แกะรอยคำว่า เงือก
ภาพเงือกในคติความเชื่อของชาวไทดำ จากข้อมูลของ ดร.คำจอง (ภาพจากหนังสือ ๗๒ ปี ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ชุดด้วยรัก เรื่อง ชนชาติไท”)
เงือกเงี้ยะ จีนว่าเหงอ คือจ้าวนํ้า
โลกแห้ง-ฉํ่า บำรุง ทุ่งนาข้าว
วัฒนธรรม เริ่มต้น ดนเรื่องราว
เงือกจ้าว แห่งนํ้า ถูกผันแปร
ทางเหนือ ถูกมังกร “หลง-ลวง” เปลี่ยน
ทางใต้”นาค” เพี้ยน พุทธพราหมณ์แห่
ความหมาย แห่งเงือก ดั้งเดิมแท้
คู่กับแถน มาแต่ ดึกดำบรรพ์
การเปลี่ยนความหมายของ “คำ” เป็นเรื่องปกติ ความหมายดั้งเดิมของคำบางคำ เช่นคำว่า “เงือก” ในภาษาไท-ลาวโบราณ เปลี่ยนไปจนหมดเค้าเดิม
ถ้าถามเด็ก ๆ ว่า “เงือก” คือตัวอะไร คำตอบคือ “นางเงือก” (mermaid) ครึ่งคนครึ่งปลา
ถ้าถามผู้ใหญ่ในอีสาน ว่า “เงือก” คือตัวอะไร คำตอบที่ได้ฟังบ่อยคือ เป็นสัตว์นํ้าประเภทปลาไหลไฟฟ้า , เป็นผีนํ้า ทำให้คนตาย ฯลฯ
คนไทย (ในประเทศไทย) รู้เรื่อง “นาค” “พญานาค” เป็นอย่างดี แต่ไม่รู้ว่าคนไทดึกดำบรรพ์ (ตั้งแต่ยังไม่มีชื่อเผ่าไท) บูชา“เงือก”
ควรดูการให้ความหมายของคำว่า “เงือก” ของคนไทย-ลาวกันก่อน
พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ.๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้ว่า
“เงือก ๑ (โบราณ) น. งู เช่น ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง . (โองการแช่งนํ้า)
เงือกหงอน (โบราณ) น.พญานาค เช่น ทรงวัวเผือกเงือกหงอนสังวรสังวาล (รำพันพิลาป)
เงือก ๒ น. สัตว์นํ้าในนิยาย เล่ากันว่าท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นปลา
เงือก ๓ น. ชื่อนกในวงศ์ Bucerotidae ฯลฯ”
พจนานุกรม “รัตนมาลา” ของ ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร หน้า ๒๐๒ ให้ความหมายคำ “เงือกพราย” ว่า
“เงือกพราย (น.) เงือกพรายสยายผมตากลอก รามเกียรติ์ ร.๑ ล.๑ น. ๕๘๖
สัตว์นํ้า เพศหญิง ในความเชื่อของคนโบราณว่ามีผมยาว ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างมีหางเหมือนปลา”
พจนานุกรม “สัพะ พะจะนะ พาสาไท” ของบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ให้ความหมายไว้ว่า
“เงือก Fabulous-animal which inhabits rivers or the sea
นกเงือก Curtain fabulous bird
เงือกนํ้า Fabulous siren whose superior part of the body is like a woman, and interior part is like a fish
เงือกงู The same animal in fprm of a snake”
ท่าน “เสฐียร โกเศศ” กล่าวถึง “เงือก” ไว้ว่า
“…ก็และคำว่าเงือกนี้ รูปเสียงของคำดูเป็นคำไทย ๆ คงไม่ใช่เป็นคำมาจากต่างประเทศ ถ้าเป็นคำที่มาจากภาษาอื่นก็เห็นจะถูกแก้เสียงให้เข้าเสียงไทยเสียนานแล้ว ลองค้นดูคำว่าเงือกในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ปรากฏว่า ในภาษาอาหมเงือกแปลไว้ว่า สัตว์นํ้าในนิยาย นาคนํ้า ในภาษาไทยใหญ่ เงือกแปลว่าจระเข้ ในภาษาไทยขาว
เงือกแปลว่างูตามนิยายอยูต่ ามหว้ ย ในภาษาไทย“ปายี่” ในประเทศจีน (Toung Pao Vol ๑๑๑๑๓๙’๒ หน้า ๓๐ ) เงือกแปลว่ามังกร ในภาษาไทยต่าง ๆ เหล่านี้ยุติได้ว่า “เงือก” นั้นคงเป็นคำที่มีอยูในภาษาไทยมาแต่เดิม ได้สอบค้นดูในภาษาจีนก็มีคำว่า งก งัก งิก ในเสียงกวางตุ้ง แต้จิ๋ว และฮกเกี้ยนโดยลำดับ แปลว่า จรเข้ และบางทีเพราะความเข้าใจผิด เรียกปลาโลมาชนิดนํ้าจืดว่า งกก็มี เมื่อประมวลคำแปลข้างบนนี้จะได้ความว่าเงือกนั้น ในภาษาไทยต่าง ๆ หมายความว่า งู นาค มังกรและจระเข้ ไม่มีเค้าว่าเงือกเป็นสัตว์ครึ่งคนครึ่งปลา”
ในประกาศแช่งนํ้าโคลงห้า ซึ่งเป็นวรรณคดีสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยาซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๓ ถึง พ.ศ.๑๙๑๒ ตอนหนึ่งว่า
