หน่อไม้-ต้นไผ่ เรื่องไหนรู้จริง

แทบไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จักต้นไผ่ เราล้วนเคยเห็นป่าไผ่ กระท่อมไม้ไผ่ ตะกร้าสาน ขลุ่ยไม้ไผ่ ตะเกียบไม้ไผ่ ซุปหน่อไม้ ฯลฯ จนคุ้นเคยแบบหลับตาก็นึกภาพได้ แต่เอาเข้าจริง สิ่งที่เราคิดว่ารู้เกี่ยวกับต้นไม้พื้นบ้านชนิดนี้นั้น จริงเท็จแค่ไหน  หวังว่าเรื่องราวต่อไปนี้  คงช่วยตอบคำถามที่หลายคนไม่เคยคิดจะถามได้บ้าง

ในทางพฤกษศาสตร์ ไผ่ เป็นไม้ล้มลุกในวงศ์เดียวกับ หญ้า ข้าว อ้อย ตะไคร้ ฯลฯ ไผ่มีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในเขตร้อน  เขตอบอุ่น  และเขตกึ่งหนาว แต่เราไม่พบไผ่ตามธรรมชาติในทวีปยุโรป  องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประมาณว่า ทั่วโลกมีไผ่อยู่ ๗๕ สกุล ๑,๒๕๐ ชนิด ในส่วนของประเทศไทย มีรายงานว่ามีต้นไผ่อยู่ ๑๓ สกุล ๖๐ ชนิด 

คุณสมบัติที่โดดเด่นของไผ่คือ เป็นพืชที่โตเร็วที่สุดในโลก เฉลี่ย ๑๐ ซม.ต่อวัน ขณะที่ไผ่บางชนิดโตได้ถึง ๕ ซม. ต่อชั่วโมง โดยวิถีธรรมชาติ ไผ่ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง แยกกอ หรือเพาะเมล็ด ส่วนหน่ออ่อนที่แยกมาจากลำต้นหรือกอเดิมนั้น  ใช้ขยายพันธุ์ไม่ได้ ด้วยยังไม่มีรากดูดสารอาหารมาเลี้ยงตนเองได้ หน่ออ่อนของไผ่ที่คนไทยเรียกโดยไม่จำเป็นต้องระบุชื่อชนิดพืชว่า หน่อไม้ นั้น เป็นอาหารพื้นฐานของคนในชนบท และยังสามารถอยู่ในจานอาหารของคนทุกชนชั้น คนไทยนิยมบริโภคหน่อไม้ที่มีรสขมแต่น้อย ออกหวานมากสักหน่อย และมีผิวสัมผัสเนียนละเอียด อาจกรอบหรือนิ่ม แล้วแต่ชนิด ความชอบ และวิธีปรุงอาหาร

ไม้ไผ่ ตั้งแต่อ่อนจนแก่ ใช้ทำอะไรได้หลายอย่าง และอาจเป็นได้หมดทั้ง ๔ ปัจจัยที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

บางคนว่า หน่อไม้ มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อย กินไปก็แค่อิ่ม เรื่องนี้จริงหรือไม่

เรื่องจริงมีอยู่ว่า หน่อไม้มีกรดอะมิโน คาร์โบไฮเดรท แร่ธาตุ วิตามินหลายชนิด และใยอาหาร ขณะเดียวกันก็มีปริมาณไขมันน้อยมาก หน่อไม้มีใยอาหารมากถึง ๖-๘ กรัม ต่อน้ำหนักสด ๑๐๐ กรัม ใยอาหารนี้ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดและหน่วงการดูดซึมน้ำตาล เป็นผลดีสำหรับคนเป็นเบาหวาน หน่อไม้สดมีไขมันพอ ๆ กับฟักทองหรือดอกกะหล่ำ คือไม่เกิน ๑ กรัม ต่อน้ำหนักสด ๑๐๐ กรัม ซึ่งนับว่าน้อยมาก จึงเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

