มองไทยด้วยวิภาษวิธี

เฮเกล (ค.ศ.๑๗๗๐ – ๑๘๓๑) : นักปรัชญาชาวเยอรมันในวัยหนุ่ม

แนวคิดของเฮเกลช่วยให้มองประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์ไทยด้วยแนวคิดวิภาษวิธีได้ แนวคิดของเขามีพลัง มีอิทธิพลต่อนักคิดนักปรัชญาต่อมาอย่างมาก เพราะเขามองทุกอย่างเป็นการเปลี่ยนแปลง และอธิบายการเปลี่ยน แปลงอย่างเป็นเหตุเป็นผล

ถาม-ตอบ

ใช้แนวคิดวิภาษวิธีมองสังคมไทยอย่างไร

สังคมไทยตั้งแต่ ๒๔๗๕ มาถึงปัจจุบัน เป็นพัฒนาการประวัติศาสตร์ที่เป็นไปในลักษณะวิภาษวิธี และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปจนกว่า “จิตสูงสุด” จะวิวัฒนาเปิดตัวเป็นสังคมที่ดีกว่านี้ ลองอ่านแนวคิดของเฮเกลข้างต้นช้า ๆ และหลายครั้งแล้วเอามาพินิจพิเคราะห์ดูเองว่าเป็นอย่างไร

สถานการณ์ก่อน ๖ ตุลาฯ กับวันนี้เหมือนกันต่างกันอย่างไร

เหมือนกันในแง่ของการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ของฝ่ายก้าวหน้าที่ต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง กับฝ่ายอนุรักษ์ที่ต้องการรักษาสถานะเดิม (status quo) รักษาอำนาจของผู้สูญเสียอำนาจหรือกำลังถูกคุกคามว่าจะสูญเสีย

มีการต่อสู้กันด้วยข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อและมวลชน ปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชัง อาฆาตจนนำไปสู่เหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ ที่มีคนถูกฆ่าตายอย่างโหดร้ายทารุณ วันนี้ความรุนแรงกำลังแรงขึ้นเรื่อย ๆ การกดไว้นานและหนักอาจถึงขั้นระเบิดรุนแรงในท้ายที่สุด

แตกต่างกันในเนื้อหาบางส่วนและวิธีการก่อน ๖ ตุลาฯ อำนาจรัฐใช้การโฆษณาชวนเชื่อแพร่ข้อมูลข่าวสารใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงกันข้ามที่ถูกหาว่าเป็นฝ่ายซ้าย เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นสายลับญวน ฯลฯ ปลุกระดมทางวิทยุ ทีวี เปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” วันนี้ทั้งสองฝ่ายสู้กันด้วยโซเชียลมีเดีย มีปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ที่รัฐปฏิเสธแต่ Facebook ก็ปิดไปหลายรายการ

คิดตามวิภาษวิธีแบบเฮเกล สิ่งที่ฝ่ายก้าวหน้านำมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่ “ความเท็จ” แต่เป็น “ความจริง” อีกแบบที่ต้องการให้เกิด ฝ่ายอนุรักษ์จึงพยายามปกป้อง “ความแท้จริง” (authenticity) ของสิ่งที่ตนเองเชื่อ อ้างความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมของ “สิทธิอำนาจ” (authority) ในเรื่องชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ ที่ฝ่ายก้าวหน้าเห็นอีกแบบหนึ่งและต้องการการเปลี่ยนแปลง

การเมืองในสภากลายเป็นลิเกโรงใหญ่ ใช้วิชาศรีธนญชัยหลอกประชาชน จนไม่เหลือความชอบธรรมและไร้พลังขับเคลื่อน การเปลี่ยนแปลงสภากลายเป็นเวทีเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม ไม่ใช่ของประชาชน ถึงได้เห็นการเมืองบนถนนรุนแรงและหนักหน่วงมากขึ้นเรื่อย ๆ

พัฒนาการประชาธิปไตยเป็นวิภาษวิธี ยุคนี้อำนาจรัฐอาจจะหลงตัวเองเหมือนโนเกียและโมโตรอลลาที่เป็นเจ้าตลาดมือถือ กว่าจะรู้ว่าถูกโค่นจากไอโฟนและซัมซุงก็สายไปแล้ว

ใช้แนวคิดแบบมาร์กซิสต์วิเคราะห์ด้วยได้ไหม

ได้ ก็คือกรอบคิดเดียวกัน เพราะมาร์กซ์ก็เอามาจากเฮเกล ต่างกันแต่รูปแบบที่มาร์กซ์มีรูปธรรมเชิงประจักษ์ สัมผัสได้ ไม่ได้พูดเรื่อง “จิต” ที่ฟังดูอาจจะ “ลอย ๆ” เป็นนามธรรม หากพูดเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น

ยุคของมาร์กซ์เป็นการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพกับนายทุน วันนี้เป็นการต่อสู้ระหว่าง “ราษฎร” กับ “รัฐ” เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ ทวงคืนอำนาจของตนในนามประชาธิปไตย และไม่มีชนชั้นศักดินา

สถานการณ์วันนี้จะจบอย่างไร

ประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอยได้ แต่จะไม่ถอยหลัง จะก้าวไปข้างหน้า เชื่อว่าสังคมไทยจะไม่เหมือนเดิม จะเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน อยู่ที่ว่าช้าหรือเร็ว มากหรือน้อยเท่านั้น

ถ้าช้าและน้อยคงอธิบายแบบเฮเกลว่าเหมือนผลไม้ที่สุกแล้วร่วงหล่นลงดิน เกิดเป็นต้นไม้ใหม่ ใช้เวลานาน แต่ถ้าเร็วก็จะเป็นแบบที่เรียกกันวันนี้ว่า “เปลี่ยนแบบหักโค่น” (disruption) หรือเปลี่ยนแบบ “ถึงรากถึงโคน” (radically)

(จากหมายเหตุของบทความเรื่อง เฮเกลกับสังคมไทย ๒๒ มี.ค. ๒๐๒๑)

Related Posts

พระพุทธมิ่งเมือง พระพุทธรูปยืนวัดสุวรรณาราม
ประวัติและที่มา ทำไมจึงได้ชื่อว่า มุกดาหาร (จ.มุกดาหาร)
เกร็ดในความกาก – (๑) กะหล่ำปลีสีทันดร
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com