โฉมหน้านักการเมืองรุ่นแรกของอีสาน (บทที่ ๓)

โฉมหน้านักการเมืองรุ่นแรกของอีสาน (บทที่ ๓)

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๒​ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: อีสาน : แผ่นดินแห่งการต่อสู
Column: Esan : Land of the Struggle
ผู้เขียน: ป.ม.ส.

เพลง วันชาติ ๒๔ มิถุนา
ผู้แต่ง : ครูมนตรี (บุญธรรม) ตราโมท

๒๔ มิถุนายนมหาศรีสวัสดิ์
ปฐมฤกษ์ของรัฐ ธรรมนูญของไทย
เริ่มระบอบอารยะประชาธิปไตย
ทั่วราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี
สำราญ สำเริง รื่นเริง เต็มที่
เพราะชาติเรามีเอกราชสมบูรณ์
ไทยจะคงเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทิดไทย ชโย
ชาติประเทศเหมือนชีวา
ราษฎร์ประชาเหมือนร่างกาย
ถ้าแม้ว่าชีวิตมลายร่างกายก็เป็นปฏิกูล
พวกเราต้องร่วมรักพิทักษ์ไทยไพบูลย์
อีกรัฐธรรมนูญคู่ประเทศไทย
เสียกายเสียชนม์ยอมทนเสียได้
เสียชาติประเทศไทยอย่ายอมให้เสียเลย
ไทยจะคงเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทิดไทย ชโย

ความขัดแย้งสองขั้วอำนาจกับผลกระทบอันมิอาจคาดการณ์ได้

การปฏิวัติประชาธิปไตยเบื้องต้น ในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ดูสำเร็จโดยง่าย แทบไม่มีการต่อต้านหรือขัดขวางจากฝ่ายอำนาจรัฐเก่า ไม่เสียชีวิตเลือดเนื้อ ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนดำเนินไปได้ด้วยดี ดังบทเพลง วันชาติ ๒๔ มิถุนา…

มีเนื้อหากินใจ ฟังแล้วให้ความรู้สึกที่ดีต่อวิถีการปกครองแบบใหม่ แต่ทว่า ตลอดห้วงเวลา ๘๐ กว่าปีที่ผ่านมา กลับเป็นห้วงเวลาแห่งความยุ่งยาก สับสน วกวนอยู่ในเขาคีรีวงกตแห่งความขัดแย้งของสองขั้วอำนาจ คือ ระหว่างขั้วอนุรักษ์นิยม กับขั้วประชาธิปไตย

ขั้วหนึ่งยื้อยุดฉุดดึงไว้ทุกวิถีทาง…ขั้วใหม่ก็ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะสถาปนาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้ วัตถุประสงค์ของคณะราษฎรยังไม่บรรลุผล ประชาชนไทยหลั่งเลือดเสียชีวิตตามรายทางมาหลายครั้ง

บางห้วงเวลาเหมือนจะได้มาซึ่งชัยชนะ เช่นการต่อสู้ครั้งใหญ่ของนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชน ในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ สามารถขับไล่เผด็จการ ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์อำนาจนิยมออกไปได้ ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน พลังประชาธิปไตยนิยมเริ่มเติบโตขยายตัวไปทั่วประเทศ แต่แล้วก็ถูกฝ่ายอำนาจเก่าปราบปรามลงไปในเหตุการณ์ ๖ ตุลามหาโหด เป็นต้น

ทำให้หวนกลับไปตั้งคำถามต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ของคณะราษฎรว่า มีอะไรผิดพลาดไปหรือ… ระบอบประชาธิปไตยที่สถาปนาขึ้นจึงล้มลุกคลุกคลาน (คำของท่าน ดร.ปรีดี พนมยงค์ จากหนังสือ คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนา – อ้างแล้ว)

หรือว่าเป็นไปตามแนว “พระราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ (๑๙๓๒) นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนกาลอันควร” (เดวิด เค. วัยอาจ จากประวัติศาสตร์ไทย ฉบับสังเขป)

