“แคนโหล” แคนซิ่งอีสาน

ภาพหมอลํา หมอแคน บนกลองมโหระทึก

“ไผว่าเมืองอีสานฮ้าง อยากจูงแขนท่านไปเบิ่ง เสียงพิณยังกล่อมแดน เสียงแคนยังกล่อมบ้าน สิเพฮ้างบ่อนจั่งได๋”

ผญาบทนี้เป็นผญาที่บอกกล่าวถึงความไม่ร้างไร้ของแผ่นดินอีสาน โดยบรรยายถึงเรื่องราวของเสียงดนตรีที่มีอยู่คู่กับผืนแผ่นดินถิ่นอีสาน เสียงแคนเสียงพิณได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมของแผ่นดินอีสานที่คนทั้งหลายไม่อาจปฏิเสธได้ เปิดผ้าม่านกั้งครั้งนี้จึงจะนําท่านร่วมถอดบทเรียน โดยเพ่งพินิจเรื่องราวของแคนในวันวานเพื่อการเดินทางสู่อนาคต

หญิงทําแคน แถนฟังลํา

นิทานเรื่องหญิงม่ายเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นแคนขึ้นเป็นคนแรก เป็นเรื่องราวมุขปาฐะที่บอกเล่าต่อกันมา คู่กับภาพ หมอลํา หมอแคน และเรอส่งวิญญาณที่ปรากฏบนกลองมโหระทึกอายุกว่าพันปีที่พบทั่วไปในอุษาคเนย์บอกเล่าถึงเรื่องราวของแคนว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างมนุษย์ในเมืองคนกับแถนในเมืองฟ้า เมื่อภาษาในการสนทนาปกติเป็นภาษาของมนุษย์ แล้วการจะสื่อสารกับแถนผู้ทรงอานุภาพ จึงต้องมีความพิเศษยิ่งขึ้น โดยใช้ภาษาร่ายประกอบกับเสียงแคน ที่พัฒนามาเป็นหมอลำในปัจจุบัน

ปริศนาเรื่องหญิงม่ายทําแคน คงยากที่จะหาทางพิสูจน์ความจริงแต่ปริศนาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าระบบสังคมชนเผ่าในครั้งบรรพกาลจะมีผู้หญิงเป็นหัวหน้าเผ่า ผู้หญิงเป็นผู้ทําหน้าที่สื่อสารกับเมืองฟ้า ผู้หญิงเป็นผู้นําวิญญาณจากเมืองฟ้ามาเกิดเป็นมนุษย์โดยให้อยู่ในนํ้าเต้าปุ้งคือครรภ์ของตนก่อนจะคลอดออกมาเป็นคน และเมื่อมนุษย์เสียชีวิตลงผู้หญิงเป็นผู้ทําหน้าที่นําวิญญาณผู้ตายส่งกลับสู่เมืองฟ้า ด้วยบทสวดศักดิ์สิทธิ์เช่นที่ยังพบในวัฒนธรรมไทดํา

เมื่อบทบาทของผู้หญิงมีความสูงส่งในฐานะเป็นผู้ให้กําเนิดสรรพสิ่ง เป็นหัวหน้าเผ่าหัวหน้าพิธีกรรม การประดิษฐ์แคนจึงถูกยกย่องว่ามาจากผู้หญิง โดยมีแถนบนเมืองฟ้าคอยฟังเสียงแคนเสียงลำของหญิงในเมืองคนที่ประกอบพิธีกรรม ก่อนคติพราหมณ์และพุทธจะเข้ามายกย่องบทบาทผู้ชายแทนคติผี