“โอมบรเมศวราย ผายผาหลวงอคร้าว ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา สามตาพระแพร่งแกว่งเพชรกล้า ฆ่าภิฆจรรไร”
เป็นคำบูชาพระอิศวร “ผาหลวง” คือเขาพระสุเมรุ พระอิศวรนั้นมีงูเป็นสังวาล ในที่นี้ใช้คำว่า “เงือก”แทนงู ดังนั้นเราจึงมักพูดคำซ้อนว่า เงือกงู
ส่วน “เงือก” ในคติความเชื่อคนล้านนา มีสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ หมายถึง จระเข้ ดังเช่นเรื่องพญาคำฟูถูกเงือกชักไปในแม่นํ้าเชียงคำ (พื้นเมืองเชียงใหม่) พระญาไปดำหัวสรงเกสในแม่นํ้าเชียงฅำ ยามนั้นเงือกตัว ๑ ใหย่นักลุกแต่เงื้อมผาออกมาชักเอา พระญา เข้าไพในเงื้อมผาที่หั้นแล คนทั้งหลายเปนต้นว่าเสนาอามาจจ์ แสวง
หาพระญาบ่พบไหนสักแห่ง นานได้ ๗ วัน ซากพระญาไหลออกมา ฅนทั้งหลายจิ่งรู้ว่า พระญาฅำฟูตาย หั้นแล……”
อีกกลุ่มหนึ่งว่า “เงือก” เหมือนงูใหญ่อาศัยอยู่ในวังนํ้า แปลงร่างเป็นมนุษย์ได้
คุณ NIKHOM PHROMMATHEP ให้ข้อมูลไว้ในเว็บ go to know บอกลักษณะของเงือกไว้ว่า
“..อันว่าผีเงือกมันตั๋วยาวเหมือนดั่งป๋าเหยี่ยน (ปลาไหล) ผิวหนังมีเมือกมื่น (ลื่น) หลืด ๆ หลาด ๆ จับยับมันบ่ได้เมือกไคลมันหนายับก็หลูด…ยับก็หลูด…ส่วนหัวมันเหมือนมุ่มเหมือนงูมีหงอน มันชอบอยู่ในเงิ้มถืบถ้ำวังน้ำเลิ้ก(ลึก)มันชอบกิ๋นคนที่ไปเปลี่ยนกระแสแม่นํ้า เยี๊ยะขึ้ดจา(อาถรรพ์)กับแม่นํ้ากว๊านใหญ่ ด้วยเหตุที่มันมีเมือกและอยู่ในเงิบนี้เองผู้คนจึงเอาลักษณะเมือกกับเงิบมาผสมกั๋นฮ้อง(เรียก)มันว่าเงือก บ่งบอกลักษณะผีร้ายที่มีเมือกอยู่ในเงิบฝั่งวังนํ้า
วันเดือนดับเดือนเป็ง (วันแรม/วันเพ็ญ ๑๔ หรือ ๑๕ คํ่า) ผีเงือกจะออกมาหาเหยื่อตะแหลง(แปลงร่าง)เป็นปลาตัวใหญ่บ้าง บางครั้งตะแหลงเป็นคนเดินตามหาดทราย บ้างตรวจตราท้องนํ้า หากมันเกิดอารมณ์อยากเล่นนํ้ามันจะเล่นนํ้าดีดนํ้าเสียงดัง…โต้มต้าม…โต้มต้าม…สายนํ้าฟ้งกระจายดั่งถูกก้อนหินใหญ่ทุ่มลงหากผู้คนได้ยินเสียงนํ้าจะรีบขึ้นจากแม่นํ้าทันทีพร้อมกับสงบปากเงี้ยบ…เงียบไม่ส่งเสียงดังเอะอะโวยวายเพราะกลัวว่าผีเงือกจำเสียงได้ หากกลับลงนํ้าเมื่อใดผีเงือกก็จะมาลากเอาตัวไป
ในการกระทำพิธีเกี่ยวกับสายนํ้า พ่อปู่อาจารย์ (พิธีกร) จะต้องกล่าวโองการถึงเทพยดาทุกหมู่เหล่าและต้องกล่าวอัญเชิญวิญญาณผีเงือกมาร่วมด้วย เช่นว่า ‘โอก๋าสะ……นาคฅรุฑปรมัยไอศวรย์เงือกนํ้าวังใหญ่ จุ่งมา..’ เป็นต้น” ( อ้างอิงจาก NIKHOM PHROMMATHEP, web go to know)
ลายบนเอวกลองมโหระทึกขุดพบที่บ้านหนองเงือก เมืองวีละบุลี มีรูปเงือกอยู่ใต้เรือส่ง “ผีขวัญ” กลับเมืองฟ้าแผนที่เมืองวีละบุลี
พจนานุกรม “วัดจะนานุกมพาสาลาว” ของสถาบันวิทยาศาสตร์สังคมแห่งชาติ สปป.ลาว ให้ความหมายไว้ว่า
“เงือก น. สัตว์นํ้าชนิดหนึ่งตัวคล้ายคือกับงู แต่มีหงอนแดง มักอยู่นํ้าแหล่งที่เป็นวังลึกโบราณเชื่อว่าเป็นสัตว์มีฤทธิ์มีเดชเรียก ผีเงือก
คำว่า เงือก อาจตรงกับสัตว์ที่คำบาลีเรียกว่า นาคะ หรืออาจรับมาจากคำจีนโบราณว่า งักอั้น ไตลื้อว่า โตเงิก”
“สารานุกรมภาษา อีสาน ไทย อังกฤษ” ของ ดร.ปรีชา พิณทอง ให้ความหมายว่า
“เงือก น. งูนํ้า, ปลาไหลไฟฟ้า ชื่องูชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ในนํ้า เรียก งูนํ้า หรือจะเรียกปลาไหลไฟฟ้าก็น่าจะถูก งูชนิดนี้เวลามันจะกินเลือดคน บนท้องนํ้าที่มันอยู่จะมีสีเขียวจนบาดตา ถ้าเราเอามีดกรีดเอาเลือดสักหนึ่งหยดให้มันกินแสงที่เขียวจะหายไป แต่ถ้าไม่กรีดให้มัน มันจะชักเราลงไปในนํ้า โบราณเรียกว่า เงือกชัก คนที่ถูกเงือกชักนั้นมีแค่ตายลูกเดียว อย่างว่า วังบ่มีขอนขว้าง ชาวแหบ่มีหย่อนมือแล้ว (กลอน), เงือกอยู่นํ้าแดนพื้นพ่ายพัง (กาฬเกษ), อยู่ป่าไม้อย่าท้าเสือ ขี่เฮืออย่าท้าเงือก (ภาษิตอีสาน)”
