“ข้ามภพ ข้ามชาติ ข้ามศาสตร์ ข้ามตัวบท” : เต้าตามทางอาจารย์ชลธิรา เรียนรู้วิธีวิทยาการศึกษาใน มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง – ธัญญา สังขพันธานนท์

“มาใหม่หมาด ๆ อีกบทที่รอคอย บทวิจารณ์ มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง โดย อาจารย์ธัญญา สังขพันธานนท์

เป็นบทวิจารณ์ที่ค่อนข้างยาว จึงขอตัดแบ่งเพื่อการเผยแพร่ผ่าน Facebook เป็น ๓ ตอน นะคะ

ตอนแรก ว่าด้วย “บทนำ” กับ “สหวิทยาการและบูรณาการ”

ตอนที่สอง ว่าด้วย “ตัวบท สัมพันธ์บท แตกบท”

ตอนที่สาม ว่าด้วย “ชุมนุมยอดทฤษฎีและวิธีวิทยา” กับ “บทสรุป”

ขอขอบคุณ ท่านอาจารย์ธัญญา สังขพันธนนท์ ผู้มีภารกิจมากมาย ทั้งงานสอนด้านที่ท่านเชี่ยวชาญ คือ ด้านวรรณกรรม วรรณคดี และวรรณคดีวิจารณ์; งานในบทบาทนักเขียนรางวัลวรรณกรรมซีไรต์และศิลปินแห่งชาติ; รวมทั้งภาระหน้าที่สำคัญทางการบริหารในตำแหน่งหน้าที่ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. – ชลธิรา สัตยาวัฒนา

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/Csatyawadhna

“ข้ามภพ ข้ามชาติ ข้ามศาสตร์ ข้ามตัวบท” :

เต้าตามทางอาจารย์ชลธิรา เรียนรู้วิธีวิทยาการศึกษาใน

มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง

ธัญญา สังขพันธานนท์

“ การศึกษาแบบ ‘ข้ามภพ ข้ามชาติ’ คือ การก้าวข้าม (Cross)

ทั้ง ‘ในระหว่างเวลา~ในระหว่างพื้นที่’ (in-between space and time)

จาก “ตำนาน” อันคร่ำคร่า (legendary in antiquity )

‘ในห้วงหว่างปรัมปราคติ’ (in-between myth) ที่ลบเลือน

และในชิ้นงานวรรณกรรม “นานาบท” (Inter-Texts) คัดสรร

ที่ปะทะสังสันทน์

ทั้งหมดนี้มี ‘เงื่อนเวลา’ ของ ‘ปมอำนาจ’ เกยก่ายกันอย่างสลับซับซ้อน

ร้อยรักถักทอร่วมกันจนกระทั่ง

“มหากาพย์ชนชาติไท” สำเร็จได้ดังใจหมาย. ”

ชลธิรา สัตยาวัฒนา, มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง บทที่ ๒.

***

บทนำ

หลังจากงานศึกษาค้นคว้า เพื่อสืบสาวความเป็นมาของชนชาติไท /ไต ในงานเขียนทางวิชาการเล่มหนา ที่ชื่อว่า “มหากาพย์ฯ บรรพหนึ่ง: ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท” เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๑ แล้ว ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา หรือ “อาจารย์ชล” ก็ได้เริ่มต้นสืบค้นศึกษาเพื่อสืบสาวความเป็นมาของชนชาติไทในบรรพที่สองโดยไม่รอช้า ชั่วระยะเวลาแค่สามสี่ปี ในขณะที่เราต่างถูกกักขังยาวนานอยู่ใน “คุกโควิด-19” อาจารย์ชลก็ผลิตงานเขียนชุดต่อเนื่องออกมาสู่วงวิชาการอีกครั้งหนึ่ง ในชื่อ “มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง: เต้าตามไต เต้าทางไท” ที่มีความเข้มข้นและอลังการไม่แพ้งานสืบสาวความเป็นมาของชนชาติไท บรรพหนึ่ง ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจัดพิมพ์ และคาดว่าในอีกไม่นานก็คงแล้วเสร็จออกเผยแพร่ในรูปหนังสือเล่มต่อไป

มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง (๒๕๖๕) ถือว่าเป็นงานศึกษารากเหง้าต้นตอของชนชาติไท ภาคต่อจากงานค้นคว้า “ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท” นั่นเอง แต่ในงานชิ้นใหม่ อาจารย์ชลได้มุ่งเป้าไปที่ชนชาติไทกลุ่ม “ไทใหญ่” ดูเหมือนว่าอาจารย์ชลจะวางสมมติฐานไว้ว่า “ไทใหญ่” คือตัวแทนสำคัญของชนชาติไท /ไต ที่กระจายตัวอยู่ทั่วอาณาบริเวณตั้งแต่ตอนใต้ของจีน ไล่ลงมาตามลุ่มน้ำสำคัญหลายสายในดินแดนอุษาคเนย์ หากสืบสาวราวเรื่องของไทใหญ่ ก็จะได้คำตอบเกี่ยวกับต้นตอ ที่มาของชนชาติไททุกกลุ่มอย่างชัดเจน ดังนั้น สิ่งที่ผู้อ่านจะสัมผัสได้เมื่อมีโอกาสได้อ่าน มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง ก็คือ ความพยายามในการ “ถอดรหัส” หรือที่อาจารย์ชลเองใช้ว่า “รหัสนัย” ของชนชาติไทใหญ่ ในหลากหลายมิติ และนี่ก็คือ “จุดเด่น” ของผลงานการค้นคว้าที่มีต้นฉบับหนาหลายร้อยหน้าเล่มนี้ การค้นคว้าหาต้นตอรากเหง้าชนชาติไทตามสมมุติฐานการศึกษาและได้องค์ความรู้ใหม่ คือผลลัพธ์ของงานเขียนเล่มนี แต่การถอดรหัสนัย ซึ่งเป็นเสมือน “กระบวนการ”และวิธีวิทยาในการศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ได้คำตอบดังกล่าว ก็สำคัญไม่แพ้กัน คงกล่าวได้ว่า “สำหรับอาจารย์ชลแล้ว วิธีการในการศึกษา กับผลของการศึกษา ต่างมีความสำคัญทัดเทียมกัน” ก็คงไม่ผิดไปจากความจริงเท่าไหร่นัก และถ้าถามว่า “วิธีการ/กระบวนการ”สำคัญที่อาจารย์ชลใช้ในการศึกษา วิเคราะห์ ตีความ เพื่อ “ถอดรหัสนัย” ไขไปสู่คำตอบของการค้นคว้าเล่มใหม่ของท่านนั่นคืออะไร

อันที่จริงในหนังสือมหากาพย์ชนชาติไท บรรพแรก “ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไทฯ” ผมเคยเขียนถึงประเด็นนี้มาก่อน นั่นคือวิธีวิทยาและบรรดาทฤษฎีที่อาจารย์ชลนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษา ค้นคว้า ซึ่งท่านได้บูรณาการมาใช้อย่างหลากหลายและได้ผลทั้งวิธีวิทยาแบบดั้งเดิมและวิธีวิทยาร่วมสมัย อันเป็นตัวอย่างของการศึกษาแบบสหวิทยาการอย่างแท้จริง ในการสืบสาวรกรากต้นตอของคนไท ในผลงานสืบเนื่องที่กำลังกล่าวถึงนี้ ก็ยังคงวิธีการเดียวกัน ดังนั้น การอ่านงานของอาจารย์ชล จึงไม่เพียงแต่ได้รับความรู้ และองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับที่มาของชนชาติไท แต่ผู้อ่านจะได้เห็นแนวทางและวิธีการในการวางสมมุติฐาน การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ตีความข้อมูลและการนำเสนอไปพร้อมกัน อาจารย์ชล ได้กล่าวถึงวิธีวิทยาในการศึกษา มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง ไว้อย่างย่นย่อว่า “การศึกษาแบบ ‘ข้ามภพ ข้ามชาติ’ คือ การก้าวข้าม (Cross) ทั้ง ‘ในระหว่างเวลา~ในระหว่างพื้นที่’ (in-between space and time) จาก “ตำนาน” อันคร่ำคร่า (legendary in antiquity ‘ในห้วงหว่างปรัมปราคติ (in-between myth) ที่ลบเลือน และในชิ้นงานวรรณกรรม “นานาบท” (Inter-Texts) คัดสรร ที่ปะทะสังสันทน์” ซึ่งเป็นการสรุปวิธีการศึกษาของท่านทั้งหมดในงานเขียนเล่มนี้ แม้จะเป็นการเปิดเผยถึงวิธีการอยู่ในตัว แต่การเปิดเผยนี้กลับซ่อนแฝงรหัสนัยหลายอย่างในเชิงวิธีวิทยา (Methodology and Approaches) ที่ต้องการ การแกะรอย ค้นหาอยู่นั่นเอง

