ทางอีศาน 25 : เบิ่งไทย

11dec52-2

เบิ่งไทย
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๒๕
ปีที่ ๓ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗
ฉบับขึ้นปีที่ ๓

ข้อมูลเมื่อปี ๒๕๕๓ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า จำนวนคนจนในประเทศไทย ยังมีอยู่ถึง ๕.๐๘ ล้านคน (๕,๐๗๖,๗๐๐ คน) หรือคิดเป็นสัดส่วน ๗.๕ % (พิจารณาจากเส้นความยากจนที่ ๑,๖๗๘ บาทต่อคนต่อเดือน) ลดลงเมื่อเทียบปี ๒๕๕๒ ที่มีจำนวนคนจน ๕.๓ ล้านคน (๕,๒๗๘,๙๐๐ คน) หรือคิดเป็นสัดส่วน ๘.๑๒% และปี ๒๕๕๑ มีจำนวนคนจน ๕.๘ ล้านคน (๕,๗๗๑,๙๐๐ คน) หรือคิดเป็นสัดส่วน ๘.๙๕% แม้จำนวนคนจนและสัดส่วนคนจนมีแนวโน้มลดลงก็ตาม แต่ความเหลื่อมลํ้าด้านรายได้ระหว่างคนรวยสุดในสังคม (๒๐ % สุดท้าย) ต่อกลุ่มที่จนสุดในสังคม (๒๐% แรก) ความเหลื่อมลํ้าในรายได้ยังห่างกันถึง ๑๑.๓๑ เท่า

ขณะที่ในปี ๒๕๕๓ ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรประจำประเทศไทยของ เอดีบี (ธนาคารพัฒนาเอเชีย) ให้ข้อมูลอ้างอิงข้อมูลของสภาพัฒน์ฯว่า กลุ่มคนรวยที่สุด ๑๐% แรกของประเทศ มีรายได้รวมกันมากถึง ๓๘.๔๑% ของรายได้รวมทั้งประเทศ กลุ่มคนชั้นกลางมีรายได้ ๑๕.๙๘ % ของรายได้รวม ขณะที่กลุ่มคนจนที่สุด ๑๐% แรกของประเทศมีรายได้เพียง ๑.๖๙% ของรายได้รวมเท่านั้น

ปัญหาความเหลื่อมลํ้าในไทยเมื่อดูจากดัชนีความเหลื่อมลํ้า เหมือนกับว่าความเหลื่อมลํ้าของไทยดูจะดีขึ้น แต่หากดูตัวเลขกันจริง ๆ เมื่อเปรียบกับประเทศอื่นอีกหลายประเทศในเอเชีย พบว่าความเหลื่อมลํ้าของไทยสูงกว่าประเทศอื่น

ข้อเสนอแนะของเอดีบีในการแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าของรายได้ คือ รัฐบาลควรใช้นโยบายการคลังอย่างเฉพาะเจาะจง ลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งในด้านการศึกษา สุขอนามัย และด้านประกันสังคม แม้ไทยมีเครื่องมือเหล่านี้อยู่แล้ว แต่การดำเนินการยังไม่มากพอ และแม้ว่าภาครัฐพยายามที่จะใช้นโยบายลดความเหลื่อมลํ้า ด้วยการให้ผู้มีรายได้ตํ่ามีรายได้มากขึ้น แต่หากทำอย่างไม่เป็นระบบ และทำอย่างไม่มุ่งเน้นแบบเจาะจงไม่ยั่งยืน ในที่สุดความเหลื่อมลํ้าก็ยังคงมีต่อไป

จากข้อมูลของ ดร.สุวิทย์ เมษิณทรีย์ (เสนอปี ๒๕๕๔) ผู้อำนวยการสถาบันศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ประเทศไทยมีช่องว่างความเหลื่อมลํ้าของรายได้ระหว่างคนรวยที่สุด ๒๐% แรกกับคนจนที่สุด ๒๐% มากที่สุด โดยกลุ่มบนสุดมีทรัพย์สิน ๖๙% ส่วนกลุ่มล่างสุดได้รับเพียง ๑% กลุ่มบนสุดก็คือเจ้าของกิจการบริษัท นายจ้างที่แต่ละปีมีเงินอย่างมหาศาล ในขณะที่กลุ่มล่างสุดย่อมหนีไม่พ้นเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ที่มีรายได้ตํ่า (บทความเรื่อง สังคมไทย ความเหลื่อมลํ้า และปัญหาเชิงโครงสร้าง ของ วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์)

Related Posts

เลือกได้ตามใจเธอ
ชาดกเรื่องพระโสณะและพระนันทะเลี้ยงดูบิดามารดา
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๘)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com