อโยธยาในสายตาคนลุ่มแม่นํ้าโขง

ภาพสะท้อนถึงเรื่องราวบ้านเมืองในสายตาของคนลุ่มนํ้าโขงที่มีต่อเมืองอโยธยา ซึ่งเป็นเมืองสําคัญในลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ปรากฏผ่านตํานานอุรังคธาตุที่ถือว่าเป็นวรรณกรรมตำนานที่สำคัญของลุ่มแม่นํ้าโขง

สันนิษฐานว่า พระยาศรีไชยชมพู ข้าราชสำนักตำแหน่งหัวหน้ามหาดเล็กเป็นผู้เรียบเรียงขึ้น ถวายพญาสุริยวงศาธรรมิกราช เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพิธีบรมราชาภิเษกพญาสุริยวงศาธรรมกราชขึ้นครองราชย์นครเวียงจันท์ในปี พ.ศ.๒๑๘๑ หรือ จ.ศ.๑๐๐๐ โดยได้ทําการรวบรวมเรื่องราวจาก อุรังคธาตุนิทาน ปาทลักษณนิทาน  ศาสนานครนิทาน แล้วแต่งเป็นตํานานอุรังคธาตุ

ระยะเวลาในการเรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุจึงควรอยู่ในช่วงตั้งแต่พญาสุริยวงศาเข้ายึดอำนาจในเมืองเวียงจันท์ ถึงปีที่ขึ้นครองราชย์ คือระหว่าง พ.ศ.๒๑๗๖ – ๒๑๘๑

เรื่องราวในตํานานอุรังคธาตุได้ให้ภาพสะท้อนถึงประวัติศาสตร์สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ตลอดถึงบ้านเมืองในลุ่มแม่นํ้าโขงและรัฐใกล้เคียงที่มีการติดต่อระหว่างกัน โดยรัฐส่วนใหญ่ที่ปรากฏในตํานานอุรังคธาตุเป็นรัฐในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง ยกเว้นเมืองศรีอโยธิยาทวารวดีนครที่จะตั้งเป็นประเด็นเปิดผ้าม่านกั้งในครั้งนี้

ราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.๕๐๐ มีคนจากชมพูทวีปและลังกาเดินทางผ่านทะเลอันดามัน เข้ามาแลกเปลี่ยนค้าขายกับคนพื้นเมืองสุวรรณภูมิซึ่งต่อมาเมืองท่าเหล่านี้ได้มีพัฒนาการจนเกิดเป็นบ้านเมือง และด้วยความเจริญทางการค้า เมืองท่าเหล่านั้นได้พัฒนามาเป็นรัฐ

ในตํานานอุรังคธาตุกล่าวถึง เมืองโยธิกา หรือ เมืองกุรุนทะ ว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญมีพญากุรุนทะนครเป็นกษัตริย์ปกครอง  แต่ตำนานกล่าวว่าในสมัยที่มีการก่อสร้างอูบมุงอุรังคธาตุหรือพระธาตุพนม ที่ภูกําพร้า พญากุรุนทะนครไม่ได้ไปร่วมก่อสร้างอูบมุงอุรังคธาตุ แต่มีบทบาทในฐานะเมืองหน้าด่านก่อนที่จะผ่านเข้าสู่เมืองสาเกตนครร้อยเอ็ดประตู

เรื่องราวของที่ตั้งเมืองกุรุนทะนครไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นที่ใด ในตํานานอุรังคธาตุกล่าวถึงที่มาของชื่อเมืองโยธิกาหรือเมืองกุรุนทะ ที่มีชื่อแตกต่างกันหลายยุคหลายสมัยว่า เมืองนี้ในสมัยพระกกุสันธพุทธเจ้ามีชื่อว่าเมืองกุรุฏฐะนคร ในสมัยพระโกนาคมพุทธเจ้ามีชื่อเมืองว่าเมืองพาหละนคร ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้ามีชื่อว่าเมืองทวารวดีและในสมัยพระโคตมพุทธเจ้ามีชื่อเมืองว่ากุรุนทะนคร

สําหรับที่มาของชื่อเมืองว่า “โยธิกา” นั้นเป็นชื่อที่ฐิตะกัปปิรสสีนำเอานามของ “พญาศรีอมรณี” และ “พญาโยธิกามา” ตั้งเป็นชื่อเมืองนอกจากนี้ยังมีชื่อว่า “ทวาราวัตตินคร” โดยนำเสียงร้องว่า  “ลวา” ของผีเสื้อเมืองมาเป็นชื่อที่มาของภูมินามของเมืองกุรุนทะนคร หรือเมืองโยธิกา ปรากฏอยู่ในตํานานอุรังคธาตุว่า

