Dam~Tao Dialogue 1 บทวิจารณ์มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง “เต้าตามไต เต้าทางไท”

Dam~Tao Dialogue 1

บทวิจารณ์มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง “เต้าตามไต เต้าทางไท”

โดย ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

เมื่อต้องรีดเลือดออกจากหินใน “มหากาพย์ชนชาติไท” 

ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

​ปัญหาอย่างหนึ่งของงานโบราณคดีโดยทั่วไปคือ การอธิบายความหมายและนัยยะของโบราณวัตถุให้เกินระดับพื้นผิวของวัตถุ โดยมากทำได้แค่เพียงอธิบายว่าโบราณวัตถุแบบเดียวกันนี้พบที่ไหนบ้าง ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นฐานของงานโบราณคดี (และประวัติศาสตร์ศิลปะ) นั้นตั้งอยู่บนการศึกษาเชิงรูปแบบ (Form/Formalism) เป็นหลัก อาจมีบ้างที่พยายามจะถอดสัญญะความหมายแต่ก็เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เช่น รูปนกที่อยู่บนกลองมโหระทึกก็ตีความว่าเป็นนกส่งวิญญาณ แต่ไม่สามารถไปได้ไกลกว่านั้น เช่นเรื่องด้ำ (บรรพชน) เพราะขาดเครื่องมือสำคัญไปอย่างหนึ่ง คือความรู้ทางด้านภาษาและศาสตร์แห่งภาษา เพื่อจะเข้าใจรหัสนัยในตำนานและวรรณกรรม ซึ่งทิ้งร่องรอยที่เชื่อมโยงกับโบราณวัตถุและสถานที่ต่าง ๆ ไว้มากมาย

​มหากาพย์ชนชาติไท บรรพที่สอง “เต้าตามไต เต้าทางไท” ของ อาจารย์ชลธิรา อาจกล่าวได้ว่า เป็นทั้งสะพานและแสดงวิธีการที่ช่วยเชื่อมต่อให้ “วัตถุ” (Material) กับ “ตัวบท/เนื้อความ” (Text) เข้าด้วยกัน  ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำกับทั้งรูปทรงและความหมายของวัตถุคือ จักรวาลทางความคิดของผู้สร้างวัตถุทางวัฒนธรรมให้เกิดขึ้น  ซึ่งหนังสือเล่มนี้พยายามสืบสร้างและรื้อถอนสิ่งต่าง ๆ จนทำให้เห็นว่า วรรณกรรม บทกลอน ชื่อเฉพาะ ชื่อบุคคล และคำศัพท์บางคำนั้น คือ กุญแจ/สะพานที่ทำให้เราเข้าใจความหมายเกินกว่าระดับพื้นผิวของวัตถุ

ความไม่ง่าย และความไม่ยากในการอ่าน

​ก่อนที่จะไปสู่เรื่องโบราณคดี ต้องกล่าวด้วยว่า การอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ง่าย เพราะประการแรกคือ ความยาวของหนังสือ (แค่ต้นฉบับความหนา 1311 หน้าแล้ว) ทำให้ต้องใช้พลังและสมาธิอย่างมหาศาล เพื่อจะจดจำสาระสำคัญ คำศัพท์ ชื่อบุคคล และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อทำให้เกิดการปะติดปะต่อของเนื้อหาได้ และไม่หลุดไปจากประเด็นที่ อ.ชลธิรา เสนอ  บางบทบางตอนก็เปรียบเสมือนกับการไหลของสายธารแห่งความรู้ และเหมือนได้ฟังเพลงจากนักดนตรีที่ด้นเพลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและปฏิภาณไหวพริบอย่างสูง  มหากาพย์เรื่องนี้จึงดุจการฟังเพลงวงออเคสตร้าที่มีเครื่องดนตรีหลายชิ้น แต่ในท้ายที่สุดแล้วต่างก็ประสานกันออกมาเป็นเพลงที่ยิ่งใหญ่ 

ประการที่สอง ไม่ง่ายสำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามงานด้านไทศึกษา และเรื่องของไทใหญ่ (ไต/ไตโหลง)  โชคดีหน่อยที่ครั้งหนึ่ง ผมเคยอยู่ในหมู่บ้านไทใหญ่ที่บ้านถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน  อีกทั้งเส้นทางชีวิตยังทำให้ต้องขุดค้นเวียงเจ็ดลิน (ริน) จ.เชียงใหม่  ต้องอ่านวรรณกรรมและทำวิจัยเรื่องลัวะ เรื่องจามเทวี เรื่องพระเจ้าอู่ทอง เรื่องกลองมโหระทึก  รวมถึงทำรายงานตอนเรียนปริญญาโท ที่จุฬาฯ เรื่องพงศาวดารไทยใหญ่  ไม่นับรวมการอ่านงานของ อ.ชลธิรา มาก่อนหน้านี้อีกบางส่วน  ประสบการณ์ทั้งหมดนี้เองที่ทำให้การอ่านต้นฉบับหนังสือ มหากาพย์ชนชาติไท บรรพที่สอง “เต้าตามไต เต้าทางไท” ค่อนข้างอ่านได้เร็วและปะติดปะต่อได้เร็วว่า “จักรวาล” ทางความคิดของผู้เขียนนั้นคืออะไร  ดังนั้น ถ้าหากท่านอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วไม่เข้าใจในบางประเด็น ขอให้ท่านเก็บประเด็นดังกล่าว แล้วไปอ่านหนังสืออื่นๆ ในวงที่เกี่ยวข้อง แล้วกลับมาอ่านมหากาพย์ชนชาติไทฯ ใหม่อีกครั้ง ท่านจะทำความเข้าใจจักรวาลทางความคิด และความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “มหากาพย์” ได้ชัดเจนขึ้น

