ทางอีศาน 24: เบิ่งอีสาน

e-shann24_เบิ่งอีสาน

คอลัมน์: เบิ่งอีสาน
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๒๔
ปีที่ ๒ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๗
ฉบับ “ครบรอบ 2 ปี”

พ.ศ. ๒๕๕๓ คนไทยตายเพราะอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยวันละ ๓๐ คน ปีหนึ่งก็ตก ๑๐,๙๕๐ คนภาคอีสานตายมากที่สุด

ข้อมูลของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) บ่งชี้ว่า ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ๙๘๓,๐๗๖ ครั้ง มีผู้เสียชีวิต ๑๒๔,๘๕๕ ราย และมีผู้บาดเจ็บสาหัส ๑๕๑,๒๘๖ ราย กลุ่มที่มีอัตราเสียชีวิตสูงสุด คือ เด็กและวัยรุ่น อายุระหว่าง ๑๕-๒๔ ปี ที่สำคัญที่สุดจะเห็นได้ว่าแนวโน้มของความรุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น

จากการประเมินขององค์การสหประชาชาติในด้านการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนของประเทศสมาชิกทั้งหมด ๑๗๘ ประเทศ ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ ๑๐๖ มีผู้เสียชีวิต ๑๖.๘๗ คนต่อแสนประชากร นับว่าบ้านเรามีความปลอดภัยทางถนนตํ่า โดยในปี ๒๕๕๓ มีคนเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ ๓๐ คน สูงกว่าอาชญากรรม ๔ เท่า สร้างความสูญเสีย ๒.๓ แสนล้านบาทต่อปี หรือ ๒.๘% ของจีดีพี

แม้สถิติที่ผ่านมาระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ ๑๐๐ ครั้ง เพื่อหาค่าดัชนีความรุนแรง กลับพบว่าอุบัติเหตุแต่ละครั้งมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอีสานมีค่าดัชนีเสียชีวิตสูงสุด ส่วน กทม.เป็นพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงตํ่าสุด บ่งชี้ถึงการกระจุกตัวของการจัดสรรทรัพยากรที่เอื้อประโยชน์ให้คนกรุงเทพฯมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ในรูปของระบบโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่

กลุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุและบาดเจ็บมากที่สุด คือเพศชายเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิงประมาณ ๔ เท่า วัยรุ่นอายุ ๑๕-๒๔ ปี เสี่ยงมากที่สุด เมื่อปี ๒๕๕๒ วัยรุ่นเสียชีวิต ๒๓.๕ คนต่อแสนประชากรและบาดเจ็บ ๓๔๒.๘ คนต่อแสนประชากร ยานพาหนะที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ ๖๐% รองลงมารถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุกและรถเก๋ง ทั้งนี้มาตรฐานตัวรถโดยสาร บ.ข.ส.ดีกว่ารถเอกชนร่วมบริการ เมื่อเกิดอุบัติเหตุคนโดยสารรถ บ.ข.ส.มีโอกาสตายน้อยกว่ารถร่วมบริการ ๑๐ เท่าส่ว่นกลุมผู้ใช้แรงงานเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในบรรดาผู้บาดเจ็บรุนแรง

จากสถิติในรอบสิบปีที่ผ่านมา ตัวการของอุบัติเหตุอันดับ ๑ ที่ตำรวจบันทึกไว้ คือ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด ระหว่างปี ๒๕๔๒-๒๕๕๒ เกิดอุบัติเหตุจากความเร็ว ๑๗,๐๐๐ ครั้งต่อปี เมื่อพิจารณาเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนโครงข่ายทางหลวงก็ยิ่งน่าวิตก เมื่อพบว่าในปี ๒๕๔๔-๒๕๕๑ ตำรวจชี้ว่าความเร็วเป็นเหตุคิดเป็นสัดส่วน ๗๖% เมื่อพิจารณาถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากใช้ความเร็วบนทางหลวง พบว่าอุบัติเหตุทุก ๆ ๑๐ ครั้งจะมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย ๑ ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย ๘ ราย ส่วนใหญ่รถเสียหลักหลุดออกจากถนนชนวัตถุข้างทางมากที่สุด

นอกจากนี้ คดีอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับผลสำรวจพฤติกรรมดื่มแล้วขับยังไม่มีทีท่าจะลดลง ในขณะที่คนขับรถเก๋ง รถกระบะ ใส่ใจคาดเข็มขัดนิรภัยมากขึ้น แต่ความนิยมสวมหมวกกันน็อคของคนขี่มอเตอร์ไซค์ไม่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้แล้ว ยังพบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุข้างทางสูงถึง ๔๐-๔๕% ของประเภทอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางหลวงแผ่นดิน หรือถนนเชื่อมระหว่างจังหวัด ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๑ ใน ๓ ของอุบัติเหตุบนถนนทางหลวง และมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น สิ่งของอันตรายข้างทาง เช่นคันทาง เสาไฟฟ้า ป้ายจราจร ต้นไม้ การ์ดเรลและกำแพงคอนกรีต หลักกิโลเมตรและแหล่งนํ้าต่าง ๆ ข้างทาง สิ่งเหล่านี้ผู้ใช้รถใช้ถนนคุ้นตาเป็นอย่างดีแต่ไม่ทราบว่าถ้าสิ่งของอันตรายอยู่ใกล้ขอบถนนมากเกินไปก็สามารถคร่าชีวิตผู้ใช้รถได้ทุกเมื่อ

วัตถุอันตรายข้างถนนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังขาดแนวคิดเรื่องการออกแบบสภาพข้างทางที่ให้ความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่ในต่างประเทศมีมาตรฐานออกแบบข้างทางเพื่อให้โอกาสผู้ขับขี่ที่เสียหลักหลุดออกนอกผิวจราจรไปแล้ว สามารถกลับมาสู่ผิวจราจรได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นขอบเขตพื้นที่ข้างทางจึงไม่ควรมีวัตถุอันตรายตั้งอยู่ในระยะปลอดภัย นอกจากนี้อุบัติเหตุข้างทางยังเกิดจากความชันคันทางที่ไม่ปลอดภัย ไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันรถพลิกควํ่าตกข้างทาง นอกจากนี้การปลูกต้นไม้ใหญ่ที่มีขนาดลำต้นเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๑๐ เซ็นติเมตรขึ้นไปภายในระยะปลอดภัยเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่

Related Posts

ด อ ก จ า น (Palasha) “เล็บแดงแห่งกามเทพ”…มิ่งไม้มหามงคล
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๗)
ทองกวาว/จาน ในมิติทางการแพทย์

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com