“…เจ้าทั้งหลายจึงนำเครื่องบรรณาการฝูงนี้ไปที่ พญาศรีอมรณี พญาโยธิกา อาชญาอันรักษาปักตูและเป็นหูเมืองร้อยเอ็ดปักตูนั้นก่อน…คนทั้งหลายจึงเอาความอันนั้นมาว่า เมืองศรีอโยธิกา ตามชื่ออันนั้นเล่าซํ้าตื่มขึ้น

ชื่อว่า ทวาราวัตตินคร ตามอันผีเสื้อเมืองรักษาปักตูเมือง ร้องเป็นเสียง ลวา นั้นก็มีแล

ชื่อว่า ศรีอมรณีแลโยธิกา นั้น เป็นชื่อแห่งพญาทั้งสองอันกินเมืองตามชื่อต้นไม้อันเป็นยาเจ้ารัสสีแต่งไว้ให้

ชื่ออันว่า อโยธิกา นั้น เจ้ารัสสีใสชื่อก่อน พญาร้อยเอ็ดเมืองจีงว่าสืบความแล

ชื่อว่า กุรุนทะนคร นั้น ตามชื่อแต่ปฐมกัปเมืองอันนี้เมื่อปางศาสนาพระพุทธเจ้ากกุสันธเจ้านั้น ชื่อว่า  เมืองกุรุฏฐะนคร เมื่อปางศาสนาพระเจ้าโกนาคมเจ้า ชื่อว่า เมืองพาหละนคร เมื่อปางศาสนาพระเจ้ากัสสปเจ้า ชื่อว่า ทวารวดี เหตุมีผีเสื้อเมืองรักษาปักตูเวียงนั้นร้องเป็นดังเสียง “ลวา” นั้นแล…เมื่อพระเจ้าโคตมะทัวรมาน เมืองอันนี้ชื่อว่า กุรุนทะนคร ดังเก่าหั้นแล…”

มีข้อน่าสังเกตว่า กุรุนทะนคร  แผลงมาจากกุรุรัฐนคร เป็นชื่อเมืองโบราณในชมพูทวีปสมัยพุทธกาลจึงสะท้อนให้เห็นถึงธรรมเนียมการนําชื่อแคว้น หรือชื่อเมืองในชมพูทวีป ที่ปรากฏในสมัยพุทธกาลมาตั้งชื่อเมืองในดินแดนลุ่มแม่นํ้าโขง เช่นเดียวกับการนําชื่อเมืองสาเกตที่มีปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนามาตั้งชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตูเป็นต้น ดังนั้น เมืองกุรุนทะนครนี้จึงมีเค้าที่มาจากชื่อเมืองกุรุรัฐนครอันเป็น ๑ ใน ๑๖ แคว้นโบราณในสมัยพุทธกาล นอกจากนี้ในพงศาวดารโยนกยังมีเรื่องราวที่กล่าวถึงเมืองกุรุรัฐในปริเฉทที่ ๒ ไว้ว่า

“…ในระหวางปลายศาสนาพระพุทธโกนาคมเจ้านั้น…ครั้งนั้นยังมีราชบุตรพญาเมืองปาตลีบุตรอันเป็นเชื้อสายสืบเนื่องมาแต่เช่นมหาสมันตราชได้พาภรรยาหนีมาสู่ประเทศนี้และตั้งอยู่ในป่าตําบลหนึ่งอันมีในแว่นแคว้นเมืองโพธิสารหลวง…อยู่จําเนียรมานางผู้ภรรยาทรงครรภ์บังเกิดบุตรเป็นชาย บิดามารดาให้นามบุตรชายนั้นว่ากุรุวงษา…มีอายุได้ ๑๓ ปีมีรูปและลักษณะงามบริบูรณ์มีเสียงไพเราะและมีกําลังพลังมาก จึงให้ขนเอาหินศิ ลามาก่อล้อมสถานที่อยู่แห่งตนตั้งเป็นปราการเมือง แล้วประมวลไพร่พลกําลังตั้งมั่นเป็นเอกเทศอยู่ในตําบลนั้น

