ฮีตเดือนสิบสอง พระชาวเมืองปาฐาลุยโคลน
คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้ขึง หรือไม้สะดึง คือกรอบไม้สำหรับขึงผ้าเพื่อเย็บจีวรของพระภิกษุให้สะดวกขึ้น เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีเครื่องมือที่จะใช้เย็บได้สะดวกเหมือนในปัจจุบัน การเย็บจีวรนั้นต้องเย็บผ้าหลาย ๆ ชิ้นติดต่อกัน ให้มีรูปแบบเหมือนคันนา (พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ตามรูปแบบคันนาของชาวมคธ โดยมีพระอานนท์เป็นผู้ออกแบบจีวรและก็ห้ามใช้ผ้าผืนเดียวทำจีวร) จึงต้องอาศัยไม้สะดึงช่วยในการขึงผ้า ฉะนั้น ผ้าที่ทำด้วยไม้สะดึงเพื่อการนี้โดยเฉพาะจึงเรียกว่าผ้าเพื่อกฐิน และยังเรียกผ้ากฐินตามความหมายเดิมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีผ้าสำเร็จรูปที่ทำเพื่อทอดกฐินโดยไม่ต้องอาศัยไม้สะดึงแล้วก็ตาม
คำว่า กฐิน เป็นชื่อของทาน คือการให้ มีลักษณะรูปแบบพิธีกรรมและมีข้อกำหนดการกระทำ มากมาย เป็นงานบุญที่แตกต่างไปจากประเพณีการทำบุญที่พิเศษ และคำว่า กฐิน คือผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่พระภิกษุสงฆ์เฉพาะช่วงเวลาที่กำหนดการทอดถวายเท่านั้น
เมื่อสิ้นฤดูการเข้าพรรษาแล้ว พระภิกษุสงฆ์มีอิสระที่จะเดินทางไปค้างที่ใดที่หนึ่งก็ได้ และได้รับอนุญาตให้รับจีวรใหม่ในประเพณีทอดกฐิน การทอดกฐินเป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ ซึ่งทำในระยะเวลาที่กำหนด ให้ในปีหนึ่ง ๆ ซึ่งมีพุทธานุญาตว่า ต้องทำภายในหนึ่งเดือนหลังจากออกพรรษาแล้ว จะทำก่อนหรือหลังจากเวลาที่กำหนดนี้ไม่ได้ โดยมีพุทธบัญญัติให้พระภิกษุแสวงหาผ้าและรับผ้ากฐินได้ มีกำหนด ๑ เดือน นับแต่แรม ๑ คํ่า เดือน ๑๑ ถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ จึงมีประเพณีทอดกฐินต่อกันมา
นอกจากนี้ ในเขตเดือนดังกล่าวยังมีงานบุญการไหว้ธาตุหรือบุญไหว้ธาตุ จะสักการบูชาไหว้นบในเดือน ๑๒ ซึ่งเป็นพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติสืบทอดมาแต่ครั้งสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ได้เก็บรวบรวมมาจากครั้งที่พระเจ้าอชาตศัตรูกับพระมหากัสสปะเก็บฝั่งไว้แต่คราวที่พระพุทธเจ้านิพพานใหม่ ๆ ได้สร้างพระธาตุบรรจุไว้สักการบูชาทั่วอินเดีย แล้วได้พระราชอาชญาสั่งให้ฉลองวันเดียวกัน ทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธาตุในเดือน ๑๒ นี้ ต่อมาได้เปลี่ยนไปไหว้ในเดือนอื่น เช่น พระธาตุพนมไหว้เดือน ๓ เป็นต้น๑ ตามความเหมาะสมในท้องถิ่นนั้น ๆ และมีการแข่งเรือ (ซ่วงเฮือ) เพื่อบูชาอุสุพญานาค ๑๕ ตระกูล และรำลึกถึงพระยาฟ้างุ้มที่นำพระไตรปิฎกมาจากเมืองนครอินทปัตถ์๒
๑ สีลา วีระวงส์, ฮีตสิบสอง, (จัดพิมพ์โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูอุบลราชธานี กรมฝึกหัดครู, ๒๕๒๙), หน้า ๔๗.
๒ สีมา อนุรักษ์, มรดกและวิถีชีวิตคนอีสาน, (อุดรธานี : พิมพ์ที่ หจก. ซี แอนด์ เอ็น, ๒๕๕๐), หน้า ๒๒๗.
