ประวัติศาสตร์จากสาเกเชื่อม

ที่อยู่ตรงหน้าผมคือ สาเกเชื่อมถ้วยหนึ่ง ดู ๆ ไปแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรพิเศษ ของหวานโบราณถ้วยนี้ พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก ในยุคที่ “คัพเค้ก” ครองเมือง สัปดาห์ก่อน ผมขับรถไปพักผ่อนที่ชายทะเลแถวเพชรบุรี แวะซื้อขนมริมทางติดมือมานิดหน่อย หนึ่งในนั้นคือสาเกเชื่อม ราคา ๓ ถุงร้อย ใส่ตู้เย็นไว้หลายวันแล้ว เพิ่งนึกได้ เลยแกะถุงเทใส่ถ้วย นั่งพิจารณาดูอยู่ ณ บัดนี้

สาเกเชื่อม มีส่วนประกอบหลักเพียงสองอย่าง คือ ผลสาเก กับน้ำตาล การโคจรมาพบกันในถ้วยของหวานไม่แปลกอะไร แต่ความเกี่ยวข้องกันของทั้งสองสิ่งนี้ในอดีต เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์การเดินเรือ  ยิ่งไปกว่านั้น ประวัติของพืชอันเป็นต้นเหตุของเรื่องยังย้อนหลังไปไกลกว่านั้นมาก

หลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่า ราวแปดพันปีก่อน คนที่อาศัยในหมู่เกาะปาปัวนิวกินี ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นพวกแรกที่ค้นพบ และเพาะปลูกอ้อยเป็นครั้งแรก ภายในเวลาไม่ถึงสองร้อยปี การเพาะปลูกอ้อยก็แพร่หลายไปยังหมู่เกาะใกล้เคียง ได้แก่ หมู่เกาะโซโลมอน นิวเฮบริดีส และนิวคาลิโดเนีย

อีกสองพันปีต่อมา ต้นอ้อยและการปลูกอ้อยจึงมีขึ้นในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และชมพูทวีป ชาวอินเดียโบราณ ได้ประดิษฐ์เครื่องหีบน้ำอ้อย เพื่อทำน้ำตาลอย่างหยาบ โดยการต้มเป็นครั้งแรก น้ำตาลที่มีการกล่าวถึงหลายต่อหลายครั้งในพระไตรปิฎก ก็เป็นน้ำตาลก้อนที่เกิดจากการเคี่ยวน้ำอ้อย หรือน้ำหวานจากต้นตาลนั่นเอง เรียกเป็นภาษาฮินดี ว่า “กูด”  ต่อมาในสมัยพุทธกาล เมื่อกษัตริย์ดาริอัสแห่งเปอร์เซีย มีชัยชนะเหนือดินแดนในชมพูทวีป ชาวเปอร์เซียจึงได้ลิ้มรสความหวานของน้ำตาลจากอ้อย ซึ่งพวกเขาเรียกว่า ต้นอ้อ (reed) ที่ให้น้ำผึ้ง

ถัดมาอีกร้อยกว่าปี เมื่ออเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์กรีกจากมาซิโดเนีย พิชิตเอเชียตะวันตกได้ ชนชั้นสูงของกรีกและโรมัน จึงรู้จักรสหวานของน้ำตาล และการเพาะปลูกอ้อยก็แพร่ขยายมาสู่แอฟริกาเหนือและแถบเมดิเตอเรเนียนของยุโรป โดยมีเมืองเวนิส เป็นศูนย์กลางการค้าขายน้ำตาล

โดยเหตุที่อ้อยเป็นพืชเขตร้อน ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแดนส่วนใหญ่ของทวีปยุโรป น้ำตาลอ้อยจึงเป็นสินค้านำเข้าราคาแพง ที่พบเห็นได้บนโต๊ะอาหารของราชสำนักและชนชั้นกฎุมพีเท่านั้น  

อ้อย
น้ำตาลอ้อย

ด้วยเล็งเห็นถึงผลกำไรอันมหาศาลจากการค้าขายน้ำตาล สองชาตินักเดินเรือในยุคนั้น คือโปรตุเกสและสเปน จึงต่างแสวงหาดินแดนใหม่ที่สามารถเพาะปลูกอ้อยได้ ใน พ.ศ.๒๐๓๕ (ตรงกับรัชสมัยของ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงศรีอยุธยา) นักเดินเรือชาวเจนัว ชื่อ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส โดยการสนับสนุนของราชสำนักสเปน ได้แล่นเรือไปเจอแผ่นดินที่เป็นหมู่เกาะบาฮามาส แถบทวีปอเมริกากลางในปัจจุบัน 