กิตติศัพท์อันนี้ทราบถึงพระยาโพธิสารหลวง จึงใช้ให้อํามาตย์คุมพลนิกายไปแวดล้อมเพื่อจะจับตัวกุมารนั้น ฝ่ายกุมารนั้นก็ออกต่อสู้สัประยุทธ์ยุทธนาการ พวกเมืองโพธิสารหลวงก็ปราชัยพ่ายแพ้ไปหลายหมู่หลายคราว ในที่สุดพระยาโพธิสารยกทัพไปเองก็เสียทีแก่กุมาร ๆ นั้นจับตัวพระยาโพธิสารได้ พระยาโพธิสารก็ยอมยกราชสมบัติเมืองโพธิสารหลวงให้แก่กุรุวงษากุมาร ครั้นเจ้ากุรุวงษาได้เป็นใหญ่ในแว่นแคว้นนั้นแล้ว จึงได้เรียกแว่นแคว้นนั้นว่ากุรุรัฐ และเรียกประชาชนในแว่นแคว้นนั้นว่ากล๋อม ตามมูลเหตุที่เอาหินศิลามาก่อล้อมเป็นปราการ ครั้นภายหลังมาคำที่เรียกว่ากล๋อมก็กลายเป็นขอมไป

ต่อนี้ไปกล่าวด้วยอุบัติแห่งนางราชกุมารีอันจะได้มาอภิเษกเป็นมเหสีแห่งเจ้ากุรุวงษา มีเนื้อความว่า ยังมีนางกุมารีผู้หนึ่งเป็นธิดากษัตริย์ในวงศ์สมันตราช อันได้หนีโรคไปเร้นอยู่ในป่า ครั้นราชบิดาและมารดาล่วงลับไปแล้ว นางราชกุมารนั้นไปสำนักอยู่ ณ ของหนองแห่งหนึ่ง นางได้ดํานาปลูกข้าวไว้ในหนองนั้น หมู่ผีเสื้อทั้งหลายได้กินข้าวที่นางปลูกนั้น ก็พากันมาเป็นบริวารแก่นาง แล้วขนศิลามาก่อล้อมที่อยู่แห่งนางและพิทักษ์รักษานางไว้ด้วยดี สถานที่อันผีเสื้อก่อปราการนั้นได้ชื่อว่า อินทปฐาน อยู่จําเนียรมาเจ้ากุรุวงษาไปได้นางนั้นมาอภิเษกเป็นมเหสีแว่นแคว้นทั้ง ๒ นี้จึงรวมเรียกว่า กุรุรัฐและอินทปัตถ์มหานคร…”

เป็นที่ทราบกันว่า เมืองอินทปัตถ์มหานคร คือ เมืองยโสธรปุระ หรือเมืองพระนครในลุ่มทะเลสาบเขมร ดังนั้น จากพงศาวดารโยนกจึงแสดงให้เห็นถึงการมีวัฒนธรรมร่วมกันของกุรุรัฐและอินทปัตถ์มหานคร ซึ่งการมีวัฒนธรรมร่วมกันนี้ได้สอดคล้องกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเมืองพระนครในเขมรกับกลุ่มเมืองในลุ่มนํ้าเจ้าพระยาและลุ่มนํ้าป่าสัก เช่น เมืองละโว้ เมืองศรีเทพ และเมืองอโยธยา เป็นต้น

ที่ตั้งของเมืองกุรุนทะนครปรากฏในตำนานอุรังคธาตุว่า ทั้งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีต่างเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมโยงจากดินแดนลุ่มแม่นํ้าโขงเข้าไปสู่เมืองกุรุนทะนคร โดยกล่าวไว้ในตอนกําเนิดแม่นํ้าว่า ธนมูลนาคควัดแผ่นดิน จากลี่ผีไปถึงเมืองกุรุนทะนครเกิดเป็นแม่นํ้ามูล ส่วนชีวายนาคควัดแผ่นดินจากแม่นํ้ามูลไปถึงเมืองกุรุนทะนครเกิดเป็นแม่นํ้าชี เมืองกุรุนทะนครจึงเป็นเมืองที่เชื่อมเขาสู่ลุ่มแม่นํ้าชีและลุ่มแม่น้ำมูล ดังปรากฏความในตำนานอุรังคธาตุว่า

“…สุกขรนาคนาค หัตถีนาคจีงอยู่เวินหลอด นาคฝูงย่านผียักษ์เป็นนัก เอากันไปเถิงที่อยู่ธนมูลนาคอยู่เมืองศรีโคตรบองใต้ดอยกัปปนคิรี คือว่า ภูกําพร้า จีงควัดแต่นั้นไปเท่าถึงเมืองอินทปัตถนครเท่าฮอดนํ้าสมุทร แต่นั้นจีงว่า นํ้าลี่ผี มาเท่าบัดนี้หั้นแล นํ้าที่อยู่ธนมูลนาคนั้นก็ไหลกว้างเสีย ธนมูลนาคจีงมาควัดออกเป็นแม่น้ำเมืองกุรุนทะนคร แต่นั้นมาจีงเรียกว่า นํ้ามูลนที ตามชื่อนาคตัวนั้นหั้นแล

