บุญผะเหวด : บุญมหาชาติงานช้างในหัวใจศรัทธาชาวอีศาน

บุญผะเหวด : บุญมหาชาติงานช้างในหัวใจศรัทธาชาวอีศาน

งานช้าง บุญผะเหวด เทศน์มหาชาติอีศาน

มาให้ได้นะครับ งานช้าง งานช้างจริง ๆ นะครับ อาจารย์มหาโยธิน โฆษกของวัดป่าบ้านดงสิมบอกผม ยังงงงงกับคําที่มหาบอก งานช้างก็ต้องที่สุรินทร์ ทําไมถึงมาชวนให้ไปงานช้างของวัดดงสิมที่บ้านไทยเจริญ อาจสามารถ เมืองร้อยเอ็ดเล่า

มหายํ้าอีกครั้ง มาให้ได้นะครับ มาดูงานช้างของวัดบ้านเราครับ ไม่แต่เพียงมหาเท่านั้นที่บอก พระอาจารย์ประเสริฐ ญาณธโร ท่านเจ้าอาวาสวัดป่าดงสิมศิริทรงธรรม ยังยิ้ม ๆ แย้มเป็นนัย ๆ อีกว่า บอกไม่ได้หรอกว่า บุญผะเหวด เป็นอย่างไร แต่ตั้งใจทําเต็มที่ เพื่อรักษาวัฒนธรรมประเพณีของคนอีสานเอาไว้ ต้องมาให้เห็นกับตาตัวเองกลางเดือนมีนาคมนั่นแหละ อาจารย์ดีที่สุด

นับเป็นคําสําทับที่ตราตรึงอยู่ในหัวใจประทับอยู่ในความทรงจํา ที่ทําให้พลาดไม่ได้

ดอกสะแบงบาน สัญญาณงานบุญผะเหวดเริ่มต้น

ก่อนวันเทศน์มหาชาติหนึ่งวัน เรียกกันว่า วันโฮม หรือ วันรวม ตอนเช้าผู้อาวุโสของหมู่บ้านได้ทําพิธีเชิญพระอุปคุตจากหนองนํ้า ใกล้วัดมายังบริเวณพิธีงานเทศน์มหาชาติด้วยมีความนับถือพระอุปคุตและเชื่อกันว่าพระอุปคุตซึ่งมีฤทธานุภาพในการปราบพญามาร สถิตอยู่ใจกลางมหาสมุทรสะดือทะเล จะป้องกันภยันตรายและบันดาลดลให้งานนั้นสําเร็จลุล่วงด้วยดีงานใหญ่ ๆ ทั้งหลายจึงมีการอัญเชิญพระอุปคุตมาไว้ ณ บริเวณพิธีด้วยประการฉะนี้

สี่โมงเย็นวันโฮมวันเดียวกันนั้นเอง แดดร่มลมวอย ๆ กำลังสบาย ๆ ดอกสะแบงต้นที่หน้าวัดออกดอกสะแดงบานสะพรั่งพลิ้วไหว ดอกสะแบงแดงสุกปลั่งขึ้นมาเต็มต้นคราใด เป็นสัญญาณแห่งหัวใจศรัทธา ว่าประเพณีบุญมหาทาน การเทศน์มหาชาติกําลังจะมาถึง