ในภาษาลาว เราพบทั้งคำว่า “นาค” “ลวง” และ “เงือก”
“สารานุกรมภาษา อีสาน ไทย อังกฤษ” ของ ดร.ปรีชา พิณทอง ให้ความหมายคำว่า “ลวง” ว่า
“ลวง ๒ น. นางนาค นางนาคเรียกนางลวงอย่างว่า ก็เพื่อเทืองที่เหง้านอนแนบนางลวง นานไปเป็นลูกเนาในท้อง พอเมื่อสาครบ้านางลวงลืมเพศ เทืองหน่ายหน้าแหนงซํ้าส่งหนี นางครวญค้นเอาลูกทังฮวย ฮองตองทึงห่อโยนยอให้ เทืองทวายอุ้ม เอาเมือเมืองเก่า แม่บ่เลี้ยงบายถิ้มหน่ายหนี (สังข์สินชัย)”
ข้าพเจ้าสอบถามกัลยาณมิตร “หงเหิน สุกพิทัก” บรรณาธิการวารสาร “ท่องเที่ยวลาว”(นามปากกา “ไม้จัน” ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ขับลำ เพลงลาว มาจากไหน?”) ได้ความรู้เรื่องเงือกมาดังนี้
“คำว่าเงือกเป็นภาษาดั้งเดิมของลาว ในกลุ่มคำ เงี้ยว งึม (แม่นํ้างึม) ชาวบ้านชนบทรู้แต่คำว่า เงือก งู เงี้ยว ลวง ซวง ไม่รู้คำว่า นาค มังกร มันเป็นสัตว์ในจำพวกงู มีหงอนแดง มีฤทธิ์ทำร้ายคนได้ แปลงร่างได้ และสมสู่กับคน ปรากฏชัดในนิทานเรื่อง ขุนทึง ขุนเทือง คนลาวมีนิทานเกี่ยวกับเงือกมากมาย บ่อนใดมีนิทานเกี่ยวกับเงือก
ปัจจุบันบอกได้เลยที่นั้นคือบ่อทองคำ (บ่อคำเซโปน) และที่อื่น ๆ ทั่วลาว ชื่อ เมืองงาน แขวงเชียงขวาง ก็มาจากเงือก อีกอย่างคนไทสะหวัน (สะหวันนะเขด) มีสำนวนเปรียบรสชาติของส้ม (เปรี้ยว) มาก ๆ ว่า ‘ส้มคือหีเงือก’ ไม่รู้เหมือนกันว่ามาจากไหน แต่นี่คือเงือกในความเชื่อลาว”
เรื่องที่คุณ หงเหิน ขุนพิทัก บอกว่าสถานที่ซึ่งมีทองคำมาก (บ่อคำ) จะมีตำนานนิทานเกี่ยวกับเงือกนั้น เป็นประโยชน์ต่อข้าพเจ้ามากเพราะข้าพเจ้าไปเห็นภาพลวดลายกลองมโหระทึกในพิพิธภัณฑ์เมืองวีละบุลี แขวงสะหวันนะเขด ที่คุณ สุเทพ ไชยขันธ์ ถ่ายไว้ กลองมโหระทึกลูกนี้สำคัญมาก เพราะลายใต้ท้องเรือมีรูป “ตัวเงือก” ลักษณะคล้ายคลึงกับรูปเงือกที่วาดขึ้นตามข้อมูลจาก ดร.คำจอง นักวิชาการชาวไทดำ (เสียชีวิตแล้ว) นี่เป็นรูปเงือกบนเอวกลองมโหระทึกรูปแรกที่ข้าพเจ้าได้เห็น และก็พบในแหล่งทองคำเซโปนด้วย
ดร.สุรพล นาถะพินธุ นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะวิทยา บอกข้าพเจ้าว่า สถานที่ที่ขุดพบกลองมโหระทึกลูกนี้คือ “บ้านหนองเงือก”
ด้วยความสงสัยว่าคติความเชื่อเรื่องเงือกนั้นคู่กับเรื่องแถน ข้าพเจ้าลองค้นหาเรื่อง “วัดสังคะโลก” ที่ชานเมืองหลวงพระบาง เพราะที่นั่นเคยเป็น “หอผีแถน” ใหญ่ที่สุดของเมืองเชียงดงเชียงทอง (หลวงพระบาง) ก่อนที่พระเจ้าโพธิสารราชจะทำลาย แล้วเปลี่ยนเป็นวัดสังคะโลกข้าพเจ้าค้นจากภาษาลาว พบคำที่แปลไม่ออกคือ
คำว่า “สังเงือก” ສັງເງືອກ.
ວັດສັງຄະໂລກ (ສີສະຫວັນເທວະໂລກ)
ຫລວງພຣະບາງ
ວັດສັງຄະໂລກ (ບາງຕໍາລາຂຽນວ່າສະຫວັນຄະໂລກ) ສ້າງໃນປີ ຄ.ສ. 1527 ໃນສະໄໝພຣະເຈົ້າໂພທິ ສານ ເປັນວັດທີ່ມີ ຄວາມສໍາຄັນທາງປະຫວັດສາດດ້ານຄວາມເຊື່ອຂອງຊາວຫລວງພຣະບາງ ເນື່ອງຈາກກ່ອນທີ່ພຣະພຸດທະສາສະຫນາຈະເຂົ້າມາສູ່ອານາຈັກລ້ານຊ້າງວັດນີ້ເຄີຍເປັນທີ່ຕັ້ງຂອງວິຫານບູຊາຜີຟ້າຜີແຖນ ອັນເປັນຄວາມເຊື່ອຖືດັ້ງເດີມ ຫລັງຈາກທີ່ພຣະພຸດທະສາສະຫນາເຂົ້າມາແລ້ວ ວັດສັງຄະໂລກກໍກາຍເປັນວັດສໍາຄັນໃນການເຜີຍແຜ່ພຣະພຸດທະສາສະຫນາ ຊຶ່ງໄດ້ຮັບການອຸປະຖໍາເປັນພິ ເສດຈາກພຣະເຈົ້າໂພທິສານ ຈາກນັ້ນຄວາມເຊື່ອເດີມກໍໄດ້ຫຼຸດໜ້ອຍຖອຍລົງໄປ ໃນປີ ຄ.ສ. 1883 ອຸໂປສົດຖືກລົມພາຍຸພັດເສຍຫາຍແລະໄດ້ບູລະນະໃຫ້ກັບຄືນມາເປັນສະພາບແບບເດິມ.
ອາຮາມ (ສີມ) ຂອງວັດ ເປັນແບບທໍາມະດາ, “ສັງເງືອກ“ ໃນເມື່ອກ່ອນ, ມີປະຕູແລະກໍາແພງ ອ້ອມຮອບທັງສີ່ດ້ານ, ມີກຸຕິສົງຫົກຫຼັງ, ທາຕຸສອງ ແລະ ຫໍກອງໜຶ່ງຫັຼງ. ວັດສັງຄະໂລກ ເຄີຍເປັນໜຶ່ງໃນສະຖານທີ່ສໍາຄັນຂອງການສະເຫີຼມສະຫຼອງປີໃໝ່ລາວ, ຜູ້ປົກຄອງບ້ານເມືອງໃນເວລານັ້ນ ໄດ້ເດີນທາງມາຮ່ວມປະເພນີຫົດສົງພຣະພຸດທະຮູບ ແລະການຟ້ອນສະຫຼອງຂອງ “ປູເຍີຍ່າເຍີ“ ຢູ່ວັດນີ້.