บุญกฐิน เป็นบุญฮีตสุดท้ายของฮีตเดือนสิบสองของชาวอีสาน เป็นช่วงที่ต้องนำจีวรไปถวายจึงถูกเรียกว่า เทศกาลกฐิน กลายเป็นประเพณีที่มีความสำคัญ เชื่อว่าใครทำบุญจะมีอานิสงส์แก่ผู้ทำบุญอย่างมาก เพราะจะได้ถวายจีวรให้แด่พระภิกษุจำพรรษาที่ครบไตรมาสเท่านั้น และเป็นบุญที่อยู่ในช่วงข้าวใหม่ปลามัน๓ มีเรื่องที่กล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลและก่อนกว่าพุทธกาล มีดังต่อไปนี้
๓ http://onepech8.blogspot.com/2012/07/blogpost_8870.html
ประวัติพระชาวเมืองปาฐาลุยโคลน
ประเพณีการทอดกฐินมีประวัติความเป็นมาหลาย ๆ ล้านปี หรือจนนับไม่ได้ และไม่สามารถกำหนดเป็นศตวรรษได้ โดยเริ่มต้นจากกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วนั้น ในสมัยก่อนพุทธกาล นับตั้งแต่โลกนี้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในจักรวาล ทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุรับผ้ากฐินได้ เปิดโอกาสให้พุทธบริษัทได้ทำบุญกับพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเพื่อรักษาความสมดุลยภาพระหว่างคติโลกและคติธรรม ซึ่งมีประวัติความเป็นมาดังปรากฏในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงมูลเหตุและที่เคยทำให้เกิดกฐินเมื่อครั้งอดีตกาล
ในอดีตกาลที่ผ่านพ้นสูญกัปไปแล้ว พอมาถึงยุคสารมัณฑกัปก็มีพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสรู้ในโลกนี้ ๔ พระองค์ คือ พระตัณหังกรพุทธเจ้า พระเมธังกรพุทธเจ้า พระสรณังกรพุทธเจ้า และพระทีปังกรพุทธเจ้า เมื่อศาสนาของพระสรณังกรพุทธเจ้าเริ่มเสื่อมลงแล้ว ก็สูญสิ้นไป โลกนี้ก็ว่างจากศาสนาอยู่ชั่วระยะกาลหนึ่ง ต่อจากนั้นมาได้มีพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสรู้อีกหนึ่งพระองค์ ทรงพระนามว่า พระทีปังกรพุทธเจ้านับถอยหลังจากกัปนี้ไปถึง ๔ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป พระองค์ประสูติในกรุงรัมมวดี พระชนกพระนามว่า พระเจ้าสุเทพ พระชนนีพระนามว่าสุเมธา พระมเหสีพระนามว่าพระนางปทุมา พระโอรสพระนามว่าอสุภขันธกุมาร ครองฆราวาสอยู่ ๑๐,๐๐๐ ปี ทรงเห็นนิมิต๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ จึงเสด็จออกผนวชด้วยราชพาหนะคือช้าง บำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือน จึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าภายใต้ต้นไม้เลียบ พระสุมังคลเถระพระติสสเถระเป็นคู่อัครสาวก พระสาคตเถระเป็นพุทธอุปัฏฐาก พระนันทาเถรีและพระนันทาเถรีเป็นคู่อัครสาวิกา ตปุสสอุบาสกและภัลลิกอุบาสกเป็นคู่อัครอุปฏัฐาก สิริมาอุบาสิกาและโสณาบาสิกาเป็นคู่อุปัฎฐายิกา ในกัปนี้มนุษย์มีอายุขัย ๑๐๐,๐๐๐ ปี และพระองค์ก็มีพระชนมายุ ๘ หมื่นปี
ในกาลครั้งนั้น มีนกอินทรีย์ ๒ ตัวผัวเมียพากันบินออกจากต้นไม้ใหญ่ไปหาอาหาร เศษไม้ ใบไม้ ใบหญ้า และอื่น ๆ มาทำรวงรัง ที่ต้นไม้ใหญ่แห่งหนึ่งอุตรกุรุทวีป แล้วไปพบผ้าผืนใหญ่ที่นายช่างทอผ้าทำไว้อย่างดี พร้อมทั้งได้ย้อมด้วยนํ้าฝาดดอกคำ แล้วนำมาตากแดดไว้ที่ราวแห่งหนึ่ง จึงบินฉาบลงไปโฉบเอามาแล้วกลับไปที่อยู่ของตนเพื่อจะทำรังต่อไป ครั้งนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่งออกจากวัดมา เพื่อแสวงหาผ้าไปทำเป็นผ้ากฐินตัดเย็บทำเป็นจีวร ได้ไปพบเข้าก็สำคัญว่าเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ คิดว่าคงจะเป็นผ้าที่เทพเจ้าบันดาลมาให้ตน เพราะสัตว์ทั้งหลายคงจะไม่มีกรรมสิทธิ์อันชอบธรรมในผ้านี้ จึงเก็บเอามาโดยวิธีบังสุกุลแล้วมาตัดเป็นผ้ากฐิน ซึ่งท่านกล่าวไว้ว่า “ผ้าทิพย์ไม่มีผู้ใดใครผู้หนึ่งนำมาถวาย เป็นผ้าคล้ายกับว่าเลื่อนลอยมากลางนภากาศฉะนั้น” ตั้งแต่ครั้งนั้นมา ก็มีญาติโยมผู้มีศรัทธานำผ้ามาทอดเพื่อทำกฐินในพระพุทธศาสนาตลอดมาชั่วกาลนานสืบมา
นับจากนั้นก็ปรากฏมีพระพุทธเจ้าลงมาตรัสรู้แล้ว ๘ พระองค์คือ พระโกณทัญญพุทธเจ้า พระมัคลพุทธเจ้า พระสุมนพุทธเจ้า พระเรวตพุทธเจ้า พระโสภิตพุทธเจ้า พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า พระปทุมพุทธเจ้าและพระนารทพุทธเจ้า ล่วงไปพอมาถึงยุคของพระปทุมตตรพุทธเจ้าก็ปรากฏเรื่องกฐินอีก ในครั้งอดีตยุคมัณฑกัปนับถอยหลังจากกัปนี้ไป ๓๐๐,๐๐๐ กัป เป็นกัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ ๒ พระองค์ พระปทุมมุตตรพุทธเจ้าประสูติในกรุงหงสวดี พระชนกพระนามว่าอานันทะ พระชนนีพระนามว่าสุชาดา พระมเหสีพระนามว่าสุลทัตตา พระโอรสพระนามว่าอุตตระครองฆราวาสอยู่ ๙,๐๐๐ ปี ทรงเห็นนิมิต ๔ จึงเสด็จออกจากปราสาทเลื่อนลอยไป บำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน จึงได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าภายใต้ต้นสน มีพระเทวิลเถระและพระสุชาตเถระเป็นคู่อัครสาวก พระสุมนเถระเป็นพุทธอุปัฏฐาก พระอมิตาเถรีและพระอสมาเถรีเป็นคู่อัครสาวิกา อมิตอุบาสกและติสสอุบาสกเป็นคู่อัครอุปัฏฐาก หัตถาอุบาสิกาและสุจิตตาอุบาสิกา เป็นคู่อัครอุปัฏฐายิกา ในกัปนี้มนุษย์มีอายุขัย ๑๐๐,๐๐๐ ปี และพระองค์ก็มีพระชนมายุ ๘ หมื่นปีในยุคนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงทำกฐินวัตร โดยพระสุชาตผู้เป็นอัครสาวกได้จับไม้กฐินคือไม้สดึงสำหรับขึ่งเย็บจีวร ส่วนพระองค์เองพร้อมกับพระภิกษุสงฆ์จำนวน ๖๘ แสนรูป ก็ได้พากันนั่งทำผ้ากฐินนั้น๔
๔ ปุ้ย แสงฉาย อนงคาราม. พระไตรปิฎกมหาวิตถารนัย ๕๐๐๐ กัณฑ์ พระวินัยปิฎก เล่มที่ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ส.ธรรมภักดี, ๒๕๑๘), หน้า ๘๖.
