วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]

วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]

ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรมพระปาจิต นางอรพิม

ดร.รังสิมา กุลพัฒน์

นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๕๐  มิถุนายน  ๒๕๕๙

ป้ายหมู่บ้านจารย์ตำรา ตำบลท่าหลวง อำเภอพิมาย

มุขปาฐะเรื่องปาจิต อรพิม นี้ ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบโคลงในสมัยอยุธยา ตัวธรรมลาวปัญญาสชาดก แต่การบันทึกลายลักษณ์อักษรในฐานะ ตำนานเมืองพิมายนั้นเป็นการยืมโครงเรื่องของเรื่องเล่านิทานปรัมปราที่กลายเป็นชาดกนอกนิบาต และกลับกลายเป็นตำนานท้องถิ่นที่ผู้เล่าและผู้ฟังต่างลืมว่ามีที่มีจากโครงเรื่องจากถิ่นอื่น ด้วยการผสมผสานการเล่าเรื่องที่ผูกการอธิบายภูมินามของชาวอีสานกลางและใต้ จึงเสมือนเรื่องที่เกิดขึ้นจริง

วรรณกรรมมุขปาฐะจากคนพิมาย ได้รับการบันทึกลงในสมุดไทยใน พ.ศ. ๒๓๑๖ ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งได้มีประวัติศาสตร์การลงมาปราบชุมนุมเจ้าพิมาย หรือกรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้รวบรวมผู้คนจากภาคตะวันออก รวมทั้งจากกรุงศรีอยุธยา มารวมเป็นหมู่เหล่าอยู่ที่เมืองโคราชและพิมาย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๐๐ และเจ้าพระยาสุริยอภัยได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองโคราชแทน เรื่องราวตำนานของเมืองพิมายจึงได้ถูกเล่าขานกันในหมู่ชาวกรุง และได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในที่สุด

ใน พ.ศ. ๒๕๓๓ ฝ่ายวรรณกรรม กรมศิลปากร ได้มีการจัดปริวรรตวรรณกรรมสำคัญ ๆ ขึ้น และได้มีการจัดหมวดตามปีจึงปรากฏวรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรีขึ้น สองเล่ม “ตำนานเมืองพิมาย” ถูกบรรจุไว้อยู่ในเล่มที่สอง ซึ่งการรวมรวมครั้งนี้จักต้องใช้สมุดไทยเรื่องตำนานเมืองพิมายทั้งฉบับสมัยกรุงธนบุรี และฉบับที่คัดลอกโดยหลวงบำรุงสุวรรณ สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มาประกอบกัน เนื่องจากปาจิตตกุมารกลอนอ่านสำนวนที่ ๑ (สมัยกรุงธนบุรี) มีด้วยกัน ๔ เล่มคือ เล่มที่ ๒-๔ โดยนำเล่มที่ ๑ มาจากสำนวนที่ ๒ (สมัยรัชกาลที่ ๔) เหตุที่ทำให้ระบุยุคสมัยในแต่ละสำนวนได้นั้น ก็เนื่องจากผู้ประพันธ์ได้ระบุถึงช่วงเวลาไว้

ในสำนวนที่ ๑ นั้นมีการกล่าวถึงว่า “แต่งแล้วเดือนเก้า ขึ้น ๑๕ คํ่า ปีขาล เขียนแล้ว เดือน ๕ แรม ๑๔ คํ่า ปีขาน ฉอศก สักกราช ๒๓๑๖ วาษ ปริยบูนน้านิถิตา” แต่ไม่ได้ระบุนามผู้ประพันธ์

