วัฒนธรรม อาวุธคนยาก

เจมส์ ซี สก็อต เป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเยล เขียนหนังสือสำคัญไว้สองเล่มเล่มเล็กชื่อ เศรษฐกิจคุณธรรมของชาวนา (The Moral Economy of the Peasants) เขียนจากประสบการณ์ที่ไปทำงานวิจัยที่ประเทศพม่าเมื่อประมาณ ๔๐ ปีที่แล้ว

เล่มที่สอง เป็นผลงานวิจัยเล่มโตที่เขาไปทำที่รัฐเคดะห์ มาเลเซีย ที่เดิมคนไทยเรียกว่าไทรบุรี มีคนเชื้อสายไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เล่มนี้ให้ชื่อว่า อาวุธคนยาก รูปแบบการต่อต้านประจำวันของชาวนา (Weapons of the Weak, Every Day Form of Peasants’ Resistance)

อาจารย์สก็อตชอบแวะมาคุยกับผมที่ธรรมศาสตร์เมื่อมาวิจัยในภูมิภาคนี้ เขาอยากทราบความเป็นไปของชาวนาไทย เนื่องจากผมไปทำงานที่หมู่บ้านจึงมีข้อมูลแลกเปลี่ยนกับเขา จนกลายเป็นเพื่อนที่ติดต่อกันมาจนถึงวันนี้

เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว อาจารย์สก็อตส่งหนังสือเล่มโตเรื่องอาวุธคนยากมาให้ พร้อมกับเขียนประหนึ่งคำอุทิศว่า “คุณรู้ไหม อาวุธอันเดียวที่เหลืออยู่ของคนยาก คือ วัฒนธรรม” ผมตอบขอบคุณและบอกเขาว่า ผมรู้และเชื่อเช่นนั้น

ประสบการณ์ของ “อินแปง” เป็นอะไรที่ค่อนข้างพิเศษ เพราะมีรายละเอียด ความต่อเนื่อง และมีพลังอย่างสำคัญต่อแนวคิดเรื่องการพัฒนาชุมชน เพราะได้แสดงให้เห็นพลังของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นรากฐานของการฟื้นฟูชุมชนที่กำลังเสื่อมสลายในนามของการพัฒนาให้กลับมายืนและเดินหน้าได้ด้วยตัวเอง เหมือนอย่างที่เคยทำได้ในอดีต

อินแปงเริ่มต้นที่บ้านบัว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ผู้คนที่นี่เป็นชาวกะเลิง ที่บรรพบุรุษอพยพย้ายถิ่นมาจากมหาชัย (ปัจจุบันอยู่ที่แขวงคำม่วน ไม่ไกลจากท่าแขก สปป.ลาว) แต่วัฒนธรรมท้องถิ่นก็เริ่มเลือนลางเหมือนกับชาติพันธุ์อื่น ๆ ในภาคอีสาน ประหนึ่งกำลังถูก “กลืน” และ “กลายพันธุ์” โดยวัฒนธรรมที่แข็งกว่า (คือวัฒนธรรม “ไทย” ที่จอมพล ป.พิบูลสงครามและหลวงวิจิตรวาทการ พยายามทำให้เป็น “ไทย” และเป็น “สากล” ในเวลาเดียวกันเพื่อแสดงให้เห็นว่าเจริญและพัฒนา ไม่ล้าหลังและโบราณ)

ผมส่ง ธวัชชัย กุณวงษ์ หรือเอก ขึ้นไปอยู่บ้านบัวเพื่อทำงานพัฒนาโดยอาศัยพลังทางวัฒนธรรมเป็นหลัก เอกจบพัฒนาชุมชนที่วิทยาลัยครูสกลนคร ได้รับการปฐมนิเทศแบบเข้มข้นเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาแนวใหม่จากผมและคณะ คนละแนวกับทฤษฎีสากลและการพัฒนากระแสหลัก

