“แก่นชีวิต ความคิดฝัน สนั่น ชูสกุล”

รฦก

๕ ปีที่จากไป

ส นั่ น  ชู ส กุ ล

[๗ ธันวาคม ๒๕๐๒ ~ ๖ เมษายน ๒๕๕๙]

****

อีสานปกครองตนเอง

ระบอบประชาธิปไตยแบบที่ประเทศไทยเราใช้ปกครองกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นระบอบที่เราลอกเลียนมาจากการปกครองในประเทศตะวันตก ด้วยความจำเป็นของกระแสโลกที่เราจะต้องเดินตามแบบเขาประการหนึ่ง และความหลงในความศิวิไลซ์ของชาวฝรั่งอีกประการหนึ่ง

ในความเป็นจริง หลายอย่างที่เราทำตามเขาอยู่นั้นเขาเลิกใช้ไปแล้ว ประเทศเหล่านั้นเขาเคารพสิทธิเสรีภาพและกระจายอำนาจการปกครองเป็นรัฐย่อย ๆ ปกครองตัวเองกันอย่างแข็งแรง และเคารพในหลักกฎหมายที่ใช้ดูแลจัดการสังคมอย่างเคร่งครัด แต่การปกครองของเรามุ่งลอกเลียนเขามาเพียง “รูปแบบ” ที่จัดให้มี “การเลือกตั้ง” เท่านั้น เรารวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่ส่วนกลาง กลายเป็นโครงสร้างทางการเมืองแบบ “เน่า ๆ” ไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาของประชาชน นักการเมืองก็ทำเพื่อประโยชน์ของตนและพรรคพวกมากกว่าประโยชน์สาธารณะ เกิดทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงกันมโหฬารอย่างที่เห็นกันอยู่

ความจริงที่ลึกกว่านั้นก็คือ ระบอบการปกครองที่เราลอกฝรั่งเขามานี้ เป็นระบอบที่ฝรั่งเขาใช้ในการปกครอง “เมืองขึ้น” ของเขา ผู้ปกครองของเราในอดีตนำมาปกครองราษฎรของตนและสร้าง “เมืองขึ้นภายใน” ขึ้นมา จึงเป็นอันว่าทุกเมืองต้องเป็นเมืองขึ้นของกรุงเทพฯ ราษฎรทั้งหลายเป็นขี้ข้าที่ว่านอนสอนง่ายของเจ้านาย ในปัจจุบัน แม้รูปแบบของความเป็นเมืองขึ้นและความเป็นขี้ข้าจะเปลี่ยนไป แต่เนื้อหายังอยู่ครบ

ระบอบประชาธิปไตยอันโก้เก๋ที่เราใช้กันอยู่จึงไม่สามารถแก้ปัญหาแท้จริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มีแต่ “ความเท่” ที่ได้มีการ “เลือกตั้ง” แม้แต่ในกระบวนการเลือกตั้งเองก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการโกงได้ เช่นการซื้อเสียงชาวบ้าน ซื้อ ส.ส. ซื้อพรรค ถึงเราจะเขียนรัฐธรรมนูญให้สวยหรูปานใดมันก็จะแก้ไม่ตก นี่คือความอับจนของระบอบประชาธิปไตยที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน”

ประชาธิปไตยที่เราเรียนมา อ้างกันว่าเกิดขึ้นที่นครรัฐเอเธนส์ ประเทศกรีก แท้จริงแล้วคือเกิดขึ้นในระดับชุมชน เป็น “ประชาธิปไตยทางตรง” ที่พลเมืองจัดการปกครองกันเอง (พลเมืองของเขาไม่รวมพวกทาส เด็กและผู้หญิง คนเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์ และถูกกดขี่มาอีกนานในสังคมตะวันตก) และในประวัติศาสตร์ของชาวตะวันตกจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีประชาธิปไตยมาแต่เดิมเหมือนที่กล่าวอ้างกัน มีแต่ประวัติของการไล่ล่าตีเมืองขึ้นกันมาตลอด จนเมื่อพวกนายทุนโค่นระบอบกษัตริย์ลงไปเมื่อสองร้อยปีก่อนนี่เอง จึงได้มีระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งขึ้นมา โดยอ้างว่าเพราะไม่มีสถานที่ประชุมเพียงพอรองรับทุกคน จึงต้องเลือก “ตัวแทน” ไปทำหน้าที่แทนราษฎร “ตัวจริง” หรืออาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น “ประชาธิปไตยทางอ้อม”

