วัดมณีวนารามชาวบ้านเรียก“วัดป่าน้อย” ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สร้างราวปลายสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก วัดแห่งนี้มีสำนักเรียนพระภิกษุสงฆ์และสามเณรมายาวนาน ประกอบกับเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเมือง และมีพระชั้นผู้ใหญ่ปกครองมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เต็มไปด้วยมรดกอันทรงค่า ทั้งด้านพระพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ พระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) เป็นที่นับถือของชาวเมืองอุบล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้านายฝ่ายต่าง ๆ การศึกษาของสำนักฯนี้มีชื่อเสียงเรื่องการเรียนการสอนมูลกัจจายน์ ร่องรอยของความรุ่งเรืองนั้น เห็นได้จากคัมภีร์ใบลาน หลากยุคหลายสมัยที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันจำนวนกว่า 5,000 ผูก
สาเหตุที่พบใบลานเป็นจำนวนมาก คณาจารย์และนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้เข้าไปศึกษา ในรายงานการศึกษาระบุว่า การเรียนมูลกัจจายน์ของพระสงฆ์แต่โบราณนั้น เอกสารที่ใช้เรียนคือคัมภีร์ใบลาน ด้วยเหตุนี้ทำให้วัดมีคัมภีร์ใบลานจำนวนมาก
เนื้อหาสาระที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลาน ส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์ทางพระพุทธอย่างพระไตรปิฎกมีทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก พร้อมกับเรื่องอื่นๆ อีกราว 398 เรื่อง ตัวอักษรที่จารในคัมภีร์ใบลาน มีทั้งอักษรขอม อักษรธรรม อักษรไทยน้อยและอักษรไทยปัจจุบัน ขนาดของใบลาน ส่วนใหญ่เป็นใบลานขนาดยาว
การจารใบลานเพื่อเป็นตำรานั้น ในตอนหลังเมื่อมีการเรียนตามแบบแผนส่วนกลาง เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ทำให้มีการเรียนภาษาบาลีและพระไตรปิฎกผ่านตัวอักษรภาษาไทย ดังนั้นการใช้ตำราใบลานเพื่อการเรียนรู้จึงลดความสำคัญลง การนำคัมภีร์ใบลานมาใช้ประโยชน์คงเหลือเพียงใช้อ่านและใช้เทศน์ในงานบุญประเพณีต่างๆ เช่น เทศน์มหาชาติ แต่ก็ยังมีผู้นำคัมภีร์ใบลานมาถวายเพื่อทำบุญตามความเชื่อเรื่องอานิสงส์ในการถวายคัมภีร์ใบลาน เป็นเหตุให้ใบลานยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้น บูรพาจารย์แห่งวัดมณีวนารามได้เก็บรักษาไว้ และยังคงสืบมาจนถึงปัจจุบัน
การนำคัมภีร์ใบลานมาถวายวัด หรือนำตำราเรียนของพระภิกษุสงฆ์มาถวายวัด ผู้เขียนเคยไปหมู่บ้านคนไทยในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดียพบว่ามีประเพณีนำเอาตำราเรียน คัมภีร์ต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนามาถวายวัดเช่นกัน
สำหรับการเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานในสมัยก่อน ทางวัดเก็บในตู้ลายรดน้ำลงรักปิดทองและหีบพระธรรม ภายหลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ได้สร้างตู้เก็บคัมภีร์ใบลานขึ้นใหม่ และมีการสำรวจและจัดหมวดหมู่คัมภีร์ใบลานโดยนักวิชาการ จากคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคามและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี
จากการสำรวจและจัดเก็บของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เห็นคุณค่าของใบลาน อันเป็นมรดกของบรรพชน ได้มีการแยกหมวดหมู่ใบลานตามเนื้อหาที่ปรากฏ ข้อมูลโดยสังเขปคือ คัมภีร์พระไตรปิฎกจำนวน 99 มัด คัมภีร์บาลี 183 มัด บทสวดมนต์ 9 มัด ชาดก 50 มัด ธรรมะทั่วไป 24 มัด นิทานพื้นบ้าน 4 มัด ตำนาน พระพุทธศาสนา 8 มัด ตำรายา 1 มัดและได้จัดทำบัญชีรายชื่อวรรณกรรมหมวดต่างๆเพื่อการ ค้นคว้าไว้สำหรับผู้สนใจ
หนึ่งในอาจารย์ที่เข้าไปศึกษาใบลาน ผศ.ดร.บุญชู ภูศรี อาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาไทยและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาในใบลานว่า ใบลานใช้บันทึกตำราทางพระพุทธศาสนา พระคัมภีร์ เรื่องราวต่างๆ ในพระไตรปิฎก ใบลานในวัดมณีวนารามพบลักษณะพิเศษคือ มีพระสูตรประจำท้องถิ่น ซึ่งเชื่อว่าปราชญ์ประจำท้องถิ่นเป็นผู้แต่งขึ้นมาเอง และใช้ในท้องถิ่นของตน เนื้อเรื่องจึงไม่เหมือนกับถิ่นอื่น ๆ
ด้านประวัติศาสตร์ ผศ.ดร.บุญชู ชี้ให้เห็นคุณค่าว่า ทำให้ทราบการอพยพของผู้คนในชุมชน คนที่เข้ามาอยู่ในท้องถิ่น ส่วนหนึ่งแม้จะอพยพเข้ามาราว 300 ปีก็จริง แต่เนื้อหาในใบลานพบว่ามีเก่ากว่านั้น แสดงให้เห็นว่ามีการนำเอาใบลานจากถิ่นอื่นเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มาจากเวียงจันท์ และใบลานยังบันทึกเรื่องราวของเจ้าอาวาสรูปก่อน ๆ ซึ่งทำให้คนรุ่นหลังได้สืบค้น และทราบว่าเจ้าอาวาสมีประวัติความเป็นมาอย่างไร
ในด้านภาษาก็พบว่า มีพัฒนาการการใช้ภาษา เริ่มจากจารด้วยภาษาท้องถิ่น ต่อมาก็เริ่มมีภาษาไทยภาคกลางเข้ามาปน เริ่มสังเกตุได้จากการใช้ไม้เอก ไม้โท ตัวเลข และคำศัพท์ต่าง ๆ ที่รับอิทธิพลมาจากภาษาไทยที่ใช้กันอยู่ในภาคกลาง ส่วนเนื้อหาที่มีคนสนใจกันมากอีกด้านหนึ่งคือตำรายา ผศ.ดร.บุญชูบอกว่า แม้จะพบตำรายา แต่ยังนำไปใช้ไม่ได้ทันที เนื่องจากต้องศึกษาจากผู้รู้ก่อนว่า วิธีการนำตำรายาไปใช้นั้น ใช้อย่างไร ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ รอการนำไปศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
ใบลานที่เก่าแก่ของวัดพบว่าเก่าสุดคือ พ.ศ. 2112 ชื่อ สุโพธาลังการ เป็นตำราไวยากรณ์บาลี และพบลักษณะเฉพาะของใบลานที่วัดมณีวนารามคือ ถ้าเป็นตำราหรือคัมภีร์ทางพุทธศาสนามักพบในเขตเมือง ส่วนพื้นที่รอบนอกเมืองมักพบคัมภีร์ทางพุทธศาสนาน้อย ส่วนมากเป็นเรื่องเล่าและนิทานพื้นบ้าน
คัมภีร์ใบลานเป็นมรดกทางปัญญาของคนรุ่นเก่าก่อน เนื้อหาภายในทุกสร้อยอักษรล้วนมีค่าดั่งมณีของแผ่นดิน