หน่อไม้สดที่ทำสุกแล้ว มีรสหวานอ่อน ๆ รสชาติของหน่อไม้ขึ้นกับปริมาณกรดอะมิโนรวม และปริมาณของสารแทนนิน กรดอะมิโนมาก หน่อไม้มีรสอร่อย แทนนินมากหน่อไม้ไม่อร่อย

บางคนบอก หน่อไม้ใช้ทำยาได้ มีด้วยหรือ

จริงครับ หน่อไม้ ยางไม้ไผ่ทั้งสดและแห้ง และใบไผ่ ล้วนมีฤทธิ์ทางยา โดยทั่วไปไผ่จัดเป็นพืชรสเย็นนอกจากใบแล้ว ทุกส่วนใช้ขับเสมหะ หน่อของไผ่ป่าใช้แก้ท้องเสีย ขับพยาธิเส้นด้าย และระงับอาการไอ หน่อของไผ่ซางมีฤทธิ์ฝาดสมานและบำรุงหัวใจ

น้ำคั้นจากหน่อไม้มีฤทธิ์ย่อยสลายโปรตีน จึงช่วยในการย่อยอาหาร หน่อไม้ต้มจัดเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย และน้ำต้มหน่อไม้ใช้ล้างแผลเปื่อยเน่า ผสมกับน้ำตาลโตนดใช้เร่งการคลอดหรือทำแท้ง  ในชวา ยางจากหน่อไผ่เหลือง ใช้รักษาอาการดีซ่าน  การศึกษาในหนูทดลองยังพบว่า หน่อไม้สามารถลดระดับไขมันในเลือดได้

อีกบางคนว่า กินหน่อไม้ทำให้ปวดข้อ นี่ก็เห็นพูดกันเยอะ เป็นข้ออ้างที่ได้ยินได้ฟังบ่อย ยามที่หน่อไม้หาง่าย ราคาถูก และปรากฏในมื้ออาหารบ่อย ๆ เรื่องนี้จริงหรือไม่

จริง เฉพาะผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์ (gouty arthritis) เท่านั้น เพราะหน่อไม้มีสารที่ช่วยเพิ่มปริมาณของกรดยูริกทีสะสมตามข้อของคนที่เป็นโรคเก๊าท์ ทำให้อาการอักเสบรุนแรงขึ้น  สำหรับคนปกติ หรือคนที่มีอาการปวดข้อจากสาหตุอื่น ถ้ายกเหตุปวดข้อเพื่อเลี่ยงการกินหน่อไม้ (แทบทุกมื้อ) ฟังไม่ขึ้นครับ

หน่อไม้มีสารไซยาไนด์ที่เป็นพิษ ทางการก็เคยออกข่าวเตือน กินหน่อไม้ก็อาจตายได้ เรื่องนี้จริงหรือไม่ จะระมัดระวังอย่างไร

พืชหลายชนิด มีกลไกป้องกันตนเอง โดยการสร้างสารประกอบไซยาไนด์ที่เป็นพิษ เมื่อบาดเจ็บหรือถูกกัดกิน  ไผ่ก็เช่นกัน ในหน่อไม้มีสารประกอบไกลโคไซด์ชื่อ แทคซิฟิลลิน (taxiphyllin) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสารพิษ เมื่อหน่อถูกกัด หรือถูกตัด น้ำย่อยจากเซลออกมา สลายสารแทคซิฟิลลิน ให้เป็นสารประกอบ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (HCN)   การศึกษาหลายครั้งรายงานว่า ในหน่อไม้สด ๑๐๐ กรัม มีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ ๓๐๐ – ๘๐๐ มิลลิกรัม โดยที่ส่วนฐานมีความเข้มข้นน้อยที่สุด และค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นจนมากที่สุดที่ส่วนปลายหน่อ สารนี้ค่อย ๆ มีปริมาณลดลงหลังจากการตัดหน่อไม้

