อาหรับยิวรบกันสามพันปี (1)

เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์สู้รบระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราแอลวันนี้ คงต้องย้อนไปถึงสามพันกว่าปีที่ความขัดแย้งเริ่มต้น และสู้กันเรื่อยมา ขอแบ่งประวัติศาสตร์ตามเวลาดังนี้
ช่วงที่หนึ่ง สามพันปีที่แล้วจนถึงศตวรรษที่ 1 จาก “อาบราฮัม” ถึง “พระเยซู”
ช่วงที่สอง ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 ที่ยิวอพยพย้ายถิ่นไปทั่วโลก
ช่วงที่สาม ตั้งแต่เริ่มก่อเกิดรัฐอิสราแอลเมื่อร้อยปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน


เส้นทางของอาบราฮัมจากเลข 1-5 จากเมืองอูร์ไปยังแผ่นดินแห่งพระสัญญา

จากอาบราฮัมถึงพระเยซู

สามศาสนา ยิว คริสต์ อิสลาม มีพื้นฐานความเชื่อเดียวกัน คัมภีร์ส่วนหนึ่งเดียวกัน และ “พระเจ้า” องค์เดียวกัน ไม่ว่าจะเรียกกันอย่างไร (ถ้าสูงสุดก็คงมีองค์เดียว) ต่างก็ถือว่าเยรุซาเล็มเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของตน มีสถานศักดิ์สิทธิ์คนละแห่งใกล้กัน แทนที่จะทำให้สามัคคีเป็นหนึ่งเดียว ความแตกต่างกลับทำให้แตกแยก ไม่ใช่เพราะ “ศาสนา” แต่เพราะ “การเมือง” เรื่องผลประโยชน์ เรื่องอำนาจอธิปไตยที่อ้างกัน

พระคัมภีร์ที่พูดเรื่องการสร้างโลกคงละไว้เป็นตำนานความเชื่อ เพราะมีการเขียน “ต้นไม้ตระกูล” (family tree) จากอดัมมาถึงโนอาห์ มาถึงอาบราฮัม และที่จริงชาวคริสต์ก็เขียนต่อยาวมาถึงพระเยซู ขณะที่รายละเอียดที่น่าจะให้ที่มาของอิสราแอลและชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในภูมิภาคนี้คงเริ่มตั้งแต่อาบราฮัม ที่แม้ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดี แต่ก็มีรายละเอียดในพระคัมภีร์ ที่น่าเชื่อถือในแง่ประวัติศาสตร์

พระคัมภีร์บอกว่า อาบราฮัมมาจากเมืองอูร์ ในเมโสโปเตเมีย (ที่พระสันตะปาปาฟรันซิสเสด็จที่นั่นปีที่แล้ว) ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของแบกแดดประมาณ 300 ก.ม. (ไม่ไกลจากเมือง Tikrit บ้านเกิดของซัดดัม ฮุสเซน)

พระเจ้าทรงเลือกและเรียกอาบราฮัมให้ไปยังแผ่นดินแห่งพระสัญญา ที่จะมีแต่ “น้ำนมและน้ำผึ้ง” สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นถิ่นเดิมของชาวคานาอัน ในพื้นที่ประเทศอิสราแอล-ปาเลสไตน์ในปัจจุบัน เข้าใจว่าคงประมาณกว่าสามพันปีก่อน

อาบราฮัมมีบุตรชื่อ “ไอแซค” ต้นกำเนิดหรือบรรพบุรุษ (patriarch) ของอิราแอล และมี “อิสมาแอล” ต้นตระกูลของ “อาหรับ” บุตรของไอแซคคนหนึ่งคือยากอบ มีบุตร 12 คน ต้นตระกูลทั้ง 12 ของอิสราแอล คำว่า อิสราแอล คือ ใช่ใหม่ของ ยากอบ (ตามพระคัมภีร์ไบเบิล Genesis 32:28) แปลว่า “พระเจ้าทรงสู้” (God contends)

