การเล่าดยั๊วของชนชาวลัวะ กับ ปกิณกะแม่นมสยาม

ในบทนี้ จะได้นำเอาเรื่องเล่า นิทาน ตำนาน และข้อห้าม ต่างเวลาต่างสถานที่กัน มาผูกเรียงร้อยเข้าด้วยกัน เพื่อชี้ให้เห็นตัวอย่างของกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางสังคม จากยุคสมัยหนึ่งไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งไม่เพียงต้องใช้เวลายาวนานเท่านั้น เรื่องราวของบางสังคมเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นส่วนของรากหญ้าที่ไร้ความสลักสำคัญใด ๆ อาจให้ร่องรอยของบางสิ่งบางอย่างที่เป็นปมเงื่อนทางประวัติศาสตร์ และอาจบ่งชี้ให้เห็น ‘รอยต่อ’ ของการเปลี่ยนผ่านทางสังคมที่เจ็บปวดรวดร้าว รวมถึงข้อห้าม (Taboo) ในระบบความเชื่อที่เกี่ยวโยงกับเพศวิถีก็อาจนำไปสู่ความเข้าใจโครงสร้างเชิงสถาบันของสังคมที่แตกต่างกัน และบ่งชี้ถึงวิวัฒนาการทางสังคมแบบถือด้ำและสืบสายตระกูล ที่มีแนวปฏิบัติและค่านิยมต่างกัน

การเล่าดยั๊วของชนชาวลัวะ

คำว่า “เล่าดยั๊ว” เป็นสำนวนลัวะ แปลว่า เล่านิทาน “การเล่าดยั๊ว” เป็นวิถีชีวิตที่ขาดเสียมิได้ของชาวลัวะเมืองน่าน แต่ละหมู่บ้านจะมีนักเล่าดยั๊ว ที่ขึ้นชื่อว่าเก่ง รู้มาก คุยสนุกประจำอยู่ในเรือน ยามค่ำคืนเมื่อว่างจากช่วงทำการผลิต หลังจากฟันไร่แล้วต้องรอให้แดดเผาต้นไม้ใบหญ้าให้แห้งก่อนเผาไร่ หรือหลังจากสักไร่ลงเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้ว จะมีเวลาช่วงหนึ่งที่รอให้ต้นกล้างอกแล้วจึงออกไปเสียหญ้า (ดายหญ้า) ช่วงว่างจากกิจกรรมการผลิตดังกล่าวนี้หญิงลัวะจะนั่งถักย่าม ชายนั่งถักอวนถักแห ตกกลางคืนก็มีเวลาพักผ่อนล้อมวงคุยกันหน้าแม่เตาไฟที่อบอุ่น นิทานพื้นบ้านลัวะก็จะหลั่งไหลออกมาจากนักเล่าดยั๊ว ซึ่งไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นคนเฒ่าคนแก่ เช่น เรื่อง ‘กระต่ายกับหอย’ ‘เสือกับคางคก’ ‘ทำไมจักจั่นไม่มีไส้’ อันจัดเข้าประเภทนิทานเรื่องสัตว์ (Animal Tale) หรือเรื่อง ‘กำเนิดยาสูบและยาฝิ่น’ ‘ที่มาของการนับวัน’ ซึ่งเป็นนิทานอธิบายปรากฏการณ์ (Explainatory Tale) เรื่อง ‘ลูกกำพร้ากับนกเค้า’ ‘คนกับหมา’ จัดว่าเข้าข่ายนิทานภาษิตสอนใจ (Didactic Tale) มีแก่นเรื่องเทียบได้กับเรื่อง ‘ไก่ได้พลอย’ ในนิทานอีสป ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีประเภทนิทานกบฏ (Rebel Tale) เช่นเรื่อง ‘สองกำพร้า’ ‘ชาวป่าใส่กลชนะคนเมือง’ ส่วนประเภทนิทานตำนาน (Legendary Tale) นั้นที่โดดเด่นที่สุดคือเรื่อง ‘ศึกม่าน’ เป็นเรื่องเชิดชูความวีระอาจหาญของชาวลัวะที่รวมตัวกันสู้รบขับไล่พวกม่าน (พม่า) ออกจากแดนลัวะได้สำเร็จ (อ่านรายละเอียดโดยพิสดารใน ชลธิรา สัตยาวัฒนา, ลัวะเมืองน่าน, ๒๕๓๐, น.๑๕๐-๑๖๐.)

