ข้าว เงือก นกส่งวิญญาณ อีกหนึ่งความเชื่อแก่นคติชนไท ก่อนรับอิทธิพลพุทธ-พราหมณ์

ข้าว เงือก นกส่งวิญญาณ อีกหนึ่งความเชื่อแก่นคติชนไท

ก่อนรับอิทธิพลพุทธ-พราหมณ์

“แกะ” (ตัดรวงข้าว) ศักดิ์สิทธิ์ ทำจากงาช้าง? ใช้ในพิธีกรรมของชาวเหอหมู่ตู้ เมื่อเจ็ดพันปีที่แล้ว มีลายนกสองตัวล้อมดวงตะวัน (ภาพจาก https://www.pinterest. com/houjingwu/4th-millennium-bc/?autologin=true)

จากปรากฏการณ์ “ฝูงนกสีขาว” บินวนอยู่บริเวณยอดนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ ก่อนพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๒๖ ต.ค. ที่ผ่านมา กระทั่งมีการเผยแพร่ข้อความจาก ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดย ระบุตอนหนึ่งว่าเป็น “นกส่งวิญญาณ” พร้อมกับอธิบายว่า นกเป็นสัตว์ที่สามารถส่งผีขวัญขึ้นไปบนฟ้าได้ (กดอ่านจากเฟซบุ๊ก Pipad Krajaejun)

***

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องเดียวกันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้สัมภาษณ์ขอความรู้ เกี่ยวกับเรื่องคติชนของชาติพันธุ์ไท ก่อนที่จะรับอิทธิพลของศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ จากอาจารย์ทองแถม นาถจำนง เจ้าของนามปากกา “โชติช่วง นาดอน” นักเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ปรัชญา ศาสนา โดยเฉพาะเรื่องราวของประวัติศาสตร์จีน และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เริ่มต้นถามเรื่องคติความเชื่อเกี่ยวกับ “นก” กับโลกหลัง ความตาย ซึ่งอาจารย์ทองแถม ได้เริ่มเล่าย้อนไปยาวนานก่อนเกิดศาสนาต่าง ๆ ว่า ในยุคสมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์เรามีความเชื่อว่าสัตว์ หรือพืชบางชนิด มีความผูกพันใกล้ชิดเป็นพิเศษประดุจมีสายเลือดเดียวกันกับคนในเผ่านั้น ๆ และนับถือสิ่งนั้นเป็นสัญลักษณ์ประจำเผ่าของตน ในทางวิชาการเรียกว่า TOTEM Totem – สัญลักษณ์ประจำเผ่าดึกดำบรรพ์นี้เป็นคติชนที่มีหลักฐานปรากฏอยู่ทั่วโลก

สำหรับความเชื่อในการ “เคารพบูชานก” พบหลักฐานโบราณคดีและนิทานตำนานของชน พื้นเมืองดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ทางใต้แม่น้ำแยงซีเกียงลงมาจนถึงสุวรรณภูมิ (อาเซียน) โดยมี ความเชื่อว่า “นก” คือผู้นำเมล็ดข้าวมาให้มนุษย์ แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ มณฑลเจ้อเจียง อารยธรรมโบราณกว่า ๗,๐๐๐ ปีก่อน พบหลักฐานการบูชานก สอดรับกับนิทานโบราณเรื่องต้นกำเนิดข้าว นิทานเหล่านั้นเล่าว่า “นก” (นกกระจอก) เป็นผู้นำพันธุ์ข้าวจากสวรรค์มาให้มนุษย์ คนดึกดำบรรพ์หลายเผ่าในแถบนี้จึงเคารพบูชานก และเชื่อว่าวิญญาณของผู้ตายเดิน ทางไปสวรรค์ด้วยนก (และ/หรือ เป็ด ไก่) ในพื้นที่ เหอหมู่ตู้ นั้น ได้พบหลักฐานการเพาะปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก

ลายนกแบบต่าง ๆ บนหน้ากลองมโหระทึก (ภาพจาก https://www.gotoknow.org/posts/606660)
ป้ายพิพิธภัณฑ์เหอหมู่ตู้ (ขยายใหญ่เพื่อให้เห็นเส้นลายชัด) ภาพจากแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ มณฑลเจ้อเจียง (ที่มา ภาพ – http://www.china.org.cn/travel/2013-05/06/content_28739254_2.htm)

นอกจากแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ อายุเจ็ดพันปีแล้ว ในบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงยังพบ ฟอสซิลเมล็ดข้าวอายุถึงหนึ่งหมื่นปีอีกหลายแห่ง แต่นักวิชาการก็ยังถกเถียงกันว่าแท้จริงแล้วคือ “ข้าวป่า” หรือ “ข้าวปลูก”

“ในความเป็นจริงนั้น การที่มนุษย์ปลูกข้าวได้เกิดจากสังเกตเห็นหญ้าชนิดหนึ่ง (ต้นข้าว) นก กินได้ มนุษย์ก็กินบ้าง และก็ดูว่าข้าวจะสุกในเดือนอะไร ซึ่งเมื่อถึงเวลาในเดือนนั้น ๆ ก็จะมา เก็บข้าวกิน แล้วบังเอิญว่าเมล็ดตกลงไปในดิน โคลน แล้วเกิดงอกงามขึ้นมา ซึ่งมนุษย์ใช้เวลานับ ๑,๐๐๐ ปีถึงจะเรียนรู้ถึงวิธีปลูกข้าวได้ อย่างไรก็ตามคนโบราณคิดว่านกนำข้าวมาให้จึงเริ่มที่จะบูชานก และเกิดเป็นพิธีกรรมขึ้น” กูรูด้านประวัติศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียนกล่าว

เจ้าของนามปากกา “โชติช่วง นาดอน” ยังได้กล่าวถึงหลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการปลูก ข้าวในประเทศไทยนั้นถูกค้นพบในถ้ำผีแมน จ.แม่ฮ่องสอน มีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ ปี

ส่วนความเชื่อเรื่องนกโยงเรื่องการส่งวิญญาณนั้น อาจารย์ทองแถมเผยว่า อีกหนึ่งสาเหตุที่มีความเชื่อ เรื่องนก กับ วิญญาณ นั้น เพราะนกเป็นสัตว์ที่บินอยู่สูง จึงมีความเชื่อว่ามีความใกล้ชิดกับ “ตะวัน” ดังนั้นมนุษย์เผ่าไหนบูชาตะวันก็จะบูชานกด้วย เช่นหลักฐานโบราณวัตถุซึ่งพบที่เหอหมู่ตู้ เป็นรูปนกสองตัวเคียงข้างตะวัน นี่คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขาเคารพ

จากต้นรากอารยธรรมเหอหมู่ตู้ มีความเชื่อมโยงถึงวัฒนธรรมในอาเซียนเมื่อประมาณสองพันปีที่แล้ว เช่น โบราณวัตถุ “ลิง-ลิง-โอ” “ลิงลิงโอ” เป็นเครื่องประดับโบราณอายุประมาณ ๒,๐๐๐ ปี เป็นรูปนกสองหัว (แต่บางคนก็เห็นว่าอาจจะเป็นควายสองหัว) พบมากที่ฟิลิปปินส์ และในประเทศไทยพบที่บ้านดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี จะตีความว่าเป็นหัวนกหรือหัวควาย ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้งคู่ เพราะคติความเชื่อย่อมคลี่คลายเปลี่ยนแปรได้ แต่ที่แน่ ๆ คือ มันสะท้อนให้เห็นการพัฒนาจากรากเดิม (เหอหมู่ตู้) คือ นกสองตัวกับตะวันนี้สะท้อนว่า วัฒนธรรมแก่นรากนั้นเริ่มต้นมาจากวัฒนธรรม “การปลูกข้าว” ซึ่งนกอยู่ใกล้ตะวัน ใกล้เมืองฟ้า คนจึงมักเชื่อว่าวิญญาณจะติดตามไปพร้อมกับนกเพื่อขึ้นสวรรค์ ร่องรอยยังพบเห็นในพิธีศพของชาติพันธุ์ม้งในยุคใกล้จะปล่อยเป็ด (สัญลักษณ์แทนนก) ในพิธีศพเพื่อนำวิญญาณขึ้นสวรรค์

