เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๓)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๓)

หลังจากสยามมีการผลิตเหรียญเงินอย่างตะวันตกใช้อย่างเป็นทางการในปี ๒๔๐๓ แต่เงินปลีกที่มีราคาต่ำกว่าหนึ่งไพนั้น ก็ยังใช้เบี้ยหรือหอยเบี้ย ซึ่งเป็นหอยขนาดเล็กที่ได้จากมหาสมุทรอินเดีย ใช้เป็นเงินปลีกมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา โดยอัตราแลกเปลี่ยนของหอยเบี้ยมีตั้งแต่ ๖๐๐-๘๐๐ เบี้ย เป็นหนึ่งเฟื้องแล้วแต่ความขาดแคลนหอยเบี้ย ซึ่งหอยเบี้ยนี้พ่อค้าชาวมลายู นำใส่เรือสำเภามาขาย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ ๔ ทรงมีพระดําริจะให้ยกเลิกการใช้หอยเบี้ย เพื่อให้เงินตราเป็นแบบแผนอย่างตะวันตกทั้งระบบ จึงมีการผลิตเงินตราที่เป็นเหรียญแบนใช้เป็นเงินปลีกโดยบัญญัติหน่วยย่อยเงินตราขึ้นใหม่ได้แก่ โสฬส อัฐ เสี้ยว ซีก ส่วนเงินตราหลักที่ผลิตใช้ก่อนหน้านั้นเป็นขนาด สองไพ เฟื้อง สลึง กึ่งบาท บาท สองบาท

หน่วยย่อยเงินตราที่มีการบัญญัติขึ้นใหม่มีหน่วยโสฬสเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด (ในอดีตหน่วยเบี้ยเล็กที่สุด) โดยมีค่าดังนี้

๒ โสฬสมีค่าเท่ากับ ๑ อัฐ

๒ อัฐมีค่าเท่ากับ ๑ เสี้ยว

๒ เสี้ยวมีค่าเท่ากับ ๑ ซีก (ไพ)

๒ ซีกมีค่าเท่ากับ ๑ เฟื้อง

๒ เฟื้องมีค่าเท่ากับ ๑ สลึง

๔ สลึงมีค่าเท่ากับ ๑ บาท

๔ บาทมีค่าเท่ากับ ๑ ตําลึง

๒๐ ตําลึงมีค่าเท่ากับ ๑ ชั่ง

โดยในปี ๒๔๐๘ มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ ชนิดราคาโสฬสและอัฐขึ้นเงินตราทั้งสองชนิดราคานี้ทำจากดีบุกมีมากทางภาคใต้ของสยาม นอกจากนี้ยังผสมโลหะทองแดงลงไปด้วยเพื่อให้เกิดความแข็งทนทาน ในสมัยนั้นนิยมเรียกเงินตราที่ผลิตจากดีบุกรุ่นนี้ว่า “กะแปะ” ซึ่งน่าจะมาจากชื่อเรียกของเงินปลีกของจีนที่เรียกกันว่า “อีแปะ”

คําว่า “โสฬส” นี้แปลว่าสิบหกซึ่งหมายถึงสิบหกโสฬสเป็นหนึ่งเฟื้อง เหรียญกะแปะชนิดราคานี้ด้านหน้าเป็นรูปพระมหามงกุฎซึ่งเป็นตราประจําพระองค์รัชกาลที่ ๔ ด้านหลังเป็นตราช้างอยู่ในวงจักร บอกราคาหน้าเหรียญไว้ ๓ ภาษาคือ ภาษาจีน  ภาษาอังกฤษ และภาษาไทยโดยเขียนบอกราคาภาษาไทยว่า “สิบหกอันเป็นเฟื้อง” ภาษาอังกฤษว่า “1/16 F”

ส่วนคําว่า “อัฐ” น่าจะเป็นคําที่เรียกขานกันมาช้านาน เช่นในสำนวนไทยมักเรียกเงินตราว่าอัฐ ซึ่งหมายถึงเงินปลีกขนาดเล็ก เช่น อัฐยายขนมยาย เป็นต้น อีกนัยหนึ่งน่าจะแปลว่าแปด ซึ่งหมายถึงแปดอัฐเป็นหนึ่งเฟื้อง กะแปะราคาอัฐนี้ มีลักษณะคล้ายกับชนิดราคาโสฬส แต่มีขนาดใหญ่กว่า ด้านหลังบอกราคาภาษาไทยว่า “แปดอันเป็นเฟื้อง” ภาษาอังกฤษว่า “1/8 F”

และในปี ๒๔๐๘ จึงมีการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ใช้เป็นเงินปลีกอีกสองชนิดราคาคือ ชนิดราคาเสี้ยวและซีก เหรียญทั้งสองราคานี้ผลิตจากโลหะทองแดงผสมกับโลหะสังกะสี และดีบุกอีกจำนวนเล็กน้อย ซึ่งการหลอมโลหะเพื่อผลิตเงินตราที่ว่ามีการเติมส่วนผสมโลหะที่แตกต่างกันไป ทําให้โลหะที่ได้มีสีแตกต่างกัน หากเติมสังกะสีจํานวนมากโลหะที่ได้จะออกสีเหลืองหรือเรียกอีกชื่อว่าทองเหลือง หากเติมน้อยไปโลหะจะออกสีแดงเป็นสีของทองแดง จึงทําให้เงินตราที่ผลิตในชุดนี้ถึงแม้จะมีราคาเดียวกัน แต่มีสีต่างกันคือมีทั้งสีออกแดง ๆ และสีเหลือง

