ส่องเมือง: วัฒนธรรม พลังสร้างสรรค์ของอีสาน

วัฒนธรรม พลังสร้างสรรค์ของอีสาน

ทางอีศาน ฉบับที่๔ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๕๕
คอลัมน์: ส่องเมือง
Column: Focusing on the City
ผู้เขียน: เสรี พงศ์พิศ


ผมมีเพื่อนเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเยล ชื่อ เจมส์ ซี สก็อต สามสิบปีก่อนตอนที่อยู่ธรรมศาสตร์ได้พบเขาเกือบทุกปี เพราะเขามาทำงานวิจัยในภูมิภาคนี้ ตอนนั้นเขาเพิ่งทำวิจัยที่รัฐเคดะห์ หรือ ไทรบุรี ในมาเลซีย ซึ่งอยู่ติดชายแดนไทย มีคนไทยอยู่เป็นแสน

สก็อตส่งหนังสือที่เขาตีพิมพ์ผลการวิจัยมาให้ผมเป็นหนังสือเล่มโตชื่อ อาวุธคนยาก รูปแบบการต่อต้านรายวันของชาวนาพร้อมกับคำอุทิศและเขียนด้วยว่า คุณรู้ไหมว่า อาวุธอันเดียวที่เหลืออยู่ของคนยาก คือ วัฒนธรรม

ผมชอบสก็อต เพราะเขาเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์ที่ติดดินมาก ติดดินมากกว่าอาจารย์รัฐศาสตร์ไทยหลายคนที่เอาแต่ท่องบ่นอ้างอิงนักวิชาการฝรั่ง เขาลงไปคลุกคลีกับชาวไร่ชาวนามาตลอด หนังสือเล่มก่อนของเขาเป็นเล่มเล็ก ๆ แต่มีชื่อเสียงมาก ชื่อ เศรษฐกิจคุณธรรมของชาวนา นั่นก็มาจากการวิจัยและการได้ไปคลุกคลีกับชาวนาในพม่าและในภูมิภาคนี้

อาจารย์สก็อตชอบพอกับผม เพราะผมก็ลงไปทำงานกับชาวบ้าน เราได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นเกี่ยวกับชุมชนกัน จนเคยได้ไปร่วมเสวนาเกือบหนึ่งสัปดาห์ด้วยกันที่เมืองแบลลาจิโอ อิตาลี โดยร่วมกันทำและวิพากษ์งานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคอุษาคเนย์เปรียบเทียบกับบางประเทศในแอฟริกา เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทรวณิช ก็ไปในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้วยคนหนึ่ง โดยทั้งหมดเป็นโครงการสนับสนุนโดยมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์

ครั้งนั้น ผมได้นำเสนอเรื่องการก่อเกิดขบวนการใหม่ของประชาชน (คนรากหญ้า) ในประเทศไทย (เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน) ซึ่งผมเชื่อมั่นมากว่า กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เหมือนที่นักประวัติศาสตร์บอกว่า เกิด “เจตจำนง” ใหม่ขึ้นมาในสังคม และนี่เป็นเจตจำนงของชาวไร่ชาวนาที่ “ปลดปล่อย” ตนเองจากระบบอุปถัมภ์ การถูกครอบงำ จากความไม่รู้ ความยากจน และการขาดโอกาส

วันนี้ผมมีความมั่นใจมากยิ่งกว่าเดิม เพราะได้เห็นสิ่งที่ได้พูดกันเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อนเริ่มเป็นจริง และพลังอันยิ่งใหญ่ที่แสดงออกถึงเจตจำนงใหม่ คือ พลังทางวัฒนธรรมที่เริ่มสร้างสรรค์ตนเองใหม่ วัฒนธรรมที่ไม่ใช่เพียงหมอลำ บุญประเพณี บายศรีสู่ขวัญ แต่รวมไปถึงวิถีชุมชนทั้งหมด รวมทั้งการผลิต การบริโภคการทำมาหากินที่เริ่มเกิดรูปแบบของตัวเองขึ้นมาใหม่

รูปแบบใหม่ที่ว่านี้ไม่ได้ใหม่หมด แต่เป็นการสืบทอดคุณค่าดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ไม่ใช่การเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินแบบสังคมเศรษฐกิจยังชีพแบบโบราณแต่เป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเองโดยการสืบทอดวัฒนธรรมการเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินในรูปแบบใหม่ที่สมสมัย

เกษตรผสมผสานโดดเด่นที่สุดที่ภาคอีสาน ไม่ได้มีแต่ที่บ้านพ่อจารย์ทองดี พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย พ่อเชียง ไทยดี แต่มีทั่วไปหมด แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นทางเลือกที่ทำให้คนอีสานอยู่รอด พอเพียง และมั่นคงยั่งยืนได้ดีกว่าการไปรับจ้างรายวันรายเดือน อยู่แบบอด ๆ อยาก ๆ การทำเกษตรผสมผสานทำให้พวกเขามีอยู่มีกินแบบ บ่อึ้ดบ่อยาก

