มหัศจรรย์บัวหลวง

ดอกบัวเผยให้เห็นฐานรองดอก

บัวหลวง หมายถึงบัวชนิดที่ใบอยู่เหนือผิวน้ำ ก้านใบและก้านดอกแข็ง ดอกมีเพียงสองสีเท่านั้น คือขาวและชมพู บางทีก็มีทั้งขาวทั้งชมพูในดอกเดียวกัน บัวชนิดนี้เองที่คนไทยใช้ถวายพระสงฆ์และไหว้พระพุทธ เรียกอีกอย่างว่า ปทุมชาติ ชื่อจังหวัดปทุมธานี ก็สื่อถึงบัวชนิดนี้

บัวอีกชนิดหนึ่ง เรียกบัวสาย มีใบลอยอยู่ติดผิวน้ำ ดอกมีหลายสี ขาว เหลือง ชมพู ม่วง ฯลฯ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ และใช้ก้านดอกเป็นอาหาร บัวจำพวกนี้ เรียกอีกอย่างว่า อุบลชาติ ชื่อจังหวัดอุบลราชธานี ก็สื่อถึงบัวชนิดนี้

คนไทยคุ้นเคยกับบัวหลวงมานาน ลำต้นใต้โคลนที่มักเรียกกันอย่างเคยปากว่ารากบัวนั้น ใช้ทำอาหาร ได้ทั้งของคาวและของหวาน แม่ค้าในยุคก่อนถุงพลาสติก ใช้ใบบัวห่อเนื้อหมู เนื้อปลา ให้ลูกค้า แม้ปัจจุบัน ข้าวห่อใบบัวยังเป็นอาหารขึ้นชื่อ ใบบัวแห้งใช้เป็นสมุนไพร ใยจากก้านบัว ทอเป็นผ้าได้เบาบางนัก พอมีให้เห็นเป็นผืนจีวรของสงฆ์บางรูปในประเทศเมียนมา กลีบดอกบัวตากแห้ง มวนยาเส้นสูบได้รสได้กลิ่นนุ่มนวลถูกคอ เกสรบัวใช้เป็นเครื่องยาบำรุงหัวใจ เมล็ดบัวเป็นของกินเล่น ทำขนมได้หลายอย่าง ต้นอ่อนในเมล็ด รสขมจัด เป็นสมุนไพรบำรุงความจำ กระทั่งฝักบัวที่แกะเมล็ดออกแล้ว ก็ยังใช้เป็นปุ๋ยหรือเป็นวัสดุเพาะเห็ดได้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ยังไม่นับว่าแปลกอะไร ไม่ใช้ใบบัวก็ใช้ใบพลวง ใบตอง ห่ออาหารได้ ไม่ใช้กลีบบัว ก็ใช้ใบจาก ใบตองกล้วย หรือใบสะแก มวนยาเส้น หาง่ายกว่าด้วย ไม่มีเมล็ดบัวก็ใช้ถั่วลิสง ถั่วเหลือง หรือถั่วเขียวทำขนมได้ ส่วนผ้าใยบัวนั้นหรือ ทำยากนักก็ใช้ผ้าฝ้ายเถิด ทำง่ายกว่าถูกกว่า ทนกว่าอีกด้วยหรือจะเป็นจีวรผ้าป่านสวิสก็ไม่เลว ดูเรืองรองกว่าเป็นไหน

เมล็ดบัว ดีบัว
ระบบท่อในลําต้น

ความพิเศษสุดของบัวหลวง ไม่ได้อยู่ที่ประโยชน์อันหลากหลายนั้น หากเป็นคุณสมบัติจำเพาะที่เป็นความมหัศจรรย์สี่ประการ ได้แก่ ๑. ระบบท่อไหลเวียนอากาศภายในลำต้น ๒. ใบที่ไม่เปียกน้ำ ๓. ดอกที่สร้างความร้อนและควบคุมอุณหภูมิได้ และ ๔. เมล็ดที่มีชีวิตอยู่ได้หลายร้อยปี มาดูกันว่า คุณสมบัติเหล่านี้น่าทึ่งเพียงไร