ในกาลต่อมาก็ปรากฏมีพระพุทธเจ้าลงมาตรัสรู้แล้ว ๑๐ พระองค์คือ พระสุเมธพุทธเจ้า พระสุชาตพุทธเจ้า พระปิยทัสสีพุทธเจ้า พระอัตถทัสสีพุทธเจ้าพระธัมมทัสสีพุทธเจ้า พระสิทธัตถพุทธเจ้า พระติสสพุทธเจ้า พระปุสสพุทธเจ้า พระวิปัสสีพุทธเจ้า พระสิขีพุทธเจ้า ล่วงไปพอมาถึงยุคของพระเวสสภูพุทธเจ้า (บางตำรากล่าวว่าพระสัพพัญญูพุทธเจ้า) ก็ปรากฏเรื่องกฐินอีก ในครั้งอดีตราวกัปที่ ๓๑ นับถอยหลังจากกัปนี้ไป พระเวสสภูพุทธเจ้าประสูติในกรุงอโนมะพระชนกพระนามว่าสุปปติตะ พระชนนีพระนามว่ายสวดี พระมเหสีพระนามว่าสุจิตตา พระโอรสพระนามว่าสุปปพุทธะ ครองฆราวาสอยู่ ๖,๐๐๐ ปี ทรงเห็นนิมิต ๔ จึงเสด็จออกผนวชด้วยราชพาหนะคือวอทองบำเพ็ญเพียรอยู่ ๖ เดือน จึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าภายใต้ต้นอ้อยช้างใหญ่ มีพระโสณเถระและพระอุตตรเถระเป็นคู่อัครสาวก พระอุปสันตเถระเป็นพุทธอุปัฏฐาก พระรามาเถรีและพระสมาลาเถรีเป็นคู่อัครสาวิกา โสตถิกอุบาสกและรัมมอุบาสกเป็นคู่อัครอุปัฏฐากโคตมีอุบาสิกาและสิริมาอุบาสิกาเป็นคู่อัครอุปัฏฐายิกา ในกัปนี้มนุษย์มีอายุขัย ๖๐,๐๐๐ ปี และพระองค์ก็มีพระชนมายุ ๔๘,๐๐๐ ปี
ในกาลครั้งนั้น มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นในนครหลวงชื่อว่า อมรวดี มีหญิงหม้าย (สามีตาย) คนหนึ่งกำลังตั้งครรภ์แก่จวนใกล้คลอด ตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่ในเขตพระนคร วันหนึ่งพระมหากษัตริย์อมรราชทรงมีราชประสงค์อยากจะได้หญิงหม้ายที่มีครรภ์แก่ เพื่อนำไปฝังไว้ให้เป็นพระเสื้อเมืองพระทรงเมืองและพระหลักเมืองเพื่อปกป้องรักษาบ้านเมือง ตามคติความเชื่อดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งโบราณ จึงทรงรับสั่งให้ราชบุรุษไปจับนางมาฝังไว้ทั้งเป็น แต่นางทราบความล่วงหน้าก่อนจึงหลบหนีไปได้ทันท่วงที ครั้นไปถึงปากทางเข้าป่าใหญ่แห่งหนึ่ง นางกลัวจะไม่ปลอดภัยมีสัตว์ร้ายต่าง ๆ เช่น งู เสือ หมี เป็นต้น ด้วยความกลัวจึงขึ้นไปอยู่บนหลังแรด อีกทั้งเพื่อเป็นพาหนะเดินทางต่อไปได้อีกด้วยครั้นเดินทางไปถึงบริเวณกลางป่าแล้ว นางได้เข้าอาศัยอยู่ในโพรงต้นไม้เจ้าป่าตนหนึ่ง ยึดเป็นที่พึ่งที่อาศัยและคลอดบุตรในนั้น เก็บผลไม้เป็นอาหารพอประทังชีวิตอยู่ได้ อยู่ต่อมาข่าวนี้ได้ทรงทราบถึงพระราชา จึงรับสั่งให้ราชบุรุษไปนำเอามาเลี้ยงไว้พบว่าเด็กคนนั้นมีนรลักษณ์ที่ดีเป็นที่โปรดปรานของพระราชายิ่งนัก
มีอยู่บ่อยครั้งที่พระราชาได้พาเสด็จเข้าไปในวัดด้วยเสมอ วันหนึ่งเด็กคนนั้นเดินไปพบพญาปลาช่อนตัวหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ในสระวัดนี้ ซึ่งมีรูปร่างประหลาดและตัวใหญ่โตผิดกว่าปลาทั้งหลาย จึงเกิดความพอใจในปลาตัวนั้นอย่างมาก ทุกครั้งที่มาวัดมักจะแวะเวียนนำอาหารมาให้เสมอ ด้วยเหตุที่ชอบใจกับปลาจึงเป็นเครื่องดึงดูดให้เด็กคนนั้นไปวัดบ่อย ๆ เมื่อเติบโตแล้ว ด้วยความศรัทธาจึงได้น้อมนำ ผ้าไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานคณะสงฆ์ แต่ไม่ทราบจะเรียกชื่อการทำบุญอย่างไรที่ตนได้ถวายในคราวนี้จึงทูลถามพระพุทธเจ้าเพื่อให้ทรงประทานชื่อแห่งทานที่ตนทำไป
ในขณะนั้น มีนกกระนัยตัวหนึ่งบินมาจับที่หน้าพระมหาวิหาร และร้องขึ้นด้วยสระสำเนียงอันดังว่า กฐินัง กฐินัง กฐินัง เช่นนี้ ๓ ครั้ง พระพุทธเจ้าจึงทรงถือในเสียงของนกนั้น แล้วทรงประทานชื่อของทานนั้นว่า กฐิน เป็นชื่อของผ้า เรียกว่า ผ้ากฐิน เป็นชื่อของวัตถุทานเรียกกฐินทาน
เศรษฐีใหม่ด้วยอำนาจบุญกฐิน
