ประวัติและที่มา ทำไมเวลาคนใกล้สิ้นใจต้องให้ท่องคำว่า “อรหัง”

ประวัติและที่มา ทำไมเวลาคนใกล้สิ้นใจต้องให้ท่องคำว่า “อรหัง”

กาลอันล่วงเลยมานานแสนนานแต่สามารถกำหนดช่วงเวลา  กำหนดวัน  กำหนดเดือน กำหนดปีที่เกิดเหตุการณ์ได้ และสามารถที่จะกำหนดเป็นศตวรรษได้  โดยเริ่มต้นจากกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว

ในสมัยที่พระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ประเทศไทยในยุคแรก ๆ มีหลากหลายครั้งและหลากหลายเส้นทาง  ครั้งแรกที่ปรากฏหลักฐานชัดเจน  เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการนั้น  หลังจากการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ประมาณ พ.ศ.๓๐๓ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ในการทำสังคายนาครั้งนี้  ได้ทรงเลือกพระเถระองค์สมาชิกในการทำสังคายนา  เลือกสรรเอาแต่พระมหารเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ  เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เมื่อเสร็จสมบูรณ์ดีแล้วก็ส่งไปเป็นสมณทูตศาสนธรรม  ออกไปเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งที่เป็นดินแดนของอินเดียในปัจจุบัน  และต่างประเทศที่ใกล้เคียง  รวมทั้งสิ้น ๙ สายเส้นทาง  สำหรับเส้นทางสายที่ ๘ โดยการนำของพระโสณะเถระและพระอุตตรเถระ  พร้อมด้วยคณะมีพระฌานิยะ  พระภูริยะ  พระมุนียะ นอกจากนี้ ยังมีสามเณร  อุบาสก อุบาสิกา ร่วมคณะจำนวน ๓๘ รูป/คน ที่ปรากฏชื่อในจารึก เช่น อตุลยะ  อปัจจะ  และเมียชื่อ  อุตลยา  เป็นอิสสรพราหมณ์  นอกนั้นมีเขมกอุบาสก  อนีฆาอุบาสิกา  เป็นต้น

คณะทูตศาสนธรรมได้ออกเดินทางจากอินเดีย โดยใช้การเดินทางเรือเข้าเทียบท่า  แล้วเข้าแวะพักที่เมืองช้างค่อมหรือนครศรีธรรมราชแล้วเดินทางต่อมายังเมืองทองสุวรรณภูมิหลังมีการทำสังคายนาแล้วเสร็จใหม่ ๆ เดินทางมาถึงเมื่อเดือนอ้ายขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีฉลู ต่อมาในวันรุ่งขึ้น ๑๕ ค่ำ  พระโสณเถระได้แสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก  มีชื่อเรื่องว่า “พรหมชาลสูตร” หลังจากฟังเทศน์จบทำให้ผู้คนที่เข้าฟัง  และผู้ฟังนำไปบอกต่อญาติมิตรทำให้ผู้คนในดินแดนแถบนี้  เกิดความเลื่อมใสศรัทธาพากันเข้าถึงพระรัตนตรัย  ปรากฏว่าได้มีผู้ชายขอบวชเป็นพระภิกษุมีจำนวนมากถึง ๑,๐๐๐ รูป และมีผู้หญิงได้ขอบวชเป็นแม่ชีจำนวน ๑๐๐ คน นับว่าเป็นจุดกำเนิดของแม่ชีไทยที่มีมาในกาลครั้งนั้น  อาจจะเป็นเพราะว่ากาลครั้งนั้นไม่มีภิกษุณีมาด้วย  และการบวชชีง่ายกว่ารักษาศีลน้อยกว่ามีความเหมาะสมกว่า  จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบหลักฐานของชื่อ “วัดประชุมนารี” อยู่ที่บ้านโสนใหญ่หรือสระบางควายใหญ่  ที่เมืองพริบพลีหรือจังหวัดเพชรบุรีในปัจจุบัน

