ภาพจำลองอุตตรกุรุทวีปในพิธีศพชาวอีสาน

ภาพจำลองอุตตรกุรุทวีปในพิธีศพชาวอีสาน

อุตตรกุรุทวีป เขาสิเนรุ บุรพวิเทหทวีป จากสมุดภาพไตรภูมิ

จักรวาลทัศน์ของพุทธเถรวาทที่เผยแผ่เข้ามาสู่ดินแดนอุษาคเนย์ ได้เปลี่ยนคติ “ทวิภูมิ” ที่มีในวัฒนธรรมผีเดิมที่แบ่งโลกเป็น “เมืองลุ่มของคน” กับ “เมืองบนของแถน” เป็น “ไตรภูมิ” โดยมีศูนย์กลางจักรวาลเป็นเขาสิเนรุ โดยมีทวีปที่มนุษย์อาศัยมีลักษณะเป็นเกาะอยู่ในทิศทั้งสี่รอบเขาพระสุเมรุนั้น โดยกล่าวว่าเราเป็นผู้อาศัยอยู่ในชมพูทวีปอยู่ด้านทิศใต้ของเขาสิเนรุ

แต่มีประเพณีงานศพที่น่าสนใจในวัฒนธรรมชาวพุทธที่สะท้อนให้เห็นว่า เป็นการจำลองถึงพิธีศพอันเกิดในอุตตรกุรุทวีป อันเป็นดินแดนอุดมคติของมนุษย์ตามคติไตรภูมิ ที่จะนำมาเปิดผ้าม่านกั้งเรื่องราวการตายที่สัมพันธ์กับประเพณีของคนอีสานในครั้งนี้

ไตรภูมิ

ไตรภูมิ แปลว่า ภูมิทั้ง ๓ ประกอบด้วย กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ โดยภูมิต่าง ๆ ล้วนเป็นที่อยู่ของสรรพสัตว์ผู้ต้องเวียนว่ายเกิดตายด้วยผลแห่งบุญบาปที่ตนกระทำ

ไตรภูมิ เป็นวรรณกรรมประมวลเรื่องราวจากพระสูตรต่าง ๆ ที่อธิบายเกี่ยวกับจักรวาลทัศน์ของชาวพุทธ เป็นเรื่องเดียวกัน มีปรากฏหลายสำนวน เช่น “ไตรภูมิพระร่วง” หรือ “ไตรภูมิกถา” เป็นพระราชนิพนธ์ของพญาลิไทย กษัตริย์องค์ที่ ๕ แห่งกรุงสุโขทัย เมื่อประมาณ พ.ศ.๑๘๘๘ จึงนิยมเรียกว่า ไตรภูมิพระร่วง แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีการพบต้นฉบับดังกล่าว ส่วนฉบับที่ใช้ศึกษาในปัจจุบันเป็นฉบับที่พระมหาช่วยวัดปากน้ำ (วัดกลางวรวิหาร) จังหวัดสมุทรปราการ ได้ต้นฉบับมาจากจังหวัดเพชรบุรี จึงได้จารไว้บนใบลานจำนวน ๓๐ ผูก ใน พ.ศ.๒๓๒๑ ต่อมาได้มีการตรวจสอบชำระและพิมพ์เผยแพร่เรื่อยมา

นอกจากนี้ยังมี “ไตรภูมิโลกวินิจฉัย” ซึ่งเป็นสำนวนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้พระราชาคณะและราชบัณฑิตแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๖ ยังไม่สมบูรณ์ และโปรดให้พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) แต่งให้จบ
ความใน พ.ศ.๒๓๔๕

นอกจากนี้ยังพบว่า ในหอสมุดแห่งชาติ มีสมุดภาพไตรภูมิอีกหลายเล่มที่มีอายุเก่าถึงสมัยอยุธยา ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นว่า จักรวาลทัศน์ชาวพุทธเป็นเรื่องราวที่ได้รับการสืบทอดเรียนรู้แพร่หลายเรื่อยมา เนื้อหาในไตรภูมิที่ถูกรวบรวมจากคัมภีร์ต่าง ๆ กว่า ๓๐ คัมภีร์ มีเนื้อหาที่มีอิทธิพลต่อจักรวาลทัศน์ของชาวอุษาคเนย์ที่เปิดรับพุทธศาสนาเป็นศาสนาของรัฐเรื่อยมา