เต้าตามทางอาจารย์ชลธิรา เรียนรู้วิธีวิทยาการศึกษา ในมหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง

เพื่อให้การ “เต้า” ตามทาง หรือการแกะรอยศึกษาวิธีวิทยาในการเขียน มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง มีความชัดเจนขึ้น จะขอตั้งข้อสังเกตวิธีวิทยารวมทั้งเครื่องมือที่อาจารย์ชลระดมมาศึกษา สืบสาวต้นตอชนชาติไท ในสามประเด็นหลัก ๆ คือ ประเด็นแรก ความเป็นสหวิทยาการของการศึกษา ประเด็นต่อมาจะตั้งข้อสังเกตต่อการใช้นานา “ตัวบท” ที่เป็นแหล่งข้อมูลในการไขรหัส ความหมายเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับความเป็นมาของชนชาติไท และประเด็นสุดท้ายคือการระดมสรรพทฤษฎีทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งเปรียบเสมือนฐานคิดทางญาณวิทยาที่เป็นตัวกำหนดวิธีวิทยาในการศึกษาอีกชั้นหนึ่ง

๑. สหวิทยาการและบูรณาการ

ในโลกวิชาการและการศึกษาวิจัยในปัจจุบัน คำว่า “สหวิทยาการ” (inter-disciplinarities) เป็นคำศัพท์ที่เราพบเห็นและคุ้นเคยอยู่บ่อยครั้ง ภายใต้แนวคิดที่ว่า การศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบ ความรู้แม้แต่วิธีการในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในโลกสมัยใหม่นั้น ไม่อาจพึ่งพาวิธีการหรือความรู้จากศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งได้อีกต่อไป หากแต่ต้องบูรณาการองค์ความรู้และวิธีวิทยาในการศึกษาวิจัยจากศาสตร์มากกว่าหนึ่งสาขาขึ้นไป การศึกษาแบบสหวิทยาการและบูรณาการศึกษาจึงเป็นทั้งทฤษฎีและวิธีการใหม่ในการศึกษาวิจัยที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นเป็นลำดับ

นับตั้งแต่งานค้นคว้าเล่มแรก ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไทฯ มาจนถึง มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง: เต้าตามไต เต้าทางไท” อาจารย์ชลเหมือนจะสาธิตให้เห็นวิธีการศึกษาแบบสหวิทยาการและการศึกษาเชิงบูรณาการที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร การศึกษาในแนวทางนี้มีความซับซ้อน และอาศัย “ต้นทุน”ทางวิชาการที่มีอยู่ในตัวผู้ศึกษาค่อนข้างมาก เพราะการศึกษาแบบสหวิทยาการจำเป็นต้องเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และงานเขียนของพวกเขา ผสมผสานสิ่งที่เราเรียนรู้เข้ากับแนวคิดที่ขยายขอบเขตอย่างเหมาะสมของการศึกษาแบบสหวิทยาการ ทฤษฎีและกระบวนการที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น (Newell, 2013) วิธีการเช่นนี้จึงเหมาะที่จะใช้วิจัยโจทย์ที่มีความซับซ้อนดังเช่น การสืบสาวราวเรื่องที่มาของชนชาติไทที่ข้อมูลบางอย่างแทบจะเลือนหายไปกับกาลเวลา นี่คือการขุดค้นทางโบราณคดีด้านมานุษยวิทยาจากประวัติศาสตร์ห้วงยาว เชื่อมโยงมาสู่ห้วงเวลาปัจจุบัน หลักฐานที่อาจารย์ชลใช้ไม่ใช่เศษอิฐ หิน ดิน ปูน หรือ โลหะสำริดเท่านั้น แต่คือร่องรอยความเชื่อ ความคิดและภูมิปัญญาของผู้คนต่างเขตแคว้นแดนดิน ทว่าเชื่อมโยง สืบสายด้วยรหัสนัยทางด้านภาษา วรรณกรรม คติชนวิทยา แบบแผนจารีตประเพณี ในภูมินิเวศทางวัฒนธรรมต่าง ๆ