จากเสียงกล่อมแถนเป็นเสียงกล่อมคน

ภาพคนเป่าแคนในกลองมโหระทึกไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นแคนชนิดใด ทําจากวัสดุอะไร มีการกําหนดตําแหน่งเสียงไว้อย่างไร แต่ด้วยความไม่ซับซ้อนของภาษาในยุคบรรพกาลนั้น เชื่อว่าเสียงแคนที่ขับกล่อมคงไม่ได้มีความซับซ้อนตามไปด้วย โดยทั่วไประบบเสียงของดนตรีพื้นเมืองของชนเผ่าต่าง ๆ จะเป็นระบบ ๕ เสียง หรือ เพนทาโทนิค สเกล (Pentatonic Scale) ซึ่งระบบเสียงดังกล่าว พบว่า เป็นระบบเดียวกับแคนหกที่มีเพียง ๖ ลูก มีเสียงโน้ต ๕ เสียง แต่ที่น่าประหลาดใจคือ แคนเจ็ด แคนแปด แคนเก้า ของกลุ่มคนในลุ่มแม่นํ้าโขงกลับมีเสียงครบทั้ง ๗ เสียงตามระบบเสียงของดนตรีสากล หรือ ไดอาโทนิค สเกล (Diatonic Scale) ซึ่งระบบ ๗ เสียงของแคน มีมายาวนานจนไม่อาจสืบหาต้นกำเนิดของการวางระบบเสียงนี้ได้ และเชื่อว่าจะยังคงอยู่คู่ลุ่มแม่นํ้าโขงต่อไปไม่สิ้นสูญ

ในสองฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งฝั่งไทยและลาว มีการวางตําแหน่งลูกแคนและเสียงไว้เหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันที่ชื่อเรียกลูกแคนแต่ละลูก ทําให้สันนิษฐานได้ว่าแคนมีต้นกําเนิดและพัฒนาการร่วมกันเป็นสายเดียว ก่อนจะแพร่หลายออกไปทั่วทั้งดินแดนสองฝั่งแม่นํ้าโขง ชื่อลูกแคนและตําแหน่งเสียงของแคนมีกําหนดไว้ดังนี้ (ดูตาราง)

ท่อสร้างเสียง ฟิสิกส์เมื่อครั้งบรรพกาล

เสียงของแคนเกิดจากลิ้นโลหะบริเวณเต้าแคนที่ฝังไว้ในลูกแคนแต่ละลูก โดยลิ้นแคนจะเกิดการสั่นสะเทือนในขณะดูดหรือเป่า หลักการในการเกิดเสียงของแคนเป็นเรื่องของคลื่นเสียงตามหลักฟิสิกส์ อาศัยหลักการสั่งพ้องของเสียงในท่อ หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คําว่า Sound Resonance ขณะที่เสียงเคลื่อนที่ผ่านตัวกลางอนุภาคของตัวกลางจะสั่งด้วยความถี่เดียวกับความถี่ของแหล่งกำเนิด คือเสียงจาก “ลิ้นแคน” ทำให้เกิดเสียงในลูกแคนแต่ละลูก เมื่อกำหนดให้ระยะปลายท่อแต่ละท่อต่างกัน จึงได้เสียงที่มีความถี่ต่างกัน

จากหลักการทางฟิสิกส์เรื่องการสั่นพ้องของเสียงในท่อ ช่างคนจะเริ่มทำแคนจาก “แม่ทุ้ง” ซึ่งแต่เดิมจะประมาณระยะการเจาะรูแพวจากการ “แทกโป้” คือการใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายและขวาวางสลับจากปลายลิ้นแคนไปถึงระยะที่ต้องการ แล้วจึงเจาะรูแพว การเรียกขนาดของแคนจึงเรียกตามระยะที่วัดนิ้วหัวแม่มือหรือนิ้วโป้วัดลงไปถึงรูแพวท้ายที่อยู่ด้านล่างของกู่แคน “แม่ทุ้ง” เป็นชื่อแคน เช่น “แคนแปดโป้” คือแคนที่ “แม่ทุ้ง” มีระยะจากปลายลิ้นลงไปถึงรูแพวได้จํานวน ๘ โป้ เป็นต้น