อีก ๕ ปีต่อมา นักเดินเรือชาวโปรตุเกสชื่อ วาสโก ดากามา แล่นเรือจากทวีปยุโรป ลงใต้อ้อมแหลมกู๊ดโฮปที่ปลายทวีปแอฟริกา เลาะขึ้นเหนือไปตามชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก แล้วข้ามมหาสมุทรอินเดีย มายังเมืองท่ากาลิกัตของอินเดีย เมื่อ พ.ศ.๒๐๔๑ เส้นทางที่นักเดินเรือทั้งสองบุกเบิก ได้เป็นสะพานเชื่อมยุโรปกับดินแดนอันกว้างใหญ่ในเขตร้อน ที่นำมาซึ่งการเคลื่อนย้ายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ อีกทั้งได้เปลี่ยนโฉมหน้า และวิถีชีวิต ของคนเกือบทั้งโลกนับแต่นั้นมา

หนึ่งในสินค้าที่วาสโก ดากามา นำกลับมายังโปรตุเกส คือ น้ำตาลอ้อย โรงงานผลิตน้ำตาลบริสุทธิ์ถูกสร้างขึ้นโรงแล้วโรงเล่า ทำให้ลิสบอนในเวลานั้นเป็นเมืองหลวงแห่งน้ำตาลทราย

ส่วนโคลัมบัสนั้น ในการเดินทางครั้งที่สองไปยังดินแดนโลกใหม่ เขาได้นำพันธุ์อ้อยจากหมู่เกาะแคนารี่ ไปปลูกในอาณานิคมของสเปน ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน และเฮติ ความพยายามครั้งแรกล้มเหลว แต่เมื่อ พ.ศ.๒๐๕๒ ก็สามารถสร้างผลผลิตอ้อยได้ในปริมาณที่น่าพอใจ อีกสิบกว่าปีต่อมา ท่ามกลางไร่อ้อยในเม็กซิโก นักสำรวจชาวสเปนชื่อ คอร์เตซ ได้ตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของทวีปอเมริกาเหนือ

ทั้งไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล แพร่ขยายไปเฉกเช่นไฟลามทุ่งสู่ เปรู บราซิล โคลัมเบีย และเวเนซูเอลา ในเวลาไม่ถึงร้อยปี การผลิตน้ำตาลในเขตร้อนของทวีปอเมริกา กลายเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างความมั่งคั่งอย่างที่สุด ใครมีโรงงานน้ำตาลก็ร่ำรวยได้เสมือนมีเหมืองทอง จนมีคนขนานนามน้ำตาลว่า “ทองคำสีขาว”

ใน พ.ศ.๒๑๙๘ อังกฤษได้ครอบครองจาไมก้าและดินแดนส่วนอื่น ๆ ของหมู่เกาะเวสอินดี้ย์ จากนั้น โรงงานน้ำตาลของอังกฤษก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ใน พ.ศ.๒๒๙๓ มีโรงงานน้ำตาลของอังกฤษถึง ๑๒๐ โรง กำลังการผลิตรวมกันถึงปีละ ๓๐,๐๐๐ ตัน แม้กระนั้นก็ยังมีราคาแพงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะซื้อหามาบริโภคได้บ่อย ๆ กล่าวกันว่า สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบต โปรดให้ตั้งโถใส่น้ำตาลไว้ตลอดเวลาบนโต๊ะเสวย เพื่อแสดงถึงความมั่งคั่งของพระองค์ ความชื่นชมในรสหวานของน้ำตาล ยังทำให้เกิดธรรมเนียมการดื่มชาใส่น้ำตาลของชาวอังกฤษและคนทั่วโลกในเวลาต่อมา ตราบจนทุกวันนี้

การขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยอย่างมหาศาล จำเป็นต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากเช่นกัน เมื่อแรงงานจากคนพื้นเมืองถูกใช้จนหมดสิ้นแล้ว การนำเข้าแรงงานจากที่อื่นจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะมาจากที่ใดเล่า ถ้าไม่ใช่ทวีปแอฟริกา ที่ชาวยุโรปสามารถซื้อหาทาสได้ด้วยเงิน และลูกปืน