ตามหลักฐานที่ปรากฏว่ามีพระพุทธเจ้าลงมาตรัสรู้แล้ว ๒ พระองค์คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า และพระโกนาคมนพุทธเจ้า ล่วงไปพอมาถึงยุคภัทรกัปในศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้าก็ปรากฏเรื่องกฐินอีกพระองค์บำเพ็ญบารมีธรรมจนบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ได้บำเพ็ญพุทธกิจประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้สมบูรณ์ โดยพระองค์ถือกำเนิดที่เมืองพาราณสี ในตระกูลพราหมณ์พงศ์มหาศาล มีพระบิดาชื่อว่าพรหมทัตตะ มีพระมารดาชื่อว่าธนวดี มีส่วนสูงของสรีระสูง ๒๐ ศอก เสวยโลกียสุขครองฆราวาสวิสัยอยู่ ๒ พันปี อยู่อาศัยในปราสาท ๓ ฤดู คือ หังสะ ยสะ และสิรินันทะ มีพระอัครมเหสีพระนามว่า สุนันทา มีพระโอรสพระนามว่า วิชิตเสนะ ครองราชย์เสวยราชสมบัติอยู่ ๒,๐๐๐ ปี เหตุที่ทรงผนวชด้วยการเห็นนิมิต ๔ ประการ เนื่องจากนางพราหมณีสุนันทาผู้ภรรยาคลอดบุตรแล้ว มีผู้ออกบวชตาม ๑ โกฏิ ราชพาหนะที่ทรงใช้เสด็จออกผนวชบริวารด้วยยานคือปราสาทใช้ระยะเวลาที่บำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ ๗ วัน ผู้ถวายข้าวมธุปายาสเป็นนางสุนันทาพราหมณี ผู้ถวายหญ้าคาเป็นคนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อว่า โสมะ จำนวน ๘ กำ ต้นไม้ที่ตรัสรู้เป็นต้นนิโครธ (ไทร) เวลาที่ตรัสรู้เป็นวันเพ็ญ ๑๕ คํ่า ในคืนพระจันทร์เต็มดวง มีการแสดงธรรมอยู่ ๕ ครั้ง สาวกสันนิบาตมีเพียงครั้งเดียวแล้วยกปาฏิโมกข์ขึ้นแสดง ในท่ามกลางพระอรหันต์ ๒ หมื่นในวันมาฆบูรณมี พระชนมายุเพียง ๑๖,๐๐๐ ปี อายุขัยของมนุษย์ในสมัย ๒๐,๐๐๐ ปี๕
๕ ดร.สุขพัฒน์ อนนท์จารย์, กว่าจะมาเป็นพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ลูก ส.ธรรมภักดี, ๒๕๔๗), หน้า ๒๑๘-๒๒๓.
ในสมัยนั้นมีชายยากจนคนหนึ่งเป็นชาวเมืองพาราณสี เกิดมาเป็นคนจนไร้ที่พึ่งพา หนังสือไม่ได้เรียน พี่น้องก็ไม่มี จึงไปอาศัยอยู่กับท่านเศรษฐีชื่อว่า สิริธรรม เป็นคนรํ่ารวยทรัพย์สินเงินทองประมาณ ๘๐๐ ล้านบาท (๘๐ โกฏิ) เมื่อชายคนจนอาสายอมตนเป็นคนรับใช้ในบ้านท่านเศรษฐี พอได้มีที่อาศัยอยู่กินหลับนอนไปวัน ๆ นั้น อยู่มาวันหนึ่งท่านเศรษฐีถามว่า “เธอมาอยู่กับเราแล้ว เธอมีความรู้ความสามารถอะไรพอที่จะทำได้บ้าง…?” ชายคนจนตอบด้วยอ่อนน้อมว่า “กระผมไม่มีความรู้ความสามารถอะไรเลยขอรับท่าน” ท่านเศรษฐีจึงถามต่อว่า “ถ้าเป็นเช่นนี้ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ให้เธอไปดูแลรักษาไร่ให้เราได้ไหมละ คอยดูแลหญ้าในสวนของเรา เราจะให้อาหารวันละหม้อพออิ่มก็คงพอ” เพราะความยากจน ไม่มีอะไรจะเสียแล้วจึงตกปากรับคำตอบตกลงในวันนั้นเลย แล้วเข้าไปทำงานตามหน้าที่ทันที และต่อมาจึงได้ชื่อว่า ติณบาล เพราะเป็นผู้รักษาหญ้า ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป
วันหนึ่งเป็นวันว่างเว้นจากการทำงาน นายติณบาลจึงคิดว่า “เราเกิดมาเป็นคนยากจนเช่นนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่เคยทำบุญอันใดไว้แต่ชาติปางก่อน พอเกิดมาชาตินี้จึงต้องเป็นคนจนอย่างที่เห็นจึงต้องอยู่ในฐานะเป็นผู้รับใช้คนอื่น อีกทั้งเป็นคนไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีสมบัติอันใดติดตัวมาแม้แต่น้อยจึงต้องรอนแรมมาอาศัยอยู่กับคนอื่น” เมื่อคิดได้เช่นนั้นก็สำนึกในเหตุที่เกิดมาเป็นคนจน วันต่อมาจึงได้แบ่งอาหารที่ท่านเศรษฐีให้มาออกเป็น ๒ ส่วนส่วนหนึ่งมีไว้เพื่อใส่บาตรถวายพระสงฆ์สามเณรและอีกส่วนหนึ่งเอาไว้รับประทานเอง ได้ทำอย่างนี้มาโดยตลอดด้วยอานิสงส์ผลบุญที่ชายคนจนทำนั้นจึงส่งผลให้ท่านเศรษฐีเกิดความเมตตาสงสาร ในกุศลเจตนาดีในการปฏิบัติตนในทางดี หลังจากนั้นจึงสั่งคนในบ้านให้เพิ่มอาหารขึ้นอีก ชายคนจนจึงได้จัดแบ่งอาหารออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นส่วนใส่บาตรถวายพระสงฆ์สามเณร ส่วนที่สองมีไว้เพื่อบริจาคแก่คนจนทั้งหลาย และส่วนที่สามเอาไว้รับประทานเอง ชายคนจนได้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้เรื่อยมาเป็นเวลานาน