ระดับเสียงของลูกแคนแต่ละลูกเกิดจากสัดส่วนของระยะรูแพวท้ายและปลายลูกแคน ซึ่งถูกกําหนดไว้ในอัตรา ๑ ต่อ ๓ กล่าวคือ จากปลายลิ้นถึงรูแพวท้ายซึ่งอยู่ด้านล่างมีระยะ ๑ เท่า จากปลายลิ้นถึงรูแพวปลายที่อยู่ด้านบนมีระยะ ๓ เท่าด้วยหลักการนี้ทําให้ทราบว่าระยะจากปลายลิ้นถึงรูแพวบนของ “แม่ทุ้ง” จะมีความยาวเป็นสามเท่า คือ ๒๔ โป้นั่นเอง

ในอดีตจะตัดแคนให้พอดีกับเสียงของหมอลํา โดยหมอลําแต่ละคนจะจดจําว่าเสียงของตนพอดกีบแคนขนาดกี่โป้ เมื่อมีโอกาสสั่งทำแคนใหม่จะได้บอกขนาดเพื่อให้ช่างทำแคนทำให้ได้ระดับเสียงที่ตรงกับเสียงลําของตนโดยช่างแคนจะถามหมอลําว่าต้องการแคนกี่โป้ถือเป็นอันรู้กันระหว่าง หมอลํา หมอแคน และช่างแคน

การตัดแคน

การทําแคนใหม่ เรียกว่า “การตัดแคน” โดยขั้นตอนที่สําคัญคือการกําหนดระยะเจาะรูแพว และการวางตําแหน่งลิ้นแคน การตัดแคนจะเริ่มด้วยการทํา “แม่ทุ้ง” ซึ่งเป็นลูกหลักที่มีเสียงต่ำที่สุดมีระยะรูแพวยาวที่สุด  “แม่ทุ้ง” จึงมีความสําคัญทั้งในการกําหนดระดับเสียงของแคนดวงนั้น และเป็นตัวกําหนดรูปลักษณ์ของแคนว่าจะมีความยาวเท่าใดการวัดระยะในการเจาะรูแพวของลูกแคนแต่ละลูกจะหาตําแหน่งเจาะรูแพวด้านท้ายก่อน จากนั้นจึงเจาะรูแพวด้านบนในระยะสามเท่าของรูแพวด้านท้าย

สูตรในการวัดระยะเพื่อเจาะรูแพวตามตําราของช่างแคนโบราณ มีดังนี้

๑. “แม่ทุ้ง” รูแพวท้ายวัดโป้ (คือใช้หัวแม่มือวัดระยะว่าต้องการตัดแคนกี่โป้)

๒. “แม่แก่” แทกแต่ปลายลิ้นฮอดรูแพวปลายทุ้ง ทบสี่ได้รูแพวท้ายแม่แก่

๓. “แม่ก้อยขวา” แทกแต่ปลายลิ้นฮอดรูแพวท้ายแม่ทุ้ง ทบใหญ่ (๒ เท่าของระยะรูแพวท้ายแม่ทุ้ง) แบ่งเป็นสามส่วน ได้รูแพวท้ายแม่ก้อยขวา

๔. “สะแนน” แทกแต่ปลายลิ้นฮอดรูแพวปลายแม่แก่ ทบสี่ได้รูแพวท้ายสะแนน

๕. “แม่เซ” แทกแต่ปลายลิ้นฮอดรูแพวปลายสะแนน ทบครึ่งได้รูแพวท้ายแม่เซ

๖. “แม่ก้อยซ้าย” แทกแต่ปลายลิ้นฮอดรูแพวปลายแม่เซ ทบสี่ได้รูแพวท้ายแม่ก้อยซ้าย

๗. “แม่เวียง” แทกแต่ปลายลิ้นรูแพวปลายโป้ซ้าย ทบสามได้รูแพวท้ายแม่เวียง

เมื่อได้ลูกแคน ๗ ลูกหลักแล้ว จึงตัดลูกแคนที่มีเสียงคู่กันอีก ๗ ลูก และลูกเสพ ๒ ลูก โดยลดระยะรูแพวปลายและรูแพวท้ายลงครึ่งหนึ่งจากลูกหลัก ดังนี้

