วรรณกรรมคนคุก วรรณกรรมวิจารณ์ แนวสัญญะ|สังคม~สัจจนิยม (Semiotic Social Realism) #จิตรภูมิศักดิ์

วรรณกรรมคนคุก
วรรณกรรมวิจารณ์ 
แนวสัญญะ|สังคม~สัจจนิยม (Semiotic Social Realism)
#จิตรภูมิศักดิ์

“ดวงใจ ในแดนฟ้า” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ (ตอนที่ ๔)

บทสรุปการวิจารณ์

ต้นกำเนิด ‘ดวงใจ ในแดนฟ้า’ ถือว่าเป็นเรื่องเล่าปรัมปรา (Myth)  มีลักษณะตรงตามนิยามความหมายของคำว่า ‘Myth’ คือ “เป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมานานจากรุ่นสู่รุ่น

มีลักษณะเป็นเรื่องที่ผูกขึ้นคล้ายกับนิทาน เนื้อหาของเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มชนและวีรกรรมของคนที่อาจไม่มีตัวตนอยู่จริง  ใน ‘เรื่องเล่าปรัมปรา’ มักมีเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา อำนาจเหนือธรรมชาติ ปรากฏการณ์ต่างๆ ตามความเชื่อของคนในสังคม  ตามหลักคิดทางมานุษยวิทยาถือว่า ‘เรื่องเล่าปรัมปรา’ ไม่ใช่เรื่องจริงและไม่ถือว่าเป็น ‘ประวัติศาสตร์’  (พจนานุกรมศัพท์มานุษยวิทยาฉบับราชบัณฑิตยสภา ๒๕๖๑: น.๒๖๒)

อย่างไรก็ตามมีนักประวัติศาสตร์เสนอว่า ‘เรื่องเล่า’ ทั้งหลายล้วนสัมพันธ์กับการกระตุ้นเร้าให้ความจริง มีผลกระทบเชิงศีลธรรม  ข้อโต้แย้งนี้ให้ความสำคัญกับความหมายของ ‘เรื่องเล่า’ ไม่ว่าเรื่องนั้นๆ จะถูกอ้างว่ามีคุณค่าของความเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม (Hayden White, 1928-2018) 

ผู้เขียนเห็นว่า ข้อโต้แย้งว่า ‘เรื่องเล่า’ เป็นเรื่องจริง มีนัยยะประวัติศาสตร์หรือไม่ ไม่มีความสำคัญเท่ากับการที่ ‘เรื่องเล่า’ ไม่ว่าของชนชาติใดในยุคสมัยใด ล้วนเป็นสิ่งที่ ‘มีพลังมุ่งหมาย’ ที่จะกล่าวถึงเรื่องราวที่ผ่านเลย โดยตอกย้ำถึง ‘อำนาจ’ ครอบงำ ที่เป็นสาระสำคัญของระบบสังคมหนึ่ง ๆ  นอกจากนี้ทฤษฎีเรื่องเล่าในทางวรรณกรรมศึกษา เมื่อวิเคราะห์ตีความเชิงสัญญะ ตามแนวคิดทฤษฎีหลังสมัยใหม่ ทำให้เราได้เรียนรู้ถึง ‘พลังของภาษา’ และ ‘ชั้นเชิงวาทศิลป์’ ในการเล่าเรื่อง เพื่อนำเหตุการณ์และสภาวการณ์ต่างๆ มาเสนอด้วยลีลาที่น่าสนใจ สร้างความชื่นชมเชิงประจักษ์ ให้แก่ผู้เล่าเรื่องแต่ละสำนวน  เราอาจจะประเมินได้ว่า ทั้ง แมกซิม กอร์กี้ และ จิตร ภูมิศักดิ์  ต่างก็ประสบผลสำเร็จในการ ‘เล่าเรื่อง’ นี้อย่างงดงาม

     “จิตรเป็นผู้มีการก่อเกิดสองครั้ง…

     ครั้งแรกเขาเกิดและดับไปตามวิถีของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในระบอบเผด็จการ

     ครั้งที่สอง  เขาได้เกิดใหม่ เป็นกำเนิดใน “ตำนานจิตร ภูมิศักดิ์”  นับเป็นตำนานที่ได้  

     รับการกล่าวขานมานานเกินกว่าห้าสิบปี นับแต่ปี  ที่เขาตกเป็นข่าว “ถูกโยนบก”   

     จนถึงปัจจุบัน 

     ‘14 ตุลาคม 2516’ คือเงื่อนเวลาที่ทำให้ “จิตร ภูมิศักดิ์” ได้เกิดใหม่”