เอกต้องขึ้นไปอยู่กับชาวบ้านไม่ใช่ในฐานะ “นักพัฒนา” แต่ในฐานะผู้เรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน ให้ไปถามชาวบ้านว่าเป็นใครมาจากไหนทำไมถึงลำบากยากจน ไม่มีข้าวกิน ทั้ง ๆ ที่อยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์อย่างภูพาน คำถามช่วยให้ชาวบ้านทบทวนอดีต จนภาพจิ๊กซอต่าง ๆ เริ่มประกอบเข้าเป็นประวัติศาสตร์ชุมชน ทำให้พวกเขามองเห็นตัวตน รากเหง้าเผ่าพันธุ์ และพัฒนาการ สาเหตุที่มาของปัญหาหนี้สินและความยากจน รวมทั้งทำให้มองเห็น “ทุน” และ “ศักยภาพ” ของตนเอง ที่ถูกปิดบังไว้ด้วยความไม่รู้และถูกครอบงำจากการพัฒนาที่บิดเบี้ยวเหมือนภูเขาที่ถูกบังด้วยเส้นผม

ชาวบ้านกลับไปทบทวนว่าปลูกปอเมื่อไรได้กำไรและเจ๊งเมื่อไร ปลูกมันสำปะหลังล้มเหลวอย่างไร จนถนนมาไฟฟ้าเข้า และเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ ปัญหาหนี้สินที่ทับถมและไม่มีทางออก

พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นเป็นผู้นำในการเรียนรู้และการ “กลับลำ” ครั้งสำคัญ เขามักเล่าให้ใครต่อใครที่ไปเรียนรู้ดูงานหรือเมื่อขึ้นเวทีอภิปรายว่า พวกเขากลับไปเรียนรู้ว่า ทำไมพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่เป็นหนี้แต่ยังอยู่ได้ และเลี้ยงเรามาจนโต พวกเขาอาจไม่สะดวกสบายเหมือนเราที่มีน้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ แต่ก็มีความสุขมากกว่า ไม่มีหนี้ ไม่มีทุกข์

ชาวบ้านตั้งคำถามที่ฟังดี ๆ ไม่ตลกว่าอยากกินไก่ทำไมไปปลูกยูคา ทำไมไม่เลี้ยงไก่เอาแต่ก้มหน้าก้มตาหาเงินไปซื้ออาหารมากินทั้ง ๆ ที่ทำเองได้ ไม่มีเงินซื้อก็ไปกู้เขามาซื้อแทนที่จะทำกินเอง

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของชาวกะเลิง บ้านบัว ยืนยันแนวคิดของ ฟรันซ์ โบอาส นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน (๑๘๕๘-๑๙๔๒) ที่บอกว่า คนไม่มีอดีตเป็นคนไม่มีอนาคต คนไม่รู้ที่มาก็ไม่รู้ที่ไป คนไม่มีรากเหง้าจะถูกเขาครอบงำ และกำหนดอนาคตให้หมดเลย

คนอินแปงได้ค้นพบทุนชุมชนที่สำคัญ ๓ อย่าง คือ ทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา และทุนทางสังคม ซึ่งทั้งสามทุนล้วนเป็นองคาพยพเดียวหรือผสานกันเป็นองค์รวมในวัฒนธรรมหรือวิถีของชุมชน

ชาวบ้านกลับไปสืบค้นว่าในอดีตได้กินอยู่อย่างไร อาศัยธรรมชาติอย่างไร มีอะไรบ้างที่เคยกินเคยใช้ อะไรที่หายไปจะได้ฟื้นฟูให้กลับมา อะไรที่ยังอยู่ก็ช่วยกันอนุรักษ์ อย่างข้าวพันธุ์พื้นเมืองตั้งเกือบ ๓๐ สายพันธุ์ เหลือไม่กี่พันธุ์อย่างหวายที่อยู่เต็มป่าก็เอาไปขายหมด แม้จะกินเองก็ไม่มี

ยกมาแค่สองตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่า ทำไมข้าวพันธุ์เมืองจึงกลับมา ทำไมหวายซึ่งหายไปจึงกลับมา ตอนฉลอง ๒๕ ปีอินแปง ประมาณกันว่า คนอินแปงได้เพาะกล้าหวายได้ไม่น้อยกว่า ๕๐ ล้านต้น ปลูกเอง กินเอง แจกบ้าง ขายบ้าง รวมทั้งพืชพันธุ์อื่น ๆ ที่พวกเขา “ยกป่ามาไว้บ้าน ยกภูพานมาไว้สวน”