เนื้อหาแต่ละบทที่อาจารย์ชลตั้งสมมติฐาน จะวิเคราะห์จากข้อมูลที่หลากหลาย เชื่อมโยงไปยังศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา วรรณคดี คติชนวิทยา นิรุกติศาสตร์ วรรณกรรม วัฒนธรรม โบราณคดี การเมือง ไปจนถึงธรรมชาติและนิเวศวิทยา ซึ่งเปรียบเสมือนขอบฟ้าทางวิชาการที่กว้างขวางและลึกซึ้ง ถ้าอุปมาว่าการวิเคราะห์ของอาจารย์ชลคือการถักทอแพรพรรณผืนหนึ่ง ในผ้าผืนนั้นจึงผสมผสานด้วยข้อมูลและองค์ความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ รวมไว้เสมอ ดังตัวอย่างการวิเคราะห์ตอนหนึ่งที่ยกมาให้พิจารณา

“ดังเช่นที่ปรากฏในวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น คือ ลิลิตพระลอ ตอนพระนางนาฏบุญเหลือคร่ำครวญเมื่อทรงทราบว่า พระลอจะ ออกเดินทางไปหาผู้หญิงที่ตนมีความรู้สึกหลงใหล คือ พระเพื่อน พระแพง แม้ว่าจะเป็นลูกหลานของ ‘ศัตรูคู่อาฆาต’ ก็ตาม

คำครวญที่ว่า

‘ใจบ้านดังจะผก หัวอกเมืองดังจะพัง’

ทั้ง

‘ใจบ้าน’ และ ‘หัวอกเมือง’ เป็นโวหารเปรียบเปรย เป็นภาพพจน์ประเภท ‘อุปลักษณ์|อนุนามนัย’ ที่กวีใช้ในที่นี้ ไม่ใช่กวีโวหารที่ประกอบสร้างขึ้นใหม่ หากเป็น ‘รหัสนัย’ ทางสังคม ที่มีการ ‘ฝังรหัส’ ไว้เนิ่นนานในสายวัฒนธรรมร่วมรากของชุมชนพหุสังคมอุษาคเนย์

ถ้าเริ่มจากการพินิจพิเคราะห์รูปการจิตสำนึกที่เป็น ‘รูปธรรม’ เราจะพบว่า คติการ ‘ปลูกเสาเมือง’ มีที่มาเก่าแก่ มีฐานความคิดมาจากระบบความเชื่อและพิธีกรรมว่าด้วยเรื่อง ‘ใจบ้าน~ใจเมือง’ เช่นที่มีการระบุใน “คัมภีร์อาหมปุราญจี” ทั้งของชาวไทในอัสสัม และใน “ความโตเมือง” ของชาวไทดำในเวียดนาม

ประวัติศาสตร์นิพนธ์ล้านนาหลายฉบับก็สะท้อนความคิดความเชื่อในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เช่นมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ในแต่ละสมัยนั้น เมืองในล้านนาได้ตั้ง ‘หลักเมือง’ ขึ้นเมื่อใด ที่ไหนบ้าง อาทิ

* ขุนลัง ตั้งหลักเมืองขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๐๓๗ เมื่อเมืองโยนก นาคพันธุ์เกิดแผ่นดินไหวจนเมืองถล่มกลายเป็นหนองน้ำไป (ตำนานสิงหนวัติกุมาร);

* พระยาลาวเคียง สร้างพระนครใหม่ ตั้งหลักเมืองขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๕๓๔ (ตำนานหิรัญนครเชียงแสน)

จะเห็นได้ว่า จาก พ.ศ. ๑๐๓๗ ถึง พ.ศ. ๑๕๓๔ ระยะเวลาห่างกันถึงร่วม ๕๐๐ ปี ได้มีการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมว่าด้วยเรื่อง ‘หลักเมือง’ คติการตั้งเสา ‘หลักเมือง’ ยังคงธำรงตั้งมั่นอยู่ได้ ทั้งในแง่ ‘รูปสัญญะ’ และยังสิงสถิตอยู่ในก้นบึ้งของระบบความเชื่อดั้งเดิม และสลักแน่นอยู่กับโครงสร้างวัฒนธรรมอันเป็นโครงสร้างส่วนบน แม้ว่าในช่วง ๕๐๐ ปีที่ผันผ่านไป พื้นฐานเศรษฐกิจน่าจะปรับเปลี่ยนไปบ้างแล้ว ก็ตามที

มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง : บทที่ ๔๐.