ประการที่สาม ไม่ง่ายสำหรับผู้ที่ไม่มีคุ้นเคยงานด้านภาษาศาสตร์และนิรุกติศาสตร์ เพราะอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่างานนี้ตีความเชื่อมโยงไปไกลมาก จนอาจตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ของข้อเสนอต่าง ๆ  แต่จากประสบการณ์บางส่วนที่เคยทำงานด้านโบราณคดีภาษาศาสตร์มาบ้างของผม งานของ อ.ชลธิรา กำลังเชื่อมโยงให้เราเห็นเส้นใยบางอย่างของชนชาติไทที่ทิ้งและเก็บไว้ในภาษาอย่างน่าสนใจ และมีความเป็นไปได้  ถึงบางเรื่องตัวผมเองจะตั้งคำถามอยู่บ้างก็ตาม  แต่ในเรื่องนี้มันก็คงเหมือนกับสำนวนของนักโบราณคดีว่าบางครั้งเราก็ต้อง “รีดเลือดจากหิน” (มาจากสำนวน “รีดเลือดกับปู”)  ซึ่งในขั้นตอนของการรีดเลือดจากหินนี้ อ.ชลธิรา จึงต้องใช้เครื่องมืออีกหลายอย่าง ไม่สามารถเขียนแบบเล่าเรื่องปกติได้เพียงอย่างเดียว

นอกเหนือไปจากความรู้ทางภาษาศาสตร์ที่เน้นทางอรรถศาสตร์แล้ว อ.ชลธิรายังได้ดึงแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) เข้ามาใช้ด้วย เพื่อที่จะทำให้เข้าใจทั้งสัญญะ รหัสนัย และอื่น ๆ อีกมากที่ซ่อนหลบอยู่ในวรรณกรรม บทกวี คำศัพท์  ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นความรอบรู้อย่างมหาศาลของ อ.ชลธิรา ที่เชื่อมโยงทั้งปรากฏการณ์ในอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน

ที่ต้องบอกผู้อ่านว่า งานนี้อ่านไม่ง่าย ไม่ใช่ต้องการลดทอนความสำคัญของงานนี้ลง แต่ต้องการชี้ให้ผู้อ่านเข้าใจว่า หนังสือเล่มนี้เรียกร้องให้ผู้อ่านต้องมีวงความรู้ระดับหนึ่งเพื่ออ่าน แต่ก็ไม่ยากถึงกับต้องปีนบันไดอ่าน  ที่สำคัญด้วยคือท่านจะได้เห็นถึงกลวิธีการใช้และการเชื่อมโยงความรู้หลายศาสตร์ องค์ความรู้เรื่องไทที่มหาศาล และที่สำคัญความรู้เกี่ยวกับชาวไทใหญ่ที่หาอ่านไม่ได้ง่าย ๆ ที่ไหน โดยเฉพาะที่มาจากปราชญ์ชาวไทใหญ่คือ อาจารย์ชายชื้น คำแดงยอดไตย

เสือที่หายไปจากกลองมโหระทึก

มหากาพย์ชนชาติไท บรรพที่สอง “เต้าตามไต เต้าทางไท” (2565) เป็นหนังสือที่เน้นการสืบค้นเรื่องราวของชาวไทใหญ่  เป็นภาคต่อกับหนังสือ ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท (2561) ของ อ.ชลธิรา  อีกทั้งยังเป็นการสานต่อและบทสนทนาบางอย่างกับ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ (พิมพ์ครั้งแรก 2519) ของจิตร ภูมิศักดิ์  เพื่อให้เข้าใจต้นตอต้นกำเนิดของคนไท/ไต  แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากงานของจิตรก็คือ หนังสือของ อ.ชลธิรา ได้ช่วยทำให้เราเข้าใจจักรวาลทางความคิดและความเชื่อของชนชาติไท ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากจิตร ที่ต้องการชี้ให้เห็นถึงการต่อสู้ทางชนชั้นของชนชาติต่างๆ ผ่านชื่อเรียกทางชาติพันธุ์ (Ethnonym) และปฏิเสธคำอธิบายแบบภารตาภิวัตน์ (Indianization) เช่น การตีความให้ สยาม/ศยาม แปลว่า ดำ เหมือนที่ปรากฏในงานของหลวงวิจิตรวาทการเรื่อง งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย  (2512)  ดังนั้น ถ้าหากมองกันในภาพใหญ่ หลังจากยุคของจิตรแล้ว การสืบค้นคำอย่างถึงแก่น (นิรุกติศาสตร์) ก็แทบไม่มีอีก  ที่สำคัญด้วยก็คือ ด้วยความรู้ทางภาษาของ อ.ชลธิรา ทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงกับภาษาจีน ออสโตรเอเชียติค และออสโตรนีเชียน ซึ่งเท่ากับเป็นการดีเบตกับแนวคิดภารตาภิวัตน์ไปพร้อมกัน

ชื่อของชาวไทใหญ่ หรือที่คนทางล้านนาเรียกว่า “เงี้ยว” (เป็นคำเหยียด) รู้จักกันมาเนิ่นนาน  ถ้ามองจากเอกสารประวัติศาสตร์ในภาคกลาง คนในสมัยอยุธยายังมีความทรงจำถึงการร่วมรากทางวัฒนธรรมกับชาวไทใหญ่ ดังปรากฏในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ หลังจากนั้นสังคมไทยก็รู้จักไทใหญ่มากขึ้นอีกครั้งนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา อันเป็นผลมาจากการเข้ามาของอาณานิคมตะวันตก และต่อมาคือในยุคชาตินิยม ทำให้ต้องสืบค้นและสร้างชุดความรู้ขึ้นมา  งานศึกษาเกี่ยวกับไทใหญ่ขึ้นลงเป็นพักๆ ตามกระแสของสังคม  แต่เมื่อสำรวจกันไปแล้ว จะพบว่างานส่วนใหญ่เป็นงานประวัติศาสตร์ คือ เน้นประวัติความเป็นมา ไล่เรียงไปตามระยะเวลาของเหตุการณ์  แต่ไม่มีงานด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยามากนัก  งานส่วนใหญ่เทไปทางไทยน้อยเสียมากกว่า ด้วยหลาย ๆ ปัจจัย  ดังนั้น มหากาพย์ชนชาติไท บรรพที่สอง “เต้าตามไต เต้าทางไท” ซึ่งเป็นงานที่พยายามศึกษาเรื่องไทใหญ่/ไต จึงเป็นงานที่ช่วยทำให้เรา (นักโบราณคดี) เห็นรหัสบางอย่างที่เชื่อมโยงระหว่างภาษา ตัวบท และวัตถุทางวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจจักรวาลทางความคิดความเชื่อของชนชาติไตในอดีต (กระทั่งปัจจุบัน)

