สงกรานต์ ผ่าน เคลื่อน ย้าย : อะไรผ่าน อะไรเคลื่อน อะไรย้าย

สงกรานต์ ผ่าน เคลื่อน  ย้าย : อะไรผ่าน อะไรเคลื่อน อะไรย้าย

นางสงกรานต์อัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่พร้อมด้วยเทพบริวาร
(ขอบคุณภาพจากสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)

“ปางเมื่อพระสุริเยสเสด็จยัวรยาตรย้ายจากมีนประเทศเข้าสู่เมษราศี ในวันที่ ๑๔ เมษายน จุล สังกาศราชาได้ ๑๓๓๖ ตัว วันอังคาร แรม ๑๑ คํ่า เดือน ๕ ยามกลองแลง เวลา ๑๔ นาฬิกา ๒๔ นาที ๐ วินาที คนทั้งหลายก็ยินดีซมซื่นว่าเป็นมื้อสังขานต์ล่อง

เมื่อนั้น พระสุริยาอาทิตย์เจ้าก็เสด็จเข้าครองสถิตสู่วิมาน ในวันพฤหัสบดี แรม ๑๓ คํ่า เดือน ๕ ยามตุดตั้ง เวลา ๑๘ นาฬิกา ๒๑ นาที ๓๖ วินาที สุกใสดีบ่เศร้า พระจุลสังกาศราชาเจ้าก็คลาคลาดคล้อย ตื่มขึ้นได้ ๑๓๗๗ ตัว มะแมฉนำ กัมโพชพิสัยไทภาษาว่าปีฮับมด ปรากฏเป็นพญาวัน คนทั้งหลายก็พากันเฮียกเอิ้นว่า มื้อสังขานต์ขึ้นปีใหม่ พุธธงชัย อังคารอธิบดี อังคารอุบาทว์ พฤหัสบดีโลกาวินาศน์ก็มีแล

เมื่อถึงโอกาสเดือนห้าเมษายนของทุกปี สิ่งที่ผู้เขียนต้องทำเป็นหน้าที่เสมอมาคือการประกาศสงกรานต์ตามอริยประเพณีอีสานโบราณ ตามที่ได้สืบทอดภูมิปัญญาด้านโหราศาสตร์จากนักปราชญ์อาจารย์รุ่นก่อน ปีนี้โบราณเรียกปี “ฮับมด” จากคัมภีร์ใบลานก้อม หุรศาสตร์ ท่านว่า“ปีมดนาคให้นํ้า ๔ ตัว เดือน ๕-๖-๗ ฝนตกหลาย เดือน ๘-๙ นํ้า จักท่วม เดือน ๑๐-๑๑ ปูปลากินหลาย เดือน ๑๒ เพ็ง ผู้ใหญ่จักตายมากมาย จักเป็นหูหนวกตาบอดเป็นบาดเป็นฝีจักตายแล จักแพ้ช้างม้างัวควาย จักเป็นผีหุ่งผีห่า บ้านเมืองจักเป็นโทษ อาหารของกินดีเดือน ๔ คนทั้งหลายจักเข้ามากํ้าพายัพ มีคำกังวลอนตายมากนัก เจียงบ้านเมืองจักเป็นเศิก พ่อค้าจักได้เงินคำ งัวควายหลาย ให้คนทั้งหลายกระทำบุญให้ทานเทอญ” ส่วนอีกฉบับหนึ่งว่า “ผิว่าสังขารไป ปีมด นาคให้นํ้า ๔ ตัว ปีนํ้าเข้าดอ เข้ากลางดี เข้างันบ่ดีฯ เดือน ๕ ๖ ฝนจักตกฮวยดีฯ เดือน ๗ ตกหลายฯ เดือน ๘ แล้งฯ เดือน ๙ ตกมากฯ เดือน ๑๐ ๑๑ ฝนตกมากหลายฯ เดือน ๑๒ จักแพ้ผู้ใหญ่แลชาวเมืองไข้ออกผิวไฟแลฯ เดือนเจียงเฒ่าแก่จักเป็นคำทุกข์โศก เลี้ยงเสื้อเมืองจึงดีฯ เดือนยี่ ๓ จักมีคำกังวลในเมืองด้วยฆ่าฟันกันในเมืองแลฯ เดือน ๔ เบื้องพายัพจักมาเป็นแก่ จักมีคำกังวลใหญ่ ให้ไปเบื้องพายัพดีให้กระทำบุญเสียเทอญ”

