“ข้ามภพ ข้ามชาติ ข้ามศาสตร์ ข้ามตัวบท” : เต้าตามทางอาจารย์ชลธิรา เรียนรู้วิธีวิทยาการศึกษาใน มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง (2) – ธัญญา สังขพันธานนท์

“ข้ามภพ ข้ามชาติ ข้ามศาสตร์ ข้ามตัวบท” :

เต้าตามทางอาจารย์ชลธิรา เรียนรู้วิธีวิทยาการศึกษาใน

มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง (2)

ธัญญา สังขพันธานนท์
แบบร่างปกหนังสือ “มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง”
โดย สำนักพิมพ์ทางอีศาน
Front cover (draft) of THE TAI EPICS
(Publication on process)

ตอนที่สอง : ตัวบท สัมพันธบท และแตกบท

คำว่าตัวบท (text) ที่จะกล่าวถึงในตอนนี้ มีความหมายอ้างถึงอยู่สองระดับ ระดับแรก ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน เพราะหมายถึงแหล่งข้อมูลที่อาจารย์ชลใช้ในการศึกษา วิเคราะห์เพื่อค้นหาความหมาย การเชื่อมโยงข้อมูล หลักฐาน การถอดรหัสนัยจากข้อมูลนั้น ๆ เพื่อหาคำตอบตามสมมุติฐานที่วางไว้

ส่วนความหมายระดับที่สอง เป็นความหมายเชิงวิชาการ ที่เราคุ้นเคยกันในวงวรรณคดีศึกษา ตัวบท ในความหมายนี้ แต่เดิมรับรู้และจำกัดเฉพาะตัวบทวรรณกรรม เช่น วรรณคดี เรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์ สารคดี เป็นต้น

ในวงวรรณคดีศึกษาแนวดั้งเดิม เรามักใช้คำว่า “ตัวบท” (text) ควบคู่กับคำว่า “บริบท” (context) ดังนั้นทฤษฎีวรรณคดีหลายทฤษฎีจะเน้นการศึกษาวิเคราะห์ตัวบทโดยพิจารณา “บริบท” ควบคู่กันไปด้วย ดังเช่นการศึกษาวรรณคดีตามแนวปฏิฐานนิยม (positivism) จะให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างตัวบทกับบริบทเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น

การศึกษาวรรณคดีแนวประวัติศาสตร์ แนวอัตชีวประวัติ จะยึดหลักว่า วรรณคดีไม่ได้สร้างในสูญญากาศ แต่สร้างขึ้นมาในบริบททางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง การจะทำความเข้าใจตัวบทวรรณคดีให้ถ่องแท้ จะต้องพิจารณาบริบทประกอบไปด้วย แต่พอมาถึงยุคของนักวิจารณ์แนวรูปแบบนิยม (formalism) หรือการวิจารณ์แนวใหม่ (New Criticism) กลับยกชูตัวบทวรรณคดีว่าเป็นสิ่งสมบูรณ์แบบในตัวเอง การศึกษาวรรณคดีจึงไม่ต้องสนใจบริบททั้งหลายทั้งปวง เรื่องนี้นักศึกษาวรรณคดีก็รู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว และยังรู้อีกว่า เมื่อมาถึงยุคของนักทฤษฎีโครงสร้างนิยม และหลังโครงสร้างนิยม ความหมายของตัวบทแบบเดิมได้เปลี่ยนไป

แนวคิดเรื่องตัวบทที่เปลี่ยนไป สืบเนื่องมาจากความคิดของนักโครงสร้างนิยมที่เห็นว่า นอกจากถ้อยคำ (word) แล้ว สัญญะ (sign) และสัญลักษณ์ (symbol) ทุกประเภท ก็นับว่าเป็นภาษาได้ทั้งสิ้น ในทำนองเดียวกับที่นักคิดหลังโครงสร้างนิยมได้มีแนวคิดต่อการอ่านว่า สิ่งที่เราอ่านได้นั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่หนังสือ หรือสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมทั้งมวลอีกด้วย (Cavallaro 2001 : 59) นั่นหมายถึงว่า อะไรก็ตามที่เราสามารถอ่านและตีความได้ก็นับเป็นตัวบทได้ทั้งสิ้น นักคิดสำนักหลังโครงสร้างนิยมอย่าง โรลองด์ บาร์ตส์ และจูเลีย คริสเตวา ได้ยืนยันในเรื่องนี้อย่างหนักแน่น พวกเขากล่าวถึงตัวบทในสามระดับ