วัฒนธรรมไม่ใช่เพียงเรื่องประเพณี การทำบุญ การร้องรำ แต่เป็นวิถีชีวิต เป็นความสัมพันธ์ทางกาย ใจ สังคม สิ่งแวดล้อมรวมกันเป็นความเชื่อ ความรู้ ปัญญา คุณธรรม ความไว้ใจที่ร้อยรัดผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียว เป็นพี่เป็นน้อง เป็นครอบครัว เป็นชุมชน ที่ทำให้เผ่าพันธุ์อยู่รอด

พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว ปลูกหวายไว้เต็มสวนส่วนใหญ่ตัดยอดมากินบ้าง ขายบ้าง บางส่วนก็ปล่อยให้โต เลื้อยขึ้นไปตามต้นไม้ เมื่อแก่แล้วก็ตัดไปฝากคนเฒ่าคนแก่ที่สานกระติบข้าว กระบุงตะกร้า วันหนึ่งก็มีคนเอาของใช้ในบ้านที่สานด้วยไม้ไผ่และประกอบด้วยหวายมาฝากพ่อเล็กคืนสู่เศรษฐกิจคุณธรรม

คุณหมอประเวศ วะสี ขึ้นไปเยี่ยมอินแปงถามพ่อเล็กว่า กล้าหวายเล็กๆ ในถุงดำขายยังไงพ่อเล็กบอกว่าต้นละบาทสองบาทครับ คุณหมอถามว่า ทำไมถูกจัง จะได้กำไรหรือ พ่อเล็กตอบว่า ที่เขาเอาไปปลูกนั่นแหละครับคือกำไร เงินไม่ใช่เป้าหมาย เป็นเพียงเครื่องมือในเศรษฐกิจคุณธรรม เป้าหมายคือการอยู่ร่วมกัน การแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูล

ผมเล่าเรื่องเหล่านี้ให้อาจารย์สก๊อตฟัง เขาประทับใจมาก เพราะยืนยันทั้งเรื่องที่เขาเขียนในหนังสือสองเล่มเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจคุณธรรม” และ “อาวุธคนยาก”

ตั้งแต่ปี ๒๕๒๙-๒๕๓๐ ที่ผมได้ร่วมมือกับวิทยาลัยครูสกลนคร นครราชสีมา และบุรีรัมย์ เราได้ส่ง “นักวิจัยและพัฒนา” ไปอยู่กับ “คนกลุ่มน้อย” นอกจากชาวกะเลิงที่บ้านบัว ยังมีชาวโส้ที่กุสุมาลย์ ชาวกุยที่บุรีรัมย์ และชาวบนหรือญัฮกุร บ้านน้ำลาด อำเภอเทพสถิต จังหวัดนครราชสีมา

กรณีชาวบน ดร.ปรีชา อุยตระกูล และอาจารย์กนก โตสุรัตน์ อาจารย์วิทยาลัยครูนครราชสีมาในขณะนั้นได้ร่วมกันทำการวิจัยก่อน จากนั้นมูลนิธิหมู่บ้านร่วมกับอาจารย์ทั้งสองได้ส่ง “ติ๋ง” ไปทำงานที่บ้านน้ำลาด เช่นเดียวกับที่ได้ส่ง “เอก” ไปอยู่ที่บ้านบัว

คนทั่วไปอาจไม่คุ้นเคยกับ “ชาวบน” อาจจะรู้จักครั้งแรกจากนวนิยายชื่อ “ชะบน” ที่เกือบได้ซีไรต์ของ ธีรยุทธ ดาวจันทึก เป็นชาติพันธุ์ตระกูลมอญ-เขมรกลุ่มเล็ก ๆ ที่เหลืออยู่ไม่กี่พันคน ชอบอยู่บนที่สูง ไม่ชอบคนพื้นราบเพราะเอาเปรียบพวกเขา คนเฒ่าคนแก่ ผู้ใหญ่ ไม่รู้หนังสือ ไม่อยากแสดงตนเป็นชาวบนกลัว “คนไทย” หลอกและดูถูก