ยกตำราโบราณมาตั้งต้น ฉบับนี้จึงจะนำท่านผู้อ่าน “เปิดผ้าม่านกั้ง” กับเรื่องราวของสงกรานต์เพื่อลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต ตามปณิธานของ “ทางอีศาน”

สงกรานต์ : อะไรผ่าน

สงกรานต์เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า “ผ่านเคลื่อน ย้ายเข้าไป” คือการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านจากราศีหนึ่งย้ายไปสู่อีกราศีหนึ่งตามคัมภีร์สุริยยาตร์ เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์โบราณที่ได้รับการเผยแพร่จากชมพูทวีปเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในรอบปีดวงอาทิตย์จะเคลื่อนผ่านไปสู่ราศีใหม่ ๑๒ ครั้ง จึงถูกกำหนดเดือนต่าง ๆ ตามชื่อราศี เช่น ผ่านเข้าราศีเมษ เป็นเดือนเมษายน ดังนั้น ในความเป็นจริงสงกรานต์ต้องมี ๑๒ ครั้งต่อปี แต่โบราณได้เลือกเอาเฉพาะช่วงที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเป็นการครบรอบเป็น ๑ ปี ตามปฏิทินสุริยคติ เพราะช่วงดังกล่าวหมู่ดาวราศีมีความห่างกันมองเห็นได้ชัดเจน และกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันเถลิงศกใหม่ตามปฏิทิน “จุลศักราช”

คัมภีร์สุริยยาตร์ เป็นตำราที่ใช้ในการคำนวณวันเดือนปีเพื่อสร้างปฏิทินตามระบบสุริยคติ

****

กว่าดวงอาทิตย์ทั้งดวงจะเคลื่อนผ่านจากราศีมีนสู่ราศีเมษใช้เวลาประมาณ ๓ – ๔ วัน โดยนับวันที่ดวงอาทิตย์เริ่มผ่านเข้าสู่ราศีเมษเรียกว่า “วันสังขานต์ล่อง” ไทยเรียก “วันมหาสงกรานต์” วันที่พระอาทิตย์อยู่คาบเกี่ยวระหว่างราศีมีนกับราศีเมษเรียกว่า “วันสังขานต์เนาว์” ไทยเรียก “วันเนาว์” และวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษทั้งหมดดวง เรียกว่า “วันสังขานต์ขึ้น” เป็นวันขึ้นปีใหม่เพราะเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราช เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พญาวัน” ไทยเรียก “วันเถลิงศก” และยังเป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตรอีกด้วย สำหรับท่านที่อยากรู้ว่าตนเกิดปีนักษัตรอะไร ต้องดูจากวันนี้เป็นวันเปลี่ยนจึงจะถูกต้อง ไม่ใช่ถือวันสงกรานต์ ๑๓ เมษายน ตามปฏิทินราชการ หรือวันที่ ๑ มกราคม ตามปฏิทินสากล

สงกรานต์เป็นคำเดียวกับคำว่า “สังขานต์” ซึ่งใช้ในวัฒนธรรมล้านนา – ล้านช้าง ถูกยกให้เป็นบุคลาธิษฐานในรูปของ “ขุนสังขานต์” คือพระสุริยเทพ หรือ “นางสังขานต์” คือนางสงกรานต์ที่คนในวัฒนธรรมไทย – ลาว คุ้นเคยจากนิทานมอญเรื่องท้าวกบิลพรหมทายปัญหากับธรรมบาลกุมาร เมื่อได้ยินคำนี้ภาพที่หลายคนนึกถึงน่าจะเป็นการเล่นสาดนํ้า ปีใหม่ไทย สรงนํ้าพระ นาคให้นํ้า หรือนางงามที่นั่งมาบนหลังสัตว์พาหนะ ตามแต่ประสบการณ์