ระบอบประชาธิปไตยตัวแทนโดยแท้จริงก็คือ ระบอบของการสถาปนาอำนาจโดยชนชั้นนายทุน และเกิดขึ้นในยุคของการสร้าง “รัฐชาติ” เมื่อสองร้อยกว่าปีมานี้นั่นเอง !

หากนิยามของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หมายถึง “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” เราก็สามารถกล่าวได้ว่าชุมชนทั่วโลกมีระบบการปกครองตนเองมาแต่เดิมทั้งสิ้น เป็นหน่วยการปกครองตนเองที่เป็น “ประชาธิปไตยทางตรง” หรือ “ประชาธิปไตยชุมชน” ก่อนมีการปกครองแบบ “ประชาธิปไตยตัวแทน” ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมตะวันออกนั้นมีมานานหลายพันปี แต่ชนชั้นนำที่มีอำนาจกำหนดระบอบการปกครองของเราไม่เคยสำนึกว่า พื้นฐานชุมชนและสังคมบ้านเราก็เคยมีระบบการปกครองดั้งเดิมของเราเองอยู่แล้ว เป็นระบบที่คิดค้น สั่งสม ถ่ายทอดกันมา ปรับแปลงให้ทันยุคสมัยตลอดเวลาเช่นกัน

การปกครองตนเอง หรือ “ประชาธิปไตยชุมชน” ของชุมชนอีสาน

ตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งบ้านและเมืองในอีสานมีระยะทางห่างไกลจากเมืองหลวง การเข้ามาควบคุมดูแลจากเมืองหลวงอย่างใกล้ชิดและเข้มงวดเป็นไปได้ลำบาก แต่ละครอบครัวแต่ละชุมชนและแต่ละเมืองล้วนต้องดิ้นรนดำเนินชีวิตไปด้วยตนเอง เพื่อให้อยู่รอดและมีความสงบเรียบร้อยในการอยู่รวมกัน อาจกล่าวได้ว่า ตลอดช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นชุมชนอีสานดำรงอยู่โดยค่อนข้าง “อิสระ” และมีการจัดตั้ง “ระบบการปกครองตนเอง” ขึ้นมา ชุมชนยังได้สร้างระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพและพึ่งตนเองเพื่อการอยู่รอด บนฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่าอันอุดมสมบูรณ์ ผู้คนหลายชาติพันธุ์ที่เป็นชนพื้นเมืองเดิมและที่อพยพเข้ามาสมทบใหม่ในภายหลัง ได้รวมตัวหล่อหลอมทางวัฒนธรรม จนผสมกลมกลืนเป็น “คนพวกเดียวกัน” ด้วยการกล่อมเกลาโดยอุดมการณ์ทางศาสนา ทั้งศาสนาพื้นบ้านคือความเชื่อเกี่ยวกับผีที่มีมาแต่เดิม และศาสนาพุทธกับพราหมณ์ที่เข้ามาภายหลัง

ความเป็น “หน่วยปกครองตนเอง” ของชุมชนอีสาน นั้น เรียกได้ว่าชุมชนอีสานมีระบบการปกครองตนเองแบบประชาธิปไตยมาแต่เดิม คือ “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” อย่างแท้จริง เป็นหน่วยการปกครองตนเองที่เป็น “ประชาธิปไตยทางตรง”

ถ้าเราใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น “อำนาจนิติบัญญัติ”, “อำนาจบริหาร” และ “อำนาจตุลาการ” ตามหลักประชาธิปไตยสมัยใหม่มาพิจารณากลไกการปกครองระดับชุมชนของชุมชนอีสานในอดีต จะสามารถอธิบายได้ดังนี้

