นวนิยายเรื่อง “ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน” กำลังเข้มข้นในนิตยสาร “ทางอีศาน”
นวนิยายเรื่อง””ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน” กำลังเข้มข้นในนิตยสาร”ทางอีศาน”
ทำให้รำลึกถึงผู้เขียน – อุดร ทองน้อย
รำลึกถึงด้วยข้อเขียนของ “เจน อักษราพิจารณ์”
(ลงพิมพ์ในนิตยสารรายเดือน “ทางอีศาน” ฉบับ ๕๓ กันยายน ๒๕๕๙)
อุดร ทองน้อย : ร่องรอยความฝันและอุดมการณ์
อำเภอกุดชุม ดินแดนนักคิดนักเขียน ปัญญาชนผู้มีอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมมาทุกยุคสมัย ความแล้งเข็ญของแผ่นดินสะท้อนถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ให้หยัดอยู่ยืนยง เช่นเดียวกับนักคิด นักเขียนนามอุดร ทองน้อย จากบ้านโนนยาง ดินแดนแห่งความแห้งแล้งกลางทุ่งอีสาน ผลัดถิ่นไกลสู่เมืองใหญ่ วาดหวังชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สานฝันอุดมการณ์สู่สภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติ ฝากผลงานการเมืองและงานวรรณกรรมมาถึงปัจจุบัน
เลือดนักสู้จากกุดชุม
อุดร ทองน้อย เป็นชื่อจริงและนามปากกาของนักเขียนอีสานจากจังหวัดยโสธร เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๒ ในครอบครัวชาวนาของนายเคน – นางบัว ทองน้อย ที่บ้านโนนยาง ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร วัยเด็กใช้ชีวิตอยู่กับท้องไร่ท้องนา หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านโนนยาง บ้านเกิด จึงบรรพชาเป็นสามเณรเข้ามาเรียนธรรมบาลีที่โรงเรียนบาลีมัธยม วัดโพธิ์ (วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม) กรุงเทพฯ สอบได้ธรรมศึกษาโท จ ากนั้นจึงคืนสู่แผ่นดินอีสานโดยเข้าเรียนที่โรงเรียนมหาพุทธาราม (วัดพระโต) อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ จนสอบได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ (ม.ศ.๕) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาที่กรุงเทพฯ ปี ๒๕๐๘ อุดร ทองน้อย สอบเข้าเรียนต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในยุคปัญญาชนคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยหันมาทำกิจกรรมด้านสังคมและการเมือง จึงทำให้ได้ร่ วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ในตำแหน่งรองเลขาธิการศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และซึมซับวรรณกรรมแนวก้าวหน้าและวรรณกรรมเพื่อชีวิต
เริ่มต้นเขียนบทกวีและเรื่องสั้นลงตีพิมพ์ในหนังสือเฉพาะกิจที่จัดทำโดยกลุ่มนักศึกษาในยุคนั้น ปี ๒๕๑๑ หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบอาชีพทนายความตามสาขาที่ศึกษามา และเขียนบทกวีเรื่องสั้นส่งตีพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบทกวี “อีสานกู” ที่ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารวิทยาสาร
ปี ๒๕๑๒ อุดร ทองน้อย ได้ร่วมก่อตั้งอาศรมวรรณศิลป์ร่วมกับ ดร.อุดร จันทวัน, ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต, ประยงค์ มูลสาร, อภิเชษฐ์ ทองน้อย, บุญแถว บุตรราช และรักษ์ ทองสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของพระภิกษุ สามเณร และหนุ่มสาวในเขตปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก และกรุงเทพฯ ในช่วงเวลานี้ มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารนทีทองรายสัปดาห์, ชาวกรุง, วิทยาสาร, สกุลไทย และส่งบทกลอนไปยังสถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่ออ่านออกอากาศอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ อุดร ทองน้อย ได้เข้าร่วมกับขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชน โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา
สู่เส้นทางนักการเมืองแห่งอุดมการณ์
หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ อุดร ทองน้อย เข้าทำงานเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในระหว่างปี ๒๕๑๖ – ๒๕๑๗ ในยุคการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนและปัญญาชน ทำให้แนวคิดด้านสังคมนิยมสู่สังคมไทยทั่วประเทศ อีกทั้งมีการจัดพิมพ์หนังสือแนวก้าวหน้าว่าด้วยแนวคิดด้านสังคมนิยมอย่างหลากหลาย ปี ๒๕๑๘ อุดร ทองน้อย สมัครลงรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จังหวัดยโสธรบ้านเกิด สังกัดพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พร้อมกับประยงค์ มูลสาร เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกแบบรวมเขตหลังได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดยโสธร จนได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งเป็นลำดับที่ ๑ ด้วยคะแนน ๒๗,๒๘๐ คะแนน พร้อมกับประยงค์ มูลสาร ผู้สมัครพรรคเดียวกันได้ลำดับที่ ๓ ด้วยคะแนน ๒๔,๑๔๗ คะแนน ปัจจัยที่ทำให้อุดร ทองน้อย ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในครั้งนั้น เพราะเคยผู้นำที่มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในพื้นที่ในช่วงปี ๒๕๑๖ – ๒๕๑๗ อีกทั้งยังมีแนวร่วมแนวคิดทางสังคมนิยมในท้องถิ่น ตลอดทั้งมีเครือข่ายผู้นำทางศาสนา ผู้นำท้องถิ่น นิยมยกย่องผู้ที่มีพื้นที่ความรู้ในระดับดี มีผลงานด้านบทกวี เรื่องสั้นในแนวต่อสู้เพื่อเพื่อความยุติธรรมอย่างแพร่หลายในฐานะนักข่าว นักเขียน มีผลงานทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และผลงานรวมเล่ม
ปี ๒๕๓๑ อุดร ทองน้อย ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธรเป็นสมัยที่ ๒ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ ๒๔ กรกฎาคม เป็นอันดับ ๒ ด้วยคะแนน ๔๙,๔๖๙ คะแนน
จากฐานที่มั่นภูพานถึงสำนักแนวร่วม เอ ๓๐
ภายหลังรัฐบาลประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๑๙ และจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๑๙ ซึ่งอุดร ทองน้อยไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนั้น อีกทั้งภายหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้กวาดล้างและจับกุมนิสิต นักศึกษา ปัญญาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง และมีแนวคิดด้านสังคมนิยม จึงทำให้หลบหนีเข้าเขตป่าในปี ๒๕๑๙ ที่ฐานมั่นภูพาน และสำนักแนวร่วม เอ ๓๐ ในเวลาต่อมา
ที่สำนักแนวร่วม เอ ๓๐ อุดร ทองน้อยในฐานะแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีผลงานเขียนบทกวีและเพลงร่วมกับเพื่อนแนวร่วมศิลปินภายใต้ชื่อจัดตั้ง ส.กาด เช่น บทเพลงแนวร่วมประชาชาติไทย ฉลองชัยวันพรรค ลุกขึ้นปลดแอก (ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๐) และบทกวีบทเพลงกล่อมลูก (พิมพ์ในสารสามัคคีสู้รบ และออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย) ปี ๒๕๒๑