ผู้เขียนเคยพบนักเล่าดยั๊วตัวฉกาจสองคนอยู่คนละหมู่บ้าน คนแรกเป็นชายอายุราว ๓๐ ปีเศษ อยู่บ้านห้วยกาน ถนัดเล่าเรื่องปรัมปราซึ่งอธิบายที่มาของธรรมชาติหรือปรากฏการณ์เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องลัวะเป็นอย่างยิ่ง อีกคนหนึ่งเป็นหญิงอายุใกล้เคียงกัน อยู่บ้านกิ่วจันทร์ ขยับเล่าครั้งใดก็เป็นนิทานเรื่องเพศ (Sexuality Tale) ซึ่งมักมีนัยที่ทำให้ “คนนอก” ที่เป็นผู้หญิงอย่างผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกขัดเขิน แม้แต่ล่ามชาวลัวะที่ช่วยแปล (ซึ่งเป็นชาย) ก็มักจะเหนียมอายและเกรงใจผู้เขียนในฐานะ “คนนอก” ไม่ค่อยกล้าแปลให้ฟัง ในขณะที่ผู้ล้อมวงชาวลัวะก็ฟังไปเฮไปอย่างสนุกสนาน น่าเสียดายที่ข้อมูลส่วนนี้ขาดหายไปเพราะฟังเข้าใจยากและล่ามก็ไม่ค่อยยอมแปลให้เสียด้วย ไม่เช่นนั้นก็อาจมีส่วนช่วยให้เข้าใจโลกทัศน์ชาวลัวะได้กว้างขวางขึ้นกว่านี้

ผู้เขียน – ชลธิรา สัตยาวัฒนา ได้ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนลัวะเมืองน่าน (น่านเหนือ) ร่วม ๗ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐- ๒๕๒๗ และได้กลับไปวิจัยสนามซ้ำหลายครั้งหลังจากนั้น (ในภาพ – พ.ศ. ๒๕๒๙)

มะโรงแจน หญิงชราชาวลัวะ-ไปร๊

ผู้เขียนจดจำรำลึกได้ว่า มีนิทานเหล่านี้หลายเรื่องที่จัดว่าเข้าข่ายประเภทนิทานตลก (Joking Tale) ส่วนใหญ่เน้นที่ประเด็นน่าขบขันและดูถูกดูแคลนความโง่ของผู้ชาย พอจะจำได้ว่าเรื่องที่เด่นที่สุดคือเรื่อง ‘พ่อบ่ยาน’ ซึ่งผู้หญิงเป็นผู้เล่าเรื่อง มีแนวเรื่องทำนองว่า ไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไร ‘พ่อบ่ยาน’ ซึ่งเป็นตัวเอกของนิทานชุดนี้ ก็ช่างทำอะไรที่ดูงี่เง่าไปหมด คนเล่าก็เล่ารัวได้เป็นชุด มีหลายเรื่องหลายตอนต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ คนฟังก็สามารถฟังกันได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ฟังแล้วก็หัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง ไม่ว่าเข้าบ้านใดขึ้นเรือนไหน ก็พบว่า มีเรื่องราวอันเป็นพฤติกรรมชวนขันของ ‘พ่อบ่ยาน’ หลายสำนวนจับจองเวทีการเล่า กระจายอยู่ทั่วทุกหมู่บ้านลัวะ มีส่วนที่เน้นมุขเสียดสี “ความอับจนทางเพศวิถี” หรือปัญหาความไม่ได้เรื่องทางเพศของผู้ชายมากมายประดังประเดมาที่ ‘พ่อบ่ยาน’ คนนี้ (ตามความหมายของชื่อ)