ชุมชนมีระบบนิติบัญญัติ คือ การสร้างกติกา ข้อตกลงของชุมชน สร้างจากประสบการณ์ของการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการต่อสู้กันภายในชุมชน หรือจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยกระตุ้นจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา กติกาและข้อตกลงของชุมชนอยู่บนฐานคุณค่าที่ยอมรับนับถือร่วมกัน และเกิดใหม่อยู่เรื่อย ๆ ตามความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลงของฐานทรัพยากร และความเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมความเชื่อ การสร้างกฎกติกาของชุมชนเป็นไปแบบเดียวกับการบัญญัติกฎหมายของรัฐสภาในระดับประเทศ

เพียงแต่กติกาข้อตกลงของชุมชนมักไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นกฎทาง “จารีตประเพณี” ซึ่งแฝงฝังอยู่ในความจำและความสำนึกร่วมของชาวชุมชน เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งหรือการละเมิดสิทธิต่าง ๆ เกิดขึ้น ก็จะมีการนำเอาหลักกติกาข้อตกลงที่มีอยู่มาเป็นเครื่องมือจัดการโดยอัตโนมัติ

ด้านอำนาจบริหาร ความเป็นหน่วยสังคมขนาดเล็กของชุมชนทำให้สมาชิกล้วนรู้จักซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง รู้ว่าใครสมควรจะเป็น “ผู้นำ” ของพวกเขา และผู้นำด้านต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นด้วยการพิสูจน์ตัวเอง จนเป็นที่ยอมรับของสมาชิกอื่นอย่างแท้จริง ท่ามกลางประสบการณ์ร่วมอันยาวนานของคนทั้งชุมชน แต่ละชุมชนมีผู้นำด้านต่าง ๆ อยู่มากมาย ซึ่งจะได้รับความไว้วางใจและความคาดหวังจากสมาชิกชุมชนเมื่อมีความจำเป็น เช่นความเป็นผู้นำในการต่อสู้การคุกคามจากภายนอก เช่น โจรผู้ร้าย หรือรัฐภัย ผู้นำทางด้านพิธีกรรมความเชื่อ เช่น เฒ่าจ้ำ หมอสูตร หมอพราหมณ์ หมอพื้นบ้าน ช่างด้านต่าง ๆ ศิลปิน สัปเหร่อ ฯลฯ ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ของชุมชนจะมีองค์คณะร่วมกันตัดสินใจตามความเหมาะสมของแต่ละเรื่อง เช่น เรื่องการพัฒนาวัด การพัฒนาแหล่งน้ำ และเรื่องจัดการทรัพย์สินส่วนรวมของชุมชน การแก้ปัญหาการคุกคามจากภายนอก เหล่านี้อาจใช้องค์คณะหรือกลุ่มบุคคลร่วมตัดสินใจแตกต่างกันไป การตัดสินใจร่วมของชุมชนเกิดบนพื้นฐานการกระจายข้อมูลข่าวสารสู่สมาชิกอย่างทั่วถึง ชาวชุมชนมีรูปแบบของการ “โสเหล่” หรือการถกเถียง โต้เถียงแลกเปลี่ยนในวงพูดคุยวงเล็ก ๆ หรือกระทั่งการ “เว่าพื้น” หรือการซุบซิบนินทาซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและเข้มข้น การเมืองในชุมชนเป็นการเมืองแบบมีส่วนร่วมและมีการตรวจสอบภายในทุกขั้นตอน

อำนาจตุลาการ ชุมชนมีระบบการแก้ไขความขัดแย้งภายในที่ไม่ใช่คดีผิดต่ออาญาแผ่นดิน มีระบบการพิจารณาคดี การตัดสินและการลงโทษ ซึ่งมีทั้งการตั้งวงเจรจาโดยมีผู้ใหญ่ของคู่กรณีและผู้เฒ่าผู้มีบารมีของชุมชนเป็นผู้พิจารณาคดี ทั้งการพิจารณาแบบเผชิญหน้า และการไต่สวนสาธารณะ การลงโทษมีทั้งการตักเตือน การชดใช้ชดเชย การปรับไหม และการลงโทษทางสังคม เช่น การนินทา การไม่ยอมรับ การลิดรอนสิทธิบางอย่างของผู้กระทำผิดโดยคนในชุมชน และการขอขมาลาโทษในกรณีการละเมิดต่อระบบความเชื่อของชุมชน

