๓๖๕ น้ำพริกกับสวนรอบบ้าน – ๘. น้ำพริก ผกค. สูตร ๓ น้ำพริกส้มห้วยกับต้มหวายใส่ปู

ปูน้ำตก ส้มกุ้ง-ส้มห้วย(บีโกเนีย)

๓๖๕ น้ำพริกกับสวนรอบบ้าน – ๗. น้ำพริก ผกค. สูตร ๓ น้ำพริกส้มห้วยกับต้มหวายใส่ปู
โดย: ทองแถม นาถจำนง
ขอบคุณภาพจาก: siamensis.org

ถึงแม้ผมจะเป็นหนุ่มสำอางจากเมืองกรุง แต่ถ้าระหว่างการเดินทางเราพักอยู่ข้างห้วย (ลำธารตื้น ๆ) ผมก็พอจะช่วยสหายหาของกินได้บ้าง

ครั้งหนึ่งพักกินข้าวเที่ยงข้างห้วย เพราะแลเห็นกอหวาย มีกิ่งอ่อน ๆ เยอะ จึงก่อไฟต้มแกงกันสักหน่อย คนนึงไปตัดหวายมาปอก คนนึงไปหลก (ถอน ดึง) “ตะไตร้น้ำ” กับ “ส้มห้วย” อีกหลายคนพากันพลิกก้อนหินในห้วยเพื่อหาปูภูเขา

วันนั้นโชคดี ได้ปูหลายตัว

อีกคนนึงไปตัดไม้ไผ่มาทำกระบั้งไว้ตำน้ำพริก

เครื่องปรุงน้ำพริกส้มห้วย: เกลือ พริก หอม กระเทียม ส้มห้วย ปูภูเขาต้มหนึ่งตัว เอาโขลกให้ละเอียด

เรื่องต้น “ส้มห้วย” นี่ต้องขยายความหน่อย ทางพฤกษศาสตร์เขาเรียกกันว่าอะไร ผมยังค้นไม่พบเลยครับ มันขึ้นอยู่ริมห้วย รูปร่างของต้นและใบมันมีรูปทรงคล้าย ๆ ต้น “บีโกเนีย” – ไม้ประดับบ้าน ดอกสีชมพู แต่กิ่งมันมีขนอ่อนและนิ่ม ไม่แข็งอย่างบีโกเนีย กิ่งมันนิ่ม ลอกเปลือกออกแล้วหักใส่กระบั้งตำ ให้รสเปรี้ยวแทนมะนาวได้

เครื่องปรุงแกงหวายใส่ปูภูเขา: เตรียมหวายตัดเป็นท่อนพอคำ ปริมาณก็ดูที่หม้อแกง , ปูภูเขาสองตัว , ตะไคร้น้ำ , หอมกระเทียม ,พริก , ส้มห้วย

วิธีปรุง ต้มน้ำเดือดก่อน แล้วจึงใส่ทุบปูใส่ลงไป มัดใบตะไคร้น้ำเป็นฟ่อนแล้วโยนลงไปในหม้อ ทุบหอม กระเทียม โยนตามลงไป พริกถ้ามีมากก็โยนลงไปเป็นเม็ด ถ้ามีน้อยก็โขลกละลายน้ำใส่ หักกิ่งส้มห้วยใส่ไปนิดหน่อยพอมีเปรี้ยวชูรส แล้วยกลง

ชื่อ “ต้นตะไคร้น้ำ” ในป่านี่ ผมก็ยังค้นหาทางวิชาการไม่พบ ใบมันคล้าย ๆ ตะไคร้แต่เล็กกว่า อ่อนกว่า มีกลิ่นหอมน้อยกว่าตะไคร้มาก ลำต้นมันเล็ก จึงใช้ได้แต่ใบ เอาใส่แกงพอให้มีกลิ่นหอมบ้าง ชอบขึ้นอยู่ริมห้วย เวลาเราเดินทางผ่านห้วยจึงจะได้กินกัน

สำหรับปูลำห้วยแถบที่ เทิง-เชียงของ นั้น ค้นหาแล้วพบข้อมูลดังนี้ครับ

ชื่อไทย: ปูน้ำตก ชื่อวิทยาศาสตร์: Indochinamon lipkei (Ng & Naiyanetr, 1993) ขนาดเมื่อโตเต็มวัย: 56.8 x 42.8 มิลลิเมตร (Holotype) การกระจายพันธุ์: อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ถิ่นอาศัย: ลำธาร น้ำตก ที่มา www.siamensis.org

เพิ่มเติมภาพส้มห้วย ที่มาจากstudent.nu.ac.th
“บีโกเนีย”
ชื่อท้องถิ่น : ก้ามกุ้ง,ส้มกุ้ง(ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Begonia sp.
วงศ์ : BEGONIACEAE
เป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ซึ่งพบในป่านี้2ชนิด ชนิดหนึ่งออกดอกแล้ว อีกชนิดหนึ่งยังไม่ออกดอก
แหล่งที่พบในพื้นที่อุทยานฯ : ชนิดแรก(ยังไม่ออกดอก)พบขึ้นตามพื้นในป่าดิบแล้งระหว่างทางเดินขึ้นยอดเขาหลวง บริเวณมออีหก ส่วนชนิดที่สองพบขึ้นอิงอาศัยบนซอกหลืบหินบนยอดเขาภูกาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร
แหล่งที่พบในไทย : พบขึ้นตามพื้นดินที่ชุ่มชื้นใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ หรืออิงอาศัยบนก้อนหินและบนต้นไม้บนภูเขาสูงที่มีอากาศหนาวเย็นทั่วทุกภาค

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com