มาของข้อเท็จจริงเหล่านี้ รู้จักกันโดยรวมว่า เป็นการวิจัยเพื่อหาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

ในการวิจัยดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ใช้สารที่สกัดจากส่วนของพืช เช่น ราก เปลือกต้น ใบ ดอก ผล เมล็ด ทดสอบกับสัตว์ทดลอง หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ทดลอง หรือทำปฏิกิริยาเคมี เมื่อพบว่ามีฤทธิ์ใดฤทธิ์หนึ่งแล้ว จึงทำการศึกษาโดยละเอียดต่อไปว่า สารใดทำให้เกิดฤทธิ์นั้น และโดยใช้กลไกเช่นไร

ผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของทองกวาวชี้ว่า ส่วนของทองกวาวที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ได้แก่ เปลือกต้น ดอก และเมล็ด โดยสารสกัดจากลำต้นมีเพียงฤทธิ์ต้านเชื้อรา ในขณะที่สารสกัดจากเปลือกต้น เมื่อทาที่บาดแผลสัตว์ทดลอง ช่วยเพิ่มการแบ่งตัวของเซลและเพิ่มการสังเคราะห์คอลลาเจน ส่งผลให้แผลหายเร็วขึ้น

การศึกษาในหนูทดลองอีกครั้งหนึ่งพบว่า สารสกัดจากเปลือกนี้ ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเรียบลำไส้ และยับยั้งการสะสมของน้ำในลำไส้ ส่งผลระงับอาการท้องเสีย ผลการวิจัยนี้ นอกจากสอดคล้องกับการใช้แบบพื้นบ้านแล้ว ยังอาจเป็นแนวทางให้มีการคิดค้นยาใหม่เพื่อรักษาบาดแผลหรือแก้ท้องร่วงได้อีกด้วย

สำหรับส่วนอื่น ๆ ของทองกวาว ดูเหมือนว่าสรรพคุณของดอก ดึงดูดความสนใจของบรรดานักวิทยาศาสตร์ได้ไม่น้อย  มีการพบว่า สารสกัดจากดอกทองกวาว มีฤทธิ์บำรุงตับ และเพิ่มระดับการทำงานของเอ็นไซม์ของตับ ที่ช่วยขจัดพิษ สารสกัดนี้ยังมีฤทธิ์เพิ่มระดับของ gamma-aminobutyric acid (GABA) และ serotonin ในสมอง แสดงออกโดยสามารถต้านการชักที่เกิดจากไฟฟ้าและเคมี แต่ไม่สามารถป้องกันการชักที่เกิดจาก strychnine ได้ นอกจากนี้ สารสกัดจากดอก ยังมีฤทธิ์ต้านเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สำคัญของเพศหญิง การทดสอบในสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดจากดอกสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของทั้งหนูปกติที่ได้รับน้ำตาลในขนาดสูง และ หนูที่เป็นเบาหวาน ได้อย่างชัดเจน

เมล็ดทองกวาว ก็มีฤทธิ์ที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าดอก กล่าวคือ การศึกษาในหนูและกระต่ายครั้งหนึ่งพบว่า สารสกัดจากเมล็ดมีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่และการฝังตัวของตัวอ่อน โดยสารที่ชื่อ butin จากเมล็ด สามารถคุมกำเนิดสัตว์ทดลองได้ทั้งสองเพศ การศึกษาอื่น ๆ ยังพบว่า สารสกัดจากเมล็ดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลและไขมัน ในเลือดของหนูทดลองที่ถูกทำให้เป็นเบาหวาน นอกจากนี้ น้ำมันจากเมล็ดยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

ถึงบรรทัดนี้ แม้เรายังคงไม่แน่ใจว่า ส่วนต่าง ๆ ของทองกวาวจะนำมาใช้รักษาโรคได้จริงหรือไม่ การพัฒนายาจากสารสกัดทองกวาว จะเป็นไปได้แค่ไหน เพียงไร คงตอบให้ชัดเจนในวันนี้ไม่ได้ แต่อย่างน้อย เราก็ได้รับรู้ว่า ต้นไม้พื้นบ้าน ที่พื้น ๆ และดูบ้านบ้าน อันมีชื่อว่าทองกวาวหรือต้นจานนี้ มีฤทธิ์ทางยาที่เก็บซ่อนอยู่ภายในมากมายนัก ดั่งจิตวิญญาณที่หลับใหลมาช้านาน

ใครจะอาสาปลุกวิญญาณนี้ให้ตื่นขึ้นแสดงตัวตนและอิทธิฤทธิ์  โปรดยกมือขึ้น

***

คอลัมน์ ผักหญ้าหมากไม้ นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒๔ | เมษายน ๒๕๕๗

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ด อ ก จ า น (Palasha) “เล็บแดงแห่งกามเทพ”…มิ่งไม้มหามงคล
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๗)
จิตแพทย์ ในชาติพันธุ์อีศาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com