จึงกล่าวได้ว่า ชุมชนเป็น “สถาบัน” สถาบันหนึ่งที่มีกลไกภายในเป็นระบบหนึ่งของตนเอง มีพลังของความเป็นอิสระ และมีศักยภาพในการจัดการปกครองตนเองแบบแผนการปกครองตนเองของชุมชนอีสานถือเป็นภูมิปัญญาที่ชุมชนคิดค้นพัฒนาขึ้นมาเอง จากวิถีการดำเนินชีวิตร่วมกันของสมาชิกชุมชน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยั่งยืนในการดำรงอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน และเพื่อให้ชุมชนอยู่รอด มีความมั่นคงและมีศักดิ์ศรีในการอยู่ร่วมกับสังคมภายนอก อีกด้านหนึ่งกล่าวได้ว่า ได้รับมรดกทางวัฒนธรรมการปกครองจากราชอาณาจักรต่าง ๆ ที่มีอำนาจการปกครองมาก่อน ทั้งเขมร สยาม และที่มีอิทธิพลสำคัญสุดคือ แบบแผนการปกครองแบบอาญาสี่จากอาณาจักรลาวล้านช้าง

การปกครองตนเองของชุมชนอีสานมีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีระบบ “สิทธิชุมชน” ที่แข็งแรง มีระบบทรัพย์สินส่วนรวมเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันตั้งแต่เริ่มตั้งหมู่บ้าน เช่น มีป่าดอนปู่ตา ป่าช้า ศาลากลางบ้าน ถนน บ่อน้ำ แหล่งน้ำส่วนรวม ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ยุคใหม่ได้งบเอสเอ็มแอลมาก็ยังใช้ในการสร้างเต็นท์ โต๊ะ เก้าอี้ และทรัพย์สินส่วนรวมอื่น ๆ มีองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เป็นฐานของระบบ คือมีองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติหรือระบบนิเวศน์ท้องถิ่นอย่างลุ่มลึก มีองค์ความรู้เกี่ยวกับ “คน” ตั้งแต่เกิดจนตาย รวมทั้งองค์ความรู้ด้านจิตวิญญาณ

จากที่กล่าวมานี้ เราสามารถพูดได้หรือไม่ว่าคนอีสานมีจิตสาธารณะและจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ทั้งยังมีศักยภาพในการปกครองตนเองอย่างสูง !! แต่คนอีสานกลับถูกตราหน้ามากที่สุดว่าไม่มีจิตสำนึกทางการเมือง ทำไม?

เราถูกทำให้หมดความมั่นใจในตนเอง โดยถูกกล่าวหาว่า โง่ ล้าหลัง ยากจน เจ็บป่วย และเอามาตรฐานทางการเมืองแบบเลือกตั้งตัวแทนมาเป็นตัวชี้วัดว่ามีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงมากที่สุด ความผิดดังกล่าวมิได้อยู่ที่คนอีสาน แต่อยู่ที่พวกเหลือบทางการเมืองเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

และถ้าจะนับถอยหลังไปร้อยกว่าปีที่ผ่านมา พบว่ารัฐสยามได้สถาปนาอำนาจการปกครองเหนือดินแดนอีสานได้อย่างเด็ดขาด โดยรวมศูนย์อำนาจการเมืองไว้ที่ส่วนกลางพร้อมกับออกกฎหมายให้อำนาจครอบครองทรัพยากรเป็นของรัฐทั้งหมด อีกด้านหนึ่งก็จัดการให้เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลเพื่อตอบสนองการเติบโตของเศรษฐกิจทุนนิยม สิทธิใน “ทรัพย์สินร่วมของชุมชน” ไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมายและถูกละเมิด การแย่งชิงแรงงานในรูปของการเกณฑ์แรงงานไพร่และกวาดต้อนเชลยในอดีต เปลี่ยนมาเป็นการขูดรีดส่วนเกินจากสินค้าเกษตร และการจ้างแรงงานที่หนีภาคเกษตรมาสู่โรงงานด้วยราคาถูก ส่วยสาอากรและค่าหัว เปลี่ยนมาเป็นระบบเก็บภาษีอันแยบยลซับซ้อนเกินเข้าใจ