บัวหลวงมีกำเนิดบนพื้นพิภพนี้ นานแสนนาน ก่อนมีมนุษย์คนแรก ซากดึกดำบรรพ์บ่งชี้ว่า บัวหลวงมีอยู่ตั้งแต่ยุค ครีเทเชียส (cretaceous period) ร่วมสมัยกับเหล่าไดโนเสาร์ เมื่อราว ๑๔๕ – ๖๕ ล้านปีมาแล้ว บัวหลวงในยุคแรก คงเป็นพืชบก หากแต่การเปลี่ยนแปลงของผิวโลก เกิดน้ำท่วมขัง ทำให้ลำต้นและรากที่จมอยู่ในดินโคลนใต้น้ำ ไม่ได้รับอากาศเพียงพอสำหรับใช้ในกระบวนการหายใจเพื่อความอยู่รอด บัวหลวงจึงค่อยพัฒนาระบบท่อลำเลียงที่นำอากาศจากเบื้องบน ลงสู่ลำต้นและรากใต้น้ำ จนกลายเป็นระบบท่อที่ซับซ้อน เริ่มต้นจากแผ่นใบ พัดพาเอาอากาศลงไปตามก้าน สู่ลำต้นใต้ดินตรงส่วนข้อ ผ่านลำต้นไปด้านหลังอีกสองปล้อง จึงวกกลับขึ้นทางท่ออากาศของก้านใบอีกก้านหนึ่ง   การไหลเวียนของอากาศในต้นบัวหลวงนี้ เป็นไปแบบทางเดียว จากความดันสูงไปยังความดันต่ำ ควบคุมการไหลโดยความซับซ้อนของระบบท่อ การปิดเปิดของปากใบ และการเจริญเติบโตของลำต้น

ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกไมยราพ หนุมานเดินทางเข้าเมืองบาดาลไปช่วยพระรามได้ ก็ไปตามท่อเหล่านี้ ดังความว่า

 “เห็นสระสี่เหลี่ยมกว้างใหญ่          

ดาษไปด้วยปทุมเกสร

ทรงดอกออกฝักอรชร                    

ตูมบานสลอนสลับกัน

พระพายชายพัดมาเรื่อยเรื่อย         

หอมเฉื่อยชายจิตเกษมสันต์

ให้สงสัยไม่รู้สำคัญ                        

ว่าจะจรจรัลไปแห่งใด

ขุนกระบี่ผู้มีกำลังฤทธิ์                    

นิ่งคิดก็คิดขึ้นได้

จึ่งหักก้านบุษบงด้วยว่องไว             

ลอดไปตามไส้ปทุมมาฯ

ไม่แน่ว่า ในอนาคตมนุษย์อาจต้องพึ่งพากลไกและสถาปัตยกรรมเช่นนี้ เมื่อต้องอาศัยในสิ่งก่อสร้างที่อยู่บนพื้นทะเลหรือมหาสมุทร (เมืองบาดาล)

ความมหัศจรรย์อย่างที่สองของบัวหลวง คือผิวใบที่ไม่เปียกน้ำ ใบบัวงอกออกมาจากข้อของลำต้นที่ฝังอยู่ในโคลนตมใต้น้ำ แต่เมื่อโผล่พ้นผิวน้ำกลับสะอาดเกลี้ยงเกลา ปราศจากคราบไคลของดินโคลน นักวิทยาศาสตร์พบว่า ผิวด้านหลังของใบบัวมีขนขนาดเล็กยาวเพียง ๑/๑,๐๐๐ เซนติเมตรจำนวนมาก และยังมีสารคล้ายขี้ผึ้ง เคลือบอยู่อีกชั้นหนึ่ง ทำให้มีพื้นที่สัมผัสกับหยดน้ำน้อยมาก เมื่อผนวกกับแรงตึงผิวของน้ำแล้ว น้ำที่อยู่บนใบบัวจึงคงสภาพเป็นหยดกลม ไม่แผ่ราบติดกับผิวใบ หยดน้ำนี้เองเป็นตัวจับผงฝุ่นละอองและชะล้างออกไป ทำให้ใบบัวมีพื้นที่สังเคราะห์แสงเต็มที่ และยังป้องกันมิให้เชื้อราและตะไคร่น้ำมาเกาะ