ที่ยกเอาความขัดแย้งสองขั้วอำนาจมาเสนอไว้ในตอนนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งใหญ่สองขั้วนี้ มีผลกระทบต่อการเมืองไทยตลอดมา นอกเหนือจากอิทธิพลการเมืองภายนอกประเทศ ทั้งจากค่ายเสรีตะวันตก และค่ายคอมมิวนิสต์ตะวันออก ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยไม่น้อยเช่นกัน

โดยเฉพาะอิทธิพลของขบวนการคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ ดังเช่นคำนำของผู้เขียนหนังสือ “กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์สยาม” (เออิจิ มูราชิมา – สำนักพิมพ์ มติชน จัดพิมพ์ ) ที่ว่า “ตั้งแต่คณะราษฎรถูกก่อตั้งขึ้นในยุโรปราวปี พ.ศ. ๒๔๗๐ มานั้น รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์กังวลและสงสัยว่า นักศึกษาไทยในยุโรป มีความสัมพันธ์กับองค์การคอมมิวนิสต์สากล (สากลที่ ๓ หรือ โคมินเทิร์น) ที่มอสโค”

เมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจจากฝ่ายเจ้าในปีพ.ศ. ๒๔๗๕ รัฐบาลคณะราษฎรเข้าใจผิดว่า การแจกใบปลิวของพรรคคอมมิวนิสต์สยาม (พคส.) เป็นฝีมือของฝ่ายเจ้าที่สูญเสียอำนาจ หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลคณะราษฎรมีความแตกแยกรุนแรงและฝ่ายอนุรักษ์ของรัฐบาลได้กำจัดกลุ่มปรีดี พนมยงค์ ออกไป โดยกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และได้ประกาศ “พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๗๖”

พรรคคอมมิวนิสต์สยาม (พคส.) ได้รับการจัดตั้งขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๗๓ โดย โฮจิมินห์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสากลที่ ๓ หลังจากนั้นอีก ๑๒ ปี พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจึงได้รับการจัดตั้งขึ้นในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๕

สำหรับบางประเด็นของข้อผิดพลาดของการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำระดับมันสมองของคณะราษฎร ได้เขียนไว้ในหนังสือ “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนายน” แล้ว ผู้สนใจใคร่รู้ละเอียดกรุณาหาอ่านได้ (พิมพ์ครั้งล่าสุดโดยสำนักพิมพ์แม่คำผาง)

แต่ความจริงแท้ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในแต่ละสถานการณ์และแต่ละห้วงเวลา มีผู้บันทึกและวิเคราะห์ไว้หลายแง่มุมและหลายเล่มหนังสือซึ่งประชาชนไทยผู้รักประชาธิปไตยจะได้ศึกษาเพื่อเก็บรับเป็นบทเรียนต่อไป

อุดมการณ์สวนทางอย่างยากจะประสานกันได้

สิ่งที่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ นำมาสู่สังคมประเทศไทย นอกจากคำว่า “ประชาธิปไตย” แล้ว ก็มีคำว่า “รัฐธรรมนูญ” และ “การเลือกตั้ง” คำเหล่านี้เป็นคำใหม่ และมีความหมายใหม่ที่แตกต่างไปจากการปกครองระบอบเก่า ซึ่งราษฎรไทยคุ้นเคยมานาน นั่นคือการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก”, “เจ้าเมืองปกครองไพร่เมือง” และสูงสุดคือ “พระเจ้าแผ่นดินปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน” เป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งจากบนลงสู่ล่าง ดังกล่าวมาแล้วในบทก่อน

ส่วนระบอบประชาธิปไตย อาศัย “รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎหมายสูงสุดในการกำหนดกติกาการใช้อำนาจ ประชาชนมีสิทธิในการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปบริหารประเทศ เป็นวิธีการปกครองจากล่างสู่บน

