คนพากย์หนัง

ภาพโดย สมศักดิ์ มงคลวงศ์ 

สมัยก่อนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภาคอีสานยังล้าสมัย สิ่งบันเทิงเริงอารมย์ของคนอีสานสมัยนั้นยังมีแต่หมอลำพื้น หมอลำกลอนรำวงพื้นบ้าน และหนังบักตื้อ (หนังปราโมทัย) ฯลฯ

ต่อมาก็เริ่มมีหนังขายยา (หนังกลางแปลงดูฟรี) มีลิเก ละคร และวงดนตรีเดินสายมาเปิดวิกการแสดงเก็บเงินตามหอประชุมต่าง ๆ

อำเภออำนาจเจริญ เป็นอำเภอใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานีสมัยนั้น เริ่มมีโรงไฟฟ้าปั่นไฟเปิดเฉพาะเวลาหกโมงเย็นถึงเที่ยงคืนก็ เปิด เริ่มมีโรงหนังครั้งแรกล้อมด้วยสังกะสี มีหลังคาครึ่งเดียวเฉพาะด้านห้องฉายหนังกับห้องคนพากย์เท่านั้น ฝนตกก็เบียดกันอยู่ด้านที่มีหลังคา ชาวบ้านเคยดูแต่หนังขายยาของฟรีมักจะมีแต่หนังคาวบอย หนังอินเดียเก่า ๆ เมื่อมีโรงหนังเก็บเงินก็เริ่มมีหนังไทยใหม่ ๆ หนังฝรั่งดัง ๆ มาฉายให้ดูค่าบัตรผ่านประตู เด็ก ๕๐ สตางค์ ผู้ใหญ่ ๑ บาท ก็เป็นความสุขความบันเทิงใหม่ ๆ ให้กับชาวบ้าน เป็นธรรมเนียมของโรงหนังสมัยนั้นตอนหัวค่ำเขาจะเปิดเพลงเพราะ ๆ ให้คนจะมาดูหนังได้มาเดินเที่ยวซื้อขนม ซื้อน้ำแข็งน้ำหวานกิน รอเวลาหนังฉาย 

พอถึงเวลาทุ่มครึ่งเขาก็จะเปิดเพลง “มารช์สามัคคี ๔ เหล่า” เป็นการเตือนให้ชาวบ้านรีบแต่งตัวออกจากบ้านอีกครึ่งชั่วโมงหนังจะฉายแล้ว พ่อค้าแม่ขายคนในตลาดก็จะรีบปิดร้านมาซื้อตั๋วเข้าจับจองที่นั่ง วันไหนหนังดังคนเต็มที่นั่งแต่หัวค่ำหนังก็เริ่มฉายแต่ ๒ ทุ่ม บางวันหนังไม่ค่อยดังคนดูน้อย ตอนก่อนจะฉายหนังทางโรงเปิดเพลง “มาร์ชสามัคคี ๔ เหล่า” วนไปวนมาหลายสิบเที่ยวคนดูก็ยังไม่มา บางคนด็ไม่รีบร้อนเพราะรู้ว่าคนดูน้อยหนังยังไม่ฉายไว ต้องยืดเวลาเปิดเพลงรอจนหมดคนดูจริง ๆ กว่าจะฉายก็ปาเข้าไปเกือบ ๓ ทุ่ม เป็นอันว่าชาวบ้านเขารู้กันไม่ถือสา

ถ้าเป็นหนังไทยเรื่องใหม่ ๆ ดัง ๆ เพิ่งออกจากโรงในกรุงเทพฯ คนดูจะเต็มแต่หัวค่ำ หรือหนังญี่ปุ่นหนังฝรั่งดัง ๆ เช่นเรื่อง “เบ็นเฮอร์” “แซมซั่น” “โรมีโอจูเลียต” หรือหนังคาวบอยดัง ๆ เช่น “เจ็ดสิงห์แดนเสือ” “จังโก้” “ริงโก้” คนดูก็เยอะ โดยเฉพาะหนังดังหนังดีต้องมีนักพากย์ฝีปากดีเป็นคนพากย์ด้วย สมัยก่อนคนดูหนังต่างจังหวัดจะติดใจนักพากย์ที่มีฝีปากดี ๆ ทำให้หนังมีรสชาติเพิ่มขึ้น นักพากย์ดัง ๆ ขวัญใจชาวอีสานยุคนั้นก็เช่น “ดาราพร” พากย์หนังเสียงชายและเสียงหญิง พากย์เสียงหญิงได้หวานมาก อีกคนคือ “นันทวรรณ” คนนี้จะพากย์แบบใส่บทกลอนสด ๆ ไปด้วย และอีกคนคือ “มหาราช” ส่วนคนดังระดับ “ซุปเปอร์สตาร์” ก็คือ “โกญจนาท” ผู้มีลีลาพากย์นอกบทด้วยลีลายียวนกวนอารมณ์สลับกับมุกฮาตลอด  หนังฝรั่งหนังญี่ปุ่นบางเรื่องไม่ค่อยดัง ถ้าได้นักพากย์เหล่านี้มาพากย์ก็ทำให้หนังเรื่องนั้นเป็นที่นิยมไปได้

