แหล่งตัดหินบ้านกรวด เปิดปมปริศนาเทวาลัย

แหล่งตัดหินบ้านกรวด เปิดปมปริศนาเทวาลัย

ปราสาทพนมรุ้ง ศิลปะร่วมสมัยนครวัด

ไปเยือนปราสาทหินคราใด คำถามเหล่านี้วนเวียนอยู่ในห้วงคำนึงของผมเสมอ

ช่างแขมร์โบราณตัด ยก ขนย้ายก่อนศิลาทรายหนักเป็นตัน ๆ ได้อย่างไร ? ใช้อะไรขัดให้เรียบ กลึงให้กลม แกะให้งาม  ที่สำคัญในการออกแบบก่อสร้างเทวาลัยขนาดใหญ่เช่นนี้ สถาปนิกผู้รังสรรค์ใช้วัสดุใดเป็น “พิมพ์เขียว”  ในการร่างแบบ ?

ถึงแม้ผมจะเคยไปสัมผัสความอลังการของมหาปราสาทนครวัดมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ยังยืนยันกับใคร ๆ ว่า จะเห็นนครวัดมากี่ครั้งก็ช่างแต่ควรได้ไปประจักษ์ตาในความงามของปราสาทหินทรายสีชมพู นาม “วนัมรุง” หรือพนมรุ้งด้วย เพราะถึงแม้ขนาดของปราสาทพนมรุ้งจะไม่ถึงครึ่งของนครวัด แต่ความวิจิตรบรรจงของงานแกะสลักหินรูป “ศิวนาฏราช” ที่หน้าบัน และรูป “นารายณ์บรรทมสินธุ์” ที่ทับหลังของปรางค์ประธาน ก็ไม่ด้อยกว่าใครในปฐพีอาเซียนเลย

ปราสาทเมืองตํ่า งามที่ซุ้มบันไดลงบ่อนํ้า

เช่นเดียวกับ “ปราสาทเมืองตํ่า” ที่อยู่ไม่ไกลกัน ถึงแม้ตัวปราสาทหรือองค์ปรางค์จะงามไม่เท่าพนมรุ้ง แต่ทีเด็ดของปราสาทหลังนี้อยู่ที่การออกแบบก่อสร้าง “ซุ้มบันได” ลงสระน้ำทั้งสี่สระที่ล้อมรอบปราสาท โดยสมมุติให้เป็นมหานทีสีทันดร สายนํ้าศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลหล่อเลี้ยงเขาพระสุเมรุ-ศูนย์กลางของโลกและจักรวาลตามคติฮินดู

เพียงได้ชื่นชมซุ้มบันไดชุดนี้ ก็นับเป็นบุญตาและคุ้มค่าแล้ว กับการนั่งรถต่อจากพนมรุ้งไปเมืองต่ำอีกแค่ ๗ กิโลเมตรเท่านั้น

จากปราสาทเมืองตํ่า ถ้าคิดว่าชอบหรือหลงรักอารยธรรมแขมร์โบราณเข้าแล้ว ผมอยากแนะนําให้ไปต่ออีกราว ๓๐ กิโลเมตร ไปให้ถึงวัดป่าลานหินตัด อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ เพราะที่นั่น ภายในอาณาบริเวณวัดมีลานหินทรายขนาดใหญ่ปรากฏร่องรอยการตัดหิน ที่ทำให้นักโบราณคดีลงความเห็นว่า เป็นต้นตอของหินทรายสีชมพูที่ใช้สร้างปราสาทพนมรุ้งและเมืองตํ่า อันควรค่าแก่การไปเห็น ไปเรียนรู้ยิ่งนัก โดยเฉพาะกลวิธีตัดหินของช่างแขมร์โบราณ นับเป็นภูมิปัญญาที่น่าทึ่ง

ร่องรอยการตัดหินที่บ้านกรวด

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า วิธีพื้นฐานคือ ใช้สิ่วสกัดหินก้อนใหญ่ให้เป็นร่องตามแนวยาว แล้ว “ง้าง” หินให้แยกออกจากกันด้วยลิ่มเหล็กหรือลิ่มไม้ บางจุดพบร่องรอยการใช้วัสดุขีดลากเส้นตรงไว้ แล้วสกัดหินเป็นรูกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑ นิ้ว ทําเป็นรอยปรุตามแนวเส้นตรงนั้น โดยมีระยะห่างรูละประมาณ ๑ คืบ

จากนั้นก็ใช้ลิ่มไม้ตอกอัดลงในรูที่เป็นรอยปรุดังกล่าว แล้วก็ใช้น้ำราดให้ลิ่มไม้ขยายตัว หินก็จะบิ หรือแยกออกจากกัน โดยหินทรายมีคุณสมบัติที่ดี คือเนื้อแน่น ไม่ร่วนซุยง่าย พอถูกบิหรือแยกออกเป็นก้อน หน้าตัดก็เกือบจะราบเรียบอยู่แล้ว

แต่หินที่จะใช้สร้างปราสาทต้องให้หน้าตัด เรียบจริง ๆ จนประกบกันสนิทได้ จึงต้องมีวิธีการขัดให้เรียบสนิท โดยใช้ทรายโรยที่หน้าตัดของหินก้อนหนึ่ง แล้วพรมน้ำลงไป จากนั้นใช้ปั้นจั่นโบราณยกหินอีกก้อนหนึ่งประกบ แล้วหมุนหินก้อนบนให้เสียดสีกับก้อนล่าง คล้ายการขัดหินด้วยกระดาษทราย จนหน้าตัดของหินก้อนบนและก้อนล่างราบเรียบจนประกบกันได้สนิทในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ หินทุกก้อนที่ใช้สร้างปราสาทจึงต้องมีรูเล็ก ๆ ไว้สำหรับให้ปั้นจั่นหนีบหรือยึดเพื่อการยกขึ้นขัดให้เรียบ หรือยกขึ้นประกอบเป็นองค์ปราสาทนั่นเอง ภูมิปัญญาคนโบราณลํ้าลึกขนาดนี้ ผมถึงบอกว่าคุ้มค่าแก่การไปชมแหล่งตัดหินบ้านกรวดครับ

หมายเหตุ ทางเข้าแหล่งตัดหินบ้านกรวด บ้านสายตรี ๓ ตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ บริเวณทางเข้าแหล่งตัดหิน เป็นที่ตั้ง “วัดป่าลานหินตัด” ซึ่งทางวัดได้จัดแม่ชีท่านหนึ่งไว้เป็นมัคคุเทศก์นำชมแหล่งตัดหิน

แต่ขอย้ำว่า ให้มุ่งตรงไป “วัดป่าลานหินตัด” เท่านั้น อย่าขับรถเลยไปจากวัด เพราะจะเข้าเขตผืนป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด และเข้าใกล้แนวชายแดนไทย-กัมพูชา

แม่ชีมัคคุเทศก์นําชมแหล่งตัดหิน
ประติมากรรมธรรมชาติที่บ้านกรวด
จากแหล่งตัดหินสู่ประติมากรรมวิจิตรตา

***

คอลัมน์ ห้องศิลป์อีศาน นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๔ | สิงหาคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

โลกเปลี่ยน เรียนรู้ อยู่รอด
คําผญา (๑๙) “สุขทุกข์นี้ของกลางเทียมโลก บ่มีไผหลีกล้มลงหั้นสู่คน”
กลิ่นข้าว กลิ่นดอกไม้ กลิ่นธูป และกลิ่นปิศาจ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com