ในบทวิเคราะห์ตอนนี้อาจารย์ชลได้ยกเนื้อความจากวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น คือ ลิลิตพระลอ เลือกเฉพาะบทครวญของตัวละครเอกยามที่ลูกต้องออกเดินทางจากบ้านเมือง และฉายเฉพาะไปที่ โวหารตอนหนึ่งว่า “ใจบ้านดังจะผก หัวอกเมืองดังจะพัง” โดยชี้ให้เห็นว่า นี่คือโวหารภาพพจน์แบบอุปลักษณ์/อนุนามนัย อันเป็นแนวการวิเคราะห์ในทางวรรณคดีศึกษา จากนั้นก็โยงให้เห็นว่า โวหารดังกล่าวนี้มันมีรากร่วมที่มาจากไหน อย่างไร ซึ่งเข้าไปสู่พื้นที่ของการศึกษาแบบมานุษยวิทยา ว่าด้วยรากร่วมทางวัฒนธรรมของชุมชนคนไทในอุษาคเนย์ ก่อนจะใช้หลักฐานทางตำนานปรัมปรา ประวัติศาสตร์ และปูมบ้านปูมเมืองหลายแห่ง มาเป็นหลักฐานสนับสนุน คำสำคัญที่อาจารย์ชลใช้ในบทวิเคราะห์ตอนนี้คือ “หลักบ้าน หลักเมือง” ว่าเป็นระบบคิดของคนไทกลุ่มต่าง ๆ

คำตอบแค่นี้ยังไม่พอ แต่ยังนำผู้อ่านไปสู่พื้นที่วิเคราะห์โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม ที่อธิบายบนพื้นฐานกรอบคิดของทฤษฎีมาร์กซ์ โดยมอง ‘หลักเมือง’ ว่าเป็น “สัญญะ” ที่ฝังอยู่ในระบบความเชื่อดั้งเดิมของคนไท จนกลายเป็นโครงสร้างเบื้องบน (Super structure) ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจหรือระบบการผลิตเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Base structure)

การวิเคราะห์ ตีความ และอรรถาธิบาย ที่หลอมรวมและเชื่อมโยงไปมาในพื้นที่แบบข้ามศาสตร์ข้ามสาขานี่เอง คือการศึกษาแบบสหวิทยาการ โดยมีการบูรณาการ ซึ่งเปรียบเสมือนกรรมวิธี/สะพานของการเชื่อมโยง หลอมรวมจนได้มาซึ่งคำตอบหรือองค์ความรู้ใหม่ การสังเคราะห์และบูรณาการจึงเป็นลักษณะเด่นและแกนกลางสำคัญของการศึกษาในวิธีนี้ (Newell, 2001) โดยนัยนี้งานสหวิทยาการ จึงมักจะถูกกำหนดให้เกี่ยวข้องกับการบูรณาการวิธีวิทยาของศาสตร์สาขาต่าง ๆ แนวคิด และเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงเกี่ยวกับสิ่งที่ก่อให้เกิดการบูรณาการนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก (Miller, 2005) จึงไม่แปลกที่การศึกษาหลายเรื่องที่อ้างว่า เป็นการศึกษาเชิงบูรณาการและสหวิทยาการมักจะทำได้เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ เท่านั้นเอง

วิธีการศึกษาแบสหวิทยาการและบูรณาการ ที่อาจารย์ชลธิราใช้ อธิบายง่าย ๆ เหมือนกับว่า เมื่อหยิบยกประเด็นหรือหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งขึ้นมาวิเคราะห์หรือถอดรหัส ไม่ว่าจะเป็น สุภาษิต คำพังเพย จารีตประเพณี หรือปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่ง แทนที่จะวิเคราะห์โดยใช้มุมมองเพียงมิติ/ด้านเดียว อาจารย์ชลกลับระดมความคิด วิธีการ หาความเชื่อมโยงไปยังมุมมองของสรรพศาสตร์ที่พอจะเกี่ยวข้อง มาสนับสนุน อธิบาย ไขรหัส ทำให้เห็นว่าประเด็นหรือหัวข้อนั้น ๆ มีความซับซ้อน ซ่อนนัยและลึกซึ้ง มีรากเหง้าที่มาทางประวัติศาสตร์ ตกทอดสืบสานมาสู่ปัจจุบัน ข้ามพื้นที่ เขตแดน ฝังแน่นในระดับโครงสร้างของระบบคิด หรือแม้แต่ในจิตใต้สำนึก ฉายแสงให้เห็นความหมายทางการเมือง วัฒนธรรม และสุดท้ายกลายเป็นองค์ความรู้และหลักฐานที่มาสนับสนุนยืนยันอัตลักษณ์ของชนชาติไท

