“แตกเมือง”
ถ้าปีใดวันขึ้น หรือแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันอังคาร หรือแรม ๕ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันอังคาร เชื่อกันว่าเป็นวันร้อน วันอัปมงคล วันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ คนไทภาคอีสานมีประเพณี “แตกบ้าน” เพื่อแก้เคล็ด
พิธีในวันดังกล่าว เริ่มโดยปราชญ์หรือผู้นำทางจิตวิญญาณ ป่าวประกาศให้ชาวบ้านรับรู้ให้จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค แล้วแบกขนสิ่งของในลักษณาการอพยพออกจากหมู่บ้าน ไปพักพิงอยู่ตามริมห้วยหนองคลองบึง สถานที่ร่มเย็น ยามเที่ยงก็หุงหาอาหารกินเลี้ยงสังสรรค์กัน บ่ายคล้อยผู้นำด้านพิธีกรรมแจ้งว่า เหตุเภทภัยร้ายได้ผ่านพ้นไปแล้ว ให้กลับคืนสู่หมู่บ้านที่สวยงามที่เปี่ยมคนดีมีศีลธรรมกันได้ ครั้นเข้าถึงหมู่บ้านก็จัดข่วงมโหรีเป่าแคนร้องลำสนุกสนาน
วันนี้ด้วยโรคโควิด-19 ลามระบาด พรากฆ่าผู้คนไปทั่วโลก มีประกาศปิดเมืองปิดประเทศ ห้างร้านหยุดกิจการ ผู้คนตกงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีกิน จึง “แตกเมือง” หลั่งไหลเดินทางออกต่างจังหวัด
วิกฤติขั้นอุกฤษฏ์จน “แตกเมือง” เกิดมีมาแล้วหลายครั้ง เหตุการณ์ฟองสบู่แตก – โรคต้มยำกุ้ง น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ วิกฤติการณ์ทุกครั้งได้ความอบอุ่นเกื้อกูลจากหมู่บ้าน ได้ความบริสุทธิ์ ความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติ เป็นที่รองรับให้ทุกสรรพมนุษย์มีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย
การ “แตกเมือง” ครั้งนี้ สำแดงให้เห็นอย่างตระหนักชัดว่า หมู่บ้านเกือบแปดหมื่นหมู่บ้านทั่วทุกภาค ยังเป็นแก่นแกน เป็นหลักใจหลักชัยของผู้คนร่วมชาติร่วมแผ่นดิน
การ “แตกเมือง” ครั้งนี้ ผู้คนพลเมืองต้องพลิกแปงหมู่บ้านให้เข้มแข็ง พูนสุข พัฒนาต่อยอดงานเกษตรกรรม สร้างอุตสาหกรรมการเกษตร มุ่งมั่นเกษตรอินทรีย์ ขยายหมู่บ้านออกไป โดยพัฒนาต่อเติมเถียงนาให้เป็นบ้านอยู่อู่นอนที่รุ่งเรืองมั่นคง ขุดสระ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ปลา ทำไร่ทำนาแบบปราณีต บนที่ดินเพียงไม่กี่ไร่สามารถดำรงชีพได้อย่างเพียงพอ กระทั่งสร้างรายได้ให้เป็นเงินแสนเงินล้าน ฟื้นฟู สร้างสรรค์ประเพณี และร่วมงานปรุงแต่งภูมิทัศน์โดยทั่วไปให้สวยสดงดงาม