การศึกษาพื้นผิวใบบัวโดยละเอียด ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีนาโน ทำให้เกิดการประดิษฐ์วัสดุที่ไม่เปียกน้ำ ไม่ติดฝุ่นสำหรับใช้เป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เคลือบผิวยานพาหนะ เคลือบแผงเซลพลังงานแสงอาทิตย์ เคลือบพื้นผิวรับน้ำค้าง สำหรับดักเก็บน้ำจากอากาศ ทำเป็นสีทาบ้าน ทำหลังคา ตามแต่ความคิดสร้างสรรค์

มีเสื้อผ้าที่มีผิวไม่เปียกน้ำ ไม่เปื้อนฝุ่น ก็ไม่ต้องซักล้าง ถึงเวลานั้น เครื่องซักผ้าคงตกงาน

ความมหัศจรรย์อย่างที่สามของบัวหลวงคือ ดอกที่สร้างความร้อนและควบคุมอุณหภูมิได้ โดยปกติ คุณสมบัตินี้มีเฉพาะในสัตว์เลือดอุ่น เช่น นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งสร้างความร้อนโดยการเผาผลาญไขมันและน้ำตาลในกระบวนการหายใจ แต่ในพืชเกือบทุกชนิด อัตราการหายใจต่ำมากจนไม่สามารถสร้างความร้อนให้เพียงพอได้ มีเพียงบัวหลวงและพืชในทวีปอื่นอีก ๒ ชนิดเท่านั้น ที่สร้างความร้อนและควบคุมอุณหภูมิได้

ส่วนของดอกบัวที่เกิดความร้อนคือส่วนฐานซึ่งเป็นที่ตั้งของกลีบและเกสร ในวันแรกที่กลีบชั้นนอกเริ่มบานกลไกพิเศษในเซลที่ฐานก็เริ่มสร้างความร้อน จนมีอุณหภูมิราว ๓๒-๓๔ องศาเซลเซียส เพียงพอสำหรับนำพาสารระเหยซึ่งเป็นกลิ่นดึงดูดแมลงผสมเกสร ในวันแรกนี้ มีเพียงเกสรตัวเมียเท่านั้นที่เจริญพร้อมรับการผสม ส่วนเกสรตัวผู้ยังไม่เจริญเต็มที่ ดังนั้นเกสรตัวเมียของดอกบัวจึงได้รับการผสมกับเกสรตัวผู้ของต้นอื่นที่ติดมากับแมลงเท่านั้น ในตอนเย็นเมื่อกลีบบัวหุบ แมลงบางตัวอาจถูกขังอยู่ภายในดอกบัวที่อบอุ่นแม้ว่าอุณหภูมิภายนอกจะเย็นลงถึง ๑๐ องศาก็ตาม  การเคลื่อนไหวของแมลงตลอดทั้งคืน ช่วยให้การผสมเกสรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จนถึงรุ่งเช้า เมื่อกลีบบัวคลี่บานออก แมลงจึงสามารถโบยบินออกไปได้

การสร้างความร้อนและควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ของฐานรองดอกนี้ ดำเนินอยู่ ๓ วัน ในเช้าวันที่สาม เกสรตัวผู้ก็เจริญเต็มที่ แมลงที่มาเยือนในช่วงนี้จึงเป็นผู้พาเกสรตัวผู้ออกไปผสมที่ดอกอื่น ๆ

