บุญบั้งไฟ : ไร้รากเหง้า แต่จะเอาดอกผล
หลายฉบับแล้วที่ผมนําท่านผู้อ่านเปิดผ้าม่านกั้ง เพื่อให้ได้ “ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต” ตามปณิธานของ “ทางอีศาน” โดยเชิญท่านผู้อ่านมาร่วมมองงานประเพณีที่กําลังถูกทําให้เปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่คนอีสานใช้เป็นเครื่องมือในการตอบสนองความยั่งยืนของชีวิต และชุมชนระดับจุลภาค แต่ปัจจุบันประเพณีเหล่านี้ ได้ถูกผลิตซ้ำเพื่อสร้างรายได้ให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในระดับมหภาค และมีผลพลอยได้เป็นเม็ดเงินเล็กน้อยที่หมุนเวียนอยู่ในชุมชน แต่ถึงกระนั้น การใช้ทุนทางวัฒนธรรมจากประเพณีพิธีกรรมเหล่านี้ยังไม่อาจตอบโจทย์การสร้างชุมชนเข้มแข็งได้ดังเช่นอดีต และที่สําคัญการเข้ามาบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยว กลับสร้างความบอบชํ้าให้กับชีวิตและชุมชนที่เป็นผู้ประดิษฐ์สร้าง และสืบทอดทุนทางวัฒนธรรมเหล่านั้นอย่างเจ็บปวด ฉบับนี้จะชวนท่านผู้อ่านมาร่วมเปิดผ้าม่านกั้ง “บุญบั้งไฟ”
คันคาก บั้งไฟ ชัยชนะของความสามัคคี
บุญบั้งไฟ เป็นบุญประเพณีประจำเดือน ๖ ตามฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสาน แต่เดิมนิยมเรียกกันว่า “บุญเดือนหก” ซึ่งหากท่านไปร่วมชมขบวนแห่บั้งไฟในปัจจุบัน นอกจากจะตระการตากับบั้งไฟที่ประดับตกแต่งอย่างยิ่งใหญ่สวยงามแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ประกอบขบวนคือ “ท้าวผาแดงกับนางไอ่คํา” ที่นั่งมาบนม้าบักสามตามนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ผาแดง – นางไอ่” ที่อธิบายสาเหตุการล่มสลายของเมืองหนองหารหลวง เพราะชาวเมืองต่างไปกินเนื้อกระรอกด่อน ที่เป็นร่างจําแลงของท้าวพังคี พญานาคผู้มาหลงรักนางไอ่คํา ดูเหมือนว่าวรรณกรรมเรื่องผาแดงนางไอ่ จะเป็นเรื่องเล่าคู่กับบุญบั้งไฟอย่างแยกไม่ออก ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้มีเพียงเหตุการณ์ที่เจ้าเมืองต่าง ๆ ได้นําบั้งไฟมาแข่งพนันเพื่อชิงนางไอ่คํามาเป็นคู่ครอง แล้วจบลงด้วยโศกนาฏกรรมถึงขั้นบ้านเมืองพังพินาศ แม้ท้าวผาแดงจะร้องเตือนนางไอ่ว่า “เปนสังแท้ จั่งมากินกระฮอกด่อน เจ้าสังมาบ่ย้านเมืองบ้านสิหล่มหลวง แท้หนอ” แต่สุดท้ายเพราะความอยากของมนุษย์จึงทําให้นางไอ่คําต้องสังเวยชีวิตในที่สุด
อันที่จริง วรรณกรรมที่เกี่ยวกับบุญบั้งไฟที่อธิบายสาเหตุการทําบั้งไฟนั้นหาใช่เรื่องของการพนันชิงนางไอ่คําไม่ แต่เป็นเรื่อง “พญาคันคาก” หรือแปลให้คนภาคอื่นเข้าใจว่า “พญาคางคก” วรรณกรรมที่น้อยคนจะรู้ว่าได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ วรรณกรรมเรื่องนี้แพร่หลายทั้งในดินแดนล้านนาและล้านช้างในอดีต สําหรับท้องถิ่นอีสานในอดีตเมื่อเกิดภาวะฝนแล้งจะนําเอาเรื่องพญาคันคากมาเทศน์ในพิธีการขอฝนของชุมชน