มนุษย์ในทวีปทั้ง ๔ รอบเขาพระสุเมรุ

ทวีปของเรานี้อยู่ทางทิศใต้ของเขาสิเนรุชื่อชมพูทวีป บรรดามนุษย์ในชมพูทวีปมีหน้ารูปไข่เหมือนดุมเกวียน อาจมีอายุยาวหรือสั้น เพราะเหตุที่บางครั้งมนุษย์ทั้งหลายบางครั้งมีศีลธรรมบางคราวไม่มี ถ้ามนุษย์ทั้งหลายมีศีลธรรม ย่อมกระทำบุญและปฏิบัติธรรม ยำเกรงผู้อาวุโส บิดามารดา และสมณพราหมณาจารย์ อายุของมนุษย์เหล่านั้นจะยาวขึ้น ๆ ส่วนมนุษย์ที่ไม่ได้จำศีล ไม่ได้ทำบุญ ไม่ยำเกรงผู้อาวุโส บิดามารดา สมณ พราหมณ์ อุปัชฌาย์ อาจารย์นั้น อายุของคนเหล่านั้นจะสั้นลง ๆ เพราะเหตุดังกล่าว อายุของมนุษย์ในชมพูทวีปนี้จึงกำหนดไม่ได้

ทวีปทางทิศตะวันออกของเขาสิเนรุชื่อบุรพวิเทหทวีป มนุษย์ในบุรพวิเทหทวีป มีหน้ากลมดังเดือนเพ็ญ มีอายุยืนได้ ๑๐๐ ปีจึงตาย

ทวีปทางทิศตะวันตกของเขาสิเนรุชื่อ อมรโคยานทวีป บรรดามนุษย์ในอมรโคยานทวีปมีหน้าดังเดือนแรม ๘ ค่ำ มีอายุยืนได้ ๔๐๐ ปีจึงตาย

ทวีปทางทิศเหนือของเขาสิเนรุชื่อ อุตตรกุรุทวีป มนุษย์ในทวีปนั้นมีหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมคนทั้งหลายอาศัยอยู่ในทวีปนั้นมาก มีความเป็นอยู่ดีกว่าคนในทวีปอื่น เพราะบุญของเขา เพราะเขารักษาศีล มีอายุได้ ๑,๐๐๐ ปีจึงตาย

วิถีชีวิตของชาวอุตตรกุรุทวีป

จากการบรรยายถึงมนุษย์ในทวีปทั้ง ๔ ในทวีปต่าง ๆ รอบเขาสิเนรุ จะเห็นได้ว่าชาวอุตตรกุรุทวีปมีความเป็นอยู่ดีกว่าคนในทวีปอื่นเพราะบุญของเขา เพราะเขารักษาศีล ไตรภูมิยังได้อธิบายถึงสภาวะความเป็นอุดมคติเกี่ยวกับอุตตรกุรุทวีปอีกหลายประการ ดังนี้

“…แผ่นดินอุตตรกุรุทวีปนั้นราบเรียบเสมอกัน ไม่มีที่ลุ่มที่ดอนหรือที่ขรุขระ มีต้นไม้นานาพันธุ์มีกิ่งก้านสาขางาม มีค่าคบใหญ่น้อยมากมาย เหมือนเขาตั้งใจสร้างไว้เป็นบ้านเรือนดูงามดั่งปราสาท เป็นที่อยู่อาศัยของคนในอุตรกุรุทวีปนั้น…

…ชาวอุตตรกุรุทวีปมีรูปร่างสมส่วน ไม่สูงไม่ต่ำ ไม่อ้วนไม่ผอม ดูงามด้วยรูปทรงสมส่วน มีเรี่ยวแรงกำลังกายคงที่ไม่เสื่อมถอยไปตามวัย ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ พวกเขาไม่มีความกังวลในเรื่องทำมาหากิน ไม่ต้องทำไร่ทำนาหรือซื้อขายกัน…