ในขณะที่สำนวนที่ ๒ นั้นเขียนไว้ว่า         

ข้าบังคมทูลกระหม่อมพระจอมเกล้า

พระปิ่นเกล้ากรุงยุทธโกสินทร์

บันลือลั่นประเทืองกระเดื่องดิน

พระภูมินทร์ขอให้มีชนมา…

หลวงบำรุงสุวรรณฉันผู้แต่ง

ประจักแจ้งเรื่องนิทานไม่กังขา

ประดับประดิษขอให้เปรื่องเรืองปัญญา

บังเกิดมาในสันดานสะดวกดาย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในตอนท้ายเล่มของสำนวนที่ ๒ ที่ประพันธ์โดยหลวงบำรุงสุวรรณซึ่งทางกรมศิลปากรไม่ได้นำมาใช้นั้น มีการบันทึกถึงปีที่ประพันธ์เช่นเดียวกับสำนวนที่ ๑ คือ พ.ศ. ๒๓๑๖ ทั้ง ๆ ที่ได้กล่าวว่าตนเองประพันธ์ในสมัยของพระจอมเกล้าฯ ในตอนต้น ซึ่งข้อมูลนี้ได้จากงานปริวรรตของ นฤมล ปิยวิทย์ ซึ่งได้สมุดไทย หรือสมุดข่อยมาจากบ้านดินหลังหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา คือบ้านของคุณยายยี่สุ่น ไกรฤกษ์ ที่ลูกหลานได้รื้อบ้านดินและพบว่ามีบันทึกโบราณต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จึงได้นำมาบริจาคไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในจำนวนนี้มีเรื่อง ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน ซึ่งเป็นฉบับเดียวกับสำนวนที่ ๒ ที่ทางกรมศิลปากรได้ทำการปริวรรต แต่ในฉบับที่ปริวรรตโดย นฤมล ปิยวิทย์ นี้ มีความสมบูรณ์ไม่ขาดตอน ซึ่งพบข้อความของปีที่ประพันธ์ว่าเป็นสมัยกรุงธนบุรี แต่ขณะที่ตอนต้นกล่าวว่าตนเองอยู่ในสมัยพระจอมเกล้าฯและพระปิ่นเกล้าฯ อย่างไรก็ตามการคัดลอกที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และมีหลายเล่ม แสดงให้เห็นถึงความนิยมของเรื่องปาจิตตกุมารกลอนอ่าน ในหมู่ข้าราชการและคหบดีในยุคก่อน

ลักษณะคำประพันธ์ใน “ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน” ทั้งสำนวนที่ ๑ และ ๒ นั้น มีคำประพันธ์เป็นร้อยกรอง กลอนสุภาพ ซึ่งพบว่ากลอนของสุนทรภู่ก็มีความคล้ายคลึงกับ กลอนที่ปรากฏในปาจิตตกุมารคำกลอนนี้ ยังแทรกการพรรณนาชมป่า ชมดาว คล้ายกับที่สุนทรภู่นำไปประพันธ์ใน “นิราศ” ต่าง ๆ ดังนั้นการประพันธ์ “ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน” จึงอาจมีอิทธิพลต่องานของสุนทรภู่

ใน “ตามรอยปาจิต อรพิม ตอนที่ ๑” ได้กล่าวถึงกลอนสร้างปราสาทหินพนมวันและพิมายเอาไว้จึงจะไม่กล่าวถึงอีก แต่ในตอนนี้จะขอกล่าวถึงกลอนที่เล่าความเป็นมาของสถานที่ต่าง ๆ บริเวณรอบ ๆ เมืองพิมายแทน ในกลอนนี้บอกที่มาของชื่อบ้านนามเมืองว่ามีกำเนิดมาอย่างไรถือเป็นการบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้

เมื่อพระปาจิต เดินทางมาพบยายบัวตาม  คำทำนายของโหราแห่งนครธม และขอร้องยายบัวว่าจะช่วยทำนา ช่วยดูแลเด็กที่อยู่ในครรภ์ของยายบัว หากเป็นชายจะขอเป็นเพื่อนและหากเป็นหญิงก็จะขอเป็นภรรยานั้น พระปาจิตถือใบลานที่โหราทำนายมาด้วย เรียกว่า “ตำรา” ซึ่งทางบ้านยาง ขอนำไปอ่านและคัดลอก ซึ่งเรียกว่า “จาร” ต่อมาบ้านยางก็ได้ถูกเรียกเพี้ยนไปว่า “จารตำรา” นับแต่นั้นมา

ครั้นพบพานแล้วก็อ่านในเรื่องฝอย

ช่างแช่มช้อยทายแน่นั้นนักหนา

หาใบลานจดจารเขียนตำรา

เป็นโกลาลือลั่นสนั่นไป

ที่นามบ้านพากันเรียกว่าบ้านยาง

ก็ทิ้งขว้างเสียหาเรียกดังเก่าไม่

เรียกแต่บ้านจารตำราทุกคนไป

ก็เสียหายชื่อบ้านยางแต่หลังมา

(กรมศิลปากร ๒๕๓๓ : ๒๔)

ประวัติของบ้านจารย์ตำราที่วัดจารย์ตำรา ตำบลท่าหลวง อำเภอพิมาย

บ้านจารย์ตำรา ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าหลวง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ชาวบ้านยังมีความเชื่อเรื่องความเกี่ยวข้องของชาวบ้านกับเรื่องชื่อบ้านนามเมืองว่า มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องตำนานปาจิต อรพิม แต่เนื้อเรื่องก็มีความแตกต่างกันจากวรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี ตามธรรมชาติของมุขปาฐะ โดยมีบันทึกไว้ที่วัดบ้านจารย์ตำราไว้ดังนี้