ดังจะเห็นได้ในเนื้อหา บทที่ ๒๙ : “ลายสักยันต์ ‘เจ้าหอแสง’ กับ วาทกรรมลายสักในสังคมสยาม” อาจารย์ชลหยิบยกข้อความ ลายสักยันต์ “เจ้าหอแสง ยิบแล้ว ขี่เสอ” ซึ่งเป็นข้อความอธิบาย “ลายสัก” ของไทใหญ่ หรือ “ไต” ซึ่งเป็นกลุ่มคนชาติไต ที่อาศัยอยู่ในรัฐฉานของพม่า

เพื่ออธิบายถอดรหัสความหมายของข้อความที่กล่าวถึงลายสักนี้ อาจารย์ชลได้จำแนกแจกแจง ออกมาเป็น “อนุพากย์” ย่อย ๆ อันเป็นวิธีการของมานุษยวิทยาแนวสัญศาสตร์ ดังเช่น อนุพากย์เสือ อนุพากย์เจ้าหอแสง อนุพากย์ยิบแล้ว ฯลฯ ดังเช่น

รหัสนัยของลายสัก “เจ้าหอแสง ยิบแล้ว ขี่เสอ”

ความหมายระดับลึกของลายสักนี้ เกี่ยวพันกับไสยเวท ซึ่งเป็นความเชื่อระดับโครงสร้างเบื้องลึก

ท่านอาจารย์ชายชื้น คำแดงยอดไตย ได้สืบค้นและอธิบายให้ความเข้าใจไว้ในระดับหนึ่ง (อาจมีนัยยะที่ลึกซึ้งกว่านี้ หากวิจัยให้ลุ่มลึกต่อไป) ดังนี้:

“เจ้าหอแสง ยิบแล้ว ขี่เสอ” คือ

‘เจ้าแห่งพระราชวังอันงามระยับ ประดับด้วยเพชรพลอยอัญมณีอันมีค่า ผู้หยิบดาบขึ้นมา ขี่หลังเสือ’

คำเรียก ‘เจ้าหอแสง’ มีนัยยะเฉพาะตามความเชื่อแบบไต หมายถึง

‘พระเจ้าจักรพรรดิ’ [เป็นคำที่อาจารย์ชายชื้นใช้]

ผู้เขียนแปลเป็นสำนวนภาษาที่ใช้กันในสังคมไทยว่า

‘จักรพรรดิราช ควงดาบทั้งสองพระหัตถ์ ประทับบนหลังเสือ’

เสริมการวิเคราะห์ความหมายของลายสักนี้ ด้วยวิธีวิทยามานุษยวิทยาแนวสัญศาสตร์ โดยการศึกษาวิเคราะห์ ‘อนุพากย์’ ต่างๆ ในลายสัก “เจ้าหอแสง ยิบแล้ว ขี่เสอ” แล้วถอดรหัสของข้อความอันมีนัยยะสำคัญข้างต้น ได้ความหมายระดับต่าง ๆ ดังนี้:

๑. อนุพากย์ เสือ:

‘เสือ’ ในบริบทนี้คือ ‘เสือโคร่ง’

บางถิ่นไทเรียกว่า ‘ละว้าย ก่ายก๋อน’

(ตรงกับที่ทางไทยเรียก ‘เสือลายพาดกลอน’)

*‘เสือโคร่ง’ อาศัยอยู่ในป่าทึบของเอเชีย เดิมมีจำนวนนับไม่ถ้วน แต่ปัจจุบันเบาบางลงจนนับตัวได้ในแต่ละผืนป่า เพราะความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ กับการถูกไล่ล่าโดยน้ำมือมนุษย์ แม้จะได้รับการขึ้นบัญชี ‘สัตว์ป่าสงวนพันธุ์’ ไว้แล้วก็ตาม

ความนิยมที่มีต่อความองอาจสง่างามของ เสอ~‘ละว้าย ก่ายก๋อน’

~เสือโคร่ง นั้น มีสูงมาก นำมาซึ่งความนิยมที่มีต่อ ‘ลายสักรูปเสือ’