ແລະເຮືອຊ່ວງຂອງວັດສັງຄະໂລກ ຍັງເປັນເຮືອແບບສະບັບຫລວງພຣະບາງໂດຍແທ້ ເມື່ອຮອດເດືອນເກົ້າບຸນເຂົ້າປະດັບດິນ ບ້ານສັງຄະໂລກກໍ່ຍັງເອົາເຮືອຊ່ວງລົງຊ່ວງ ແລະຍັງຮັກສາແບບແຜນແຕ່ບູຮານນະການຂອງຫລວງພຣະບາງໂດຍແທ້ ມີການຫຍົ້ມຫົວ ທັ້ງທ້າຍແລະຄັດທ້າຍເຮືອ ແລະຫົວເຮືອຊ່ວງກໍ່ງົດງາມເຖິງແມ່ນວ່າເຮືອຊ່ວງຈະລົງຊ່ວງ ຈະບໍ່ໄດ້ອັນດັບກໍ່ຕາມ ເພິ່ນກໍ່ຍັງອະນຸລັກ ຮັກສາແບບເຮືອແລະລົງຊ່ວງທຸກໆປີ ຕະຫລອດມາ (ໃຜມີສັດທາ ສ້າງຍອຍເຮືອຊ່ວງ ໃຫ້ວັດສັງຄະໂລກ ເພາະຍອຍເຮືອຊ່ວງດ້ານທ້າຍນັ້ນແມ່ນບໍ່ງາມແລ້ວ ເພື່ອອະນຸລັກເຮືອຊ່ວງສະບັບດັ່ງເດີມຂອງຫລວງພຣະບາງເຫລັ້ມນີ້ໄວ້ໃຫ້ຢືນຍາວຕະຫລອດໄປເດີ.
พระธาตุวัดสังคะโลก ถ่ายเมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๐หัวเฮือซ่วงวัดสังคะโลก ใส่รูปการซ่วงเฮือให้ดูด้วย เพราะประเพณีการซ่วงเฮือนี้เกี่ยวพันโดยตรงกับเรื่อง เงือก
ข้อมูลและภาพจาก https://www.facebook.com/media/set/?set=a.971404
816256188.1073741916.173817926014885&type=3
ถ่ายคำเป็นภาษาไทยว่า
“วัดสังคะโลก (บางตำนานว่าสะหวันคะโลก) สร้างในปี ค.ศ. ๑๕๒๗ (พ.ศ. ๒๐๗๐) ในสมัยพระเจ้าโพธิสาร เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้านความเชื่อของชาวหลวงพระบาง เนื่องจากก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้ามาสู่อาณาจักรล้านช้าง วัดนี้เคยเป็นที่ตั้งของวิหารบูชาผีฟ้า ผีแถน อันเป็นความเชื่อถือดั้งเดิม หลังจากที่พระพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว วัดสังคะโลกก็กลายเป็นวัดสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงได้รับการอุปถัมป์เป็นพิเศษจากพระเจ้าโพธิสาร จากนั้นความเชื่อเดิมก็ได้ลดน้อยลงไป ในปีค.ศ. ๑๘๘๓ (พ.ศ. ๒๔๒๖) อุโบสถถูกพายุพัดเสียหายและได้บูรณะให้กลับคืนมาเป็นสภาพแบบเดิม
อาราม (สิม) ของวัดเป็นแบบธรรมดา ‘สังเงือก ສັງເງືອກ’ ในเมื่อก่อน มีประตูและกำแพงอ้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีกุฎิสงฆ์หกหลัง ธาตุสองและหอกลองหนึ่งหลัง วัดสังคะโลกเคยเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของการเฉลิมฉลองปีใหม่ลาว ผู้ปกครองบ้านเมืองในเวลานั้นได้เดินทางมาร่วมประเพณีฮดสรงพระพุทธรูปและการฟ้อนฉลองของ ‘ปู่เยอ ย่าเยอ’อยู่วัดนี้
และเรือซ่วง ของวัดสังคะโลกยังเป็นแบบฉบับหลวงพระบางโดยแท้ เมื่อถึงเดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน บ้านสังคะโลกก็ยังเอาเรื่องซ่วงลงซ่วง และยังรักษาแบบแผนต่อโบราณการของหลวงพระบางโดยแท้ มีการหยมหัว ทังท้าย และคัดท้ายเรือ และหัวเรือซ่วงก็งดงาม ถึงแม้ว่าเรือซ่วงลงซ่วงจะบ่อได้อันดับก็ตาม เพิ่นก็ยังอนุรักษ์รักษาแบบเรือและลงซ่วงทุก ๆ ปีตลอดมา (ผู้ใดมีศรัทธาสร้างยอยเรือซ่วงให้วัดสังคะโลก เพราะยอยเรือซ่วงด้านท้ายนั้นไม่งามแล้ว เพื่ออนุรักษ์เรือซ่วงฉบับดั้งเดิมของหลวงพระบางเล่มนี้ไว้ให้ยืนยาวตลอดไปเดอ)”
เรื่อง “เงือก” กับ “แถน” นี้ ข้าพเจ้าจะเล่ารายละเอียดในตอนต่อ ๆ ไป
ย้อนกลับมาที่คำว่า “สังเงือก” แปลว่าอะไร ?
คนที่ใช้นามแฝงในเฟซบุ้กภาษาลาวว่า
“คนนักเขียน คนมักเขียนที่สุด” ຄົນມັກຂຽນຄົນມັກຂຽນທີ່ສຸດ ช่วยเพิ่มข้อมูลให้ข้าพเจ้าดังนี้
” ສັງ ເ ງື ອ ກ ” ແ ປ ໄ ດ້ອີ ກ ຢ່າ ງ ໜຶ່ງ ຄື : “ຂັງເງືອກ” ກັກຂັງເງືອກ.
