ชวนตะลึง! ลึงคบูชา ราชันย์ภิเษก
วันหนึ่ง ผมได้ชมภาพการแสดงแสงสีเสียง ชุด “บูชาเทวัญ ราชันย์ภิเษก เอกบูรพาปราสาทสด๊กก๊อกธม” จัดแสดงที่ปราสาทสด๊กก๊กธม อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว เมื่อต้นปี ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา เป็นผลงานภาพของคุณรวินท์นิภา อุทรัง ช่างภาพชาวสระแก้ว ที่ผมเห็นแล้วตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก
เพราะนอกจากคุณรวินท์นิภาจะมีศิลปะการถ่ายภาพที่ดีแล้ว เรื่องราวในภาพยังสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมประเพณีในอาณาจักรเมืองพระนคร หรือ “อังกอร์” (Angkor) อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของชาวกัมพูชาแต่โบราณกาล
สอดคล้องกับเรื่องราวที่บันทึกไว้ใน “ศิลาจารึกปราสาทสด๊กก๊กธม” ซึ่งนักโบราณคดียกย่องว่า เป็นจารึกหลักสำคัญและทรงคุณค่า ดั่งกุญแจไขความลี้ลับของเมืองพระนคร – อังกอร์ อันเกรียงไกรในอดีต โดยเฉพาะความลี้ลับว่าด้วยปรัชญาเบื้องหลังการสร้างเทวสถานในรูปปราสาทหิน ว่าชาวขะแมร์ในอดีตสร้างสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร และสร้างเพื่ออะไร ?
ภาพการแสดงแสงสีเสียงของคุณรวินท์นิภาที่น่าสนใจมาก มีอยู่ภาพหนึ่ง คือภาพพิธีบูชาศิวลึงค์ในฐานะ “บุคลิกภาพอันศักดิ์สิทธิ์” ของกษัตริย์ขะแมร์โดยราดรดน้ำบริสุทธิ์ หรือน้ำนมลงบนศิวลึงค์ที่ตั้งอยู่บนฐานโยนี ขอย้ำว่านี่คือสัญลักษณ์ของชาวฮินดูลัทธิไศวนิกาย (ลัทธิที่นับถือพระศิวะ หรือพระอิศวรเป็นเทพสูงสุด) ซึ่งแตกต่างจากลัทธิอื่น อาทิ ลัทธิไวษณพนิกาย (ที่นับถือพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ เป็นเทพสูงสุด)
พิธีลึงคบูชา ราชันย์ภิเษก ฉากสำคัญในการแสดงแสงสีเสียง ณ ปราสาทสด๊กก๊กธม
รูปเคารพของชาวไศวนิกาย นิยมแกะสลัก ปั้น หรือวาดเป็นรูปอวัยวะเพศชาย ในความหมายว่าเป็นลึงค์ของพระศิวะ ตั้งอยู่บนฐานโยนี ในความหมายว่า เป็นอวัยวะเพศของพระศรีอุมาเทวี – ชายาของพระศิวะ พระมารดาของพระคเณศ สองสิ่งนี้เมื่อรวมกัน ชาวไศวนิกายถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการก่อเกิดโลกและชีวิต และใครบูชาสองสิ่งนี้เป็นประจำ พร้อมทำแต่ความดี ท่านว่าตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ชั้นไกรลาส ที่ประทับของพระศิวะนั่นเองยุคสมัยหนึ่งในอาณาจักรเมืองพระนคร หรือ “อังกอร์” (Angkor) ของชาวขะแมร์ เมื่อราว ๘๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีก่อน ไศวนิกายเฟื่องฟูอยู่ในอาณาจักรนี้มาก ดังปรากฏเป็นหลักฐานให้ประจักษ์
