ภาษาไม่ใช่แค่เครื่องมือสื่อสาร

ภาษาไม่ใช่แค่เครื่องมือสื่อสาร

คอลัมน์ : ส่องเมือง

Language is not just a communication tool

I would rather see Thai people learn other languages such as Vietnamese, Khmer, Burmese, Malay, Tagalog etc. Knowing and speaking a language means you have profound knowledge about a native group; you get to know the mentalityand the spirit as well as the root, the ancestry and the history of that people.

ผมมีเพื่อนเป็นชาวออสเตรเลีย เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์การสหประชาชาติเขาบอกว่า ในบรรดาภาษาทั้งหลายเขาชอบภาษาไทยมากที่สุด เขาพูดไม่ได้และฟังไม่รู้เรื่อง แต่เขาชอบสุ้มเสียงสำเนียงและท่วงทำนองของภาษาไทยเป็นอย่างยิ่ง เป็นภาษาที่ไพเราะที่สุด ได้ยินเมื่อไรก็ยิ้มได้เหมือนได้ฟังดนตรีที่ชื่นชอบประมาณนั้น

ความจริง ภาษาลาว ภาษาเวียดนาม ภาษาจีน มีวรรณยุกต์ มากกว่าภาษาไทย ถ้าเป็นดนตรีก็มีโน้ตมากกว่า แต่เพื่อนฝรั่งคนนี้ก็ยังยืนยันว่าชอบภาษาไทยมากที่สุด ไม่ใช่เพราะวรรณยุกต์ แต่เพราะความลงตัวของภาษาในแง่ของสุนทรียะ หรือว่าชาติก่อนเพื่อนจะเป็นคนไทยก็ไม่รู้

ผมมีเพื่อนชาวเยอรมันคนหนึ่งที่พูดได้กว่า ๗๐ ภาษา แต่นั่นคือตัวเลขเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ตอนนี้อาจถึง ๑๐๐ หรือเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้ติดต่อกันนานแล้ว เมื่อประมาณปี ๒๕๑๗ เขาทํางานที่ค่ายผู้ลี้ภัยที่ปัว จังหวัดน่าน  ตอนนั้นเขาพูดได้ประมาณ ๓๕ ภาษา พูดภาษาชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ได้ทุกเผ่าที่อยู่ในค่ายนั้น

ก่อนนั้น เขาเดินทางออกจากบ้านเกิดที่เมืองพัสเซา รัฐบาวาเรีย ประเทศเยอรมนีผ่านประเทศไหนก็เรียนภาษาประเทศนั้น เขาพูดภาษายุโรปได้เป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นรู้ภาษารัสเซีย ภาษาอาหรับ ภาษาฮินดี เวียดนาม เขมร ลาว ไทย พูดได้หมด เขาบอกว่า เขาเรียนภาษาหนึ่งไม่เกิน ๖ สัปดาห์ก็พูดได้ สื่อสารได้ เขาเรียนจบแพทย์มาจากไต้หวัน รู้ภาษาจีนหลายภาษา ภาษาญี่ปุ่น เขามีความจําแบบกล้องถ่ายรูป คือ อ่านหนังสืออะไรจำได้หมด  จำเป็นหน้า เป็นบรรทัด เรียนอะไรมาก็จําได้ไม่ลืม

หลังสงครามอินโดจีนเพื่อนคนนี้เดินทางไปทํางานช่วยเหลือผู้คนในแอฟริกา ด้วยจิตวิญญาณของอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ นายแพทย์ผู้อุทิศตนเพื่อคนยากไร้เขาได้เรียนรู้อีก ๓๕ ภาษาก่อนที่จะย้ายกลับมาทำงานที่กัมพูชา เป็นอัจฉริยะที่ไม่อยากเด่นอยากดัง เก็บเนื้อเก็บตัว องค์การสหประชาชาติเสนอให้เขามาทำงานด้วย เขาปฏิเสธอยากทำงานในองค์กรอาสาสมัครเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องเสียเวลากับงานธุรการแบบองค์กรใหญ่ เขาอยากเอาเวลาไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุด

ผมโชคดีที่มีโอกาสได้เรียนหลายภาษา แม้เพียงไม่กี่ภาษา และไม่อาจเทียบได้กับเพื่อนอัจฉริยะชาวเยอรมัน แต่ก็ทําให้ได้ประสบการณ์ว่า การรู้ภาษาหนึ่งนั้นเป็นกําไรชีวิตอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงเพราะจะทําให้เราสื่อสารกับคนที่พูดภาษานั้น แต่เพราะภาษาทําให้เราเข้าถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความรู้สึกนึกคิดของคนที่พูดภาษานั้น หรือเจ้าของภาษานั้น

คนคิดด้วยภาษา แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก ความคิด ด้วยภาษา สื่อสารกับคนอื่นด้วยภาษา ภาษาจึงเป็นตัวแทนความคิด ตัวแทนวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของผู้คน รู้ภาษาหนึ่งเท่ากับรู้วัฒนธรรมหนึ่ง รู้จักชนชาติหนึ่ง ได้สัมผัสกับความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณของผู้คนและชนชาตินั้น