ສັງ = ຂັງ , ກັກ ຂັງ . ເ ປັນ ຄໍ າ ສັບພວນຊຽງຂວາງ
ສາງເງືອກ = ຜີ ເງືອກ
“ສັງ” ບາງຄັ້ງກໍເປັນຄໍ າຖາມ
ເຈົ້າເຮັດພິ ສັງ=ເຈົ້າກໍາລັງເຮັດຫຍັງ
ถ่ายเป็นคำไทยว่า
“สังเงือก” แปลได้อีกอย่างหนึ่งคือ “ขังเงือก” กักขังเงือก
“สัง” = ขัง, กักขัง เป็นคำศัพท์พวนเชียงขวาง
สางเงือก = ผีเงือก
“สัง” บางครั้งก็เป็นคำถาม
เจ้าเฮ็ดพิสัง = เจ้ากำลังเฮ็ดหยัง
คุณหงเหิน ขุนพิทัก ให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า
“ສັງໃນພາສາໄທພວນ ນັ້ນໄດ້ຮັບການຢືນຢັນຈາກຄົນທ້ອງຖິ່ນວ່າແມ່ນ ກັກ ຂັງ ແທ້
ທ່ານ ດຣ. ສຸເນດ ໂພທິສານວ່າ ແມ່ນນາງເງືອກ ເພາະແຕ່ກ່ອນຫລວງພະບາງທັງຫມົດແມ່ນແຜ່ນດິ ນນາກ ໂດຍສະເພາະ ນາກຕົວແມ່ 3 ຕົວ ນາງດໍ າ ນາງດ່ອນ ນາງຜົມເຜື ອພວກນາກເປັນເຈົ້າມາກ່ອນວັດສັງຄະໂລກນັ້ນເປັນທີ່ຢູ່ຂອງນາງນາກມາກ່ອນ ແລ້ວກາຍເປັນບ່ອນຂື້ນແຖນ ໃນພາຍຫລັງ ຕໍ່ມາເປັນວັດສັງຄະໂລກໃນສະໄຫມໂພທິ ສານລະຣາດ”
“สังในภาษาไทพวนนั้นได้รับการยืนยันจากคนท้องถิ่นว่าคือ กักขัง แน่
ท่าน ดร.สุเนด โพทิสาน ว่า เป็นนางเงือกเพราะแต่ก่อนหลวงพระบางทั้งหมดคือแผ่นดินนาค โดยเฉพาะนาคตัวแม่ ๓ ตัว นางดำ, นางด่อน, นางผมเฝือ พวกนาคเป็นเจ้ามาก่อน วัดสังคะโลกนั้นเปน็ ที่อยูข่ องนางนาคมากอ่ น แลว้ กลายเป็นบ่อนขืนแถนในภายหลัง ต่อมาเป็นวัดสังคะโลกในสมัยโพธิสารราช”
จากการศึกษาเรื่อง “วัฒนธรรมพระแม่มังกร 龙 母 文 化” ของคนพื้นเมืองในกวางตุ้ง-กวางสี ข้าพเจ้าพบว่า คติความเชื่อเกี่ยวกับพระแม่มังกรในภาคใต้ของจีน แตกต่างจากเรื่อง“หลง-มังกรจีน” ในวัฒนธรรมจีนฮั่น ในกวางสียังเหลือร่องรอยคติความเชื่อการบูชา “ผีฟ้า – แถน” “ตูเปี้ยะ – ตัวฟ้าผ่า” และจ้าวแห่งนํ้า “ตูเงี่ยะ – เงือก, เงิก”
ทำให้ข้าพเจ้าเกิดข้อสันนิษฐานว่า ดั้งเดิมทีบรรพชนคนพื้นเมืองในดินแดน “หนานเยวี่ย–กวางตุ้ง”, “ซีโอวและลั่วเยวี่ย – กวางสีและเวียดนามภาคเหนือ”, “เตียนเยวี่ย – ยูนนานภาคกลาง” “เยวี่ยซาง – ยูนนานภาคใต้ ลาวภาคเหนือ ไทยภาคเหนือและอีสานเหนือ” นับถือบูชาจ้าวแห่งนํ้า ที่เรียกว่า “เงี่ยะ – เงิก – เงือก”แล้วต่อมาอิทธิพลวัฒนธรรมจีนฮั่นแผ่ลงมา เรื่อง“หลง-มังกรจีน” จึงสับสนปนเปกับเรื่อง “เงี่ยะ- เงือก” ชนพื้นเมืองในกวางตุ้ง กวางสี ยูนนานเวียดนามรับเอาคำว่า “หลง 龙” มาใช้ จึงเกิดคำว่า “ลวง” ในภาษาลาวเก่า
ในส่วนบรรพชนไท-ลาว ที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธและพราหมณ์ เรื่องราวของ“นาค” “นาคราช” จากอินเดีย ก็เข้ากันได้ดีกับคติความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับ “เงือก – จ้าวแห่งนํ้า” ทำให้คำว่า “นาค” เข้าแทนที่คำว่า “เงือก”จนกระทั่งทำให้ความหมายดั้งเดิมของ “เงือก”กร่อนเลือนหายไปเกือบหมด
จากข้อสันนิษฐานข้างต้น ข้าพเจ้าพยายามค้นคว้าทางเอกสารจำนวนมาก
จากการค้นคว้าทางเอกสาร ข้าพเจ้าพบว่าคติความเชื่อเรื่อง “เงือก” แบบดั้งเดิมนั้นมีหลงเหลืออยู่ในกลุ่มชาวไทหลายกลุ่มในดินแดนเวียดนามปัจจุบัน และมีรากร่วมกับวัฒนธรรมพระแม่มังกร-หลงหมู่ 龙 母 文 化 ของชนพื้นเมือง ซีโอว, ลั่วเยวี่ย ในกวางสี และ หนานเยวี่ย ในกวางตุ้ง (คือตำนานเรื่อง ‘มังกรหางกุด’ กับเรื่อง ‘เงือกหางกุด’)
และสำหรับหลักฐานแสดงให้เห็นร่องรอยกระบวนการที่คำว่า “นาค” ค่อย ๆ เข้าแทนที่คำว่าเงือกนั้น พบหลักฐานในกลุ่มชาวไทแดง ที่ซำเหนือ ซำใต้ สปป.ลาว
ข้าพเจ้าขยายการค้นคว้าเรื่อง “เงือก” ในคติความเชื่อของชาวไทในเวียดนาม ไปถึงเรื่อง “นก” ในคติความเชื่อของชาวไทในเวียดนาม อันเกี่ยวพันกับพิธีส่ง “ผีขวัญ” ของคนตายกลับไปสู่เมืองฟ้าพบว่า “เงือก” และ “นกเงือก” มีส่วนสำคัญมากในพิธีกรรมการตาย