นี่คือคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร.เคร็ก เจย์ เรโนลด์ส ในโปรยปกหลังของหนังสือชื่อ โฉมหน้าที่แท้จริงของศักดินาไทย (The Real Face of Thai Feudalism Today, Craig J.Reynolds, 1957) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ว่ากันตามจริง จิตรจากไปเพียงร่างและชีวิตทางกายภาพ  ‘จิตวิญญาณ’ ของจิตรไม่เคยตาย หากแต่ยังมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ ผ่านผลงานมากมายทุกรูปแบบของเขาที่ได้รับการนำมาเผยแพร่ ผลิตซ้ำ ถกเถียง เห็นด้วย คัดค้าน

บางที เรื่องของศาสนา อาจจะต้องให้ฝ่ายศาสนา บุคคลากรในศาสนา องค์การ องค์กร และสถาบันทางศาสนา  ผู้คนที่เชื่อมั่นศรัทธาในศาสนา (หรือ บุคคลอันเป็นที่สักการะในศาสนา) ลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันเอง ตรวจสอบกันเอง เรียกร้องต่อกันเอง และ “จัดการ” กันเอง  ฆราวาสวิพากษ์เรื่องราวหรือประเด็นที่เป็นปัญหาใน “พุทธศาสนจักร” ของสยามประเทศ ด้วยความหวังดี หวังให้งาม  ล้วน “โดนจัดการ” มาแล้ว  อย่างเช่น จิตร ภูมิศักดิ์  ตั้งแต่เมื่อราวหกสิบปีก่อน  เขา “แตะ” ประเด็นปัญหาในวงการพุทธศาสนาเพียงด้านวิถีชีวิตประจำวันเท่านั้น เพียงด้วยความครุ่นคิดตั้งข้อกังขา (Critical  minded)

     เขาถูกเพื่อนนิสิตจุฬาฯ ด้วยกัน “โยนบก”;

     ถูกครูบาอาจารย์สั่ง “พักการเรียน”;

     ถูก “ความเป็นสถาบัน” (ตามนิยามของฟูโก) บีบคั้นกีดกันเบียดขับให้เขากลายเป็น “คนอื่น” เป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา ไม่พึงเข้าใกล้ 

    จะมีใครสักกี่คนที่ล่วงรู้ว่า คนดีมีวิชาอย่างเขาต้องสูญเสียแม้กระทั่ง “คนรัก~ดวงใจในแดนฟ้า” เพราะเขาได้กลายเป็น “บุคคลต้องห้าม” ไปเสียแล้ว

มาถึงวันนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังมีบทบาทด้านการเป็น ‘ไอดอล’ ของการต่อสู้ทางความคิด และการพลีชีพเพื่ออุดมการณ์ที่เขามุ่งมั่น  ตรงตามบทกวีแปลที่เขาสร้างสรรค์ไว้จนกลายเป็น ‘วรรคทอง’ ที่ติดปากประดับใจของเยาวชนนักเรียนนักศึกษาประชาชน และปัญญาชน รวมทั้งผู้ใช้แรงงาน

“เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์     

สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์

แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน       

จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน”

ปลายปีพุทธศักราช ๒๕๖๓  จิตร ภูมิศักดิ์  ได้รับการกล่าวขอโทษ

เมื่อเวลาผ่านไป ๖๘ ปี ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ “ถูกโยนบก” ตกจากเวที บาดเจ็บ ถูกพักการเรียน สูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต ที่ควรจะรุ่งโรจน์ในฐานะ ‘ปราชญ์ของแผ่นดิน” 

เราอาจจะต้องช่วยบันทึกประวัติศาสตร์หน้านี้ไว้ เพิ่มต่อจากที่ ท่านศาสตราจารย์ ดร.เคร็ก เรโนล์ด ได้บันทึกไว้ว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เกิดสองครั้งแล้วนั้น

“วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๔”  เป็นวันที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ “คืนสู่เหย้า” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขารักและผูกพัน อย่างองอาจ  ‘สัจจวาทบท’ ของเขา ในหนังสือรำลึก “๒๓ ตุลาคม” ปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาทบทวน สรุปบทเรียน และประเมินคุณค่าใหม่ อย่างสมศักดิ์ศรีของ “ผู้เกิดก่อนกาล” 

ข้อมูลอันน่าประทับใจใน

“แถลงการณ์กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เรื่อง แถลงการณ์ขอโทษแด่คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ต่อกรณี ‘โยนบก’

 ที่ผนวกไว้ในตอนท้ายของ “บทวิจารณ์วรรณกรรมกับประวัติบุคคล” ชิ้นนี้ ควรถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่ง “สัจจวาทบท” ที่ควรค่าแก่การสรรเสริญ  ถือได้ว่าเป็น ‘จิตวิญญาณทางการเมือง’ ที่น่าศึกษายิ่งของ “กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (ปีการศึกษา ๒๕๖๔)