กาลครั้งนั้นแล  ผู้คนที่อาศัยอยู่ยังดินแดนแถบนี้เรียกว่า สยามประเทศหรือประเทศไทยในปัจจุบัน  ในสมัยก่อนโน้น ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ โดยในยุคนั้นสังคมไทยกำลังได้รับพระพุทธศาสนาใหม่ ๆ ผู้คนประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเข้าป่าล่าสัตว์มาเป็นอาหาร  เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีเรื่องเล่ากันมานานว่า ยังมีครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกในครอบครัวมีนายสมเป็นพ่อ  มีนางสายทองเป็นภรรยา  และมีลูกชายชื่อว่า ทอง  ลูกสาวชื่อว่า สุนี  เมื่อเสร็จจากการทำไร่ทำนาแล้ว  ก็มักจะเข้าป่าหาล่าสัตว์ หากเหลือกินก็จำนำไปขายที่ตลาด  นับว่าเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

กาลเวลานั้นผู้คนในละแวกนี้ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนากันแล้ว  นับตั้งแต่ยุคต้น ๆ ที่พระมหาเถระนำเข้ามาเผยแผ่  และครอบครัวของนายสมก็ส่งลูกชายเข้าไปบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาด้วย  คราวนั้นนายสมได้มีอายุมากแล้วประมาณ ๘๘ ปี  เกิดล้มป่วยลงตามอายุขัยของมนุษย์  โรคร้ายได้กำเริบขึ้นทุกวันจนอาการป่วยหนักขึ้นทุกวัน  พอถึงวันใกล้จะสิ้นใจตายด้วยอำนาจแห่งกรรมไม่ดีที่ตนกระทำมา  โดยเฉพาะกรรมที่ออกป่าล่าสัตว์มาแต่ยังเด็ก พฤติกรรมการล่าก็คือการทำร้ายชีวิตสัตว์ให้สิ้นไป  หรือบางครั้งก็ทรมานสัตว์  เหล่าสัตว์ทั้งหลายที่ถูกนายสมฆ่าเอาเนื้อหนังไปกินไปขาย  ก่อนจะตายสัตว์ต่าง ๆ เหล่านั้นที่ตนเคยฆ่าในกาลก่อน  ก็พากันมาปรากฏอยู่ให้เห็นเฉพาะหน้า  ล่องลอยหมุนเวียนไปมาเป็นตัวสัตว์น้อยใหญ่ชนิดต่าง ๆ

อยู่มาวันหนึ่งเมื่อพระลูกชายมาเยี่ยม  จึงได้บอกแก่บุตรชายผู้บวชเป็นพระภิกษุให้ทราบว่า “ตนเองได้เห็นภาพสัตว์ต่าง ๆ ที่ตนเคยฆ่าเคยร้าย  ได้มาปรากฏภาพให้เห็นอยู่ประจำ พ่อมีความกลัวต่อสัตว์ทั้งหลายที่มาปรากฏให้เห็น  เหมือนกับว่าจะเข้ามาท้วงเอาชีวิตตน  จึงเกิดความสะดุ้งตกใจกลัวในเหตุการณ์นี้ยิ่งนัก…!” เป็นเหตุให้นอนสะดุ้งหวาดผวาอยู่ตลอดเวลา  บางครั้งก็ก่อความรำคาญให้กับผู้คนที่อยู่รอบข้างด้วย

เมื่อพระลูกชายได้ยินพ่อพูดเช่นนั้น  ครั้นทราบแล้วได้นำมาวิเคราะห์สาวหาเหตุตามหลักพุทธธรรม  ก็ได้คำตอบทันทีพร้อมกับนึกรู้อยู่ในใจว่า “นั่นเป็นภาพอกุศลกรรมที่มาปรากฏในจิตของบิดาตน  ที่เคยประกอบการล่าพร้อมกับฆ่าสัตว์อื่นมามากต่อมาก  เมื่อพอเวลาใกล้จะหมดบุญจวนตาย  ดวงวิญญาณของพ่อจะรับรู้หรือมองเห็นสัตว์เหล่านี้  ได้พากันติดตามมาหลอกหลอนดวงจิตของพ่อตลอดเวลา…!”

เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้วจึงรับสั่งให้น้องสาวจัดหาดอกไม้ธูปเทียนมาให้  แล้ววางใส่ในมือบิดาพร้อมกับบอกว่า  “พ่อเอ๋ย…! จงเล็งสายตามองมาดูดอกไม้ธูปเทียนนี้  จงรำลึกบูชาถึงพระพุทธ  พระธรรม  และพระสงฆ์เถิด  จงตั้งจิตตั้งใจเอาพระพุทธ  พระธรรม และพระสงฆ์  ว่าเป็นสรณะที่พึ่งที่อาศัยเถิดพ่อ…!” เพื่อที่จะช่วยให้บิดามีอารมณ์เดี่ยว จิตก็จะเป็นสมาธิ  ภาพหลอกหลอนของสัตว์เหล่านั้นก็จะหายไป

ครั้นเมื่อบิดาได้ยินคำแนะนำของพระลูกชายบอก ก็กระทำตามที่พระลูกชายได้แนะนำธรรมนั้น บวกกับต้นทุนของจิตที่เคยเคารพนับถือพระพุทธศาสนามาแต่ต้นอยู่แล้ว  จิตก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัย  ความสะดุ้งตกใจกลัวก็ค่อย ๆ จางหายหมดไป  ก็เพราะจิตสัมปยุตต์ด้วยกุศล (สํ (พร้อม) + ป (ทั่ว) + ยุตฺต (ประกอบ) + จิตฺต(จิต) จิตที่ประกอบทั่วพร้อม หมายถึง จิตทประกอบด้วยเจตสิกที่เด่น  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จิตดวงนี้แตกต่างจากจิตดวงอื่น ๆ สัมปยุตตจิตมี ๕ ประเภท ได้แก่ โลภมูลจิต ๔ ดวงที่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย  โทสมูลจิต ๒ ดวงที่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย  โมหมูลจิตที่มีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย  โมหมูลจิตที่มอุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย  และโสภณจิต ๔๗ดวงที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย) สิ่งที่เป็นอกุศลก็จะอันตรธานหายไปทันที  ครั้นสิ้นชีพวายชนม์ไปก็จะได้ไปเกิดบนสรวงสวรรค์

เพราะว่าอารมณ์ก่อนที่จะสิ้นลมหายจะสำคัญมาก  ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายของภพชาติ หากจิตมีอารมณ์ดีเป็นกุศลก็จะได้รับแต่สถานที่ดี ๆ จะไปเกิดในสวรรค์  แต่ถ้าว่าอารมณ์ของจิตรับแต่สิ่งที่เป็นอกุศลเป็นอารมณ์ไม่ดี  ก็จะส่งผลให้ไปเกิดในสถานที่ไม่ดีมีแต่ความทุกข์นั่นคือนรก

ด้วยเหตุแห่งความเชื่อดังกล่าวนี้  นับตั้งแต่กาลครั้งนั้นเป็นต้นมาชาวพุทธทั้งหลาย  คติความเชื่อดังกล่าวนับแต่ผู้คนรุ่นก่อนมา

จนถึงชนรุ่นหลัง ๆ ก็ได้พากันกระทำกันสืบ ๆ มา  ด้วยความเชื่อและคาดหวังว่า  ผู้ที่ป่วยก่อนจะสิ้นลมหายใจตายให้รำลึกนึกถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ  พระธรรม  และพระสงฆ์  จิตก็จะเกิดความเชื่อความเลื่อมใสขึ้นในดวงจิตนั้น ๆ  นอกจากนี้ ในเวลามัดตราสังศพก็ยังให้มือศพถือเอากรวยดอกไม้ธูปเทียน  ก็เพราะว่าจะให้ผู้ตายนำไปบูชาพระจุฬามณี  สถานที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์  พร้อมกับบริกรรมภาวนาว่า

“ธนํหตฺเถ. ทรัพย์สินเป็นห่วงผูกมือ  นำด้ายที่ผูกมือไปผูกคอ  ภาวนาว่า ปุตฺโต คีวํ หรือ คีเว.  บุตรเป็นห่วงผูกคอ  และผูกเท้ากล่าวว่า ภริยา ปาเท.  ภริยาเป็นห่วงผูกเท้า)”