ประวัติศาสตร์ของชนชาติไตนั้นกินเวลายาวนาน บางท่านอาจมองว่าเป็นตำนาน จนอาจดูห่างไกลจากความเป็นจริง  แต่ช่วงเวลาที่เป็นตำนานนี้หากสืบย้อนกันแล้วก็อาจไปได้ไกลถึงในสมัยก่อนประวัติศาสตร์  ชาวไทใหญ่มีระบบคิดในเรื่องของการจัดแบ่งยุคสมัย (periodization) ในแบบของตนเอง เช่น การใช้คำว่า “เพรางาย” ที่ อ.ชลธิรา หยิบยืมมาใช้ ให้หมายถึง ‘ยุคอรุณรุ่งของชนชาติไท’ อันเป็นช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์  ซึ่งเมื่อผมอ่านก็ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่า ทำไมเราจึงไม่สร้างคำศัพท์เพื่อใช้เรียกช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของคนในภูมิภาคนี้ขึ้นมาเอง แต่กลับไปอิงกับกรอบคิดแบบตะวันตกที่อิงกับสังคมแบบลายลักษณ์อักษร

ในช่วงเวลาเพรางาย หรือ สมัยแรกเริ่มของชนชาติไทนี้ ในมุมมองของนักโบราณคดีแล้ว มีโบราณวัตถุที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่งที่อธิบายระบบความเชื่อดั้งเดิมของอุษาคเนย์ได้เป็นอย่างดีคือ “กลองมโหระทึก” หรือในบางวัฒนธรรมเรียก “กลองกบ”  กลองนี้ไม่ได้ใช้กันเฉพาะในกลุ่มไท แต่ยังพบในอีกหลายกลุ่มชาติพันธุ์  อ.ชลธิรา นอกจากจะถอด รหัสสัญลักษณ์บนกลองให้เราได้เห็นในหนังสือเล่มนี้แล้ว (และเล่มก่อนหน้านี้ด้วย) ยังได้เชื่อมโยงให้เห็นถึงอิทธิพลของความเชื่อดังกล่าว ที่สัมพันธ์กันไปกับการพัฒนาขึ้นของสังคมระดับเมือง ก่อนเมือง หรือกระทั่งที่ยังตกค้างอยู่ในสังคมไทย (สยาม)

ในตำนานนิทานของไทใหญ่เรื่อง “พยัคฆ์เสือเผือก” ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ของ อ.ชลธิรา มีเรื่องเล่าสั้นๆ ที่ผมพอสรุปมาได้ว่า พยัคฆ์เสือเผือกมีลูก 4 คน โดยแต่ละคนให้ครอบครองสิ่งของแตกต่างกัน  ได้แก่ 1) เสือกอฟ้าครอบครอง “ฆ้อง” (ต่อมาสร้างเมือง กองญี)  2) เสืองันฟ้าได้ “มีด”  3) เสือยันฟ้าได้ “นกยาง”  4) ส่วนลูกคนสุดท้อง เสือหาญฟ้าให้ไปขอเมืองจาก “พญาพยัคฆราช” ซึ่งต่อมาได้สร้างเวียงเสือ  หากเราอ่านนิทานนี้ก็คงดูเป็นเรื่องปรัมปราทั่วๆ ไป แต่ในสายตาของนักมานุษยวิทยา-นักอักษรศาสตร์อย่าง อ.ชลธิรา แล้ว ได้ลอกตำนานนี้ออกเป็นชั้นๆ และเชื่อมโยงให้เราเห็นสิ่งอื่น ที่นอกเหนือจากการอธิบายแค่บางเรื่องที่สายตาของนักโบราณคดีหรือคนทั่วไปอาจมองเห็นอย่างตรงไปตรงมา

เรื่องการครอบครองฆ้องของเสือกอฟ้านี้ คงมีนัยถึงการครอบครองเมืองก๋อง/ก้อง เป็นเมืองกอง คือกลองมโหระทึกนั่นเอง  เพราะพบกลองแบบดองซอนจำนวนมากที่ “สือไจ้ซาน” บริเวณทะเลสาบเตียนฉือ (คุนหมิง) ด้วยในเขตนี้เป็นเขตของวัฒนธรรมเตียน (Dian culture)  คนกลุ่มนี้ถูกขับไล่โดยราชวงศ์ฉิน (221-206 ก่อน ค.ศ.) ต่อเนื่องด้วยฮั่นตะวันตก (206 ก่อน ค.ศ. – ค.ศ.9) ซึ่งพวกคนในตระกูลไท/ไตเวลานั้นก็คือ หนึ่งในกลุ่มที่จีนเรียกว่า “ไป่เยวี่ย”

กลองมโหระทึกนี้สร้างขึ้นในวัฒนธรรมยุคที่คนใช้โลหะกันแล้ว  ดังนั้น มีดที่เสืองันฟ้าครอบครองนั้นก็คือ เมืองมีด  มีดนั้นเป็นเครื่องที่ใช้สำหรับการทำสงคราม และอื่นๆ  การค้นพบโลหะนี้เองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนานใหญ่ในภูมิภาค  นักโบราณคดีจำนวนมาก เช่น ปีเตอร์ เบลล์วูด (Peter Bellwood) เชื่อว่า การเกิดขึ้นของยุคเหล็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่นั้นสัมพันธ์กับการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนไท

ลวดลายสำคัญอย่างหนึ่งบนหน้ากลองมโหระทึกก็คือ “นก”  นกตัวนี้เถียงกันมากในหมู่ของนักโบราณคดีจีนกับเวียดนาม  นักโบราณคดีจีนว่าเป็นนกกระเรียน นักโบราณคดีเวียดนามว่าเป็นนกกระยาง ในตำนานนิทานข้างต้นจะเห็นได้ว่าเป็นนกกระยาง  แต่ไม่ว่าจะเป็นนกอะไร นกคือสัตว์สำคัญที่เชื่อว่าสามารถนำพา “ขวัญ” (หรือวิญญาณ) ของผู้ตายเดินไปสู่ฟ้า ซึ่งเป็นที่อยู่ของพญาแถน  ความเชื่อนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในกลุ่มคนบนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มชาวออสโตรนีเชียนบางกลุ่มด้วย ซึ่งเชื่อว่าเป็นนกเงือก  นกจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเชื่อดั้งเดิมและมีความศักดิ์สิทธิ์  จึงมีบางกลุ่มที่นับถือ “ด้ำนก” หรือเชื่อว่าบรรพชนเป็นนก หรือในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์จึงแต่งกายเป็นนก เช่น มโนห์รา เป็นต้น 

ตามคำพูดของ อ.ชลธิรา กลองมโหระทึกจึงเป็นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมที่เป็นจุดรวมศูนย์ของความเชื่อเกี่ยวกับต้นกำเนิด จักรวาลทัศน์ โลกทัศน์ ระบบความเชื่อ และอุดมการณ์ของผู้คนและชุมชนในสังกัดอยู่ด้วย  แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ไม่ปรากฏในแง่ของระบบสัญลักษณ์บนกลอง หรือในเชิงวัสดุก็คือ “เสือ” ซึ่งเป็น “ด้ำ” ที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนในกลุ่มไทใหญ่ที่ไปเชื่อมโยงกับกลองมโหระทึกอย่างมีนัยสำคัญ  แต่ปรากฏอยู่ในตำนานนิทาน และนามของกษัตริย์  ด้วยเหตุนี้เอง จึงให้ลูกคนสุดท้ายของพยัคฆ์เสือเผือกไปสร้างเมืองเอาเองและได้สร้างเมืองเสือขึ้น  เสือจึงเป็นตัวแทนของระบบการเมือง (Political organization)  ดังนั้น เสือจึงเป็นสิ่งที่ไม่เห็นบนกลองมโหระทึก แต่มีหน้าที่ควบคุมระบบความเชื่อ

อ.ชลธิราชี้ให้เห็นว่า กลุ่มชาวไทใหญ่เป็นกลุ่มที่นับถือ “ด้ำเสือ” มาเนิ่นนาน ดังปรากฏในนามของกษัตริย์ทั้งในบทกวี ตำนานและในพงศาวดาร  ข้อเสนอของ อ.ชลธิรานั้น มีเรื่องเล่าว่า ชาวไตกำเนิดมาจากเสือ  ส่วนไทน้อยกำเนิดมาจากนาค  ดังเห็นได้จากนิทานที่เล่าว่า โอรสพญานาคได้ไปเที่ยวป่าที่ดอยมุงเมืองแล้วไปเจอลูกสาวของพญาเสือเผือก จึงหลงรักและมีลูกหลานกัน  เรื่องเล่านี้จึงไม่ได้มีแค่ “ด้ำเสือ” เท่านั้น แต่ยังมี “ด้ำนาค”  นาคก็คือ งู  งูที่ว่านี้ก็คือกลุ่มไทน้อย ซึ่งก็คือกลุ่มไทในเขตลุ่มน้ำโขง (ของ) และเจ้าพระยานั่นเอง  ชื่อเมืองที่สำคัญคือ “โยนกนาคพันธุ์สิงหนวัตินคร” จึงเป็นร่องรอยความสัมพันธ์ของด้ำเสือและด้ำนาค ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ร่วมกันบนเกลียวเชือกของเครือญาติและพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรม

ด้วยความเชื่อนี้เองได้ส่งต่อลงมาในแง่ของวัฒนธรรมด้วย  ทำให้หนุ่มชาวไตเมื่ออายุได้ 15-16 ปี จะมีการสักหมึกที่ขาเป็นรูปเกล็ดพญานาคและรูปเสือ  ซึ่งลายสักก็คือ สัญลักษณ์ของเผ่า ไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงาม หรือสักเพื่อให้ดูน่าเกรงขามเท่านั้น และลายสักนี้เองที่กลายมาเป็นอัตลักษณ์ของ “ลาวพุงดำ” หรือ ไทใหญ่  ประเพณีการสักนี้ถือได้ว่าเป็นของกลุ่มตระกูลไท จึงทิ้งร่องรอยไว้ในขุนช้างขุนแผน  กระทั่งการสักในปัจจุบัน มันจึงเป็นเหมือนกับสำนึกทางโครงสร้างบางอย่าง  แต่การสักนี้ก็ไม่มีเฉพาะในกลุ่มไทเท่านั้น ยังพบในพี่น้องทางภาษาอีกสองกลุ่มที่สำคัญคือ ออสโตรเอเชียติคและออสโตรนีเชียนอีกด้วย 