“ความเชื่อต่าง ๆ เหล่านี้มีมาก่อนศาสนา แต่สำหรับนักวิชาการด้านวัฒนธรรมชาวไทยนั้นส่วนใหญ่จะรับรู้แต่คำอธิบายหลังจากบรรพชนไทรับอิทธิพลพุทธ พราหมณ์ ไว้แล้ว คำอธิบายต้นตอของวัฒนธรรมไทยทุกอย่างจะมาจากวัฒนธรรมพุทธ พราหมณ์ เช่นเรื่องนาค ก็อธิบายตามพุทธ พราหมณ์ ทั้งหมด เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก่อนหน้าที่บรรพชนไทจะเปลี่ยนความเชื่อนั้น คนไทมีคติความเชื่อที่เป็นของตนเอง เช่นเรื่องของเงือก เงือกเป็นผู้ควบคุมน้ำ ข้อนี้คล้ายกับเรื่องพญานาคของแขก แต่ประเด็นที่สูญหายไปคือ เงือกมีความสำคัญในการเดินทางกลับไปเมืองแถนของผีขวัญ ปัจจุบันร่องรอยที่ยังเหลือ คือ ร่องรอยจากคำบอกเล่าในนิทาน ตำนาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องขุดค้นตีความเพื่อให้เข้าใจรากเหง้าดั้งเดิม ก่อนที่จะรับอิทธิพลศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์นั้น เราคิดกับเรื่องนก ข้าว และโลกหลังความตาย อย่างไร…“หากเราเข้าใจตรงนี้ เราจะเห็นว่าคนในอาเซียนทั้งหมดมีรากเหง้าเดียวกัน คือ วัฒนธรรมข้าว”

ลิง ลิง โอ พบที่บ้านดอนตาเพชร (ภาพจาก http:// www.sujitwongthes.com/suvarnabhumi)
รูปทั้ง ๕ ปรากฏบนกลองมโหระทึกในวัฒนธรรมดอง ซอน พบที่เวียดนาม (ภาพจากการศึกษาเรื่องสภาพแวดล้อมของวัฒนธรรมดองซอนจากลวดลายบนมโหระทึก คงศักดิ์ งังเหงี่ยมบุญ สารนิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ปีการศึกษา ๒๕๔๐) (ภาพจาก http://www.marinerthai. net/sara/viewsara1163.php)

แก่นแกนวัฒนธรรมไทยก่อนรับอิทธิพลจากอินเดียมีห้าส่วน

อาจารย์ทองแถม ได้อธิบายแก่นใหญ่ของวัฒนธรรมไทย และอาเซียน เมื่อหนึ่งพันเจ็ดร้อยปีก่อน (ก่อนจะรับอิทธิพลอินเดีย) ว่ามีห้าส่วน ประกอบด้วย ข้าว ผี แถน ขวัญ และ เงือก

ข้าว ข้าวเป็นรูปแบบการผลิตที่สำคัญที่สุด พิธีกรรมของมนุษย์ในพื้นที่นี้จึงแวดล้อมการผลิต (การเพาะปลูกข้าว) ประเพณีและพิธีกรรมเหล่านั้นเกี่ยวกันกับช่วงระยะสำคัญในการปลูกข้าว เช่นการบูชาผีฟ้าขอฝนก่อนลงมือปลูก, พิธีบูชาขวัญข้าว ฯลฯ

ระบบผี คือ การอธิบายกฎเกณฑ์ของโลกธรรมชาติ ทุกวันนี้เราเรียกว่าวิชาวิทยาศาสตร์

แถน คือ หัวหน้าระบบผี ผู้ควบคุมทุกสรรพสิ่ง คล้าย ๆ กับเทพเจ้า ดังนั้น เมืองแถนก็คือ เมืองหลังความตาย ซึ่งตามความเชื่อเดิมไม่ได้หมายถึงสวรรค์ แต่หมายถึงเมืองที่สิ่งมีชีวิตหลังความตายไปอาศัยอยู่กับบรรพบุรุษ เมืองแถนของบรรพชนไทก็เหมือนกับบ้านเมืองในโลก มิได้แบ่งเป็นสวรรค์-นรก ดั่งความเชื่อพุทธ

ขวัญ ขวัญนี้ไม่ได้หมายถึงวิญญาณ soul แต่หมายถึงสิ่งเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างภายในตัวปัจเจกชนกับโลกธรรมชาติภายนอก สมัยโบราณเชื่อว่าขวัญมี ๘๐-๑๐๐ ขวัญ แต่ต่อมาเราเชื่อตามพุทธว่ามีขวัญ ๓๒ ประการ

