ปริศนาสุริยะเทพ

มรดกวัฒนธรรมจากบ้านจิมฯ

นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๐ | มิถุนายน ๒๕๕๙

สุริยะเทพ พิพิธภัณฑ์บ้าน จิม ทอมป์สัน

ประติมากรรมหินรูปสุริยะเทพ พบไม่มากในอาเซียน และที่พบในไทยและกัมพูชานั้นแตกต่างจากที่พบในชวาชัดเจน สุริยะเทพที่พบในไทยและกัมพูชาส่วนหนึ่งสวมหมวกแขกหรือที่เรียกว่า กีริฎมงกุฎ อีกส่วนหนึ่งสวมหมวกแขกเหลี่ยม บางรูปมีหนวดเครา (เช่นองค์ที่พบ ที่ศรีเทพ) สุริยะเทพสวมหมวกเหลี่ยมนี้ ผู้รู้ท่านว่าเป็นลักษณะพิเศษที่พบในอาเซียน แต่ไม่พบในอินเดีย ส่วนสุริยะเทพสวมหมวกแขกนั้นเป็นอิทธิพลช่างอินเดีย

ในพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน มีเศียรเทวรูปพระสุริยเทพสวมหมวกแขกอยู่องค์หนึ่ง ดูพระพักตร์แล้วก็น่าจะเป็นศิลปะอินเดียหนังสือ “THE HOUSE ON THE KLONG” ฉบับพิมพ์ปี ๑๙๖๙ แนะนำว่าเป็นศิลปะยุคก่อนพระนคร (คือเจนละตอนต้น) อายุในราว คริสต์ศตวรรษที่ ๗ – ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๘ สลักจากหินปูน มีความสูง ๓๙ ซม. โบราณวัตถุชิ้นนี้ได้มาจากจังหวัดชลบุรี

เมื่อตรวจสอบแหล่งโบราณคดีสมัยเดียวกันในชลบุรี แหล่งที่ได้ประติมากรรมสุริยะเทพก็น่าจะคือเมืองพระรถ ต.หน้าพระธาตุ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ซึ่งค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก และพบถ้วยเปอร์เซียสีฟ้าด้วย ส่วนเมืองศรีพะโล ต.หนองไม้แดง อ.เมือง จ.ชลบุรี นั้นมีอายุเป็นเมืองท่ามาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๒๑ มีอายุน้อยกว่าเทวรูปพระสุริยะเทพองค์นี้

เมืองพระรถ สมัยทวารวดีเป็นเมืองท่าที่อยู่ใกล้เคียงกับ เมืองศรีมโหสถ (อ.โคกปีบ จ.ปราจีนบุรี), เมืองดงละคร (จ.นครนายก), เมืองท้าวอุทัย และบ้านคูเมือง (จ.ฉะเชิงเทรา) , เมืองพะเนียด หรือเมืองกาไว จังหวัดจันทบุรี และร่วมสมัยกับ ปราสาทเขาน้อย จังหวัดสระแก้ว ซึ่งแต่ละเมืองมีคูเมือง กำแพงเมือง ซากสิ่งก่อสร้างและโบราณวัตถุปรากฏเป็นพยานหลักฐานให้เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ประติมากรรมในทางศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ทับหลังปราสาทหิน และเครื่องปั้นดินเผาต่าง ๆ อาจกล่าวได้ว่า เมืองพระรถเป็นเมืองท่าร่วมสมัยกับยุค “อีศานปุระ” ของ พระเจ้าอีศานวรมัน(ราชโอรสของ “จิตรเสน หรือ มเหนทร วรมัน)

ผู้รู้อธิบายว่า ศาสนาพราหมณ์นิกายหนึ่งคือ นิกายเสารัสสะ บูชาพระสุริยเทพ

เนบูคัด นัสซาร์ กษัตริย์แห่งบาบิโลน สิ้นพระชมน์เมื่อ ๕๖๒ ปีก่อนคริสตศักราช

เดิมสุริยะเทพเป็นเทพเจ้าในลัทธิบูชาพระสุริยเทพตามคติศาสนาโซโลอัสเตอร์ วัฒนธรรมเปอร์เซีย(อิหร่าน) ต่อมาแนวคิดดังกล่าวแผ่ไปในอินเดีย แล้วกลายเป็นเสารัสสะนิกายหนึ่งในศาสนาพราหมณ์ และหมวกแขก หรือ กีริฎมุงกุฎ ก็เป็นอิทธิพลวัฒนธรรมเปอร์เซีย