ความเข้าใจเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ ในหมู่นักโบราณคดีกระแสหลัก เพราะไม่มีความรู้มากนักเกี่ยวกับนิทานตำนาน  ยิ่งความรู้ทางภาษาศาสตร์ด้วยแล้ว ยิ่งน้อยมาก  งานของ อ.ชลธิรา จึงแสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนและตรวจตราอย่างละเอียดด้วยวิธีการแบบนักภาษาศาสตร์แนวอรรถศาสตร์ปริชาน  แต่ในขณะเดียวกันก็ผสมผสานความรู้ด้านมานุษยวิทยาและโบราณคดี ทำให้เกิดการเชื่อมโยงโยงใยดังสายใยของแมงมุมจนสามารถสกัดเลือดจากหินออกมาได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเสือจะสำคัญในกลุ่มของไทใหญ่ แต่ก็น่าสังเกตว่าในยุคต้นๆ ไม่พบโบราณวัตถุที่ทำเป็นรูปเสือในเขตรัฐฉาน (ไทใหญ่) จะพบก็แต่ในสมัยราชวงศ์ฉิน (Qin) และในเขตหุบเขาซามอน (Samon Valley) ใกล้กับเมืองพุกาม  หรือนี่อาจเป็นร่องรอยของกลุ่มไทใหญ่ด้วย  วันข้างหน้าเมื่อมีการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีในวันที่ประเทศพม่า (เมียนมาร์) การเมืองดีกว่าทุกวันนี้ เราอาจได้พบหลักฐานที่เชื่อมโยงกันชัดเจนขึ้น

“สามขา” โยงใยด้วย “สามเส้า” 

​คำถามหนึ่งของนักโบราณคดีเกี่ยวกับหม้อสามขาที่พบที่บ้านเก่า กาญจนบุรี รวมถึงอีกหลายจังหวัดไล่ตั้งแต่บ้านเก่าลงมาถึงมาเลเซียนั้นคือ ทำไมจึงไม่พบวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ในพื้นที่ระหว่างกาญจนบุรีจนถึงจีนเลย จนนำไปสู่แนวคิดว่า หรือคนพวกนี้อพยพเคลื่อนย้ายกันมาทางทะเล  อีกคำถามหนึ่งด้วยก็คือ ทำไมต้องสามขา ทำไมไม่สี่ขา และขานั้นมีประโยชน์อะไร (ซึ่งดูจะเป็นมุมมองในเชิงประโยชน์หน้าที่ / Functionalism)

อ.ชลธิรา เชื่อว่ากลุ่มคนไทก่อตัวในช่วงปลายหินใหม่ (เกี่ยวกับข้าว) ต่อยุคโลหะระยะต้น ตั้งแต่ในเขตแม่น้ำฮวงโห (ฮวงเหอ) เห็นได้จากการกระจายตัววัฒนธรรมหม้อสามขา เช่น วัฒนธรรมหยางเส้า และหลงชาน อายุ 6,000-4,000 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นสังคมที่ปลูกข้าวฟ่าง เลี้ยงสัตว์ ทอผ้า แปงเรือนมีหลังคา ภาชนะดินเผาลายต่างๆ  คำอธิบายแบบนี้ถ้าไปอ่านงานของนักโบราณคดีจีนก็อาจจะไม่พูดถึงกลุ่มคนไท/ไต เพราะในโลกทัศน์ของจีนนั้น แม่น้ำฮวงโหคือถิ่นดั้งเดิมของจีน

เมื่อหลายเดือนก่อนผมเริ่มคิดเกี่ยวกับหม้อสามขา จึงได้เปิดข้อมูลในอินเตอร์เน็ตทั้งของจีนและอังกฤษ ทำให้พบว่า หม้อสามขาในยุคหินใหม่นั้นสืบเนื่องลงมาเป็นจอกเหล้าและหม้อสามขาสำริดในสมัยราชวงศ์โจว ราชวงศ์ฉิน ใช้กันเฉพาะกับคนสูงศักดิ์ มักใส่เหล้า ซึ่งในสมัยโบราณ เหล้าเป็นของชั้นดี มีราคา เพราะต้องเป็นสังคมที่มีผลผลิตส่วนเกิน (surplus) เท่านั้นจึงจะผลิตเหล้าได้  ดังนั้น ใครที่กินเหล้าจึงต้องเป็นคนมีฐานะในสมัยโบราณ  เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงทำให้ในหลุมศพมีการฝังหม้อสามขาลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม มีข้อคาใจผมอยู่อย่างหนึ่งคือ ที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร จ.สุพรรณบุรี ปรากฏว่าเจอศพบางโครงฝังขาหม้อ (ของหม้อสามขา) ลงไปด้วย  แต่ก็เป็นปกติของนักโบราณคดีในไทยที่มักจะไม่ได้ตีความมาก นอกจากการรายงานสิ่งที่พบ ซึ่งเรื่องนี้เราเข้าใจได้ เพราะการตีความนั้นอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงในบางครั้ง  แต่ด้วยนิสัยส่วนตัว ทำให้ผมคิดว่าในเมื่อหม้อสามขาเป็นของพิเศษในจีน  ดังนั้น ขาหม้อก็คงใช้เพื่อบ่งบอกสถานภาพทางสังคมของผู้ตายนั่นเอง – นี่คือวิธีคิดแบบนักโบราณคดีที่เอาแนวคิดเรื่องสังคมช่วงชั้น (Ranking society) ตามแบบลัทธิมาร์กซ์ (Marxism/-ist) เข้ามาจับ

แต่เมื่อได้มาอ่านงานของ อ.ชลธิรา ก็ได้เพิ่มแง่มุมทางความคิดให้กับผม เพราะขาหม้อนั้นไม่ใช่แค่ขาที่พัฒนามาจากก้อนเส้า  ไม่ได้บ่งบอกแค่เรื่องสถานภาพทางสังคมของผู้ตายเท่านั้น  แต่อาจเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องการกำเนิด  อ.ชลธิรา เชื่อมโยงให้เห็นว่า ขาหม้อดั้งเดิมในจีนนั้นมีความคล้ายคลึงกันกับ “เต้า” หรือ “เต้านม” ของผู้หญิง  ดังนั้น ด้วยวิธีการตีความทางสัญวิทยา (Semiology) ของ อ.ชลธิรา  จึงอธิบายว่า “เต้า” หรือ “ขาหม้อ” นี้คือ สัญญะของผู้หญิง  เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ผมก็ถึงบางอ้อว่า ขาหม้อที่อยู่กับศพนั้นคงเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิด วางกับศพฝังกับศพเพื่อให้คนตายไปสู่การกำเนิดใหม่  เพราะเต้าคือที่ผลิตน้ำนม ซึ่งให้ชีวิต  เรื่องนี้จึงเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับตำนานน้ำเต้าปุงด้วย  ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า หลวงวิจิตรวาทการนั้นในงานเรื่องงานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย ในบทประวัติศาสตร์ไทยลานช้าง (ลาว) นั้น ท่านก็ได้เคยเสนอไว้เช่นกันว่า “น้ำเต้าปุง” ในตำนานกำเนิดมนุษย์นั้น แท้จริงแล้วหมายถึงเต้านมเช่นกัน (ดูได้ใน งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย พิมพ์โดยสร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549: หน้า 137)