อุดมการณ์และวิธีการปกครองสองระบบนี้จึงแตกต่างกันสุดขั้ว และสวนทางกันโดยแท้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดและการดำเนินการยากจะหาทางประสานกันได้ จึงน่าคิดว่า การที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรไม่ถูกต่อต้านทันทีในระยะแรก อาจเนื่องจากฝ่ายคณะเจ้ารู้ความลับ และส่งคนของตนเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของคณะราษฎรมาแต่แรกเริ่มและได้ตระเตรียมการรับมือเป็นอย่างดี แทนการตอบโต้รุนแรงในทันที กลับใช้วิธียืดหยุ่นพลิกแพลงทำนองถือคติ “น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ” แล้วค่อย ๆ หาวิธีแทรกแซงแบ่งแยกบั่นทอนกำลังของฝ่ายคณะราษฎรให้อ่อนแอลงไป จนกระทั่งเกิดความแตกแยกขัดแย้งกันในที่สุด

หรือหากมิใช่การต่อสู้ของสองขั้วอำนาจ ก็อาจดำเนินไปตามธรรมชาติของความขัดแย้งทางความคิดและการเมือง เป็นเรื่องใหม่ของทั้งสองฝ่าย ที่ยังขาดประสบการณ์ จึงไม่อาจเอาชนะกันโดยเด็ดขาดได้ ประกอบกับอุปนิสัยประนีประนอมของคนไทย ทำให้การเมืองไทยดำเนินมาแบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ เหมือนดังข้อเขียนของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ฯ-อ้างแล้ว) ที่พูดถึงวัตถุประสงค์ของคณะราษฎรข้อที่ ๑ ว่า “เปลี่ยนการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย” ซึ่งก็คือมีทั้ง “ราชาธิปไตย” กับ “ประชาธิปไตย” ดำรงอยู่คู่กัน โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นตัวเชื่อมประสาน

แต่บังเอิญว่า ตัวเชื่อมประสานอย่างรัฐธรรมนูญนั้นถูกฉีกทิ้งบ่อยเหลือเกิน ทำให้ทำหน้าที่เชื่อมประสานได้ไม่ต่อเนื่อง ยามใดที่ขั้วอำนาจทั้งสองเกิดความขัดแย้งถึงขั้นวิกฤติก็มักโยนความผิดไปให้ “รัฐธรรมนูญ” ว่าเป็นตัวปัญหา รัฐธรรมนูญจึงถูกจับเป็นตัวประกันเรื่อยมา และมีหน้าตาปุปะจนดูไม่ได้ !

สภาพอีสาน จำนวนประชากร และเกณฑ์กำหนดจำนวนผู้แทนราษฎร

ก่อนจะกล่าวถึงการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญสยามฉบับถาวร (๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕) ซึ่งจัดให้มีขึ้นในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ ควรจะสำรวจสภาพอีสานจำนวนประชากร และเกณฑ์กำหนดจำนวนผู้แทนราษฎรตามกฎหมายเสียก่อน

สภาพทั่วไปของอีสานในช่วงก่อนจะมีการเลือกตั้งก็ยังมีสภาพไม่ต่างไปจากก่อนหน้านี้ คือราษฎรส่วนใหญ่ทำนา โดยอาศัยธรรมชาติฝนฟ้าเป็นหลัก ปีไหนฝนดีก็ได้ข้าวดี ปีไหนฝนแล้งก็ได้ข้าวน้อย แต่เนื่องจากผลิตเพื่อบริโภคมากกว่าผลิตเพื่อขาย เกษตรกรจึงพอยังชีพอยู่ได้ จะเดือดร้อนก็เรื่องไม่มีเงินเสียภาษีให้รัฐ

ต่อเมื่อคนจีนขยายตัวไปอยู่ตามหัวเมืองน้อยใหญ่เพิ่มขึ้น และเมื่อทางรถไฟขยายไปถึงอุบลราชธานีในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ พ่อค้าคนจีนไปตั้งฉางรับซื้อข้าวอยู่ริมทางรถไฟ เพื่อบรรทุกลงไปขายที่กรุงเทพฯ (การเมืองสองฝั่งโขง-ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์-อ้างแล้ว) การผลิตข้าวเพื่อขายตามแถบน้ำมูลจึงขยายตัวมากขึ้น ในลำน้ำชีก็มีเรือบรรทุกข้าวล่องลงไปสู่ลำน้ำมูล แล้วส่งขึ้นรถไฟที่อุบลฯ นอกจากนั้น คนจีนยังขยายไปสู่การค้าของชำ ค้าของป่าและอื่น ๆ กระตุ้นคนอีสานให้ค้าตาม แต่คนอีสานค้าม้า ค้าวัวควาย ต้องไปขายยังภาคกลาง เป็นนายฮ้อย คนไม่มีอะไรขายก็ไปขายแรงงานยังต่างถิ่น หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ คนอีสานมักไปเที่ยวรับจ้างเกี่ยวข้าวแถบภาคกลางถึงหน้านาก็กลับบ้านทำนา เป็นแรงงานหมุนเวียนตราบถึงรุ่นลูกหลานในปัจจุบัน