ตรงกับภาษิตโบราณที่กล่าวไว้ว่า “ตัณหาฮักลูกเหมือนดังเชือกผูกคอ  ตัณหาฮักเมียเหมือนดังปอผูกศอก  ตัณหาฮักเข้าของเหมือนดังปอกสุบตีน  ตัณหาสามอันนี้มาขีนให้เป็นเชือก  ให้กลิ้งเกลือกอยู่ในวัฏฏะสงสาร…!” อีกทั้งนับว่า ดอกไม้ธูปเทียนเป็นสัญลักษณ์แห่งการทำดี  และเป็นสัญลักษณ์แห่งชาวพุทธที่ยึดมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ครั้นผู้ป่วยเจ็บหนักจวนจะสิ้นใจตาย  คำว่า พระพุทธ  พระธรรม  และพระสงฆ์ เป็นพระรัตนตรัยที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา  จึงได้สรุปย่อเหลือเพียงสั้น ๆ เพื่อที่จะให้ผู้ตายจดจำได้ง่ายขึ้น  เพราะเวลาจวนใกล้ตายทุกขเวทนาจะมีมาก บางครั้งผู้กำลังป่วยใกล้ตายรับทุกขเวทนาเจ็บปวดมาก  อาจไม่ได้ยินคำว่า“พระรัตนตรัย” อีกทั้งเวรกรรมก็ตามมาด้วยจึงได้นิยมให้ผู้ป่วยบริกรรมเพียงคำว่า “อรหัง” เท่านั้น

ผู้พยาบาลอยู่ข้าง ๆ ก็มักตะโกนบอกดัง ๆ ว่า อรหัง อรหัง อรหัง… ให้ผู้ป่วยได้ยินคำนี้ ชัด ๆ คำว่า อรหัง หมายถึง พระอรหันต์  ผู้หมดจดจากกิเลส  ผู้ไม่มีกรรมชั่วแล้ว  ผู้มีแต่กรรมดี  ผู้บริสุทธิ์สะอาด  ผู้มีแต่ความสุขตลอดกาล  ผู้เป็นธงชัยแห่งความดีทั้งหลาย  กล่าวโดยนัยก็เพื่อให้จิตจวนใกล้จะตาย  เมื่อเคลื่อนออกจากร่างจะได้รำลึกถึงคุณพระอรหันต์  มีหน่วยแห่งคุณพระเป็นอารมณ์  เมื่อดับขันธ์แล้วก็จะได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ (จึงมีคำสำนวนที่ว่า “อรหัง”)

ปรัชญาจากตำนานชาวอุษาคเนย์ปรัมปรา

นิทานปรัชญาชาวบ้านปรัมปราเรื่องนี้  ได้เสนอแนวคิดเรื่องการทำความดี  หากจะมาทำแค่ก่อนสิ้นลมหายใจ จะมานึกถึงแค่พระอรหันต์คงจะไม่เพียงพอแน่  เพราะกรรมบางครั้งหากสะสมกรรมชั่วไว้มาก ๆ แล้ว  ถึงจะเอาพระอรหันต์มาช่วยในระยะเท่านี้ คงไม่ทันการณ์เพราะกรรมชั่วมันจะดึงไปหมด  กรรมชั่วมันหนักหรือเป็นเวรกรรมที่หนัก จะเอาอะไรมาช่วยก็ช่วยไม่ได้แล้ว ดังคำพุทธภาษิตที่ว่า“กมฺมุนา วตฺตตี โลโก แปลว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” (ม.ม. ๑๓/๖๔๘, ขุ.สุ. ๒๕/๔๕๗) จะเห็นได้ว่า ตามหลักพุทธปรัชญา  สัตว์โลกทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ดิรัจฉานจะต้องเป็นไปตามอำนาจของกรรมทั้งนั้น  เราเกิดมาเป็นมนุษย์ก็เพราะกรรมพามา สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย เช่น สุนัข  ช้าง  ลิง  ม้า หมู  วัว  ควาย  แมว เป็นต้น ที่มาเกิดในสภาพเช่นนี้ก็เพราะกรรมพามา  เพราะฉะนั้นจงเริ่มทำตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป  พอใกล้วันจะสิ้นลมหายใจมาไม่นึกถึงมันก็มาเอง  เพราะกรรมดีก็มาแรงเช่นกัน

Related Posts

งานเขียนชุด “มหากาพย์ชนชาติไท” บรรพสอง ‘หนูไฟ เป่าหน’ นักเดินทางผู้ยิ่งยง คงนามไท (ตอนที่ ๑)
(๒) สู่เวิ้งจักรวาฬอันไพศาล
“เห็ดเผาะ” ฤดูน้ำ ฤดูฝน ฤดูคนรักเห็ด
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com