ด้วยความสุดทนต่อการถูกกดขี่ ชาวอีสานทั่วทั้งภาคเคยจัดตั้ง “ขบวนการผู้มีบุญ” ต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม ระหว่างปี ๒๔๔๓-๒๔๔๕ แต่ก็ถูกปราบปรามลงอย่างราบคาบ เป็นบาดแผลที่หลายคนไม่อยากจดจำ แต่ควรสรุปเป็นบทเรียนสอนลูกสอนหลานกันให้ครบถ้วน อย่าลืมรากเหง้าประวัติตัวเอง ให้ลูกหลานหลงท่องแต่ประวัติศาสตร์ของคนชาติอื่น

การเกิดระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบตัวแทนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ ได้เปิดช่องทางให้ผู้แทนราษฎรจากภาคอีสานเข้าไปมีปากมีเสียง เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ชุมชนชาวอีสานได้บ้าง แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างทารุณด้วยน้ำมือของรัฐสมัยใหม่ เช่น กรณีการฆ่านักการเมืองอีสานในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต่อมาระหว่างปี ๒๕๐๔–๒๕๒๖ ชาวอีสานส่วนหนึ่งเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อโค่นล้มอำนาจรัฐกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อันเป็นผลของการถูกกดขี่จากอำนาจรัฐและการถูกขูดรีดจากนายทุน

ทศวรรษต่อมา ชุมชนอีสานภายใต้นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามค้า และการนำพาประเทศไทยไปสู่ความเป็นนิกส์ อีสานเกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ชาวอีสานได้รวมตัวลุกขึ้นต่อสู้ด้วยสันติวิธี ใช้สิทธิประชาธิปไตยทางตรง เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ๆ เพื่อแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหา เช่น การต่อสู้เพื่อสิทธิในการตั้งถิ่นฐานและที่ดินทำกินในกรณีโครงการ คจก.(๒๕๓๓–๒๕๓๕) ต่อสู้เพื่อสิทธิในอาชีพของเกษตรกรรายย่อยในกรณีคัดค้าน พ.ร.บ.สภาการเกษตรแห่งชาติ (๒๕๓๔–๒๕๓๕) การคัดค้านการสร้างเขื่อนและการยืนยันสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ตามจารีตประเพณีในที่ดินทำกินที่ได้รับผลกระทบ การคัดค้านการทำเหมืองแร่โปแตชโดยบริษัทต่างชาติ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ชาวอีสานในทุกพื้นที่ก็มีการจัดตั้งตัวเองเพื่อยืนยัน “สิทธิชุมชน” ของตน เช่น การจัดตั้งและการเคลื่อนไหวเรื่องป่าชุมชน การทำเกษตรผสมผสาน การจัดตั้งกลุ่มอาชีพ กลุ่มสวัสดิการต่าง ๆ การเคลื่อนไหวเฉพาะเรื่องเฉพาะพื้นที่เริ่มถักทอกันเป็น “เครือข่าย” และมีการหาพันธมิตรสนับสนุนอย่างกว้างขวางเพื่อต่อสู้ต่อรองกับรัฐและทุนชุมชนอีสานได้เรียนรู้สิทธิใหม่ ๆ ภายใต้ความสัมพันธ์กับรัฐ ทุน และกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายในยุคการเมืองใหม่ในปัจจุบัน

ชาวอีสานมีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนาตนเองในทุกด้าน และพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้กับความไม่เป็นธรรมทุกชนิด แต่เพราะถูกกระทำโดยการกำราบปราบปรามตลอดเวลา วันนี้ ชาวชุมชนอีสานจึงถูกสะกดด้วยความกลัว กลัวเจ้ากลัวนาย กลัวทำไม่สำเร็จ กลัวคนอื่นได้ดี ฯลฯ