ในการเลือกตั้งผู้แทนครั้งแรกจะใช้การสำรวจสำมะโนครัวในปี ๒๔๗๒ เป็นเกณฑ์ เพื่อกำหนดจำนวนผู้แทนราษฎรตามกฎหมาย คือใช้อัตราประชากร ๒๐๐,๐๐๐ คนต่อผู้แทน ๑ คน หรือให้มีผู้แทนจังหวัดละ ๑ คน จังหวัดใดมีราษฎรเกินกว่าสองแสน ถ้ามีเกินถึง ๒๐๐,๐๐๐ คน ก็ให้มีผู้แทนได้อีก ๑ คน เศษไม่ถึงสองแสนไม่นับเป็นเกณฑ์ จำนวนประชากรของภาคอีสาน จากการสำรวจในปีดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ ๓๓.๘ ของจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ ๑๑,๕๐๖,๒๐๗ คน (การเมืองสองฝั่งโขง-อ้างแล้ว)

ในปีเดียวกันนั้น จำนวนชาวจีนในภาคอีสานมีถึง ๑๔,๙๓๓ คน กระจายกันอยู่ตามเมืองที่มีทางรถไฟผ่าน และในปี ๒๔๗๐ มีถนนตัดจากอำเภอบ้านไผ่จังหวัดขอนแก่น ผ่านมหาสารคาม ร้อยเอ็ดยโสธร ไปเชื่อมกับทางรถไฟที่อุบลราชธานี ทำให้เศรษฐกิจการค้า การคมนาคมขยายตัวมากขึ้น

จำนวนคนจีนที่เพิ่มมากขึ้นนี้ นอกจากมีบทบาททางการค้า ทางเศรษฐกิจ อันเป็นรากฐานสำคัญของสังคมแล้ว ก็จะมีบทบาทสำคัญต่อการเมืองในระบบเลือกตั้งในภาคอีสานต่อไป

ส่วนในด้านการศึกษานั้น แม้จะมีประกาศใช้ พ.ร.บ. ประถมศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. ๒๔๖๔ ในรัชสมัย ร. ๖ แต่ในมณฑลอีสาน ซึ่งมีตำบลทั้งหมด ๓๗๖ ตำบล มีเพียง ๒๗ ตำบลเท่านั้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๗๔ จำนวนตำบลในอีสานเพิ่มขึ้นเป็น ๖๗๐ ตำบล ประกาศใช้ พ.ร.บ. ๖๖๙ ตำบล ถือว่าครอบคลุม (การเมืองสองฝั่งโขง-อ้างแล้ว)

คุณภาพในการใช้สิทธิการเลือกตั้งของราษฎรไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพในการศึกษาเสียทีเดียว แต่การศึกษาที่สูงกว่าระดับประถมคือถึงระดับมัธยมในขณะนั้น นับว่ามีน้อยมากในชนบทไทย ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งแรกเป็นต้นมา ในหมายเลขหรือเบอร์ประจำตัวผู้สมัคร นอกจากใช้เลขไทยแล้วยังใช้จุดกลม ๆ สีดำคล้ายลูกหนามเล็บเหยี่ยว ซึ่งคนอีสานเรียก หนามเล็บแมว กำกับด้วยเพื่อให้ชาวบ้านนับแทนเลขหมายของผู้สมัคร จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ผิดตัวผู้สมัครที่ตัวเองประสงค์จะเลือก

“คำหมาน คนไค” เจ้าของนวนิยาย “ครบ้านนอก” อันโด่งดัง พูดกับพรรคพวกผู้เป็นนักการเมืองทางอุบลราชธานีบ้านเกิดเป็นทีเล่นว่า “ตราบใดการใช้สิทธิของประชาชนยังนับหนามเล็บแมวอยู่ ผมจะไม่ลงเลือกตั้งโดยเด็ดขาด” คงพูดถึงคุณภาพการศึกษาของประชาชนว่ายังไม่ถึงขั้นนั่นเอง !