อันที่จริง การค้าทาสในยุโรปมีมาเนิ่นนานก่อนหน้านั้นหลายร้อยปี ไม่เฉพาะคนผิวดำเท่านั้นที่ถูกขายเป็นทาส คนผิวขาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชาติสลาฟ ก็ถูกจับเป็นทาสด้วยเช่นกัน เป็นไปได้หรือไม่ที่คำว่า “สเลฟ” (slave) ในภาษาอังกฤษที่แปลว่าทาส มีรากมาจากชื่อชนชาตินี้

มีผู้ประมาณว่า ในเวลาเกือบสี่ร้อยปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๐๔๔  – พ.ศ.๒๔๑๐ ทาสผิวดำถูกขนส่งไปยังอเมริกาถึงกว่าสิบสองล้านคน นี่ยังไม่รวมจำนวนทาสที่ตายระหว่างการเดินทาง ที่ว่ากันว่าสูงถึงเที่ยวละ หนึ่งในสี่ ที่ตายก็ถูกโยนทิ้งทะเลไป

เมื่อมีทาสจำนวนมากในไร่อ้อย ก็ต้องมีอาหารให้ทาสกินอย่างเพียงพอ ในช่วง พ.ศ.๒๓๒๓ – พ.ศ๒๓๒๙ เกาะจาไมก้าประสบภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง มีทั้งแห้งแล้ง ซ้ำเติมด้วยพายุเฮอริเคน สลับกันไป จนถึงจุดที่อาหารขาดแคลน  สถานการณ์เช่นนี้ทำให้พวกทาสอดตายได้ แต่ที่บรรดาเจ้าของไร่อ้อย และเจ้าของโรงงานน้ำตาล หรืออีกนัยหนึ่งนายทาสหวั่นเกรงก็คือ การลุกฮือของพวกทาส  

ในตอนนั้น มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นไม้เมืองร้อนชนิดหนึ่ง มีผลโตเท่าลูกฟุตบอล เมื่อปรุงสุกแล้ว สามารถกินได้เช่นเดียวกับขนมปัง ต้นไม้ที่ว่านี้ยังให้ผลดกมากถึงต้นละกว่า ๒๐๐ ลูกต่อปี โตเร็วและแทบไม่ต้องการดูแลเอาใจใส่เลย ผลไม้ที่คนอังกฤษเรียก “หมากขนมปัง” (breadfruit) นี้ คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ “สาเก”

คงไม่มีใครนำพากับเรื่องผลไม้วิเศษนี้เป็นแน่ หากไม่เป็นเพราะ กัปตัน เจมส์ คุ๊ก ได้ถวายรายงานต่อ กษัตริย์จอร์จที่ ๓ ว่า เขาเป็นผู้พบต้นสาเกเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๒ ที่เกาะตาฮิติ และยินดีจะเดินทางไปที่นั่นอีกครั้ง เพื่อนำมาปลูกในหมู่เกาะแคริบเบียนของอังกฤษ

ราชสำนักอังกฤษจึงมอบหมายให้ วิลเลียม บลายห์ (William Bligh) วัย ๓๓ ปี ผู้เคยเดินทางกับกัปตันคุ๊กมาก่อน เป็นผู้รับภารกิจนี้  บลายห์ และเรือหลวงชื่อเบาน์ตี้ (H.M.S. Bounty)  ออกเดินทางจากท่าเรือพอร์ทสมัธ (Portsmouth) ประเทศอังกฤษ เมื่อปลาย พ.ศ.๒๓๓๐ ภารกิจคือ นำเอาหน่อพันธุ์พืชวิเศษนั้น จากตาฮิติและติมอร์ ไปยังจาไมก้า ให้ได้มากที่สุด

หลายเดือนต่อมา บลายห์เดินทางถึงจุดหมาย เขาและพวกลูกเรือ ใช้เวลาราว ๕ เดือน รวบรวมหน่อสาเกได้กว่าหนึ่งพันต้น ขณะที่ลูกเรือบางคน แอบผูกสัมพันธ์กับสาวชาวโพลินีเซียน  สามสัปดาห์หลังจากออกเดินทางกลับ ในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๒ พวกลูกเรือที่นำโดย เฟลทเชอร์ คริสเตียน (Fletcher Christian) อ้างความโหดร้ายของกัปตันบลายห์ ได้เข้ายึดเรือเบาน์ตี้ จับบลายห์และลูกเรือที่ภักดีกต่อเขา ๑๘ คน ปล่อยลงเรือเล็ก พร้อมกับอาหารและน้ำเพียงเล็กน้อย โดยไม่ให้ทั้งแผนที่และเข็มทิศ หลังจากนั้น พวกลูกเรือกบฏก็นำเรือเบาน์ตี้กลับไปรับสาว ๆ ที่ตาฮิติ และเดินทางต่อไปทางตะวันออกเฉียงใต้อีกสองพันกว่ากิโลเมตร เพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายที่เกาะพิตแคร์น (Pitcairn)