ชีวายนาคเล่าควัดแต่แม่นํ้ามูลนทีนั้นออกจนกวมเมืองพญามหาสุรอุทกะ ตนกินเมืองหนองหานหลวง พร้อมทั้งกวมเมืองขุนขอมนครแลเมืองหนองหานน้อย ตราบต่อเท่าเมืองกุรุนทะนคร แต่นั้นมาจีงมีชื่อเรียกว่า  นํ้าชีวายนที เหตุว่าตามชื่อนาคตัวนั้นแล…”

ตำนานอุรังคธาตุจึงสะท้อนให้เห็นว่าเมืองกุรุนทะนครเชื่อมต่อกับแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ซึ่งหากพิจารณาจากภูมิศาสตร์กายภาพแล้ว แม่น้ำทั้งสองมีต้นกําเนิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ หรือเทือกเขาพญาฝ่อ ซึ่งในบริเวณดังกล่าวมีเมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองใหญ่สำคัญที่มีการติดต่อเชื่อมโยงกับเมืองโบราณกันทรวิชัย เมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองสาเกตนครร้อยเอ็ดประตู ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยจนถึงเมืองศรีโคตรบองในลาว ดังที่ปรากฏโบราณวัตถุร่วมสมัยกันกระจายอยู่ตามเส้นทางโบราณนี้

จากข้อมูลทางภูมิศาสตร์กายภาพประกอบกับหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงเส้นทางเชื่อมโยงเมืองโบราณในสมัยทวารวดีแสดงให้เห็นว่าเมืองโยธิกาคือเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำป่าสัก ซึ่งมีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์และมีพัฒนาการจากบ้านเป็นเมือง จากเมืองเป็นรัฐจนเป็นอาณาจักรที่มั่งคั่ง

ความเจริญของเมืองโบราณในลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำป่าสักตั้งแต่ยุคทวารวดี และต่อมามีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมเขมรทำให้มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับกลุ่มเมืองในลุ่มแม่นํ้าโขงที่เป็นกลุ่มวัฒนธรรมลาว ข้อสันนิษฐานนี้สอดคล้องกับชื่อเมืองอีกชื่อหนึ่งที่ในตำนานอ้างว่าเป็นชื่อในสมัยพระโกนาคมพุทธเจ้าที่ชื่อ “พาหละนคร” คําว่า “พาหละ” น่าจะเพี้ยนมาจากคําว่า “พาหิระ” ในภาษาบาลีที่มรากศัพท์มาจากคำว่า “พาหยฺ” หมายถึง “ข้างนอกหรือภายนอก” ดังนั้น “พาหลนคร หรือ พาหิระนคร” จึงมีความหมายว่า “เมืองภายนอก” ข้อสันนิษฐานนี้แสดงให้เห็นภาพสะท้อนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเมืองในลุ่มแม่นํ้าโขงกับลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ในทัศนะของคนลุ่มแม่นํ้าโขงในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ว่า “วัฒนธรรมของเมืองโยธิกาในลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยาและลุ่มแม่นํ้าป่าสักเป็นวัฒนธรรมขอมที่มีความเป็นอื่น เป็นเมืองภายนอกที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากลุ่มแม่น้ำโขงของตนซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมลาว”

เรื่องราวที่มาของเมืองชื่อเมืองโยธิกาในตํานานอุรังคธาตุนี้จึงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นความแตกต่างระหว่างสองวัฒนธรรม ที่มีความสัมพันธ์กันในการติดต่อค้าขายและเกี่ยวข้องกันในทางการเมืองช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ระหวางกลุ่มเมืองลุ่มแม่น้ำโขงกับกลุ่มเมืองในวัฒนธรรมเขมรโบราณในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสัก โดยไม่ได้เจาะจงว่าโยธิยาเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ ณ ที่ใด แต่เป็นภาพรวมเรียกเมืองโบราณในลุ่มนํ้าเจ้าพระยาและลุ่มนํ้าป่าสักในฐานะเป็นเมืองภายนอกของกลุ่มวัฒนธรรมลาว อันเป็นทัศนะเกี่ยวกับ อโยธยาในสายตาคนลุ่มแม่นํ้าโขง

***

คอลัมน์ เปิดผ้าม่านกั้ง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๒ | มิถุนายน ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

บุญผะเหวด : บุญมหาชาติงานช้างในหัวใจศรัทธาชาวอีศาน
สถิติ
สมุนไพรระงับปวด
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com