“ความหมายของภาษาอยู่ที่การใช้” เป็นคํากล่าวของวิตเกนสไตน์ นักปรัชญาชาวออสเตรียที่บอกว่า ภาษาของคนไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลทั้งหมด เพราะคนไม่ได้มีแต่เหตุผล แต่มีอะไรอื่น ๆ มากมายที่ทําให้คนเป็นคน เขาหมายถึงอารมณ์ความรู้สึก และองค์ประกอบอื่น ๆ ในวิถีชีวิตของแต่ละคน แต่ละวัฒนธรรม

ด้วยเหตุนี้นอกจาก “ภาษา” แล้วยังมี “ตรรกะของภาษา” ที่ขยายรายละเอียดลงไปอีก ภาษาในตระกูลละตินอย่างฝรั่งเศส อิตาเลียน สเปน ใช้ ๒ คำอย่าง langue และ langage ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งทําให้เข้าใจว่า ทําไมคนในสังคมเดียวกัน ภาษาเดียวกันจึงพูดกัน “คนละภาษา” พ่อแม่พูดกับลูกไม่รู้เรื่อง ยายกับหลานสื่อสารกันไม่ได้ ความจริงพูดภาษาไทยเหมือนกัน แต่คนละตรรกะ

ภาษามีเกิดและมีดับ อยู่ที่ว่าคนใช้มันหรือไม่ เหมือนเครื่องมือต่าง ๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจําวันเหมือนเสื้อผ้าที่เปลี่ยนทรงเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ เหมือนอารมณ์ความรู้สึก ความคิดที่เปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนแปลงของโลก

ภาษาพ่อขุนรามคําแหงจึงไม่เหมือนกับภาษาของคนไทยในยุคนี้ถึงใช้คําเดียวกันก็มีความหมายต่างกัน สมัยนั้นกูมึงเป็นคําสามัญที่สุภาพ ปัจจุบันเป็นคําที่เขียนลงเว็บไซต์สาธารณะไม่ได้วันนี้มีคําใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายบางคำติดตลาด อายุยืนยาวจนขึ้นพจนานุกรม บางคําอายุสั้น จึงไม่ควรถือสากับภาษาคําใหม่ ๆ  เพราะคําเหล่านั้นเป็นตัวแทนของความรู้สึกนึกคิดของคนสมัยนี้ที่อาจจะขยายวงสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนส่วนใหญ่ก็เป็นได้ ถ้าไม่ใช่มันก็อาจหายไปในเวลาอันรวดเร็ว

การอยู่ร่วมกันอย่างสันติจึงควรเรียนรู้ภาษาของกันและกัน พ่อแม่เรียนรู้ภาษาของลูก ลูกเรียนรู้ภาษาของพ่อแม่ ทั้งภาษาและตรรกะของภาษาที่อาจแตกต่างกัน ถ้าพูดจาภาษาธรรมดาไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจกัน ก็พูดจาภาษาหัวใจก็พอ คือ ตกลงกันว่าจะไม่ถกเถียงกันแบบต่างคนต่างใช้เหตุใช้ผล เพราะแต่ละคนก็มีชุดเหตุผลของตนเองที่แตกต่างกัน มาเชื่อปาสกาล ปราชญ์ชาวฝรั่งเศสดีกว่าที่บอกว่า “หัวใจมีเหตุผลที่เหตุผลไม่รู้จัก” อยู่ด้วยกัน รักกันให้มาก ภาษาหัวใจก็จะขยายเขตจนครอบภาษาของเหตุผล ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องทะเลาะกัน

นี่ก็ใกล้จะถึงอาเซียนไร้พรมแดนแล้ว อยากให้เราคนไทยเรียนรู้ภาษาของเพื่อนบ้านอาเซียนให้มาก อยากเห็นคนไทยรู้ภาษาลาว ภาษาเวียดนาม ภาษาเขมร ภาษาพม่า ภาษามาเลย์ ภาษาอินโด ภาษาตากาล็อก เรียนรู้ภาษาหนึ่งเท่ากับรู้จักชนชาติหนึ่งอย่างลึกซึ้ง เพราะเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก จิตวิญญาณ เข้าถึงรากเหง้าประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของชนชาตินั้น

อยากให้คนไทยได้เรียนได้รู้จักวรรณกรรม งานเขียนของประเทศอาเซียนให้มาก เพราะนอกจากความงดงามของภาษาแล้ว ยังสะท้อนความรู้สึกนึกคิด คุณค่า ความจริงความดีความงาม ผ่านเรื่องราวที่แสดงออกทางภาษาร้อยแก้ว ร้อยกรอง เรื่องราว นิทาน ตํานาน เรื่องสั้น เรื่องยาว นวนิยาย

อาเซียนไร้พรมแดนไม่ควรเป็นเพียงเรื่องค้าขาย เรื่องรายได้ควรเป็นเรื่องที่เพิ่มพูนความเป็นมนุษย์ของผู้คนในภูมิภาคนี้ที่ควรอยู่ร่วมกันด้วยความรักและเข้าใจกัน ภาษาจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะไม่เพียงแต่ช่วยสื่อสารให้เข้าใจกันเท่านั้น แต่จะหลอมรวมใจให้ผู้คนเป็นหนึ่งเดียวและร่วมกันทำให้อุษาคเนย์ เป็นภูมิภาคที่ร่มเย็นเป็นสุข

Related Posts

แล้วแต่… มึงอยากกิน
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๕)
ทางอีศาน 22 : ปิดเล่ม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com