๑. “ฮับทุ้ง” ลดระยะรูแพว “แม่ทุ้ง” ลงครึ่งหนึ่ง

๒. “แก่น้อย” ลดระยะรูแพว “แม่แก่” ลงครึ่งหนึ่ง

๓. “ก้อยขวา” ลดระยะรูแพว “แม่ก้อยขวา” ลงครึ่งหนึ่ง

๔. “สะแนน” ตัดระยะรูแพวเท่ากัน กับ “สะแนน”

๕. “โป้ซ้าย” ลดระยะรูแพว “แม่เซ” ลงครึ่งหนึ่ง

๖. “ก้อยซ้าย” ลดระยะรูแพว “แม่ก้อยซ้าย” ลงครึ่งหนึ่ง

๗. “เวียง” ลดระยะรูแพว “แม่เวียง” ลงครึ่งหนึ่ง

๘. “เสพซ้าย” ลดระยะรูแพว “สะแนน” ลงครึ่งหนึ่ง

๙. “เสพขวา” ลดระยะรูแพว  “ฮับทุ้ง” ลงครึ่งหนึ่ง

จากระยะเจาะรูแพวทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น จะทําให้ได้ลูกแคนแปดครบทั้ง ๑๕ ลูก มี ๑๕ เสียง พร้อมที่จะประกอบเข้ากับเต้าแคน  แต่ต้องมีการตรวจสอบเสียงอีกครั้งว่าเมื่อเป่าร่วมคู่กันกับลูกแคนอื่นแล้วจะกล่อมกันไพเราะหรือไม่ โบราณท่านว่า “ให้มันกล่อมกัน อย่าให้มันเถียงกัน มันบ่ม่วน”

ให้มันกล่อมกัน : เสียงกิน เสียงพาด เสียงเสมอ

ลูกแคนที่ตัดรูแพวเสร็จต้องมีการแต่งเสียงให้ “กล่อมกัน” โดยช่างแคนจะเป่าเทียบเสียงที่ร่วมคอร์ดกัน เสียงที่เข้าคู่กัน และเสียงที่เท่ากันเรียกว่า “เสียงกิน” “เสียงพาด” และ “เสียงเสมอ”

เสียงกิน คือเสียงร่วมคอร์ด ถือเป็นความชำนาญพิเศษของช่างทำแคน เช่น ลา กับ โด, ลา กับ เร, ลา กับ มี, เร กับ ซอล, ซอล กับ โด, โด กับ ฟา, ฟา กับ ที เป็นต้น

เสียงพาด คือเสียงโน้ตเดียวกันต่างระดับเสียงกัน เช่น โดสูง กับ โดตํ่า, เรสูง กับ เรตํ่า, มีสูง กับ มีตํ่า เป็นต้น

เสียงเสมอ คือ คู่ที่มีเสียงเสมอกัน มีเพียงคู่เดียวคือเสียงซอล คือแพรซ้ายลูกที่หกกับแพรขวาลูกที่สาม (เนื่องจากมีเสียงเสมอหนึ่งคู่ จึงทําให้แคนแปด มี๑๖ ลูก แต่มี๑๕ เสียง)

เมื่อเตรียมลูกแคนแต่ละลูกได้แล้ว จึงทำการชุบลิ้นแคนโดยนำเปลือกหอยแม่น้ำมาฝนกับนํ้าด้วยหินแล้วนํามาทาที่บริเวณลิ้นเพื่ออุดรอยรั่วหรือช่องว่างของลิ้นแคนกับลูกแคน แคนที่ติดเสร็จใหม่นั้น ถึงแม้ว่าจะมีการเทียบเสียงจนได้ระดับเสียงที่ตรงตามต้องการแล้ว แคนที่มีคุณภาพจะต้องผ่านการเป่าจนกระทั่งลิ้นแคนที่กระดกไปมายืดหยุ่นจนอยู่ตัว

