อีสานในนิมิต

อีสานกับทรัพยากรธรรมชาติที่เพียงพอ เพื่อความเป็นอยู่อย่างพอเพียงและยั่งยืน ภาพท้องถิ่นอีสานในนิมิตที่อาจเป็นจริงได้ในอนาคต (ภาพปกนิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗ ปีที่ ๑ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ โดยไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์)

คนทั่วไปมองว่าอีสานมีอนาคตที่สดใส จะดีขนาดไหน จะโชติช่วงชัชวาลหรือไม่ เพียงใด ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง แต่ถ้าพิจารณาศักยภาพแล้วก็เชื่อว่ามีทางที่จะเจริญพัฒนาแบบ “มีแต่สิดีไปเมือหน้า”

อีสานวันนี้มีภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่าทุกภาค หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศทีเดียว แต่ผลผลิตได้น้อยกว่าทุกภาคเพราะดินเค็ม ขาดนํ้าและขาดการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังชาวบ้านต้องดิ้นรนเองตามบุญตามกรรม แล้วแต่เทวดาจะโปรด

อย่างไรก็ดีปัญหานํ้าและดินเค็มกําลังได้รับการแก้ไขและทุกอย่างก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น คนอีสานคงไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นไปภาคอื่นเหมือนที่ผ่านมา

วันนี้มีการค้นพบว่า ใต้ผืนดินอีสานมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ไม่เพียงแต่โพแทสเซียม ซึ่งมีมหาศาล แต่ก็เอามาใช้ประโยชน์อย่างมากก็ทําปุ๋ยเคมีอนาคตไม่แน่นอนว่า ปุ๋ยเคมียังจะเป็นที่ต้องการของโลกอีกต่อไปนานเพียงใด เพราะโลกวันนี้เป็นโลกอินทรีย์ไปแล้ว

รวมทั้งน้ำมันที่คาดว่ามีอยู่ปริมาณมาก พื้นที่สำรวจที่อีสานจึงมีมากที่สุดในประเทศไทยและอ่าวไทย แต่นํ้ามันก็อาจมีความสําคัญน้อยลงในอนาคต เพราะพลังงานทางเลือกกําลังจะกลายเป็นทางหลัก แม้แต่รถยนต์ที่ใช้นํ้ามันมากที่สุดก็กําลังเปลี่ยนไปใช้ “นํ้า” อย่างที่โตโยต้ากําลังนําร่องอยู่ในขณะนี้

นอกจากโพแทสเซียมและนํ้ามัน ใต้ดินอีสานมีแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งทองคํา และแร่ที่ใช้ในกระบวนการนิวเคลียร์อย่างพลูโทเนียมและยูเรเนียม

บนผืนดินอีสานยังมีที่ว่างเพื่อทําการเกษตรอื่น ๆ นอกจากข้าว ซึ่งในพื้นที่อย่างทุ่งกุลาฯ สามารถปลูกข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกนั้นยังมีพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอื่น ๆ ที่ไม่เพียงแต่เป็นอาหารคน อาหารสัตว์ แต่ยังสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้า แก๊ส ปุ๋ย ได้หมด เช่น มันสําปะหลัง อ้อย สับปะรด ข้าวโพด ถั่ว และหญ้าชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

ในอนาคตอีสานสามารถพึ่งตนเองด้านอาหารและพลังงานได้ไม่ยาก ถ้าหากสามารถพัฒนาปัจจัยสําคัญที่สุดคือ ความรู้ ซึ่งจะทําให้สามารถอนุรักษ์พัฒนา ใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนสําคัญของท้องถิ่นให้ยั่งยืน ไม่เป็นเพียงแรงงานถูก ๆ ให้เขาใช้และเอาประโยชน์จากทรัพยากรของตน

ความรู้มาจากการศึกษา และคงต้องเชื่อคนอย่าง เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) นักต่อสู้ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกยุคนี้ที่กล่าวว่า “อาวุธที่ทรงพลังที่สุดเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก คือ การศึกษา” คนอีสานจะเปลี่ยนแปลงสังคมของตนได้ด้วยการศึกษา ไม่ใช่ด้วยอาวุธ ด้วยความรุนแรง ซึ่งแมนเดลาเองก็ได้ผ่านมาหมดแล้ว

นอกจากความรู้คนอีสานต้องการอีก ๒ อย่างคือ สติปัญญา และวินัย เพราะถ้าขาดสติและปัญญา ความรู้ที่ได้มาก็อาจท่วมหัวจนเอาตัวไม่รอดก็ได้เหมือนคนเรียนได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยจำนวนมากที่พึ่งตนเองไม่ได้ ถ้าเขาไม่จ้างก็ทำมาหากินเองไม่เป็นต้องมีสติเพื่อรู้เท่าทันตนเองและสังคม ต้องมีปัญญาเพื่อมีหลักในการดําเนินชีวิต เพื่อจะได้เดินไปถูกทิศถูกทาง