คําว่า “เสี้ยว” นี้เป็นคําที่บอกจํานวนสิ่งของจำนวนเล็กน้อยมาตั้งแต่โบราณ ทุกวันนี้ก็ยังมีการใช้คํานี้อยู่ เช่น เศษเสี้ยว เสี้ยวหนึ่ง เป็นต้น อีกนัยหนึ่งคําว่าเสี้ยวนี้แปลว่าสี่ อันหมายถึงสี่เสี้ยวเป็นหนึ่งเฟื้อง เงินตราชนิดราคาเสี้ยวนี้ด้านหน้าตีตราพระมหามงกุฎเช่นเดียวกับเหรียญกะแปะดีบุก ด้านหลังบอกราคาเป็นทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน บอกราคาเป็นภาษาไทยว่า “สี่อันเป็นเฟื้อง” ภาษาอังกฤษว่า “1/4 F”

ส่วนอีกเหรียญเป็นชนิดราคาซีก คําว่า “ซีก” นี้มีความหมายว่าครึ่ง ซึ่งหมายถึงครึ่งเฟื้องหรือสองซีกเป็นหนึ่งเฟื้อง มีขนาดและนํ้าหนักมากกว่าเหรียญเสี้ยว รูปลักษณ์เหมือนกัน บอกราคาเป็นภาษาไทยว่า “สองอันเป็นเฟื้อง” เป็นภาษาอังกฤษว่า  “1/2 F”

เหรียญชุดราคาโสฬส อัฐ เสี้ยว ซีกนี้ส่วนมากผลิตใช้ในพระนครและรอบพระนคร เมืองที่อยู่ไกลจากพระนครเช่นหัวเมืองทางใต้และหัวเมืองลาว มีไปใช้น้อยมาก เหรียญที่พบว่ามีการผลิตจำนวนมาก คือเหรียญดีบุกชนิดราคาอัฐและโสฬส เนื่องจากว่า เป็นเหรียญเงินปลีกที่ผลิตโดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายคือ ดีบุกที่พบเป็นจํานวนมากทางหัวเมืองทางใต้ของสยาม เหรียญดีบุกรุ่นนี้จึงกระจายออกไปใช้จ่ายได้ไกลพอสมควร บางครั้งพบเจอได้บ้างทางภาคอีสานในปัจจุบัน ซึ่งเหรียญดังกล่าวมากับขบวนของพ่อค้าที่ไปมาระหว่างกรุงเทพฯ และหัวเมืองทางภาคอีสาน

ภายหลังเหรียญชนิดราคาอัฐและโสฬสดังกล่าว มีการปลอมแปลงทําเงินปลอมกันมาก รัชกาลที่ ๕ จึงทรงยกเลิกการใช้เหรียญดีบุกดังกล่าว และผลิตเหรียญที่ใช้เป็นเงินปลีกขึ้นใหม่ โดยใช้หน่วยเดิมคือโสฬส (โสลค) อัฐ เสี้ยว สิ้ก (ซีก) แต่ผลิตโดยใช้โลหะทองแดงทั้งหมด เหรียญชุดดังกล่าวนี้สั่งผลิตมาจากประเทศอังกฤษ ด้านหน้าเป็นพระปรมาภิไธยย่อ จปร อีกด้านเป็นรูปช่อดอกไม้ซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศตะวันตก นิยมเรียกกันว่าชื่อชัยพฤกษ์ บอกราคาหน้าเหรียญและปีที่ผลิตเป็นปีจุลศักราช (จ.ศ.) ไว้ตรงกลางคือ

ราคา สิ้ก (๒ อันเฟื้อง) จ.ศ.๑๒๓๘

ราคาเสี้ยว (๔ อันเฟื้อง) จ.ศ.๑๒๓๖, ๑๒๓๘, ๑๒๔๔

ราคาอัฐ (๘ อันเฟื้อง) จ.ศ.๑๒๓๖, ๑๒๓๘, ๑๒๔๔

ราคาโสฬสหรือโสลค (๑๖ อันเฟื้อง) จ.ศ.๑๒๓๖, ๑๒๔๔

เหรียญชุดทองแดงดังกล่าวนี้ถือเป็นเงินปลีกชุดแรกของสยามที่มีใช้อย่างแพร่หลายออกไปยังหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลพระนคร หัวเมืองแถบอีสานก็เช่นเดียวกัน เหรียญทองแดงรุ่นนี้ได้เข้ามาใช้อย่างแพร่หลายและได้เริ่มเข้ามาแทนที่เงินลาดซึ่งเป็นเงินปลีกที่คนลาวอีสานใช้กันมาแต่เดิม จนภายหลังเงินลาดได้ลดบทบาทลงแต่ก็ไม่ถึงกับยกเลิกใช้ไป ชาวบ้านยังคงใช้เงินลาดร่วมกับเงินตราของสยามอัตราแลกเปลี่ยนก็แล้วแต่จะตกลงกัน เพราะเงินลาดนั้นมีขนาดแตกต่างกันออกไปดังได้กล่าวมาแล้ว เงินตราของสยามที่ได้เข้าไปมีบทบาทอย่างมากในภาคอีสานเป็นเงินตราอีกรุ่นหนึ่งที่ผลิตขึ้นต่อจากรุ่นนี้ และผลิตใช้อย่างต่อเนื่อง ดังผมจะได้เล่าให้ฟังในฉบับหน้าครับ

***

คอลัมน์ รากเมือง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๐ | ตุลาคม ๒๕๕๗

สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท

หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท

ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)

.

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

อีบุค ที่ www.mebmarket.com

Related Posts

ขับ ลำ เพลงลาว
คุยเรื่องพริกกับคนช่างสงสัย
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com