หลายท่านคงจำได้ว่า ในตอนต้นเรื่องรามเกียรติ์ กล่าวถึงนกระจาบตัวผู้ที่เพลิดเพลินกับเกสรดอกบัวจนถูกขังไว้ข้ามคืน ถ้าเขียนติดข้างฝาได้ นกตัวนั้นคงบอกว่ารู้สึกอบอุ่นและ “สบายจนลืมกลับรัง”

ผ่านการบานตอนเช้า หุบตอนค่ำ เป็นเวลา ๓ วัน กลีบดอกบัวก็ร่วงโรยและฐานรองดอกเจริญขึ้นเป็นฝักบัว กระบวนการสร้างความร้อนและการควบคุมอุณหภูมิของดอกบัวหลวง ยังไม่เป็นที่เข้าใจถ่องแท้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า กระบวนการนี้ สามารถต้านทานความร้อนหรือเย็นภายนอกดอกบัวได้ ไม่สัมพันธ์กับช่วงแสงสว่างหรือมืด และใช้กลไกพิเศษที่ไม่มีในสัตว์เลือดอุ่น ได้แต่หวังว่า อ่างบัวหน้าบ้าน คงเป็นแหล่งพลังงานราคาถูกให้เราได้สักวันหนึ่ง

ความมหัศจรรย์อย่างที่สี่ของบัวหลวงคือ เมล็ดที่มีชีวิตอยู่ได้กว่าพันปีเริ่มจากการค้นพบเมล็ดบัวโบราณ ฝังอยู่ในพื้นดินที่เคยเป็นพื้นทะเลสาบในมณฑลเหลียวหนิง ประเทศจีน เมื่อปี  ๒๕๓๙ การตรวจสอบอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า เมล็ดบัวเหล่านี้มีอายุตั้งแต่ ๕๐๐ จนถึง ๑,๓๐๐ ปี และสามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้ถึงร้อยละแปดสิบ มีการค้นพบต่อมาว่า เมล็ดบัวเหล่านี้ได้รับรังสีแกมม่าขนาดต่ำจากพื้นดินมานานหลายร้อยปี หากแต่กระบวนการบางอย่างภายในเมล็ดพืชนั้น สามารถซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหายจนถึงระดับที่สามารถเจริญเป็นต้นใหม่ได้

เมล็ดพืชชนิดอื่น ๆ เก็บได้อย่างมากไม่เกินยี่สิบปี ก็งอกเป็นต้นใหม่ไม่ได้แล้ว แต่เมล็ดบัวหลวงมีชีวิตทนร้อนทนหนาวได้หลายร้อยปี ทั้งยังซ่อมแซมตนเองได้ด้วย ย่อมต้องมีหน่วยพันธุกรรมที่กำหนดความสามารถเช่นนั้นอยู่ จะไขความลับแห่งการมีอายุยืนยาวได้ ก็ต้องรู้ลำดับของหน่วยพันธุกรรม และบอกได้ว่าหน่วยพันธุกรรมใด กำหนดความสามารถซ่อมแซมตนเอง ทีนี้ ชีวิตอมตะก็ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป

บัวหลวงเป็นตัวอย่างของสิ่งที่คุ้นเคย ดูเรียบง่ายธรรมดา แต่ซุกซ่อนความสามารถพิเศษที่ไม่ธรรมดามากมาย  ลองพิจารณาทั้งตัวเองและคนรอบข้างที่คุณคุ้นเคยให้ถ่องแท้ อาจพบความมหัศจรรย์ซุกซ่อนไว้ก็เป็นได้

***

คอลัมน์ ผักหญ้าหมากไม้ นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๐ | มิถุนายน ๒๕๕๙

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ฮูปแต้มวัดมหาธาตุ อำเภอเชียงคาน
แกะรอยคำว่า เงือก
วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com