ถึงเวลาที่จะต้องหันกลับมาทบทวนกันจริงจัง ใช้พลังศักยภาพที่เรามีอยู่ในการพัฒนาตนเอง ฟื้นระบบการปกครองตนเอง แสดงให้สังคมและรัฐเห็น “สิทธิชุมชน” ที่เรามีอยู่อย่างชอบธรรม

สร้างประชาธิปไตยแบบใหม่ ประชาธิปไตยชุมชน เราจะต้องทำอย่างไร?

๑. ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเริ่มที่ชุมชน เป็น “ประชาธิปไตยชุมชน” รัฐต้องคืนอำนาจการปกครองตนเองให้แก่ชุมชน หลังจากที่รัฐได้ยึดสิทธิการปกครองตนเองนี้ไปยาวนาน การสร้างประชาธิปไตยของประเทศต้องเริ่มจากระดับหมู่บ้าน เช่นเดียวกับการสร้างเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน มิใช่สร้างจากยอด

๒. อำนาจที่รัฐต้องคืนให้ชุมชน คืออำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อำนาจในการวางแผนพัฒนาตนเอง อำนาจในการจัดเก็บภาษีในรายการที่ชุมชนควรจะทำเอง อำนาจในการจัดการศึกษา อำนาจในการจัดสรรงบประมาณ อำนาจในการบริหารชุมชนควรยุบเลิกหน่วยงานรัฐที่ไม่จำเป็น

๓. สิ่งที่ชุมชนทำเองได้เลยและต้องเริ่มทำทันที! คือการรวมกลุ่มแก้ปัญหา เช่น กลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารชุมชน ร้านค้า สหกรณ์ ป่าชุมชน แหล่งน้ำชุมชน เกษตรอินทรีย์ วิสาหกิจชุมชนที่ไม่ถูกครอบงำโดยรัฐ การฟื้นฟูจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม แล้วค่อย ๆ ขยายผลไปใช้สิทธิ์ยกระดับให้สูงขึ้น โดยสร้างการยอมรับและความร่วมมือ การมีส่วนร่วมจากภายนอก อีกด้านหนึ่ง ต้องมีการเฝ้าระวังสิ่งคุกคามจากภายนอก ไม่ให้ทำลายศีลธรรมที่ดีงามและแย่งชิงทรัพยากรของชุมชน และพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ปกป้องฐานทรัพยากรและระบบศีลธรรมของชุมชนท้องถิ่นที่กำลังถูกแย่งชิงคุกคาม

๔. สำหรับประชาธิปไตยตัวแทน เป็นสิ่งที่ต้องมีเพื่อการจัดการระดับประเทศ เราจะไปเลือกตั้ง แต่ต้องเรียกร้องต่อสู้ให้มีอำนาจและผลประโยชน์อยู่ที่อำนาจรัฐส่วนกลางน้อยที่สุด มีระบบกฎหมายที่แข็งแรง และมีระบบการตรวจสอบที่ดีที่สุด

นี่คือแนวทางใหม่ มันจะเป็นจริงได้เมื่อเราพร้อมจะเดินออกมาจากกรอบความคิดที่กักขังเราอยู่ และลงมือสร้างด้วยมือเรา ไม่มีสิทธิใด ๆ ในโลกนี้ที่ได้มาด้วยการหยิบยื่นให้.

*****

จากหนังสือ “แก่นชีวิต ความคิดฝัน สนั่น ชูสกุล” สำนักพิมพ์ทางอีศาน

**

ประวัติย่อ สนั่น ชูสกุล

การสมรส

แต่งงานกับ นางวิจิตรา ชูสกุล มีบุตร ๒ คน คือนายนาคร ชูสกุล และ นางสาววรรณลีลา ชูสกุล อาศัยอยู่จังหวัดสุรินทร์ บ้านเลขที่ ๑๐๕/๖ หมู่บ้านธารธนา ถนนโพธิ์ร้าง อ.เมือง จ.สุรินทร์

การงาน

– ปี ๒๕๒๒ – ๒๕๒๓ ประธานชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– ปี ๒๕๒๔ – ๒๕๒๕ : กองบรรณาธิการฝ่ายสังคมศึกษาสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช (กทม.)