สมัยก่อนหนังเสียงในฟิล์มยังไม่มี ไม่ว่าหนังไทย ฝรั่ง อินเดีย ต้องใช้นักพากย์ ถ้าหนังฉายในโรงเก็บเงินก็จะมีนักพากย์ ชาย หญิงพากย์คู่ หรือชายเดี่ยวคนเดียวพากย์ทุกเสียง เสียงชายหญิง เสียงเด็ก คนแก่ เหมาหมด รับค่าตัวคนเดียว

นักพากย์หนังแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ นักพากย์หนังเร่ หนังขายยานำรถเร่ไปปักจอฉายตามอำเภอ จังหวัดต่าง ๆ ให้ชมฟรี อาศัยโฆษณาขายยาของบริษัทฯ นักพากย์ประเภทนี้ต้องรอบจัด พากย์หนังด้วยโฆษณาขายยาด้วย ฉายหนังไปก็หยุดโฆษณาขายยา “ยาแก้ปวดแก้ไขปวดหัวเป็นไข้ ปวดกระดูกกระเดี้ยว ลุกก็โอย นั่งก็โอย กินยาแก้ปวดตราหนูขี่ช้าง” หรือยาแก้ไอ “ไอค็อกไอแค็ก ไอกะค็อกไอกะแค็ก จนตกกระได กระดอนไปในกระด้ง ไอจนปวดกระดูกกระเดี้ยว เสียวไปถึงกระดองใจ ต้องกินยาแก้ไอของห้าง “เจ็กกินหมู” เอ้ยไม่ใช่ ห้าง “เต็กเฮงหยู” นะคร้าบ” ชักแม่น้ำทั้งห้า ถ้าขายยายังไม่ได้ตามเป้าก็จะโฆษณาไม่เลิก จนชาวบ้านประท้วงร้องเตือนว่า “ฉายเถอะ ฉายเถอะ” ชาวบ้านเห็นใจก็ช่วยซื้อยาให้เข้าเป้าจึงฉายหนังต่อ นี่ก็เป็นเทคนิคของนักพากย์หนังขายยา

ส่วนอีกประเภอคือนักพากย์มืออาชีพพากย์หนังโรง ที่จังหวัดอุบลฯ ยุคนั้นดังที่สุดคือ “ดาราพร” และดังมากคือ “โกญจนาท” ขนาดโรงหนังอำเภออำนาจเจริญถือว่าเป็นโรงหนังระดับ ๒ “ดาราพร” เคยมาพากย์แต่ “โกญจนาท” ไม่เคยมาพากย์ที่โรงหนังอำเภออำนาจเจริญเลย คนอำเภออำนาจบ้านผมได้ยินชื่อเสียงกิติศัพท์ของ “โกญจนาท” พอสมควรใครอยากฟังสำนวนการพากย์ของ “โกญจนาท” ต้องเดินทางเข้าตัวเมืองอุบลฯ ไปดูที่โรงใหญ่