​กลับมาที่คำถาม ทำไมจึงไม่พบวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ในพื้นที่ระหว่างกาญจนบุรีจนถึงจีนเลย  เหมือน อ.ชลธิรา จะช่วยไขความลับนั้นให้แล้วว่า บางครั้งเมื่อเรายังไม่สามารถหาวัตถุทางวัฒนธรรมได้พบ  แต่คำว่า “สามเส้า” ที่ปรากฏร่องรอยในนิทาน ตำนาน บทกวี และความเชื่อ ก็อาจเป็นกุญแจดอกหนึ่งที่ช่วยอธิบายการเคลื่อนย้ายของคนในวัฒนธรรมหม้อสามขา  แม้ว่าหม้อสามขาจะดูเป็นเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ แต่พลังความเชื่อของมันนั้นดูเหมือนจะสืบทอดลงมาจนกระทั่งในสมัยอยุธยา ซึ่ง อ.ชลธิรา ได้ชี้ให้เห็นถึงร่องรอยบางอย่างที่ปรากฎในลิลิตโองการแช่งน้ำ ความว่า “เจ้าผาดำ สามเส้า ช่วยดู แสนผี พึงยอมท้าวฯ” ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความละเอียดอ่อนของการตามรอยความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มตระกูลไท/ไต

เปลี่ยนรูปแปรธาตุ จากหินสู่ไม้

​อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญในทางโบราณคดีคือ เรื่อง “หินก้อนปางเมือง” ซึ่งปรากฏใน ตำนานจามเทวีวงศ์ โดยเป็นหมุดหมายของการสร้างเมือง  การให้ความสำคัญกับหินในฐานะหมุดหมายสำคัญนี้มีความเกี่ยวโยงกันกับวัฒนธรรมหินตั้ง (Standing stone) หรือ วัฒนธรรมหินใหญ่ (Megalithic culture)

​วัฒนธรรมหินตั้งที่คนไทยคุ้ยเคยกันดีนั้นก็คือ การบูชาใบเสมา (สีมา) ซึ่งมีรากย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยทวารวดี  ดังพบกระจายทั่วไปในเขตภาคอีสาน และสืบทอดมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  เช่นที่พบในเขตหัวพันห้าทั้งหก ประเทศลาว หรือในไทยที่เด่นชัดคือ ที่บ้านวังประจบ อ.เมือง จ.ตาก อายุ 2,500 ปี ซึ่งผู้วิจารณ์เป็นคนขุดค้นเมื่อปี 2554  หรือในภาคเหนือก็พบหลายแห่งเช่นในลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เป็นต้น  วัฒนธรรมหินตั้งนี้พบกระจายทั่วอุษาคเนย์ทั้งภาคพื้นแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ สัมพันธ์กับคนหลายกลุ่ม ไม่ใช่แค่เฉพาะไทเท่านั้น  มีทั้งลัวะ/ละเวือะ คะฉิ่น ออสโตรนีเชียน อีกหลายกลุ่ม จึงเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนในภูมิภาคนี้  เป้าหมายของคนโบราณที่ทำหินตั้งพวกนี้ขึ้นมาก็คือเพื่อเป็นหมุดหมายสำหรับการรำลึกถึงบรรพชน ใช้บูชาผี เป็นหินปักหลุมศพ บ่งบอกพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และสื่อสารกับเทพเจ้า

​ร่องรอยของการบูชาหินศักดิ์สิทธิ์นี้พบในกลุ่มวัฒนธรรมไตด้วย  ดังเห็นได้จากที่ อ.ชลธิรา ได้อธิบายว่า ใจบ้านมักอยู่กลางชุมชน เดิมทีทำเป็นหลักหิน หรือ ก้อนเส้า (สามเส้า)  ต่อมาพัฒนากลายมาเป็นเสาไม้ หรือบ้างใช้ต้นไม้  เสานี้เองที่ต่อมากลายเป็นเสาหลักเมือง  แต่เรื่องนี้อาจทำให้คนสับสนได้ว่า ไทใหญ่มีการสร้างเสาหลักเมืองแบบกรุงเทพฯในทุกที่  เท่าที่เคยเห็น ปกติแล้ว “ใจบ้าน” ของไทใหญ่ในเมืองไทยนั้นมักจะเป็นก้อนหิน หรือ เสาไม้  ส่วนในพม่ามักเป็นต้นไม้ใหญ่ (พบมากในรัฐฉาน) เป็นหลัก แสดงว่าน่าจะมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เกิดความแตกต่างกันของไทใหญ่สองเขต  แต่ก็ยังคงอยู่ในระบบที่ อ.ชลธิรา เสนอ