สารไฮโดรเจนไซยาไนด์ มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการใช้ออกซิเจนในเซล มีรายงานความเป็นพิษของสารนี้ว่า คนผู้ใหญ่คนหนึ่งกินสารนี้เพียง ๕๐-๒๐๐ มิลลิกรัม ก็ตายได้ แต่ไม่ต้องตกใจครับ สารประกอบไซยาไนด์นี้ถูกกำจัดได้โดยการต้มหรือทำให้สุกด้วยความร้อน   คนทั่วไปที่กินหน่อไม้ต้มจึงล้วนปลอดภัย   ไม่มีใครกินหน่อไม้ดิบที่ทั้งแข็งทั้งขื่นอยู่แล้ว

ต้นไผ่ที่ออกดอกแล้ว จะตาย จริงหรือไม่

จริงบางส่วน กล่าวคือ หลังจากต้นไผ่มีดอกหรือผลที่เป็นช่อ ดูคล้ายรวงข้าว อย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่าขุยไผ่นั้นแล้ว ต้นไผ่ต้นนั้นก็ตาย  กอไผ่บางชนิด มีดอกพร้อมกันทุกต้นในกอเดียวกัน หลังจากออกดอกแล้วจึงเห็นว่าไผ่นั้นตายไปทั้งกอ ไผ่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นแบบนี้ เช่น ไผ่ป่า ไผ่หก ไผ่เฮี๊ยะ ไผ่รวก ไผ่ไร่ เป็นต้น  แต่ไผ่บางชนิด ในกอเดียวกัน บางต้นมีดอก บางต้นยังไม่มีดอก ต้นไหนมีดอกแล้วก็ตาย ทิ้งให้ต้นที่ยังไม่มีดอกอยู่ต่อไป จึงดูเหมือนว่า ไผ่กอนั้นยังไม่ตาย ในประเทศไทย ไผ่ที่ออกดอกแบบนี้ได้แก่ ไผ่ตง และไผ่ทอง  

ชาวไร่ชาวนาที่คุ้นเคยกับป่าไผ่มักบอกว่า ปีไหนไผ่ออกขุย ปีนั้นหนูเยอะ ข้าว และพืชไร่จะเสียหายมาก ซึ่งก็น่าจะจริง เพราะผลของไผ่นั้นเป็นอาหารของพวกหนู ทำให้เจริญแพร่พันธุ์ได้มาก ได้เร็ว

เยื่อไผ่ที่ใช้เป็นอาหาร คือเยื่อภายในกระบอกไม้ไผ่ ส่งมาขายจากเมืองจีน แต่เอ๊ะ ทำไมเมืองไทยไม่มีไผ่แบบนั้น และทำไมมีผงทรายปนมาด้วย เรื่องนี้เป็นอย่างไร

แท้จริงแล้วสิ่งที่เราเรียกว่า เยื่อไผ่ ที่นำมาทำเป็นแกงจืดเยื่อไผ่ หรือเยื่อไผ่น้ำแดง บนโต๊ะอาหารจีนนั้น เป็นส่วนของเห็ดชนิดหนึ่ง คนไทยรียกว่า เห็ดร่างแห พบได้บนพื้นดินในป่าที่ชื้นแฉะ ทั้งภาคเหนือและอีสาน ดูรูปร่างแล้ว มักคิดว่ากินไม่ได้ แม้แต่คนท้องถิ่นก็มีน้อยคนที่รู้จักกิน เฉพาะส่วนของหมวกที่เป็นร่างแหเท่านั้นที่นำมาตากแห้ง เรียกชื่อให้คนหลงว่าเป็นเยื่อไผ่ เมื่อเกิดจากดิน จึงอาจมีผงดินผงทรายปะปนมาด้วย ก่อนนำมาปรุงอาหารจึงควรล้างขจัดดินทรายออกก่อน

ไม้ไผ่ ใช้ทำอะไรได้บ้าง

นอกจากเป็นยา เป็นของกินแล้ว ไผ่ยังใช้สร้างบ้านได้ทั้งหลัง ซึ่งผู้ทำต้องเลือกชนิดของไผ่ที่เหมาะสม และยังต้องเป็นไผ่ที่มีอายุแก่เพียงพอด้วย จึงจะให้ไม้ที่ทนทานต่อการกัดกินของมอด ปลวก และแมลง