…ชาวอุตตรกุรุทวีปมีข้าวชนิดหนึ่งชื่อ “สัญชาตสาลี” คือข้าวที่เกิดขึ้นเอง เขาไม่ต้องหว่านหรือไถดำ ข้าวนั้นเกิดเป็นต้นเป็นรวงเป็นข้าวสารเอง ข้าวนั้นหอม ไม่มีแกลบมีรำ ไม่ต้องตำ ไม่ต้องฝัด ชาวอุตตรกุรุทวีปชวนกันกินข้าวนั้นอยู่เป็นประจำ…ในอุตตรกุรุทวีปยังมีหินชนิดหนึ่งชื่อ “โชติปาสาณ” คนเหล่านั้นจะเอาข้าวสารกรอกใส่หม้อทองเรืองงาม ยกไปตั้งบนแผ่นหินโชติปาสาณนั้น ชั่วครู่หนึ่งจะเกิดเป็นไฟลุกขึ้นได้เอง เมื่อข้าวสุก ไฟจะดับเอง เมื่อเขาเห็นไฟดับก็รู้ว่าข้าวสุกจึงคดใส่ถาดและตะไลทองงาม สำหรับกับข้าวนั้นก็ไม่ต้องจัดหา เมื่อนึกว่าจะกินสิ่งใดก็จะปรากฏขึ้นอยู่ใกล้ ๆ เขาเอง คนเหล่านั้นเมื่อกินข้าวนั้นแล้วจะไม่เกิดโรคต่าง ๆ … ถ้าเขากินข้าวนั้นอยู่ เมื่อมีคนมาเยี่ยม เขาก็นำข้าวนั้นมารับรองด้วยความเต็มใจ แลไม่รู้สึกเสียดาย

ในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปนั้นมีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง สูง ๑๐๐ โยชน์ กว้าง ๑๐๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๓๐๐ โยชน์ ผู้ใดปรารถนาอยากได้ทรัพย์สินเงินทองหรือเครื่องประดับตกแต่งทั้งหลาย…สิ่งเหล่านั้นย่อมบังเกิดขึ้นตามค่าคบของต้นกัลปพฤกษ์นั้น ให้สำเร็จสมตามความปรารถนาทุกประการ”

สตรีทั้งหลายที่อยู่ในแผ่นดินนั้นงามทุกคนรูปร่างไม่สูงไม่ต่ำเกินไป ไม่ผอมไม่อ้วนเกินไป ไม่ขาวไม่ดำเกินไป มีรูปร่างสมส่วน ผิวพรรณงามดั่งทองสุกเหลือง เป็นที่พึงใจของชายทุกคน…มีรูปโฉมโนมพรรณงามดั่งสาวน้อยอายุ ๑๖ ปี มีทรวดทรงคงที่ไม่แก่เฒ่าไปตามกาลเวลา ดูอ่อนเยาว์ตลอดชีวิตทุกคน

ชายทั้งหลายในอุตตรกุรุทวีปก็มีรูปร่างผิวพรรณงามเหมือนหนุ่มน้อยอายุ ๒๐ ปี ไม่มีแก่เฒ่า…

…เมื่อเขาเจริญวัยขึ้นเป็นหนุ่มสาว เมื่อแรกรักกันจะอยู่ครองเรือนเป็นสามีภรรยากัน เขาจะร่วมรักกันเพียง ๗ วันเท่านั้น ต่อจากนั้นจะไม่ร่วมรักกันเลย จะอยู่เย็นเป็นสุขตราบเท่าสิ้นอายุ ๑,๐๐๐ ปีของพวกเขานั้น ไม่อาลัยอาวรณ์สิ่งใดดังเป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสทั้งปวงแล้ว…

…ชาวอุตตรกุรุทวีปไม่ได้สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย แต่มีไม้ชนิดหนึ่งงามเหมือนทองเรียกว่า “มัญชุสถา” เป็นเหมือนบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชนชาวแผ่นดินอุตตรกุรุทวีป…”

