ว่าด้วยเงือก (๔) ขวัญไทดํา จากองค์ความรู้ของ ดร.คําจอง

ว่าด้วยเงือก (๔)

ขวัญไทดํา จากองค์ความรู้ของ ดร.คําจอง

ต้นเค้ากำเนิดบทความเรื่อง “เงือก” ของข้าพเจ้า เริ่มจากวันไปร่วมงานของ “มูลนิธิโกมล คีมทอง” แล้วแวะเข้าศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์เห็นหนังสือชุด “ด้วยรัก” รวมบทความในโอกาสศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อายุ ๗๒ ปีเรื่อง “ชนชาติไท” ราคาห้าร้อยบาทรีบซื้อทันทีเมื่อพลิกดูพบภาพ “เงือก” เป็นครั้งแรกที่ได้เห็น (เคยตีพิมพ์มาแล้วในหนังสือ TAI CULTURE iii – 2 , December 1998 แต่ข้าพเจ้าไม่มีหนังสือเล่มนั้น) ตื่นเต้นมาก

อ่านบทความเรื่อง “The interdependence of the concepts nguak-khwan-muang in TAI CULTURE ; Step towards Understanding” ของ Oliver Raendchen ได้พบข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อน จึงหันมาค้นคว้าเรื่อง “ไท” ในเวียดนาม เน้นที่เรื่อง “เงือก” ขยายออกไปค้นภาษาจีน จนพบตำนานเงือกในหมู่ชาวจ้วง -กวางสีใกล้เคียงกับตํานานเงือก “อ้ายหางกุด” ของพวกไทในเวียดนาม

คนที่สนใจเรื่องชนชาติไท ควรหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

คุณ Oliver Raendchen ผู้สนใจไทคดีศึกษาเป็นนักวิชาการชาวเยอรมัน ได้ข้อมูลความรู้ไปจากศาสตราจารย์คําจอง นักวิชาการเวียดนามชาวไทดํา

ศาสตราจารย์คําจอง (พ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๕๕๐) เป็นชาวไทดำ จบการศึกษาจากวิทยาลัยครู ทํางานเป็นนักวิจัยในสถาบันวิจัยชาติพันธุ์วิทยากรุงฮานอย มีผลงานมากมายตลอดระยะเวลารับราชการที่โดดเด่นที่สุ ดคือ “คนไทในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม” ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ ผลงานสำคัญที่มีแปลเป็นภาษาไทย คือหนังสือเรื่อง “ทฤษฎีบ้านเมือง ศาสตราจารย์คําจองกับการศึกษาชนชาติไท” ขอแนะนําว่าหนังสือเล่มนี้คนที่สนใจเรื่องชนชาติไทจําเป็นต้องอ่าน

บทความของคุณ Oliver Raendchen เขียนอย่างย่นย่อมาก (เพราะขยายความจากบทความเก่าก่อนหน้านี้) ข้าพเจ้าขอเก็บความมาเล่าอย่างย่นย่อขึ้นไปอีกก่อนจะกล่าวถึง “เงือก” จำเป็นต้องเข้าใจเรื่อง “ขวัญ” ของชาวไทดำเสียก่อน

ชาวไทดำ เชื่อว่าคนมีขวัญประจำตำแหน่งในร่างกาย ๘๐ ขวัญ (ตัวเลขจํานวนขวัญ มีแตกต่างกันไป คนไทในแขวงหัวพัน สปป.ลาว บางกลุ่มว่ามีถึง ๑๐๐ ขวัญ คนไทย-ลาว เหลือขวัญเพียง ๓๒ ขวัญ…อันนี้ข้าพเจ้าเพิ่มเติมเอง)

“บ้าน” และ “เมือง” ก็เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกับคน “บ้าน” และ “เมือง” จึงมีขวัญด้วย

ทุกคนมี “มิ่ง” มี “ขวัญ” มี “แนน”

ทุกบ้านมี “มิ่งบ้าน” มี “ขวัญบ้าน มี “แนนบ้าน”

ทุกเมืองมี “มิ่งเมือง” มี “ขวัญเมือง” มี “แนนเมือง”

ขวัญของชีวิตนั้นมีจุดเชื่อมกับ “สายเขอ” ที่ต่อถึงเมืองแถน “สายเขอ” ต่อกับขวัญ ถ้าสายเขอขาด คนผู้นั้นจะเจ็บป่วย, เมือง ๆ นั้นจะเกิดภัยพิบัติ

ส่วน “แนน” ก็มีสายแนนต่อถึงเมืองแถน ถ้าสายแนนขาดคนผู้นั้นจะตาย แล้ว “ขวัญ” ของคนผู้นั้นจะกลายเป็น “ผีขวัญ”

“เขอเมือง” อยู่ในนํ้า จ้าวนํ้าเป็น “เขอเมือง” จ้าวนํ้าก็คือ “จ้าวเงือก”

ประเพณีเสนเมืองก็คือการมัดสายเขอเมืองของเมืองให้แน่น มั่นคง ถ้าปฏิบัติไม่ดีหรือไม่ทํา ก็จะเกิดภัยนํ้าท่วมหรือภัยพิบัติอย่างอื่น ๆ การผูกสายเขอเมือง เปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ กับการผูกข้อมือในพิธีสู่ขวัญ (มัดขวัญ, ฟู่ขวัญ, ผูกขวัญ)

ในเดือนสิงหาคม (เดือนห้าของไทดำ) ชาวไทดําจะมีเทศกาล Lai Bo Kho หรือ Bun Bo Kho จุดบั้งไฟขึ้นฟ้า (ปอยบั้งไฟ) ซึ่งบางที่ก็เรียกว่างาน “ปอยเงือก”

ในงานนี้ควายดําจะถูกสังเวยเป็นอาหารให้ “เขอนํ้า” ซึ่งก็คือ “เงือก” ส่วนควายขาวจะถูกสังเวยเป็นอาหารให้ “มิ่งเมือง” และ “แนนเมือง”

ข้อมูลตรงนี้คลี่คลายความสงสัยของข้าพเจ้าว่า

๑. ทําไมการสู่ขวัญต้องมัดข้อมือด้วย !

๒. ทําไมการเสนเงือกในพิธีเสนเมืองจึงสําคัญ ? (เงือกคือสายเขอของขวัญเมือง)

เงือกนอกจากมีความสำคัญยิ่งต่อ “ขวัญเมือง” แล้ว เงือกยังสําคัญยิ่งในการเดินทางพา “ผีขวัญ” กลับเมืองแถนด้วย

***

บทความที่เกี่ยวข้อง

แกะรอยคำว่า เงือก

ว่าด้วย เงือก (๒) “ตูเงียะ” เงือกของชาวจ้วงในกวางสี

ว่าด้วย เงือก (๓) คติความเชื่อเรื่องเงือกของชาวไทในเวียดนามและลาว จากเอกสารภาษาไทย

นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๓| กันยายน ๒๕๕๙

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

วิจิตรตา… วัดศรีเทพประดิษฐาราม
การเขียนหนังสือ
ฮูปแต้มวัดโพธิ์ชัย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com