ที่หน้าวัดบ้านป่าดงสิมมีช้างงามสองเชือก มีเครื่องตกแต่งช้างประดับประดาพร้อมสรรพสวยงาม มายืนรอเป็นช้างนำหน้าขบวนแห่อยู่ด้านหน้า เด็ก ๆ ต่างตื่นเต้นที่ได้เห็นช้าง ต่างเอากล้วยเอาหญ้าให้ช้างกิน แต่ช้างก็มักจะชอบเดินไปหากินใบไผ่ที่ต้นไผ่ของเขาเองมากกว่า เจ้าของช้างบอกว่า นําช้างมางานบุญผะเหวดที่วัดป่าดงสิมมาสองปีแล้ว ช้างนี้มาจากจังหวัดสุรินทร์ ส่วนตัวควาญช้างคนสุรินทร์แต่มาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านดงสิมร้อยเอ็ดนี้เอง จึงได้พาช้างมาแห่ไปรับพระเวสสันดรเข้าเมือง โดยตั้งขบวนจากวัดแล้วเดินแห่ไปตามหมู่บ้าน ไปยังหนองหินอันเป็นกลางทุ่งแจ้งไปทำพิธีสวดมนต์เย็น มีดนตรีวงแคนนำหน้าตามด้วยขบวนช้างที่มีพระเจ้ากรุงสญชัยและมเหสีออกไปรบพระเวสสันดร ที่ถือศีลภาวนาอยู่นอกเมือง ขบวนแห่มีคนร่วมเดินเข้ามาสมทบตามกันไปทำบุญสวดมนต์เย็น ใช้เวลาเดินกันในราวชั่วโมงหนึ่ง ก็ถึงบริเวณที่ทำพิธีประจำของหมู่บ้าน ได้ใช้สถานที่ตรงนี้ทุกปีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย จากนั้นได้จัดสถานที่กลางแจ้งปรับให้เป็นที่สำหรับเจริญพระพุทธมนต์แล้วจึงเริ่มต้นสมาทานศีลรับศีล และพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ในท่ามกลางท้องทุ่งผืนนา กลิ่นไอฟางข้าว ได้บรรยากาศชาวนาศรัทธาทำบุญยิ่งนัก

ครั้นเจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว ขบวนช้างก็แห่รับพระเวสสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี เข้ามายังเมือง เดินย้อนกลับจากทุ่งนาหนองหินเข้ามาสู่วัดป่าดงสิมแม้จะคํ่ามืดด้วยหัวใจศรัทธายังเต็มเปี่ยม สำหรับค่ำคืนแรกนี้หลังจากแห่มาแล้วยังได้อยู่ร่วมกันฟังเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสนอีกด้วย

บุญผะเหวด เทศน์กันแต่เช้ามืดจรดคํ่า

ตีสี่ ชาวบ้านผู้ศรัทธาร่วมงานบุญผะเหวดร่วมงานเทศน์มหาชาติเริ่มต้นด้วยการแห่ข้าวพันก้อน มายังมณฑลพิธีที่เทศน์มหาชาติ ข้าวพันก้อนเท่ากับคาถาพันคาถาในการเทศน์มหาชาตินั่นเอง จากนั้นการเทศน์มหาชาติงานบุญมหาทานของพุทธศาสนิกชนชาวอีศานก็เริ่มต้น ในการเทศน์มหาชาติของวัดจะเริ่มด้วยการ เทศน์สังกาศคือการเทศน์บอกศักราชก่อน จากนั้นจึงเริ่มต้นด้วยคาถาพัน ต่อด้วยกัณฑ์แรกคือกัณฑ์ทศพร พรสิบประการที่นางผุสดีได้ขอพรต่อพระอินทร์มี๑๙ พระคาถา จากนั้นก็เทศน์ต่อกันไปจนถึงนครกัณฑ์อันเป็นกัณฑ์สุดท้าย

พระอาจารย์ประเสริฐบอกว่าก็นิมนต์พระมาร่วมงานเทศน์มหาชาติสามสิบกว่าวัด ส่วนที่จะเทศน์หลัก ๆ ก็มีอยู่สองสามองค์ที่จะสลับหมุนเวียนกันขึ้นเทศน์จนครบ ๑๓ กัณฑ์ด้านทางวัดก็จัดเตรียมใบลานเทศน์ไว้เป็นผูก ๆ เรียงลําดับตั้งแต่กัณฑ์ทศพร ถึงนครกัณฑ์พระมาถึงก็หยิบใบลานขึ้นธรรมาสน์เทศน์ได้ทันทีเมื่อไปดูคัมภีร์ใกล้ ๆ ที่เรียงไว้ให้พระท่านเทศน์ก็จะพบว่ามีอยู่หลายแบบ เป็นแบบเก่าตัวเขียนในคัมภีร์เป็นหนังสือธรรมอีสาน ซึ่งพระรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยมีใครอ่านได้ต่อมาก็มีคัมภีร์แบบภาษาไทย แต่เขียนเป็นสํานวนอีสานเรียกลํามหาชาติเก่าแก่ที่ใช้เทศน์กันอยู่ก็เป็นของ ส. ธรรมภักดีเขียนโดยอาจารย์ปุ้ย แสงฉาย ใช้กันมากว่า ๕๐ ปีถ้าใหม่ที่ทันสมัยขึ้นก็ของอาจารย์สวิง บุญเจิม เป็นต้น