เสาบ้านใช้ไม้ไผ่แก่ลำโต พื้นบ้านใช้ต้นไผ่สับตามยาวด้วยมีดหรือขวานให้เป็นแผ่น เรียกว่า “ฟาก” ฝาบ้านอาจใช้ “ฟาก” เช่นเดียวกับพื้น หรือใช้ไม้ไผ่สาน ประตูหน้าต่างทำจากไม้ไผ่ได้ทั้งสิ้น แม้กระทั่งหลังคาก็ใช้ไม้ไผ่ผ่าครึ่งตามยาว เลาะเอาข้อด้านในออก วางสลับคว่ำหงายประกบกันตามยาว แลดูสวยกว่าหลังคากระเบื้องลอนในเมืองด้วยซ้ำ หรือสับเป็นฟากนำมาสานกันเป็นหลังคาก็ยังได้ หลังคาไม้ไผ่ทั้งสองแบบนี้ ถ้าทำจากไม้แก่และมีถูกควันไฟในบ้านรมดี ๆ แล้ว ทนแดดทนฝนได้เกือบสิบปีทีเดียว

การประกอบเป็นบ้าน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ตะปู เพียงเจาะหรือบากให้ไม้ประกบหรือสอดเข้ากันได้ บางจุดก็มัดด้วยตอกที่ทำจากไม้ไผ่ลำอ่อนฝานเป็นเส้นบาง

ทำบ้านเสร็จ ใช้ไม้ไผ่ทำรั้ว หรือปลูกเป็นรั้วไปเลยยิ่งดี ในชนบทหลายแห่งถึงกับเอาไม้ไผ่มาสานทำสะพานข้ามน้ำข้ามห้วยยังได้

เศษไม้ไผ่เหลือจากสร้างบ้าน ทำรั้ว ยังเอามาทำช้อน ตะเกียบ ถ้วย เก้าอี้ โต๊ะ ด้ามมีด สานกระบุง ตะกร้าอีกสารพัด รวมทั้งเป็นปี่เป็นขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีอีกหลากหลายชนิด

ไม้ไผ่เป็นอะไรได้หลายอย่างก็จริง แต่คงไม่เป็นเครื่องนุ่งห่ม จริงหรือไม่

ไม่แน่นัก เห็นได้ชัดว่า ไผ่ เป็นได้ทั้งอาหาร ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย นั่นเกือบจะครบปัจจัยสี่เลยทีเดียว แต่การใช้ใบไผ่ กาบไม้ไผ่ หรือตอกไม้ไผ่ มาประดิษฐ์เป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ก็ไม่เคยได้ยินว่ามีชาติไหน เผ่าไหนทำกันเป็นปกติวิสัย แต่ช้าก่อน ในอดีต ชายชาวพื้นเมืองบนเกาะปาปัว ในมหาสมุทรแปซิฟิค ด้านทิศเหนือของทวีปออสเตรเลีย  เคยใช้กระบอกไม้ไผ่โตประมาณ ๒ ข้อนิ้วและยาวราวหนึ่งศอก สวมคลุมอวัยวะเพศชาย โดยใช้เชือกมัดห้อยลงมาจากเอว และดูเหมือนว่า นอกจากเจ้าสิ่งนี้แล้ว (penis sheath) ก็ไม่มีวัสดุใดปกคลุมผิวหนังส่วนอื่น ๆ เลย 

เห็นไหม ไผ่ เป็นได้ทั้งปัจจัยสี่จริง ๆ ถ้านับเจ้ากระบอกไม้ไผ่อันนั้นว่า เป็นเครื่องนุ่งห่ม

***

คอลัมน์  ผักหญ้าหมากไม้  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๙| กันยายน ๒๕๕๗

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๒)
บุญข้าวสาก
ทางอีศาน 29 : จดหมาย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com