ระดับแรก: พวกเขายอมรับตัวบทในขอบเขตพื้นที่ที่กว้างและหลากหลายมากขึ้น เช่น ตัวบทวรรณคดี สื่อ วัฒนธรรมสมัยนิยม แฟชั่น ศิลปะ ฯลฯ;

ระดับที่สอง: พวกเขาเห็นว่า ตัวบทที่หลากหลายนี้นำไปสู่การขยายขอบเขตของการศึกษาแบบสหวิทยาการ ไม่ว่าจะเป็น วรรณคดีวิจารณ์ วัฒนธรรมศึกษา การศึกษาแนวสัญศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลป์ จิตวิเคราะห์ เพศสภาวะศึกษา ความหลากหลายของแนวทางวิธีวิทยา (approaches) การศึกษานี้ ชี้ให้เห็นว่าผลผลิตทางวัฒนธรรมใด ๆ ก็ตาม สามารถจัดเป็นตัวบทได้;

ระดับที่สาม: ทั้งบาร์ตส์และ คริสเตวา ต่างได้ทดลองศึกษาจากตัวบทที่หลากหลาย จนได้ข้อสรุปมาสู่แนวคิดเรื่อง สัมพันธบทหรือ สหบท (intertextuality) ที่ว่า ไม่มีตัวบทใดที่เป็นอิสระและมีความสมบูรณ์แบบในตัวเอง แต่ตัวบทหนึ่ง ๆ จะดูดซับ (absorb) และถ่ายแปลง (transform) มาจากตัวบทอื่น ๆ เสมอ (Cavallaro 2001 : 59-60) บาร์ตส์จึงเน้นว่า ตัวบททุกตัวบทมีความเป็นสัมพันธบท มีลักษณะที่สัมพันธ์กับตัวบทที่มาก่อนหน้า หรือตัวบทที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรม เป็นเสมือนเนื้อเยื่อของการอ้างอิงที่มีมาก่อนหน้า (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร 2545 : 215)

เหตุที่หยิบยกเอาเรื่องของ “ตัวบท” มาเป็นประเด็นหนึ่งในการ “เต้าตาม” วิธีวิทยาในการศึกษา มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง เพราะเห็นว่าการใช้ตัวบทในการศึกษาของอาจารย์ชลนั้น มีลักษณะเด่นอยู่ ๒ ประการ คือ มีการใช้ตัวบทหลากหลายรูปแบบและประเภทในการวิเคราะห์ตีความ และอาจารย์ชลเองก็มองตัวบทในฐานะสัมพันธบทเช่นเดียวกัน (อาจารย์ชลใช้ว่า นานาบท – inter text) ทั้งสองลักษณะนี้ ถือว่าเป็นวิธีวิทยาที่แข็งแรงมากและเป็นเหมือนขุมทรัพย์สำคัญในการทำงานศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้และสอดรับกับการศึกษาที่มีความเป็นสหวิทยาการดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น

เราจะเห็นได้ว่าในแต่ละบทของการวิเคราะห์ อาจารย์เริ่มต้นด้วยสิ่งที่เรียกว่า “คำพังเพย” ขึ้นมาเกริ่นนำให้เห็น คำพังเพยนี้ส่วนใหญ่จะมาจากคำพังเพยของไทใหญ่ จากนั้นก็จะเข้าสู่บทที่เป็นเนื้อหา เราจึงเห็นวิธีการของอาจารย์ชลว่า เริ่มต้นที่ “ตัวบท”ก่อนเสมอ ดังตัวอย่าง

คำพังเพย บทที่ ๔ ‘ตื๊นเก่าเหง้าปู่ยี่สองหม่อน’

ใช้คั่นหน้าบทที่ ๔ ลีกลายไตกับความล่องคง

တိုၼ်း ၵဝ်ႇ ငဝ်ႈ ပူႇ ယီႈ သွင် မွၼ်ႇ

ตื๊น เก่า เหง้า ปู่ หยี้ สอง หม่อน

ต้นเชื้อ เก่า เหง้า ปู่ ยี่ สอง ทวด

(ต้นเชื้อเก่าโคตรเหง้าของปู่ยี่ ทวดทั้งสอง)

ဢွၼ် ၽႄႈ တိူၼ်း ၾိူဝ်း လၢမ်း ႁွတ်ႈ လၢႆ မိူင်း၊

อ๋อน แผ้ เติ๊น เฟ้อ ล้าม ฮอด หลาย เมิ้ง,

นำ แผ่ ยื่น แตก ลาม ไป หลาย เมือง

(นำพาเผยแผ่ไปอย่างกว้างขวางหลายเมือง)