– ปี ๒๕๒๕ – ๒๕๒๗: งานพัฒนาชุมชนโครงการพัฒนาหมู่บ้านชายแดนไทย-กัมพูชา จ.สุรินทร์

– ปี ๒๕๒๘ – ๒๕๓๔ : ผู้ประสานงานโครงการเสริมกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชน มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม (อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์)

– ปี ๒๕๓๕ – ๒๕๓๘ : ฝ่ายข้อมูล คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)

– ปี ๒๕๓๒ – ๒๕๔๒ : บรรณาธิการวารสารดอกติ้วป่า

– ปี ๒๕๓๙ – ปัจจุบัน : ผู้อำนวยการโครงการทามมูล

– ปี ๒๕๔๕ – ๒๕๔๙ : หัวหน้าโครงการวิจัยสิทธิชุมชนศึกษาภาคอีสาน

– ปี ๒๕๔๔ – ปัจจุบัน : บรรณาธิการโครงการหนังสือดอกติ้วป่า, บรรณาธิการ www.esaanvoice.net

– เป็นอาจารย์พิเศษโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ม.ราชภัฏสุรินทร์

– เป็นคอลัมนิสต์ วารสารสุรินทร์สโมสร, นิตยสาร “ทางอีศาน”

– ทำสวน ทำนา ปลูกป่า พื้นที่ ๑๐ ไร่ ที่บ้านแจรน ต.ตาอ็อง อ.เมือง จ.สุรินทร์

ผลงานเขียน

๑. งานวิจัย

– ภาวะหนี้สินชุมชนอีสานใต้ (๒๕๓๑) สนับสนุนโดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนอีสานใต้

– กรณีศึกษาการปลูกมะม่วงหิมพานต์ในภาคอีสาน ตามโครงการสี่ประสาน (๒๕๓๕)

– ระบบนิเวศน์และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่ายุ่งป่าทาม-กรณีป่าทามราศีไศล จ.ศรีสะเกษ (๒๕๓๘) สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

– วิจัยภูมิปัญญาการใช้พืชสมุนไพรในป่านุ่งป่าทาม (๒๕๔๕) สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

– งานวิจัยสิทธิชุมชนลุ่มน้ำมูล (๒๕๕๐) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ฯลฯ

๒. กรณีศึกษาและงานค้นคว้าทางวิชาการ

– ยูคาลิปตัสบนแผ่นดินอีสาน (๒๕๓๙) ประกอบการประชุมวิชาการและเผยแพร่โดยเครือข่ายป่าที่ดินอีสาน

– เมื่อลุ่มน้ำมูลถูกพัฒนา (๒๕๔๗) เอกสารการประชุมเวทีสิ่งแวดล้อมระดับชาติ ปี ๒๕๔๙ โดยเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย

– เขื่อนราษีไศล : รายจ่ายแสนแพงเพื่อความเป็นข่าว (๒๕๔๕) ประกอบการสัมมนาทางวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และจัดพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว”

– จากเศรษฐกิจพอเพียงสู่การค้นหาสังคมทางเลือก (๒๕๕๐) นำเสนอในเวทีสัมมนาวิชาการประจำปี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ฯลฯ

๓. หนังสือที่เขียนและเป็นบรรณาธิการ

– หนังสือ “ป่าทาม ป่าไทย” (กองทุนสิ่งแวดล้อม, ๒๕๔๔)

– บทเรียนรู้นโยบายสาธารณะ พื้นที่ชุ่มน้ำ (สสส., ๒๕๔๙)

– ป่าชุมชนอีสาน (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ๒๕๔๐)

– ประสบการณ์วนเกษตร (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ๒๕๔๐)