นิทานแนวนี้เข้าข่ายว่าเป็นนิทานตลกเฉพาะเรื่องเพศ (Sexuality Joking Tale) ซึ่งว่ากันตามจริง มีอยู่ในตำรับนิทานทุกชาติทุกภาษา เพราะเรื่องเพศ พฤติกรรมทางเพศ และเพศวิถี เป็นสิ่งที่เกิดจากแรงขับทางเพศ (Sexual Drive) ตามธรรมชาติของสัตว์โลก แต่ต่อมาถูกจับ “เข้ารหัส” ในสังคมมนุษย์โดยใช้ปทัสถานสังคมลักษณะต่าง ๆ เข้าวินิจฉัยเชิงคุณค่า กรณี ‘พ่อบ่ยาน’ จึงเป็นนิทานลัวะ ที่บังเกิดขึ้นในโครงสร้างสังคมแบบลัวะเมืองน่านที่ถือผีสายแม่มี ‘แม่จ็อง’ เป็นแม่ใหญ่|แม่ยาย มีอำนาจสูงสุดในครัวเรือน และมีหญิงวัยอาวุโสสูงสุดที่ลูกหลานเรียกขานกันว่า “มะโรง” (ตามด้วยชื่อของเธอ) เช่น ที่บ้านกิ่วจันทร์ มี ‘มะโรงแจน|จัน’เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดใน ‘บ้านลัวะ’ ซึ่งเป็นชมรมโคตรวงศ์สืบสายตระกูลฝั่งแม่ (Matrilineal community) ถึงกว่า ๓๐ สายตระกูล (เป็นข้อค้นพบจากการวิจัยของผู้เขียน ใน วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก สาขามานุษยวิทยา Cholthira Satyawadhna ๑๙๙๑, ANU)

การที่นิทานตลกเรื่องเพศในสังคมลัวะเมืองน่านมีผู้หญิงเป็นผู้เล่าเรื่อง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกปรากฏการณ์นี้ช่วยตอกย้ำความเข้าใจเรื่อง ‘ผู้หญิงเป็นใหญ่’ ในสังคมชุมชนลัวะเมืองน่าน ซึ่งก็น่าจะถือผีด้ำบรรพชนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะทางน่านเหนือยังมีร่องรอยของวิถีชีวิต “ปางด้ำนาย” อยู่มากมาย อันเนื่องมาจากแบบวิถีการผลิตเพื่อการยังชีพ ยังเป็นแบบ ‘(หมู่)บ้าน’ เครือญาติเดียวกันสายสกุลเดียวกันทั้งหมด ในระบบสังคมชุมชน ‘กึ่งบรรพกาล’ ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ลักษณะสังคมแบบใหม่ที่ผู้ชายกำลังจะก้าวขึ้นมามีบทบาทสูงขึ้น

ในทางกลับกัน ชุมชนลัวะทางน่านใต้ ซึ่งอยู่ใกล้ ‘เมือง’ มากกว่า พบว่ามีนิทานประเภทตำนาน (Legendary Tale) เรื่องหนึ่ง คือเรื่อง ‘ย่าลัวะบ่อเกลือ’ ที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เริ่มมีการเบียดขับทางเพศ ซึ่งในทางโครงเรื่อง มีลักษณาการของการเปลี่ยนผ่านจากระบบ‘แม่เป็นใหญ่’ สู่ระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบ ‘พ่อเป็นใหญ่’ มีเรื่องราวที่กลายเป็นตำนานเล่าว่า แม่หญิงลัวะซึ่งเดิมเป็นผู้ “กุมความรู้” ที่เป็น “ความลับ” ในบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญยวดยิ่งแต่กาลก่อน ได้ถูกกลุ่มผู้ชายรวมหัวกันทำร้ายถึงขั้นเข่นฆ่าอย่างทารุณ จนกลายเป็นตำนานที่เล่าขานกันสืบต่อมาทางตอนใต้ของอำเภอปัว ตำบลบ่อเกลือใต้ จังหวัดน่าน

“ตำนานย่าลัวะบ่อเกลือ” (ผู้เล่า : แม่พอง)