ႁေႃ ၶမ်း ပူၵ်း ၽႅင်၊ ႁေႃ သႅင် ၶတ်း လူမ်း ယူႇ ႁင်း ၵွႆး၊

หอ ค้ำ โป๊ก แผง, หอ แสง คัด ล้ม หยู่ ฮั้ง ก๊อย,

หอ คำ ปก แผง หอ แสง คัด ลม อยู่ รั้ง คอย

(หอคำตั้งขึ้นพร้อมกับหอแสง [อัญมณี หยกเพชรพลอย] ต้านลมอย่างอิสระ)

ၼႂ်း ထုင်ႉ ယွႆး ၾိူဝ် ပိူင်ႇ ၸိုင်ႈ ပၢၼ် မိူဝ်ႈ သိုၼ်း ၵွၼ်ႇ။

นะอื๊อ ทุ่ง ย้อย เฝอ เปิ่ง จื้ง ป๋าน เหม้อ ซื้น ก่อน.

ใน ทุ่ง พู่ห้อย เปีย ครอบงำ ประเทศ ปางเมื่อวานซืนก่อน

(ในทุ่งที่ราบโล่งที่คนเปียผมเป็นพู่ห้อยขึ้นปกครองประเทศในอดีตนานมาแล้ว)

สิ่งที่อาจารย์ชลเรียกว่า “คำพังเพย” ในบทนี้ คือกลุ่มข้อความที่เรียกว่า “ความล่องคง” ซึ่งมีความหมายเชิงเปรียบเทียบ เป็นวาทะหรือถ้อยแถลงที่มีนัยความหมายหลายอย่างแฝงอยู่ มีถ้อยคำที่เป็นคำสำคัญ หรือที่อาจารย์ชลเรียกว่า “กุญแจคำ” (key word) บรรจุอยู่ และถูกนำเสนอด้วยตัวเขียนที่เป็นอักษรไทใหญ่ ตามมาด้วยการถอดเสียงออกมาเป็นคำอ่านในภาษาไทย จากนั้นก็แปลความหมายตามคำแต่ละคำ แล้วจึงเรียบเรียงเป็นคำแปลในภาษาไทย ถ้าเราเอาคำแปลภาษาไทย (ในวงเล็บ” มาเรียงต่อกัน ก็จะเห็นเนื้อความใน คำพังเพยหรือ “ความล่องคง”แบบเต็ม ๆ ดังนี้

ต้นเชื้อเก่าโคตรเหง้าของปู่ยี่ ทวดทั้งสอง

นำพาเผยแผ่ไปอย่างกว้างขวางหลายเมือง

หอคำตั้งขึ้นพร้อมกับหอแสง (อัญมณี หยกเพชรพลอย) ต้านลมอย่างอิสระ

ในทุ่งที่ราบโล่งที่คนเปียผมเป็นพู่ห้อยขึ้นปกครองประเทศในอดีตนานมาแล้ว

ในตัวบทนี้ เมื่ออ่านอย่างพิจารณา จะเห็นคำบางคำที่ถือว่าเป็นคำกุญแจ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ ตีความหรือถอดรหัสและเชื่อมโยงไปสู่ตัวบทอื่น ๆ อาทิ คำว่า ปู่ยี่ทวดทั้งสอง หอคำ หอแสง คนเปียผมเป็นพู่ห้อย

สำหรับอาจารย์ชล ท่านเป็นนักอักษรศาสตร์และนักวิจารณ์วรรณกรรม การเริ่มต้นด้วยการหยิบยกตัวบททางภาษาขึ้นมาจึงเป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น อาจารย์ชลได้แสดงให้เห็นว่า กลุ่มตัวบทที่เรียกว่า “คำพังเพย” หรือตัวบทประเภทวรรณกรรมนี้ มันมีความหมายมากกว่าถ้อยคำของมัน และความหมายนั้นหาได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามตัวอักษร แต่กลับโยงใยสัมพันธ์กับตัวบทชนิดอื่นอีกมากมาย ขณะเดียวกันความจัดเจนและภูมิรู้ของผู้วิเคราะห์ก็ยังได้เปิดเผย เท้าความถึงตัวบทและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในพื้นที่ของสหวิทยาการ (ลองอ่าน บทที่ ๔ ) มากำนัลแก่ผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนถูก “เบิกเนตร” ตามสำนวนเกิดใหม่ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างไรอย่างนั้น

