ฮูปแต้มวัดมหาธาตุ อำเภอเชียงคาน

ฮูปแต้มวัดมหาธาตุ อำเภอเชียงคาน

(ซ้าย) ภาพวิถีชีวิตชาวบ้าน (ขวา) กัณฑ์หิมพานต์

วัดมหาธาตุ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่บ้านเชียงคาน (บ้านท่านาจันทร์เดิม) ประวัติการก่อสร้างไม่ชัดเจนทราบเพียงว่า พญาศรีอรรคฮาด จากหลวงพระบาง ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำโขง แล้วสร้างวัดมหาธาตุขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๑๙๗ ต่อมามีการสร้างวัดใหญ่ (วัดศรีคูณเมือง) ขึ้นทางเหนือของวัดมหาธาตุ

เมื่อเปรียบเทียบลักษณะสิมของวัดมหาธาตุ พบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับสิมวัดศรีคูณเมือง ซึ่งสิมวัดศรีคูณเมืองนี้มีจารึกบอกปีที่ก่อสร้าง คือ “จุลศักราชได้ ๑๑๙๙ ตัว ปีกัดเลาเดือน ๔ เพ็งวัน ๔ ฯ…”

ตรงกับ พ.ศ.๒๓๘๐ จึงสันนิษฐานว่าสิมวัดมหาธาตุน่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ยุคสมัยเดียวกับสิมวัดศรีคูณเมือง ซึ่งก็สอดคล้องกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ในรัชกาลที่สาม คือเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๗๐ หลังสงครามปลดแอกของเจ้าอนุวงศ์ มีการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองเชียงคานเดิม (ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ปัจจุบันคือเมืองสานะคาม) มาไว้ฝั่งขวา โดยตอนแรกให้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่ปากนํ้าเหือง แต่เนื่องจากเป็นภูดอย จึงย้ายเมืองมาอยู่ที่บ้านนาจันทร์คืออำเภอเชียงคานปัจจุบัน สร้างวัดมหาธาตุและตั้งเสาหลักเมืองในบริเวณวัดนั้นเอง

ภาพกัณฑ์ทศพร

ปัจจุบันมีวิหารเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก ผนังนอกด้านหน้าบริเวณเหนือกรอบประตูส่วนที่เป็นจั่ว ยังปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรชาดก

จิตรกรรมนี้ใช้สีแดงเหลืองเป็นพื้น ต่างไปจากฮูปแต้มอีสานโดยทั่วไปที่นิยมใช้สีครามน้ำเงินเป็นพื้น ซึ่งลักษณะการเขียนภาพใช้สีแดงนี้ เป็นประเพณีนิยมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัชกาลที่สาม หรือต้นรัชกาลที่สี่

เทคนิคการระบายสีนั้นจะใช้สีแดงฉ่ำเป็นพื้นหลัง และสีเหลืองดินในส่วนที่เป็นปราสาทราชวัง แสดงสัดส่วนของช่อฟ้าใบระกาและกระเบื้องดินขอด้วยการตัดเส้นสีดำ มีการระบายสีเขียวที่หลังคาในบางส่วน

วาดโขดเขาและต้นไม้ด้วยสีเขียว การระบายสีต้นไม้ใช้เทคนิคประเปลือกไม้และตัดเส้นที่พุ่มใบ เป็นเทคนิควิธีการเขียนภาพที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ ๔ ตอนปลาย เข้าใจว่าเทคนิคนี้คงจะนำมาจากช่างจีน

ภาพเทวดาและตัวพระตัวนางใช้สีเหลืองเป็นพื้น ตัดเส้นเครื่องทรงที่เป็นชฎา มงกุฎ ด้วยสีดำ

ส่วนตัวกากที่เป็นไพร่บ้านพลเมือง โดยมากจะปล่อยเป็นพื้นที่ว่างสีขาว ตัดเส้นเสื้อผ้าและหน้าตาด้วยสีดำ มีบางส่วนที่ระบายสีเสื้อผ้าด้วยสีเขียวหรือแดง การแสดงสีหน้าและอารมณ์ของผู้คน ช่างแต้มทำได้ดีพอใช้

ภาพสัตว์ในจิตรกรรมนี้นับเป็นผลงานชั้นเยี่ยม โดยเฉพาะภาพช้างปัจจัยนาเคนทร์ ภาพเผ่นโผนโจนทะยานของม้า ภาพกระต่าย เป็นต้น

ภาพจิตรกรรมชุดนี้ชำรุดมาก กำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะจากกรมศิลปากร

[ข้อมูลและภาพจาก “สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน (ฉบับเพิ่มเติม) เล่ม ๓” วิมล เขตตะ เรียบเรียง]

***

คอลัมน์ ฮูปแต้มอีศาน นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๐ | มิถุนายน ๒๕๕๙

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

มหัศจรรย์บัวหลวง
แกะรอยคำว่า เงือก
วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com