ขณะเดียวกัน กัปตันบลายห์และพวก ที่มีเพียงนาฬิกาพก ประสบการณ์ ความสามารถ และความหวัง สามารถล่องเรือไปทางตะวันตกจนถึงติมอร์ได้ในเวลา ๔๗ วัน รวมระยะทางเกือบเจ็ดพันกิโลเมตร ก่อนจะเดินทางด้วยเรืออื่นกลับไปอังกฤษได้ในที่สุด

ใน พ.ศ.๒๓๓๔ กัปตันบลายห์ เดินทางไปยังตาฮิติอีกครั้งหนึ่งด้วยเรือ ”โพรวิเด๊นซ์” คราวนี้เขารวบรวมสาเกได้ถึง ๒,๑๒๖ ต้น และอยู่รอดจนถึงปลายทางที่แคริบเบียนได้ ๖๗๘ ต้น ไม่กี่ปีต่อมา สาเกเหล่านี้ก็ให้ผลดกงามตามคาด แต่กลับไม่มีใครชอบรสชาติ ที่คล้าย “มันฝรั่งปรุงไม่สุก” พวกทาสเองก็ไม่ยอมกิน  สุดท้ายต้องเอาสาเกไปเลี้ยงหมู

การยึดเรือเบาน์ตี้ และการเดินทางอันน่าอัศจรรย์ของกัปตันบลายห์ ได้ถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จถึงสองครั้งใน พ.ศ.๒๔๗๘ และ พ.ศ.๒๕๐๕  ในวันนี้ ลูกหลานของลูกเรือเบาน์ตี้ก็ยังอาศัยที่เกาะพิตแคร์น และที่เกาะจาไมก้า ยังมีต้นสาเกที่เชื่อกันว่า นำมาโดยกัปตันบลายห์เมื่อ ๒๐๐ กว่าปีก่อน ส่วนลูกสาเกนั้น มีวิธีการปรุงหลากหลายจนเป็นเสมือนผลไม้ประจำชาติจาไมก้าไปแล้ว

ต้นสาเก
ผลสาเก

ขากลับจากเพชรบุรี ผมแวะเยี่ยมพี่ชายอดีตผู้บริหารบริษัทเหมืองแร่ ที่วันนี้มีชีวิตสงบสบาย ในบ้านชานเมืองนครปฐม สังเกตเห็นมีสาเกต้นใหญ่ติดผลอยู่ประปรายต้นหนึ่ง พี่ชายเล่าให้ฟังว่า สาเกต้นนี้ มีลูกดกมาก เก็บลูกที่สุกพอดี ไม่แก่จัด ฝานเปลือกนอก ล้างยางออกด้วยน้ำไหล หั่นเป็นชิ้นตามขวาง นำไปนึ่งจนสุกดี แล้วต้มในน้ำเชื่อม ทำเช่นนี้เป็นรุ่น ๆ ไป หมดเวลาไปวันหนึ่ง ได้สาเกเชื่อมนับสิบถุงไว้แจกแขกที่มาเยือน

พี่ชายคุยว่า สาเกเชื่อมทำเองนี้ ใคร ๆ ก็ชมว่าอร่อยสุดยอด เนื้อเหนียว แน่น หวานกำลังดี

น่าเสียดาย สาเกเชื่อมที่พี่ชายทำไว้หมดรุ่นไปแล้ว เลยไม่รู้ว่าจะอร่อยเด็ดเหมือนราคาคุยหรือไม่ ก็ไม่เป็นไร สาเกถุงที่ซื้อริมทางมีอยู่ จะลองสักช้อนไหมครับ

***

คอลัมน์  ผักหญ้าหมากไม้  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๘| กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ตํานานพื้นบ้านในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง (๒)
ศาสนาวานนี้ วันนี้ และวันหน้า
[๑๓ – บทส่งท้าย] เส้นทางตามหาปาจิต และการมุ่งสู่มาตุภูมิ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com