นี่เพียงกล่าวเกริ่นให้เห็นวิธีวิทยาในการใช้ตัวบทของอาจารย์ชล ว่าน่าสนใจและทรงพลังมากเพียงไร สิ่งที่จะกล่าวต่อไปก็คือ แล้วตัวบทที่อาจารย์ชลนำมาใช้ในการศึกษาครั้งนี้ มีตัวบทประเภทใดบ้าง คำตอบก็คือ ตัวบทที่ถูกนำมาใช้มีสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ ตัวบททางภาษาและวรรณกรรม กับตัวบททางวัฒนธรรมนั่นเอง

ชิ้นส่วนเครื่องดนตรีสำริด รูปสัญญะ ‘เสือ’
(สมัยปลายราชวงศ์ซาง-ราชวงศ์โจวตะวันตก)
Musical instruments of Bronze Culture, with Tiger motif; ‘taotie’ design.
(Shang and Western Zhou Dynasties)
ลายสักต้นแบบยอดนิยมของชาวไต (ไทใหญ่)
“เจ้าหอแสง หยิบดาบ ขี่เสือ”
The sacred tattoo design of the Tai
(Tai Yai~Tai Mao, the Southwestern Tai)

กลุ่มตัวบททางภาษาและวรรณกรรม

ถือได้ว่าเป็นตัวบทหลักที่อาจารย์ชล นำมาใช้เป็นสารตั้งต้นของการวิเคราะห์ในแต่ละบท ประกอบด้วย บทกวีนิพนธ์ เรื่องเล่า ตำนานปรัมปรา คติชาวบ้าน นิทานพื้นเมือง ตัวบทคัดเลือกจากวรรณคดี วรรณกรรม สุภาษิต คำพังเพย ซึ่งมีทั้งของชนชาติไทใหญ่ สยาม ลาว จีน โดยในการศึกษาครั้งนี้อาจารย์ชลจะใช้ตัวบทภาษาและวรรณกรรมของไทใหญ่เป็นตัวบทหลัก และนำตัวบทของชนชาติอื่น ไม่ว่าจะเป็นตัวบทภาษาวรรณกรรมของสยาม ลาว จีน ฯลฯ มาเสริมประกอบตามที่สามารถเชื่อมโยงและมองหาเครือข่ายความสัมพันธ์ในทางความหมายในมิติใดมิติหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การไขปริศนา/ถอดรหัสตัวบทดังกล่าว

กล่าวเฉพาะตัวบททางภาษาและวรรณกรรมของไทใหญ่นั้น มีความหลากหลายและน่าสนใจ มีทั้ง สุภาษิต คำพังเพย บทร้องเล่น บทขับขาน (ความล่องคง) การผูกถ้อยร้อยคำ ความอ่อนอ้อน ความต่อเล่น ความปั่นตง บทกล่อมเด็ก (อิ๊นเจ๊) ลีกลาย (วรรณกรรม)

ตัวบทไทใหญ่เหล่านี้ อาจารย์ชลได้รับความอนุเคราะห์อย่างมากจากนักปราชญ์ชาวไทใหญ่ คือ อาจารย์ชายชื้น คำแดงยอดไตย ที่ช่วยจัดหา รวบรวมและสรุปความเป็นภาษาไทยในเบื้องต้น ว่ากันเฉพาะตัวบทภาษาและวรรณกรรมนี้ นับได้ว่าชนชาติไทใหญ่มีความรุ่มรวยวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีความลุ่มลึก สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาและวิถีคิดของชนชาติไทใหญ่ และขุมทรัพย์สำหรับไขปริศนาก็ว่าได้

ในฐานะนักอักษรศาสตร์และนักวรรณคดีวิจารณ์ซึ่งมีองค์ความรู้ (ใหม่และเก่า) ภูมิรู้ ภูมิวิธี ภูมิปัญญาอย่างอาจารย์ชล ท่านได้แสดงให้เราเห็นว่า การศึกษาตัวบทที่เลือกสรรมาใช้ในฐานะข้อมูล ให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลนั้นต้องทำอย่างไร อาจารย์ชลทำให้เห็นตั้งแต่การให้ความรู้เกี่ยวกับตัวบท การวิเคราะห์ การเชื่อมโยง หรือการ “แตกบท” จากตัวบทหนึ่งพาดก่ายไปถึงตัวบทอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดลูกเกิดหลาน วงศ์วานว่านเครือของความรู้ แบบเดียวกันกับวิธีที่ฟูโกต์ใช้ศึกษาวงศาคณาญาติของวาทกรรม จากนั้นก็อธิบาย ขยายความ สังเคราะห์ สรุป จนเกิดองค์ความรู้ใหม่ อย่างชวนตื่นตา ตื่นใจและตื่นปัญญา ซึ่งมีอยู่แทบทุกบททุกตอน ในขณะวิเคราะห์ตัวบท และแตกบท ท่านก็บอกคนอ่านไปด้วย ท่านทำอย่างไร เพราะอะไร และทำให้เกิดมรรคผลอันใด ซึ่งเอาเข้าจริงก็คือวิธีที่เราเรียกว่า สหวิทยาการและบูรณาการนั่นเอง

ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ในตอนที่กล่าวถึง “รูปสัญญะ ‘เสือ’ : สืบสาวต้นเชื้อเครือเสือ” ใน บทที่ ๖

อาจารย์ชลหยิบตัวบทประเภทคำพังเพยไทใหญ่ขึ้นมา จากนั้นก็เริ่ม “จัดกระทำ” ต่อตัวบท ด้วยการวิเคราะห์ความหมายคำพังเพย (กุญแจคำ) ในระดับคำและความหมายเชิงไวยากรณ์ทั้งในระดับรูปธรรมและนามธรรม แล้วต่อด้วยหน้าที่ของคำในฐานะอุปลักษณ์ อธิบายและตีความสัญญะที่กระทำบนฐานทฤษฎีทางมานุษยวิทยาและโครงสร้าง-หน้าที่ว่า “เสือเป็นภาพแทนเชิงโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่” เป็นที่สังเกตว่า การถอดรหัสเพื่อหาความหมายของคำว่า “เสือตาย เสือแทน” นั้น ทำให้เห็นความหมายหลายระดับ จากความหมายแคบสู่ความหมายที่กว้างขึ้น หรือ จากความหมายเชิงภาษาไปสู่ความหมายเชิงโครงสร้างสังคมวัฒนธรรม ดังนั้น “เสือ” ในคำพังเพยนี้จึงไม่ใช่เพียงแต่เสือที่เป็นสัตว์ป่าดุร้าย แต่กลายเป็น “เสือแทน” ที่หมายถึงการสืบโคตรเหง้า สายเครือของกลุ่มชนไทใหญ่

ในอีกตัวอย่างที่จะนำเสนอ อาจารย์ชลได้เปิดเผยแนวทางและวิธีการศึกษา วิเคราะห์ตัวบททางภาษาและวรรณกรรม ที่น่าจะช่วย “เบิกเนตร” ให้ผู้สนใจได้นำไปพิจารณาเป็นตัวอย่าง และน่าจะเพียงพอต่อการกล่าวถึงวิธีการอ่านตัวบท แบบสัมพันธบทและการแตกบท ได้เป็นอย่างดี ดังข้อความตอนหนึ่งใน บทที่ ๓๙

“ใน มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง นี้ ผู้เขียน (ชลธิรา)

ได้ใช้วิธีการเข้าถึง ‘ตัวบท’ (ทางสังคม) ผ่านภาษา

โดยสำรวจ ‘คำสำคัญ’ (Keywords) ที่หยั่งเห็นหรือคาดว่ามี ‘นัยยะสำคัญ’

ในเชิงสารัตถะ ที่เกี่ยวพันกับโครงสร้างทางวัฒนธรรมไท

แล้วนำ ‘คำสำคัญ’ นั้นมาวิเคราะห์และตีความหมายแบบ ‘ถอดรหัส’ (Decoding)

โดยล้วงลึกให้ถึง ‘รหัสนัย’ ของภาษา ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการประกอบสร้าง ‘วาทกรรม’

ในสังคมและปฏิบัติการ ของ ‘วาทกรรม’ นั้น ที่ได้ ‘กระทำ’ ต่อสังคม

การศึกษาแนวนี้เป็น ‘วิธีวิทยาการวิจัย’ ที่ผู้เขียนคิดค้น พัฒนา และฝึกปรือ จากพื้นฐานความเป็น ‘นักอักษรศาสตร์’ ที่สัมผัสความลึกซึ้งของภาษาและถ้อยคำสำนวนในวรรณคดี อาจกล่าวได้ว่า เป็นการใช้ระเบียบวิธี ‘นิรุกติศาสตร์’ โดยการวิเคราะห์ ‘ภาษา’ นำร่อง แล้วใช้ ‘อรรถศาสตร์’ ในการตีความหมาย โดยการประยุกต์แนวคิดเชิงทฤษฎี ‘มานุษยวิทยาสังคม~มานุษยวิทยาวัฒนธรรม’ (โครงสร้างนิยมและหลังสมัยใหม่) เป็นวิธีวิทยาหลัก