ที่มาของผู้อาสาจะเป็นผู้แทนราษฎร

สำหรับกลุ่มบุคคลผู้มีโอกาสในการสมัครเข้าไปมีตำแหน่งทางการเมือง ทั้งระดับท้องถิ่น (ผู้แทนตำบล) และในระดับชาติ (ผู้แทนราษฎร) ในระยะแรกของการเลือกตั้ง ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ แห่งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประมวลไว้ในหนังสือการเมืองสองฝั่งโขง ดังนี้

๑. กลุ่มเจ้านายท้องถิ่นเดิม
กลุ่มเจ้านายท้องถิ่นเดิมถูกลดทอนอำนาจลงจากการปฏิรูปการปกครองหัวเมือง ก็ปรับตัวเองเข้าสู่ระบบราชการแบบใหม่ โดยผ่านช่องทางทางการศึกษา คือส่งบุตรหลานเข้าไปเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ สำเร็จแล้วกลับมารับราชการ ซึ่งยังขาดแคลนผู้มีการศึกษาสูงอยู่มาก นอกจากนั้น ก็ผันเข้าสู่การเมืองโดยการสมัครเลือกตั้ง เช่น นายเลียง ไชยกาล แห่งอุบลฯ, นายทองม้วน และนายบุญช่วย อัตถากร แห่งมหาสารคาม, นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ แห่งขอนแก่น เป็นต้นนักการเมืองเหล่านี้ล้วนเป็นลูกหลานของเจ้าเมืองหรือเจ้านายท้องถิ่นเดิม ที่ผันตัวเองเข้าสู่การเมืองโดยการเลือกตั้ง

อีกช่องทางหนึ่งก็คือแต่งงานกับลูกหลานเชื้อสายเจ้าเมืองท้องถิ่น เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ แต่งงานกับ นางบังอร ธิดาของ เจ้าจุ้ย ณ จำปาศักดิ์ และเป็นหลานตาของ พระเทพวงศา เจ้าเมืองเขมราฐคนสุดท้าย นอกจากนั้นชนชั้นนำในท้องถิ่นยังปรับตัวไปทางค้าขาย ขยายฐานเศรษฐกิจไปแต่งงานกับชาวจีน หรือเสริมฐานะทางสังคมด้วยการแต่งงานกับข้าราชการและเจ้านาย ทำให้มีโอกาสดีกว่าคนระดับล่างในการเข้าสู่การเมือง

๒. กลุ่มข้าราชการแบบใหม่
จากการปฏิรูประบบราชการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เกิดข้าราชการแบบใหม่ขึ้น ซึ่งได้รับการศึกษาดีมีความรู้ ก่อนเข้าสู่ระบบราชการ ทั้งข้าราชการเก่าและข้าราชการใหม่เข้าสู่การเมืองได้โดยการสมัครเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร ที่ยังรับราชการก็มีบทบาทต่อนักการเมืองและต่อการเลือกตั้ง โดยมิอาจละเลยได้ แต่ส่วนใหญ่เป็นฐานกำลังของฝ่ายอนุรักษนิยม