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว สมัยผู้คนยังทำงานกันแบบรวมหมู่ หาอยู่หากินด้วยกัน อาหารการกินก็มีคนทำให้ทั้งหมู่กิน และมีการผลัดเวรกันทำอาหาร สมัยนั้นคนลัวะยังไม่รู้จักกินเกลือ มีย่าลัวะคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นคนหุงอาหาร ทุกคนต่างก็แปลกใจว่าย่ามีเคล็ดลับอะไรหรือในการปรุงอาหาร เพราะอาหารที่ย่าทำอร่อยกว่าคนอื่นทำ เมื่อไรที่ย่าทำอาหารก็จะมีแต่คนชมว่าอร่อย ๆ แท้ จึงมี ‘คนสองคน’ ชวนกันแอบดูตอนย่าทำอาหาร แล้วก็พบด้วยความประหลาดใจว่า ย่าเอาน้ำจากในบ่อที่ย่าไปอาบน้ำมาแล้วเอามาปรุงอาหาร สองคนนั้นไปเล่าให้ ‘คนอื่น’ ฟังก็ไม่มีใครเชื่อ พวกเขาจึงชวนกันมาแอบดูย่าทำอาหารอีก จนกระทั่งคนชักรู้เรื่องนี้มากขึ้นทุกที เขาจึงนัดประชุมกันโดยไม่ให้ย่าเข้าร่วม ที่ประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกันว่า ที่ย่าทำเยี่ยงนี้ถูกหรือผิด ส่วนมากเห็นว่าผิด ส่วนน้อยเห็นว่าไม่ผิด จึงตกลงกันให้ลงโทษย่าโดยการฆ่าย่าทิ้งเสีย เพราะถือว่าที่ย่าทำไปนั้นไม่เป็นการดีสำหรับชาวบ้านทุกคน ผู้คนได้ใช้หอกแทงย่า แต่ปรากฏว่าแทงไม่ตายในทันที ย่าวิ่งหนีไปได้เป็นระยะ ๆ มีเลือดไหลตกเป็นทาง เมื่อวิ่งไปถึงบ่อน้ำสองบ่อ คือ ‘บ่อน่าน’ กับ ‘บ่อเวร’ เลือดย่าไหลลงไปในบ่อน้ำทำให้บ่อนั้นเค็มกลายเป็น “บ่อเกลือเหนือ” ในเขตน่านเหนือ ย่าซึ่งยังไม่ตายยังคงวิ่งต่อไป พอไปถึง ‘บ่อหยวก’ ก็ถุยน้ำลายตกลงไปในบ่อหยวก ทำให้น้ำในบ่อหยวกเค็ม จากนั้นย่ายังกระเสือกกระสนไปตายที่ ‘บ่อหลวง’ คือ “บ่อเกลือใต้” ในปัจจุบันด้วยความเป็นมานี้เอง น้ำในบ่อทั้งสี่จึงมีรสเค็มกลายเป็นบ่อเกลือ น้ำเกลือในบ่อเวรกับบ่อน่านเป็นสีแดงเพราะเลือดย่าไหลหยดลงไป ส่วนเกลือจากบ่อหยวกและบ่อหลวงเป็นสีขาวเพราะน้ำลายของย่า (ชลธิรา สัตยาวัฒนา, ลัวะเมืองน่าน, ๒๕๓๐, น.๑๙๑.)

ยังมีเรื่องเล่าตามหลัง “ตำนานย่าลัวะ” ที่น่าสงสาร ผู้กำความรู้และความลับของบ่อเกลือในเมืองน่านว่า เนื่องจากย่าไปตายที่บ่อหลวง บ่อหลวงจึงกินคน หมอผีที่คุมบ่อเกลือจะทำพิธีเซ่นไหว้ผีบ่อเกลือกันทุกปี โดยใช้ หมู ไก่ หมา แต่ทุกสามสี่ปีจะใช้คนสักครั้งหนึ่ง โดยใช้เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ ๑๐ ปีก็ได้เป็นเครื่องเซ่น กระทงเซ่นไหว้ผีบ่อเกลือคือ ‘ย่าลัวะ’ ที่ถูกฆ่าตายไปนั้น หมอผีลัวะจะวางไว้สี่มุมของบ่อเกลือ ใส่กล้วย อ้อย ข้าว และเนื้อ ในสมัยก่อน “ถ้าล่ามาเป็นคน ก็จะเอาเลือด หัวใจ ปอด และตับคน ใส่ในกระทงด้วย แต่ถ้าต้องหาต้องฆ่ามาจากทางไกล เอาร่างมันมาไม่ไหว ก็จะเชือดเอามาแค่เลือดกับใบหูเท่านั้น” การฆ่าคนเซ่นผีบ่อเกลือที่จังหวัดน่านนี้ เล่ากันว่าทำกันมาโดยตลอด เพิ่งเลิกราไปเมื่อราวสิบถึงยี่สิบปีก่อน คนแถบบ่อเกลือซึ่งมีทั้งผู้ยวน คนเมือง ลัวะ และม้ง เชื่อกันว่า ถ้าไม่มีการเซ่นไหว้ผี บ่อเกลือจะแห้ง แต่ถ้าเซ่นไหว้ดี ผีก็จะอวยให้มีน้ำเกลือมากจนล้นออกมาถึงขอบบ่อ รอบบ่อจะมีแต่เกล็ดเกลือ เหยียบแล้วดังสวบ ๆ (ชลธิรา สัตยาวัฒนา ๒๕๓๐, อ้างแล้ว, น.๑๙๒.)