“ขวัญที่สำคัญที่สุด คือ ขวัญที่กระหม่อม กลางกบาล เรียกว่า “ขวัญกก” เมื่อตายแล้วจะเดินทางกลับไปยังเมืองแถน ปัจเจกชนมีสายสัมพันธ์ต่อกับเมืองแถนคือ สายแนน กับ สายขวัญ สายแนนเปรียบให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าคือเรื่องพรหมลิขิต กำหนดทุกอย่างของปัจเจกชนนั้น ๆ เมื่อสายแนนขาด คนผู้นั้นก็จะตาย ส่วนสายขวัญนั้นมีห่วงข้อต่อก่อนจะถึงเมืองแถน ขวัญของปัจเจกชนจึงหลุดจากห่วงนั้นได้ หากขวัญหลุดออกไปจากร่างก็จะต้องเรียกขวัญให้คืนกลับมา ครั้นคืนกลับเข้าร่างแล้วก็ต้องมัดห่วงช่วงรอยต่อนั้นให้แน่น สัญลักษณ์ประเด็นนี้ก็คือการมัดข้อมือในการสู่ขวัญนั่นเอง

แต่หากตายแล้ว “ขวัญกก” (อยู่ที่กระหม่อม) หรือเรียกว่า ผีขวัญ จะเดินทางกลับเมืองแถน ไปอยู่กับบรรพบุรุษ ช่วงแรกจะต้องผ่านแม่น้ำ คนดึกดำบรรพ์เชื่อว่าจะต้องมีเงือกช่วยในการเดินทาง จึงใช้สัญลักษณ์เป็น “เรือ เงือก”

เงือก คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในน้ำ แปลงร่างเป็นมนุษย์ได้ สามารถควบคุมน้ำได้ ความเชื่อใน ประเด็นนี้ ตรงกับความเชื่อเรื่อง “นาค” ของ อินเดีย และ “มังกร” ของจีน แต่ประเด็นความ เชื่อเรื่องเงือกเมื่อชาวไทรับอิทธิพลพุทธ พราหมณ์ ละทิ้งหลงลืมไปหมดแล้ว คือเรื่องที่ เงือกมีความหมายสำคัญในการเดินทางของผีขวัญกลับเมืองแถน

อาจารย์ทองแถม อธิบายว่า หากเราสังเกตลายกลองมโหระทึก เราจะเห็นชัดเจน จะมีรูปเรือนำพาไปส่งถึงตีนเขา ผีขวัญต้องปีนขึ้นไป หรือมี “นก” ช่วยพาขึ้นไปเมืองแถนบนยอดเขา เรียกนกนั้นว่า “นกเงือก” เพราะเกี่ยวข้องกับการเดินทางของผีขวัญ คนพื้นเมืองในสุวรรณภูมิ มีระบบจักรวาลวิทยา (Cosmology) ของตนเองอยู่แล้ว ก่อนที่จะรู้จักเรื่องสวรรค์ (เขาพระสุเมรุของแขกอินเดีย)

***

ในช่วงท้ายอาจารย์ทองแถมยังกล่าวถึง ตอนที่ถ่ายทอดสดพระราชพิธีพระเพลิงพระบรมศพ ที่ผู้บรรยายผ่านช่องรวมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับ “ราชรถ” ว่า หมายถึง “นาค” และเดิมใช้ “เรือนาค” อัญเชิญพระศพนั้นถูกต้อง แต่ที่โยงไปกล่าวถึงเรื่อง “บาดาล” (เพราะนาคอินเดีย เขาอยู่ในบาดาล) นั้นไม่ถูก ความจริงต้นเค้ามาจากการบูชาเงือก เรื่องเงือกควบคุมน้ำนั้นตรงกับคติ “นาค” ของอินเดีย แต่สิ่งที่นาคอินเดียไม่มีคือ เรื่องนำส่ง “ผีขวัญ” กลับเมืองแถน ผีขวัญนั่งเรือเงือกไป จากนั้นจึงโดยสารนกขึ้นเมืองแถน (อยู่บนยอดเขา) ซึ่งในงานพระบรมศพฯ มี ครบทั้ง “เงือก” คือพระราชรถ และ “นก” คือ ฝูงนกที่บินเหนือทุ่งพระเมรุมาศคืนวันที่ ๒๖ ตุลาคม ที่ผ่านมา

(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ไทยรัฐออนไลน์” ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๐ ปรับปรุงแก้ไขเพื่อลงพิมพ์ใน “ทางอีศาน” ฉบับเดือนธันวาคม เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐)

***

คอลัมน์ รายงาน เรื่อง ข้าว เงือก นกส่งวิญญาณ อีกหนึ่งความเชื่อแก่นคติชนไท ก่อนรับอิทธิพลพุทธ-พราหมณ์ นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๘ | ธันวาคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

กำเนิดแคน
ฟ้าผ่า ฟ้าแผด
เรื่องข้าวที่เขา (ทองแถม) ไม่ได้เล่าให้ฟัง
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com