คัมภีร์ใบลานเรื่องพญาคันคากเคยมีพบทั่วไปในวัดต่าง ๆ ทั่วภาคอีสาน ปรากฏรายการในบัญชีการสํารวจเอกสารโบราณของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับวิทยาลัยครูในภาคอีสานเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ เท่าที่ผมติดตามศึกษาพบว่ามีสํานวนเดียว แต่มีการคัดลอกต่อ ๆ กันมาและแพร่หลายไปยังที่ต่าง ๆ ทำให้มีการผิดเพี้ยนกันบ้าง คัมภีร์ใบลานเรื่องพระยาคันคากมีความยาวประมาณ ๕ – ๖ ผูก จารึกด้วยอักษรตัวธรรมอีสาน
เนื้อเรื่องพอสังเขปของพญาคันคากมีว่า พญาคันคากเป็นพระโพธิสัตว์ที่อุบัติมาในยุคที่ผู้คนนับถือพญาแถน แต่ด้วยบุญบารมีของพญาคันคากที่ปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม ทําให้ผู้คนทั้งหลายหันไปเคารพนับถือฟังธรรมคําสอนจากพญาคันคาก และไม่ยอมเคารพเซ่นสรวงบวงพลีต่อพญาแถน เป็นเหตุให้พญาแถนโกรธแค้นไม่ยอมให้พญานาคทั้งหลายไปเล่นน้ำในสระเมืองแถน ถึงตอนนี้ขออธิบายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการเกิดฝนของคนอีสานโบราณว่า ฝนนั้นเกิดจากการที่หมู่พญานาคไปขอเล่นนํ้าที่สระของพญาแถน การเล่นน้ำของพญานาคทำให้น้ำกระฉอกออกนอกสระกลายเป็นฝน ดังในเรื่องที่ว่า
“แถนก็คึดเคียดแค้นคักคากฤทธิเฮือง บ่ให้นาโคลอยดีดหางลงเล่น บันดาลให้โบกขรณีพญานาคบ่ให้ลอยเล่นนํ้าฝั่งกว้างแม่นที บังเกิดอนตายฮ้อนชลทานน้ำเขินขาด ฝนบ่ตกหยาดย้อยฮ้ำพื้นแผ่นดินเจ้าเอย”
ดังนั้น เมื่อพญาแถนไม่ยอมให้นาคลงไปเล่นน้ำนานถึงเจ็ดปีเจ็ดเดือนเจ็ดวัน จึงเป็นเหตุให้เกิดภัยแล้ง ข้าวกล้า พืชผัก มนุษย์ และสัตว์ต่างล้มตายสัตว์ ทั้งหลายจึงมาขอให้พญาคันคากเป็นจอมทัพนำหมู่สัตว์ทั้งหลายขึ้นไปรบกับพญาแถนบนเมืองฟ้า จนในที่สุดพญาคันคากได้รับชัยชนะจากการทํายุทธหัตถีกับพญาแถนจึงได้คํามั่นสัญญาจากพญาแถนว่าจะยอมให้พญานาคมาเล่นนํ้าในสระตามฤดูกาล และมีข้อตกลงว่าให้มนุษย์จุดบ้ังไฟขึ้นไป เป็นสัญญาณเตือนพญาแถนเมื่อถึงฤดูทํานา
บั้งไฟจึงทำหน้าที่เป็นเครื่องส่งสัญญาณสื่อสารระหว่างมนุษย์กับพญาแถน และเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะของความสามัคคีของสรรพสัตว์ ทั้งหลายที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังใจที่มุ่งมั่น พลังปัญญาที่เฉียบแหลม และพลังแห่งความสามัคคีที่แข็งแกร่ง ทําให้ได้ชัยชนะในการทําสงครามกับพญาแถน
ในยุคที่ชาวนาอีสานต้องอาศัยนํ้าฟ้าในการทําเกษตรกรรม วรรณกรรมเรื่องพญาคันคากได้กลายเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจ และปลอบปลุกพลังชุมชนให้กล้าเผชิญกับปัญหาธรรมชาติโดยอาศัยแผ่นดินเกิดเป็นที่มั่นไม่ทิ้งถิ่นฐานไปแสวงหาความหวังในแผ่นดินใหม่