ถ้าถอดรหัสชื่อเรียก “ย่าลัวะ” เป็นที่น่าสังเกตว่าในตำนานบ่อเกลือเมืองปัว จังหวัดน่านนี้ ‘ความเป็นยาย’ หายไปแล้ว จากคำเรียก “ย่า” แสดงว่าตำนานเกิดขึ้นในบริบทสังคมที่โครงสร้างการสืบสายตระกูลฝั่งแม่ในเขตน่านใต้ซึ่งอยู่ใกล้ตัวเมืองมากกว่าทางน่านเหนือเริ่มเจือจางลง แต่แม้ว่าจะมี ‘ความเป็นย่า’ ซึ่งสะท้อนการนับญาติสายพ่อขึ้นมาแทนที่ จะอย่างไรก็ตาม ‘อำนาจของย่า’ ซึ่งเป็นผู้หญิงก็ถูกทำลายโค่นล้มลงไปราบคาบอย่างโหดเหี้ยมทารุณ เหตุการณ์นี้อาจจะมีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการระบุสถานที่เกิดเหตุไว้อย่างชัดเจนแม้จากความทรงจำอันเลือนรางก็ตาม คือ บ่อน่าน บ่อเวร บ่อหยวก และบ่อหลวง ดังกล่าวมาเบื้องต้น

จากการวิจัยสนามโดยผู้เขียนเองเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ พบว่า คนเมืองเงิน แขวงเมืองไชยะบุรี ประเทศลาวปัจจุบัน ยังคงใช้เกลือจากบ่อเกลือเหนือในชีวิตประจำวัน มีความเป็นไปได้ว่าทั้ง “บ่อเกลือเหนือ” และ “บ่อเกลือใต้” ของเมืองปัว จังหวัดน่าน ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “เมืองชัยวรนครเชียงลาว” ในสมัยก่อน คงจะมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ไม่น้อย มีหลักฐานประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่า ไม่เพียงแต่ประชากรภาคเหนือทั้งหมดอาศัยเกลือจากที่นี่ แม้แต่หัวเมืองในรัฐฉานของพม่าและแว่นแคว้นทางใต้สุดของมณฑลยูนนาน รวมทั้งเมืองเชียงรุ่ง อาณาจักรสิบสองปันนา ก็อาศัยเกลือสินเธาว์จากที่นี่ โดยมีกองคาราวานพ่อค้าวัวต่างม้าต่างเดินทางมาขนเกลือที่นี่ตั้งแต่สมัยโบราณ

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดเล่าว่า พระเจ้าส่างคำของพม่าเป็นผู้สร้าง “บ่อหยวก” ส่วน “บ่อน่าน” นั้น เล่ากันว่าพระเจ้ายอดน่านเป็นผู้สร้างขึ้นเอง ภายหลังยังได้สร้าง “บ่อเวร” เพิ่มอีกบ่อหนึ่งด้วย ที่บ้านเสละห์มีเรื่องเล่าว่า ‘พญาหัวเหล็ก’ ซึ่งเป็นนักรบผู้เก่งกล้า เดินทางจะมาสร้างบ่อเกลือไว้ แต่ไม่สำเร็จ…ส่วนทาง “บ่อเกลือใต้” นั้น มีตำนานเล่าโดย กำนันนนถีว่าเมื่อราว ๗๐๐ ปีเศษ แต่ครั้ง ‘เจ้าหลวงภูคา’ กับ ‘เจ้าหลวงปัว’ ยังเป็นมิตรกันอยู่นั้น ทั้งสองได้ปล่อยช้างเข้าไปในอาณาบริเวณที่เป็น “บ่อเกลือใต้” ในปัจจุบัน ทรงให้ควาญช้างพาช้างเดินรอนแรมอยู่ราว ๑ เดือน จึงเห็นช้างไปกินน้ำที่โป่งแห่งหนึ่ง ควาญได้เอาน้ำจากโป่งมาถวายเจ้าหลวงปัว เมื่อชิมแล้วก็รู้ว่าเป็นเกลือ จึงรับสั่งให้ลองเคี่ยวน้ำในโป่งดู ก็เป็นจริงตามคิด เจ้าหลวงปัวจึงได้ชักชวนเจ้าหลวงภูคาให้ไปต้มเกลือด้วยกัน และอาศัยเกลือจากบ่อเกลือนี้เองบำรุงรี้พลเพราะกองทัพขาดเกลือไม่ได้ โดยเฉพาะยามศึกยิ่งต้องใช้เกลือมากเป็นพิเศษ ใครคุมบ่อเกลือได้ก็เท่ากับยึดกุมยุทธปัจจัยอันเป็นยุทธศาสตร์ของการสงครามได้