กรณีของ อินแปง คือ กรณีของการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมเพราะพวกเขากระโดดเข้าไปสู่วงจรเศรษฐกิจทุนนิยมแบบไม่มีความพร้อมอะไรเลยจึงกลายเป็นเพียงแรงงานถูกๆ ให้พ่อค้านายทุน ซึ่งร่ำรวยขึ้น แต่ชาวบ้านจนลง เป็นหนี้เป็นสินจนอยู่บ้านไม่ได้ ต้องไปรับจ้างมาใช้หนี้และมาซื้ออยู่ซื้อกิน

เศรษฐกิจวัฒนธรรม คือ คำหลักสำหรับขบวนการประชาชนใหม่นี้ ที่มีเจตจำนงทางประวัติศาสตร์ ที่พวกเขากำลังสร้างขึ้นมาใหม่ ที่ทำให้พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง

เศรษฐกิจวัฒนธรรมเป็นเศรษฐกิจที่ชาวบ้านสืบทอดคุณค่าดั้งเดิมของบรรพบุรุษ คุณค่าของการพึ่งพาตนเอง การเป็นเสรีชนที่เลือกได้ว่าจะปลูกอะไร จะปลูกเมื่อไร ปลูกเท่าไร ปลูกเพื่ออะไร ปลูกแล้วจะเอามาแปรรูปเก็บไว้กิน จะเอาไว้แลกข้าวแลกของ จะเอาไว้ขายก็ได้

เศรษฐกิจวัฒนธรรมเป็นอาวุธอันเดียวที่เหลืออยู่ของคนยากจริง ๆ เพราะคนอินแปงกลับไปทางเก่าฟื้นฟูที่ดินที่เคยอุดมสมบูรณ์แล้วถูกทำลายเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ พวกเขาเอาทุกอย่างที่อยากกินมาปลูกใหม่ จนมีอยู่มีกิน มีเหลือกินได้ขายได้เงิน ได้ใช้หนี้ มีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นของตนเอง มีวิสาหกิจชุมชนตั้ง ๕๘ อย่าง เป็นเครือข่าย เป็นอินแปงกรุ๊ปที่แสดงให้เห็นพลังทางวัฒนธรรมที่ กินได้และอยู่รอดได้

เศรษฐกิจวัฒนธรรมเป็นเศรษฐกิจที่ชาวบ้านมีอำนาจ พวกเขาเป็นคนกำหนดรูปแบบ กำหนดราคาไม่ใช่เศรษฐกิจทุนนิยมที่พวกเขาไม่มี ทุนยุคใหม่ และไม่มีเงิน ไม่มีความรู้ ไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงไม่มีพลังต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น พ่อค้าว่าอะไรก็ว่าตามให้อะไรเท่าไรก็ต้องเอา

วัฒนธรรมอีสานเป็นวัฒนธรรมที่มีพลัง ใครที่ไปชมคอนเสิร์ตนักร้องอีสานวันนี้อาจนึกไม่ถึงว่าจะอลังการขนาดนี้ เพลงเก่าเพลงใหม่ ประยุกต์การลำ พร้อมกับนาฏลีลาที่ร้อนแรง อ่อนช้อยและสวยงาม และปรับอย่างไรก็มีกลิ่นอายและสีสันของวัฒนธรรมอีสาน ทั้งซ่อนไว้และฉายออกมา

เหมือนอาหารอีสานวันนี้ที่ขึ้นเหลาเข้าโรงแรมห้าดาวอย่างองอาจ เพราะไม่เพียงแต่อร่อย แซบ นัว แต่เพราะมีคุณค่าอาหาร เต็มไปด้วยโอสถสารที่คนรักสุขภาพวันนี้ไม่มีใครปฏิเสธ

สังคมอีสานต้องการขบวนการประชาชนที่มีเจตจำนงใหม่ เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ต้องการคนที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ สืบทอดคุณค่าดั้งเดิมในรูปแบบที่ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่ แต่เป็นคนเดินถือธงที่ใคร ๆ อยากเดินตาม เป็นคนกำหนดคุณค่าใหม่ ค่านิยมใหม่

เพลงลูกทุ่งวันนี้ที่ ครูสลา คุณวุฒิ เป็นผู้รังสรรค์มีพลังที่สะท้อนเจตจำนงของคนอีสานยุคใหม่ ในเวลาเดียวกันเป็นเทียนส่องทางใหม่ให้ผู้คนได้เดินไปข้างหน้า ด้วยความเชื่อมั่นว่าไม่ได้เดินหลงทาง

อาวุธอันเดียวที่เหลืออยู่ของอีสานคนยากจึงไม่ควรทำให้คนอีสานอยู่อย่างอดอยากยากแค้นและไร้ศักดิ์ศรี แต่เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ให้คนอีสานลุกขึ้นมาจัดการชีวิตและสังคมด้วยตนเอง เพราะอีสานมีทุกอย่างเพียงพอเพื่อจะอยู่อย่างพอเพียง และมีความสุขได้ถ้าใช้เป็น จัดการเป็น.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com