บุคลาธิษฐานที่ว่าด้วยการผ่านเข้าสู่ราศีเมษของขุนสังขานต์ หรือนางสงกรานต์ ยังสะท้อนถึงอิริยาบถต่าง ๆ ด้วย เช่น เริ่มย้ายเข้าเวลาเช้าจะยืนมา เวลาเที่ยงถึงเย็นจะนั่งมา เวลาคํ่าถึงเที่ยงคืนจะนอนมา เวลาเที่ยงคืนถึงก่อนสว่างจะหลับมา ดังจะได้ยินจากประกาศสงกรานต์เสมอ เช่นในปีนี้ “นางสงกรานต์ทรงนามรากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง แก้วโมราเป็นอาภรณ์ มีโลหิตเป็นภักษาหาร พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนูศิลป์ เสด็จนั่งมาบนหลังสุกร ที่นั่งมาเพราะการย้ายเข้าสู่ราศีเมษ “เวลา ๑๔ นาฬิกา ๒๔ นาที ๐ วินาที”

ที่น่าสนใจคือ การคำนวณด้วยคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งสืบทอดกันมาเป็นพันปี กับการคำนวณทางดาราศาสตร์ปัจจุบัน ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนผ่านเข้าสู่ราศีเมษในเวลา ๑๕ นาฬิกา ๙ นาที ซึ่งคลาดเคลื่อนเพียง ๔๕ นาที ความคลาดเคลื่อนนี้เกิดจากการที่คัมภีร์สุริยยาตร์กำหนดให้ ๘๐๐ ปี มี ๒๙๒, ๒๐๗ วัน หรือ ๑ ปี มี ๓๖๕.๒๕๘๗๕ วัน แต่การคำนวณทางดาราศาสตร์ปัจจุบัน ๘๐๐ ปี มี ๒๙๒,๑๙๔ วัน หรือ ๑ ปี มี ๓๖๕.๒๔๒๕ วัน ในรอบ ๘๐๐ ปี วันจึงแตกต่างกัน ๑๓ วัน หรือวันต้นปีของการคำนวณด้วยคัมภีร์สุริยยาตร์จะช้าลงปีละ ๒๓ นาที ๒๔ วินาทีทุกปี หากจะคำนึงถึงความทันสมัยของเครื่องมือและเทคโนโลยีในการคำนวณแล้วเวลาที่ผิดกันเพียง ๔๕ นาที นับว่าน่าทึ่งในความแม่นยำจากภูมิปัญญาคนโบราณ

“รากษสเทวี”
นางสงกรานต์ประจำปี ๒๕๕๘
(ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม)
สงกรานต์ : ใครเคลื่อน

ระบบการนับปีศักราชมีอยู่ ๒ ระบบ ที่สำคัญคือ “รัชศักราช” นับตามปีการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ กับ “ศาสนศักราช” ที่อ้างอิงจากเหตุการณ์สำคัญของศาสดา ระบบศักราชที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์อุษาคเนย์จะคุ้นชินอยู่มากคือ “จุลศักราช” เป็นศักราชที่เริ่มหลังจากพุทธศักราช ๑๑๘๑ ปี

ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ได้กล่าวถึงในหนังสือ “วันวาร กาลเวลา แลนานาศักราช” อ้างถึงศาสตราจารย์ จี.เอช.ลูซ (G.H.Luce) ที่กล่าวถึงการค้นพบจารึกของชนชาติพยู (Pyu) ที่อาณาจักรศรีเกษตรในภาคกลางของพม่า ได้พบจารึก ๔ ชิ้น ชิ้นที่ ๑ ลงว่า ศก ๓๕ จารึกว่า พระญาติของพระเจ้าสูริยวิกรมสิ้นพระชนม์ (หมายถึงศักราชนี้เพิ่งใช้มา ๓๕ ปี ตรงกับ พ.ศ. ๑๒๑๖) ถัดมาลงว่า ศก ๕๐ (พ.ศ.๑๒๓๑) เป็นปีที่พระเจ้าสูริยวิกรมสิ้นพระชนม์เมื่ออายุได้ ๖๔ พรรษา เมื่อลำดับเหตุการณ์เทียบศักราช พบว่า พระองค์ประสูติ พ.ศ. ๑๑๖๖ และใน พ.ศ.๑๑๘๑ พระองค์ทรงมีพระชนม์ย่าง ๑๖ พรรษา อันเป็นช่วงที่สำเร็จกลาศาสตร์ (ศิลปศาสตร์ ๖๔ ประการ) เป็นการบรรลุนิติภาวะตามราชประเพณีน่าจะเป็นปีที่ทรงขึ้นครองราชสมบัติ และเป็นการเริ่มต้นรัชศักราชใหม่อันเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้จุลศักราช

แม้ว่าอาณาจักรศรีเกษตรจะล่มสลายไป แต่วัฒนธรรมการใช้จุลศักราชยังสืบทอดต่อมายังอาณาจักรพุกามของพม่า และได้เคลื่อนตัวแพร่อิทธิพลไปยังอาณาจักรต่าง ๆ ตามอำนาจทางการเมือง เช่น การเคลื่อนเข้าสู่อาณาจักรอยุธยา ซึ่งแต่เดิมใช้มหาศักราชที่ถือเอาวันขึ้น ๑ คํ่าเดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ ตามแบบเขมรโบราณมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ได้มีการเปลี่ยนมานิยมใช้จุลศักราชตามพม่าในสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ (พ.ศ.๒๑๑๒) จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงได้กลับไปใช้มหาศักราชตามพระราชนิยมแบบเขมร

นอกจากนี้ในอาณาจักรล้านนา และล้านช้างยังนิยมใช้จุลศักราชอย่างแพร่หลาย จารึกโบราณล้วนแล้วแต่ระบุจุลศักราชเป็นสำคัญ จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนตัวของระบบปฏิทิน “จุลศักราช” ซึ่งให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนปีใหม่ในวันสงกรานต์ที่พระอาทิตย์เคลื่อนออกจากราศีมีนผ่านเข้าสู่ราศีเมษ ระบบปฏิทินดังกล่าวได้เคลื่อนตัวแพร่หลายไปตามอิทธิพลทางการเมือง จากลุ่มนํ้าอิรวดี สู่ลุ่มนํ้าปิง ลุ่มนํ้าโขง และลุ่มนํ้าเจ้าพระยา มีการผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นจนก่อให้เกิดจารีตประเพณีพิธีกรรม และความเชื่อ เกี่ยวกับการเถลิงศกใหม่ที่หลากหลาย แต่มีเอกลักษณ์ร่วมของการใช้นํ้าเป็นสื่อสำคัญในพิธีกรรมสืบต่อมาถึงปัจจุบัน

สงกรานต์ : ใครย้าย

สงกรานต์ที่เราหลงใหลในปัจจุบัน เป็นการเก็บร่องรอยปีใหม่ไทยตามระบบปฏิทินสุริยคติ ส่วนระบบปฏิทินจันทรคติของไทยแต่เดิมนั้นถือเอาวันขึ้น ๑ คํ่า เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นสงกรานต์จึงเป็นปีใหม่ของกลุ่มวัฒนธรรมที่ใช้ “จุลศักราช” ทุกชาติพันธุ์ สำหรับในแผ่นดินสานดร.ปรีชา พิณทอง ได้อธิบายถึง “สงกรานต์” ในสารานุกรมของท่านไว้ว่า

“โบราณถือเดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ เดือน ๕ อากาศร้อนจัด โบราณจึงให้มีพิธีสงกรานต์ คือให้มีการรดนํ้า เมื่อเทศกาลเดือน ๕ มาถึง นับตั้งแต่วันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๕ ถึงวันเพ็ญเดือน ๖ ชาวอีสานจะนำนํ้าอบนํ้าหอมไปสรงพระพุทธรูปที่ทางวัดจัดไว้สรงพระสงฆ์ สรงผู้เฒ่าผู้แก่ สรงแข้วเขานองา ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องคํ้าของคูณ และมีการสรงนํ้ากันในวันเอาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานไว้ที่เดิม นํ้าที่นำมาสรงก็เป็นนํ้าอบนํ้าหอมและหดสรงกันพอเป็นพิธี”

เป็นที่น่าสังเกตว่า บุญเดือนห้าของชาวอีสานนั้นไม่ได้มุ่งเน้นสาระสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนปีตามคัมภีร์สุริยยาตร์ ที่เน้นกิจกรรมเฉพาะช่วง ๓ – ๔ วัน ในกลางเดือน แต่จะเริ่มงานตั้งแต่ “วันปากเดือน” คือวันขึ้น ๑ คํ่าเดือนห้า เป็นต้นไป โดยช่วงสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นพิธีกรรมจะมีการใช้นํ้าเป็นสื่อสัญลักษณ์ของการสร้างพลังชุมชน ทั้งการสรงนํ้าพระ รดนํ้า ดำหัว หรือเล่นสาดน้ำกัน บางหมู่บ้านชาวบ้านไม่ได้เล่นสนุกบันเทิงเพียงช่วง ๓ วัน แต่จะมีการแห่ดอกไม้ไปสรงนํ้าพระพุทธรูปที่จัดผาม หรือปะรำอย่างสวยงามที่วัดทุกเย็น จนกว่าจะถึงวันเพ็ญเดือนหกจึงเชิญพระขึ้น กิจกรรมร่วมของชุมชนเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดพลัง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เราควรเปิดผ้าม่านกั้งศึกษาเกี่ยวกับการที่คนอีสานได้ย้ายเรื่องราวของสงกรานต์ซึ่งเป็นการบอกวันเวลา กับคำทำนายที่เป็นเรื่องไกลตัว มาใช้สร้างเป็นประเพณีที่เกิดทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างสรรค์ชุมชนบนความเป็นจริงที่ตนเองและสังคมต้องเผชิญ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและเป็นแรงต่อสู้กับปัญหาทั้งของตนและของชุมชนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาของชุมชนชาวนาที่ต้องอาศัยนํ้าฟ้าในการทำการเกษตรกรรม

ปัจจุบันหลายคนคงไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสังขารล่อง สังขารเนาว์ สังขารขึ้น ที่ต้องไปทำบุญชำระกายใจให้ผ่องใสรับปีใหม่ หรือการกลับไปเยี่ยมญาติเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่กำลังวุ่นวายกับการมองหาปืนฉีดน้ำรูปทรงสวยงาม หรือถังนํ้าสำหรับสงครามนํ้า ในงานเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ที่ทางราชการกำหนดให้วันที่ ๑๓ – ๑๕ เมษายน เป็นวันหยุดสงกรานต์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๑ โดยไม่ได้สัมพันธ์กับสงกรานต์ตามคัมภีร์สุริยยาตร์