การตายของชาวอุตตรกุรุทวีป

เมื่อพวกเขาตายจากกัน ก็มิได้มีความทุกข์โศกเสียใจร้องไห้ถึงกันเลย พวกเขาจะเอาศพนั่นอาบน้ำตกแต่งตัวทากระแจะจันทน์น้ำมันหอม นุ่งห่มผ้าให้ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวง แล้วจึงเอาไปวางไว้ในที่แจ้ง จะมีนกชนิดหนึ่งซึ่งบินทั่วไปในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปนั้น มาคาบเอาศพไปยังรังนกนั้นเพื่อมิให้สกปรกรกแผ่นดิน นกนั้นบางทีก็คาบเอาไปทิ้งไว้ในแผ่นดินอื่น หรือทิ้งที่ฝั่งทะเลหรือชมพูทวีป นกนี้ต่างอาจารย์เรียกชื่อต่างกัน คือ นกหัสดีลิงค์ นกอินทรี นกกด ที่ว่าคาบเอาศพไปนั้น บางอาจารย์ว่าไม่ได้คาบเอาศพไป แต่ใช้กงเล็บคีบเอาไป

คนทั้งหลายในอุตตรกุรุทวีป เมื่อตายไปแล้วย่อมไม่ไปเกิดในจตุราบายทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานนั้นเลย แต่พวกเขาจะไปเกิดในที่ดี คือ สวรรค์ชั้นฟ้า เพราะว่าพวกเขาทั้งหลายเป็นผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ ตลอดเวลา เครื่องหมายคุณความดีของคนเหล่านั้นก็ยังปรากฏอยู่ไม่มีที่สิ้นสุดบริบูรณ์ตราบจนบัดนี้

นกปลงศพชาวอุตตรกุรุทวีปจากสมุดภาพไตรภูมิ

พิธีศพชาวอีสานกับการตายของชาวอุตตรกุรุทวีป 

เรื่องราวเกี่ยวกับพิธีศพของคนอีสาน แม้ว่าในปัจจุบันจะพบว่าขั้นตอนต่าง ๆ เป็นการผสมผสานคติความเชื่อดั้งเดิมในวัฒนธรรมผีและคติพุทธพราหมณ์จากชมพูทวีปที่รับเข้ามาภายหลัง แต่เมื่อแยกรายละเอียดของพิธีศพออกแล้วจะพบร่องรอยความเชื่อมโยงกับคติต่าง ๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะคติที่เป็นการจำลองเอาพิธีศพของชาวอุตตรกุรุทวีปในไตรภูมิ ดังจะนำพิธีกรรมเกี่ยวกับศพของชาวอีสานมาเทียบเคียง ดังนี้

การงันเฮือนดี เป็นการจัดงานรื่นเริง มีมโหสพคบงันเป็นที่สนุกสนาน (เล่าไว้โดยละเอียดในทางอีสาน ฉบับเดือนกันยายน ๖๐) คตินี้สอดคล้องกับพิธีศพของชาวอุตตรกุรุทวปี ที่ว่า “…เมื่อพวกเขาตายจากกัน ก็มิได้มีความทุกข์โศกเสียใจร้องไห้ถึงกันเลย…” การจัดงานศพที่ไม่โศกเศร้านี้เป็นคติผีดั้งเดิมที่สอดคล้องกับคติพุทธที่รับเข้ามาภายหลัง

การอาบน้ำศพ สำหรับการตายธรรมดาคือไม่ใช่ตายโหง จะมีการอาบน้ำศพด้วยน้ำหอม คตินี้สอดคล้องกับพิธีศพของชาวอุตตรกุรุทวีปที่ว่า “…เมื่อพวกเขาตายจากกัน ก็มิได้มีความทุกข์โศกเสียใจร้องไห้ถึงกันเลย พวกเขาจะเอาศพนั่นอาบน้ำตกแต่งตัวทากระแจะจันทน์น้ำมันหอมนุ่งห่มผ้าให้ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวง…”

หว่านกาละพฤกษ์ เป็นพิธีกรรมสำคัญก่อนการเผาศพ กาละพฤกษ์ เดิมใช้ก้านกล้วยตัดเป็นท่อน ๆ หรือใช้ลูกมะนาว-มะกรูด หรือกล่องไม้ขีด เสียบเงินเหรียญเข้าไป สำหรับหว่านโปรยทานให้ผู้เข้าร่วมงานได้เก็บเป็นที่สนุกสนาน สะท้อนให้เห็นว่างานศพนี้เป็นการจำลองพิธีศพของชาวอุตตรกุรุทวีปได้อย่างชัดเจน เพราะดินแดนอุตตรกุรุทวีปเป็นทวีปเดียวที่มีต้นกัลปพฤกษ์ ดังว่า “…ในแผ่นดินอุตรกุรุทวีปนั้นมีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง สูง ๑๐๐ โยชน์ กว้าง ๑๐๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๓๐๐ โยชน์ ผู้ใดปรารถนาอยากได้ทรัพย์สินเงินทองหรือเครื่องประดับตกแต่งทั้งหลาย…สิ่งเหล่านั้นย่อมบังเกิดขึ้นตามค่าคบของต้นกัลปพฤกษ์นั้นให้สำเร็จสมตามความปรารถนาทุกประการ…”