– คู่มือการจัดการป่าทามโดยองค์กรชุมชน (โครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนภาคอีสาน, ๒๕๔๖)

– ป่าทาม พื้นที่ชุ่มน้ำโลก (โครงการทามมูล, ๒๕๕๐)

ฯลฯ

๔. บทความ – สารคดี

– บทความ บทรายงาน สารคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม งานพัฒนาชุมชน เผยแพร่ในนิตยสารวารสารและเวบไซต์ต่าง ๆ ประมาณ ๑๐๐ ชิ้น

๕. นวนิยายที่จัดพิมพ์แล้ว

“ผู้คุ้มครอง” (สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๑)

“อีกโค้งหนึ่งก็ถึงแล้ว” (สำนักพิมพ์ดอกติ้วป่า, ๒๕๔๕)

๖. หนังสือรวมเรื่องสั้น

“ช้างเหยียบนาพญาเหยียบเมือง” (สำนักพิมพ์อิงฟ้า, ๒๕๔๓)ได้รับรางวัล

ากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงนสัปดาห์หนังสือแ

“บริษัทไทยไม่จำกัด” (สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๕๐) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (S.E.A Write Award) ปี ๒๕๕๑

“พันธุ์อุดมการณ์” (สำนักพิมพ์อินทนิล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, พฤษภาคม ๒๕๕๗)

๗. รางวัลวรรณกรรมที่ได้รับ

– รางวัลช่อการะเกด (๒๕๓๖) จากเรื่องสั้น – ช้างเหยียบนาพระยาเหยียบเมือง

– รางวัลชมเชยสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย จากเรื่องสั้น – หิมพาล (๒๕๓๗)

– รางวัลชมเชยสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย จากเรื่องสั้น – ถนนไปชายเล (๒๕๓๘)

ฯลฯ

ประกาศเกียรติคุณที่ได้รับ

– งานวิจัยสิทธิชุมชนศึกษา ได้รับรางวัลเป็นงานวิจัยดีเด่นประจำปี ๒๕๕๐ ของ สกว.

– รางวัลวรรณกรรม ๖ รางวัล

– ศิษย์เก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๑ใน ๗๗ คนในวาระ ๗๗ ปีมหาวิทยาลัยฯ (๒๕๕๔)

– ศิษย์เก่าดีเด่นคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี ๒๕๕๖

– รางวัล สันติประชาธรรม (พิเศษ) สำหรับบุคคลที่อุทิศตัวเพื่อสังคมตามแนวทางอาจารย์ป่วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี ๒๕๕๘ เนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป่วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเป็นสมาชิกองค์กรและบทบาททางสังคม

– เป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน (๒๕๓๘-ปัจจุบัน)

– ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ วุฒิสภา

– อนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและน้ำ และคณะทำงานเรื่องทรัพยากรน้ำ สำนักนายกรัฐมนตรี

– คณะอนุกรรมการด้านการจัดการที่ดิน น้ำ ทรัพยากรฯในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย

– กรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมเขื่อนหัวนา, เขื่อนราษีไศล-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ฯลฯ

วาระสุดท้าย

สนั่น ชูสกุล เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๙ ด้วยอาการปวดท้อง อ่อนเพลีย และมีไข้สูง คุณหมอได้ตัดชิ้นเนื้อต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอเพื่อส่งไปพิสูจน์ที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งสนั่นได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์จนถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๙ ผลการพิสูจน์ชิ้นเนื้อไม่พบว่าเป็นอะไร คุณหมอได้แน่ะนำว่าอาจต้องพิสูจน์ชิ้นเนื้ออีกรอบ ครอบครัวจึงตัดสินใจพาสนั่นไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช กทม. ซึ่งได้ตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์อีกรอบ พร้อมทั้งการเจาะไขสันหลัง จึงพบว่าสนั่นเป็นมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง ครอบครัวตัดสินใจพาสนั่นกลับบ้าน มารักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๙ และสนั่นได้สิ้นใจในวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๙ นับเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา ๑ เดือน รวมสิริอายุได้ ๕๖ ปี ๔ เดือน.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com