มีฤษีจันทร์ได้มาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้ท่านมีความเชี่ยวชาญในการทำนายโชคชะตาราศี สักยันต์และลงคาถาอาคมได้ ครั้นนั้นมีท้าวปาจิตต์ได้ทราบถึงกิตติศัพท์จึงเดินทางมาพบกับฤษีจันทร์ ท่านทายเนื้อคู่ท้าวปาจิตต์ว่า เนื้ออยู่อยู่ในครรภ์ของนางบัว ท้าวปาจิตต์ออกเดินทางหาเนื้อคู่ ตามสถานที่ต่าง ๆ วันหนึ่งได้พบหญิงมีครรภ์ปักดำข้าวอยู่ รอบ ๆ หญิงมีครรภ์นั้นมีร่มเงาแผ่ปกคลุมเป็นวง ป้องกันแสงพระอาทิตย์มิให้ถูกต้องกายหญิงมีครรภ์นั้น ท้าวปาจิตต์ขึงขออาศัยกับนางบัวจนกระทั่งนางคลอดลูกออกมาเป็นหญิง ได้ชื่อว่านางอรพิมพ์ และได้เป็นคู่ครองของท้าวปาจิตต์สมจริงตามคำทำนายทุกประการด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกว่า บ้านจารย์ตำราตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จากการสอบถามชาวบ้านพบว่า ที่บ้านจารย์ตำรานี้ ยังขึ้นชื่อเรื่องหมอดู หรือหมอทำนายโชคชะตา มีชาวบ้านหลายคนที่มีความสามารถจนกระทั่งประกอบอาชีพได้ เป็นที่รู้จักของชาวบ้านในแถบเมืองพิมาย

ต่อมายายบัวจะคลอดลูก พระปาจิตจึงตั้งใจจะไปตามหมอตำแย แต่ระหว่างที่หมอตำแยเดินทางเพื่อไปทำคลอดให้ยายบัว ก็พลันเจอตาปาน จึงถามว่าเกิดอะไรขึ้นจึงดูโกลาหลตาปานบอกว่า หมอตำแยมาไม่ทันเสียแล้วเพราะยายบัวคลอดสำเร็จไปแล้ว ละแวกบ้านนั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านสำเร็จ และแผลงมาเป็นบ้านสัมฤทธิ์ในปัจจุบัน

บ้านไร่ป่าพากันเรียกบ้านสำเร็จ

มีนิเทศเรื่องนิทานบุราณไข

เพราะคลอดบุตรชุลมุนออกวุ่นไป

เจ้าปาจิตจึงได้รับเอาหมอมา

หมอมาผันมาไม่ทันออกสำเร็จ

คำนี้จริงมิได้เท็จมามุสา

คนบุราณชื่อบ้านขนานมา

ให้ฉายาคลอดลูกสำเร็จตัว

คนทุกวันมาผันเรียกบ้านสัมฤทธิ์

ครั้นคิดดูก็ขันเป็นน่าหัว

เรียกรํ่าเรื่องโฉ่ฉาวอยู่พันพัว

พากันมัวเรียกสัมฤทธิ์นั้นผิดไป

(กรมศิลปากร ๒๕๓๓ : ๒๕)

บริเวณบ้านสำเร็จ นี้เป็นที่ตั้งคุ้มกำเนิดนางอรพิม สามารถค้นพบเศษภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ และยุคโบราณได้โดยง่าย มีตกอยู่ตามพื้นบ้านทั่วไป

บ้านสำเร็จ หรือบ้านสัมฤทธิ์ ห่างจากตัวอำเภอพิมายประมาณสี่กิโลเมตร มีแม่นํ้ามูลไหลผ่านหมู่บ้านทางทิศตะวันตก มีประชากรประมาณ ๔๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นชาวนา บ้านสัมฤทธิ์ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่นํ้ามูล เป็นแหล่งขุดค้นโบราณคดีเก่าแก่ ตั้งแต่สมัย ๒,๕๐๐-๓,๐๐๐ ปี  โดยแหล่งโบราณคดีที่มีชื่อเสียงอยู่ใกล้เคียงคือบริเวณบ้านธารปราสาท ซึ่งมีการขุดค้นภาชนะโบราณในยุคใกล้เคียงกับบ้านเชียง ที่อุดรธานีการขุดค้น ในบริเวณนี้จึงพบพื้นที่ที่ผู้คนอยู่อาศัยทับซ้อนกัน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ ภาชนะในยุคโบราณ รวมทั้งภาชนะดินเผาที่เรียกว่า พิมายดำ ซึ่งมีนักโบราณคดีชาวต่างประเทศที่มีชื่อเสียงมาทำการขุดค้นบริเวณนี้หลายคน