แก่นสารและปรัชญาที่แท้จริงของบุญบั้งไฟ จึงไม่ใช่เรื่องของการพนันชิงสาวงาม แต่เป็นเรื่องราวการใช้ความสามัคคีในสภาวะที่ประสบปัญหาร่วมกัน เกิดเป็นแรงผลักเชิงบวกในการต่อสู้ กับความโหดร้ายของธรรมชาติ หรืออาจรวมถึงความโหดร้ายจากการกดขี่อันเป็นความสัมพันธ์เชิงอํานาจของผู้ปกครองที่ขาดคุณธรรม
แม้ว่าหลักฐานคัมภีร์ใบลานจะจารึกวรรณกรรมเรื่องพญาคันคากไว้ในฐานะนิทานชาดก คืออ้างว่า เป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดเมื้อพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตและชุมชนชาวอีสาน แต่จากหลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบัน เราสามารถแกะรอยเรื่องราวของพญาคันคากไปได้ไกลถึงยุคก่อนที่สังคมอีสานจะได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนา ซึ่งแต่เดิมนิทานคันคากคงเป็นเรื่องเล่าตามแนวคิดการบูชากบของกลุ่มคนไทที่เรียนรู้สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ดังที่หลายคนมักจะได้ยินเรื่องราวของพิธีบูชากบของชาวจ้วง หรือภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ตามผนังถ้ำที่สันนิษฐานกันว่าเป็นท่าเต้นกบในพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ โดยชุมชนใช้กบ เขียด คันคาก เป็นตัวแทนของการได้มาซึ่งน้ำฟ้าอันเป็นปัจจัยการผลิตหลักของชุมชนเกษตรกรรมยุคที่ยังไม่มีการชลประทาน
ในวันนี้เรื่องราวของพญาคันคาก บั้งไฟ อาจจะไม่สามารถตอบสนองเรื่องขวัญกําลังใจของ “ผู้ประกอบธุรกิจผลิตข้าว” ที่หันหลังให้กับความเป็น “ชาวนา” แต่ผมยังคิดว่าเรายังสามารถนำสาระอื่นในเรื่องมาใช้เป็นสื่อสําหรับสร้างทุนทางวัฒนธรรมให้ชาวอีสาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งชุมชนผ่านกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะประเด็นชัยชนะจากความสามัคคี แต่จะนำเสนอรูปแบบไหนคงต้องแล้วแต่บริบทชุมชน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสังคมจะมีความซับซ้อนมากขึ้น แต่ความเข้มแข็งจะเกิดไม่ได้หากขาดความสามัคคี ความสามัคคี ที่ต้องไม่มีข้อจำกัดไม่มีชนชั้นวรรณะ และที่สําคัญทุกคนจะต้องมีเป้าหมายเดียวกันคือเห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่ปล่อยให้นิทานพญาคันคากอันเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กลายเป็นแต่เพียงเรื่องเล่าของผู้เฒ่าที่ไม่มีความหมายอะไรกับโลกยุคโลกาภิวัตน์
รากเหง้าชาวอีสาน
นอกจากนิทานปฐมเหตุแห่งบุญบั้งไฟแล้ว ตัวประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับบุญบั้งไฟเองยังต้องการให้เราทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ก่อนที่จะพัฒนากันจนไร้รากไร้ทิศทาง เพียงเพื่อการนําไปผลิตสร้างความยิ่งใหญ่ แปลกใหม่เพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยวแบบไร้รสนิยมที่เกริ่นไว้เช่นนี้ เพราะหลายครั้งที่ผมถามถึงภาพในจินตนาการเกี่ยวกับบุญบั้งไฟนอกจากจะได้รับการอธิบายถึงความสวยงามของบั้งไฟและขบวนแห่แล้ว ผมจะได้รับข้อมูลการฉายภาพความบันเทิงแบบหลุดโลกสุรายาเสพติดรวมถึงการเล่นการพนันกันอย่างเอาเป็นเอาตายของเซียนพนันบั้งไฟทั้งหลาย โดยไม่ไยดีกับแก่นสารของบุญบั้งไฟในฐานะที่เป็นรากเหง้าชาวอีสานที่ดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย
บุญบั้งไฟเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมแถนอันเป็นความเชื่อดั้งเดิมก่อนศาสนาพุทธกับพราหมณ์จะเข้ามาในดินแดนสองฝั่งโขง โดยเฉพาะวัฒนธรรมพุทธศาสนาที่สามารถเข้ามากลมกลืนกับความเชื่อดั้งเดิมได้อย่างแนบสนิท พญาแถนเจ้าฟ้าจึงถูกแปลงให้เป็นพระอินทร์ มหาเทพผู้พิทักษ์ ปกป้องพุทธศาสนา ในขณะเดียวกัน ตัวละครหลายตัวยังถูกแปลงให้เป็นพระโพธิสัตว์ผู้ซึ่งได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าในกาลปัจจุบัน ในที่นี้ รวมถึงพญาคันคากผู้หาญกล้าท้ารบกับพญาแถน บทบาทของพุทธศาสนาที่มีต่อชุมชนทําให้เกิดประเพณีที่เรียกว่า “ฮีตสิบสอง” ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานทำบุญทางพุทธศาสนาในรอบปี
อย่างไรก็ตาม “บุญบั้งไฟ” กลับยังคงเป็นวัฒนธรรมแถนเพียงหนึ่งเดียวที่ยังมีบทบาทเทียบเท่าบุญทางพุทธศาสนาอีก ๑๑ เดือนของชาวอีสาน บุญบั้งไฟจึงเป็นรากเหง้าสำคัญยิ่งที่เราควรถอดรหัสทุนทางวัฒนธรรมจากบุญนี้ สำหรับนำมารับใช้สังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งจะพบได้ว่า ในบุญบั้งไฟมีอัตลักษณ์หลายอย่างของชาวอีสานที่ถ่ายทอดสืบมา และเป็นพลังต่อรองทางสังคมที่สําคัญในทุกยุคสมัย สะท้อนถึงความสามัคคีมีใจปล่อยวาง และสร้างความมั่นคงทางจิตใจ
ความสามัคคี ทั้งที่เกิดจากการปลูกฝังผ่านวรรณกรรม และที่เกิดจากการร่วมพลังเพื่อเป็นอํานาจการต่อรองที่สําคัญต่อแถนหรือธรรมชาติ และอาจจะรวมถึงอำนาจกดขี่อื่น ๆ ด้วย เป็นอำนาจที่ทำให้แถนมีพื้นที่ยืนในวัฒนธรรมวิถีพุทธอย่างสง่างาม
มีใจปล่อยวาง รากเหง้าของบุญบั้งไฟ ไม่ได้เป็นบุญประเพณีที่นําสตรีมาแต่งตัวสวยงาม จัดขบวนฟ้อนรำที่อ่อนช้อยอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่เป็นการแสดงถึงความเป็นคู่ตรงข้าม ผู้ชายออกมาจัดขบวนเซิ้งแต่งกายด้วยชุดผู้หญิง นุ่งผ้าถุง นํากาบเซิ้งจากหนังสือเจียงที่เต็มไปด้วยเรื่องใต้สะดือออกมาขับลำกันอย่างเปิดเผย หุ่นชักคนร่วมสังวาส รูปจําลองอวัยวะเพศทั้งหญิงชายหลากหลายขนาดถูกนํามาประกอบขบวนอย่างสนุกสนาน หากมองด้วยสายตาของคนยุคปัจจุบัน คงรับไม่ได้กับภาพที่เห็น ถึงขั้นถูกจัดการให้หมดไปจากขบวนแห่บั้งไฟที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของราชการบ้านเมืองท่านให้เกียรติมาร่วมงาน แต่สำหรับความเป็นรากเหง้าของคนอีสานแล้วนี้คือความไม่ยึดติดไม่มีเพศสภาพ ไม่มีลามกอนาจาร และปล่อยวางแล้วซึ่งความกังวลของภัยธรรมชาติที่ไม่แน่นอน แต่พร้อมจะฝ่าฟันอย่างมุ่งมั่นและท้าทาย