เราได้ใช้วิธีการของ เปาโล แฟร์ นักคิดนักพัฒนาชาวบราซิล ที่ใช้การเรียนรู้แบบบูรณาการทำให้อ่านออกเขียนได้ และมีสำนึกในรากเหง้าวัฒนธรรมของตนไปพร้อมกัน เช่น เมื่อเรียน ก.ไก่ ก็ให้คนเฒ่าคนแก่เล่าเรื่องในอดีตว่าชาวบนเขาเลี้ยงไก่กันอย่างไร ข.ไข่ ป.ปลา ก็เช่นเดียวกัน เอามาทำอาหารอะไรได้บ้าง ย.ยักษ์ ก็เล่าเรื่องยักษ์มาร นิทาน ตำนาน และย.ยา ก็เล่าเรื่องหยูกยา สมุนไพร การรักษาโรค ฯลฯ

เรียนแบบนี้ไม่ใช่เอาหนังสือเป็นตัวตั้ง แต่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เอาวิถีวัฒนธรรมเป็นเนื้อหาชาวบ้านทั้งผู้ใหญ่ ทั้งเด็ก นอกจากอ่านออกเขียนได้ก็ได้สำนึกใหม่ รู้จักรากเหง้าเผ่าพันธุ์เกิดความภูมิใจในปู่ย่าตาทวดบรรพบุรุษ ไปเอาเสื้อผ้าชนเผ่ามาสวมใส่ คนเฒ่าคนแก่สอนการร้องรำให้เด็ก ๆ ประเพณีวัฒนธรรมที่หายไปก็กลับมา พวกเขาไม่กลัว “คนไทย” หรือใครก็ได้อีกต่อไป พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง

ทุกวันศุกร์ เด็ก ๆ จะแต่งตัวชุดชาวบนไปโรงเรียน มีการแสดง การร้องการรำที่โรงเรียนที่คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนเป็นผู้สอน รวมทั้งสอนให้เป่าใบไม้อันเป็นศิลปะและทักษะพื้นบ้านของชาวบน ต่อมา มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์ชาวบนแบบเฉพาะกิจ ในเทศกาลสำคัญ หรือวันที่มีนักท่องเที่ยว คนมาศึกษาดูงานก็เอาเสื้อผ้าเครื่องประดับ ของใช้เก่าแก่มาแสดง เสร็จแล้วก็เอากลับบ้าน

การทำงานพัฒนากับชาวบน ชาวโส้ หรือชาวกุยหรือส่วยที่บุรีรัมย์ก็ดี เป็นงานวิจัยที่เรียกกัน (โดยชาวฟิลิปปินส์) ว่า การวิจัยเพื่อพัฒนาจิตสำนึก (conscientizing research) ซึ่งบางส่วนอิงทฤษฎีมาร์กซิสต์ (ที่ไม่น่าจะรังเกียจอะไรถ้าหากใช้แล้วสร้างพลังให้ชุมชนได้จริง โดยไม่จำเป็นว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง อาจจะมีการต่อต้านขัดขืนถ้าหากว่า “ชาวบ้าน” เห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะอย่างที่ วิลเลี่ยม เบลค บอกไว้ “คนมีความรู้ปกครองง่าย แต่ครอบงำยากและกดขี่ข่มเหงไม่ได้เลย”)

ผมภูมิใจที่ได้ทำงานกับคนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เล็ก ๆ ที่คนทั่วไปมักดูถูกดูหมิ่น พวกเขาไม่ได้แตกต่างไปจากใคร ๆ ในสังคม มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ไม่น้อยไปกว่าคนอื่นถ้าหากมีโอกาส เราถึงได้คนอย่าง นฤทธิ์ คำธิศรี ชาวโส้ที่กุสุมาลย์ สกลนคร ที่เป็น “เมธาจารย์ มหาวิทยาลัยชีวิต” เป็นปราชญ์ที่มีโอกาสเรียนจบปริญญาตรีที่แม่โจ้ แต่ไม่ลืมรากเหง้า

คุณนฤทธิ์เคยทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระยะหนึ่ง กลับไปพิสูจน์ให้เห็นว่า ดินลูกรังที่บ้านเกิดที่ใคร ๆ บอกว่าทำอะไรไม่ได้นั้น ปลูกอะไรก็ได้ถ้าจัดการเป็น เขาใช้ความรู้สมัยใหม่บวกภูมิปัญญาดั้งเดิมทำเกษตรผสมผสานจนพึ่งพาตนเองได้ และอยู่อย่างมั่นคงกว่าการไปรับจ้างเงินเดือนเป็นแสนเสียอีก