พระคัมภีร์เล่าเรื่องยากอบและบุตรหลานอพยพไปอยู่อียิปต์เนื่องเพราะความอดอยาก บุตรคนหนึ่งชื่อโยเซฟที่ถูกพี่ๆ ขายให้พ่อค้าไปได้ดีที่อิยิปต์จนเป็นถึงที่ปรึกษาให้ฟาโรห์ ลูกหลานยากอบเพิ่มจำนวนมากขึ้น และถูกกดขี่ช่มเหงใช้งานเยี่ยงทาส อันเป็นที่มาของเรื่องโมเสส ที่พระเจ้าทรงใช้ให้ไปปลดปล่อยชาวอิสราแอล เรื่องราวของบัญญัติสิบประการ การเดินทางข้ามทะเลแดง แต่ก็ใช้เวลาหลายปี (พระคัมภีร์ใช้ตัวเลข 40 เพื่อบอกเวลายาวนานหนึ่งชั่วอายุคน) กว่าจะกลับไปถึงแผ่นดินแห่งพระสัญญา

พระคัมภีร์เล่าเรื่องการต่อสู้เพื่อให้ฟาโรห์ยอมปล่อยชาวยิวออกจากอิยิปต์โดยให้เกิดโรคระบาดและภัยพิบัติต่างๆ และเมื่อโมเสสนำชาวยิวหนีไปได้ กองทัพอียิปต์ยังติดตามไป แต่อัศจรรย์การข้ามทะเลแดงทำให้ชาวยิวรอด และทหารอียิปต์ไม่อาจติดตามได้

หลักฐานทางประวัติศาสตร์น่าจะเริ่มจากยุคกษัตริย์เดวิด ประมาณพันปีก่อน ค.ศ.เรื่องราวที่สู้กับโกไลแอด นักรบยักษ์ชาวฟิลิสติน และกษัตริย์ซาโลมอน พระโอรสผู้ทรงความยุติธรรม สร้างอาณาจักร สร้างวิหารแห่งแรกที่ได้ชื่อว่าวิหารซาโลมอน

ต่อมาถูกรุกรานโดยชาวอัสซีเรียน แต่ที่หนักสุด คือ ถูกทำลายจากกองทัพบาบิโลน กวาดต้อนเอาชาวยิวไปเป็นทาส (เรื่องราวใช้ใน Nabucco โอเปร่าของแวร์ดีและ บทเพลง Va pensiero ที่ชาวยิวที่คิดถึงมาตุภูมิ)

นี่คือเหตุการณ์ประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ชาวยิวถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่บาบิโลน อาณาจักรใหญ่ทางใต้ของเมโสโปเตเมีย ซึ่งก็คืออีรักในปัจจุบัน บาบิโลนเป็นเมืองใหญ่ศูนย์กลางอำนาจในยุคนั้น วันนี้อยู่ห่างจากแบกแดด เมืองหลวงของอีรักลงไปทางใต้ประมาณ 60 ก.ม.

อย่างไรก็ดี ชาวยิวเป็น “เชลยศึก” อยู่ 50 ปี บาบิโลนก็ถูกรุกรานยึดครองจากเปอร์เซีย (อิหร่าน) ซึ่งยอมปล่อยให้ชาวยิวเป็นอิสระ แต่ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้กลับมาตุภูมิ ยังอยู่ในถิ่นที่เดิม ริเริ่มการสร้างสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นสืบทอดเรื่อยมา ทุกวันนี้จึงมีอาหรับเชื้อสายยิวอยู่จำนวนไม่น้อยในตะวันออกกลาง

จากนั้นไปจนถึงศตวรรษที่ 1 อิสราแอลตกอยู่ใต้อำนาจของเปอร์เซีย (อิหร่าน) กรีก (อเล็กซานเดอร์มหาราช) และโรมัน (จูเลียส ซีซาร์) พยายามลุกขึ้นสู้กับโรมันอยู่หลายครั้ง แต่ก็พ่ายแพ้ จนปี ค.ศ. 70 กองทัพโรมันปราบกบฎยิวอย่างเด็ดขาด เยรุซาเล็มถูกทำลาย วิหารซาโลมอนที่ถูกสร้างครั้งที่สองหลังจากยิวถูกปล่อยเป็นอิสระกลับมาจากบาบิโลนก็ถูกเผาสิ้น