นอกจากนี้แล้ว ขอเสริม จากประสบการณ์ของผู้วิจารณ์ที่เห็นได้ชัดเจนว่า หลักหินพัฒนามาเป็นเสาไม้นั้น คือกลุ่มชาวลัวะ/ละเวือะในแม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่  ซึ่งเดิมปักหินบนหลุมศพของ “สะมัง” (สมัง) (ผู้ปกครองที่สืบสายตระกูลศักดิ์สิทธิ์ คนเมืองเรียก ขุน)  ต่อมาจึงใช้เสาไม้ที่เรียกว่า “เสานาม” และเสาหลักบ้านที่เรียกว่า “สะก้าง” (สะกั้ง)  ดังนั้น การบูชาหินศักดิ์สิทธิ์นี้คงเป็นวัฒนธรรมร่วมกันตั้งแต่ยุคหินใหม่ในกลุ่มไท-กะได (ขร้า-ไท) ออสโตรเอเชียติค และออสโตนีเชียน ซึ่งต่างก็มีการแตกสาแหรกกันออกไป  แต่มีแกนความเชื่อร่วมกันว่า หมู่บ้านหรือเมือง ต้องมีแก่นแกนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ  ยกระดับความเชื่อก็เปรียบได้กับแกนของจักรวาล แต่เป็นในทัศนะของคนพื้นเมืองมิใช่จักรวาลแบบเขาพระสุเมรุ

เส้นทางการเคลื่อนย้ายทางบก (Overland Route)

เมื่อสักสองเดือนก่อน ผมต้องสอนเรื่องการเคลื่อนย้ายของคนไทในวิชาประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  หลังจากอ่านงานเกี่ยวกับคนไท และประวัติศาสตร์จีนมาสักระยะ จึงเกิดความคิดว่า การเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนไท/ไตนั้นสัมพันธ์กับปัจจัยการเคลื่อนย้ายลงมาของจีนสู่ตอนใต้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น และการค้าที่เติบโตขึ้นหลายช่วงเวลาทั้งจากการค้าไหม และการค้าชา ที่ต้องการเชื่อมโยงระหว่างจีนกับอินเดีย  คนไทจึงกลายเป็นพ่อค้าทางบกที่เชื่อมเส้นทางระหว่างสองรัฐ/ดินแดนนี้  ข้อเสนอบางเรื่องนี้สอดคล้องกับที่ อ.ชลธิรา เขียนในบทแรก ๆ เกี่ยวกับราชวงศ์ฮั่นตะวันตกและตะวันออกที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มไป่เยวี่ย ซึ่งเป็นบรรพชนคนไทและไม่ไท

โดยส่วนตัว จะสังเกตได้ว่า กลุ่มไทใหญ่เคลื่อนย้ายในแนวตะวันตก-ตะวันออกในเขตที่เป็นภูเขาลัดเลาะไปตามที่ราบระหว่างหุบเขา โดยกระจายตัวหนาแน่นในเขตลุ่มน้ำสาละวิน  และด้วยสำนึกของกลุ่มที่ตระกูลไตที่พบกับแม่น้ำโขง (ของ) มาก่อนจึงได้เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า แม่น้ำคง  เขตดังกล่าวนี้นักวิชาการปัจจุบัน (เช่น James C. Scott) ถือว่าเป็นเขต “โซเมีย” (Zomia) หรือในทางภูมิศาสตร์เรียกว่า “Southeast Asian Massif”  พื้นที่เชิงเขาของ Southeast Asian Massif นี้เองที่เป็นเส้นทางการเคลื่อนย้ายของกลุ่มไทใหญ่  แม้ว่าในสายตาของคนปัจจุบันจะดูเป็นดินแดนทุรกันดารห่างไกล เข้าถึงได้ยาก จนคนหนีรัฐหลบเข้าไปอยู่ กลายเป็นทฤษฎี (ของ Scott) ที่ถูกพูดถึงเมื่อหลายปีที่ผ่านมา แต่มันจะเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ในเมื่อกลุ่มชาวไทใหญ่ได้เคลื่อนย้ายกินอาณาบริเวณกว้างและตั้งสังคมระดับบ้านเมืองขึ้นมาในเขตดังกล่าวบนฐานของความสมบูรณ์ทั้งทางธรรมชาติ ทรัพยากร และมีพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาเหมาะกับการทำนา (ถึงแม้ว่าจะทำได้แค่ในระดับเลี้ยงชุมชนและเมืองขนาดเล็ก) ทำให้กลุ่มไทใหญ่เลือกที่จะปักหลักในเขตรัฐฉานไปไกลจนถึงอาหม  การเคลื่อนย้ายดังกล่าวนี้จึงมีทิศทางและเป้าหมาย ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีหนีตายหนีการรุกรานเพียงอย่างเดียว

อ.ชลธิรา ได้อธิบายว่า คนในกลุ่มวัฒนธรรมเตียน และไป่เยวี่ย ได้ถูกทหารจีนสมัยราชวงศ์ฉิน (221-206 ก่อน ค.ศ.) ต่อเนื่องด้วยฮั่นตะวันตก (206 ก่อน ค.ศ. – ค.ศ.9) เกณฑ์แรงงาน ทำสงคราม กดดัน จนทำให้เกิดการเคลื่อนตัวลงมาทางใต้ของจีนจนถึงเวียดนาม  ซึ่งนี่อาจเป็นระลอกแรกของการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่  และนำพาวัตถุทางวัฒนธรรมบางอย่างแพร่กระจายไปตามที่ต่างๆ ด้วย  หนึ่งในนั้นที่สำคัญก็คือ กลองมโหระทึก พร้อมกับทิ้งร่องรอยทางวัฒนธรรมที่เป็นเสาหิน เสาไม้ และการบูชาด้ำเสือ รวมถึงเรื่องเล่าที่สะท้อนให้เห็นถึงการปะทะเข้ากับวัฒนธรรมที่อยู่มาก่อนหน้านี้ที่บูชานาค บูชาแลน เป็นต้น