มีครั้งหนึ่งหนังคาวบอยฝรั่งดังมากคือเรื่อง “เจ็ดสิงห์แดนเสือ” นำแสดงโดย “ยูน บรีนเนอร์” พระเอกฮอลลีวูด ประชันกับพระเอกญี่ปุ่น “เตชิโร มิฟูเน่” ออกจากโรงใหญ่ที่กรุงเทพฯ มาฉายที่โรงหนังใหญ่ที่จังหวัดอุบลฯ คือโรงหนัง “คิงส์” พวกผมวัยรุ่นอำนาจเจริญรวมกันเหมารถสองแถวจากอำนาจเพื่อไปดูหนังดัง และนักพากย์ดัง “โกญจนาท” พวกเราเดินทางจากอำนาจถึงโรงหนัง “คิงส์” ในตัวเมืองอุบลเกือบเที่ยงไม่ทันรอบเช้า โรงหนังฉาย ๓ รอบ รอบเช้า ๑๐ โมงเช้า รอบบ่าย ๒ โมง รอบค่ำ ๑ ทุ่ม พวกเราจองตั๋วรอบบาย ๒ ขณะรอก็เดินเที่ยวหน้าโรงที่เขาประดับประดาขึ้นป้ายคัตเอ้าท์ใหญ่โต ป้ายชื่อหนังตัวโต ชื่อดารานำแสดงเล็กลงมาหน่อย แต่ชื่อคนพากย์ “โกญจนาท” ใหญ่กว่าชื่อหนัง ขณะที่รอกันอยู่หน้าโรงรอบเช้าเลิกก็จะได้ยินซาวด์เสียงหนังเสียงพากย์ พร้อมเสียงฮาของคนดูดังออกมาเป็นระยะ ๆ เล่นเอาคนดูรอบต่อไปชักตื่นเต้นไปด้วย จนจบรอบเช้าเขาเคลียร์คนดูออกจนหมดพวกเราและคนดูรอบบ่ายทยอยเข้าจับจองที่นั่ง

ก่อนหนังเรื่องจะฉายในโรงหนังจะปิดไฟมืดและเงียบสนิทคนดูต่างเพ่งไปที่จอหนัง สักครู่ลำแสงจากเครื่องฉายเริ่มฉายภาพไตเติ้ลเป็นชื่อเรื่อง มีเสียงพากย์ระบบเอ็คโค่ดังขึ้นอีก “เจ็ดสิงห์แดนเสือ” และเงียบไป ภาพในจอฉายถึงโลโก้ชื่อบริษัทผู้สร้าง เสียงพากย์ระบบเอ็คโค่ดังขึ้นอีก “เมโทรสิงห์โต เห่า สร้าง” คนดูเริ่มฮือฮาในลีลายียวนของ “โกญจนาท” พอถึงรายชื่อดารานำแสดงก็มีเสียงพากย์ดังกังวานขึ้นอีก “ยูน หัวโล้น นำแสดง”…“โกญจนาท บรีนเนอร์พากย์” เท่านั้นแหละคนดูฮาตรึมพร้อมเสียงปรบมือลั่นโรงเลย

เริ่มต้นก็เริ่มพากย์ยียวนตีหัวเข้าบ้านแล้ว เข้าในเนื้อเรื่องหนัง “โกญจนาท” ก็จะมีลูกเล่นทั้งดุดันตามแบบหนังบู๊คาวบอย สลับกับพากย์นอกบทยียวนกวนประสาท ทั้งมีมุกตลกขำขัน เรียกว่าชมหนังบู๊แบบคาวบอยฮอลลี่วูด ตื่นเต้นทั้งเรื่องหนัง สนุกทั้งแนวพากย์ ขำขันทั้งบทฮาตลอดเรื่องจนจบ

คนดูสนุกมีความสุขเดินออกจากโรงหนังด้วยรอยยิ้ม พวกเราขึ้นรถกลับอำนาจเจริญ วิพากษ์วิจารณ์แนวการพากย์ของ “โกณจนาท” ไปตลอดทาง นี่คือความสุขความบันเทิงที่สุดของคนบ้านนอกชนบทในสมัยนั้น

ข้อคิดก่อนจาก คนเราเมื่อหลงอำนาจแล้วยากจะหาทางออกได้ แต่มีผู้รู้บอกว่าทางที่จะออกจากอำนาจได้มี ๔ ทางคือ      

๑. ออกเส้นทางอำนาจ มุกดาหาร

๒. ออกเส้นทางอำนาจ เข็มราษฎร์

๓. ออกเส้นทางอำนาจ ยโสธร

๔. ออกเส้นทางอำนาจ อุบลราชธานี

ส่วนผู้ที่ไม่อยากออกจากอำนาจก็ให้อยู่ต่อไป เพราะอำนาจเจริญ


นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๖
ปีที่ ๗ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Related Posts

แทนน้ำนมแม่ สำนึกของลูกอีสาน
อนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์
มุ่งสู่เมืองปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com