กลองยาวอีสาน


ภาพโดย : สมศักดิ์ มงคลวงศ์

“กลอง” เป็นสิ่งเสพงัน เป็นสิ่งบันเทิงเป็นสิ่งปลุกเร้าและเป็นสิ่งบูชาแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนทั่วโลก ในต่างประเทศเขาจะมีงานประชันกลองนานาชาติ แสดงถึงเทคนิคในการตีกลอง การละเล่นกลองเนื่องในงานต่าง ๆ อันเป็นวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ

กลองของไทยเราชนิดที่มีหางยาว ๆ ปลายหางจะบานออกเหมือนลำโพง เรียกทั่ว ๆ ไปว่า “กลองยาว” มีการละเล่นอยู่ทั่วทุกภาค แต่จะเรียกชื่อต่างกันไป ใช้เฉลิมฉลอง บันเทิง บรรเลงละเล่นในลีลา จังหวะแตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา ศิลปะหมอลำหมอร้อง การฟ้อนเซิ้งต่าง ๆ ของภาคอีสานกำลังเป็นที่นิยมตื่นตาตื่นใจของผู้ชม มีเซิ้งต่าง ๆ เช่น เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งสวิง เซิ้งแหง่ไข่มดแดง เซิ้งผู้ไท เป็นต้น ดัดแปลงลีลาท่ารำให้แตกต่างกันไป รวมทั้งบรรเลงวง พิณ แคน ซอ โปงลาง ก็มีเพลงหลากหลายทำนอง เสื้อผ้าของผู้รำก็สวยงามตระการตา แล้วยังมีจุดเด่นเป็นหน้าเป็นตาอีกจุดหนึ่งคือ “การดีดไห” เริ่มแรกก็เป็นฝ่ายชายเป็นผู้ดีด เนื่องจากนักดนตรีคิดเอายางหนังสติ๊กมารัดพาดปากที่ไหซอง (ไหปลาร้า) แล้วดีดกลายเป็นเสียงเบส เพื่อให้จังหวะดนตรีเสียงสูงเสียงต่ำ ๒ ไห เสียงดังกังวานดี

ต่อมาไม่รู้ใครเป็นคนต้นคิดเปลี่ยนผู้ดีดไหจากฝ่ายชายมาเป็นนางรำฝ่ายหญิง ทำท่าดีดและฟ้อนรำให้เข้าจังหวะไปด้วย ด้วยลีลาอ่อนช้อยและสวยงาม จึงกลายเป็นจุดเด่นสะดุดตาผู้ชม พัฒนาท่ารำให้สวยงามยิ่งขึ้น ใช้ไหเพิ่มเป็น ๓-๔ ไห จนกลายเป็นที่โด่งดัง ได้รับฉายาว่า “ราชินีไหซอง” ไป*

* ผู้หญิงดีดไหซองมีขึ้นครั้งแรกที่วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ โดย “นิตยา เชิดชู” เป็นราชินีไหซองคนแรกของประเทศไทย — “ทางอีศาน”

เล่าถึงการคิดประยุกต์พัฒนา ศิลปะการฟ้อนการเซิ้งที่ค่อย ๆ ก้าวลุกไปเรื่อย ๆ ในยุคเดียวกันนั้นมีการละเล่นที่โดดเด่นควบคู่กันมาสองอย่างคือ “รำมวยผู้ไทโบราณ” เป็นเอกลักษณ์ที่ตื่นตาผู้ชมไม่น้อย

และการละเล่นอีกแบบหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมในสมัยนั้นคือ “กลองยาวอีสาน” คณะหนึ่งอาจมีมือกลอง ๘ ถึง ๑๒ คน การตีกลองตามจังหวะเซิ้งพร้อมการเต้นหลายท่าหลายลีลา บางคณะยังมีการต่อตัว ให้มือกลองเหยียบขา เหยียบไหล่กันขึ้นไป แล้วโชว์ตีกลองไปตามจังหวะดนตรีบรรเลง เป็นภาพตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ชมอย่างมาก

ในราว พ.ศ. ๒๕๑๗ – ๒๕๑๘ ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปอีสานบ่อย ไปเยี่ยมเพื่อน ๆ ลูกศิษย์ลูกหานักจัดรายการ นักร้อง หมอลำต่าง ๆ ครั้งหนึ่งไปตรงกับงานประจำปี “บึงพลาญชัย” ที่จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อนที่เป็นสมาชิกเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ชวนให้อยู่เที่ยวงานสักหนึ่งคืนเพราะค่ำนั้นจะมีการ “เส็งกลอง” และประกวดกลองยาวกัน ผู้เขียนเป็นคนชอบกลองจึงตกลง