ทหารโรมันห้ามชาวยิวกลับไปเยรุซาเล็มเกือบสองร้อยปี เพื่อป้องกันการไปรวมกันที่ศูนย์รวมจิตใจและก่อกบฎอีก ตั้งแต่นั้นมา ประชากรยิวในปาเลสไตน์และเยรุซาเล็มจึงมีจำนวนน้อย และไม่ได้มีอิทธิพลใดๆ ในทางการเมือง อยู่ใต้การปกครองของปาเลสไตน์ จนกระทั่งกองทัพมุสลิมจากตะวันออกกลางมารุกรานและครอบครองในศตวรรษที่ 7 จนศตวรรษที่ 12 ที่เกิดสงครามครูเสด และตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ก็อยู่ภายใต้การครอบครองของอาณาจักรออตโตมานจนถึง 1917

สองพันปีที่เร่ร่อน

ชาวยิวอพยพกระจัดกระจายไปในแว่นแคว้นต่างๆ ในอาณาจักรโรมัน ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตะวันออกกลางและยุโรปทั้งตะวันออกตะวันตก ปะปนอยู่ในอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ที่ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำอาณาจักร และการล่มสลายของาณาจักรโรมัน

ชาวยิวเป็นชนชาติที่มีอัตลักษณ์ทางเผ่าพันธุ์ที่ชัดเจน ไม่ว่าไปอยู่ที่ใด พวกเขาจะเป็น “ยิว” ที่ยากจะปรับเปลี่ยนไปเป็นอื่น ไม่ถูกกลืน ไม่ถูกครอบงำง่ายๆ ยังรักษาความเชื่อในศาสนายูดาย ประเพณีวัฒนธรรมอย่างเคร่งครัด สืบทอดกันเรื่อยมาอย่างมั่นคง ไปเมืองไหนประเทศใดจึงมักอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นชุมชนยิว

ในศตวรรษที่ 7 ชาวอาหรับมุสลิมแผ่อำนาจเข้าไปครอบครอง “อิสราแอล” ซึ่งแม้จะยังมีชาวยิวเหลืออยู่แต่ไม่มากแล้ว เยรุซาเล็มกลายเป็นเมืองศูนย์กลางอีกแห่งหนึ่งของศาสนาอิสลาม รองจากเม็กกะและเมดินาห์ และนั่นคือที่มาของสงครามครูเสด (1095-1271) ที่ชาวคริสต์ใน “ยุโรป” รวมตัวกันเพื่อไปยึด “แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์” (Holy land) กลับคืนมา โดยเฉพาะกรุงเยรุซาแลม

ความจริง เป็นสงครามเพื่อทวงคืนความเป็นใหญ่ในอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกชาวอาหรับมุสลิมรุกรานและยึดครองไปถึงสองในสามเป็นเวลากว่า 400 ปี พระสันตะปาปาอูร์บาโนที่ 2 เป็นผู้ประกาศให้ชาวคริสต์ในอาณาจักรน้อยใหญ่ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไปรบด้วยเหตุผลทาง “จิตวิญญาณ” บอกว่าจะได้บุญ ได้รับการยกบาปทั้งหมดและจะได้ไปสวรรค์

แต่ที่สุด แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์และเยรุซาเล็มบางส่วนที่ถูกยึดกลับคืนไปเป็น “คริสต์” ก็กลับไปอยู่ใต้อำนาจของมุสลิม จนสองร้อยปีหลังจากนั้น จักรวรรดิออตโตมานได้แผ่ขยายอำนาจจากตุรกีไปครอบครองภูมิภาคนี้ทั้งหมดจนถึงปี 1917 ที่พ่ายแพ้สงครามต่ออังกฤษและฝรั่งเศส และอังกฤษเข้ายึดครองจนถึงปี 1947