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังประมวลเอาหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมถึงบทกวี คำกล่าว คำพังเพย และ ‘บทคัดสรร’ ในวรรณคดีวรรณกรรม เข้ามาสนับสนุนการ วิเคราะห์ตีความและการประกอบสร้างความหมายให้กับ ‘ข้อค้นพบ’ ที่คิดว่าเป็น ‘รหัสวัฒนธรรม’ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญระดับโครงสร้าง ที่มี ‘พันธกิจ’ ทางสังคม (จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม)

‘วิธีวิทยา’ ดังกล่าวนี้ มีลักษณะเป็น ‘สหวิทยาการ’ มีการบูรณาศาสตร์หลายแขนงเข้ามาใช้ อาจอนุโลมใช้ชื่อเรียกว่า “การศึกษาวิจัยแนวมานุษยวิทยาสัญนิยม” (Semiotic Anthropology)

แนวทางการศึกษานี้ เริ่มจากฐานคิดที่ว่า ใน ‘คลังภาษาไท’ ดั้งเดิมนั้น ยังคงมีคำไทที่สำคัญ (Keywords) และสำนวนไทประเภทต่าง ๆ ที่ใช้ ‘สื่อสาร’ กันมายาวนานในสังคม จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

อาจอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า การสื่อสารในสังคมหนึ่ง ๆ นั้น ย่อมมี ‘ชุดคำ~ชุดความ’ อันมี ‘รหัสนัย’ จำนวนหนึ่ง ที่สะท้อนนัยยะสำคัญในเชิง ‘อัตลักษณ์ของชนชาติ’

ชุดคำ~ชุดความที่ว่านี้มีส่วนสำคัญในการผลิตสร้างและกำกับกระบวนการคิดและวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน ทั้งด้านโลกทัศน์และชีวทัศนที่เป็นระบบทั้งชุด เมื่อได้สั่งสมกันมาในห้วงเวลายาวนานจึงกลายเป็น ‘กระบวนทัศน์’ หรือ ‘ชุดความคิดที่เป็นระบบ’ ซึ่งตกผลึกอยู่ในรูปของ ‘ถ้อยสำนวนภาษา’ ที่ประกอบกันขึ้นเป็น ‘ชุดคำ ~ สำนวน~โวหาร’ ลักษณะ|ประเภทต่าง ๆ ทำการโดยธรรมชาติของภาษา เป็น ‘ภาพตัวแทน’ ของสังคมโดยองค์รวม”

มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง: บทที่ ๓๙.

บทวิเคราะห์ตอนนี้จะเห็นได้ว่า อาจารย์ชลยังเน้นย้ำความสำคัญของภาษา ตั้งแต่หน่วยย่อยไปหาหน่วยใหญ่ คือ จาก ชุดคำ ไปสู่ ชุดความ และสุดท้ายไปสู่ชุดของความคิดเชิงระบบ เหมือนการแตกบท จากหน่วยพื้นฐานที่สุด ไปสู่หน่วยที่ซับซ้อนที่สุด คือชุดของระบบ/โครงสร้างทางความคิด ซึ่งอาจารย์ชลอธิบายให้เห็นมากกว่าการอธิบายของนักวิชาการด้านภาษา ที่มักจะเน้นเฉพาะโครงสร้างทางไวยากรณ์และความหมายที่เกาะเกี่ยวอยู่ในปริมณฑลของภาษา โดยเฉพาะการวิเคราะห์ในตอนท้าย ที่แสดงให้เห็นการ “เดินทาง” ของชุดคำชุดความ และชุดความคิด ที่ข้ามพ้นมิติของพื้นที่เขตแดน (ข้ามภพ) ข้ามเวลา และข้ามเชื้อชาติ กรอบความคิดที่นำมาอธิบายนั้น ใช้ฐานคิดทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ ทฤษฎีหลังโครงสร้างนิยม และแนวรื้อสร้าง มาประกอบกัน

การวิเคราะห์แบบเชื่อมโยงอาศัยเครือข่ายใยแมงมุมของถ้อยคำและตัวบท เป็นการใช้สัมพันธบทและการบูรณาการ ถือเป็นวิธีวิทยาหลักในงานเขียนเล่มนี้ ที่อาจารย์ชลได้ทำให้เราเห็นว่า ทฤษฎีเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง หากใช้อย่าง “เป็นนาย” ของมัน