๓. กลุ่มพระสงฆ์อีสาน
ก่อนระบบการศึกษาแบบโรงเรียนจะเข้ามามีบทบาทในชุมชนตำบลหมู่บ้านอีสานนั้น การศึกษาในวัดมีบทบาทสำคัญมาก วัดเป็นที่ตั้งสำนักเรียนของภิกษุและสามเณร และจัดการเรียนการสอนให้กับอนุชนลูกหลานชาวบ้านด้วย ในอดีตเด็กวัดได้ดิบได้ดีกันหลายคน พระสงฆ์-สามเณร เมื่อเรียนธรรม-บาลี จนเป็นมหาเปรียญ สึกออกมาเป็นปัญญาชน เป็นผู้นำชุมชน สามารถสมัครเป็นผู้แทนตำบล หรือไต่เต้าเข้าสู่การเมืองระดับชาติเป็นผู้แทนราษฎรได้ก็มีหลายคน เป็นต้นว่ามหาชวินทร์ สระคำ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด ยุคหลัง ๒๕๐๐ มหากุเทพ ใสกระจ่าง ของพรรคไทยรักไทย เป็นต้น เป็นเจ้าเมืองก็มี เช่น พระยาอุดรธานีอดีตผู้ว่าอุดรฯ มาจากการบวชเรียนเป็นเปรียญ

ลูกหลานชาวนายากจน อาศัยบวชเรียนยกระดับความรู้และฐานะทางสังคมของตน มีมาตั้งแต่สมัยอดีตตราบเท่าปัจจุบัน ผู้บวชไม่สึกเอาดีทางพุทธศาสนา ได้รับตำแหน่งชั้นยศเป็นเจ้าคุณชั้นต่าง ๆ กระทั่งเป็นสมเด็จก็มี เช่น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เป็นอาทิ

พระสงฆ์อีสานไม่ได้เล่นการเมือง (เพราะมีข้อห้าม) แต่ก็มีบทบาทนำทั้งในด้านการศึกษาและด้านสังคม กระทั่งความคิดทางการเมืองที่ดี มีคุณธรรม และก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างจากนักการเมืองชั้นแนวหน้าของอีสานแต่อย่างใด เช่น หลวงพ่อพระพิมลธรรม (อาจ อาสภะ) ถูกเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จับขังคุกข้อหาคอมมิวนิสต์ ทั้งที่ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด เรื่องนี้จะนำเสนอเป็นบทหนึ่งอีกต่างหาก

๔. กลุ่มพ่อค้านักธุรกิจอีสาน
พ่อค้านักธุรกิจอีสานส่วนใหญ่เป็นชาวจีนระยะแรกของระบบใหม่ยังไม่เข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรงมากนัก อาจเป็นเพียงผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังผู้สมัครเลือกตั้งที่เป็นพรรคพวก และที่จะมีผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนส่วนชาวอีสานผู้เป็นพ่อค้านายฮ้อย และมองเห็นคุณค่าของการศึกษา ส่งบุตรให้เรียนสูงถึงขั้นมหาวิทยาลัย จบมาเป็นครูบาอาจารย์สอนหนังสือหรือรับราชการ แล้วผันตัวเองเข้าสู่การเมืองก็มีเช่น นายเตียง ศิริขันธ์ แห่งสกลนคร, นายฟอง สิทธิธรรม แห่งอุบลราชธานี เป็นต้นพ่อค้านักธุรกิจจะมีบทบาททาการเมืองมากขึ้นตามลำดับ ตามการพัฒนาทุนนิยมในประเทศไทย

๕. กลุ่มราษฎร
ดังได้กล่าวมาแล้วในบทก่อนว่า ราษฎรไทยคือฐานกำลังหลักของระบอบประชาธิปไตย คือเป้าหมายของคณะราษฎรที่จะปลุกปั้นขึ้นมา เพื่อแบกรับภารกิจในการสถาปนาประชาธิปไตยให้เป็นจริงขึ้นมาได้ แต่ในระยะแรกราษฎรไทยยังกระจัดกระจาย ยังไม่ได้รับการจัดตั้งเป็นกลุ่มก้อนที่เข้มแข็งยังไม่ได้รับการศึกษาในเรื่องประชาธิปไตยที่เป็นระบอบใหม่ การเข้าร่วมขบวนการประชาธิปไตยยังต้องรอเวลา