นิกายเสารัสสะ ที่บูชาสุริยะเทพนั้น เป็นอิทธิพลของชาวศกะ หรือ ชิเถียน ซึ่งมีพื้นเพอยู่ทางเปอร์เซีย อัฟกานสถาน ซึ่งเป็นต้นเค้าชื่อ “อาณาจักรกัมโพช” หรือกัมพุช

พราหมณ์ในนิกายนี้เข้ามามีอิทธิพลมากในรัชสมัยพระเจ้าอีศานวรมัน ตามจารึกในกลุ่มปราสาทสมโบร์พรกุก (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกำปงธม) กล่าวถึง พราหมณ์ชาวศกะ (ดินแดนแถบตักษิลา) ชื่อ ทุรคสวามิน ไปจากที่ราบสูงเดคข่าน ได้เศกสมรสกับพระราชธิดาของพระเจ้าอีศานวรมัน (เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มาก) จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่นิกายเสารัสสะ จะมีอิทธิพลมากในเจนละยุคต้น และปรากฏเทวรูปสุริยะเทพศิลปะพนมดา (พุทธศตวรรษที่ ๑๒) ที่กำปงจามทรงฉลองพระองค์แบบ อินโด-ชิเถียน (เสื้อคลุมยาว แบบอินเดียเหนือ) , ชิ้นส่วนพระสุริยะเทพหินทราย ที่ปราสาทตาแก้ว (ศิลปยุคไพรกเมง) , พระสุริยะเทพที่ศรีเทพ และพระสุริยะเทพที่ชลบุรี (พนัสนิคม)

เป็นอันแน่นอนว่าพราหมณ์ชาวศกะ เข้ามามีอิทธิพลสูงในอาณาจักรเจนละตอนต้น (ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอีศานวรมัน)

ภายหลังจากยุคพระเจ้าอเล็กซานเดอร์แล้ว มีคนหลายกลุ่มบุกรุกจากเปอร์เชียเข้ามาทางช่องเขาไคเบอร์และเข้ามาปกครองเมืองตักษิลาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่พวกศกะหรือซิเถียนระลอกแรก และพวกปาร์เถียน ท้ายสุด พวกซิเถียนระลอกหลังได้เข้ามาและสถาปนาราชวงศ์กุษาณะขึ้น พวกศกะหรือซิเถียนราชวงศ์กุษาณะนี่เอง ที่มีอิทธิพลต่อศิลปะพราหมณ์และพุทธมาก

เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์บุกรุกเปอร์เซียและข้ามช่องเขาไคเบอร์เข้ามา ได้โจมตีแคว้นกัมโพชะ ชาวกัมโพชะอพยพหลบหนีเข้าไปในอินเดีย และชื่อ “กัมโพชะ” หรือ “กัมพุช” ก็น่าจะยังฝังใจพวกชาวศกะ หรือซิเถียนอยู่

และฉันจินตนาการไปว่า ด้วยอิทธิพลพราหมณ์ชาวศกะ พระราชบุตรเขยของพระเจ้าอีศานปุระ นี้เอง ทำให้นิยมนำเอาชื่อ “แคว้นกัมพุช” หรือ “กัมโพชะ” มาใช้ในเจนละ แล้วกลายเป็นชื่อ “กัมพูชา” ในเวลาต่อมา

สุริยะเทพ พบที่เมืองศรีเทพพระสุริยะ เทพ เคยแสดงในพิพิธภัณฑ์สถานพระนคร ปัจจุบันไม่ ทราบว่าย้ายไปที่ไหน (ขอบคุณภาพจาก บล็อกสาย หมอกและก้อนเมฆ)

ปริศนานี้ใหญ่นัก ต้องขอเวลาศึกษาอีกสักหน่อย

ท่านที่ใจร้อน ศึกษาข้อมูลได้จากวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ ๒๕๕๓ เรื่อง “การนับถือสุริยะเทพในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙” ของ นายศรัณย์มะกรูดอินทร์ และเรื่อง “ศิลปกรรมที่เมืองตักษิลา” ของ เชษฐ์ ติงสัญชลี ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรในวารสารเมืองโบราณ (เปิดอ่านจากกูเกิ้ล จึงไม่รู้ว่าฉบับปีไหน) ไปพลาง ๆ ก่อนเด้อ

Related Posts

ฮูปแต้มวัดมหาธาตุ อำเภอเชียงคาน
มหัศจรรย์บัวหลวง
แกะรอยคำว่า เงือก
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com