ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน แหล่งภูมิปัญญาชาวอีสาน
“โรงเรียนฝึกหัดครู” ในอดีตนั้น ต่อมาก็คือ “วิทยาลัยครู” เปลี่ยนชื่อมาเป็น “สถาบันราชภัฏ” และปัจจุบันคือ “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” สถาบันนามนี้ยุคสมัยหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น “มหาวิทยาลัยคนยาก” ฉายานี้ได้มาเพราะคนในชนบทสมัยก่อน ๆ แม้จะเรียนเก่งปานใด โอกาสที่จะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในเมืองนั้นยากเต็มที่
สาเหตุสำคัญที่สุดเพราะผู้ปกครองมักไม่มีเงินส่งเสียให้เล่าเรียน ทำให้สถาบันอุดมศึกษาใกล้บ้านที่สุดคือวิทยาลัยครู เสมือนเป็นสถาบันที่รองรับและสานฝันให้เรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
วิทยาลัยครูมีบทบาทสำคัญยิ่ง นอกจากจะเป็นสถาบันอุดมศึกษารองรับคนชนบทแล้ว ยังมีบทบาทในการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างโดดเด่นอีกด้วย ทำให้ในวิทยาลัยครูสมัยเก่าก่อนมี “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม” ที่คอยเก็บผลิตผลภูมิปัญญาชาวบ้าน ทั้งข้าวของเครื่องใช้ทางการเกษตร ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและอื่น ๆ อีกมากมาย และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านไปพร้อม ๆ กัน
วิทยาลัยครูมหาสารคามแต่เดิมนั้น ซึ่งปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เป็นหนึ่งในสถาบันที่มี ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ในมหาวิทยาลัย เท่ากับเป็น “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน” ที่ได้รวมภูมิปัญญาชาวบ้านอีสานไว้ ไม่ว่าจะเป็นผ้า เครื่องจักสาน เครื่องมือของใช้ต่าง ๆ และยังได้เก็บเอกสารโบราณอย่างใบลานไว้อีกด้วย
“ใบลาน” ในแผ่นดินอีสาน นับว่าเป็นมรดกที่มีเอกลักษณ์อย่างยิ่ง เพราะแผ่นดินอีสานอันกว้างใหญ่ ก่อนที่จะมีระบบการเขียนเป็นภาษากลางอย่างปัจจุบัน ชาวอีสานมีอักษรเขียนเป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาก่อนแล้ว ที่เรียกกันว่า “อักษรธรรมอีสาน” อักษรนี้นอกจากจะใช้เขียนเอกสารเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแล้ว ยังพบว่าใช้เขียนตำรายา บันทึกกฎหมาย และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้เห็นขั้นตอนการจารอักษร ภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ยังได้จัดแสดงวิธีการจารหนังสือไว้ด้วย
ส่วนข้าวของเครื่องใช้ชาวบ้าน ได้แก่ เครื่องมือของใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน ได้แก่ ถ้วยชาม หม้อโบราณ และเครื่องมือหนีบหมากสำหรับคนกินหมาก เป็นต้น เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ ผ้าอาภรณ์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ผ้าในถิ่นอีสานนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องการถักทอ และลวดลายต่าง ๆ เครื่องดนตรีก็มีจำพวกโปงลาง กลอง และที่ขาดไม่ได้อย่างเด็ดขาดก็คือ แคน แคนเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานมานับนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยเชื้อสายลาว ถึงกับมีคำพูดทำนองว่า “ผู้ใดกินข้าวเหนียว จ้ำปลาแดก เป่าแคน แม่นลาว”
เครื่องดักสัตว์ ได้แก่ อีจู้ เด็ก ๆ สมัยก่อนที่เรียนระดับชั้นประถมศึกษา จะต้องพบบทเรียนหนึ่งเกี่ยวกับเครื่องดักสัตว์ชนิดนี้ เด็ก ๆ มักนำมาร้องเล่นกันทำนองว่า “ป้าปะปู่ กู้อีจู้” แล้วต่อด้วยคำทะลึ่งทะเล้นด้วยทำนองว่า “ป้าปะปู้ กู้อีจู้ ย่าไม่อยู่ ปู่…” อ่ะไม่รู้เหมือนกันว่าปู่ทำอะไร ประสาเด็ก ๆ ก็ว่ากันไป
อีจู้ เป็นเครื่องมือดักปลาไหล ทั้งภาคอีสานและภาคกลางต่างก็มีอีจู้รูปทรงเหมือน ๆ กัน นั่นคือรูปทรงกลม มีคอยาวสูงขึ้นไป บริเวณเหนือก้นอีจู้ขึ้นมาราว ๑ คืบ มีงาหรือช่องทางสำหรับปลาไหลเข้าไป การดักอีจู้ชาวบ้านจะนำเอาเหยื่อจำพวกหอย ปู หรือไม่ก็ของคาว ๆ ใส่เข้าไปในช่องใส่เหยื่อภายในอีจู้ แล้วนำอีจู้นั้นไปดักปลาไหลในบริเวณที่มีดงหญ้า หรือดงผักริมน้ำ เมื่อปลาไหลได้กลิ่นเหยื่อก็จะพากันตามกลิ่นเข้ามา พอเห็นทางเข้าอีจู้มันก็เข้าไปหมายกินเหยื่อ เข้าไปแล้วรับประกันได้ว่าถอยไม่ได้ ติดอยู่ในอีจู้นั่นเอง
นอกจากเครื่องดักสัตว์อย่างอีจู้แล้ว ภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมอีสานยังได้เก็บเครื่องมือของใช้ชาวบ้านเอาไว้อีกหลายอย่าง แต่ละอย่างเหมาะงามสำหรับคนรุ่นเก่าชมระลึกความหลัง และคนรุ่นใหม่เหมาะสำหรับชื่นชมภูมิปัญญาของบรรพชน
มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีบทบาทหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือ การบริการความรู้ให้กับชุมชน แน่นอนเหลือเกินว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้ทำแล้วอย่างน่าชื่นชม
คอลัมน์ อีศานโจ้โก้ นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๑๑ | กรกฎาคม ๒๕๖๔
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
shopee : https://shp.ee/ji8x6b5
LnwShop : https://www.thaibookfair.com/seller/chonniyom-eshann
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220