บ้านสำเร็จ ยังมีตำนานว่าเป็นบ้านเกิดของนางอรพิม ซึ่งในหมู่บ้านนี้มีบ้านหลังหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นบ้านนางอรพิม จนมีการตั้งชื่อคุ้มหมู่บ้านว่า กำเนิดนางอรพิม เจ้าของบ้านบอกว่า บริเวณเนินหน้าบ้านนั้นชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบ้านเดิมของนางอรพิม ตอนที่ผู้เขียนเข้าไปสำรวจก็ไม่ได้พบกับเนินหน้าบ้านแล้ว เพียงแต่พบเศษภาชนะดินเผาโบราณที่อาจเป็นสมัยพิมายดำตกกระจัดกระจาย เจ้าของบ้านบอกว่า พี่ชายที่อยู่กรุงเทพฯ จะกลับมาสร้างเรือนอยูที่นี่ เลยทำการปรับพื้นที่มาหลายเดือนแล้ว ตอนที่เก็บข้อมูลนี้ พ.ศ. ๒๕๕๔ และดินที่อยู่ที่นี่ก็เอาไปไว้ที่วัดใกล้ ๆ

ส่วนความเชื่อเรื่องว่าบ้านนี้เป็นบ้านเกิดนางอรพิมนั้น เจ้าของบ้านบอกว่าได้เติบโตมากับความเชื่อนี้ บรรพบุรุษได้อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยยายทวด ก็กล่าวมาแบบนี้ ลักษณะเนินดินนั้นต่อเนื่องจากบริเวณบ้านของเธอไปจรดเป็นแนวกำแพง เธอบอกว่าไม่มีการสำรวจทางกรมศิลปากรเข้ามาในบ้านเธอแต่อย่างใด และตอนที่เธอปรับพื้นที่ก็ได้พบเห็นโลหะสีดำและเศษดินเผาอยู่มาก เมื่อสอบถามว่ามีที่สมบูรณ์บ้างหรือไม่ เธอไม่ได้ตอบ และกล่าวเพียงแต่ว่าเอาไปไว้ที่วัดหมดแล้ว

อนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

นอกจากนั้นพื้นที่ใกล้ ๆ กันกับบ้านสำเร็จนี้ ยังมีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในยุคต้นรัตนโกสินทร์เกิดขึ้นคือ เชื่อว่า ทุ่งสัมฤทธิ์นี้เป็นที่รบกันระหว่าง เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ที่เข้ามาสยามเพื่อทำการช่วยเหลือชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ในไทยตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๑

ในช่วงนั้นเมืองนครราชสีมา ไม่มีข้าราชการผู้ใหญ่รักษาการจึงทำให้เข้า ไปกวาดต้อนผู้คนได้ง่าย จึงเกิดมีเหตุการณ์วีรกรรมของท้าวสุรนารีตามความเชื่อของชาวนครราชสีมา ถึงแม้จะมีนักประวัติศาสตร์หลายท่านกล่าวว่าไม่มีบันทึกเหตุการณ์นี้ในประวัติศาสตร์ไทยก็ตาม แต่เรื่องราววีรกรรมของท้าวสุรนารี นางบุญเหลือ แหละหญิงชาวโคราชคนอื่น ๆ ที่ได้รับการยกย่องจนกระทั่งจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้มีดำริที่จะจัดสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีขึ้นที่ด้านหน้าประตูชุมพล โดยมอบให้ศาสตารจารย์ศิลป์พีระศรี เป็นผู้ดำเนินการ

เมื่อไม่นานมานี้ทางจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดสร้างอนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ ขึ้นที่บริเวณบ้านสัมฤทธิ์ อำเภอพิมายแห่งนี้ เพื่อยืนยันความเชื่อในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้

จึงจะเห็นได้ว่า ในพื้นที่แห่งเดียวกันนี้มีร่องรอยของประวัติศาสตร์ ความเชื่อ ที่ซ้อนทับกันมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์

(ติดตามต่อฉบับหน้า)

บทความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรม พระปาจิต นางอรพิม

เส้นทางวัฒนธรรมคืออะไร [๒]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับตำนานเมืองพิมาย [๓]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]

วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]

[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)

[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒) วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี

[๘] เส้นทางตามหาอรพิม ตอนที่ ๑

เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]

[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ
[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)

Related Posts

ฮูปแต้มวัดมหาธาตุ อำเภอเชียงคาน
มหัศจรรย์บัวหลวง
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com