กลุ่มตัวบททางวัฒนธรรม

ในบทลึก ๆ ของ “มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง” อาจารย์ชลเริ่มผละจากตัวบทภาษาและวรรณกรรม มาสู่ตัวบททางวัฒนธรรมมากขึ้น ตัวบททางวัฒนธรรมที่อาจารย์เลือกมาใช้มีทั้งที่เป็นวัตถุสิ่งของ เครื่องใช้ เครื่องประดับ สถานที่ ลวดลาย ลายสัก พรรณพืช สัตว์ ประเพณี พิธีกรรม ฯลฯ ตัวบททางวัฒนธรรมเหล่านี้ไม่ได้จำกัดจำพาะแต่ตัวบทของไทใหญ่ แต่ยังเป็นตัวบทในลักษณะข้ามชาติ ข้ามพื้นที่ และข้ามเวลา อีกด้วย การจะใช้ตัวบททางวัฒนธรรมจำนวนมากและหลากหลายนี้ บ่งบอกถึงภูมิรู้ ภูมิปัญญา อันลุ่มลึกและกว้างขวางของผู้ศึกษา ที่ผ่านการสั่งสม ฝึกปรือมายาวนาน

อาจารย์ชลได้ใช้ประสบการณ์ทางวิชาการด้านมานุษยวิทยา มาใช้วิเคราะห์ตัวบททางวัฒนธรรมได้อย่างตื่นตา ตื่นใจ ไม่แพ้ภูมิรู้ทางด้านอักษรศาสตร์เมื่อวิเคราะห์ตัวบททางภาษาและวรรณกรรม และเมื่อตัวบททั้งสองกลุ่มนี้ได้บูรณาการเข้ามาศึกษาร่วมกัน ก็ยิ่งทำให้เกิดภาวะ “การแตกบท” ที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ตามมาในหลายมิติ

วิธีที่ดีที่สุดที่จะไม่ให้ผู้เขียนบทความนี้ถูกค่อนแคะว่า เอื้ออวยอาจารย์ชลมากเกินไป ก็คือการแสดงตัวอย่างการศึกษาของท่านให้เห็นในเชิงประจักษ์ สักตอนหนึ่ง ดังใน บทที่ ๒๙ “ลายสักยันต์ ‘เจ้าหอแสง’ กับ วาทกรรมลายสักในสังคมสยาม” อาจารย์ชลได้วิเคราะห์ “ลายสัก” ของไทใหญ่ ในฐานะตัวบททางวัฒนธรรมที่น่าสนใจไม่แพ้การวิเคราะห์ในบทอื่น ๆ กล่าวโดยสรุปก็คือ อาจารย์ชลยก ตัวบททางวรรณกรรม ขึ้นมาก่อน คือ ลายสักยันต์ “เจ้าหอแสง ยิบแล้ว ขี่เสอ” จากนั้นก็เริ่มวิเคราะห์ทางภาษา ความหมาย:

“ลายสัก “เจ้าหอแสง ยิบแล้ว ขี่เสอ” สื่อความหมายถึง

‘จักรพรรดิราชของชาวไต ผู้ถือดาบ ขึ้นนั่งบนหลังเสือ’

ถือว่าเป็นงานออกแบบ ‘ลายสักไต’ ที่ดีและสมบูรณ์แบบ

เมื่อคำนึงถึง ‘รูปสัญญะ’ ในลายสัก อักขระต่างๆ ที่กำกับไว้

เป็นคาถา และความหมายโดยองค์รวม”

เมื่อวิเคราะห์ ตีความทางภาษาแล้ว ก็เริ่มเชื่อมโยงและแตกบทไปยังตัวบททางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กัน โดยชี้ให้เห็นว่า ลายสักที่ออกแบบเป็นรูปจักรพรรดิชาวไตขี่เสือ นั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งเกี่ยวข้องกับความเชื่อ ค่านิยมและอุดมการณ์ของชาวไต “รหัสนัยของลายสัก “เจ้าหอแสง ยิบแล้ว ขี่เสอ” ความหมายระดับลึกของลายสักนี้ เกี่ยวพันกับไสยเวท ซึ่งเป็นความเชื่อระดับโครงสร้างเบื้องลึก”