พระวิญญ์ สวีโร พระรูปหนึ่งที่วัดป่าดงสิมนิมนต์มาเทศน์ เล่าให้ฟังว่า หัดเทศน์มหาชาติตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร หลวงปู่สุข ยโสธโร ท่านเมตตาฝึกสอนให้ แรก ๆ ท่านก็เทศน์ให้เราดูให้เราฟังก่อน จากนั้นเราก็เทศน์ตามคัมภีร์ก็ได้ฝึกหัดเรื่อยมา สมัยก่อนเราต้องไปก่อนหนึ่งวันค้างวัดหนึ่งคืนก่อน เมื่อถึงเวลาเทศน์ก็จะเทศน์ได้ทันทีกัณฑ์ไหนที่โยมท่านใดรับเป็นเจ้าภาพโยมก็จะมาดูแลพระที่เทศน์ด้วย เป็นโยมอุปัฏฐากให้แก่พระอย่างดีเป็นงานบุญที่สนุก ได้บุญมาก ตั้งใจทํากันอย่างดี

พระใบฎีกาบุญทัน สุภัทโท จากวัดบูรพาบ้านหนองบัวท่านเล่าว่า ฝึกหัดมาตั้งแต่เป็นเณร หัดกับหลวงปู่สุข เช่นกัน ท่านทําให้ดูแล้วก็หัดตาม ท่านมีหลายทํานอง เช่น ลมพัดไผ่ ลมพัดพร้าว กาเต้นก้อน แล้วท่านก็สาธิตเทศน์แบบกาเต้นก้อนให้ฟังว่า มีเสียงหนักเบา นึกถึงอีกาที่เต้นกระโดดหยองแหยงไปตามก่อนดิน ลมพัดไผ่จะช้า ๆ เอื่อย ๆ เหมือนลมพัดต้องต้นไผ่ ส่วนลมพัดพร้าว ใช้เสียงหนักแน่นขึ้น ไม่เอื่อย กะทัดรัด ปกติก็เทศน์ธรรมาวัตรตามคัมภีร์มีนอกใบลานมีแหล่กันบ้าง เพื่อให้ญาติโยมไม่ง่วงเหงาหาวนอน ท่านก็แหล่ภาษาอีสานให้ฟังการเทศน์เป็นภาษาอีสานก็ให้เข้าใจได้ง่ายเป็นภาษาของเราเอง

วันนี้พิเศษมีเณรมาเทศน์ด้วยองค์หนึ่งสามเณรทักษิณ ฉิมสา บวชได้ ๒ พรรษาแล้วก็ฝึกเทศน์เรื่อยมา มานี่ก็เพราะพระอาจารย์ให้มาฝึกเทศน์ขึ้นธรรมาสน์เทศน์กันวนประเวศน์ ภาษาอีสาน นํ้าเสียงดีมาก มีทั้งเอื้อนทั้งทํานองโยมชอบใจกันใหญ่ โอ้เณรเก่งหลาย ๆ มีความหวังว่าพระนักเทศน์จะไม่ขาดสาย