ด้วยชีวิตที่ไม่ได้อิงกับจุลศักราช ระบบครอบครัวเครือญาติที่เปลี่ยนไปเป็นแบบปัจเจก ที่สำคัญคือการย้ายตัวเองออกจากวัฒนธรรมชาวนาไปเป็น “ผู้ประกอบธุรกิจผลิตข้าว” และบางแห่งมีระบบชลประทานเข้ามาแทนที่ นาคให้นํ้า คำทำนายฟ้าฝน จึงหมดความหมาย การผลิตข้าวที่ไม่สอดคล้องกับระบบธรรมชาติ แต่ให้ความสำคัญกับการส่งออกในรอบไตรมาสของระบบเศรษฐกิจโลกทำให้โลกทัศน์เกี่ยวกับสงกรานต์ของคนปัจจุบันย้ายจากการที่เคยเป็นวันตั้งต้นตั้งตัวเผชิญปัญหาดินฟ้าอากาศที่กำลังจะมาถึง ได้กลายไปเป็นวันหยุดพักผ่อนเพื่อให้ลืมปัญหา ความบันเทิงอย่างสุดเหวี่ยงกลายเป็นมายาภาพของคนที่พยายามฉีกตัวพ้นจากสังคมเกษตรกรรมเฝ้าฝันถึง แต่ที่สุดแล้วเขาทั้งหลายต้องกลับไปเผชิญปัญหาปากท้องของตนในไม่ช้า

น่าเสียดาย ถ้านํ้าที่เราสูญเสียไปเป็นจำนวนมากต่อปี ไม่ได้ถูกนำไปใช้เป็นสื่อในการสร้างพลังชุมชนที่เข้มแข็ง แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือระบายอารมณ์ของผู้คนและสังคม และจางหายละลายไปกับวันเวลา สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นวิกฤตอยู่ไม่น้อยที่จะต้องถอยหลังมาตั้งหลัก ก่อนที่จะผลักดันพัฒนากันแบบสุดโต่ง

เราคงต้องย้ายตัวเองออกจากจุดยืนแบบไร้รากทางวัฒนธรรม ที่เห็นสงกรานต์เป็นแต่เพียงประเพณีตามจารีต ที่ต้องขาย ต้องสร้างรายได้ต้องมีผลประกอบการทางเศรษฐกิจ แล้วทำความเข้าใจกับภาพสะท้อนของการยืนยันความสัมพันธ์ของระบบเครือญาติของชุมชน ทั้งเครือญาติทางสายเลือดจากพิธีการรดนํ้าดำหัว และเครือญาติทางสังคมจากการร่วมสรงนํ้าพระในวัด ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณ์ของชุมชนร่วมกัน เลยไปถึงถอดบทเรียนจากการสาดนํ้า จากการแปลงวัฒนธรรมให้เป็นสินค้าด้วยระบบการบริหารจัดการแบบนายทุนในปัจจุบัน นำมาใช้เป็นฐานการพัฒนาเป็นเครือข่ายสายสัมพันธ์ที่จะไม่ทอดทิ้งกันในการเผชิญปัญหาที่กำลังจะมาถึง ไม่ควรทิ้งอดีตให้สูญเปล่า

ในขณะเดียวกันต้องเรียนรู้และปรับแปลงให้รองรับต่อวิถีสังคมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน อย่าให้เป็นวาทกรรมซํ้าซากที่ต้องทิ้งท้ายแบบไร้ความหวัง เหมือนที่ คำพูน บุญทวี บรรยายไว้ใน “ลูกอีสาน” ว่า… “วันสงกรานต์ผ่านไปอย่างเงียบเชียบเดือนหกย่างเข้ามาแทนที่ แต่บนฟ้ายังมีแต่ความว่างเปล่าตั้งแต่เช้ายันเย็น”

********

ติดตามเรื่อง สงกรานต์ ผ่าน เคลื่อน  ย้าย : อะไรผ่าน อะไรเคลื่อน อะไรย้าย ในคอลัมน์ เปิดผ้าม่านกั้ง นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๓๖ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๘

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

shopee : https://shp.ee/texe8nd

LnwShop : https://www.thaibookfair.com/seller/chonniyom-eshann

โทร. 086-378-2516 บริษัท ทางอีศาน จำกัด 244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

รักลูก
ลูกเดือยกับซุปไก่ฟ้าในตำนาน
ฮีตเดือนห้า
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com