และเมื่อศึกษาเปรียบเทียบคติความเชื่อของชาวอิบาน (Iban กลุ่มหนึ่งของชาวดยัคDyak) ในเกาะบอร์เนียว (รัฐกาลิมันตันของมาเลเซีย) พบว่า ชาวอิบานมีคติความเชื่อว่า “นกเงือก” เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของ ฟ้า, ผีฟ้า “ชีวพฤกษ์” – Trees of Life เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของชีวิตบนโลก ส่วน “เงือก” (Dragon) เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของใต้ดิน ใต้นํ้า ชาวอิบานมีพิธีส่ง “ผี andu” กลับไปสู่ดินแดนแห่งคนตายคล้ายกับพิธีส่ง “ผีขวัญ” กลับเมืองฟ้าหรือเมืองแถนของชาวไทในเวียดนาม คือเริ่มแรกต้องเดินทางผ่านแม่นํ้า แล้วขึ้นบก เดิน / หรือบินไปกับนก ไปสู่เฮือนที่บรรพบุรุษของผีขวัญ หรือ andu นั้นอาศัยอยู่
ผลการศึกษาเรื่อง “วัฒนธรรมเงือก” ได้เปิดเผยให้เห็น รากเหง้าวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนพื้นเมืองในอาเซียน ก่อนที่จะรับวัฒนธรรมพุทธ-พราหมณ์ วัฒนธรรมอิสลาม วัฒนธรรมคริสต์ จึงขอฝากผู้ใฝ่รู้ให้ช่วยกันเจาะลึกค้นคว้าต่อไป
ตัวลวง
ในตระกูลภาษา ไท-กะได เราพบคำที่ออกเสียงคล้าย ๆ “ลวง” ในภาษา จ้วง, ผู้ญัย, หลินเกา, ต้ง , มู่เหล่า , เหมาหนาน
ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า “ตัวลวง” นี้ชนตระกูลภาษาไท-กะได ส่วนที่อยู่ใกล้วัฒนธรรมจีนฮั่น ได้รับผลสะเทือนจากวัฒนธรรมจีนฮั่นรับคำว่า “หลง 龙 มังกรจีน” มาใช้ จนแยกไม่ออกระหว่าง “เงี่ยะ” จ้าวนํ้าดั้งเดิมกับ “ลวง”
จ้าวแห่งนํ้าชื่อใหม่ที่มาจาก “หลง-มังกรจีน”
ส่วนคติความเชื่อของชาวไท-ลาวนั้น มีทั้งที่ทับซ้อนแปรเปลี่ยนความเชื่อเรื่อง “เงือก” เป็น“ลวง” และมีทั้งที่ยังจำแนกความต่างกันได้ระหว่าง ตัวเงือก กับ ตัวลวง
ประติมากรรมและจิตรกรรมรูปตัวลวงในลาว บ่งชัดว่ารับอิทธิพลจากตัว “หลง 龙”
ข้าพเจ้าเริ่มแกะรอยองค์ความรู้เรื่องเงือกในข้อมูลภาษาไทย โดยค้นหาบทความเรื่องราวความเชื่อที่เกี่ยวกับนํ้า ในบทความขนาดยาวเรื่อง “สายนํ้ากับความเชื่อและวรรณกรรมไทย–ไท” อาจารย์ ประคอง นิมมานเหมินท์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ผีนํ้า-เงือก” ไว้ว่า
“ความเชื่อเรื่องผีนํ้า หรือ ผีที่อยู่ประจำแม่นํ้า ลำห้วย หนอง บึง เป็นความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อว่า ทุกสิ่งในธรรมชาติมีผีเฝ้าประจำอยูนั่นเอง ไมป่ รากฎหลักฐานว่า ผีน้ำหรือเสื้อนํ้ามีกำเนิดอย่างไร ความเชื่อเรื่องผีนํ้านี้ยังพบในกลุ่มคนไทยในประเทศไทยบางภาค และชนชาติไทหลายกลุ่ม การทำพิธีสืบชะตาแม่นํ้าของคนในบางจังหวัดในภาคเหนือ ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า น่าจะมาจากความเชื่อว่าแม่น้ำมีผีเฝ้าประจำอยู่ เมื่อแม่น้ำแห้งเขินก็ทำพิธีสืบชะตาและทำขวัญให้ เพื่อให้ผีพอใจสบายใจจะได้มีนํ้าใช้อย่างบริบูรณ์ต่อไป เช่นเดียวกับการทำพิธีสืบชะตาบ้านชะตาเมือง ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากความเชื่อว่ามีผีบ้านผีเมืองและขวัญบ้านขวัญเมือง การนับถือผีนํ้าของคนไทย-ไท น่าจะคล้ายคลึงกับที่ชาวอินเดียนับถือพระแม่คงคาว่าเป็นเทพแห่งนํ้าจากข้อมูลที่รวบรวมได้ชนชาติไทมักมีพิธีบูชาบวงสรวงผีนํ้าในโอกาสต่าง ๆ คือ ในวันขึ้นปีใหม่ก่อนการนำนํ้าเข้านาเพื่อทำนา และก่อนที่จะจับสัตว์นํ้า เช่น
ชาวไทเมืองกว่าในเวียดนามจะมีพิธีเสนผีนํ้า ในโอกาสเดียวกับที่เสนผีฟ้าและผีดิน คือในวันที่ ๑๐ หรือ ๑๐ คํ่า เดือนเจียง ซึ่งอยู่ในพิธีกินเจียงหรือพิธีขึ้นปีใหม่ การเสนหรือเซ่นผีฟ้า ผีดินและผีนํ้า เป็นพิธีของชุมชน ชาวบ้านจะช่วยกันออกเงินเพื่อซื้อควายหรือหมู เหล้าและข้าว โดยจัดงานที่เรือนของเจ้าเมือง มีหมอเมืองเป็นผู้ทำพิธี เพื่อให้ช่วยปกปักรักษาผู้คนในเมือง (สุมิตร ปิติพัฒน์และฮวง เลือง ๒๕๔๓,หน้า ๓๙)
ชาวจ้วงจะเซ่นไหว้ผีหรือเทพเจ้าแห่งนํ้าเมื่อจะลงน้ำจับปลาจับกุง้ เซน่ ไหวผี้หรือเทพเจ้าแห่งทะเลสาบก่อนจะเริ่มทอดแห นอกจากนั้นอาจเซ่นไหว้ตามวันเวลาและฤดูกาลประจำปี (หลี่ ฟู่ เชิน และคณะ ๒๕๓๙, หน้า ๒๐๔)