ในรูปปราสาทหิน อาทิ “บรมศิวโลก” หรือ ปราสาทแปรรูป “ศรีศิขเรศวร” หรือปราสาทเขาพระวิหาร ศรีพฤเธศวร หรือปราสาทสระกำแพงใหญ่ ศรีวนัมรุง หรือ ปราสาทพนมรุ้ง ฯลฯ
ส่วน นครวัด หรือ “บรมวิษณุโลก” เป็นไวษณพนิกาย ที่โดดเด่นข่มไศวนิกายได้อยู่องค์เดียว ขณะที่ “บายน” เป็นพุทธสถานในลัทธิมหายาน เพราะผู้สร้างคือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แม้จะนับถือทั้งพระศิวะและพระนารายณ์ แต่เทิดทูนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นสรณะสูงสุด เช่นเดียวกับผู้สร้างปราสาทพิมาย ถึงตรงนี้ ก็คงพอจะเดาออกว่า สด๊กก๊กธม เป็นปราสาทในลัทธิไศวนิกาย จึงมีฉากพิธีบูชาศิวลึงค์ปรากฏในการแสดงแสงสีเสียงชุดนี้ ที่ทำให้ผมตื่นเต้น เพราะเคยเห็นประเพณีนี้แต่ในภาพวาด
เหล่านางอัปสรา หรือเทพอัปสร บาทบริจาริกาแห่งทวยเทพในคติฮินดูถนิมพิมพาภรณ์อันอลังการของบาทบริจาริกาในราชสำนัก “อังกอร์” แต่โบราณการร่ายรำในพิธีสมโภชศิวลึงค์ศาสตราจารย์ ดี.จี.อี. ฮอลล์ อธิบายไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนหนึ่งว่า “…รูปแบบหนึ่งของลัทธิการบูชาพระศิวะมีหลักอยู่ว่าต้องบูชาเทวลึงค์ในฐานะที่เป็นบุคลิกภาพอันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์… ความรุ่งเรืองของอาณาจักรขึ้นอยู่กับราชลึงค์อันสำคัญนี้ วิหารที่เก็บศิวลึงค์ต้องอยู่บนยอดเขาเป็นทำนอง “ภูเขาวิหาร” อาจเป็นภูเขาธรรมชาติ หรือจำลองขึ้นก็ได้ โดยตั้งอยู่กลางนครหลวง ที่ตรงนี้จะได้รับการเชื่อถือว่าเป็นแกนแห่งจักรวาล…”
หากพิจารณาตามคำอธิบายของ ศ.ฮอลล์ แล้ว ปราสาทหินจึงมีสถานะเป็น “วิหารที่เก็บศิวลึงค์” และยังเป็น “เทวสถาน” หรือทิพยวิมานที่ประทับขององค์ศิวเทพ ยามเสด็จมาเยี่ยมโลก ดังนั้น กษัตริย์ที่นับถือไศวนิกาย สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ คือการสร้างปราสาทหินบนภูเขาธรรมชาติหรือภูเขาจำลอง เพื่อเป็นที่เก็บศิวลึงค์ และต้องทำพิธีบูชาศิวลึงค์ ซึ่งประดิษฐานไว้ ณ ใจกลางปรางค์ประธานของปราสาท และให้ถือว่าบริเวณที่ตั้งศิวลึงค์นั้น คือ ศูนย์กลางของโลกและแกนกลางของจักรวาล ในรัชสมัยของพระองค์
ด้วยเหตุนี้ ปรางค์ประธานปราสาทหินที่เรามองเห็นว่ามีรูปร่างคล้ายฝักข้าวโพดนั้น แท้ที่จริงก็คือรูปแบบหนึ่งของศิวลึงค์ ในขณะเดียวกัน ปรางค์ประธานก็ทำหน้าที่เสมือนวิหารเก็บศิวลึงค์ หรือ “ที่ครอบศิวลึงค์” นั่นเอง
เรื่องราวลี้ลับในลัทธิบูชา “ศิวลึงค์” หรือ “ราชลึงค์” ยังมีอีกมาก ท่านที่สนใจ โปรดติดตามตอนต่อไป