สร้างความมั่นคงทางจิตใจ จากความสามัคคี และมีใจปล่อยวาง แม้ชีวิตและชุมชนอีสานจะรู้ว่าบั้งไฟ คันคาก บทสวด พิธีกรรม ไม่ได้นํามาซึ่งหลักประกันว่าปีนี้จะมีน้ำให้ทำนา แต่การที่ทุกคนเข้ามาประสานแรงกายแรงใจในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างรอฝนห่าแรกตกลงมาให้ได้ตกกล้าถือได้ว่า เป็นการสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับสมาชิกในชุมชนได้เป็นอย่างดีความเชื่อมั่นนี้จะชโลมหัวใจชาวนาผู้อ่อนล้าให้กลับชุ่มชื้นมีชีวิตชีวาเพราะรู้ว่าเขาไม่ได้เผชิญปัญหาอย่างเดียวดาย
ไร้รากเหง้า แต่จะเอาดอกผล
รากเหง้าชาวอีสานจากบุญบั้งไฟ จึงเป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตของชุมชนชาวนาอีสานในยุคที่ต้องอาศัยนํ้าฟ้าได้เป็นอย่างดีแต่น่าเสียดายในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านที่กําลังเข้ามา ชาวนาอาศัยนํ้าคลองชลประทาน บั้งไฟจึงไม่ตอบสนองความเข้มแข็งของชุมชนเกษตรกรรม แต่ด้วยสีสันที่งดงามกระแสการโหยหาอดีต และการจัดการทุนทางวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้า จึงได้ฟื้นบุญบั้งไฟกันอย่างยิ่งใหญ่ในทุกระดับ ภูมิปัญญาการเอ้บั้งไฟหายไปเพราะมีรถบั้งไฟเข้ามาแทน ซึ่งมีอัตราค่าเช่าตั้งแต่ราคาหลักพันถึงหลักแสน รูปแบบขบวนและพิธีกรรมที่เป็นรากเหง้าถูกตัดทอน เพราะถูกนักการตลาดประเมินว่าเป็นสื่อลามกและถูกแทนที่ด้วยขบวนสาวงามที่มาฟ้อนรําอย่างอ่อนช้อย ที่สําคัญชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมนี้ถูกจัดที่ให้เป็นเพียงส่วนประกอบของงาน เพื่อสนองความสําเร็จของวัตถุประสงค์การจัดงานดังที่ฝ่ายจัดการกล่าวรายงานต่อประธานในพิธี
เราจึงอย่าได้หลงกระแสมองหาแค่สิ่งที่จะขายเพราะจะได้แค่เรื่องการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ และหากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไร้รากเหง้า จะทําให้ผลิตภัณฑ์นั้นถึงจุดจบเร็วขึ้น เชื่อไหมว่าปัจจุบันบางอําเภอมีการจัดงานบุญบั้งไฟได้ยิ่งใหญ่กว่างานระดับจังหวัดเสียอีก เพราะสิ่งที่เป็นปัจจัยในการจัดคือเงินทุนไม่ใช่พลังชุมชนที่แท้จริง และยิ่งใหญ่ในที่นี้กลับกลายเป็นความยิ่งใหญ่ เชิงตัวเลข เช่น มีคนมากที่สุด มีบั้งไฟใหญ่ที่สุด เกิดรายได้มากที่สุด หรือแม้กระทั่งมีผู้เข้าประกวดนางไอ่คำมากที่สุด รายละเอียดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสถิติที่พร้อมจะถูกทําลาย ซึ่งหมายถึงความไม่ยั่งยืนและต้องถึงกาลอวสานในที่สุด