คืนสู่เมืองสานฝันแห่งอุดมการณ์
ในปี ๒๕๒๔ ภายหลังเกิดความขัดแย้งของพรรคคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ อีกทั้งรัฐบาลไทยได้ประกาศนโยบาย ๖๖/๒๕๒๓ เพื่อลดความขัดแย้งด้วยวิธีการเมืองนำทหารในการยุติสงครามปฏิวัติโดยสันติวิธี อุดร ทองน้อย จึงตัดสินใจคืนสู่เมืองหลังใช้ชีวิตในฐานะมวลชนปฏิวัติในเขตป่าเป็นเวลา ๕ ปี คืนสู่เมืองใช้วิชาความรู้ด้านกฎหมายเพื่อหาเลี้ยงชีพ เขียนเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยาย
บทกวี : ลีลาชีวิต ลิขิตขีดเขียน
ในปี ๒๕๑๘ อุดร ทองน้อย มีผลงานบทกวีเล่มแรกชื่อ “อีสานกู” มีเนื้อหาสะท้อนชีวิตของชาวอีสานผู้ทุกข์ทน บทกวี “อีสานกู” ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารวิทยาสารในปี ๒๕๑๒ ถูกนำมาดัดแปลงเป็นบทเพลงชื่อขับร้องโดย วิเศษ เวณิกา มีเนื้อหาดังนี้
ยังจำได้ใบตองแห้งลมแล้งพัด ต้นคูนผลัดใบอ่อนค่อนเดือนสี่
น้ำค้างแล้งแฝงมายามราตรี ฟ้าเดือนนี้งามพราวดาวและเดือน
ฟังเสียงแคนแสนเปลี่ยวอยู่เดี่ยวโดด อกคนโสดชาวนาเขาว่าเถื่อน
เถียงนาน้อยหลังคาฟางอยู่ต่างเรือน ทุยเป็นเพื่อนคราวเศร้าเหงาฤทัย กับทรายร้อนแสงแดดที่แผดเผา และความเก่าหักขาดของคราดไถ
เว้นว่างวารามือหยุดถือใช้ อยากร้องไห้ฝนไม่ตกตั้งอกคอย
ดอกคูนเหลืองเฟื่องฟ่อนร่อนลมแล้ง ภมรแสร้งซอนไซ้ไล่ความหงอย
เกสรหล่นปนกลีบเหลืองน้อยน้อย เป็นฝอยฝอยหวาดหวิวริ้วอารมณ์
ความอดอยากฝากคราบน้ำตาไว้ พลังใจหดเหี่ยวเปลี่ยวขื่นขม
กินจิ้งหรีดแทนปลาอกข้าตรม ดื่มน้ำขมปนทรายไม่วายเว้น
ตั้งหน้ามุ่งหมายมาหาเอาใหม่ ยังจำได้ครั้งเก่าเราอยากเห็น
หลับตานึกครั้งไรให้ลำเค็ญ ถิ่นไหนเป็นเหมือนที่….อีสานกู
(“ทุ่งนา ป่าดอน นครคน” หน้า ๑๓)
อุดร ทองน้อย ได้รับรางวัลชมเชยรางวัลมติชนอวอร์ดประเภทกวีนิพนธ์ ปีที่ ๓ (๒๕๕๗) จากบทกวี “ข่ายคลื่น”
ชีวิตครอบครัว สมรสกับนางผกาพรรณ ทองน้อย มีบุตรชาย ๑ คน หญิง ๑ คน
เกียรติยศแห่งชีวิต
ปี ๒๕๑๘ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร สังกัดพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร
ปี ๒๕๓๑ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัยโสธร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร
ปี ๒๕๕๗ บทกวีชื่อ “ข่ายคลื่น” ได้รับรางวัลชมเชยรางวัลมติชนอวอร์ด
ผลงานเขียน
รวมเรื่องสั้นและบทกวี : อีสานกู, สายเลือด หนังเนื้อ และกระดูกผู้ยากไร้, ตะวันสีแดงส่องทาง, ถังเหล่ยเวียดนาม, ทุ่งนา ป่าดอน นคร คน, ว่าวใบกลอย
รวมเรื่องสั้น : ต้องมีสักวัน, หมาเน่า อีแร้ง แมลงวัน, ผมเพิ่งกลับจากสงคราม, แมลงเม่า, เรื่องสั้น “สองเสี่ยวหาเสียง” ในฟ้าเมืองไทย เรื่องสั้น “จอนฟอน” ในฟ้าเมืองทอง
นวนิยาย : วันที่แดดเป็นสีเลือด, ฟ้าไม่สิ้นลม, กุยดำเรย, นักฆ่าพญาโขง, สายลับนอกราชการ, รุ่นสะเดิดดิ้น และ”ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน” (ที่มีเนื้อหาเข้มข้น กำลังตีพิมพ์ในนิตยสาร”ทางอีศาน”)
สารคดี : ตามรอยรอแดว ดวงดอกมณีคำล้ำค่า (ความเรียงว่าด้วยศิลปะวรรณคดีสองฝั่งโขง) กรรมมาธิการเยี่ยมยามลาว
คอลัมนิสต์ : หนังสือพิมพ์วัฐจักร, การเมือง, ฐานเศรษฐกิจการเมือง
อุดร ทองน้อย เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๐.