อีกทั้งต้องมีวินัย ไม่ใช่อยู่สบาย ๆ ทําอะไรตามใจเป็นไทยแท้ เพราะความจริงในอดีต ปู่ย่าตายายก็ได้ให้ “วินัย” ชีวิตคือ ประเพณีวิถีชุมชน ฮีตคอง รวมถึงวิถีปฏิบัติตั้งแต่เกิดจนตาย แต่วันนี้ไม่ใช่สังคมเกษตรแล้ว อะไร ๆ ก็เปลี่ยนไปหมด เราไม่ได้อยู่กันเป็นชุมชนเหมือนเมื่อก่อน ต้องพึ่งตนเอง จัดระเบียบชีวิตตนเองให้ได้ เพราะคนที่จัดให้เราอย่างพ่อค้าที่โฆษณาเขาก็อยากขายของ สถานศึกษา สถานพยาบาล หรือแม้แต่วัดหลายแห่งที่บอกสอนอะไรก็ดูเหมือนจะซ่อนความอยากของตนเองไว้ในความปรารถนาดี

ภาพนิมิตของอีสานในอนาคตจะเป็นจริงได้ต้อง “ถอยหลังไปตั้งหลัก” เพื่อจะได้เดินหน้าต่อไปอย่างมีจุดหมาย มีพลัง ตามแนวทางดังนี้

๑. คืนสู่ต้นกำเนิด (back to the source) คือ กลับไปหาคุณธรรม ศาสนา คุณค่าดีงามที่เป็นรากฐานชีวิตซึ่งแผ่นดินอีสานมีเกจิอาจารย์ พระอริยบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมตลอดมา เช่น หลวงปู่มั่น, หลวงปู่ฝั้น, หลวงปู่เทสก์, หลวงปู่แหวน, หลวงปู่ขาว, หลวงตามหาบัว มาจนถึง หลวงพ่อคูณ, หลวงพ่อสายใจ และท่านอื่น ๆ อีกจำนวนมากทั่วภาคอีสาน ว่ากันว่า พระศรีอริยเมตไตรยยุคนี้มาจากภาคอีสาน จริงเท็จประการใดก็รอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

๒. คืนสู่ธรรมชาติ (back to the nature) คือ กลับไปคืนดีกับธรรมชาติไม่ทําลายดิน นํ้า ป่า รักษาสิ่งแวดล้อมโดยการทำมาหากินที่เป็นมิตรกับธรรมชาติเลิกใช้สารเคมีที่ทําลายชีวิตสรรพสัตว์ และตนเอง ฟื้นฟูป่าดิน นํ้า ให้กลับสู่ความสมดุล การทําเกษตรผสมผสานจะเป็นวิธีสําคัญในกระบวนการนี้

๓. คืนสู่ความเรียบง่าย (back to basics) คือคนอีสานแต่เดิมกินง่ายอยู่ง่าย วิถีทุนนิยมและบริโภคนิยมเข้าครอบงำทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหนี้สินเพิ่มพูน แข่งกันหาเงิน อวดรํ่าอวดรวย อาหารอีสานอร่อยและมีคุณค่า คนอีสานก็หันไปกินพิซซ่า อาหารขยะ ไก่ย่างอีสานอร่อยมาก แต่ก็หันไปกินไก่ยี่ห้ออเมริกัน

๔. คืนสู่รากเหง้า (back to the roots) คือคืนไปค้นหาสิ่งดี ๆ ที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมาให้เป็นคุณค่าดีงาม ทั้งความเป็นคนมีจิตใจดีมีนํ้าใจ มีศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งให้ความสุขสนุกสนาน ดนตรีก็ดีการร้องรําและลําก็ดี ที่สืบทอดเป็นลูกทุ่งอีสาน อีสานลําเพลิน ลําซิ่ง ลําหมู่

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายถึงการกลายเป็นคน “อีสานนิยม” แบบบ้าคลั่ง (fanatic – fundamentalist) ปิดหูปิดตา ปิดใจไม่ยอมรับคนอื่น ไม่ยอมรับโลกใหม่ที่เปลี่ยนไป แต่หมายถึงการถอยไปตั้งหลักเพื่อเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มีเป้าหมาย มีแบบแผน มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ไหลตามกระแสหลักกระแสโลก ถูกครอบงํา ถูกกดขี่ข่มเหง เอาเปรียบ แต่ให้รักษาเอกลักษณ์ความเป็นตัวของตัวเอง คิดได้ ตัดสินใจได้ เลือกได้ อยู่อย่างมีแบบมีแผน ๔ แผน คือ แผนชีวิต, แผนอาชีพ,  แผนการเงิน, แผนสุขภาพ บวกกับแผนแม่บทชุมชน

เพื่อคนอีสานเราจะได้มี “แผนที่ชีวิต เข็มทิศชุมชน” มีเป้าหมายการพัฒนาให้สามารถพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุดและเดินทางสู่เป้าหมายที่วาดฝันไว้ด้วยกัน

อีสานมีศักยภาพที่จะทําให้ภาพนิมิตเป็นจริงเพราะมีทุกอย่างเพียงพอเพื่อให้อยู่อย่างพอเพียงและมั่นคงยั่งยืนได้ ภาพฝันหรือภาพนิมิตของอีสาน คือ อีสานเสรี (Isan Vision is Free Isan)

***

คอลัมน์  ส่องเมือง  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๕ | มีนาคม ๒๕๕๘

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ต้นไม้กลิ่นเหม็น
อู่อารยธรรมอีสาน “อุบลราชธานี” เมืองนักปราชญ์
น้ำหมากนาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com