การตีและสับลิ้นแคน ขั้นตอนสําคัญในการสร้างจุดกําเนิดเสียงของแคน

แคนโหล แคนซิ่งอีสาน

ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๙ ผู้เขียนมีโอกาสเรียนรู้เรื่องแคนจากช่างแคนบ้านหนองตาไก้ ตําบลสีแก้ว จังหวัดร้อยเอ็ด ชุมชนทําแคนสําคัญของเมืองร้อยเอ็ด โดยมีช่างพรหมา และช่างสมศรี เป็นครูบาใหญ่ที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เขียน ซึ่งฝึกเป็นลูกมือแต่ยังไม่ได้จริงจังกับการเป็นช่างแคน เพราะคิดว่าท่านยังอยู่กับเราอีกนาน และยังมีผู้ชำนาญอีกจำนวนไม่น้อยจึงยินดีที่จะเป็นผู้ซื้อมากกว่าผู้สร้าง จนกระทั่งครูทั้งสองท่านจากไป ผู้เขียนจึงได้ห่างหายจากเรื่องราวของช่างแคนมากว่า ๒๐ ปี จดจําได้เพียงองค์ความรู้ที่ท่านถ่ายทอดไว้

จนกระทั่ง ๖ ปีมานี้ผู้เขียนได้พบกับ ช่างไสว ประติโยพันธุ์ จากบ้านท่าเรือ จังหวัดนครพนม ที่มาสาธิตการทําแคนในงานจิมทอมป์สัน ฟาร์ม ทําให้ได้คลุกคลีและทบทวนองค์ความรู้เรื่องแคนเรื่อยมา จนกระทั่ง ในงานจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ๕๙ มีแคนแปดและแคนโชว์ (๑๐ ลูก) ที่แตกพังจํานวนหนึ่งที่จะถูกทิ้ง มองดูเหมือนอาการผู้ป่วยหนัก หากต้องซ่อมใหม่วัสดุที่เตรียมไว้มีไม่พอ ด้วยความเสียดายแคนเหล่านั้น ได้จุดพลังให้ผู้เขียนต้องกลับมาฟื้นวิชาช่างแคนอีกครั้งหนึ่งเพื่อจัดการกับเศษแคนเหล่านั้น โดยการทำแคนครั้งนี้มี อ.เกียรติศักดิ์ อาจมาลา หรือ อ.ต้อม ครูดนตรีไทยหัวใจอนุรักษ์แห่งเมืองโคราช และ ณัฐชนน บุตรพินธุ์ หมอแคนโฟร์คนํ้าโตนโสก แห่งเมืองปักธงชัย ร่วมสร้างสรรค์ ร่วมทดสอบ

ครั้งแรกผู้เขียนคิดเพียงเก็บเศษมาทำแคนสิบ คือเลือกลูกแคน ๑๐ ลูก จากแคนแปดมาจัดเข้าในเต้าแคนโชว์วางเสียงตามแบบที่อาจารย์สําเร็จ คําโมง ได้พัฒนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ ซึ่งแคนสิบนี้นอกจากจะมีเสียงที่ครบและเรียงลําดับตําแหน่งเสียงคล้ายลิ่มนิ้วของคีย์บอร์ดแล้วยังมีเสียงเสพสําหรับประสานเป็นเสียงยืน ๓ เสียง คือ เสียง “เร” สำหรับประสานลายสร้อย เสียง “ซอล” สําหรับประสานทางเมเจอร์ และเสียง “ลา” สําหรับประสานทางไมเนอร์ แต่โจทย์ของผู้เขียนต่างกัน คือต้องการให้ “ประหยัด ประโยชน์ ประสิทธิภาพ เหมือนในการใช้งานแตกต่างในรูปลักษณ์” จึงได้เลือกใช้ลูกแคนจํานวน ๑๒ ลูก วางตําแหน่งเสียงที่ใกล้เคียงกับแคนแปดซึ่งหมอแคนคุ้นเคยอยู่แล้ว เพื่อให้หมอแคนสามารถเป่าได้ไม่ยากนัก และปรับรูปร่างลักษณะให้แปลกตา  โดยตัดปลายและท้ายลูกแคนที่ตําแหน่งรูแพว การจัดวางตําแหน่งเสียงแคนจัดวางไว้ดังนี้

