ปิดเล่ม ทางอีศาน ๑๑๓
ในยุคก่อนและเข้าสู่ต้นยุคประวัติศาสตร์ ข้อสันนิษฐานหนึ่งของการล่มสลายไปของบางเมือง ของบางอาณาจักร เกิดจากโรคระบาดใหญ่…
ถ้าใครเคยไปทัศนศึกษาแอ่งที่ราบสูงสกลนคร และได้ไปชม “ปราสาทภูเพ็ก” จะเห็นว่าตัวปราสาทส่วนบนยังสร้างไม่เสร็จ เมื่อเดินเลาะเลียบลงไปด้านหลังก็จะพบแหล่งหินตัด บริเวณนั้นจะพบหินที่ตัดแล้ววางกระจายอยู่เป็นระยะ และจะเห็นแผ่นหินที่ถูกเซาะสกัดค้างคาไว้จำนวนมาก
เห็นแล้วต้องเกิดคำถามว่า พวกช่างและครัวเรือนนับร้อยนับพันชีวิตทิ้งงานและอพยพหลบหนีไปอย่างกะทันหันด้วยเหตุใด และหลังจากนั้นก็ไม่มาดูมาสร้างต่ออีกเลย สาเหตุหนึ่งคือเกิดโรคห่า สาเหตุหนึ่งคือเกิดภัยธรรมชาติ สาเหตุหนึ่งคือเกิดเศิกสงคราม
แต่ย้อนนับจากเกิดโรคห่าในรอบสี่ห้าร้อยปีมานี้ แม้บางครั้งมีชาวโลกเสียชีวิตรวมกันจำนวนมากถึงห้าสิบกว่าล้านคน แต่ก็ไม่มีประเทศใดถูกลบออกจากแผนที่ จึงรู้สึกว่าการเกิดโรคห่าตำปอดครั้งนี้อย่างไรเสียก็ไม่ถึงกับกาลล่มสลาย
นิตยสาร “ทางอีศาน” ของเราเคยนำเรื่อง โรคโควิด -19 ~ “ห่าตำปอด” เสนอเป็นเรื่องเด่นประจำฉบับมาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๔ และก็ได้ภาพที่มีค่ายิ่งของคุณสุวรรณี สารคณา ประดับปกเช่นเดียวกัน ซึ่งตั้งแต่มีการระบาดในรอบที่ ๓ นี้ถือว่าสถานการณ์หนักหน้า
โรคห่าอุบัติใหม่แห่งศตวรรษนี้คงยังไม่จบง่าย เพราะยังไม่มีวัคซีนที่ดีและเพียงพอ แถมเชื้อผีห่ายังกลายพันธุ์ได้อีก บวกกับปัญหาด้านต่าง ๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและวัฒนธรรม ที่ผสมปนกันเข้ามาอีก เราจึงต้องปรับทุกข์ ปรึกษาหาทางออก และทางที่จะเดินไปสู่อนาคตกันอีกเป็นระยะอย่างเข้มข้น
ประสบการณ์ ความรู้ และความคิดเห็นของทุกท่านมีความสำคัญมาก กรุณาช่วยกันเขียนเล่าบอก เพื่อเพื่อนสมาชิกของเราจะได้รับรู้ แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และเพื่อจะได้นำแบบเรียนชีวิตที่มีค่าไปปฏิบัติต่อไป
ฉบับหน้า “ทางอีศาน” ประจำเดือนตุลาคม เราจะรำลึก ๔๕ ปีครบรอบเหตุการณ์ “๖ ตุลา ๒๕๑๙” กันครับ