โดยเฉพาะในหมู่ชาวไต (รวมถึงชายไทยปัจจุบันด้วย)

ลายสักนี้เป็นรูปสัญญะดั้งเดิมที่มีความหมายลึกซึ้ง ยิ่งสำหรับชาวไต

(ไทใหญ่) ด้วยแล้ว ถือว่าเป็นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์และสูงส่ง

เป็นภาพตัวแทนของจิตวิญญาณอิสระแห่งเอกราช ความวีรอาจหาญ

ความภาคภูมิใจและทรนงในศักดิ์ศรี ‘ความเป็นไต’

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความสง่างามรักอิสระของเสือโคร่ง ซึ่งแฝงไว้ด้วย

เสน่ห์แห่งความลึกลับ เนื่องจากวิถีธรรมชาติของ ‘เสือโคร่ง’

มีลักษณะพิเศษเฉพาะตนคือ มักจะเดินเตร่ด้นไพรเพียงลำพัง ในป่าเขาพงลึก”

มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง : บทที่ ๒๙.

การถอดรหัสนัยของลายสักชาวไทใหญ่ในตอนนี้ นำไปสู่คำตอบให้เห็นอย่างน้อยสองประการด้วยกัน คือ

หนึ่ง: ลายสักเป็นสัญญะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ประการหนึ่งชาวไทใหญ่ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

สอง: แสดงถึงนัยความหมายทางการเมือง ร่องรอยความยิ่งใหญ่ ความเป็นอิสระ และความทระนงในศักดิ์ศรี

อาจารย์ชลอธิบายผ่านอนุพากย์แต่ละอนุพากย์ ตีความโดยผ่าน รูปสัญญะที่ปรากฏทั้งรูปภาพและตัวหนังสือ เชื่อมต่อกับความหมายหลายมิติ ที่ถ้าอ่านอย่างธรรมดาก็อาจมองไม่เห็นความหมายที่ลึกลงไปอีกชั้น เช่น การให้ความหมายเชิงนิเวศของ “เสือลายพาดกลอน” ในข้อความ

“*‘เสือโคร่ง’ อาศัยอยู่ในป่าทึบของเอเชีย เดิมมีจำนวนนับไม่ถ้วน แต่ปัจจุบันเบาบางลงจนนับตัวได้ในแต่ละผืนป่า เพราะความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ กับการถูกไล่ล่าโดยน้ำมือมนุษย์ แม้จะได้รับการขึ้นบัญชี ‘สัตว์ป่าสงวนพันธุ์’ ไว้แล้วก็ตาม”

การวิเคราะห์ในลักษณะนี้ ถ้ามองโดยผิวเผินอาจมองว่าเป็นการตีความแบบลากเข้าความของผู้เขียนในบางครั้ง แต่ถ้าพิจารณาให้รอบด้านและลึกลงไปจะเห็นได้ว่า การถอดรหัสความหมายก็ดี การตีความก็ดี แท้จริงแล้วกระทำบนพื้นฐานของกรอบทฤษฎีมากกว่าหนึ่งทฤษฎี ไม่ว่าจะเป็นมานุษยวิทยาแนวโครงสร้าง การวิเคราะห์แนวสัญศาสตร์ ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ จนถึงทฤษฎีการวิจารณ์เชิงนิเวศ นี่คือวิธีการของสหวิทยาการและบูรณาการศาสตร์อย่างชัดเจน โดยวิธีการเช่นนี้ จึงทำให้ได้คำตอบในหลากหลายมิติ กล่าวอีกทาง สหวิทยาการนั้นกระทำในระดับญาณวิทยาของศาสตร์สาขาต่าง ๆ นำมาหลอมรวม เชื่อมโยงจนกลายเป็นความสัมพันธ์ที่เสริมกัน หรือการสร้างความสัมพันธ์ที่คล้ายคลึงกัน เมื่อนำความสัมพันธ์ของสหสาขาในระดับแนวคิดมาใช้ ทำให้เกิดมิติความรู้ความเข้าใจ ที่ยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน

*****

โปรดติดตามตอนต่อไป

Related Posts

มหากาพย์เต้าทางไท
เปิดตัวหนังสือ “มหากาพย์ชนชาติไทฯ”
กำหนดการงาน ~ “สู่ขวัญสุวรรณภูมิ” เสวนาวิชาการ เล่าขานเรื่องราวสุวรรณภูมิ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com