ในที่สุด “ย่าลัวะ” ผู้กุมความลับของบ่อเกลือและเป็นผู้รู้วิชาเคี่ยวเกลือในขั้นพัฒนาตอนปลายของสังคมด้ำนาย จึงต้องพ่ายแพ้แก่พลังอำนาจของฝ่ายชาย ซึ่งต่อมา ‘เจ้าหลวง’ ฝ่ายไทก็ได้เข้ามาคุมอำนาจที่บ่อเกลือเมืองปัวในช่วงระยะต้นของสังคมศักดินาไท-ลาวทางเหนือด้วยประการฉะนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของ “ย่าลัวะ” ยังคงได้รับการจดจำรำลึกและเล่าขาน โดยผู้หญิงลัวะที่เป็นผู้นำท้องถิ่นของชนชาวลัวะหลายหมู่บ้านทางเขตน่านใต้ ผู้มีนามว่า ‘แม่พอง’ จนเมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง

 

คน กำเนิดภาษา เพศวิถี และข้อห้าม

สังคมพื้นบ้านลัวะแต่ครั้งปางด้ำนาย ยังมีความพยายามที่จะอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างด้วย แม้แต่เรื่องของคน กับ ‘กำเนิดภาษา’ ที่เชื่อมโยงกับเพศวิถี ดังเช่นนิทานอธิบายปรากฏการณ์ (Explanatory Tale) เรื่องนี้

“ทำไมคนถึงพูดกันหลายภาษา” (ผู้เล่า : บ่เป๊ก)

สมัยก่อน…น้ำท่วมโลก คนตายหมด เหลือแต่พี่น้องชายหญิงสองคน เพื่อสืบเชื้อสืบสายกันต่อไป สองพี่น้องจึงแต่งงานกัน ออกลูกออกหลานมากมาย สมัยนั้น…คนเราพูดภาษาเดียวกันหมด

อยู่มาวันหนึ่ง มีการนัดประชุมคนทั้งโลก ทุกคนก็มาประชุมกัน นั่งกันบนขอนไม้ใหญ่ขอนไม้ทานน้ำหนักไม่ไหวจึงหักลง คนที่นั่งอยู่ตกใจก็ตกจากขอนไม้ ร้องออกมาคนละเสียง

ตั้งแต่นั้นมา คนจึงพูดกันหลายภาษา…

นิทานเรื่องนี้สะท้อน “นัยยะ” สำคัญให้เห็นด้วยว่า ก่อนที่จะมีการแต่งงานหรือสมพงศ์สมพันธุ์ข้ามสายตระกูลกันนั้น คนลัวะยังจดจำรำลึกและเล่าสืบต่อกันมาว่า พี่น้องท้องเดียวกันเคยอยู่กินด้วยกันฉันผัวเมียมาก่อน หลังจากนั้นจึงมีข้อห้ามมิให้คนถือผีเดียวกัน (หมายความถึง คนที่สืบตระกูลแม่สายเดียวกัน) แต่งงานกันเอง ตามวิถีปฏิบัติของชนชาวลัวะในปัจจุบัน

สำหรับสังคมไทย/สยามนั้น แม้ว่าฝ่ายชาวบ้านยังไม่ถึงขั้นมีหลักฐานชัดเจนว่า มีแนวปฏิบัติด้าน “อยู่กิน” กันอย่างไรในเชิงเพศวิถี (Sexuality) และข้อห้าม แต่ก็มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรชิ้นหนึ่งที่สมควรแก่การนำมากล่าวถึง เพื่อเข้าใจเพศวิถีของสังคมศักดินาราชสำนักสยาม อย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีแนวปฏิบัติไม่ได้ห้ามพี่น้องในสายตระกูลเดียวกันแต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์กัน แต่กลับมีข้อห้ามที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ คือ ห้ามสมรสกับลูกของ “แม่นม” ดังข้อความที่เป็นบันทึก“พระบรมราชโองการดำรัสสั่ง” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อไปนี้