ชาวไทขาวเมืองเติ๊กในเวียดนาม ทำพิธีเซ่นผีนํ้าในเดือนสอง (ประมาณกุมภาพันธ์) ซึ่งเรียกว่า “เสนผีหัวนํ้า” ก่อนการรับฝายเมืองเพื่อนำนํ้าเข้านา การเซ่นผีนํ้านี้ เป็นพิธีกรรมระดับชุมชน คนทั้งเมืองร่วมกันจัด สำหรับเมืองเติ๊กจัดที่วังอ่อม มีการฆ่าควายขาว เมื่อฆ่าเสร็จปรุงเป็นอาหารเลี้ยงกันที่หัวนํ้า ไม่นำกลับบ้าน หลังจากเซ่นผีหัวนํ้าแล้วจึงรับฝายเมือง ส่วนไทดำเซ่นผีนํ้าในเดือนเก้า เครื่องเซ่นประกอบด้วย กล้วย อ้อย ไข่ ข้าว ปลาปิ้ง ผู้ที่เซ่น จะนำเครื่องเซ่น โยนลงไปในนํ้า (ประคอง นิมมานเหมินท์และคณะ2544, หน้า 90 และ 91)
ชาวไทขึนเมืองเชียงตุงมีประเพณีไหว้ผีหนองตุง ซึ่งเรียกว่า เจ้าหนองตุง ในช่วงสงกรานต์ (ประคอง นิมมานเหมินท์ และคณะ, เรื่องเดียวกัน หน้า 99)
ผีนํ้ามีรูปร่างลักษณะอย่างไรไม่ปรากฏชัดเจน จากการสัมภาษณ์ ดร.ฮวงเลือง นักวิชาการชาวไทจากเมืองเติ๊ก สาธารณรัฐเวียดนาม ได้ความว่า คนไทบางกลุ่ม เช่น ไทเมืองเติ๊กในเวียดนามเชื่อว่า ผีนํ้ามีลักษณะเป็นงูใหญ่ที่เรียกว่า “เงือก” หรือ “ตัวเงือก” บางทีจึงเรียกผีนํ้าว่า “ผีเงือก” ภัททิยา ยิมเรวัต ซึ่งสัมภาษณ์ไทดำที่เมืองลอ เมืองลาและเมืองม่วยก็ได้ข้อมูลแบบเดียวกันว่า ผีนํ้า คือ ตัวเงือก (ภัททิยา ยิมเรวัต, เรื่องเดียวกัน หน้า 216)”
ข้าพเจ้าพอสรุปได้ว่า “ผีนํ้า” หรือจ้าวแห่งนํ้าของคนไทในเวียดนามคือ “เงือก”
แอเจียน แอมอนิเย นักสำรวจชาวฝรั่งเศสเดินทางสำรวจดินแดนภาคอีสานในสมัยรัชกาลที่ ๕บันทึกเรื่อง “เงือก” ที่เขาได้ฟังจากชาวบ้านที่พิมูล (ปัจจุบันเรียกพิบูลมังสาหาร) ไว้ในหนังสือ “Voyage Dans Le Laos, TOME PREMIER” (ภาษาไทย “บันทึกการเดินทางในลาว ภาคหนึ่ง พ.ศ.๒๔๓๘” ทองสมุทร โดเร, สมหมาย เปรมจิตต์ : แปล. สถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๓๙ หน้า ๕๕- ๕๖
จากหนังสือ Languges and Cultures of the Kam-Tai [Zhuang- Dong] Group มหาวิทยาลัยมหิดล 1996 หน้า ๑๕๑พญาลวง วัดพระแก้ว จ.เชียงราย มีลักษณะสัตว์ปะปน กันหลายชนิด (ภาพจาก http://www.bloggang. com/m/viewdiary.php?id=artisanbead& month=02-2012&date=08&group=1&gblog=7)
“ที่พิมูลผมได้พบเรื่องประหลาดอีก คือความเชื่อเรื่องเงือก (Noeuek) มังกรนํ้า ซึ่งมีตัวเป็นงูสูงใหญ่เท่าต้นตาล บางคนบอกว่ามีหัวเป็นคน บางคนก็ว่ามีหัวเหมือนหัวงัว บางคนก็ว่าเหมือนหัวไก่ มีหงอนแดง ไม่มีใครเห็นจริง ๆ แต่ว่ามีคนเคยเห็นฝูงควายถูกลากลงไปในนํ้าที่พิมูลและที่อุบล คนไม่สามารถจะครองตัวได้ แขนขาพวกเขาจะอ่อนปวกเปียกหมดกำลัง แล้วหลังจากนั้นหลายวันศพของพวกเขาจะลอยโผล่ขึ้นเหนือนํ้า ขึ้นอืด ตัวดำเหมือนถูกดูดเลือด แต่ไม่มีรอยถูกกัดหรือขีดข่วนแต่ประการใด สิ่งที่ทำร้ายพวกเขานั้นคงไม่ใช่จระเข้ธรรมดาซึ่งมีมากมายในแม่นํ้ามูล แต่ว่าจระเข้เหล่านั้นไม่ทำอันตรายต่อคน มีคนเห็นช้างถูกลากลงไปในนํ้า เกือบจะหายไปอยู่แล้ว ถ้าว่าควาญช้างไม่รีบเอามีดกรีดหนังช้าง เลือดที่ไหลออกทำให้นํ้าเป็นสีแดง เป็นวิธีเดียวที่พวกเขารู้จักเพื่อทำให้เหยื่อปลอดจากการทำร้ายโดยสัตว์ดังกล่าว ความเชื่อเรื่องเงือกในเขมรก็มีเหมือนกับที่ลาว แต่คงไม่เสียประโยชน์ที่จะเพิ่มเติมว่า ในภาษาอานามคำว่า“เงือก” นั้น หมายถึงน้ำทั่ว ๆ ไป”
ในช่วงเดียวกันนั้น (พ.ศ ๒๔๓๕) ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “เงือก” บริเวณปากนํ้ากระดิ่งในราชอาณาจักรลาว ดร.สุเนด โพทิสาน ชาว สปป.ลาว ล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ในหนังสือชีวประวัติเจ้าเพชรราชที่ท่านเขียน มีเรื่องเล่ากันว่าเจ้าฟ้าเพชรราชเคยยิงเงือกแถบปากนํ้ากระดิ่ง เล่ากันว่าเมื่อ พ.ศ ๒๔๓๕ ชาวฝรั่งต้องการเดินทางเข้าไปทางแม่นํ้ากระดิ่ง แต่พบว่าบริเวณปากนํ้ากระดิ่งมี“เงือก” มาก เงือกตัวใหญ่น่ากลัว ฝรั่งจึงร้องเรียนให้ราชสำนักลาวช่วยไปปราบเงือก ทางราชสำนักลาวส่งเจ้าฟ้าเพชรราชไปปราบเงือกบริเวณปากนํ้ากระดิ่ง เล่ากันว่าเจ้าฟ้าเพชรราชยิงได้เงือกตัวใหญ่ และนำกลับไปเวียงจันทน์ด้วยแต่ก็ไม่มีหลักฐานภาพถ่ายเก็บไว้