คำอธิบายเรื่องแรงกดดันของจีนนี้ ไม่ใช่ความพยายามในการกลับไปสู่พล็อตเรื่องแบบเก่า ๆ ยุคชาตินิยม  แต่เป็นการอธิบายจากความเป็นไปได้ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มี เพราะยุคนี้ไม่ใช่ยุคหลวงวิจิตรวาทการอีกแล้วที่แรงกดดันจากจีนจะทำให้เกิดการยั่วยุทางอารมณ์ของผู้อ่านได้  จากจดหมายเหตุจีนพบว่า เมื่อ 111 ก่อน ค.ศ. ราชวงศ์ฮั่นบุกรุกหนานเยว่ (Nanyue) เข้าไปในเขตกวางสี, กวางตุ้ง, และลงมาจนถึงเวียดนามเหนือ  สาเหตุที่จีนให้ความสำคัญกับทางใต้นี้ก็เป็นผลมาจากผลประโยชน์ทางการค้าที่เติบโตอยู่ในเขตทะเลใต้  แต่ในไม่ช้าก็มีการต่อต้านพวกฮั่นใน ค.ศ.43  กลุ่มคนไทเคลื่อนย้ายจากจีนหลายระลอก เช่นในสมัยราชวงศ์ซ่ง ได้ขยับย้ายเมืองหลวงลงมาในเขตแม่น้ำแยงซี ตั้งราชวงศ์ซ่งใต้ขึ้น และเจริญในช่วง ค.ศ.1127–1279 (พ.ศ.1670-1822)  ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นช่วงที่กลุ่มไทใหญ่ได้แยกตัวออกไปกลายเป็นกลุ่มไทอาหม  การเคลื่อนย้ายนี้อาจมีปัจจัยทางการค้าหรืออื่นๆ มากกว่าจะเป็นแรงกดดันทางการเมืองจากจีน  คนกลุ่มนี้ไปในฐานะของนักรบ (เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มคนไทกลุ่มอื่น ๆ ที่มีตำนานรุกรานผู้อื่น) ชื่อของกษัตริย์จึงยังสืบด้ำเสือ  หลังจากราชวงศ์ซ่งใต้ พวกมงโกลแห่งราชวงศ์หยวนก็ยกทัพข้ามแม่น้ำแยงซีมาอีกระลอก ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนไทอีก  ซึ่งกลุ่มของพระยามังราย สายตระกูลเจือง จึงได้เคลื่อนย้ายจากเชียงรุ่งลงไปตั้งเมืองเชียงใหม่ในที่สุด

การเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนไทนี้ดูจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีหลายระลอก และไปในฐานะของนักรบ  เมื่อพิจารณาในทางโบราณคดีแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าคิดว่า วัฒนธรรมของกลุ่มคนไทนี้เมื่อเข้าไปในดินแดนต่างๆ แล้ว เข้าไปในลักษณะของการแทนที่ (Replacement) หรือเป็นลักษณะของการผสมผสาน (Assimilation) กับวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม  ซึ่งน่าสนใจที่จะมีการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อเข้าใจวัตถุทางวัฒนธรรมพวกนี้ในอนาคต  งาน อ.ชลธิรา นั้นได้ชี้ให้เห็นว่าอาจมีทั้งสองแบบ  ดังนั้น การศึกษาภาษาก็ดี และตำนานนิทานก็ดี จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการสร้างแนวคิดทฤษฎีทางโบราณคดี  หรืออย่างน้อยที่สุดคือการใช้เพื่อพินิจหลักฐานที่พบจากการขุดค้น  เพราะถึงแม้มันจะจับต้องไม่ได้ แต่มันคือชีวิตและลมหายใจของวัตถุแบบหนึ่งที่เป็นสะพานเชื่อมต่อกับงานโบราณคดี

ทิ้งท้าย

หากข้ามพ้นเรื่องหน้าที่นิยม แต่มองวัตถุทางวัฒนธรรมว่าเกิดขึ้นจากแรงผลักดันทางความคิด ความเชื่อ หรือโลกทัศน์  การทำความเข้าใจ “จักรวาลทัศน์” (Cosmology) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากต่องานโบราณคดี เพราะจะช่วยทำให้เข้าใจ “เครือข่าย” ทางความคิดที่ถักทอคล้ายกับสายใยของแมงมุม  ซึ่งแม้ว่าจะมีเส้นมากมาย แต่ถักทอเชื่อมโยงกัน และมีระบบระเบียบบางอย่างของมันอยู่ 

มิติความเข้าใจแบบนี้จะช่วยทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของวัตถุทางวัฒนธรรมแต่ละชนิด  ไม่ใช่เป็นการศึกษาเชิงเดี่ยวที่ทำให้มักแยกขาดงานวรรณกรรมไปทาง คติชนไปทาง โบราณคดีไปทาง  หรือในสเกลของงานโบราณคดีเองที่เมื่อเจอกลองมโหระทึกก็แยกอธิบายว่าเป็นวัฒนธรรมดองซอน (ดงเซิน) เจอหินตั้งก็แยกไปว่าเป็นเรื่องยุคหินใหม่ เป็นวัฒนธรรมหินตั้ง แยกไปต่างหาก  เจอหม้อสามขาก็แยกไปอีกวัฒนธรรม  ทั้ง ๆ ที่ทั้งหมดนี้ต่างเกี่ยวพันกันอยู่ในบางห้วงมิติเวลา  มีการหยิบยืมกัน  อาจมีความต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่องในบางชั่วขณะ  ซึ่งมหากาพย์ชนชาติไทฯกำลังกระตุ้นเราให้ต้องคิดทบทวนว่า การมองวัตถุทางวัฒนธรรมทั้งในช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์หรือประวัติศาสตร์นั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องเริ่มจากการเข้าใจจักรวาลทัศน์เสียก่อนจึงจะเชื่อมโยงสิ่งละอันพันละน้อยได้  และไม่ควรมองวัตถุแต่เพียงรูปทรงภายนอกระดับพื้นผิวอีกต่อไป  ทั้งหมดนี้จึงจะช่วยทำให้เข้าใจการเคลื่อนย้ายและปฏิสัมพันธ์ของผู้คนไปพร้อมกันด้วย

Related Posts

เปิดตัวหนังสือ “มหากาพย์ชนชาติไทฯ”
กำหนดการงาน ~ “สู่ขวัญสุวรรณภูมิ” เสวนาวิชาการ เล่าขานเรื่องราวสุวรรณภูมิ
หนังสือ ๓ เล่มชุด “มหากาพย์ชนชาติไท : เต้าตามไต เต้าทางไท”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com