คืนนั้นในงานมีมหรสพมากมาย แต่มีเวทีหนึ่งแข่งขัน “คณะกลองยาวอีสาน” ซึ่งผู้เขียนไม่เคยเห็นมาก่อน มีคณะกลองยาวหลายคณะจากหลายจังหวัดมาโชว์ประชันกัน ส่วนมากเป็นผู้ชาย การแต่งตัวนุ่งโสร่งผ้าไหม การแสดงโชว์แต่ละคณะสนุกครึกครื้นจังหวะเร้าใจ ท่าเต้นแตกต่างกัน จังหวะกลอง ท่าเต้นไม่เหมือนกลองยาวภาคกลาง ตื่นตาตื่นใจมากสำหรับผู้เขียนที่เพิ่งได้ชมเป็นครั้งแรก แต่มีข้อข้องใจอยู่เรื่องชื่อที่เรียกว่า “กลองยาว” สมัยเป็นเด็ก “พ่อใหญ่” ของผู้เขียนเคยตีกลองชนิดนี้ให้ฟัง คนอีสานเรียกว่า “กลองหาง” ผู้เขียนจึงแนะนำเพื่อนว่าแข่งขันคราวหน้า น่าจะเรียกชื่อว่า “แข่งกลองหาง” ถึงจะเป็นชื่ออีสานแท้ เพื่อนรับปากจะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ

ช่วงนั้นคณะกลองยาวเดินทางมาแสดงโชว์ในกรุงเทพฯ บางคณะออกรายการโทรทัศน์ก็ยังเรียกตัวเองว่า เป็นคณะ “กลองยาวอีสาน” ผมสอบถามไปทางเพื่อนที่ร้อยเอ็ดชี้แจงว่า กลองยาวภาคกลางหางยาว ตอนปลายของหางจะบานออกเหมือนลำโพง แต่กลองภาคอีสานปลายหางยาวไม่บาน แตกต่างกัน เพื่อนบอกว่าเข้าที่ประชุมกรรมการแล้วหลายคนไม่อยากเรียกว่า “กลองหาง” กลัวว่ามันล้าสมัย เรียกกลองยาวเป็นกลางดีกว่า จึงไม่เปลี่ยน

นอกจากรูปร่างกลองก็ไม่เหมือนกันแล้วการตีเสียงก็ไม่เหมือนกัน พ่อใหญ่ผู้เขียนเคยสอนให้ตีกลองหางว่าต้องตีให้ออกเสียงว่า “ปึ๊ด ปึง บั๊ม ปึงบั๊ม ปึ๊ดปึง” และกลองหางอีสานต้องมี “แซง” ตีเป็นลูกคู่ “แซง” รูปร่างคล้าย “ฉาบ” แต่ใหญ่กว่า กว้างประมาณ ๑๐ นิ้ว ทำด้วยโลหะทองเหลือง คนตีแซงมีฝีมือจะตีเป็นเสียง “ก๊กโก่ยกะโหลย ก๊กโก่ย” จึงจะทำให้สนุก

การแสดงโชว์กลองยาวเป็นที่นิยมอยู่ช่วงหนึ่งแต่ยังเรียกว่ากลองยาวอยู่ ทั้งที่การแสดงไม่เหมือนกัน กลองยาวภาคกลางมีท่าโชว์เด่น ๆ คือ การใช้ศอกตี การยืนบนกลอง ลีลาท่าแสดงไม่หลากหลายท่า แต่กลองยาวอีสานนอกจากท่าเต้นยังมีการต่อตัวตีกลองด้วย

“กลองหาง” เป็นของดีเอกลักษณ์ของอีสานที่มองว่าล้าสมัยชื่อเชย ๆ จึงกลายเป็นกลองยาว พอพูดถึงกลองยาว คนทั่วไปก็จะคิดถึงแต่กลองยาวภาคกลางแถวอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี ลพบุรี ไม่มีใครนึกถึงกลองยาวอีสาน ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ต่อมากลองยาวอีสานก็ค่อย ๆ หายไป แต่ต้องขอให้กำลังใจให้คณะกลองยาวที่ยังรวมตัวกันอยู่ไม่ให้สูญหายแถวจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม

ในความเห็นของผู้เขียน กลองยาวอีสานไม่ค่อยเป็นที่นิยม อาจเป็นเพราะผู้แสดงส่วนมากเป็นฝ่ายชายออกจะสูงอายุ โชว์วัฒนธรรมแท้ ๆ สู้โชว์แบบสาว ๆ นุ่งสั้น ๆ เห็นขาอ่อนไม่ได้ จึงถูกใจเจ้าภาพ อีกอย่างการรวมตัวกันใช้เวลาฝึกฝนนานกว่าจะชำนาญ และเวลาอาจไม่อำนวย กลองยาวอีสานก็เลิกลากันไป จึงขอฝากไปถึงองค์กร สถาบัน หรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้ช่วยฟื้นฟูการละเล่นชนิดนี้ขึ้นมาให้ทันสมัยเป็นที่นิยมอีกครั้ง คงพึ่งกระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้เพราะวัฒนธรรมจังหวัดส่วนมากไม่ใช่คนพื้นที่จึงไม่เข้าใจไม่สนใจเรื่องแบบนี้

ศิลปวัฒนธรรมของดีอีสานที่น่าอนุรักษ์และควรรื้อฟื้นขึ้นมาอีกเช่น “รำมวยโบราณ” “ร้องสรภัญญะ” และ “กลองหาง” ก็ขอฝากไว้ให้กับผู้ที่มีศักยภาพช่วยพิจารณาด้วย

******

คอลัมน์  เสียงเมือง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๖| ตุลาคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

อัปสราศีขรภูมิ : บ้าน ๆ สะท้านทรวง
วัฒนธรรม อาวุธคนยาก
สูตรใหม่
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com