งานบุญ ย่อมมีบุญมีความสุขและสนุก

ที่สนุกมาก ๆ เห็นจะเป็นการแห่กัณฑ์หลอน คือกัณฑ์เทศน์มาถวายพระซึ่งไม่กําหนดเวลามาตอนไหนก็ได้ไม่ได้บอกจองเป็นเจ้าภาพล่วงหน้า กัณฑ์หลอน สามารถนำไปทอดได้ตลอดทั้งวันขณะที่มีการเทศน์มหาชาติซึ่งอาจจะถึงมืดคํ่าก็ได้และอาจจะมีกัณฑ์หลอนจากหมู่บ้านอื่นแห่มาสมทบอีกได้โดยไม่จํากัดจํานวน ถือเป็นการสร้างความสามัคคีของคนระหว่างหมู่บ้าน ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน

จากกัณฑ์ทศพรถึงนครกัณฑ์จากตีสี่ถึงสามทุ่ม เทศน์มหาชาติจบลง จากนั้นเป็นเทศน์กัณฑ์สุดท้ายเรียกว่าเทศน์ฉลอง พระอาจารย์ประเสริฐ เจ้าอาวาสเทศน์เอง เป็นการสรุปใจความเรื่องบุญผะเหวด มหาเวสสันดรชาดกโดยรวมของแต่ละกัณฑ์ มีอานิสงส์อย่างไร เช่น กัณฑ์สุดท้ายนครกัณฑ์ มี ๔๘ พระคาถา มีอานิสงส์สําหรับผู้ฟังว่า จะได้เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยวงศาคณาญาติข้าทาสชายหญิง ธิดาสามีหรือบิดามารดาเป็นต้น จะได้อยู่พร้อมหน้ากันโดยความผาสุก ปราศจากโรคาพาธทั้งปวง จะทำการใดก็พร้อมเพรียงกัน ยังการงานสําเร็จลุล่วงไปด้วยดีเป็นต้น พระอาจารย์ว่า

จากนั้นก็ทําพิธีขอขมาพระสงฆ์แล้วพระสงฆ์อนุโมทนา ผู้ฟังต่างก็หยาดนํ้าหรือกรวดนํ้ารับพร เสร็จแล้วพระคุณเจ้าก็นำน้ำพระพุทธมนต์ จากพิธีมาประพรมให้ญาติโยมที่ฟังโดยทั่วกันเป็นอันเสร็จพิธีเป็นมิ่งมงคล งานบุญผะเหวดที่ร่วมกันจัดร่วมกันฟังด้วยหัวใจศรัทธาตลอดมาทั้งวัน

งานบุญผะเหวดเป็นการให้การศึกษา เรียนรู้เรื่องราวในพระพุทธศาสนา เรื่องผลของทานสอนให้คนรักสามัคคีเมตตา กรุณา เสียสละอภัยให้กัน แม้ว่าปัจจุบันพุทธกาลจะล่วงเลยมาถึง ๒๕๖๐ ปีเป็นยุคสมัยหัวใจดิจิทัลแล้ว แต่ว่าหัวใจศรัทธาในการฟังเทศน์บุญผะเหวด ยังไม่เสื่อมคลายไปจากใจในหมู่ชนชาวอีสานที่ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาและฮีตสิบสองคองสิบสี่เป็นสรณะในการดําเนินชีวิต

ก่อนลาจากบ้านวัดดงสิม ทั้งมหาโยธินและพระอาจารย์ประเสริฐ ท่านเจ้าอาวาสยังชวนอีกว่า ปีหน้ามาทําบุญด้วยกันอีกนะ แล้วบุญผะเหวดเป็นอย่างไรบ้างคือโจทย์ที่ให้หาคําตอบจากการที่ได้เห็นได้ฟังและคุยกับผู้ศรัทธาที่ร่วมบุญกุศลมหาชาติครั้งนี้บอกท่านด้วยความรู้สึกจากใจได้ว่า

บุญผะเหวดเป็นงานช้างในหัวใจศรัทธาของชาวอีศาน เป็นศรัทธาที่ไม่มีวันถอยอย่างแท้จริง

***

คอลัมน์ ไผว่าอีศานฮ้าง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๒ | มิถุนายน ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com

โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

สถิติ
อโยธยาในสายตาคนลุ่มแม่นํ้าโขง
สมุนไพรระงับปวด
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com