ในปีนั้นพอมาถึงวันออกพรรษา ผู้คนที่มีความศรัทธาต่างก็พากันทำบุญกฐิน รวมถึงท่านเศรษฐีผู้เป็นนายของตน ชายคนจนก็ได้เตรียมสิ่งของช่วยท่านเศรษฐีเพื่อที่จะไปร่วมถวายกฐินด้วย ผู้นำในงานบุญกฐินจึงได้ประกาศให้ประชาชนทั้งหลายให้ทราบโดยทั่วกันว่า “ท่านเศรษฐีสิริธรรมจะได้ทำบุญกฐิน จะมีใครสนใจร่วมทำบุญด้วย” เมื่อติณบาลได้ยินเช่นนั้นก็เกิดความเลื่อมใสในกิจกรรมงานบุญนี้ด้วย จึงคิดว่า “กฐินทานนี้แหละนับว่าเป็นการให้ทานที่ประเสริฐกว่าทานใด ๆ ที่มีอยู่” แล้วจึงตัดสินใจเข้าไปหาท่านเศรษฐีแล้วถามว่า “ท่านเศรษฐี กฐินทานมีอานิสงส์อย่างไรบ้างหนอ…?” ท่านเศรษฐีตอบว่า “บุญกฐินนั้นมีอานิสงส์มากมายพระพุทธเจ้าทรงตรัสสรรเสริญว่า เป็นทานที่ประเสริฐกว่าอย่างอื่น” เมื่อได้ทราบตรงตามที่ตนเข้าใจเช่นนั้นแล้ว ก็รู้สึกดีใจและมีความปลาบปลื้มอย่างมาก จึงกล่าวว่า “ท่านเศรษฐี ผมมีความประสงค์ที่จะร่วมอนุโมทนาในงานบุญกฐินทานครั้งนี้ด้วย ท่านจะเริ่มงานบุญนี้เมื่อไรขอรับ..?” ท่านเศรษฐีตอบว่า “พวกเราจะเริ่มงานอีก ๗ วันข้างหน้า”
เมื่อนายติณบาลได้ฟังดังนั้น จึงได้เดินทางกลับไปยังที่อยู่ของตน แล้วคิดว่า “เราเป็นคนจนไม่มีอะไรเลยแม้แต่ผ้าผืนเดียวก็ยังหายาก จะทำบุญร่วมกับท่านเศรษฐีได้อย่างไรกัน” ชายคนจนครุ่นคิดอยู่เป็นเวลานานก็ยังหาทางออกไม่ได้ ยิ่งคิดยิ่งปวดหัวจะหาอะไรไปร่วมอนุโมทนากฐินกับท่านเศรษฐี เมื่อมองไปรอบ ๆ ตัวก็เห็นแต่ผ้าผืนเดียวที่มี จึงตัดสินใจเปลื้องผ้านุ่งห่มของตนออกนำไปซักให้สะอาดตากให้แห้ง แล้วพับให้ดูดีสวยงามพอจะเป็นที่ต้องตาคน แล้วจึงหาใบไม้มาเย็บใช้นุ่งแทนผ้า จากนั้นก็เอาผ้าไปเร่ขายตามท้องตลาด เมื่อเข้าไปถึงตลาดผู้คนได้เห็นการแต่งกายเช่นนั้นแปลกดีนึกว่าเป็นตัวตลก ก็พากันมามุงดูแล้วหัวเราะชอบใจกันอย่างสนุกสนาน ชายคนจนจึงชูมือขึ้นแล้วกล่าวว่า “ขอท่านทั้งหลายจงหยุดก่อน ขอได้อย่าหัวเราะข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้าเกิดมาเป็นคนยากจนไม่มีผ้าที่จะนุ่งจะห่ม จึงได้นุ่งใบไม้แทนแต่ในชาตินี้เท่านั้นต่อไปหรือว่าชาติหน้าจะนุ่งผ้าทิพย์”
เมื่อผู้คนได้ยินเช่นนั้นก็เกิดความสนใจอย่างมาก ต่างตั้งใจฟังพร้อมทั้งติดตามดูการออกเดินเร่ขายผ้า ไม่นานก็มีผู้สนใจซื้อผ้าผืนนั้นในราคา ๑ บาท (๕ มาสก) นายติณบาลนำเงินไปมอบให้ท่านเศรษฐี เพื่อนำไปสมทบทุนซื้อด้ายสำหรับเย็บไตรจีวร ด้วยอานิสงส์ความตั้งใจทำบุญกฐินในคราวนั้นจึงเป็นเหตุให้เกิดข่าวคราวการถอดผ้าขายเอาเงินไปทำบุญแพร่หลายออกไปทั่วหมู่ชน ตลอดถึงเทวดาในชั้นฉกามาพจรสวรรค์ด้วย
อยู่มาวันหนึ่งเจ้าผู้ปกครองเมืองพาราณสีทรงทราบเหตุการณ์ดังกล่าว จึงรับสั่งให้นำนายติณบาลเข้าเฝ้าโดยด่วน แต่ชายคนจนก็ไม่กล้าเดินทางเข้าเฝ้าเพราะละอายในสถานะของตน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้ตรัสถามสาเหตุที่ไม่ยอมมาด้วยความไม่มีผ้านุ่งห่ม จึงมีรับสั่งให้ราชบุรุษนำผ้าอย่างดีมีราคาถึงแสนตำลึงไปให้ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานบ้านเรือนทรัพย์สินเงินทอง และอื่น ๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควายคนรับใช้ เป็นต้น แล้วโปรดให้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีในเมืองพาราณสีด้วย มีชื่อว่า ติณบาลเศรษฐี นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แล้วก็หยุดการงานดูแลหญ้าในสวนของท่านเศรษฐีสิริธรรม