แต่หลายร้อยปีก่อน ค.ศ. ชาวกรีกและโรมันเรียกภูมิภาคนี้ว่า “ปาเลสไตน์” ซึ่งเป็นที่อยู่ของหลายเผ่าพันธุ์ ขณะที่ชาวยิวเรียกว่า “แผ่นดินอิสราแอล” หรือ “แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์” ทั้งๆ ที่ดินแดนของ “อิสราแอล” จริงๆ เป็นตอนใต้ของดินแดนแห่งนี้ คือแคว้นหนึ่งที่เรียกว่า “ยูดาห์” ซึ่งชาวคริสต์ถือว่าเป็น “ต้นตระกูล” ของพระเยซู

การอพยพย้ายถิ่นตลอดสองพันปีของชาวยิว ส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก “ความเป็นยิว” ที่รักษาอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของตนเอง จนเหมือนสังคมปิด สังคมเล็กในสังคมใหญ่ เหมือนมีความลึกลับซับซ้อน กอรปกับความเก่งกาจในความรู้วิชาการเหนือใครๆ มีชื่อในเรื่องเศรษฐกิจการเงินการค้าขาย เป็นพ่อค้าวาณิช นายทุนเงินกู้ที่คิดดอกเบี้ยโหด ร่ำรวยเป็นเศรษฐี เป็นที่เกลียดชังและกังขา ทำให้เกิดกระแสต่อต้านและทฤษฎีสมคบคิด เลยเถิดไปจนโทษยิวว่าฆ่าพระเยซูอีกต่างหาก

เกิดปัญหาทางสังคม เกิดภัยพิบัติ อย่างโรคระบาดใหญ่ในศตวรรษ 14 ที่คนยุโรปตายไปครึ่งหนึ่ง ชาวยิวก็ถูกหาว่าเป็น “ต้นเหตุ” เกิดทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ นานา ชาวยิวเป็นแพะรับบาปในอีกหลายๆ เรื่องหลายเหตุการณ์ อันสะสมกลายเป็นขบวนการต่อต้านยิว (antisemitism) การเบียดเบียน การไล่ล่า ที่มีรากลึกในประวัติศาสตร์และแพร่หลายไปทั่ว ที่มาถึงจุดเลวร้ายสุดที่การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ยิวโดยนาซี ที่อ้างว่าเลือดยิวเป็นเลือดชั่วที่ต้องกำจัด ให้เหลือแต่เลือดดีของเยอรมัน เลือดอารยัน หรือผู้เจริญ

ขณะนั้น ชาวยิวกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ในยุโรป ถูกเบียดเบียนหนักในยุโรปตะวันตกก็อพยพไปอยู่ในยุโรปตะวันออกและรัสเซีย บางส่วนอพยพไปอเมริกา ชาวยิวเองเริ่มรวมตัวกันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่ถูกเบียดเบียนข่มเหง จึงก่อตั้งขบวนการ “Zionism” (มาจาก Sion ที่หมายถึงกรุงเยรุซาเล็มและอิสราแอลทั้งหมด) ในกลางศตวรรษที่ 19

ขบวนการนี้ตั้งเป้าหมายว่า จะต้องก่อตั้งประเทศของตนเองให้ได้ เพื่อจะได้มีหลักแหล่งและรวมตัวกันเพื่อปกป้องตนเองจากการเบียดเบียน และวางเป้าหมายไว้ด้วยว่า ต้องกลับไปอยู่ที่ “มาตุภูมิ” หรือ “แผ่นดินแห่งพระสัญญา” ดั้งเดิม “แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์” และก่อตั้งประเทศ เป็นรัฐชาติที่มั่นคง เข้มแข็ง และยิ่งใหญ่

เสรี พพ 19 พฤษภาคม 2021

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com