เมื่อแคน ๑๒ ลูก สําเร็จเป็นรูปร่างและทดสอบจนแน่ใจว่า ใช้เป่าลายหลักโบราณทั้ง ๖ ลาย ได้แก่ ลายสุดสะแนน ลายโป้ซ้าย  ลายสร้อย ลายใหญ่ ลายน้อย และลายเซ รวมทั้งเป่าลายบรรเลงประกอบวงดนตรีพื้นบ้านอีสานได้อย่างสมบูรณ์แล้ว สิ่งที่ยากที่ สุดคือการตั้งชื่อแคนชนิดใหม่นี้ ซึ่งมีคนร่วมให้ชื่อไว้หลายชื่อ อาทิ แคนบ้า แคนห่าว แคนซิ่ง แคนสิบสอง แคนหมื่น แคนกายครู

ที่สุดแล้วมาชอบใจที่ชื่อ “แคนโหล” ด้วยเหตุ ๒ ประการ กล่าวคือ เริ่มต้นจากเศษแคนที่เขาจะทิ้งคือเป็น “ของโหล” มีลูกแคนจํานวน ๑๒ ลูก เท่ากับจํานวน “หนึ่งโหล”

ปัจจุบันดนตรีและการละเล่นในพิธีกรรมหลายอย่าง ได้ปรับตัวใหม่เพื่อรับใช้สังคมยุคโลกาภิวัตน์ จากหมอลํากล่อมแถนมาเป็นหมอลํากล่อมคน จนพัฒนาท้าทายกลายเป็น “หมอลําซิ่ง” ที่บางท่านยังไม่ยอมรับว่าหมอลําซิ่งเป็นหมอลำประเภทหนึ่ง เพราะติว่าแหกขนบจนหมดงามตามทัศนะผู้รักอดีต เช่นนี้คงไม่ต่างกันกับรูปลักษณ์และหลักการวางเสียง ของ “แคนโหล แคนซิ่งอีสาน” ที่ท่านอาจจะบอกว่า “แหกคอกนอกครู”

จากเรื่องราวของแคนที่ผู้เขียนบอกเล่าในเปิดผ้าม่านกั้งตั้งแต่ต้น เพื่อยืนยันว่าแคนโหลไม่ได้เดินมาอย่างไร้ราก  แบบแหกคอกนอกครู การประดิษฐ์แคนชนิดใหม่ เรียกว่า “แคนโหล” นี้มิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากแต่เกิดจากความตั้งใจที่ทําของเสียให้เป็นของสวยที่ยังคงมีประโยชน์ต่อไป  โดยอาศัยองค์ความรู้ที่มีอยู่ก่อนมาต่อยอดบนหลักการจัดการทรัพยากรให้ประหยัด เกิดประโยชน์ และมีประสิทธิภาพ

เรื่องราวในเปิดผ้าม่านกั้งครั้งนี้มิได้หมายจะบอกเล่าเรื่องราวของการทําแคนชนิดใหม่ให้เป็นสาระหลัก แต่ตั้งใจจะปักหมุดบอกจุดยืนเน้นยํ้าอุดมการณ์ว่าการทําสิ่งใดที่ “ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต” เป็นกลไกหนึ่งจะช่วยตอบโจทย์สังคมในยุควิกฤต ตามที่ “ทางอีศาน” ได้ปลุกปณิธานนี้ไว้ให้กับผู้อ่านทุกท่านที่จะก้าวไปพร้อมกันท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ … สวัสดี…

***

คอลัมน์ เปิดผ้าม่านกั้ง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๘ | กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ตํานานพื้นบ้านในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง (๒)
ประวัติศาสตร์จากสาเกเชื่อม
ศาสนาวานนี้ วันนี้ และวันหน้า
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com