นับตั้งแต่นั้นท่านติณบาลเศรษฐี ก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขสืบมา ดำรงชีวิตจนสิ้นอายุขัย เมื่อสิ้นใจก็ได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานแก้วมีความสูงถึง ๘๐ กิโลเมตร มีนางเทพอัปสรจำนวน ๑๐,๐๐๐ หมื่นเป็นบริวาร ส่วนท่านสิริธรรมเศรษฐีเมื่อตายจากโลกมนุษย์แล้วก็ได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนางฟ้าเป็นบริวารเช่นเดียวกัน๖
๖ http://teerawanch.blogspot.com/search/label/htt
ต้นตำนานการทอดถวายผ้ากฐิน
ในยุคภัทรกัปเป็นวาระของพระพุทธเจ้าที่จะลงมาตรัสรู้เป็นองค์ที่ ๔ ถือว่าเป็นองค์ปัจจุบัน หลังจากที่พระโคตมทรงบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๔ อสงไขยแสนกัปแล้ว ลงมาตรัสรู้แล้วได้ประกาศศาสนาธรรมนำรสแหง่ อมตธรรมไปสูส่ รรพสัตว์ทั่วทั้ง๓ ภพ ได้ถือกำเนิดที่เมืองกปิลวัตถุ ในตระกูลกษัตริย์มีพระบิดาทรงพระนามว่า สุทโธทนะ มีพระมารดาทรงพระนามว่า มหามายา มีสรีระสูง ๑๘ ศอก ได้เสวยโลกียสุขอยู่ครองฆราวาส ๒๙ ปี และมีปราสาท ๓ ฤดู เป็นที่อยู่อาศัย คือ รัมมะ สุรัมมะ และสภะ มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า ภัททกัจจานา มีพระโอรสทรงพระนามว่า ราหุละ เหตุที่ทรงผนวชเพราะได้เห็นเทวฑูตทั้ง ๔ คือ คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย พร้อมด้วยสมณะ ราชพาหนะที่ทรงใช้เสด็จออกผนวชเป็นม้า ใช้ระยะเวลาบำเพ็ญทุกกรกิริยา ๖ ปี ผู้ถวายข้าวมธุปายาสเป็นนางสุชาดา ผู้ถวายหญ้าคาชาวบ้านละแวกนั้นชื่อนายโสถถิยะ จำนวน ๘ กำ ต้นไม้ที่ตรัสรู้เป็นต้นศรีมหาโพธิ (อัศวัตถพฤกษ์) ในวันเพ็ญ ๑๕ คํ่า เดือน ๖ ซึ่งเป็นวันพระจันทร์เต็มดวงแสดงธรรมในครั้งแรกแสดงธัมมจักรกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คน
ในสมัยพุทธกาลครั้งหนึ่งได้มีพระภิกษุชาวเมืองปาฐา (ปาไฐยรัฐ) จำนวน ๓๐ รูป เมืองนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ท่านเหล่านี้เป็นพวกพระภัททวัคคีย์ผู้เป็นพระญาติร่วมบิดาและเป็นญาติพี่น้องชายกันกับพระเจ้าปเสนทิโกศลในพระสงฆ์ทั้ง ๓๐ รูปนี้มีท่านที่เป็นหัวหน้าได้บรรลุธรรมขั้นพระอนาคามีแล้ว ส่วนรูปสุดท้ายก็บรรลุธรรมขั้นพระโสดาบัน ไม่มีรูปใดเป็นพระอรหันต์หรือเป็นปุถุชนธรรมดาเลย มีความประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหารพระอารามที่อนาถบิณฑิกะเศรษฐีสร้างถวาย ณ เมืองสาวัตถี จึงชักชวนกันเดินทางมา พอถึงเมืองสาเกตซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถีประมาณ ๙๖ กิโลเมตร จวนถึงวันเข้าพรรษาจะเดินทางต่อไปก็ไม่ทัน จึงต้องจำใจเข้าจำพรรษาที่เมืองสาเกตเลยในระหว่างจำพรรษานั้นก็ร้อนรนใจที่อยากจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อปวารณาแล้ว (วันอธิษฐานออกพรรษา) จึงรีบเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที แต่ว่าในช่วงขณะนั้นฝนยังตกชุกอยู่มากพอสมควร พื้นดินเต็มไปด้วยนํ้าเป็นหล่มเลนเต็มไปด้วยโคลนตมเมื่อเดินผ่านขี้โคลนมาจึงทำให้จีวรเปรอะเปื้อน เมื่อมาถึงเมืองสาวัตถีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที๗
๗ วิ.ม. ๕/๙๕/๑๐๘.
พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามถึงการเดินทางและความยากลำบากอื่น ๆ ของพระภิกษุเหล่านั้น จึงทูลรายงานให้ฟังถึงความกระวนกระวายที่จะมาเฝ้าพระพุทธองค์ และรีบเดินทางมาจนจีวรเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนตมอย่างที่เห็น แล้วพระพุทธเจ้าได้แสดงพระธรรมเทศนาชื่อว่า อนมตัคคิยะ ให้ฟังท่านทั้ง ๓๐ รูปได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงพากันแสดงอิทธิฤทธิ์เหาะเหิรไปบนท้องฟ้า
ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงยกขึ้นเป็นมูลเหตุในการทรงบัญญัติเรื่องกฐินตามประเพณี พระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ผ่านมา ที่ได้ทรงอนุญาตการกรานกฐินไว้ทั้งนั้น นับตั้งแต่นั้นมาจึงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุทำพิธีกรานกฐิน คือเมื่อมีผ้าที่จะทำจีวรได้ผืนใดผืนหนึ่ง พระสงฆ์ประชุมพร้อมใจกันยกผ้าขึ้นถวายให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งซึ่งมีจีวรเก่า มีพรรษามากสามารถกรานกฐินได้ถูกต้อง มีความฉลาด มีความรอบรู้ธรรมวินัย พระภิกษุรูปนั้นรับเอาไปทำจีวรผืนใดผืนหนึ่งให้แล้วเสร็จในวันนั้น และกลับมาบอกให้ที่ประชุมสงฆ์เพื่ออนุโมทนา
อยู่ต่อมาไม่นานเรื่องราวที่ปรากฏการทอดกฐินในคราวครั้งนั้น ในปีหนึ่งมีพระภิกษุสงฆ์จะต้องนำผ้ามาตัดเย็บจีวรเอง ไม่มีชนิดสำเร็จรูปอย่างในปัจจุบัน พระภิกษุทั้งหลายจึงต้องร่วมมือร่วมใจช่วยกันอย่างขะมักเขม้น แม้แต่พระพุทธองค์ก็เสด็จลงมาช่วยสนเข็ม จนเป็นเหตุให้มีผู้สร้างพระพุทธรูปขึ้นมาปางหนึ่ง เรียกว่า ปางสนเข็ม ในเวลาต่อมา
คราวนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธในขณะนั้นจีวรของพระอนุรุทธเถระเจ้าเก่าครํ่าคร่าท่านจึงเที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลที่คนนำมาทิ้งไว้ ตามกองหยากเหยื่อบ้าง ตามป่าช้าที่คนเขาห่อศพมาทิ้งไว้บ้าง ตามป่าพงไพรบ้าง หรือตามพุ่มไม้ที่ผู้มีศรัทธานำมาทิ้งถวายไว้ ซึ่งนิยมเรียกกันว่าผ้าป่าในปัจจุบันบ้าง เพื่อรวบรวมผ้าไปเย็บเป็นจีวรในสมัยจีวรกาล
ในครั้งนั้นมีนางชาลินีเทพธิดา ซึ่งในอดีตชาติที่ ๓ เคยเป็นภรรยาที่ดีของพระอนุรุทธเถระ เห็นพระเถระเที่ยวเสาะหาผ้า จึงนำผ้าอย่างดี ๓ ผืน กว้าง ๔ ศอก ยาว ๑๓ ศอก มาด้วยความตั้งใจ แต่ฉุกคิดได้ว่า ‘หากถวายตรง ๆ พระเถระไม่อาจรับ’ จึงจัดการถวายแบบผ้าบังสุกุลโดยนำไปวางไว้แล้วเอาหยากเหยื่อทับถมไว้ เผยชายผ้าไว้พอให้เห็นได้
เมื่อพระเถระเจ้าได้ผ้าบังสุกุลพอสำหรับทำจีวรแล้ว จึงบอกให้เพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายให้มาร่วมกันจัดทำ ในครั้งนั้นพระมหาสาวก เช่น พระมหากัสสปะ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอานนท์เป็นต้น ผู้ชำนาญในการกะตัดจีวรเป็นพิเศษ ได้มาร่วมประชุมทำจีวรถวายพระอนุรุทธเถระอย่างน่าสรรเสริญ แม้พระบรมศาสดาก็ทรงพระเมตตาเสด็จมาประทับเป็นประธานทั้งรับธุระสนเข็มให้ พระที่มาช่วยเย็บจีวรรูปใดด้ายหมดก็ส่งเข็มให้พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงสนเข็มประทานให้ เป็นที่เบิกบานใจแก่เหล่าพระสงฆ์ที่มาเข้าร่วมทำจีวรทั้งหลาย
ในคราวนั้น นางชาลินีเทพธิดาได้ติดตามมาถึงวัด และได้แปลงกายเป็นอุบาสิกาเข้าไปป่าวร้องในหมู่บ้าน ชักชวนให้ชาวบ้านจัดหาข้าวต้มของขบฉันและอาหารหวานคาวมาถวายพระภิกษุสงฆ์ ในที่สุดการตัดเย็บและย้อมจีวรก็สำเร็จได้ตามประสงค์ด้วยความสามัคคีมีนํ้าใจร่วมกัน จนกลายเป็นต้นแบบของการตัดเย็บย้อม และกรานผ้ากฐินถวายพระเถระในท่ามกลางสงฆ์
พระสงฆ์สาวกพร้อมทั้งคฤหัสถ์ได้ช่วยกันโดยพร้อมเพรียง นับว่าเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้ทำผ้าแล้วเสร็จในวันนั้นก่อนอรุณขึ้น เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันของหมู่ภิกษุพระสงฆ์ ถ้าชักช้าจะทำให้ผู้ครองผ้ากฐินไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความสามารถในกรานกฐินนอกจากนี้ เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์เพราะพระพุทธเจ้าเสด็จมาเป็นประธานในที่นั้นด้วย มุ่งให้เกิดความสามัคคีในหมู่พระภิกษุสงฆ์ เพราะการทำให้แล้วเสร็จในวันนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันหลาย ๆ คน