กำนันทองคำ แจ่มใส ตำบลจันดุม อำเภอพลับพลาชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผู้นำชุมชนชาวกุยหรือที่เรามักเรียกว่าส่วย เคยเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ พัฒนาจนเป็นต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง มีโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของชาวบ้านเป็นหลัก สร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนที่ทำให้เกิดความมั่นคง มีกลุ่มออมทรัพย์ ร้านค้าชุมชน มีรถไถรถเกี่ยวข้าวรวมของชุมชน และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่ได้มาจากการอัดฉีดจากหน่วยงานภายนอก แต่มาจากการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองของชุมชน

ผู้ใหญ่ทองคำได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลทักษิณให้เป็นผู้นำชุมชนตัวแทนคนอีสานคนเดียว ร่วมคณะเดินทางไปดูงานโอทอปที่โออิตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อหลายปีก่อน

เจริญ ดีนุ เป็นศิษย์เก่า “มหาวิทยาลัยชีวิต” เป็นปะกากะญอ หรือกะเหรี่ยง คนบ้านหนองเต่า ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเดียวกับพ่อหลวงจอนิ โอโดเชา ผู้นำและผู้แทนชนเผ่าผู้โด่งดังระดับโลก สัญลักษณ์ของความเป็นตัวของตัวเอง การพึ่งตนเอง และการพัฒนายั่งยืน

เจริญมาเรียนปริญญาตรีในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตที่ดอยสะเก็ด เทอมแรกไม่พูดไม่จา กลัวคนจะรู้ว่าเป็นชาวเขา กลัวเขาดูถูกเหมือนชาวเขาทั่วไป เรียนได้เทอมเดียวเขาได้ค้นพบรากเหง้าของตน มาเรียนเทอมสองพร้อมกับชุดชนเผ่า บางวันถือเตหน่า เครื่องสายของชนเผ่าของเขามาแสดงด้วย

เจริญจบปริญญาตรีแล้วลาออกจากการเป็นผู้ช่วยพยาบาลที่โรงพยาบาลชุมชนแม่วางกลับไปบ้านเกิด ทำการเกษตรผสมผสาน เรียนต่อ ป.โท ที่สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ทำวิทยานิพนธ์เรื่องการนำดนตรีของชนเผ่าปลุกสำนึกเยาวชนให้รักถิ่นฐานบ้านเกิด

วิทยานิพนธ์ของเขาได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาของสถาบัน เขาได้ทำการวิจัยแบบปฏิบัติการ ทำได้สำเร็จ เด็ก ๆ ในหมู่บ้านปะกากะญอกลับไปร้องรำเพลงและดนตรีของชนเผ่า คนเฒ่าคนแก่ก็เริ่มฟื้นฟูเพลงพื้นบ้าน ถ่ายทอดให้ลูกหลาน เกิดความภูมิใจในวัฒนธรรมและเชื่อมั่นในตนเอง

เจริญไปศึกษาเพลงเก่า ๆ ทั้งหมด พยายามไปเรียนรู้ว่า บรรพบุรุษได้ “เข้ารหัส” อะไรไว้ในภูมิปัญญานี้ที่สะท้อนความสัมพันธ์ของคนกับคนคนกับธรรมชาติ กับสิ่งเหนือธรรมชาติ และวิถีการผลิตหรือการทำมาหากินของชนเผ่าในอดีตระบบคุณค่าต่าง ๆ และพยายาม “ถอดรหัส” ภูมิปัญญาเหล่านั้น

วันนี้เจริญมีชื่อเสียงเป็น “สะหล่าเตหน่า” ได้รับการยกย่องจากชุมชน ไม่เพียงแต่ที่บ้าน แต่ในตำบล อำเภอ และจังหวัดต่าง ๆ ที่มีชนเผ่าปะกากะญอ ได้รับเชิญให้ไปช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เยาวชนรักถิ่น รักรากเหง้าและเผ่าพันธุ์ของตนผ่านดนตรีของชนเผ่า

หรือว่า “อาวุธอันเดียวที่เหลืออยู่ของคนยาก คือ วัฒนธรรม” จริง ๆ

******

คอลัมน์  ส่องเมือง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๖| ตุลาคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

อัปสราศีขรภูมิ : บ้าน ๆ สะท้านทรวง
กลองยาวอีสาน
สูตรใหม่
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com