“ข้อห้ามสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์” (มีทั้งสิ้น ๕ ข้อ)

“มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้จดหมายพระราชทานพระเจ้าลูกเธอฝ่ายหน้าฝ่ายในทุกพระองค์ให้ทราบ ว่ากรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนนี ท่านทรงถือลัทธิต่าง ๆ ว่าทำอย่างนั้น ๆ ไม่เปนมงคลแล้วก็ตรัสห้ามไว้ให้กำชับต่อสืบ ๆ ลงไปในตระกูลว่าอย่าให้ทำเปนหลายสิ่งหลายประการ ครั้นทรงสั่งสอนแต่พระวาจา ผู้ฟังก็จำไว้ได้ บ้างลืมเสียบ้าง จึงโปรดให้จดหมายพระราชทานไว้เพื่อจะให้ทราบทั่วกัน…

…(๔) ห้ามไม่ให้สมสู่เปนชู้ฤาผัวเมียกับคนที่ร่วมนม กินนมนางนมเดียวกันมาแต่เดิมแต่คนที่อย่านมแล้วมาแกล้งดื่มแกล้งชิมลองกินไม่ว่า ถ้าไม่ได้ร่วมนมกันแล้วถึงเปนญาติพี่น้องก็ไม่ห้าม แต่ที่ได้ร่วมนมกันแล้วถึงไม่ใช่ญาติก็ห้ามเปนอันขาด…

…แลอื่น ๆ นอกนี้ก็ยังมีอีก แต่ยังทรงรฦกไม่ได้ ถ้าทรงรฦกได้แล้วจึงจะโปรดให้เพิ่มเติมลงอีก ฯาะ”

(คัดจากหนังสือ ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ฉบับ พ.ศ. ๒๔๕๗, น.๑๓๔-๑๓๕.)

การสมรสที่มีลักษณะสถาบัน (Institutionalized Marriage) คือการสมรสหมู่ร่วมโคตรด้ำเดียวกันนั้น มีหลักฐานว่าได้ปฏิบัติกันมาแต่ครั้งพุทธกาล นัยว่าเพื่อเป็นการรักษาเผ่าพันธุ์ของชมรมโคตรวงศ์หนึ่ง ๆ ให้บริสุทธิ์เพื่อเป็นการกีดกันผู้มาจากภายนอกโคตร ที่มาของแนวปฏิบัติอันถือเป็นจารีตเข้มงวดนี้ อาจจะสืบเนื่องมาจากการถือชนชั้นวรรณะซึ่งทรงพลังอำนาจในสังคมอินเดีย แม้แต่ ‘ศากยวงศ์’ ก็เป็นเช่นนี้

สังคมศักดินาสยามแม้จะไม่ปรากฏชัดเจนว่ามีการแบ่งชนชั้นทางสังคมออกเป็น‘วรรณะ’ แต่ก็คงจะมีการถือยศถือศักดิ์ของความเป็นเจ้าศักดินามาแต่โบราณ จึงสามารถใช้แนวเทียบเดียวกันได้ มีความเป็นไปได้ว่าลักษณะการกินอยู่หลับนอนโดยมีเพศวิถีร่วมกันที่ยินยอมให้ดำเนินอยู่ภายในสายตระกูลเดียวกันของสังคมศักดินาสยาม เพิ่งจะเลิกราไปในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อเจ้าแผ่นดินสยามทรงได้รับการศึกษาแบบตะวันตก และอิทธิพลค่านิยมทางเพศวิถี ตลอดจนความรู้ในวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์และชีวพันธุกรรมจากโลกตะวันตก

***

ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ฉบับ พ.ศ. ๒๔๕๗. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, ๒๕๕๔.

ชลธิรา สัตยาวัฒนา, ลัวะเมืองน่าน. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๓๐.

ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊กอภิชิต แสนโคตร

Related Posts

ชายเป็นใหญ่ : จาก “แถน” สู่ “เทพ”*
“ด้ำเสือ”
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com