จะเห็นได้ว่า ในตอนแรกความยากลำบากในการทำกฐินตกอยู่กับพระภิกษุสงฆ์ แต่ปัจจุบันความยากลำบากนี้ตกอยู่แก่ผู้ทอดต้องจัดการทุกสิ่งทุกอย่าง พระภิกษุสงฆ์เป็นเพียงผู้รับผ้ากฐินและนำไปกรานกฐินเท่านั้น
ประวัติธงทิวประดับกองกฐิน
ตามประเพณีงานบุญทอดกฐินจะมีธงทิวประดับสวยงาม หลังจากทอดกฐินเสร็จแล้วธงรูปจระเข้จะไม่นำออกจากวัดให้ปักไว้ตามเดิม จะเป็นที่ศาลาวัด หน้าโบสถ์ ประตูทางเข้าหรือที่ใด ๆ ที่เห็นได้ง่าย เป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่าวัดนั้นทอดกฐินแล้ว เพราะวัดหนึ่ง ๆ จะรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น สำหรับธงทิวต่าง ๆ และธงจระเข้มีตำนานความเชื่อความเป็นมา ๒ นัย คือ
นัยที่ ๑ สมัยโบราณการเดินทางต้องอาศัยการดูทิศทางจากดวงดาว เป็นที่กำหนดเวลาและเส้นทาง โดยอาศัยธรรมชาติเป็นนาฬิกาบอกเวลา เช่นการเคลื่อนขบวนทัพในตอนจวนสว่าง ต้องอาศัยดาวจระเข้ซึ่งขึ้นในช่วงนั้นพอดี เป็นต้น การทอดกฐินสมัยโบราณเป็นงานใหญ่มีภาระต้องจัดทำมากการติดต่อประสานงาน การสื่อสารก็ไม่สะดวกรวดเร็วอย่างปัจจุบันนี้ ต้องใช้เวลานับวันในการเดินทาง บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ก็ต้องอาศัยดูทิศทางและเวลาจากดาวจระเข้ พอปรากฏขึ้นก็เริ่มเคลื่อนขบวนกฐินจะได้ไปสว่างที่วัดพอดีต่อมาจึงมีผู้คิดทำธงประดับตกแต่งองค์กฐินให้สวยงาม รวมทั้งประดับบริเวณวัดไปในตัวด้วย และบ่งบอกว่าวัดนี้มีงานบุญ จึงได้จัดทำธงรูปจระเข้ขึ้นหวังให้เป็นเครื่องหมายว่าวัดนี้มีผู้จองกฐินหรือทอดกฐินแล้ว
นัยที่ ๒ ตามตำนานนิทานโบราณว่า มีเศรษฐีท่านหนึ่งเป็นคนขี้เหนียว แต่ภรรยาเป็นคนใจบุญชอบทำบุญ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่เคยคิดทำบุญสร้างกุศล เสวยบุญเก่าที่ทำไว้แต่ปางก่อน แสวงหาทรัพย์ภายนอกอย่างเดียว ทรัพย์ภายในคือบุญกุศลไม่เคยสร้างเลยแม้แต่ครั้งเดียว เมื่อแสวงหาทรัพย์มาได้ก็นำทรัพย์นั้นไปฝังไว้ที่ท่านํ้าใกล้คอสะพานบริเวณหน้าบ้าน (สมัยก่อนยังไม่มีธนาคารรับฝากเงิน จึงนิยมนำเงินไปฝังไว้ใต้ดิน ถือว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด) นับแต่นั้นมาท่านเศรษฐีจะมานั่งมองดูสถานที่ฝังทรัพย์ทุกวัน เพราะเกรงว่าคนจะรู้และมาขโมยขุดไป แม้แต่ตอนกลางคืนก็ไม่เว้นจึงต้องมาคอยระวังอยู่อย่างนี้ ด้วยจิตที่กังวลทำให้นอนหลับไม่สนิท ต่อมาเกิดเจ็บป่วยและตายในที่สุด เมื่อตายแล้วผลที่ไม่เคยทำบุญจึงไปเกิดเป็นจระเข้เฝ้าทรัพย์ของตนที่ท่านํ้า ด้วยอำนาจจิตที่ฝักใฝ่ในทรัพย์ ได้รับความทุกข์เวทนา เวลาหิวก็ไม่มีอะไรจะกิน และด้วยอำนาจความตระหนี่ที่ไม่เคยบริจาคทรัพย์ จึงทำให้จระเข้ไม่มีลิ้นสำหรับรู้รสอาหาร จึงไปเข้าฝันภรรยาให้มาขุดทรัพย์ที่ตนฝังไว้ท่าน้ำให้ไปทำบุญกุศล ภรรยาจึงจัดให้มีการทอดกฐิน แต่วัดที่จะไปทอดกฐินนั้นอยู่ห่างไกลจากวัดมาก จะต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง๘
๘ พระมหา ดร.สุขพัฒน์ อนนท์จารย์, ปริศนาปรัชญาธรรม. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ลูก ส.ธรรมภักดี, ๒๕๔๖), หน้า ๔๑๙-๔๒๐.
จระเข้เศรษฐีนั้นก็บังเกิดความยินดี ว่ายตามขบวนเรือแห่องค์กฐินไปด้วย แต่ยังไม่ถึงวัดก็หมดแรงไปต่อไม่ไหว จึงบอกภรรยาวาดรูปจระเข้บนแผ่นผ้ายกขึ้นผูกเป็นธงไว้ที่หน้าวัดที่ทอดกฐินไปแทน ตั้งแต่นั้นมาจึงได้ปฏิบัติสืบทอดเป็นประเพณีมาจนถึงปัจจุบันนี้
นับตั้งแต่เรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้นให้สาธารณชนทราบ ปวงประชาเห็นด้วยคล้อยตามจนกลายเป็นศรัทธา มีคติความเชื่อตามหลักปรัชญาและเหตุผลทางตรรกะ ปราชญ์ชาวอุษาคเนย์จึงได้นำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้แก่ชาวพุทธ ได้คิดริเริ่มงานบุญกฐินร่วมกันขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเลือกเอาเหตุการณ์พระสงฆ์ชาวเมืองปาฐาลุยโคลนตมจนเปียกปอนในครั้งนั้น ซึ่งเหมาะกับช่วงเวลาที่ควรได้รับผ้าจีวรใหม่หลังออกพรรษาแล้ว และมีความสมดุลยภาพต่อวิถีชีวิตในช่วงเดือนนี้ จึงเรียกว่า ‘บุญเดือนสิบสอง’
*****
ฮีตเดือนแปด เข้าพรรษา : เหตุจากการจาริกไปทั่ว, การค้างแรม และกติกา
ฮีตเดือนสิบ เกิดจากคติเรื่อง “เมียหลวงอิจฉาเมียน้อย”
ฮีตเดือนสิบเอ็ด (๑) วันปวารณาเปิดโอกาสชี้แนะ