นกส่งวิญญาณ พิธีกรรมเกี่ยวกับการปลงศพที่แปลกเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในลุ่มน้ำโขง ปรากฏมีตั้งแต่ เชียงรุ้ง ล้านนา ล้านช้าง รวมถึงในแผ่นดินอีสาน คือ “พิธีปลงศพด้วยนกหัสดีลิงค์” ปัจจุบันมีเพียงคำบอกเล่าที่เป็นมุขปาฐะ อ้างว่าเป็นคติการปลงศพของเจ้าเมือง ซึ่งหาต้นเค้าความเชื่อมโยงได้ยาก เพราะเมื่อสืบค้นในตำนาน พงศาวดาร ของเมืองต่าง ๆ ที่มีพิธีปลงศพด้วยนกหัสดีลิงค์ กลับไม่ปรากฏหลักฐานเก่าแก่ที่หนักแน่นน่าเชื่อถือ

แต่คติการปลงศพด้วยนกหัสดีลิงค์ดังกล่าวกลับสอดคล้องกับเรื่องราวของพิธีศพของชาวอุตตรกุรุทวีปที่ว่า

“…แล้วจึงเอาไปวางไว้ในที่แจ้ง จะมีนกชนิดหนึ่งซึ่งบินทั่วไปในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปนั้น มาคาบเอาศพไปยังรังนกนั้นเพื่อมิให้สกปรกรกแผ่นดิน นกนั้นบางทีก็คาบเอาไปทิ้งไว้ในแผ่นดินอื่น หรือทิ้งที่ฝั่งทะเลหรือชมพูทวีป นกนี้ต่างอาจารย์เรียกชื่อต่างกัน คือ นกหัสดีลิงค์ นกอินทรี นกกด ที่ว่าคาบเอาศพไปนั้นบางอาจารย์ว่าไม่ได้คาบเอาศพไป แต่ใช้กรงเล็บคีบเอาไป…”

เมรุนกหัสดีลิงค์เทินหอแก้วในพิธีปลงศพด้วยนกของชาวอีสาน

ภาพจำลองอุตตรกุรุทวีปในพิธีศพชาวอีสาน

จึงจะเห็นได้ว่า คนอีสานได้เข้าถึงเรื่องราวของไตรภูมิอย่างลึกซึ้ง และนำมาเป็นอุดมคติของชีวิต ถึงกับนำประเพณีการตายของชาวอุตตรกุรุทวีปอันเป็นทวีปอุดมคติของความเป็นมนุษย์ตามคติไตรภูมิ มาจำลองเป็นพิธีกรรมการตายของตนซึ่งเป็นชาวชมพูทวีป เพื่อมุ่งสู่โลกหลังความตายตามคติไตรภูมิที่ว่า “…คนทั้งหลายในอุตตรกุรุทวีป เมื่อตายไปแล้วย่อมไม่ไปเกิดในจตุราบายทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานนั้นเลย แต่พวกเขาจะไปเกิดในที่ดี คือ สวรรค์ชั้นฟ้า เพราะว่า พวกเขาทั้งหลายเป็นผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ ตลอดเวลา เครื่องหมายคุณความดีของคนเหล่านั้นก็ยังปรากฏอยู่ไม่มีที่สิ้นสุดบริบูรณ์ตราบจนบัดนี้…”

นอกจากนี้ เอกลักษณ์ของพิธีกรรมการปลงศพด้วยนกหัสดีลิงค์ของชาวอีสาน ยังสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของคติการปลงศพด้วยนกที่สืบทอดมาจากเรื่องนกส่งวิญญาณจากยุคก่อนประวัติศาสตร์อีกด้วย

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๕
ปีที่ ๗ ประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com