สำหรับราษฎรชาวอีสาน แม้จะผ่านประวัติศาสตร์อันขมขื่นมา พอจะมีสำนึกในทางการเมืองเรื่องปกครองตนเอง แต่ส่วนใหญ่ก็มีฐานะยากจนการจะส่งบุตรหลานให้เรียนสูงกว่าระดับประถมศึกษาจึงเป็นเรื่องยาก จะเข้าสู่การเมืองได้ก็เพียงเป็นผู้แทนตำบล เพื่อจะไปเลือกผู้แทนราษฎรอีกทอดหนึ่ง ตามกติกาในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๒ ประเภท คือประเภทที่ ๑ และประเภทที่ ๒ อย่างละครึ่ง ประเภทที่ ๑ เลือกทางอ้อมโดยผู้แทนตำบล ประเภทที่ ๒ ทรงแต่งตั้งโดยองค์พระมหากษัตริย์

ในระยะแรกของการเลือกตั้งตามระบอบใหม่ยังไม่มีผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากชนชั้นชาวนาเลยสักคน ในระยะต่อ ๆ มา แม้จะมีลูกหลานชาวนาได้เป็นผู้แทนราษฎรแต่ก็มีจำนวนน้อยเต็มที ทั้งนี้เนื่องจากระบบเลือกตั้งผู้แทนในประเทศไทยมิได้กำหนดสัดส่วน ส.ส. ตามจำนวนประชากรของแต่ละกลุ่มชน เช่นว่าชาวนาเป็นคนหมู่มากก็ให้มี ส.ส. มาก ดังนี้

การเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนตามรัฐธรรมนูญในฉบับต่อ ๆ มา ก็ยังเป็นเพียงกติกาที่เอื้อให้กับคนที่ได้เปรียบในสังคม คือคนมีบารมี มีการศึกษาสูง ฐานะดี มีอำนาจเงินมากกว่าตัวแทนของคนยากคนจน หรือคนส่วนใหญ่มีโอกาสน้อยกว่าน้อย

ผู้แทนรุ่นแรกของอีสาน

รัฐบาล พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก พระยามโนปกรณ์ นิติธาดา (นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยตามระบอบใหม่) เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๗๖ จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนทั้งในระดับตำบลและระดับจังหวัดขึ้น

ผู้แทนราษฎรอีสานจากการเลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ มีทั้งหมด ๑๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๔.๓๕ ของผู้แทนทั้งประเทศ (ประเภทที่ ๑) ที่มีทั้งหมด ๗๘ คน (การเมืองสองฝั่งโขง-ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์-อ้างแล้ว)

ในจำนวน ส.ส.อีสาน ๑๙ คนนี้ มาจากบุคคลผู้เป็นข้าราชการทั้งข้าราชการบำนาญและข้าราชการประจำเป็นส่วนใหญ่ มีตำแหน่งเป็นขุน, หลวง, พระ, พระยา หรือตำแหน่งทางทหารตำรวจนำหน้าชื่อ ซึ่งคาดการณ์ได้ไม่ยากว่าท่านเหล่านี้เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นส่วนใหญ่

ที่มีชื่อโดดเด่นซึ่งต้องติดตามบทต่อไป ก็มีนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเลียง ไชยกาล ส.ส.รุ่นแรกของจังหวัดอุบลราชธานี และ นายสนิท เจริญรัฐ ส.ส.ผู้มีอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์จากนครราชสีมา เป็นต้น

ในบทต่อไป จะได้เขียนถึงบทบาทของนักการเมืองคนสำคัญของอีสานรุ่นแรก ๆ นอกจากนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเลียง ไชยกาล ส.ส.จากการเลือกตั้งครั้งแรกที่เอ่ยชื่อขึ้นมาแล้ว จะปรากฏชื่อ นายเตียง ศิริขันธ์ คนกล้าแห่งสกลนคร, นายจำลอง ดาวเรือง ดาวโรจน์แห่งมหาสารคาม, นายฟอง สิทธิธรรม ส.ส. ฝีปากกล้าแห่งอุบลราชธานีและ นายถวิล อุดล แห่งร้อยเอ็ด ฯลฯ ล้วนเป็นนักการเมืองแนวหน้าของอีสานและของประเทศไทย ซึ่งจะสร้างตำนานไว้ให้เล่าขานต่อไป โดยเฉพาะนายถวิล อุดล นั้น ถึงกับทำให้พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีจากฝ่ายคณะราษฎรลาออกจากตำแหน่งมาแล้ว


Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com