ผักเม็ก ควรกินคู่กับเนื้อสัตว์

 

ชื่อพื้นเมือง: ผักเสม็ด, ผักเม็ก (นครราชสีมา), ไคร้เม็ด (เชียงใหม่), เม็ก (ปราจีนบุรี), เม็ดชุน (นครศรีธรรมราช), เสม็ด (สกลนคร, สตูล), เสม็ดเขา, เสม็ดแดง (ตราด), เสม็ดชุน (ภาคกลาง), ยีมือแล (มลายู – ภาคใต้)

ต้นผักเม็ก ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ที่พบเห็นลำต้นสูงประมาณ 3-5 เมตร ลำต้นสีน้ำตาลแดงเปลือกบางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ แตกกิ่งก้านสาขาโดยรอบพุ่มต้น ลักษณะใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน ใบย่อยรูปหอกมี 2-4 คู่ ขอบใบเรียบปลายใบมีลักษณะแหลม ใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมชมพู ส่วนใบแก่มีสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกช่อเล็ก ๆ ที่บริเวณปลายยอด ดอกออกติดกันเป็นกระจุกสีเหลืองอ่อน เกสรคล้ายเกสรดอกชมพู่ ผลมีลักษณะกลมขนาดเล็ก ที่ก้นของผลส่วนใหญ่มีลักษณะนูนขณะยังอ่อนสีเขียวและเมื่อแก่จัดสีขาวโพลน สวยงามมาก

ผักเม็กเป็นผักทานสด ใช้เป็นอาหาร ยอดอ่อนหรือใบอ่อน จะมีรสฝาด มัน อมเปรี้ยว บริโภคเป็นผักสด เป็นเครื่องเคียงน้ำพริกต่าง ๆ หรือขนมจีนน้ำยา ทานกับลาบ หรืออาหารประเภทยำทุกชนิด

 

ผลสุกผิวสีขาวโพลน มีรสฝาดอมหวาน การขยายพันธุ์ต้นผักเม็ก ใช้เมล็ดเพาะ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของผักเม็ก จะเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณริมน้ำ สามารถทนแล้งได้ดี

สรรพคุณ: ใบอ่อน ยอดอ่อน ทานแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียดในท้อง กินเป็นยาขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ ขับลม กินมากเป็นยาขับพยาธิ

น้ำมันจากใบ มีกลิ่นคล้ายการบูร เรียกว่า “น้ำมันเขียว” ใช้นวดแก้เคล็ด เมื่อย ปวดบวม แก้หมัด เหา ชุบสำลีอุดฟันแก้ปวดฟัน

เปลือกต้นต้มร่วมกับเปลือกกระโดน ใช้ย้อมแหใช้ย้อมแหซึ่งให้สีชมพู แต่เมื่อใช้งานนานและเปื้อนโคลนตม ทำให้แหเปลี่ยนเป็นสีดำ

คุณค่าทางโภชนาการ: กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของผักเม็ก ให้รายละเอียดไว้ว่า ผักเม็ก 100 กรัม ให้คาร์โบไฮเดรต12.6 กรัม โปรตีน 3 กรัม ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 11.6 มิลลิกรัม และแคลเซี่ยม 10 มิลลิกรัม ซึ่งพบว่าสูงมาก ขณะที่ได้เบตาแคโรทีน 1415 ไมโครกรัม และวิตามินเอ 236 ไมโครกรัม วิตามินซี 16 มิลลิกรัม จัดได้ว่าผักเม็กเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากชนิดหนึ่ง

 


ส่วนที่พึงระวัง: สำหรับการรับประทานผักเม็ก คือ ในผักเม็กมีสารออกซาเลต (Oxalate) สูง หากรับประทานสดหรือรับประทานจำนวนมากอาจเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วได้ ซึ่งแก้ไขโดยการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนหรือประเภทเนื้อสัตว์ควบคู่กันไป อันตรายจากโรคนิ่วก็จะไม่มี

 

ตัดแต่งข้อมูลจาก: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
ภาพจาก: weekendhobby.com, oknation blog, thaimtb.com

 

ข้อมูลจากสถิติสาธารณสุขปี 2553 พบผู้ป่วยโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะเข้ารักษาในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ 78,011 ราย มากสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37,614 ราย คิดเป็นร้อยละ 48 รองลงมาภาคเหนือ 22,210 รายคิดเป็นร้อยละ 28

สาเหตุของการเกิดโรคไม่แน่ชัด แต่มีส่วนจากวัฒนธรรมการรับประทานอาหารพืชผักบางชนิดที่มีออกซาเลตสูง หรือมีกรดยูริคสูง เช่น ยอดผักทั้งหลาย หน่อไม้ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล รวมทั้งอาจเกิดจากระดับโปตัสเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งทำให้เกิดนิ่วได้ง่าย เช่น การรับประทานข้าวเหนียวที่ต้องแช่น้ำไว้นานก่อนหุงทำให้สูญเสียโปรแตสเซียมออกไป การทำงานที่ใช้แรงงานเสียเหงื่อมาก ทำให้เสียโปรแตสเซียมออกจากร่างกายมากขึ้น เป็นต้น

คัดข้อความจาก: thanonline.com

Related Posts

เมนูเด็ดจาก…หนัง
เรื่องของอาหาร (๕)
เรื่องของอาหาร (๔)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com