ในการวิเคราะห์ตอนนี้อาจารย์ได้กระทำผ่านการศึกษา “อนุพากย์” ที่สำคัญ ๆ อาทิ อนุพากย์เสือ กับอนุพากย์เจ้าหอแสง อนุพากย์ยิบแล้ว อนุพากย์ภาษาบาลี ในการวิเคราะห์อนุพากย์แต่ละอนุพากย์ นั้น ได้มีการเชื่อมโยงไปยังตัวบททางภาษาและวรรณกรรมกับตัวบทวัฒนธรรมอื่น ๆ ในลักษณะข้ามภพ ข้ามชาติ ข้ามเวลา พื้นที่ อธิบายผ่านตัวบททางประวัติศาสตร์ วรรณกรรม จนได้ข้อสรุปที่น่าสนใจตอนหนึ่งว่า

‘การสัก’ ในทางวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิม เป็นคุณูปการสำคัญที่บรรพชนชาวไท ได้มอบไว้ให้เป็นมรดกวัฒนธรรมอันเลอค่ากับชนรุ่นหลัง จนถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบของ ‘อัตลักษณ์ไท’

ในตัวของ ‘ลายสัก’ เอง ไม่ว่าจะเป็นรูปสัญญะหรืออักขระและคาถา ถือว่าเป็น ‘วาทกรรมทางสังคม’ ที่มีนัยยะสำคัญทางการเมือง เหตุเพราะการสักไม่ว่าจะเป็นลวดลายใด ใช้น้ำหมึกสักชนิดใด ล้วนมีพลังขับเคลื่อนขวัญและกำลังใจของปัจเจกบุคคล ขณะเดียวกันก็สามารถผลักดันเคลื่อนไหว ‘พลังรวมหมู่’ ของกลุ่มและพวกพ้อง ศิษย์ร่วมสำนัก สมาชิกร่วมสายตระกูล และ ทหารร่วมกรมกอง ฯลฯ ให้สามารถทำการบางอย่างบรรลุตามเป้าประสงค์ที่กำกับ เช่นเพื่อชัยชนะในการศึกสงคราม

ผู้ชายสักลาย มรดกวัฒนธรรมเตียน เมื่อกว่าสองพันปีล่วงมาแล้ว (ตรงกับสมัยราชวงค์ฮั่นตะวันตก)
Whole Body Tattoo of the Dian Bronze Culture, Yunnan, PRC. ( Western Hun period)

มหากาพย์ชนชาติไทย บรรพสอง: บทที่ ๒๙. “ลายสักยันต์ ‘เจ้าหอแสง’ กับ วาทกรรมลายสักในสังคมสยาม”

จากบทสรุปนี้เอง อาจารย์ชลได้เชื่อมโยงมาสู่ตัวบททางประวัติศาสตร์ของสังคมสยามในอดีต ซึ่งมีขนบจารีตและความเชื่อในเรื่องลายสักที่คล้ายกันเป็นคู่เทียบ จนได้คำตอบว่า “การสักลาย” ของคนไทยในอดีตมีบทบาทหน้าที่หลายอย่าง เช่น เป็นวาทกรรมเสริมอำนาจแก่ชนชั้นกษัตริย์และมูลนาย ที่มีสถาบันมารองรับอย่างขันแข็ง มีบทบาททั้งในด้านดีและร้าย แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ บทสรุปของอาจารย์ชลที่ว่า “ลายสักในโครงสร้างสังคมศักดินาสยาม จึงมีรหัสนัยล้ำลึก ยิ่งกว่าใคร เป็นวาทกรรมการเมืองที่มีนัยยะทั้งในทางปลุกปลอบขวัญและทำลายขวัญ เป็นการลงโทษทางสังคมที่รุนแรง น่าสยองขวัญ!”

ข้อสรุปที่เป็นองค์ความรู้ใหม่นี้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากศึกษาโดยใช้ตัวบทเพียงกลุ่มเดียว เพราะวิธีนี้ไม่อาจให้คำตอบที่ลึกซึ้ง ซับซ้อนและเชื่อมโยงต่างมิติได้ หากแต่ต้องใช้วิธีการศึกษาแบบสหวิทยาการ บูรณาการ รวมทั้งการใช้วิธีวิทยาที่หลากหลายผ่านฐานคิดของ “ยอดทฤษฎี” ประกอบกันเท่านั้น

*******

โปรดติดตามตอนต่อไป ตอนที่ ๓. ชุมนุมยอดทฤษฎีและวิธีวิทยา และ บทสรุป

Related Posts

เปิดตัวหนังสือ “มหากาพย์ชนชาติไทฯ”
กำหนดการงาน ~ “สู่ขวัญสุวรรณภูมิ” เสวนาวิชาการ เล่าขานเรื่องราวสุวรรณภูมิ
หนังสือ ๓ เล่มชุด “มหากาพย์ชนชาติไท : เต้าตามไต เต้าทางไท”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com