ควรจะกล่าวยืนยันได้ว่า  “สัจจวาทบท” นี้ ได้เสนอมิติใหม่ของ ‘วุฒิภาวะทางการเมือง’ ของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นร่วมสมัยปัจจุบัน ที่ได้ ‘รื้อ~สร้าง’ ภาพลักษณ์ก้าวร้าวเป็นปฏิกิริยาสุดขั้วของ ‘นิสิตวิศวะ จุฬาฯ รุ่นพี่’ ได้กระทำการรุนแรงไว้ต่อ จิตร ภูมิศักดิ์ ปราชญ์กวีปฏิวัติของแผ่นดินไทย

ในภาวการณ์การเมืองแบบใหม่ที่ห้าวหาญ เป็นผลให้ ภาพลักษณ์ที่มี ‘มลทินทางการเมือง’ ของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ ‘เกิดใหม่’ เช่นกัน ในอ้อมอกของประชาชนไทยทั้งปวง ที่มี “จิตร ภูมิศักดิ์ ในดวงใจ”

ผู้เขียน ~ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการสืบค้นประวัติชีวิตของ จิตร ภูมิศักดิ์ และสืบสาวเหตุการณ์ที่เขาถูกโยนบกในครั้งนั้น โดยนำเสนอเป็นบทความเผยแพร่เป็นครั้งแรก ในนาม “สิริอุสา พลจันท์”* ใน “วารสารอักษรศาสตร์พิจารณ์”  ที่ คุณประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล (นิสิตอักษรศาสตร์) เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ  ขอแสดงความชื่นชมอย่างยวดยิ่ง ต่อการแสดงออกซึ่งวุฒิภาวะทางความคิดและแนวทางการเมือง ของกรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ในช่วงทศวรรษอันมีนัยยะสำคัญของประวัติศาสตร์ศาสตร์การเคลื่อนไหวสังคมและการเมืองไทย

[* สิริอุสา พลจันท์  เป็น นามปากกา ที่ผู้เขียนใช้ในการเขียนบทความสืบสาวประวัติชีวิตและผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ “ผู้มาก่อนกาล”, พิมพ์ครั้งแรกใน “วารสารอักษรศาสตร์พิจารณ์”;  บทความพิเศษนี้ได้รับการอ้างถึงโดย ศาสตราจารย์ Dr.Craig J.Reynolds, โฉมหน้าที่แท้จริงของศักดินาไทย (The Real Face of Thai Feudalism Today, 1957.) โดยที่ท่านไม่ทราบเลยว่า “สิริอุสา พลจันท์” คือใคร.]

แถลงการณ์กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่อง แถลงการณ์ขอโทษแด่คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ต่อกรณี “โยนบก”

.

เนื่องในโอกาสครบรอบ 68 ปีของเหตุการณ์ “โยนบก” คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นอดีตนิสิตคณะอักษรศาสตร์ และถือได้ว่าเป็น “นิสิตหัวก้าวหน้า” ในยุคสมัยนั้น ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสังคมไทยไว้อย่างมากมาย แต่สิ่งที่ตอบแทนความดีงามของคุณจิตร ภูมิศักดิ์นั้น กลับกลายเป็นความรุนแรงและความอยุติธรรม จากกรณีที่ได้มีอดีตนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์กระทำการ “โยนบก” คุณจิตร ภูมิศักดิ์ลงจากเวทีหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2496 เพียงเพราะพยายามเปลี่ยนรูปแบบหนังสือมหาวิทยาลัย 23 ตุลาฯ อันมีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมมหาวิทยาลัยที่ติดหล่มให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเท่านั้น

เหตุการณ์ “โยนบก” นี้ เป็นการใช้ความรุนแรงและละเมิดความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ว่าใครก็ไม่สมควรได้รับความรุนแรงเช่นนี้ทั้งสิ้น ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงผลพวงจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่สร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างทางความคิด แม้ผู้นั้นจะแสดงความเห็นอย่างสันติ และวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่ผู้กระทำการ “โยนบก” คุณจิตร ภูมิศักดิ์นั้น ไม่เคยถูกลงโทษอย่างสมเหตุสมผล แต่กลับกลายเป็นคุณจิตร ภูมิศักดิ์เสียเอง ที่ถูกคณาจารย์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลงโทษพักการเรียนอย่างไม่เป็นธรรม และแม้ว่าเหตุการณ์ “โยนบก” จะล่วงเลยมากว่า 68 ปี ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าวัฒนธรรมเหล่านี้ ทั้งการใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างทางความคิดหรือวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดยังคงเกิดขึ้นและมีอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน

กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงขอใช้โอกาสนี้ในการกล่าวแสดงความเสียใจและกล่าวขอโทษต่อทุกความผิดและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ถูกกระทำความรุนแรงในเหตุการณ์ “โยนบก” โดยอดีตนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2496  และกล่าวขอโทษต่อการแถลงการณ์กรณี “โยนบก” โดยกรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2563 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ที่ละเลยต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีต

ทั้งนี้ กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2564 ขอแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยต่อแถลงการณ์ดังกล่าว ขอน้อมรับในทุกคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น และได้ตระหนักถึงความผิดพลาดทั้งปวง รวมถึงขอประณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และขอยืนยันว่าไม่ว่าในยุคสมัยหรือบริบททางสังคมแบบใด การใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการโยนบกหรือโยนน้ำ ก็ล้วนเป็นการกระทำที่ผิดหลักสิทธิมนุษยชน และไม่สามารถยอมรับได้ทั้งสิ้น

การขอโทษต่อคุณจิตร ภูมิศักดิ์นี้ จะเป็นการย้ำเตือนถึงความอยุติธรรมที่คุณจิตร ภูมิศักดิ์ได้รับจากเหตุการณ์ “โยนบก” รวมถึงเป็นเครื่องเตือนใจแก่ทั้งนิสิตและผู้คนในสังคมให้ต่อต้านการใช้ความรุนแรง รับฟังผู้เห็นต่างทางความคิดอย่างสันติ ไม่เมินเฉยต่อวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ขอให้คำมั่นสัญญาในการสอดส่องดูแล และต่อต้านระบบอำนาจนิยมและวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดภายในรั้วคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพและเคารพต่อความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนพึงมี และป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและความอยุติธรรมในอนาคตเช่นนี้สืบไป

“ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

แม้นผืนฟ้ามืดดับเดือนลับละลาย* ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน”

กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

           28 ตุลาคม 2564

________

* “เดือนลับละลาย”  คำว่า ‘ละลาย’ เขียนคำนี้ตามที่ใช้ใน “แถลงการณ์” และในคำร้องของบทเพลง  “แสงดาวแห่งศรัทธา” ในระยะหลัง

คำที่ถูกต้อง ตามต้นฉบับที่จิตร ภูมิศักดิ์ประพันธ์เพลงไว้ น่าจะเป็น ‘มลาย’  เป็นคำไทดั้งเดิม มีใช้ในวรรณคดีไทยสมัยอยุธยาตอนต้น แปลว่า ‘หายไป’  

ในบริบทนี้ “แม้ผืนฟ้ามึดดับเดือนลับมลาย  ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน”

จึงแปลความได้ว่า ‘แม้เดือนลับหายไป (เดือนมืด คืนข้างแรม)  ดาวดวงนั้น ‘ดาวแห่งศรัทธา’ ของผู้คน ก็ยังคงยืนยง เย้ยฟ้าดิน’

ส่วนความหมายของ ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ มีความหมายหลายนัย ขึ้นอยู่กับบริบทสังคม ความในใจและอุดมการณ์ของผู้แต่ง และความในใจ~ความคิดเชิงอุดมการณ์ของผู้อ่านผู้ฟัง ในบริบทสังคมของผู้นั้นก็ได้ (ตามนัยยะทางทฤษฎีวรรณกรรมวิจารณ์หลังสมัยใหม่)

*****

References

Thai Radical Discourse

The Real Face of Thai Feudalism Today

BY CRAIG J. REYNOLDS, 1957.

Using Jit Poumisak’s The Real Face of Thai Feudalism Today (1957), Reynolds both rewrites Thai history and critiques relevant historiography. Discussing imperialism, feudalism, and the nature of power, Reynolds argues that comparisons between European and Thai premodern societies reveal Thai social formations to be “historical, contingent, and temporally bounded.”

หมายเหตุเสริมท้ายบท:

Amy Louise Leckrone-Thompson ตีความว่า Carl Gustav Jung

ไม่ได้เชื่อโดยสนิทใจว่านรกหรือสวรรค์มีอยู่จริง 

เขาหมายถึง “ตัวตน” ด้านที่มืดและสว่างของมนุษย์ ซึ่งควรจะต้องมีดุลยภาพ

แต่ที่เป็นอยู่จริงก็คือ จิตวิญญาณของมนุษย์จะถูกกำกับควบคุมโดยด้านใดด้านหนึ่งเสมอ

   “Jung did not believe in a literal heaven or hell, as they do not exist.

    He was speaking of the Light and Dark aspects of the Self.

    There must be Balance, neither one nor the other must rule the soul.”

#CholthiraSatyawadhna #วรรณกรรมคนคุก #จิตรภูมิศักดิ์

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com