คนอีสานค้นหากันให้พ้อ

คนอีสานค้นหากันให้พ้อ

บทบรรณาธิการ : Editorials
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๕๔
ปีที่ ๕ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๕๙
ฉบับ: กู่กาสิงห์ : ๑๕ ปี / บุกเบิก / พัฒนา / แหล่งท่องเที่ยวทุ่งกุลาสู่สากล.

ได้ยินประโยคนี้ “คนอีสานค้นหากันให้พ้อ” ครั้งแรกจากปาก ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ เจา้ กรมราษฎรส่งเสริม เมืองบุรีรัมย์ รู้สึ้กตื่นเต้น ได้แง่คิดใหม่และติดค้างใจใคร่ขยายต่อ

“คนอีสาน” ในความหมายของครูบาสุทธินันท์ คือ คนที่มีความมานะ อดทน หมั่นเรียนรู้สู้หากิน เชื่อมั่นพลังตนเอง เชื่อมั่นและเชิดชูพวกพ้อง รักษ์ถิ่นฐานบ้านเกิด รักธรรมชาติ พิทักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ฝักใฝ่งานศิลปวัฒนธรรมและมีจิตสาธารณะ

“ค้นหากันให้พ้อ” เพราะเมื่อพบกันแล้วก็จะมั่นแก่นดังปั้นข้าวเหนียว ดังข้าวต้มมัด มีพลังแรงกายแรงใจและแรงคิด เพื่อสร้างฐานะครอบครัว แก้ไขปัญหาปากท้องร่วมกับปวงประชา และสร้างสรรค์บ้านเมือง โดยยึดราษฎรเป็นศูนย์กลางการพัฒนาพาประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง

โลกในยุคอาณานิคม ในยุคสงครามเย็นเมื่อ ๔๐ – ๕๐ ปีมาแล้ว กับโลกที่กำลังแบ่งขั้วสร้างฝ่ายกันใหม่วันนี้ กับประเทศของเราที่เปิดขยายตัวมาพร้อมสถานการณ์สงคราม มาถึงวันนี้ทั้งเมืองและชนบทกำลังปรับโครงสร้างพื้นฐานทุกมิติรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และตามแรงคลื่นกระแสทุนนิยมโลกที่พัดกว้านตลบไปทุกหย่อมหญ้า

เราคนไทยต้องเรียนรู้และเก็บรับบทเรียนร่วมกัน เมื่ออดีตคนเล็กคนน้อยไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร ไม่เห็นภาพรวม ไม่เข้าใจสถานการณ์ภายในประเทศตนและความเป็นไปของทั่วโลกผิดกับปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารไหลบ่าท่วมท้นหากเปิดใจดูฟังข่าวจากหลายสำนัก แล้วผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากเพื่อนมิตร ย่อมจะประมวลสรุปเป็นเบื้องต้นได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และเพื่ออะไร

ถ้าเปรียบเทียบขีดความเจริญก้าวหน้ากับบ้านใกล้เรือนเคียงส่วนมาก เมืองไทยเรายํ่าเท้าอยู่กับที่มานานหลายสิบปีดีดักแล้ว ถึงเวลาต้องปรับปรุงแก้ไขพร้อมกันไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โครงสร้างทางกายภาพ เช่น การคมนาคม อาคารบ้านเรือน สถานที่ทำการ และภูมิทัศน์ต่าง ๆ เราเห็นชัดถึงการรื้อสร้างขยายตัวแต่ที่สำคัญที่ต้องรื้อสร้างใหม่คือ ทัศนะ ความคิดจิตสำนึกให้ถูกต้องดีงาม ให้เกิดมีขึ้นดังนิยาม “คนอีสาน” ของครูบาสุทธินันท์

“คนอีสานค้นหากันให้พ้อ” คนภาคเหนือภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันตกและตะวันออกก็ต้องค้นหากันให้พบ

น้อมจิตคารวะ
บรรณาธิการอำนวยการ

 

Related Posts

เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]
ที่ บ้ า น ก็ มี
พุทธศาสนาเข้าสู่อีสาน…ในตำนานอุรังคธาตุ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com