ข้อมูลเรื่อง “เงือก” ที่เป็น “ฐาน” สำคัญให้ข้าพเจ้าสืบค้นต่อไปจนเกิดเป็นบทความชุดนี้คือบทความเรื่อง The interdependence of the concepts nguak – khan – muang IN TAI CULTURE : Steps towards Understanding ของ Oliver Raendchen ในหนังสือชุด “ด้วยรัก รวมบทความในโอกาสศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อายุ ๗๒ ปี” เล่ม “ชนชาติไท” ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
“มโนทัศน์เรื่อง ‘เงือก – ขวัญ – เมือง’ ในวารสาร วัฒนธรรมไท (Tai Culture) ของ คุณโอลิเวอร์ เรนด์เชิน (Oliver Raendchen,บทความที่ ๘) เป็นการทำความเข้าใจระบบวัฒนธรรมชนชาติไทที่ประกอบด้วยระบบย่อยได้แก่ ระบบการเกษตร (เศรษฐกิจ) ระบบความเชื่อ (ศาสนาที่ไม่ใช่พุทธศาสนา) และระบบคุณค่าทางสังคม (ประเพณี) คุณเรนด์เชินนำเสนอความคิดและคำอธิบายของศาสตราจารย์เกิ่มจอง (Cam Trong) เรื่อง “บ้าน-เมือง” และ “ขวัญ” ของคนไทดำ โดย “ขวัญ” เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ของชีวิต ขวัญเป็นเสมือนเงาสถิตตามอวัยวะต่าง ๆ ของคน ดังคำกล่าวว่า “สามสิบขวัญอยู่ข้างหน้า ห้าสิบขวัญอยู่ข้างหลัง” สอดคล้องกับภาวการณ์ดำรงอยู่ของมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างโลก ของคนเป็นและโลกหลังความตายของมนุษย์ หากขวัญหนีออกไปจะกลายเป็นผีขวัญ และสิ่งมีชีวิตจะกลายสภาพเป็นผี ในกลุ่มคนไทมีจำนวนขวัญแตกต่างกัน นอกจากนี้ ขวัญยังมีหน้าที่สำคัญเชื่อมโยงแนวคิดบ้าน-เมือง (ซึ่งระบบ “บ้าน – เมือง” นั้น เป็นพัฒนาการทางสังคมจาก ความสัมพันธ์ของระบบเครือญาติวงศ์วานของคนไทที่สืบทอดมา) ในรูปลักษณ์ “ผี-ขวัญ” ระหว่างเมืองคน และเมืองผี ขณะที่บทบาทของ “เสื้อ” เสมือนผู้ปกปักรักษา ไม่เพียงเท่านั้น เขายังแสดงถึงระดับชั้นของเมืองและแถนในความคิดของคนไทดำ ตลอดจนมโนความคิดเกี่ยวกับ “เงือก” หรือ “นาค” ไว้อีกด้วย”
จิตรกรรรมลาว ข้างบนคือตัวเหรา มีหงอน มีเขา มีขา และมีหางเป็นปลา รูปมังกร (ตัวลวง) มีขา มีเขา ไม่มีหงอน รูปนาค หรือนาคราช มีหงอน ไม่มีขา ไม่มีเขา รูปแข้ หรือจระเข้ มีแต่ขา ไม่มีเขา ไม่มีหงอนรูปนาคราชลาวผ้าทอไทแดง ซำเหนือ ลายตัวลวง (มังกรจีน) (จาก หนังสือ “TENDING THE SPIRITS : The Shamanic Experience in Northern Laos” สำนักพิมพ์ White Lotus)หลุมฝังศพยุคหินใหม่ ซีสุ่ยพอ มณฑลเหอหนาน พบรูป หลง-มังกรจีน รูปเสือ ทำจากเปลือกหอย ฝังเคียงข้าง กับศพ “หลง 龙” มังกรจีนฮั่นลุ่มแม่นํ้าหวงเหอนั้นมีขา อย่างแน่นอนนาคและนาคินี Hoysala sculpture of a naga couple in Halebiduผ้าทอไทแดง ซำเหนือ ลายเงือกหางกุด (จากหนังสือ “TENDING THE SPIRITS : The Shamanic Experience in Northern Laos” สำนักพิมพ์ White Lotus)วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๗ ชาวประมงใน อ.ลองซเวียน (Long Xuyen) จ.อานซยาง (An Giang) ประเทศ เวียดนาม จับปลาตูหนาตัวหนึ่งขึ้นจากแม่นํ้าเหิ่ว (Hau) ซึ่งเป็นลำนํ้าสาขาของแม่นํ้าโขงในระบบที่ราบปากแม่นํ้า วัดความยาวได้ ๑.๖ เมตร นํ้าหนัก ๑๑ กิโลกรัม (ขอบคุณขอมูลและภาพจากผู้จัดการออนไลน์ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗)ปลาตูหนา [Anguiila marmorata] หรือปลาไหลลาย/ ปลาไหลยักษ์ เป็นปลานํ้าจืดที่เชื่อกันว่ามีวิวัฒนาการมา จากปลาไหลทะเล อาศัยอยู่ในน่านนํ้าย่านนี้ กับในอีก หลายประเทศเขตร้อนทั่วโลก เคยมีอยู่มากมายทั้งใน แม่นํ้าเจ้าพระยาและแม่นํ้าโขง ลงไปจนถึงลำนํ้าต่างๆ ในภาคใต้ของไทย และเท่าที่มีการบันทึกเอาไว้ตัวขนาด ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศ มีความยาวประมาณ ๑.๕ เมตร
***
บทความที่เกี่ยวข้อง
ว่าด้วย เงือก (๒) “ตูเงียะ” เงือกของชาวจ้วงในกวางสี
คอลัมน์ บทความพิเศษ นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๐| มิถุนายน ๒๕๕๙
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220