หากจะเก็บเกี่ยวดอกผลของบุญเดือนหก ต้องหันกลับไปทําความเข้าใจรากเหง้า พญาแถน พญาคันคาก ในฐานะระบบสัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ในบุญบั้งไฟ ที่ชาวอีสานสั่งสมมาจากประสบการณ์ของชีวิตโดยการสังเกตพฤติกรรมของธรรมชาติประกอบสร้างขึ้นเป็น “อุดมการณ์” สําหรับใช้ในการสร้างข้อยุติในปัญหาหรือวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตหรือสังคม ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ หรือภัยจากมนุษย์ แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า ปัญหาหรือวิกฤติการณ์เหล่านั้นตนต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แต่อุดมการณ์จากระบบสัญลักษณ์ที่ประกอบสร้างขึ้นนี้ได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนสําคัญที่ทําให้ชุมชนอีสานมีความเข้มแข็งเป็นชุมชนที่จะไม่มีวันยอมแพ้ และจํานน ซึ่งดูจะลงกันได้กับบทกวีที่ว่า “คือธาตุอันเป็นทิพย์ ที่ตายสิบจักเกิดแสน คือแก่นและคือแกน จักแกร่งอยู่กู้ยุคสมัย” ใน “คนทําทาง” ของ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
มาถึงวันนี้ลูกอีสานหลานพญาแถนทั้งหลายอย่าได้มองบุญบั้งไฟเป็นเพียงประเพณีสนุกสนานชั่วครู่ชั่วคราว ยิ่งในยุคที่นํ้าฟ้าไร้ความหมาย เพราะระบบชลประทานช่วยให้ทํานาได้มากกว่าปีละ ๑ หน พญาแถนหมดสิ้นความหมายเพราะไม่ได้เป็นผู้กำหนดฤดูทำนา แต่ประตูน้ำเขื่อนต่างหากเล่าที่เป็นผู้กําหนดฤดูทํานา ระบบคิดและโครงสร้างของสังคมถูกแยกส่วนประหนึ่งเครื่องจักรที่ไร้หัวใจจินตนาการที่จะทําให้เข้าถึงระบบสัญลักษณ์ถูกปิดกั้นด้วยระบบการศึกษาแบบหมาหางด้วนดังที่ท่านพุทธทาส อธิบายความว่า คือระบบการศึกษาที่มีแต่ความรู้ทางหนังสือรู้แต่อาชีพ ไม่มีธรรมะสำหรับให้มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องเช่นกัน การจัดประเพณีบุญบั้งไฟต้องไม่ลืมสร้างความเข้าใจว่านี่คือรากเหง้าของชาวอีสานในการรักษาเสถียรภาพทางสังคมในภาวะวิกฤติ การจัดบุญประเพณีต้องมีการส่งต่อรากเหง้าความคิด ไม่เช่นนั้นจะติดหล่มและพบทางตัน
คงถึงเวลาที่เราต้องเปิดผ้าม่านกั้งตั้งใจไปหาพญาคันคาก เพื่อให้นําทัพไปสู่พญาแถนอีกสักครา ยิ่งมีข่าวประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ ถึงปัจจุบัน ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบในวงกว้าง มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้ง ๓๔ จังหวัด ๒๑๑ อำเภอ ๑,๑๓๖ ตำบล ๑๐,๒๘๘ หมู่บ้าน น้ำในอ่างเก็บน้ำในทั่วประเทศมีเพียงร้อยละ ๕๓ ของความจุ ปีนี้ดอกยาง ดอกสะแบง ดอกจิก ดอกฮัง มีมากกว่าทุกปีเป็นสัญญาณว่าปีนี้จะทั้งแล้งทั้งลม ถ้าเช่นนั้นคงหนีไม่พ้นภาวะข้าวยากหมากแพง และคงถึงเวลาที่เราลูกอีสานหลานพญาแถนต้องรวมพลังสามัคคีไปรบกับพญาแถนเพื่อให้ได้น้ำฟ้ามาแก้ปัญหาแล้วกระมัง
***
คอลัมน์ เปิดผ้าม่านกั้ง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๗ | พฤษภาคม ๒๕๕๘
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220