วัดกู่ประภาชัย แบบบทของการดูแลพุทธสถาน

วัดกู่ประภาชัย แบบบทของการดูแลพุทธสถาน

กู่ประภาชัยตั้งอยู่ในพื้นที่ของ “บ้านนาคำน้อย” ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นพุทธสถานขอมโบราณ สร้างราวสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ หรือพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นับเป็นอีกหนึ่งมรดกภูมิปัญญาบรรพชนคนอีสาน

การเดินทางไปเยี่ยมชม หากเริ่มจากตัวจังหวัดขอนแก่นไปก็ราว ๆ ๖๐ กิโลเมตร กู่ประภาชัย อยู่ในบริเวณของ วัดกู่ประภาชัย หรือวัดบ้านนาคำน้อย วัดนี้ส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม บรรยากาศร่มรื่น มองไปทางไหนเต็มไปด้วยร่มไม้ใบหนา พื้นดิน ลานวัดสะอาดสะอ้าน ชาวบ้านต่างหลอมใจกันช่วยดูแลเป็นอย่างดี จนได้รับการพิจารณาให้เป็น “วัดส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับดีเยี่ยม” เมื่อ พ.ศ.๒๕๖๒

นับเป็นแบบอย่างของวัดที่ “บริหารจัดการ” ให้อาณาบริเวณเต็มไปด้วยชีวิตชีวา สร้างศรัทธาเลื่อมใสให้กับพุทธศาสนิกชน แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะเจ้าอาวาสเข้มแข็ง และชุมชนเต็มไปด้วยพลังสามัคคี มีจิตอาสา และสละแรงกายใจให้วัดเป็นพุทธบูชา

วัดกู่ประภาชัย มีปราสาทเก่าแก่ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมขอมโบราณ สร้างด้วยศิลาแลงและหินทรายราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สภาพในปัจจุบัน แม้จะชำรุดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา แต่ทางวัดและชาวบ้านต่างดูแลเป็นอย่างดี ทำให้เหมาะสำหรับการเยี่ยมชม อาคารและสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏนั้นประกอบด้วยปราสาทประธาน บรรณาลัย โคปุระ กำแพงแก้ว และสระน้ำ ภายในกู่ประภาชัยมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ มีหินก้อนศักดิ์สิทธิ์อยู่บนแท่น ชาวบ้านต่างพากันมาสักการบูชา

ตามแผนผังที่ปรากฏ นักโบราณคดีระบุว่าเข้ากับลักษณะของอโรคยศาล หรือศาลาไร้โรค ที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โบราณสถานลักษณะนี้พบทั้งในประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เกี่ยวกับการสร้าง อโรคยศาล มีข้อความในจารึกด่านประคำ ซึ่งเป็นจารึกในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย นักอักษรโบราณของกรมศิลปากรได้ถอดความไว้ ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “โรคทางกายของประชาชน เป็นโรคทางใจที่เจ็บปวดยิ่ง แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์เอง แต่ความทุกข์ของราษฎรก็เปรียบเหมือนความทุกข์ของเจ้าเมือง ด้วยเป็นพุทธสถานที่มีคุณค่ายิ่ง” กรมศิลปากรจึงขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๘

วัดกู่ประภาชัย ยังมีพิพิธภัณฑ์ให้เยี่ยมชม อาคารจัดแสดงอยู่ใกล้ ๆ กับโบราณสถาน อาคารแห่งนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ร่วมกันสร้างไว้เพื่อต้องการเก็บรักษาวัตถุโบราณต่าง ๆ ที่เก็บมาได้ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับอนุชนได้ศึกษาเรียนรู้

พิพิธภัณฑ์มีห้องจัดแสดงถึง ๓ ห้อง ห้องแรกจัดนิทรรศการเล่าเรื่องการก่อตั้งบ้านนาคำน้อย มีรูปปั้นของพ่อใหญ่ ๕ ท่านซึ่งเป็นคนสำคัญของชุมชน ห้องถัดมาเป็นห้องจัดแสดงโบราณวัตถุ เก็บโบราณวัตถุที่พบแล้วนำมาเก็บรักษาไว้ อาทิ กระเบื้องมีจารึก รูปแบบศิลปะลพบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เศียรพระวัชรธร ซึ่งเป็นรูปเคารพความคติของฝ่ายมหายาน ศิลปะลพบุรี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แท่นหินวางศิลาฤกษ์ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เช่นเดียวกัน และยังมีแผ่นทองคำ พร้อมของมีค่าอื่น ๆ จัดแสดงให้เยี่ยมชม

นอกจากนั้นยังจัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เครื่องใช้ไม้สอยพื้นบ้าน ทั้งเครื่องมือทำนา เครื่องมือหาปลา เครื่องมือทอผ้า และของใช้ประจำครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นเตารีด ตาชั่ง เชี่ยนหมาก และตะเกียงเจ้าพายุ ซึ่งสมัยก่อนนั้น เวลาเทศกาลงานบุญที่ชาวบ้านมารวมตัวกันยามค่ำคืน จะต้องใช้ตะเกียงชนิดนี้จุดให้แสงสว่าง

สำหรับงานประจำปีสักการะกู่ประภาชัย ในทุก ๆ ปี ชาวบ้านร่วมมือกับวัดจัดให้มีงานบุญในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เรียกว่า “งานประเพณีสรงกู่” พิธีสรงกู่นั้น มีการตั้งโต๊ะจัดเครื่องบวงสรวงหน้าปราสาท อาทิ บายศรี ดอกไม้หอมลอยน้ำในขัน บริเวณบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ล้อมสายสิญจน์ มีการตั้งราชวัตร ฉัตรธง และใกล้ ๆ กันมีการก่อเจดีย์ทราย ด้านพิธีกรรมมีการสรงกู่ประภาชัยด้วยน้ำจากน้ำบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยนำน้ำมาผ่านพิธีพราหมณ์และพุทธ ก่อนนำไปสรงรอบ ๆ กู่ และมีการฟ้อนรำอย่างสวยงาม

วัดกู่ประภาชัย นับเป็นแบบบทของการดูแลพุทธสถานทั้งของเก่าและใหม่ โดยอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชน

Related Posts

ปิดเล่ม ทางอีศาน 129
ยิ้มรับปีใหม่
นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ 129
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com